SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Radical Conservative
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ในวัย 88 ปีกับการยืนหยัดอนุรักษ์คุณค่าเก่าท่ามกลางกระแสเชี่ยวของความเปลี่ยนแปลง
ณ พื้นถนนข้างรถบรรทุกที่ถูกใช้เป็นเวทีชั่วคราวของม็อบ ‘คณะราษฎร’ และ ‘เยาวชนปลดแอก’ ในค่ำคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ภาพของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ‘ส.ศิวรักษ์’ในเสื้อคอจีนขาว กางเกงแพรน้ำเงิน และหมวกนิวส์บอยที่ยันกายอยู่ด้วยไม้ตะพดกับด้านข้างของรถบรรทุกขณะกำลังกล่าวปราศรัย คือใจกลางแห่งความสนใจที่แปลกแยกจากสิ่งรอบตัว
ประการแรก แม้เนื้อเสียงห้วนสั้นที่เคยได้รับคำชมจากปรีดี พนมยงค์ว่า “มีอำนาจมาก” จะยังหนักแน่น ทรงกังวาน สมกับคำว่าคำรามมากกว่าพูด แต่แน่นอนว่าด้วยวัยร่วม 88 ปี สุลักษณ์ไม่ใช่ ‘เยาวชน’ อันที่จริง เขาได้ชื่อว่าเป็น ‘ราษฎรอาวุโส’ ผู้ถือปฏิสนธิในปีเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก และ ‘ปัญญาชนสยาม’ ผู้มีบทบาทในวิวาทะต่างๆ ของสังคมไทย ไม่ว่าศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ผ่านการเป็นบรรณาธิการคนแรกของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่หลายคนยกย่องให้เป็นวารสารทางวิชาการอันทรงอิทธิพลสูงสุดของประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ และเปรียบประหนึ่งกราวนด์ซีโร่ของกระแสการเมืองเพื่อประชาชนครั้ง 14 ตุลาคม 2516 หรือแม้กระทั่ง‘ทวิตเตอร์’ที่มาก่อนกาล
ยิ่งกว่านั้น สถานที่ปรากฏกายของสุลักษณ์อาจเป็นกลางม็อบ แต่หากคำว่า ‘ราษฎร’ ของม็อบมีความหมายถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับ ‘ราช’ หรือสถาบัน หนึ่งสิ่งที่สุลักษณ์ยืนกรานมาตลอดก็คือเขาเป็น ‘คนรักเจ้า’ ผู้ได้รับเอื้อเฟื้อความเป็นกัลยาณมิตรจากพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม และหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ที่เขาไปมาหาสู่อยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขาถือเป็น ‘ไอดอล’ ในเชิงงานอักษร หรือแม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แล้วและรัชกาลปัจจุบัน ที่สุลักษณ์เชื่อว่าได้ทรงปัดเป่าให้เขาพ้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ในเวลาที่เขากล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง ตามความเห็นว่านี่คือการทำหน้าที่กัลยาณมิตรของตัวเองต่อสถาบัน
กล่าวถึงที่สุด ม็อบพูดถึงการปลดแอก แต่หากโลกนี้จะมี ‘แอก’ ที่สุลักษณ์ต้องการปลด แอกนั้นก็น่าจะไม่ได้มีเพียงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างที่ถูกบรรจุไว้ในแถลงการณ์ของม็อบเพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงแอกของโลภะ โทสะ โมหะ ที่ปรากฏอยู่ทุกที่ มากกว่าเพียงสถาบันใดสถาบันหนึ่ง ดังที่เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึงสองครั้ง (2536 และ 2537) และได้รับรางวัล Alternative Nobel หรือรางวัล Right Livelihood Award (2538) อันเนื่องมาจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงภายใน และมีผลลัพธ์เป็นหลากหลายองค์กรเอ็นจีโอสำคัญของไทยที่เขามีส่วนในการริเริ่มก่อตั้ง ไม่ว่าเสมสิกขาลัย มูลนิธิโกมลคีมทอง หรือมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
ความแปลกแยกในหลากหลายมิติดังนี้ ทำให้ไม่แปลกที่ภายหลังการปราศรัยสุลักษณ์จะถูกโจมตีหรือที่เรียกกันว่า ‘ทัวร์ลง’ ทันที ทั้งจากกลุ่มผู้สนับสนุนม็อบที่ว่าเขาพูดเลียบเคียงปกป้องสถาบันเกินไป และกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันที่เห็นว่าเขาไม่ควรไปปรากฏกายในม็อบตั้งแต่ต้น สถานการณ์แทบไม่ต่างกับที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสุทธิชัย หยุ่นไว้ตั้งแต่ปี 2562 ว่า “พวกขวาเขาก็ว่าผมเป็นซ้าย พวกซ้ายก็ว่าผมเป็นขวา ผมสนใจอยู่อย่างเดียวเรื่องความยุติธรรมในสังคม ผมเชื่อว่าขวาก็ทำได้ ซ้ายก็ทำได้ อย่าไปสมาทานลัทธิอุดมการณ์ใดๆ”
สุลักษณ์เคยเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ ชื่อว่า Loyalty Demands Dissent ตามความเชื่อว่าความภักดี จำเป็นต้องแสดงด้วยการกล้าที่จะเห็นต่างท้วงติง ดังนั้น หากหัวใจของสุลักษณ์อยู่กับทั้งสถาบันและประชาชนอย่างที่เขากล่าวมาตลอด
เป็นไปได้ว่าประโยชน์ของทุกคนอาจอยู่จากการฟัง ‘ความเห็นต่าง’ ของสุลักษณ์จนเห็นความภักดีนั่นเอง
กัลยาณมิตร
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีการพูดที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช วิจารณ์ว่า “ขวานผ่าซาก” น้ำเสียงดุดัน ตลอดจนคิ้วที่ขมวดปมอยู่เป็นนิจคล้ายเชอร์ชิลในเสื้อม่อฮ่อม แน่นอนว่าความภักดีที่แสดงออกด้วยความเห็นต่างของสุลักษณ์ไม่ใช่ของที่ทุกคนจะยอมรับได้โดยง่าย
วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ของเขาที่เป็นเวทีให้คนมาถกเถียงปัญหาของ ‘ชาติ’ อย่างความยากจน สิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ ส่งผลให้หนังสือของเขาถูกเผา และตัวเขาต้องลี้ภัยอยู่ที่อังกฤษนานถึงสองปีเพื่อหลบการกวาดล้างของรัฐเมื่อเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 การเขียนหนังสือเรื่อง ‘ลอกคราบสังคมไทย’ ซึ่งโจมตีระบบศักดินาและวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ‘พระมหากษัตริย์’ ทำให้สุลักษณ์ได้ประเดิมข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมีอีกหลายครั้งตามมา กระทั่ง สถาบัน ‘ศาสน์’ ซึ่งปกติเป็นต้นธารความคิดของสุลักษณ์ในหลายมิติ ก็ยังไม่รอดพ้นจากการถูกวิพากษ์ ดังเช่นที่สุลักษณ์ได้เคยเขียนหนังสือ ‘สอนสังฆราช’ แจ้งความวุ่นวายในวงการพระศาสนาถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวรเมื่อแรกที่ท่านดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก และในบางครั้งบางคราว ก็เคยเสนอยุบมหาเถรสมาคม หรือตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการมีพระสังฆราชมาแล้ว
“พระที่เป็นอลัชชี ผมซัดไม่ไว้เลย ถ้าพระดีผมก็ยกย่อง เช่นผมยกย่องอาจารย์พุทธทาส ยกย่องเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ตั้งแต่ท่านยังเป็นพระผู้น้อยอยู่ เพราะสององค์นี้เป็นเพชร เป็นมรกตของคณะสงฆ์ไทย ท่านปัญญานันทะผมเคยยกย่อง แต่ทีหลังผมเห็นท่านเสียคนผมก็ไม่ยกย่อง คือผมพยายามมองหาข้อเท็จจริงให้มาก แล้วตีไปที่ข้อเท็จจริง อย่างท่านปัญญา ทีหลังท่านไม่ได้ภาวนา ตีฝีปากอย่างเดียว มาหลงพรรคประชาธิปัตย์เพราะปักษ์ใต้ด้วยกัน ผมก็จำเป็นจะต้องโจมตีท่าน ความจริงท่านกับผมก็สนิทกันมาก ลูกน้องผมจะบวช ผมโทรศัพท์หาท่าน ท่านบอกคุณสุลักษณ์ไม่ต้องมาหรอก ส่งคนมา ไตรจีวรอาตมาช่วยหาให้หมด แต่ทีหลังประชา หุตานุวัตร เขาอยากบวช ผมโทรศัพท์หาท่าน ท่านบอกไม่รับบวชให้ฝ่ายซ้าย ผมก็ถาม เอ๊ะ---พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่ไหนว่าไม่บวชให้ฝ่ายซ้าย นี่คือท่านเป็นการเมือง
…ผมตั้งเกณฑ์ง่ายๆ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โลภ โกรธ หลง เป็นของไม่ดี ดังนั้นใครติดไปทางโลภ โกรธ หลง ผมก็ต้องเล่นงาน อย่างธรรมกาย ผมเล่นงานไม่ละเลย เพราะธรรมกายเน้นในความโลภเป็นเจ้าเรือน แม้กระทั่งสันติอโศกซึ่งตรงกันข้าม ทำอะไรดีหลายอย่าง แต่ผมก็ต่อต้านว่าสันติอโศกมีพระเอกอยู่คนเดียว คือพ่อท่าน (สมณะโพธิรักษ์) พ่อท่านวิเศษสุด ถ้าพ่อท่านเป็นอะไรไปสันติอโศกก็พัง พระพุทธเจ้าเน้น คณะสงฆ์สำคัญที่สุด นี่คือเหตุที่ผมยกย่องอาจารย์ชา ท่านสร้างคณะสงฆ์ได้ดีมากเลย
ไอ้เรื่องด่าผมมองเห็นเป็นของธรรมดา ถ้าเขาด่ามาไม่จริงจะไปโกรธเขาได้ยังไง ถ้าเขาด่ามาจริงก็ต้องแก้ไขไปปรับปรุงที่เขาด่าเท่านั้นเอง นี่คนมักไปโกรธคนเขาด่า แค่เอ่ยชื่อก็โกรธแล้ว คนละเรื่องเลย ผมชื่อนายสุลักษณ์ พ่อแม่ตั้งให้ แค่นั้นเอง ผมตายไป สุลักษณ์ก็อยู่ที่ไหนไม่รู้
…ความจงรักภักดี จะต้องออกมาโดยการแสดงความเห็นในทางท้วงติง Loyalty Demands Dissent คำนี้ผมแต่งเอง เป็นชื่ออัตชีวประวัติของผม ในครอบครัวก็เหมือนกัน ผัวเมียรักกันก็ต้องมีมิติที่แตกต่างกันและต้องเคารพรักซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่ารักกันแล้วจะต้องเห็นคล้อยตามกันไปหมด ลูกผมก็เป็นตัวของเขาเอง ผมก็เคารพนับถือลูกผม ลูกผมก็เคารพนับถือผม ผมไม่ก้าวก่ายเรื่องของเขา ต่างคนต่างจิตต่างใจ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าสิ่งประเสริฐที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือกัลยาณมิตร คือผู้ที่แนะให้เราท้าทายความคิดของเรา ไอ้เรื่องด่าผมมองเห็นเป็นของธรรมดา ถ้าเขาด่ามาไม่จริงจะไปโกรธเขาได้ยังไง ถ้าเขาด่ามาจริงก็ต้องแก้ไขไปปรับปรุงที่เขาด่าเท่านั้นเอง นี่คนมักไปโกรธคนเขาด่า แค่เอ่ยชื่อก็โกรธแล้ว คนละเรื่องเลย ผมชื่อนายสุลักษณ์ พ่อแม่ตั้งให้ แค่นั้นเอง ผมตายไป สุลักษณ์ก็อยู่ที่ไหนไม่รู้ เพราะฉะนั้นผมไม่ตื่นเต้น”
ยิ่งกว่านั้น สุลักษณ์ดูจะเตรียมใจไว้แล้วสำหรับผลที่จะตามมาหากคนอื่นเกิด ‘ตื่นเต้น’ กับคำด่าของเขาขึ้นมา
“ทำอะไรมันก็เปลืองตัวทั้งนั้น ดังนั้นไม่ต้องไปกลัว เราไม่ใช่สาวน้อย…แต่ทุกอย่างมันมีทั้งนัยบวกและนัยลบ อาจารย์พุทธทาสเคยเขียนภาษาบาลีให้พรผม ท่านบอกว่า ‘ความกล้าเป็นของดี แต่กล้าเกินไปก็ไม่ดี’ ท่านเขียนภาษาบาลีให้พรผมเลยนะ คุณเคยได้ยินชื่ออาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้วไหม ท่านบอกว่าคุณสุลักษณ์เวลาเขาเขียนไปพูดดีมากเลยนะ แต่ถ้าเขาพูดปากเปล่า บางทีรั้งไว้ไม่อยู่ ติดคุกเพราะพูดปากเปล่าหลายหนแล้ว ท่านเตือนผม ‘ทีหลังให้เขียนไปอ่านนะ อย่าไปพูดปากเปล่า’
…ผมได้เปรียบ คือผมมีเมียดี เมียผมเข้าใจผม เขาไม่รู้สึกว่าผมสร้างความรำคาญให้เขา เพราะว่าผมหลายครั้งต้องเข้าคุก หลายครั้งต้องหนีไปต่างประเทศ และผมก็ได้เพื่อนดี ทนายความที่ทำคดีให้ผมก็ไม่เคยคิดสตางค์ผมเลย ถ้าผมต้องเสียค่าทนายก็ฉิบหายแน่ ผมได้เปรียบ มีภรรยาและมิตรที่ดี ทั้งภายนอกภายใน บ้านผมลูกเมียก็เข้าใจผม ภายนอกเพื่อนฝูงหลายคนเขาก็อุดหนุนผม”
ตัวของตัวเอง
สุลักษณ์สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเซนต์เดวิดส์ แลมปีเตอร์ ในแคว้นเวลส์ อีกทั้งยังเป็นเนติบัณฑิตแห่งสำนักมิดเดิล เทมเปิ้ล อินน์ ประเทศอังกฤษ ทำให้ได้รับการศึกษาที่เรียกว่าก้าวหน้าเมื่อเทียบกับคนร่วมสมัย ยิ่งกว่านั้น เส้นทางชีวิตยังอำนวยให้เขาได้มีโอกาสทำงานในองค์กรระดับสากลอย่างสถานีวิทยุบีบีซี และเกี่ยวพันข้องแวะกับผู้นำทางความคิดของสังคมไทยและโลกเป็นจำนวนมาก ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ชำนาญการเมืองไทยร่วมสมัย เคยกล่าวถึงดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันและกลุ่มชนชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะสังกัดกองทัพ ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ภาคธุรกิจ พรรคการเมือง นักศึกษาปัญญาชนหรือคนชั้นกลาง ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ที่หนากว่า 700 หน้า และประกอบไปด้วยเชิงอรรถกว่า 1,398 รายการ และบรรณานุกรม 40 หน้า ว่าเป็นดั่ง “ส.ศิวรักษ์ที่มีเชิงอรรถ” ซึ่งพอจะแสดงถึงความกว้างขวางระดับอุปมาของวงสังคมที่สุลักษณ์พบพานได้เป็นอย่างดี กระนั้น หากถามว่าส.ศิวรักษ์เป็นส.ศิวรักษ์ได้เช่นไร เขากลับชี้ไปยังวงสังคมส่วนที่แคบหรือใกล้ตัวที่สุด คือบิดาของเขาเอง
“ผมว่าทุกคนที่ผมเกี่ยวข้องมีอิทธิพลกับผมทั้งนั้น คนที่มีอิทธิพลกับผมมากที่สุดก็คือพ่อของผม พ่อผมเป็นคนแปลกประหลาด เพราะพ่อตั้งตัวเป็นเพื่อนผมเลย เราทะเลาะกันได้ เถียงกันได้ แล้วพ่อผมก็สอนอย่าให้เชื่อใครง่ายๆ ตั้งแต่เด็ก สอนให้ผมเป็นตัวของตัวเอง เช่น ใครเอาของมาให้ คนเขาบอกให้ไหว้ก่อน พ่อผมบอกว่า ถ้าไม่อยากไหว้ ก็ไม่ต้องไปไหว้มัน เดี๋ยวเตี่ยซื้อให้เอง พ่อผมทำให้ผมนิสัยเสียในแง่นี้ แต่ก็ทำให้ผมเป็นตัวของตัวเอง เรานอนด้วยกัน คุยกัน เป็นเพื่อนกันมากกว่าเป็นพ่อเป็นลูก กับลูกคนอื่นพ่อก็ไม่เป็นอย่างนี้ เป็นเฉพาะกับผม ลูกคนโปรด อันนี้พ่อผมมีอคติ พ่อผมตายตั้งแต่เมื่อผมอายุ 13 เท่านั้นเอง เป็นคนธรรมดา เรียนเป็นสมุห์บัญชี ทำงานห้างฝรั่ง ไม่มีความรู้ลึกซึ้งมาก แต่ท่านอุดหนุนให้ผมเป็นตัวของตัวเอง บางทีผมเห็นพี่ป้าน้าอาบางคนไม่ได้เรื่อง ผมก็บอกพ่อผมเลย คนนี้ไม่ได้เรื่อง ไอ้ลุงคนนี้กะล่อน เตี่ยบอก เออ---จริงของเอ็ง
… มันเริ่มจากจุดนี้แหละครับ และผมไปบวชอยู่ที่วัดทองนพคุณ อาจารย์ผมเจ้าคุณภัทรมุนีท่านเป็นโหรมีชื่อ ตอนนั้นเป็นเด็กอายุสิบสองสิบสามไปบวช แล้วผมก็ขยันทำวัตรสวดมนต์ วันหนึ่งพระซึ่งดูแลโบสถ์ ตื่นสาย ไม่เปิดโบสถ์ ผมก็ไปเล่นงานท่านเลย ท่านเอาขันน้ำตบหัวผม ผมก็ติดป้ายด่าพระองค์นี้รอบวัดเลย บอกพระองค์นี้เหี้ยยังไงบ้าง ท่านโกรธมาก ท่านบอกจะฟ้องเจ้าคุณภัทรฯ ผมบอกจะฟ้องก็ฟ้องสิ สู้กันเลย ท่านก็แหยผม เพราะท่านผิดจริงๆ ดังนั้นจะเรียกผมว่าบ้าบิ่นก็ได้
…ตอนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญก็เหมือนกัน อยู่ม.6 ผมทำหนังสือให้อ่านกันในห้องเรียน แต่ก่อนนี้พิมพ์ดีดยังมีน้อยก็ให้ใครที่ลายมืองามๆ เขียน เป็นหนังสือสำหรับให้เพื่อนเอาไปอ่านที่บ้าน เนื้อหาก็แนะนำเขาในสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้แนะนำ เช่น แนะนำให้ไปหอสมุดแห่งชาติไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไปหาความรู้เองอะไรเอง ทีหลังเด็กมันเอาหนังสือไปอ่านกันในห้องเรียน เพราะครูสอนน่าเบื่อ ครูมาจับได้ เห็นเข้าก็ชม เอ้อ---ทำดี เขียนดี อ่านไปอ่านมา อ้าว---มีด่าครูในนั้นด้วย ครูคนนี้สมควรด่าจริงๆ บางทีแกมาสอน แกก็หลับ แล้วโรงเรียนอัสสัมชัญเด็กมันรวย แกก็มาขายนาฬิกา บังคับเราซื้อนาฬิกา ผมก็เขียนด่าแก ทำเป็นละครสั้นด่า แกจับได้ แกฟ้องไปถึงบราเธอร์ฮีแลร์ (ฟ.ฮีแลร์) ไอ้ครูคนนี้บอกถ้าไม่ไล่ผมออกเขาจะลาออก
นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นคอมมิวนิสต์กำลังเข้ามาแรง บราเธอร์ฮีแลร์ก็เลยไกล่เกลี่ยว่า เลิกแล้วต่อกันไป ตอนอัสสัมชัญจะทำ ‘อุโฆษสาร’ หนังสือประจำโรงเรียน เพื่อนๆ ก็เลยเลือกผมเป็นบรรณาธิการคนแรก ด่าคนมีชื่อเหมือนกัน”
น่าสังเกตว่าความกล้าของสุลักษณ์ไม่ได้เป็นผลจากเพียงทัศนคติที่บ่มมาจากบิดา เท่านั้น หากยังมาจากความรู้ความเห็นที่ออกจะเกินวัยคนในรุ่นเดียวกันมานับแต่วัยเยาว์
“เด็กๆ ผมไม่ชอบอ่านหนังสือ ขนาดไปบวชเณรแล้วท่านเจ้าคุณภัทรมุนี อาจารย์ผมท่านเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วท่านบอกให้ไปอ่านสิ ผมก็ไม่ชอบอ่าน ชอบฟัง ผมเป็นคนผิดสมัย เพื่อนๆ พี่น้องผมอ่าน ‘พล นิกร กิมหงวน’ ผมก็ไม่อ่าน เขาชอบไปดูหนังกัน ผมก็ไม่ชอบ ชอบไปดูละครชาตรี ดูเขาแก้บนอะไรต่างๆ แต่ตอนบวชได้อ่านเรื่อง ‘ไทยรบพม่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้า เออ---ผมติดใจท่าน ตั้งแต่นั้นผมก็เลยรักการอ่านหนังสือ ท่านเขียนอ่านง่าย สนุก ผมติดเป็นแฟนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาตลอดชีวิต กระทั่งท่านผู้หญิงพูน (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล) ลูกสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ รับสั่งว่า ผมรู้เรื่องเสด็จพ่อดีกว่าพวกหม่อมเจ้าน้องชายทั้งหลายอีกด้วย ผมเลยรู้เรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีไทย เรื่องโบราณคดีต่างๆ ตามรอยพระบาทท่าน”
ข้าพเจ้าเองก็ต้องขอยอมรับว่าครูพวกนี้ดีกับเรา สนใจสอนเรายิ่งกว่าเห็นแก่ทรัพย์ แต่แล้วข้าพเจ้าก็อดเสียใจไม่ได้ ที่ไปผิดหวังมากับความรู้ของครูชั้นนำพวกนี้ โดยเฉพาะก็วิชาประวัติศาสตร์ เพราะติดขัด ตอบข้าพเจ้ากันไม่ได้หลายเรื่อง…ภายหลังข้าพเจ้าค้นหาคำตอบได้เอง ก็เลยเสื่อมศรัทธาครู
ความรู้จากการแสวงส่วนตนจนเกินที่โรงเรียนมีให้เหล่านี้ ทำให้สุลักษณ์มักไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่อธิบายตัวเองไม่ได้หรือไม่ทนต่อการตรวจสอบ ในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘ช่วงแห่งชีวิต’ สุลักษณ์เล่าถึงหลายความคิดขณะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมโรงเรียนอัสสัมชัญที่หากอยู่ในสมัยนี้อาจต้องถูกพ่วงแฮชแท็ก ‘นักเรียนเลว’ เข้าไปด้วยเหมือนกัน
“เรื่องท่องขึ้นใจนั้นข้าพเจ้าเกลียดที่สุด ยิ่งฝืนท่องสิ่งที่ไม่สนใจหรือไม่รู้ความหมายด้วยแล้ว เห็นว่าป่วยการเปล่า ทั้งทางโรงเรียนนี้ ต้องท่องให้เหมือนเปรี๊ยะดังท่องมนต์ ตกคำว่า “ที่ ซึ่ง อัน” ก็ไม่ได้ ขาด the หรือ a ก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงรังเกียจนัก
…ครูภาษาไทยชั้นม.6 ชื่ออมร ให้เรียงความเรื่องพระแก้วมรกต โดยอ่านให้ฟังในชั้น แล้วให้ไปเรียบเรียงมาเป็นการบ้าน ข้าพเจ้าแต่งได้คะแนนเต็ม โดยครูเขียนจั่วหัวด้วยหมึกแดงมาด้วยว่า นักเรียนคนนี้เขียนความเรียงได้เกินกว่าความรู้ที่ครูให้ ทั้งนี้ เพราะเวลานั้นข้าพเจ้าอ่านรัตนพิมพวงศ์แล้ว และอ่านพระราชวิจารณ์ความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี มาแต่อยู่ม.4 แล้วด้วย จึงไม่สู้ตื่นเต้นอะไรกับคำชมของครู
…การเรียนกวดวิชา ดูเหมือนเราไปเรียนกันที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษา...ครูที่สำคัญคือ อาจารย์สุจิต ศิกษมัต ซึ่งเวลานั้นเป็นนายพันแล้ว...ท่านผู้นี้สอนประวัติศาสตร์ โดยถือกันว่าท่านเป็นเลิศอยู่ในแวดวงวิชาการผู้หนึ่งของเมืองไทยในสมัยนั้น…ข้าพเจ้าเองก็ต้องขอยอมรับว่าครูพวกนี้ดีกับเรา สนใจสอนเรายิ่งกว่าเห็นแก่ทรัพย์ แต่แล้วข้าพเจ้าก็อดเสียใจไม่ได้ ที่ไปผิดหวังมากับความรู้ของครูชั้นนำพวกนี้ โดยเฉพาะก็วิชาประวัติศาสตร์ เพราะติดขัด ตอบข้าพเจ้ากันไม่ได้หลายเรื่อง…ภายหลังข้าพเจ้าค้นหาคำตอบได้เอง ก็เลยเสื่อมศรัทธาครู
…เดิมคิดว่าจะไปเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่เห็นว่าถ้าไปเจอครูอาจารย์เข้าเช่นนี้อีก จะนับถือท่านนั้นๆ ได้อย่างไร นี่ขนาดหัวกะทิยังเป็นถึงเพียงนี้ แล้วที่รองๆ ลงไปจะเป็นอย่างไร และแล้วการไม่นับถือครูก็เห็นเป็นบาป เพราะตัวเองยังเป็นคนวัดอยู่ เห็นว่าถ้าใครเป็นครู ต้องนับถือไปจนตาย นี่เป็นอีกเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้ไม่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยเมืองไทย”
ความอึดอัดของสุลักษณ์มาปลาสนาการไป เมื่อเขาได้ไปเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยเซนต์เดวิดส์ แลมปีเตอร์ ในแคว้นเวลส์ โดยทุนของมารดา ที่ซึ่งเขาได้พบกับแฟรงก์ ริชาร์ด นิวท์ หนึ่งในผู้ทำงานในกระท่อมหลังที่ 6 (Hut 6) เบลตช์ลีย์ พาร์ก ที่รู้กันว่าเป็นแหล่งรวมมันสมองของอังกฤษเพื่อทำลายโค้ดลับอีนิกมา (Enigma) ของเยอรมนีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
“ระบบการสอนของอังกฤษเขาดีมาก เขาไม่ได้สอนให้เราเชื่อ เขาสอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะผมมีอาจารย์ที่ปรึกษา เขาเรียก Moral Tutor มิสเตอร์นิวท์ สอนภาษาอังกฤษให้ผม และแกก็เกิดมาพิศวาสผม เพราะผมเป็นนักเรียนต่างประเทศคนเดียว บางทีผมปิดเทอม อยู่ที่นั่น ท่านก็คุยกับผมเป็นส่วนตัว เล่นหมากรุกกัน และก็แนะนำอะไรต่างๆ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเช่นผม ท่านเป็นคนอังกฤษแท้ ขี้อาย ถ่อมตัว แต่ความรู้ดีมาก เร็วๆ นี้เอง เพิ่งปรากฏเอกสารมาว่าท่านเป็นคนคิดแก้โค้ดลับของเยอรมันได้ เป็นเหตุให้อังกฤษชนะเยอรมัน ท่านไม่ได้เอ่ยเรื่องนี้เลย เพิ่งมารู้เมื่อเร็วๆ นี้เอง
…เด็กที่มาชุมนุมกันทุกวันนี้ คุณเห็นไหม ไม่ใช่เพียงเด็กมหาวิทยาลัย เด็กโรงเรียนก็ออกมา ทั้งๆ ที่ระบบโรงเรียนก็ดี ระบบมหาวิทยาลัยก็ดี สอนให้คนแหยทั้งนั้น สอนให้คนอยากจบไปจะได้รวย จะได้มีอำนาจ สื่อกระแสหลักก็มอมเมาคน ในทางบริโภคนิยม ทุนนิยม และสยบยอมต่ออำนาจไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่เด็กรุ่นใหม่เขาเบื่อสื่อกระแสหลัก เบื่อการสอนในโรงเรียน และออกไปหาสื่อนอกกระแสหลัก เป็นเหตุให้เขากล้าหาญขึ้นมา อันนี้ทำให้ผมต้องก้มหัวให้เด็กรุ่นใหม่ว่าเขามีกึ๋น มีความกล้าหาญ”
ปัญญาชนสยาม
หากยึดตามบทความของเฮอร์เบิร์ต ฟิลลิป ที่ยกส.ศิวรักษ์ไว้เป็นหนึ่งในสิบ Siamese Intellectuals หรือ ‘ปัญญาชนสยาม’ ที่ประกอบไปด้วยบุคคลอย่างพระยาอนุมานราชทน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พุทธทาสภิกขุ ฯลฯ และให้นิยามแก่คำว่าปัญญาชนไว้ว่าคือ “ผู้สนใจเรื่องความยุติธรรมของสังคม และนำเอาความคิดมาตีแผ่ให้สังคมได้รู้จัก ยอมรับหรือโต้แย้ง” สุลักษณ์ผู้ฝากผลงานเกี่ยวกับการเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรมไว้กว่า 200 ชิ้นและได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมากที่สุดในไทยย่อมอ้างความเป็นปัญญาชนได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม บทบาทความเป็นปัญญาชนของเขากล่าวได้ว่ามีอิทธิพลสูงสุดในช่วง 2506-2512 ที่นิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ภายใต้การนำของเขาเป็นหนึ่งในแสงที่เสียดแทงเข้ามายุติ ‘ยุคมืดทางปัญญา’ อันเต็มไปด้วยการจับกุมนักคิดนักเขียนในรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแผดแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่จุดประกายการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาในช่วงตุลาคม 2516 กระทั่ง ‘ศึกษิตสยาม’ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่เขายึดเอาคูหาตรงข้ามเมรุเผาศพของวัดหัวลำโพงที่คนรังเกียจว่าอัปมงคลมาเป็นที่ตั้ง ยังเป็นแหล่งรวมของหนังสือชั้นเลิศ ปัญญาชนและศิลปินจากทุกค่ายความคิดราวกับร้านเชกสเปียร์ แอนด์ คอมปานีของกรุงเทพฯ เอง ยิ่งกว่านั้นยังเป็นสถานที่ออกใบปลิวและหนังสือของ ‘กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ ที่ประกอบด้วยนักศึกษาปัญญาชน 100 คน (อาทิ ธีรยุทธ บุญมี ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิสา คัญทัพ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิชัย โชควิวัฒนพิภพ ธงไชย ฯลฯ ) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรภายใน 6 เดือน จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
“สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันเป็นจุดเริ่มต้น แล้วทีหลังเองพวกนักศึกษาเขาอยากจะทำหนังสือบ้าง ตอนนั้นเขาไม่อนุญาตให้ออกนิตยสาร ผมได้พรพิเศษออกได้ ผมเลยบอก เอ้า--มาใช้สังคมศาสตร์ปริทัศน์สิ ให้เขาทำฉบับนิสิตนักศึกษา ให้เสรีภาพเขาเต็มที่เลย ถ้าติดคุกผมติดคุกเอง เขาก็ดีมากนะ กลัวผมจะติดคุก จำได้เลยคราวหนึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนหนังสือบอกว่าที่จุฬาฯ คนจะเป็นบัณฑิตเวลาจะสอบทียังไหว้พระบรมรูปเสด็จพ่อร.5 อยู่เลย พวกบรรณาธิการเขามาบอกผมอาจารย์ลงได้เหรอ ไม่ติดคุกเหรอ ผมบอกไม่เป็นไรถ้าติดคุกก็ติดเอง นี่เป็นเหตุที่นิธิเขายังนับถือผมจนถึงทุกวันนี้ เพราะผมอุดหนุนเขาตั้งแต่สมัยที่คนยังไม่รู้จัก
…สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันเกิดจากอเมริกันอยากให้เราเดินตามแบบ อยากให้มีสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ก็ให้เงินมาอุดหนุน ให้ 5 มหาวิทยาลัยส่งตัวแทนมาตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย จุดประสงค์คือจะได้พิมพ์หนังสือแบบอเมริกันล้างสมองคนให้มากขึ้น ไม่มีใครเขารับตำแหน่ง เพราะมันไม่มีความมั่นคงในชีวิต แต่ผมชอบความเสี่ยงผมก็รับ เมื่อเป็นแล้ว ผมก็บอกที่ประชุมคณะกรรมการที่บริหารสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยว่า ถ้าเป็นแบบไอ้กัน มันต้องเขียนตำรา อาจารย์มหาวิทยาลัยถ้าไม่เขียน คุณจะไม่ได้จ้างประจำ (tenure) เขาพูดกันว่า publish or perish คือถ้าคุณไม่เขียนคุณก็อยู่ไม่ได้ แต่คนไทยไม่กล้าเขียน ดีไม่ดีถูกจับ publish แล้วเลย perish จะอุดหนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเขียนตำราคงยาก
ผมมักจะมองคนในแง่ร้าย ศาสนาพุทธก็สอนให้ผมมองคนในแง่ดีมากขึ้น เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ดีกว่าเท่าที่ควรจะเป็น และศาสนาพุทธก็สอนให้ผมรู้จักตัวเอง ผมรู้ว่าผมเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจ ถ้าผมเกี่ยวข้องกับอำนาจ ป่านนี้อาจจะเป็นใหญ่เป็นโต หรือไม่งั้นก็เข้าคุกเข้าตารางไปแล้ว
…เพราะฉะนั้น ผมเลยบอกว่า เอาอย่างนี้ให้ออกวารสารให้พวกอาจารย์เขียนสั้นๆ ก่อน ทีหลังมีกำลังใจจะได้ทำเป็นเล่ม พวกคณะผู้บริหารเขาเห็นด้วย ออกไปไม่ทันไรผมก็กะว่าจะให้พวกอาจารย์มหาวิทยาลัยอ่าน ที่ไหนได้ เด็กๆ มันอ่านกัน เพราะมันถูกอัดไม่มีเสรีภาพ ทีนี้ผมก็เลยดัง ทำออกมาไม่เท่าไหร่เด็กเล็กก็ชอบอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ พอเด็กเขาอยากทำบ้างผมก็เลยอุดหนุนให้ออกฉบับนิสิตนักศึกษา หลังจากจบแล้วผมก็ให้ออกฉบับบัณฑิต ก็เป็นเรื่องอุดหนุนคนรุ่นใหม่ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมาก เปิดโอกาสให้คน
…คุณต้องอย่าลืมนะว่าเวลาที่ออกสังคมศาสตร์ปริทัศน์นั้นกฎหมายเข้มงวด วิจารณ์รัฐบาลไม่ได้และวิจารณ์พันธมิตรรัฐบาลไม่ได้ วิจารณ์อเมริกันไม่ได้ ช่วงสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันในเมืองไทยเท่าไหร่ มีทั้งกองทัพอเมริกัน มีทั้งสนามบินที่อู่ตะเภา ที่ตาคลี ที่อุดรธานี ไม่มีใครเขียนได้เลย เพราะมันไม่ได้แค่จับ มันมาล็อคแท่นพิมพ์เลย ผมเป็นคนแรกที่เปิดเผยความจริงเรื่องนี้ ศาสนาพุทธเราใช้คำว่า ‘อุปายโกศล’ คือตอนนั้นวุฒิสมาชิกฟุลไบรท์ (เจ. วิลเลียม ฟุลไบรท์) พูดในรัฐสภาอเมริกันโจมตีสหรัฐฯ เรื่องสงครามเวียดนาม สมัยก่อนมันยังไม่มีแฟกซ์ คนก็ส่งแอร์เมล์มาให้ผม พอผมได้รับผมแปลคืนนั้นลงสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับถัดไปเลย ออกมาเท่านั้นแหละหนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็อปปี้ไปลงหมด ผมเลยดังระเบิดเพราะมันเป็นครั้งแรกที่เปิดให้เห็นว่าอเมริกันเข้ามาก้าวก่าย ในทางกฎหมายทำอะไรผมไม่ได้ จะจับผมก็จับไม่ได้ เพราะถ้อยคำเป็นของวุฒิสมาชิก ถ้าเขาจะรังแกอีกก็แล้วไป แต่ผมก็ได้เปรียบ ในฐานะเป็นนักเรียนอังกฤษ เขาก็เห็นว่าเป็นพวกเรียนเมืองนอก ไม่ทำอะไร มันได้เปรียบ”
หันหลังให้อำนาจ
ในเวลานั้นนักเรียนนอกในเมืองไทยยังมีจำกัด สุลักษณ์ดูจะตระหนักดีถึง ‘แต้มต่อ’ ที่เขามีในฐานะผู้จบเนติบัณฑิตอังกฤษ ทั้งยังมีประสบการณ์ทำงานกับองค์กรชั้นนำอย่างบีบีซี กระนั้น เขาเลือกที่จะใช้ความได้เปรียบนี้เพื่อทำงานวารสารเพื่อสังคมแทนที่จะเข้าสู่อำนาจ ทั้งที่ความใฝ่ฝันขณะแรกไปอังกฤษ คือการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจะได้ใช้สติปัญญานำฝูงชนและประเทศไปสู่ความเจริญ ตามแนวคิดการปกครองโดยชนชั้นนำหรืออภิชนาธิปไตย ซึ่งถูกสำทับโดยอิทธิพลจากมิสเตอร์นิวท์ อาจารย์คนสนิทผู้พร่ำบอกแก่เขาว่า “อังกฤษได้ดิบได้ดี เพราะผู้ดีปกครอง และประชาธิปไตยเท่าไหร่ก็ฉิบหายเท่านั้น”
สุลักษณ์เคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาได้ฟังรับสั่งของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่อังกฤษ แล้วพบว่าเจ้านายชั้นสูงผู้มีพระราชบิดาเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ผู้นี้ กลับมีความฝันเพียงต้องการเป็นหญิงที่เฝ้าหน้าห้องน้ำของอังกฤษ (“คุณสุลักษณ์ ฉันมี ambition อะไรในชีวิตรู้ไหม ถ้าไม่รู้จะบอกให้ คือฉันอยากเป็นอย่างยายแก่ที่นั่งเฝ้าหน้าส้วมสาธารณะ ดูน่าเป็นสุข เพราะส้วมฝรั่งก็ไม่เหม็น แล้วแกก็เอาเสื้อไหมพรมไปถัก ทั้งบางทียังได้ tip อีกด้วย”) ซึ่งทำให้เขาสะเทือนใจว่าอำนาจในโลกแม้ล้นพ้น สุดท้ายก็ยังปราศจากแก่นสารพอให้คุ้มค่าแก่การแย่งชิง
“ผมบวชเณรอายุ 13 ได้อิทธิพลจากศาสนาพุทธมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนใจร้อน ศาสนาพุทธทำให้ผมใจเย็นลง ผมมักจะมองคนในแง่ร้าย ศาสนาพุทธก็สอนให้ผมมองคนในแง่ดีมากขึ้น เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่ก็ดีกว่าเท่าที่ควรจะเป็น และศาสนาพุทธก็สอนให้ผมรู้จักตัวเอง ผมรู้ว่าผมเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอำนาจ ถ้าผมเกี่ยวข้องกับอำนาจ ป่านนี้อาจจะเป็นใหญ่เป็นโต หรือไม่งั้นก็เข้าคุกเข้าตารางไปแล้ว ผมกลับมาจากเมืองอังกฤษตอนปี 2505 ได้รับเชิญให้ไปทำงานร่างสุนทรพจน์ให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ด้วยซ้ำ แต่ผมก็ปฏิเสธ สอง ฝรั่งมาชวนผมไปทำบริษัทโฆษณา มีบริษัทฝรั่งใหญ่มากชื่อ Grant Advertising เขาอยากได้ผมเป็นผู้อำนวยการมากเพราะผมเคยทำงานบีบีซีมา เคยตามเสด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว ภาษาไทยก็ดี ภาษาอังกฤษก็ดี แต่ผมมาเรียนรู้ว่าการโฆษณาสินค้ามันเป็นมุสาวาท เป็นการอุดหนุนทุนนิยม บริโภคนิยม ผมก็ไม่รับงานพวกนี้ ผมไม่รับงานใกล้ชิดกับอำนาจ ไม่รับงานใกล้ชิดกับเงินๆ ทองๆ
…อันนี้เป็นมติของผมเลย ผมเห็นว่าผมเกิดมาได้เปรียบคนอื่นเยอะแล้ว ควรจะรับใช้คนที่เดือดร้อนมากกว่าเรา ผมเกิดมาอย่างน้อยไม่ต้องอดข้าวตาย อย่างน้อยก็มีบ้านมีเรือนอยู่ พ่อแม่มีปัญญาส่งไปเรียนเมืองนอก หลายคนเลยอดมื้อกินมื้อ ถูกเอาเปรียบสารพัด พวกกรรมกรในเมืองไทยเจ้าของบริษัทก็เอาเปรียบ ชาวนาก็ถูกเอาเปรียบ ผมถึงต้องเข้าข้างคนเหล่านี้”
เปิดหูเปิดตา
แม้สุลักษณ์จะได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์และสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยอย่างมากผ่านการปลุกให้คนเห็นปัญหาของประเทศ อย่างที่พระไพศาล วิสาโล อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของสังคม กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากการอ่านงานเขียนของส.ศิวรักษ์ ในหนังสือ ‘ลอดลายผ้าม่วง’ ไว้ว่า “ข้าพเจ้าเคยอ่านแต่หนังสือประเภทสารคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์จึงรู้เห็นอย่างจำกัดแต่บางแง่บางมุม ครั้นมาได้อ่านงานเขียนที่วิจารณ์บ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่อย่างตรงไปตรงมาไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หากยังคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และคณะสงฆ์ ก็ช่วยให้หูตากว้างขึ้น แลเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม พลอยให้บังเกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยในความเป็นไปของสังคมไทยมากขึ้น ความสำนึกในสังคมก็เริ่มเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความนึกคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งต่อมาได้มาอ่าน สังคมศาสตร์ปริทัศน์...ก็แลเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ประเทศไทยที่ข้าพเจ้าเคยนึกว่าเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น แท้ที่จริงกลับเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ไหนจะปัญหาคนยากคนจนในชนบท ความไม่เป็นธรรมในสังคม การเอารัดเอาเปรียบจากต่างชาติ การทำลายโบราณสถาน และความเป็นไทยที่กำลังจะสูญ” กระนั้น สุลักษณ์พบว่ากระทั่งวารสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่เขาและผู้ร่วมอุดมการณ์ภาคภูมิใจ ก็อาจมีความหมายน้อย หากงานยังเป็นแค่ความสนุกทางความคิดที่ไม่ได้ยึดโยงกับความจริงของสังคม
“ผมทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ผมก็ภูมิใจมากในความสำเร็จ แต่วันหนึ่ง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เสด็จมาหาผมเลยนะ ท่านถาม ‘สุลักษณ์ มีเป้าหมายอะไรในการทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์’ ผมก็บอกว่าทำเพื่อจะกระตุ้นให้คนเกิดสติปัญญา แลกเปลี่ยนความคิดกันเป็นพื้นฐานประชาธิปไตย ท่านบอก เออ---ก็น่าสนใจนะ แล้วเธอรู้จักชาวนาไหม ผมก็ตอบ รู้จักสิกระหม่อม เพราะกระหม่อมก็ซื้อข้าวกิน หวังว่าที่ซื้อข้าวกินนี่ก็จะช่วยชาวนา ท่านบอกว่านั่นแปลว่าเธอไม่รู้จักชาวนาเลย เพราะรัฐบาลเอาเปรียบชาวนา กดราคาข้าว เพื่อให้ชนชั้นกลางซื้อข้าวถูกๆ ชนชั้นกลางจะได้ไม่เกลียดรัฐบาล แต่ชาวนาถูกเอาเปรียบ ขายข้าวออกนอกประเทศ รัฐบาลก็เก็บพรีเมียมเอาเข้ารัฐบาล ชาวนาไม่ได้เลย หม่อมเจ้าสิทธิพรบอกถ้าเธอไม่รู้จักชาวนา สิ่งที่เธอทำ มันก็เป็น ‘intellectual masterbation’ เท่านั้น
‘เมตตา’ ความรักตัวเอง คนส่วนมากไม่รักตัวเอง รักชื่อเสียงมากกว่า รักเงินทองมากกว่า ผมรักตัวเอง คืออยู่เรียบง่าย รักคนรอบๆ ตัวเรา ‘กรุณา’ คนเข้าใจผิดกันว่าเอาเงินไปช่วยคนยากคนจน ไม่ใช่ กรุณาคือจะต้องเข้าใจคนยากคนจน เข้าใจเขาเดือดร้อนอย่างไร แล้วไปร่วมเดือดร้อนกับเขา
… ท่านเป็นนักเรียนนอก พูดแรงเลย ใช้คำนี้เลยนะ ผมก็เห็นดีเห็นงามกับท่าน ก็เลยตามท่านไปรู้จักชาวไร่ชาวนา คุณต้องเข้าใจนะ หม่อมเจ้าสิทธิพรติดคุกตั้ง 11 ปี แล้วท่านเป็นอธิบดีกรมกษาปณ์ และกรมฝิ่น กรมที่ใหญ่ที่สุดนะ แต่ลาออกมาทำงานเพื่อชาวไร่ชาวนา ทีหลังผมก็ออกมาช่วยท่าน อบรมลูกชาวไร่ชาวนาจนท่านตายจากไป ผมถือว่าท่านเป็นคนมีบุญคุณกับผมมาก ที่ทำให้ผมตาสว่าง เห็นคุณงามความดีของชาวไร่ชาวนา อย่างที่ผมว่า ผมได้กัลยาณมิตรมีคนที่ดีมาเตือนผมอยู่เรื่อยๆ
…เวลาทำอะไร ผมก็พิจารณาว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกไม่ถูก ทำแล้วมันเพิ่มอัตตาหรือเปล่า หรือถ้าที่ถูกที่ควร ผมก็เห็นว่าสมควรทำ อย่างพวกคนเมืองกาญจน์เขาต่อสู้ท่อก๊าซที่มาจากพม่า บริษัทยูโนแคลของอเมริกา กับบริษัทโททาลจากฝรั่งเศส ไปทำสัญญากับรัฐบาลไทย จะส่งท่อก๊าซจากพม่ามาเข้าโรงไฟฟ้ามาขึ้นที่เมืองกาญจน์ ซึ่งจะทำลายป่าเมืองกาญจน์ทั้งหมด ทีนี้คนเมืองกาญจน์เขาต่อสู้ เขาก็มาหาผม เขาบอกว่าเขาสู้มันไม่ดัง ผมสู้มันดังระดับนานาชาติ ผมก็ไปช่วยเขาสู้ สู้แล้วผมกับชาวบ้านก็ถูกจับ ผมก็บอกปล่อยชาวบ้านไปเถอะ คุณจับผมคนเดียว นายคุณก็ขี้เต็มกางเกงแล้วนะ เขาก็เชื่อผม เพราะชาวบ้านไม่ได้ประกันตัว แล้วคดีนี้ห้าหกปี ถ้าไม่ได้ประกันจะทำมาหากินยังไง
…ผมได้เปรียบ ถูกจับแล้วประกันได้ แล้วเสธ.หนั่น (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) รัฐมนตรีมหาดไทยที่จับผมทีหลังเขาก็มาขอโทษผม บอกว่าขอโทษอาจารย์ที่ต้องจับอาจารย์ เพราะว่าตอนนั้นมหาวิทยาลัยมันเริ่มปิดแล้ว นักศึกษาจะมาเป็นร้อยเป็นพัน เดี๋ยวจะเกิดวุ่นวายมากที่มาจับผม ผมก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก คุณก็ทำหน้าที่ของคุณ ผมก็ทำหน้าที่ของผม ทีหลังเสธ.หนั่นกับผมก็มารักใคร่ชอบพอกันมาก คือผมไม่ได้เกลียด คุณทำหน้าที่ของคุณ จับผมก็จับไป”
เปลี่ยนนอกแปลงใน
เห็นได้ชัดว่าความรัก-ความเกลียด หรือศีลธรรมความผิดชอบชั่วดีปรากฎขึ้นมาในการสนทนาและเรื่องราวของส.ศิวรักษ์ตลอดเวลา สิ่งนี้อาจดูจับต้องไม่ได้ หรือแม้กระทั่งไม่พึงประสงค์ในเวลาที่ศีลธรรมถูกใช้เป็น ‘เช็คเปล่า’ สำหรับโจมตีทางการเมืองจนหมดความหมาย กระนั้น ในสังคมนานาชาติ บทบาทสำคัญของส.ศิวรักษ์ ไม่ใช่อยู่เพียงการต่อสู้กับอำนาจ หากยังอยู่ที่ความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอีกด้วย ดังเห็นได้จากองค์กรทำงานเพื่อสังคมหรือเอ็นจีโอหลากหลายที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง อาทิ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิโกมลคีมทอง เสมสิกขาลัย และที่สำคัญคือ International Network of Engaged Buddhists (INEB) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลกอย่างดาไลลามะ และติช นัท ฮันห์ อย่างที่พระไพศาล วิสาโลวิเคราะห์กล่าวถึงผลงานของส.ศิวรักษ์ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไว้ว่า “ในเวลาเดียวกันอาจารย์สุลักษณ์ก็ตระหนักว่า ศาสนธรรมเป็นทางเลือกที่สามที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย ในอันที่จะไปพ้นทุนนิยมหรือสังคมนิยม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องวัตถุนิยมทั้งสิ้น งานช่วงนี้ของอาจารย์จึงเน้นหนักในเรื่องการนำศาสนธรรมมาเป็นแนวทางสำหรับการสร้างสรรค์สังคม” หรือที่สุลักษณ์เองเคยเขียนเตือนสติเพื่อนนักเคลื่อนไหวไว้ใน ‘Seeds of Peace – a buddhist vision for renewing society’ หนังสือเล่มที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในตะวันตกว่า “นักเคลื่อนไหวมักเห็นความชั่วร้ายทั้งหลายว่าเป็นผลมาจาก “พวกนั้น” หรือ “ระบบ” โดยไม่เข้าใจว่าปัจจัยในทางลบทั้งหลายล้วนดำเนินไปภายในตัวของเราเองเช่นกัน พวกเขาพยายามแก้ปัญหาของโลกโดยใช้หัวคิดแบบวิศวกรทางสังคม โดยนึกเอาว่าการปรับโครงสร้างสังคมอย่างรุนแรงจะทำให้คุณธรรมในบุคคลกำเนิดขึ้นมาเอง” (แปลจากข้อความเดิมในภาษาอังกฤษ)
“ศาสนาพุทธช่วยผมนะ เพราะเรื่องพรหมวิหาร 4 สำคัญมาก ‘เมตตา’ ความรักตัวเอง คนส่วนมากไม่รักตัวเอง รักชื่อเสียงมากกว่า รักเงินทองมากกว่า ผมรักตัวเอง คืออยู่เรียบง่าย รักคนรอบๆ ตัวเรา ‘กรุณา’ คนเข้าใจผิดกันว่าเอาเงินไปช่วยคนยากคนจน ไม่ใช่ กรุณาคือจะต้องเข้าใจคนยากคนจน เข้าใจเขาเดือดร้อนอย่างไร แล้วไปร่วมเดือดร้อนกับเขา เช่น ที่ผมไปช่วยเรื่องท่อก๊าซ ผมไปร่วมเดือดร้อนกับชาวบ้านที่นั่นเลย ‘มุทิตา’ คือต้องไม่เกลียดคนที่ข่มเหงเรา อย่างเสธ.หนั่น ทีหลังมาเป็นเพื่อนผม ก่อนตายเขาบอกเลย เขารู้จักคนมาเยอะแล้ว อาจารย์ ส. คนเดียวเป็นห่วงเป็นใยเขาจริงจัง เป็นเพื่อนที่แท้ ฉะนั้น ผมไม่เกลียด ผมเห็นเป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ‘อุเบกขา’ คนบอกไม่เอาอะไร ไม่ใช่ อุเบกขาคือ ทำจิตให้มั่นให้แน่วแน่ แล้วเลือกว่าตอนนี้ควรจะใช้เมตตา ตอนนี้ควรจะใช้กรุณา ตอนนี้ควรใช้มุทิตา ต้องแปลพรหมวิหารให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าบอกถ้าใครไม่มีพรหมวิหารไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ได้ ผมเห็นรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะขาดเมตตากรุณา
…ส่วนเด็ก ผมก็เตือนเขานะ เด็กเขายังรู้การณ์ผ่านวัยมาน้อยกว่าเรา เราอย่าไปดูถูกเขา ให้กำลังใจเขาแล้วก็เตือนเขา เป็นกัลยาณมิตรกับเขา ผมพูดเสมอเลย คุณออกไปร้อง ต่อสู้ข้างนอก แต่บางทีคุณลืมไปนะ คุณทำตัวเป็นลูกบังเกิดเกล้าอยู่ที่บ้าน ไม่เห็นหัวพ่อหัวแม่ ควรจะต้องฟังพ่อแม่ด้วย แม้ไม่เห็นด้วยกับท่านก็ควรเคารพนับถือท่าน ถ้าคุณเปลี่ยนในบ้านไม่ได้ คุณจะไปเปลี่ยนข้างนอกได้อย่างไร ผมก็เตือนเขา เขาจะเชื่อไม่เชื่อก็เรื่องของเขา แต่เขาก็รู้ว่าผมหวังดีกับเขา แล้วผมก็บอกเขาว่าออกไปทำอะไรต่างๆ อย่าหวังผลได้ในทันที ต้องอดทน แล้วก็รู้จักยิ้มเยาะตัวเอง หาเรื่องให้มันสนุกด้วย
…ถ้ามีเวลาก็ควรรู้จักเดินลมหายใจให้ถูกต้อง อย่าใช้หัวสมองอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรัก ตัวอย่างชัดเจนเลย ดาไลลามะ ประเทศทิเบตของท่านถูกครอบครองมา 60 ปี วัดไม่รู้กี่ร้อยวัดถูกทำลาย แล้ววัดทิเบตแต่ละวัดนี่พระเป็นพันๆ เลยนะ ภิกษุณีถูกชำเรา พระถูกทรมาน แต่ดาไลลามะท่านสอนเราตลอดเวลาให้รักจีน เพราะนั่นคือคำตอบ สำหรับมนุษย์ความรักเป็นคำตอบไม่ใช่ความเกลียด อันนี้ไม่เฉพาะเมืองไทย ผมว่าทั้งโลกเลย ตอนนี้มีความเกลียดเยอะเหลือเกิน ถ้าไม่เกลียดกัน ก็หลงไปในทางทุนนิยม บริโภคนิยม ต้องเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรัก เปลี่ยนความโลภให้เป็นทาน อันนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับทุกๆ คน คุณไม่ต้องนับถือพุทธก็ได้ แต่เอาหลักของท่านเอามาใช้ได้สำหรับชีวิตทุกๆ คนเลย”
ตัวอย่างชัดเจนเลย ดาไลลามะ ประเทศทิเบตของท่านถูกครอบครองมา 60 ปี วัดไม่รู้กี่ร้อยวัดถูกทำลาย แล้ววัดทิเบตแต่ละวัดนี่พระเป็นพันๆ เลยนะ ภิกษุณีถูกชำเรา พระถูกทรมาน แต่ดาไลลามะท่านสอนเราตลอดเวลาให้รักจีน เพราะนั่นคือคำตอบ สำหรับมนุษย์ความรักเป็นคำตอบไม่ใช่ความเกลียด
ดาวอนุรักษ์
แม้ความพร้อมในการวิพากษ์สถาบันหลัก ไม่ว่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะทำให้สุลักษณ์มีภาพของความก้าวหน้าเจืออยู่อย่างเข้มข้น แต่โดยการตัดสินของสังคมวิชาการทั่วไปและรสนิยมหลายประการ สุลักษณ์ถูกจัดหมวดให้เป็นนักอนุรักษ์นิยม ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะเมื่อเทียบกับคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ผู้กำลังพยายามก้าวหน้ากว่าที่ใครเคยก้าวมา หากสุลักษณ์ยังเป็นอนุรักษ์นิยมแม้เมื่อเทียบกับคนรุ่นของเขาเอง ดังเช่นที่เขาเคยเขียนถึงความสนใจเรื่องจารีตประเพณีเก่าๆ ของตัวเองไว้ใน ‘ช่วงแห่งชีวิต’ ว่า “…ข้าพเจ้าสอนตัวเองให้รำละคร ทั้งยังสอนผู้อื่นและแต่งบทให้เขาอีกด้วย ทั้งหมดนี้ไม่มีใครมาจำจี้จ้ำไช ข้าพเจ้าสมัคร เรียนเอง สอนเอง ยังความรู้เกี่ยวกับประวัติ วัฒนธรรม ตลอดจนการสังเกตลัทธิพิธีกรรม ก็ไม่เคยมีใครมาให้คะแนนข้าพเจ้า แม้เวลาการจัดงานด้านพิธีต่างๆ ต้องขอร้องข้าพเจ้ากันแต่สมัยนั้นแล้วก็ตาม...จะเป็นบุพเพกตปุญตาหรืออะไรก็แล้วแต่ ข้าพเจ้าเป็นคนโบราณมาแต่เล็ก อยู่พ้นคนร่วมสมัยไป จนเป็นคนล้าสมัย จึงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างไม่รู้ตัว” กระทั่ง ‘พลูหลวง’ โหราจารย์ผู้ได้รับความเคารพนับถือจากนักโหราศาสตร์ทั่วฟ้าเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ชำนาญโบราณคดีและการอนุรักษ์จิตรกรรมแบบเก่า ยังเคยหาเหตุผลถึงจริตของสุลักษณ์ไว้โดยอ้างอิงดวงดาวว่า “ดาวเนปจูนกับพฤหัสที่กุมกันนั้น คือการอนุรักษ์และรักษาของเก่าโดยแท้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นผู้หาทุนรอนทำการซ่อมธรรมาสน์วัดวรจรรยาวาส อันเป็นธรรมาสน์สมัยอยุธยาที่งามที่สุดเป็นผลสำเร็จ เขาช่วยอาจารย์เฟื้อหริพิทักษ์อนุรักษ์หอไตรวัดระฆัง ทำการซ่อมแซมจนดีสู่ระดับที่ยืนยงคงทนต่อไปอีกนับเป็นศตวรรษ เขาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมหรือชมรมนุ่งผ้า คือการนุ่งผ้าม่วงอันเป็นการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่าของไทย เขาชักจูงเพื่อนฝูงนักเรียนนอกรุ่นใหม่ๆ ให้หันมานิยมแต่งกายแบบไทยเดิม ให้ช่วยกันรักษาขนบประเพณีไทย นับว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่มีความสำคัญยิ่งคนหนึ่ง” พร้อมบอกอีกว่าบุคคลสำคัญอื่นๆ ที่มีดวงดาวเช่นนี้ก็คือจอมพลสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สัญญา ธรรมศักดิ์ และสุกิจ นิมมานเหมินท์ ผู้ล้วน “มุ่งมั่นในการรักษาของดีของงามของชาติไว้ มิให้แตกทำลายไปเสีย”
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อปัจจุบันนี้ความคิดทางอนุรักษ์นิยมที่จับมือกันมาช้านานกับอำนาจนิยมทางการเมืองกำลังถูกสั่นคลอนไปพร้อมๆ กันในยุคสมัยที่ความเป็นไทยหรือแม้กระทั่งความเป็นสยามอาจไม่สำคัญเท่าความเป็นมนุษย์ และพิธีกรรมถูกมองว่าเครื่องมือแห่งการกดขี่มากกว่าสิริมงคลใดๆ น่าสงสัยว่าสุลักษณ์มองเห็นพื้นที่ของการอนุรักษ์คุณค่าเก่ามากน้อยเพียงใดในโลกสมัยใหม่นี้
“อันนี้มันเป็นลูกตุ้ม แกว่งไปแกว่งมานะครับ เด็กเขาอาจจะเรียกร้องเกินไป แต่เขาก็ไม่ได้ตามที่เขาเรียกเกินไปหรอก นึกเสียอย่างนั้น ลูกตุ้มมันแกว่งไปแล้วก็แกว่งมา เราต้องเปิดโอกาสให้เขาแสดงความเรียกร้องต้องการ คนหนุ่มคนสาวเขาต้องใจร้อน เข้าใจเขาในเรื่องนี้ ถ้าเราฟังเขา เขาก็จะฟังเราบ้าง ไอ้ที่ผมออกไปพูด ก็เพราะว่าเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เขาขอ ทนายเขามาขอ ผมก็ไปให้เขา ถ้าเขาไม่ขอผมก็ไม่ไป เขายังเห็นว่าผมมีคุณค่าอยู่บ้าง เขาก็ขอให้ผมไปพูด แล้วผมก็พูดในสิ่งที่ผมอยากพูด ผมไม่ได้พูดตามที่เขาพูดกัน อย่าไปวิตกเกินไป เพราะคุณทันไหม ตอน 14 ตุลา เขาบอกให้เผาวรรณคดีทั้งหมดเลย ขุนช้างคุณแผน อิเหนา บอกว่าเป็นของมอมเมาทั้งนั้นเลย แต่ทุกวันนี้เราก็ยังอ่านขุนช้างขุนแผนอยู่เห็นไหม อย่าใช้วิตกจริตให้เป็นเจ้าเรือน
…ยกตัวอย่างเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ผมรู้จักตั้งแต่อยู่โรงเรียนมัธยมเลยหัวรุนแรงมาก แต่ตอนนี้เขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเยอะมาก เขาไม่ออกมาเลยคุณเห็นไหม แต่เขายังอยู่หลังฉาก แล้วเขาพิมพ์หนังสือดีๆ ช่วยนะ อย่างหนังสือมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่ต่อสู้อย่างสันติวิธี หรือหนังสือของโทนี่ เบนน์ ซึ่งเป็นมันสมองของพรรคเลเบอร์ เขาก็มาแปลให้คนได้อ่านกัน เขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เลย ทั้งๆ ที่ยังไม่จบจุฬาฯ เขาสามารถเรียกร้องให้มีห้องบุญสนอง บุณโยทยานได้ ทั้งที่คนลืมบุญสนองไปแล้ว ที่เขาอุทิศตัวเพื่อพรรคสังคมนิยม ปลุกเอาจิตร ภูมิศักดิ์ให้กลับมาเป็นที่ยอมรับได้ จนพวกเด็กคณะวิศวะมายอมรับเลยว่าที่ทำกับจิตร ภูมิศักดิ์สมัยนู้นผิดพลาดไปแล้ว นี่แสดงว่าจริงๆ เขาก็เติบโต ทุกคนถ้าเปิดโอกาสเขาจะเติบโตได้หมด แต่เขาจะเติบโตในทางของเขา อย่าให้เขาเติบโตในทางของเรา
…เมื่ออาจารย์พุทธทาสอายุ 80 ผมเชิญชวนนักปราชญ์ทั่วโลกเลย เขียนหนังสือถวายเป็นเกียรติแก่ท่าน ผมตั้งชื่อหนังสือว่า ‘Radical Conservatism’ conserve คืออนุรักษ์เอาไว้ แต่คุณอนุรักษ์จนหลับหูหลับตาอันตราย ต้นมะม่วงเราต้องรักษาเอาไว้ ถ้าตัดเสียพรุ่งนี้มันก็ตายแล้ว ต้นมะม่วงหน้าบ้านผม อายุเกือบ 70 ปีแล้ว แต่แน่นอนมันต้องมีกาฝาก มีเปลือกกระพี้มันเสีย ก็ต้องแก้ไขรักษาแก่นเอาไว้ คอนเซอเวทีฟเหมือนกัน ศาสนาพุทธ conserve รักษามาตั้ง 2500 ปี จากพระพุทธเจ้า แต่ไม่ radical ตอนนี้ปนกับพวกทุนนิยม บริโภคนิยมกับไสยศาสตร์ ปนกับศักดินา พระตื่นเต้นสมณศักดิ์ ท่านพุทธทาสปฏิเสธพวกนี้หมด สำหรับผมท่านพุทธทาสเป็นตัวอย่าง เราต้อง conserve เราต้องอนุรักษ์แต่อนุรักษ์แบบมีสติปัญญา อะไรที่สมควรจะรักษาเป็นแก่นก็รักษาไว้ อะไรที่เป็นเปลือกกระพี้ที่จะเสียได้ก็ต้องเสียไป”
ขณะออกมาถ่ายรูปหลังเสร็จการสัมภาษณ์ สุลักษณ์ชี้ให้ดูเรือนไม้อายุ 130 ปีที่เขาซื้อแล้วให้คนยกมาจากจังหวัดอุทัยธานี บ้านเกิดภรรยาของเขา ไม้ทั้งหลังของเรือนข้นไปด้วยคราบกาลเวลาจนหม่นเทา ความสดชื่นหนึ่งเดียวมาจากต้นมะม่วงอายุครึ่งเดียวของบ้าน ที่สอดผ่านช่องที่เจาะไว้เป็นพิเศษตรงนอกชานขึ้นมาให้ร่มเงาแก่เรือนแบบลงตัวไม้และเรือนดูจะสรุปความพยายามของสุลักษณ์ได้เป็นอย่างดี ภายใต้การจัดสรรของสุลักษณ์ บ้านอายุร้อยกว่าปียังคงยืนหยัดได้อย่างสง่างาม แม้นอกชานจะถูกเจาะเป็นรู ในขณะที่มะม่วงก็เติบโตได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคนัก ผ่านช่องไม้ที่เรือนเก่าเปิดไว้ให้ การอนุรักษ์สิ่งหนึ่งไม่ได้แลกมาด้วยการทำลายล้างอีกสิ่งหนึ่งเสมอไป
ยามขึ้นกระไดมาถึงบนเรือน สุลักษณ์ชวนให้เราเงยหน้าขึ้นดูโครงสร้างแผ่นไม้ขึงด้วยผ้า ซึ่งห้อยไว้กับเพดานเรือน และสามารถโบกไปมาด้วยการชัก ซึ่งเขาบอกตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม
“ไอ้นี่คุณอาจจะไม่เห็นแล้วนะ เขาเรียกพังคา (punkah) สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า ฝรั่งมาอยู่เมืองแขกก็ร้อน เขาก็ให้บ่าวไพร่คอยชักพังคาอยู่ข้างนอก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว แต่ก่อนยังมีที่บ้านทูตอังกฤษ เขายังรักษาไว้แบบเดิม และก็มีที่วังพระองค์ธานี (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) พอพระองค์ท่านสิ้นก็ไม่ได้ใช้แล้ว นี่ผมยังไม่สิ้นก็เลยยังใช้อยู่”
เราถามว่าเขาน่าจะเป็นคนชอบของเก่าอย่างยิ่งกระมัง
“อะไรรักษาไว้ได้ก็รักษาไว้” สุลักษณ์ตอบสั้นๆ อย่างคนที่ได้อธิบายมานานเต็มที ■