SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Unsung Heroes
ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ย้อนรอยความ ‘โชติช่วงชัชวาล’ ของประเทศในอดีตเพื่อส่องเส้นทางสู่อนาคต
แวบแรกที่เห็นหนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’ โดยหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล หรือ ‘หม่อมเต่า’ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร ออกวางตลาด ความรู้สึกของผู้ที่รู้กิตติศัพท์เกี่ยวกับตัวหม่อมเต่ามักจะปรากฏออกมาในลักษณะของความ ‘ไม่เชื่อ’
เพราะบุคคลที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งใน
‘เทคโนแครต’ ผู้มีส่วนอย่างมากในการสร้างประเทศยุคโชติช่วงชัชวาลที่ยกระดับจีดีพีต่อหัวประชากรของประเทศไทยจาก 743 มาเป็น 3,055 ดอลลาร์สหรัฐ* และทำให้ประเทศพ้นจากสถานะประเทศยากจนผู้นี้ ขึ้นชื่อในเรื่องของ
คำพูดที่ตรงแสกหน้าอย่างที่สุด จนหลายคนจดจำวาทะ ‘สดุร้าย’ ของเขาได้มากกว่าสดุดี แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังยอมรับและบอกว่า
“เขียนหนังสือไม่ให้ว่าใครนี่มันลำบาก เพราะว่าคนมันก็น่าว่า แล้วผมก็ชอบว่าอีก มันก็ลำบาก”
*คิดจากปี 2525 เทียบกับปี 2539
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะพบว่า แม้คำด่าของหม่อมเต่าจะเป็น ‘สีสัน’ ที่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ จัดจ้านลืมได้ยาก คำสดุดีของเขาต่างหาก จึงเป็น ‘ลายเส้น’ ที่ช่วยเชื่อมโยงให้คนเห็นว่าความเจริญของประเทศในทุกวันนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้อย่างไร มีสิ่งใดหรือบุคคลใดเป็นปัจจัยเติมเต็มช่องว่างระหว่างสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่ควรเป็น โดยเฉพาะในเมื่อหม่อมเต่ามี
มุมมองที่เฉพาะตัวอย่างยิ่ง บ่อยครั้งสิ่งที่เขาสดุดีไว้จึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปตกสังเกต อย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในปี 2553 ว่า “คนชอบว่าผมปากไม่ดี
แต่เวลาปากดี ก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจ”
การสัมภาษณ์หม่อมเต่า จึงเป็นโอกาสของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอดีต ซึ่งดูเหมือนจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะประเทศกำลัง ‘ติดๆ ดับๆ’ และต้องการกลับขึ้นมา
โชติช่วงชัชวาลอีกครั้งอย่างทุกวันนี้
จุดเริ่มจากการหลงทาง
หม่อมเต่ามีบทบาทหลากหลาย เพื่อน
สมัยประถมที่กรุงเทพคริสเตียนเล่าถึงความ
เป็นนักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย
เคมบริดจ์ และนักเรียนบริหารรัฐกิจที่
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สอบได้คะแนนสูงจน “ฝรั่งยอมรับว่าฉลาดมาก”
นักลงทุนนึกถึงเขาในฐานะ ‘ซูเปอร์
ดีลเมกเกอร์’ แห่งบริษัท เอ็ม ที อาร์ แอสเส็ท แมนเนเจอร์ ผู้สามารถประสานให้กลุ่มทุน
ต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยได้โครงการแล้วโครงการเล่า
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนบทบาทที่คนจดจำเขาได้มากที่สุดคือ ‘เทคโนแครต’ หรือข้าราชการสายวิชาการผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการสร้างบ้านแปลงเมืองหลากหลายของประเทศ ตั้งแต่การแก้ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต การจัดระบบชดเชยภาษีอากร การยื่นแบบ ภงด. และชำระภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ต การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตลอดจนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด
“ผมทำงานอยู่ที่ สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) แล้วปรากฏว่าปี 2516 ราคาน้ำมันขึ้นไป 4-5 เท่า ทำให้เงินกู้ของรัฐ default หมด พอเงินกู้ default กระทรวงการคลังก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาเงินกู้ของทุกกระทรวง ทีนี้คนเดียวที่เป็นวิศวะในกระทรวงการคลังคือผม ผมก็ต้องเข้าไปเกี่ยวกับทุกเรื่อง อย่างเรื่องกฎหมาย
กรมสรรพสามิต ผมเขียนคนเดียว ไม่มีผู้แทนสรรพสามิตอะไร ผมแค่โทรไปถามว่าตรงนี้คุณทำยังไง แล้วผมก็เขียน หรืออย่างสมัยอีสเทิร์น-
ซีบอร์ด ต้องมีเรื่องเงิน เรื่องวิศวะมาเกี่ยวข้อง ผมก็ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น”
พอทำกับดร.ป๋วยก็สนุก ท่านไว้ใจเด็ก ท่านก็จะถาม ‘คุณไหวมั้ย’ พอเรา ‘ไหวครับ’ ท่านก็ให้ทำเลย แล้วงาน สศค. มันสนุก มันสร้างประเทศ... สมัยผมมีอยู่ 40 คนเอง... แล้วบริหารเกือบทั้งประเทศเลย มันก็สนุก
เมื่อได้เห็นพลังและความสนุกในการทำงานของหม่อมเต่าแล้ว เป็นการง่ายที่จะรู้สึกว่างานข้าราชการคือเป้าหมายในชีวิตของเขา อย่างไรก็ตาม สำหรับหม่อมเต่า งานนี้เป็นเพียงผลพวงของการ ‘หลงทาง’
“ผมหลงทาง ผมอยากเป็นเอกชน ไม่ได้อยากรับราชการ ผมแค่ดันไปสมัครฝึกงานก่อนจะกลับไปเรียนต่อแล้วติดทำงาน ตอนนั้นผมถามพ่อแม่ว่าไปฝึกงานที่ไหนดีที่ทำงานพัฒนา พ่อแม่ก็ส่งผมไปกระทรวงการคลัง เพราะท่านรู้จัก ดร.ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) อยู่คนเดียว พอทำกับ ดร.ป๋วย ก็สนุก ท่านไว้ใจเด็ก ท่านก็จะถาม ‘คุณไหวมั้ย’ พอเรา ‘ไหวครับ’ ท่านก็ให้ทำเลย แล้วงาน สศค. มันสนุก มันสร้างประเทศ ไม่มีพวกคนใหญ่คนโตเข้าไปประจบอธิบดี
รองอธิบดี เพราะว่า สศค. สมัยผมอยู่มี 40 คนเอง เป็นธุรการสัก 30 คนมั้ง พวกที่เป็นฝ่ายวิชาการมีไม่ถึง 10 คน แล้วบริหารเกือบทั้งประเทศเลย มันก็สนุก
…ตอนนั้น ดร.ป๋วย ท่านกำลังสร้างทีมบริหารชาติอยู่ ใครทำได้ท่านก็โปรโมท ใครทำไม่ได้ท่านก็ปล่อย ทีนี้ผมเป็นวิศวะคนเดียวในกระทรวงการคลัง มันก็สบายปรื๋อเลย เพราะตอนนั้นประเทศกำลังเปิด คนพูดภาษาอังกฤษได้เปรียบอยู่แล้ว ยิ่งจบวิศวะก็ช่วยให้เวลาฟังเรื่องเทคนิคไม่ต้องคอยถามคนกระทรวงอื่น แล้วผมก็จบวิศวะแบบดีกว่าที่อื่น เพราะวิศวะที่ผมเรียนทำอะไรไม่เป็น ผมถูกหัดให้เป็น controller ของวิศวะ อย่างตอนทำปุ๋ยแห่งชาติ
Foster-Miller บริษัทใหญ่ที่สุดในโลกมาเสนอโรงงาน ผมดูไดอะแกรมเห็นข้างขวาออกมามากกว่าข้างซ้ายเข้าผมก็ตกใจ เพราะสิ่งแรก
ที่เราดูเวลาดูไดอะแกรมก็คือ material balance มันออกมากกว่าเข้าไม่ได้ ฝรั่งมันก็ ‘โอ้ย--โทษที ลืมน้ำ’ อะไรแบบนี้ แล้วตอน
ทุกอย่างเจ๊ง ทุกกระทรวงก็ต้องใช้วิศวะ
…พอรับราชการไปสักพักก็รู้สึกว่าคนไทยจนเนอะ เดินข้ามไปฝั่งธนฯ แค่นั้น ห่างกันสะพานเดียว เดินเข้าไปในสวน บ้านคนยังไม่มีพื้นเลยต้องอยู่บนดิน จนมาก ผมเคยคิดว่าผมจน ตอนที่อยู่ฮาร์โรว์อายุ 16 เพื่อนผมที่เป็นกรีกเจ้าของบริษัทชิปปิ้งได้เรือยอทช์เป็นรางวัลจากที่บ้าน ผมได้จักรยานหนึ่งคัน แต่ผมก็ยังรวยกว่าคนไทยที่พูดถึงแยะ ก็เลยคิดว่าจะช่วยประเทศสักพักหนึ่ง ใช้ one generation concept คือเวลา 1 ชั่วอายุคนหรือ 25 ปี เพราะรู้สึกเหมือนเราได้เปรียบ ผมอยู่ฮาร์โรว์ เคมบริดจ์ ฮาร์วาร์ด เคยขึ้นรถเมล์หนเดียวแล้วก็ โห---เดือดร้อน ซื้อรถดีกว่า พอแต่งงานอยากได้บ้าน ไปดูอาคารสงเคราะห์ คิดแล้ว 25 ปี ผ่อนได้แค่ 20% จ่ายได้แต่ดอกเบี้ย
ก็กลับบ้านบอกแม่ให้ซื้อบ้านให้เลย มันก็สบาย ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพียงแต่เราเงินเดือน 7 พันบาท เพื่อนได้เป็นแสน เราก็เลยโจ๊กว่า ต้องพยายามทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ไม่ได้รับ
…สมัยนั้นผมลุยลูกเดียว ใครให้ลุยอะไร ผมก็ลุย มันเริ่มจากการที่ผมไม่คิดจะเจริญ
ผมไม่ได้มีปัญหาอย่างคนอื่น ทำยังไงนายจะรัก ทำยังไงคนจะชอบ ลุยลูกเดียว สนุกฉิบหาย คนอย่าง ดร.ป๋วย คุณบุญมา (วงศ์สวรรค์) ดร.เสริม (วินิจฉัยกุล) เขาเป็นแมนดาริน นั่งดูว่าเด็กคนไหนทำงานเป็น มึงทำงานเป็น
มึงสุจริต ทำไปเลย มันก็สนุก ผู้ใหญ่สมัยโบราณเขาไม่ทำเอง เขาแค่เดินให้เด็กทำ”
ความดีที่ได้พานพบ
บทบาทที่กว้างขวางของ สศค.ในยุคนั้น ทำให้หม่อมเต่าได้ทำงานกับข้าราชการแทบทุกกระทรวง และอยู่ในฐานะพิเศษที่จะประเมินได้อย่างน่าเชื่อถือว่างานใดหรือบุคคลใดที่ควรค่าแก่การสดุดี กระนั้น แม้ไม่มีนิสัยกริ่งเกรงการแสดงความเห็นส่วนตัวให้ปรากฏ ในหนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’ หม่อมเต่าเลือกจะชมบุคคล ต่อเมื่อมีตัวเลขหรือหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น
“บังเอิญตอนนี้ผมมีเวลาพอที่จะเขียนหนังสือ และก็ดูอยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสอยากช่วยให้คนที่ทำความดีให้ประเทศได้คำชมเชย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สิ้นเปลือง แค่ลงแรง หนังสือดีหรือไม่ดีก็ขายได้เงินอยู่แล้ว แต่จะสามารถช่วยคนที่เรานับถือ ให้สังคมรู้ว่าเขาทำความดีแล้วประเทศได้ประโยชน์ โถ---ทำไมหนังสือขายได้เป็นหมื่นเล่ม เพราะว่าคนที่ไม่เคยมีใครชม พออยู่ดีๆ มีคนมาเขียนชม เขาก็ต้องซื้อ แล้วชมด้วยตัวเลข มีการ substantiate ผมบอกเลยว่าคนๆ นี้ทำอะไร ตัวเลขเท่าไหร่ แล้วผมว่าเก่ง
ต่างกับหลายคนที่บอกว่า คนๆ นี้เก่ง แต่เก่งอย่างไร ทำไมเก่ง มักตอบอย่างไม่มั่นใจ หรือ
ไม่รู้จะตอบอย่างไร”
หม่อมเต่ายกตัวอย่าง ดร.ปิยสวัสดิ์
อัมระนันทน์ กับผลงานในการปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลจนทำให้อากาศกรุงเทพฯ สะอาด ซึ่งยืนยันโดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่ ดร.ปิยสวัสดิ์เป็นผู้ผลักดันตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี รวมไปถึงการกลับคืนมาของเสียงจั๊กจั่นที่เคยเลือนหายไปจากกรุงเทพฯ เพราะระดับมลพิษลดลง
ดร.ปิยสวัสดิ์จบเฟิร์สคลาส เขาดูโจทย์ปุ๊บ เขี่ยแป๊บเดียวคำตอบมันออกมาเลย มันสมองเขาคนละระดับ
ดังนั้นพอเขาเข้ามาทำเรื่องนํ้ามัน ผมก็ออกเลย
ผมขี้เกียจไปเถียงกับเขา เถียงก็แพ้ เขาทำเรื่องเดียว ส่วนผมจับฉ่าย เถียงสู้ไม่ได้ แล้วผมก็รู้ว่า
‘It’s in good hands’
“ความจริง ดร.ปิยสวัสดิ์เป็นคนที่ทำอะไรเยอะมาก แต่ผมจับเฉพาะเรื่องที่ผมมีเบอร์ เพราะในหนังสือ ผมจะแสดงทุกอย่างด้วยตัวเลข หรือข้อกฎหมาย ไม่ใช่ความเห็นของผม เวลา
ดร.ปิยสวัสดิ์เจอผม เขาจะบอกว่า ความจริงไม่ได้ทำแค่เรื่องกำมะถันนะ ผมก็จะบอก ‘ป๊อก ผมรู้ว่าคุณยิ่งใหญ่ ผมออกจากวงการพลังงานก็เพราะคุณคิดเร็วกว่าผมนั่นแหละ’ เขาจบคณิตศาสตร์ระดับเฟิร์สคลาส ที่อ๊อกซฟอร์ด เวลาผมทำโจทย์เลข ยิ่งคูณมันยิ่งยาว คูณเลขสามวันสามคืน ได้เป็นเล่มเลย แต่ ดร.ปิยสวัสดิ์จบเฟิร์สคลาส เขาดูโจทย์ปุ๊บ เขี่ยแป๊บเดียวคำตอบมันออกมาเลย มันสมองเขาคนละระดับ ดังนั้นพอเขาเข้ามาทำเรื่องน้ำมัน ผมก็ออกเลย ผมขี้เกียจไปเถียงกับเขา เถียงก็แพ้ เขาทำเรื่องเดียว ส่วนผมจับฉ่าย เถียงสู้ไม่ได้ แล้วผมก็รู้ว่า ‘It’s in good hands’ คือบางเรื่องเขาอาจจะผิด แต่ผิดก็ด้วยความคิดที่มีเหตุผลอธิบายได้ เป็นแนวที่ควรจะไป ไปแล้วไม่ถูก ก็ค่อยปรับแต่งเอาทีหลัง เรื่องกำมะถัน
มันชัดเจน เพราะมันเห็น แล้วไปนั่งที่โรงแรม
สยามเคมปินสกี้ พอเริ่มจะเขียนแล้วก็ได้ยินเสียง
จั๊กจั่นมันร้อง ผมทำสวนผมก็รู้ว่าจั๊กจั่นมันต้องกินน้ำค้างสะอาด เลยถือว่าพระเจ้าบันดาลให้ผมเขียน”
น่าเสียดายที่ทัศนคติแบบมองจั๊กจั่นแล้วระลึกไปถึงคนลดกำมะถันในอากาศนั้นมีน้อยเกินไปในสังคมที่คุณความดีเลือนหายได้ไวพอๆ กับน้ำค้าง
“ความจริงเรื่องพวกนี้ คนเขาก็รู้ๆ กันนะแต่ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจสำหรับเขา สื่อมวลชนก็รู้
แต่ฉิบหายสนุกกว่าทำดี มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เห็นคนตกบันไดสนุกกว่าคนวิ่งขึ้นบันไดเร็ว ที่ผมเขียนผมก็ไม่ได้ต้องการทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ได้คิดเปลี่ยนสังคมยังไง แต่อย่างที่มีสุภาษิตว่า Everybody has a book in them
ทุกคนมีหนังสือหนึ่งเล่มในชีวิต ผมก็เลยเอาเรื่องใครต่อใครที่เราเห็นทำความดีมาเขียน”
กลไกที่ยังขาดหาย
นอกจากเรื่องของ ดร.ปิยสวัสดิ์สมัยเป็นข้าราชการในสำนักนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว ในหนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’ ยังมีเรื่องของ
ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกกับการผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกับการวางรากฐาน ปตท. ฯลฯ จนชัดเจนว่าประเทศไทยในสมัยนั้นหมุนไปโดยกำลังของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่การแข่งขันในโลกเกรี้ยวกราดขึ้นทุกขณะ ประกอบกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดคำถามว่าการพัฒนาประเทศในปัจจุบันยังสามารถฝากไว้เป็นภาระของข้าราชการอย่างเดียวได้อยู่หรือไม่
ข้าราชการที่เคยไว้ใจได้ถูกเปลี่ยนสถานะ จากคนทำ
มาเป็นคนคอยรับคำสั่ง ถ้าไม่รับคำสั่งก็อดทำงาน
มันเปลี่ยนไปแบบนั้น เปลี่ยนแบบนี้ได้ 20-30 ปี
ระบบข้าราชการเรียกว่าถูกทำลายเลย เพราะตำแหน่งสำคัญ ไม่ใช่คนสำคัญ
“‘แมนดาริน’ ที่ผมพูดถึงคือคำเรียกข้าราชการของจักรพรรดิจีน เขาเลี้ยงไว้เพื่อจะให้ทำงานให้จักรพรรดิซึ่งก็คือประเทศ วิธีคือเขาก็จะดูว่าคนไหนท่าทางใช้ได้ เขาก็เลี้ยง ให้ข้าว ให้ทรัพยากร ดูแลให้อยู่ในวิสัยที่จะทำงานได้ ระบบข้าราชการไทยสมัยนั้นก็เป็นแบบ
แมนดาริน เรียกว่า rank classification คือให้ความสำคัญกับคน เอาคนมาสอบ สอบได้ก็ได้เลื่อนชั้น ได้ทำงานที่สูงขึ้น แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น post classification คือให้ความสำคัญกับตำแหน่ง ดูว่าตำแหน่งงานนี้ต้องการอะไร ดูเผินๆ มันต่างไปแค่นิดเดียว แต่ความจริงคือมันเพี้ยนเลย เปลี่ยนข้าราชการจากขาวเป็นดำ ข้าราชการที่เคยไว้ใจได้ถูกเปลี่ยนสถานะ จากคนทำมาเป็นคนคอยรับคำสั่ง ถ้าไม่รับคำสั่งก็อดทำงาน มันเปลี่ยนไปแบบนั้น เปลี่ยนแบบนี้ได้ 20-30 ปี ระบบข้าราชการเรียกว่าถูกทำลายเลย เพราะตำแหน่งสำคัญ ไม่ใช่คนสำคัญ
…เคยมีเซอร์เวย์คนที่ออกจากราชการไปแล้ว 1 ปี ใช้คำถามว่า ‘เหตุใดจึงออกจากข้าราชการ’ 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่จะตอบว่าเงินเดือนไม่พอ อีก 9 คนจะตอบว่า ไม่พอใจกระบวนการทำงาน ไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะเงินน้อยเขาก็หาวิธีอยู่ของเขาได้ รอรัฐส่งไปเรียน นั่งเรือบินก็นั่งชั้นประหยัด อะไรพวกนี้ แต่ส่วนใหญ่คนที่ออกคือไม่พอใจกระบวนการทำงานของข้าราชการ ก็เข้าใจได้ว่าทำไมไม่พอใจ
ในเมื่อทุกคนเก่ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เจริญ
…ดังนั้น ผมบอกกับลูก (หม่อมหลวง
อภิมงคล โสณกุล) เลยว่าต้องออกไปอยู่การเมือง ต่อไปนี้การขับเคลื่อนประเทศต้องมาจากการเมือง ราชการไม่มีแล้วที่จะเลือกตัวกันเองแบบแมนดาริน ว่าคนนี้เก่งก็ให้คนนี้ทำไปเลย คือสมัยนี้คนอาจเก่ง แต่จะไม่มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง เดิมมีบทบาท เพราะคนที่เก่งของสังคมมักจะอยู่ในภาคข้าราชการ แล้วพอมีแวว เขาก็จะหัดให้คนๆ นั้นทำงานเป็นขึ้นเรื่อยๆ แต่พอเปลี่ยนเป็น post classification แล้วมันกลายเป็นโฟกัสเรื่องงาน ไม่ใช่เรื่องคน เอาใครทำก็ได้ มันก็เพี้ยนเลย
…แล้วการเมืองไทยตอนนี้มันยาก เพราะมันมาไกล มีแต่พรรคการเมืองซึ่งใช้นโยบายที่ไม่ดีกับประเทศในระยะยาว แต่ระยะสั้นประชาชนชอบใจ ติดใจ ทีนี้ใครจะมาใช้นโยบายที่ดีต่อประเทศในระยะยาวมันก็เลยเหนื่อยมาก นโยบายที่ดี 1 วันไม่เกิดผลอะไรหรอก มันต้อง 5 ปี 10 ปี แล้วถามว่าในพรรคการเมือง มีใครไหมที่พร้อมทำแบบนั้น
ก็ยังไม่เห็น
…และการขับเคลื่อนประเทศจากการเมืองนั้นจริงๆ แล้วก็หมายถึง เบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 นะ ไกลกว่านั้นขับเคลื่อนไม่ได้ การเมืองตอนนี้ยังต้องใช้หัวหน้า หัวหน้าอาจจะมีคนทำ technical works ให้ แต่คนทำ technical works จะไปเป็นใหญ่เองยังไม่ได้ ต้องมีคนคอยดันให้คนทำให้เกิดความสำเร็จ”
ความได้เปรียบตามธรรมชาติ
แม้จะมีบทบาทขับเคลื่อนประเทศอย่างมากในอดีต แต่หม่อมเต่าก็ค่อนข้างสงวนบทบาทของตัวเองในห้วงเวลาปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่า “เดี๋ยวคนหาว่าเจ๊งแล้วไม่รู้จักเจ๊ง คนไม่มีอำนาจ ทำไมถึงจะมาทำตัวเสมือนมีอำนาจ” อย่างไรก็ตาม ด้วยนิสัยที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงประจักษ์เสมอมา หม่อมเต่า ในบทบาทนักธุรกิจในปัจจุบัน จึงยังติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศอย่างใกล้ชิดและมีความเห็นที่ควรรับฟังอย่างยิ่ง
“ผมไม่มีความอยากกำหนดประเทศอะไรหรอก ที่ไปศึกษา ก็เพราะกำลังลงทุนอยู่
คุณจะลงทุนในหลุมดำไม่ได้ ผมก็ต้องนั่งศึกษาว่าเมืองไทยมันกำลังไปไหน ผมจะได้ไม่เดินลงเหว ตอนนี้บุญเก่าที่กินกันอยู่สมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดค่อนข้างจะหมดแล้ว ต้องเริ่มก้าวไป
อีกขั้นของเศรษฐกิจ
ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้จับอะไรเรื่องเดียวแล้วเข็นลูกเดียว เราพยายามจับทุกอย่าง จริงๆ ในโลกนี้จับเรื่องเดียวแล้วเข็นเรื่องเดียว อย่างอื่นตามมาหมด มันเหมือนช้างวิ่งไป ม้า กวาง อะไรก็วิ่งตามได้ง่าย เพราะป่ามันเรียบ จริงๆ ผมว่าที่น่าทำคือเรื่องรถไฟ เลือกรถไฟในแบบที่มีความพอดีและเป็นไปได้
...เวลาจะทำอะไรก็ต้องหา natural advantage ของเรา ต้องดูว่ามีสมบัติเก่ารึเปล่า สมัยก่อนมีแก๊สก็ทำแก๊ส หมดแก๊สแล้ว ลองเปิดดูรายการ 10 basic materials ก็จะเห็นว่าเรามีโพแทช มีทอง แต่จะทำให้ดีเหมือนแก๊สก็ยาก เพราะเวลาจะทำของพวกนี้ มันต้องทำสมัยทุกคนยังไม่รู้เรื่อง รัฐบาลจะทำ ตั้งคณะแล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำ แล้วถ้ามันพอไปได้มันก็จะเดิน แต่เดี๋ยวนี้ ทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว คนรู้เรื่องเยอะแยะไปหมด รัฐทำไปคนเดียวไม่ได้
...อีกอย่างที่เรามี คือในทางภูมิศาสตร์เราเป็น commercial center ของ CLMV ไม่ใช่เมืองหลวงของอาเซียนนะ เป็นเมืองพาณิชย์ อย่างตอนนี้ เวลาผมไปลาว พม่า เวียดนาม ผมสามารถไปเช้าเย็นกลับ เมื่อบินไปเช้าเย็นกลับได้ แสดงว่ากรุงเทพฯ ต้องมี traffic เยอะและแปลว่าเราเป็นเมืองพาณิชย์ ที่สำเร็จก็เพราะอะไร เรามีความสบาย มีเสาไฟ มีรถไฟฟ้า มีสวนสาธารณะ ร้านอาหารเราก็ชั้นยอด ประเทศที่เข้าไปกินร้านไหนก็อร่อยโดยไม่ต้องถามคน มีแค่ไทยกับฮ่องกงมั้ง ไม่อร่อยอยู่ไม่ได้ คนของเราไม่ยอมกิน จีนก็เคยอยากเอาคุนหมิงเป็นศูนย์กลางพาณิชย์ของภูมิภาค แต่ไม่สำเร็จ จีนยังไม่สามารถปล่อยเสรีภาพชนิดอยากจะไปไหนก็ไป ทำอะไรก็ทำได้ ไม่เหมือนไทย ไปไหนก็ไป ทำอะไรก็ทำ ตายก็บอกโง่เอง
…การท่องเที่ยวก็เป็นจุดแข็งของเรา โรงแรมเราถูก อาหารอร่อย ทะเลก็มี ของเก่าก็มี มีทุกอย่างยกเว้นสกี คนก็นิสัยดี เห็นเด็กยืนตากแดดก็เอาร่มไปกางให้ ก็ต้องใช้ประโยชน์ อย่างที่คุณชาติชาย (ชุณหะวัณ) เปลี่ยนจากวันสงกรานต์เป็นสัปดาห์สงกรานต์ด้วยลายเซ็นกริ๊กเดียว เมื่อก่อนไปสาดน้ำก่อนวันที่ 13 ถูกต่อย เดี๋ยวนี้ทั้งอาทิตย์ใครสาดใครได้ทั้งหมด พอเล่นทั้งอาทิตย์ คนก็ต้องมานอนหลายวัน เหมือนฝรั่งเศสสมัยก่อน คนเคยไปฝรั่งเศสแล้วอยู่แค่ 3 วัน วันดีคืนดีประธานาธิบดีปอมปิดู บอกจะทำให้คนมาฝรั่งเศสปารีส 14 วัน เขาก็ไปเปิดพิพิธภัณฑ์ปอมปิดู ไปซื้อรูปแวนโกะห์ โชว์ผ้าไทย เดี๋ยวนี้คนก็ไปเที่ยวยาว 14 วันเลย
…เสียดาย ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้จับอะไรเรื่องเดียวแล้วเข็นลูกเดียว เราพยายามจับทุกอย่าง หลายอย่าง จริงๆ ในโลกนี้จับเรื่องเดียวแล้วเข็นเรื่องเดียว อย่างอื่นตามมาหมด มันเหมือนช้างวิ่งไป ม้า กวาง อะไรก็วิ่งตามได้ง่าย เพราะป่ามันเรียบ จริงๆ ผมว่าที่น่าทำคือเรื่องรถไฟ เลือกรถไฟในแบบที่มีความพอดี และเป็นไปได้ ไม่ต้องเอาหรอกรถไฟความเร็ว 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ไปประชุมปารีสได้ในวันกว่านี่ ไม่เกิดขึ้นในชั่วชีวิตพวกเราหรอก ไปถึงปักกิ่งก็มหัศจรรย์แล้ว เอาแค่คนจีนตอนใต้ ลงมาเที่ยวเมืองไทย ไปพม่า ไปลาวได้ แค่นั้นก็เก่งแล้ว อีกอันคือรัชกาลที่ 5 ท่านทรงอุตส่าห์ยึดที่ที่พังงาไว้ทำท่าเรือน้ำลึก ลงไปสุราษฎร์ธานีเลี้ยวไปอีกร้อยกว่ากิโลเมตร Indian Ocean Port ทำไมไม่ทำ ดันไปออกทวาย ไปประเทศอื่นไม่มีวันเจริญ ทวายอาจจะใกล้กรุงเทพฯ แต่พอมันอยู่คนละประเทศมันทำได้ยาก สู้วิ่งลงไปอีก 500 กิโลเมตรที่สุราษฎร์ฯ และใช้ท่าเรือน้ำลึกพังงาดีกว่า ไม่มีใครทำ
…ส่วนเรื่องเขตคลัสเตอร์ของรัฐบาล
ผมพยายามดีดๆ ดูว่าจะรวยที่ไหนได้บ้างใน
9 คลัสเตอร์ ผมยังไม่เห็นเรามีจุดได้เปรียบตามธรรมชาติที่ไหน อีสเทิร์นซีบอร์ดมันมีแก๊ส เราถึงทำ แล้วในคลัสเตอร์ใหม่มีอะไร ถ้าจะเอาทองกับโพรแทชก็ไปอีสาน แต่คลัสเตอร์อื่นมีอะไร ไม่มีอะไรก็ต้องเริ่ม แต่ถ้าต้องเริ่มทำจากไม่มีอะไรเลย มันเหนื่อยนะ”
ทรัพยากรทางปัญญา
อีกเรื่องหนึ่งที่หม่อมเต่าเห็นว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจก็คือเรื่องการศึกษา โดยในขณะที่การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ สาธยายได้หลายแง่มุม หม่อมเต่าชี้ชัดว่าปัญหาสำคัญที่สุดก็คือลักษณะการรวมศูนย์อำนาจของระบบการศึกษาไทย
“รู้จัก middle income trap ไหม ก็คือเราใช้ทรัพยากรหมด ใช้แรงงานหมด ต่อไปก็ต้องใช้ปัญญา แต่การใช้ปัญญานี่ยาก โรงเรียนเราก็ยังไม่ยืดหยุ่น มีลักษณะเป็น ministry-based (ขึ้นอยู่กับกระทรวง) ไม่ใช่ school-based (ขึ้นอยู่กับโรงเรียน)
…ผมเปิดกูเกิลดู ก็เลยรู้ว่าฝรั่งตั้ง private school มาเพราะก่อนนี้มีแต่โรงเรียนวัดกับโรงเรียนรัฐ จึงต้องตั้งโรงเรียนเอกชนมันขึ้นมาเพื่อให้เป็นอิสระ ห้ามไม่รับคนเพราะเรื่องศาสนา แต่พออิสระก็แปลว่าใครดีใครอยู่ บางอันก็ได้เปรียบเช่น อีตันใกล้พระราชวังวินด์เซอร์ก็มีเจ้านายเยอะ
ฮาร์โรว์ตั้งอยู่บนภูเขาก็อากาศดี คนมาอยู่เยอะ สรุปคือโรงเรียนฝรั่งมันต้องแข่งกันว่าใครดีกว่าใคร ของเราไม่ต้อง กระทรวงศึกษาเป็นคนจัดหลักสูตร ครูใหญ่ก็ทำหน้าที่คุมข้าราชการครูให้ทำตามกฎของกระทรวง ทำดีที่สุดก็ได้เข้ากระทรวง การเลื่อนตำแหน่งของครูไม่ได้ขึ้นกับคุณภาพที่ดีขึ้นของนักเรียน หรือสอนเก่งอะไรเท่าไหร่นัก
…นี่พูดแล้วเดี๋ยวก็โดนด่าอีก ตอนนั้นผมบอกว่าต้องปรับปรุงการศึกษาเพื่อให้คนเข้าใจประชาธิปไตย คนเลยด่าว่าผมดูถูกคนไม่มีการศึกษา แต่จริงๆ ผมดูถูกระบบการศึกษาที่ไม่ได้เจอใคร โรงเรียนไทยมันถอดมาจากกระทรวงศึกษา สอนเลขหนังสือเล่มไหน เรียนอะไร ครูใหญ่ไม่มีสิทธิคิดทำอย่างอื่น เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกคนก็เรียนตำราเดียวกัน โตขึ้นไปเข้ามหาวิทยาลัยก็เจอแต่คนกลุ่มเดียวกันอีก ผมรู้เพราะผมเปิดร้านอาหารในจุฬาฯ อุตส่าห์ตั้งโต๊ะยาวเพราะอยากให้เด็กนั่งแจมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักเรียนเขาก็พยายามชวนเพื่อนมาให้ครบโต๊ะ จะได้ไม่มีคนอื่นแจม แล้วก็นั่งกันแบบนั้น 4 ปีโดยไม่มีคนอื่นมานั่งเลย ซัดไปยาว 4 ปีโดยไม่เจอใครเลย
…ที่เคมบริดจ์มันทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างแรกคือมันไม่ต้องเข้าเรียน เพราะไม่มีการเช็คชื่อ
ปีหนึ่งสอบหนหนึ่ง สอบตกก็ตกเลย เวลาอยู่ที่นั่น ต่างคนต่างกินข้าวที่คอลเลจของตัวเอง ตอนกินเขาไม่มีที่นั่งประจำ นั่งตรงไหนก็ได้ แต่เนื่องจากเวลาเขาเสิร์ฟอาหาร เขาจะเสิร์ฟจากหัวมาท้าย เราไปนั่งแยกเป็นคนที่ 25 ก็จะไม่ได้กินข้าว เราก็ต้องนั่งต่อไปเรื่อยๆ แต่ละวันก็เลยไม่รู้จะเจอใครเวลากินข้าว แล้วทุกคนก็เรียนหนังสือต่างกันอีก เพราะแต่ละคอลเลจมีคนเรียนทุกวิชา โอกาสที่จะเจอคนเรียนวิชาเดียวกันแทบไม่มี มันก็เลยได้คุยและทำให้เป็นคนหัวเปิด
ผมมีรุ่นน้องที่อยู่บริษัทของญี่ปุ่น อยู่ดีๆ เขาก็มาเปิด research center ที่นี่ ผมก็ถามว่าคนไทยเงินเดือนถูกเหรอ เขาก็บอกว่าแพงกว่าญี่ปุ่นอีก แล้ว output ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ผมก็ อ้าว---แล้วมาเปิดทำไม เขาก็บอกมาเปิดเพราะอยากได้ความคิดอย่างอื่นบ้าง ไม่งั้นมีแต่ญี่ปุ่น
…ผมมีรุ่นน้องที่อยู่บริษัท ไทยคาร์บอนแบล็คของญี่ปุ่น อยู่ดีๆ เขาก็มาเปิด research center ที่นี่ ผมก็ถามว่าคนไทยเงินเดือนถูกเหรอ เขาก็บอกว่าแพงกว่าญี่ปุ่นอีก แล้ว output ก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ผมก็ อ้าว---แล้วมาเปิดทำไม เขาก็บอกมาเปิดเพราะอยากได้ความคิดอย่างอื่นบ้าง ไม่งั้นมีแต่ญี่ปุ่น คิดอยู่ที่ญี่ปุ่น มันจำกัด เขาจึงยอมมาเปิดที่นี่ ทั้งที่แพงกว่า ความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีที่ไหนเจริญได้โดย
ตัวเองคนเดียว
...ผมถึงได้ชื่นชมรัฐบาลนี้อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือการอนุญาตให้โครงการของรัฐเดินหน้าหาผู้รับเหมาไปก่อนได้ ระหว่างที่รอผล EIA เพราะถ้ามีผู้รับเหมามันก็มีคนคอยตามเรื่อง EIA ให้เกิด ถ้าไม่มีผู้รับเหมาเข้ามา มีแต่ข้าราชการ มันก็ไม่เดิน อีกเรื่องก็คือการศึกษา เขาสั่งให้โรงเรียนไม่ต้องรวมศูนย์แล้ว ของเก่าเส้นควบคุมจากส่วนกลางชัด รัฐมนตรี ปลัด อธิบดี ผู้อำนวยการ พอคำสั่งนี้ออกมา ไม่มีแบบนั้นแล้ว บอกให้โรงเรียนทำอะไรก็ได้
ยุบ central control ทิ้ง ติดอยู่นิดเดียว ตอนจบคำสั่งบอกว่าให้โรงเรียนรายงานกับกระทรวงศึกษาธิการ ผมก็เลยน็อกเลย ไม่รู้ตั้งใจจะให้มันทำงานยังไงแน่
...อาจจะเป็นความตั้งใจของเขานะ อย่างเรื่อง EIA เขารอจนกระทั่งคนเดือดร้อนแยะมาก ถึงได้สั่งโป้งลงมา ถ้ามีคำสั่งก่อนหน้านี้ คนยังไม่ค่อยเดือดร้อน ก็จะมีแต่เอ็นจีโอออกมาค้าน ไม่สำเร็จหรอก เขาปล่อยจนกระทั่งไม่มีอะไรเดิน คนเดือดร้อนค่อยสั่ง ทีนี้พอเอ็นจีโอออกมาค้าน ทุกคนก็รุมเอ็นจีโอเอง ส่วนเรื่องการศึกษา เขาอาจตั้งใจเขียนให้ปวดหัว คนจะได้ค้านน้อย ผมก็ว่าผมฉลาดแล้วนะ เมื่อผมยังไม่สามารถชมได้ถูก เพราะไม่รู้เขาตั้งใจยังไงแน่ ผมก็ว่าคนอื่นไม่สามารถค้านได้เหมือนกัน”
เริ่มก้าวจากจุดที่ยืนอยู่
ความยากของการปฏิรูปทุกยุคทุกสมัย คือแม้คำตอบทางทฤษฎีจะปรากฏชัดอยู่เบื้องหน้า แต่สุดท้ายการปฏิบัติจริงย่อมต้องถูกจำกัดโดยสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจว่า หม่อมเต่าประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
“สมัยผมมีข้อดีอย่างคือการเมืองอ่อน ระบบเลือกตั้งมันอ่อน มันเป็นระบบ Patronage เหมือนเมื่อ 500-1,000 ปีก่อนมากกว่า
มีหัวหน้า หัวหน้าก็พาวิ่งไป ไปไหนก็ไม่รู้ เราก็วิ่งไปกับหัวหน้า สู้กับอีกข้าง สู้ชนะหัวหน้าก็แบ่งผลประโยชน์ ไม่ถามว่าหัวหน้าพาไปไหน แล้วแต่หัวหน้าพาไป เผอิญได้หัวหน้าที่ดี อย่างเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ ดร.สาวิตต์ ประสานให้แต่ละกลุ่มผลประโยชน์ยอมไปทางเดียวได้
ก็เพราะป๋า (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เป็นแบ็คอยู่ ดร.เสนาะ (อูนากูล) เป็น CEO ของโครงการ แต่ Chairman คือป๋า แล้วเนื่องจากป๋าทั้งเด็ดขาดและนิสัยดี อยากให้ประเทศเจริญ มันก็เป็นองค์ประกอบที่ต้านทานยาก
…ดังนั้น หลักการใหญ่ก็คือเลือกคนดี
คนเก่ง รัฐบาลนี้เป็นห่วงที่สุดก็คือการเดินขบวน เรื่องความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น เขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้ง มาตรการอื่นๆ
รัฐบาลก็พยายามเดิน แต่ความสงบเป็นความสำคัญลำดับแรก เหมือนนั่งเรือไปแล้วเจอพายุ รัฐบาลก็เอาสมอทะเลโยนลงไป เรือมันก็วิ่งช้า แต่มันก็นิ่งกว่าแยะ ถามว่าถึงเวลามั้ยที่จะดึงสมอขึ้นแล้ว กางใบวิ่งเต็มเหนี่ยวเลย ผมก็ว่ายัง เพราะพายุยังมีอยู่ ความขัดแย้งยังมีอยู่ มากด้วย
…ดูการตั้งรัฐบาล 2 หนเห็นเลยว่าเขาเลือกคนที่ stable ที่สุด ไม่ใช่คนที่ creative ที่สุด เขาเลือกที่จะให้มันนิ่ง ส่วนเรื่อง growth เป็นแค่เรื่องที่ทำได้ก็ดี คนก็ถามทำไมไม่พยายามวิ่งไปกับ growth ให้สุดไปเลย ก็มี 2 คำตอบ หนึ่งคือเขาคิดว่าวิ่งเลย แต่ข้างล่างมัน unstable เขาก็พังก่อน กับสอง ต่อให้ต้องการวิ่งเลย ใครจะวิ่ง ทีมวิ่งเป็นใคร ผมก็รอดูนะ เด็กรุ่นใหม่อายุ 30-40 แต่ก็ยังไม่เห็นใคร สมัยรุ่นผม ยังพอเห็นชัวร์ๆ ว่ามีคนไหน ทีมไหน เดี๋ยวนี้ สภาพัฒน์? สำนักงบประมาณ? คลัง? มีใครหรือเปล่า
…แล้วรัฐบาลนี้ไม่มีวิศวะ ในโลกนี้ เรื่อง banking เอย อะไรเอย ก็ใช้วิศวะทั้งนั้น ไม่ได้ใช้นักการเมือง เพราะวิศวะคือคนที่หัวดีมีระบบ แต่รัฐบาลนี้ไม่มี
สนใจมาร์เก็ตติ้ง แต่ไม่ใช่ตัวพื้นฐาน ถ้าสร้างรถไฟ 8-9 ขบวนให้ได้ แค่ 3 ปีรับรองเศรษฐกิจบินเลย ตั้งแต่ตอนสร้างมันก็หมุนแล้ว ถามว่านายกฯ เข้าใจปัญหาไหม เพราะนายกฯ คือตัวเดินทุกอย่างในโลก ผมว่าท่านเข้าใจนะ แต่ทำได้แค่นี้แหละ ขืนดึงสมอขึ้น ท่านก็คิดว่าเรือจะล่ม ดังนั้น ก็เอาคนนิสัยดีมาทำงาน ซึ่งก็ทำงานได้ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่ก็ทำงานรูปแบบนั้น เกือบจะเรียกว่ารัฐบาลมีแต่ข้าราชการประจำ
ในฐานะผู้นำคุณก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง
ใส่สมอเรือไว้นานๆ เรือมันก็ไปไหนช้า ดีไม่ดีมันก็ล่มเหมือนกันนั่นแหละ เพราะมันอยู่ในพายุนานขึ้น
ผมว่าเรื่อง 5 คลัสเตอร์คือจุดมุ่งหมายของเขาที่จะให้คนมีงานทำ แต่ถามว่าเขารู้วิธีทำไหม ก็ควรเอาตำราของดร.สาวิตต์ไปอ่าน จะเข้าใจได้ดีขึ้น
...ในฐานะผู้นำ คุณก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง ใส่สมอเรือไว้นานๆ เรือมันก็ไปไหนช้า ดีไม่ดีมันก็ล่มเหมือนกันนั่นแหละ เพราะมันอยู่ในพายุนานขึ้น ผมว่าเรื่อง 5 คลัสเตอร์คือจุดมุ่งหมายของเขาที่จะให้คนมีงานทำ แต่ถามว่าเขารู้วิธีทำไหม ก็ควรเอาตำราของ ดร.สาวิตต์ไปอ่าน จะเข้าใจได้ดีขึ้น แต่ส่วนตัวผมสดุดีท่านนายกฯ นะ ทั้งที่หลายคนด่า ผมว่า
ท่านทำได้เยี่ยม ภายใต้กรอบที่ว่าประเทศแตกอย่างเป็นเสี่ยง ชนิดไม่มีวันต่อได้ ท่านยังทำมาได้ขนาดนี้ผมนับถือมาก”
เราถามต่อว่า ในเมื่อบ้านเมืองแตกเป็นเสี่ยง ผู้คนย่อมอยู่ในภาวะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนไม่อาจ
แลกเปลี่ยนรับฟังกันด้วยเหตุผลอีกต่อไป เมื่อเป็นอย่างนี้ การพัฒนาจะยังเป็นไปได้จริงหรือ หม่อมเต่าตอบทันทีว่า
“ไม่สำคัญ ตอนผมไปที่แบงก์ชาติ ผมก็บอก คุณช่วยเปิดไฟที่ตึกริมน้ำหน่อยได้ไหม เขาก็ถามว่าทำไมครับ ผมก็ อ้าว---คนจะได้คิดว่าเรากำลังเจริญแล้ว นักท่องเที่ยวมาก็จะได้เห็นตึกสว่าง มันก็จะได้มาอีก ไม่ใช่มาเมืองล้มละลาย มาแล้วมืดตื๋อไปหมด มันก็จะคิดว่าเจ๊ง แต่ถ้าเปิดไฟได้ ก็จะคิดว่าเราเริ่มเดินไปได้ ดังนั้น คนไม่ยอมฟังไม่สำคัญ สุภาษิตฝรั่งก็บอก พันปีเหมือนกัน Nothing succeeds like success ความสำเร็จมันนำไปสู่ความสำเร็จ ทำอะไรทำให้มันสำเร็จก็แล้วกัน เดี๋ยวเรื่องอื่นๆ มันก็ตามมาเอง”
สำหรับหลายๆ คน คติที่ว่า ‘ความสำเร็จนำไปสู่ความสำเร็จ’ หรือ Nothing succeeds like success นั้น เป็นเหมือนหลักการที่มีไว้ฟังคมๆ มากกว่าจะเอาไว้ยึดถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้สำเร็จท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ มามากแล้วอย่างหม่อมเต่า เขาได้พิสูจน์แล้วว่า คตินี้เป็นคติสำหรับลงมือทำ อย่างที่เขาบอกเรียบๆ ว่า
“ตอนที่ผมทำงานต่างๆ ผมไม่มีคุณสมบัติอะไรที่จะทำงาน แต่ก็ทำได้ เพราะผมสู้งาน ผมใช้ความคิด และก็ลุยไปอย่างเดียว หรืออย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด
ผมก็ไม่เชื่อว่าจะเกิด แต่สาวิตต์เขาเชื่อว่ามันจะเกิด ผมบอก ‘สาวิตต์---ขับรถมาตั้งชั่วโมงแล้ว ไม่เจอหมาสักตัว มีแต่คนอีสานนั่งปลูกมันสำปะหลัง เรือก็ไม่ผ่าน มันจะไปได้จริงๆ เหรอ’ แต่สุดท้ายเราก็ลุยไป มันก็เกิดจริงๆ”
■
Essentials
หนังสือ ‘สดุดี (คนอื่น)’
โดยหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล
ราคา 235 บาท
• สำหรับบริษัทที่ต้องการสั่งหนังสือ เป็น Corporate Gift กรุณาติดต่อ ทิพย์ประภา เสวีวัลลภ โทร. 02-381-8188 อีเมล [email protected] รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำเข้าสมทบทุนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร(ก.พ.ด.) (สามารถสั่งพิมพ์โลโก้ และโฆษณาของบริษัทในใบรองปก)
• สำหรับบุคคลทั่วไป หาซื้อหนังสือได้ที่
- ร้านนายอินทร์
- ร้านภูฟ้า
- ศูนย์หนังสือจุฬาฯ
- ศูนย์หนังสือพระจอมเกล้าธนบุรี
- Asia Books
- Café Amazon (เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการ)
- Facebook หม่อมเต่า www.fb.com/momtau
- KMITL bookstore
- readery.co
- SE-ED
- TARAD.com