SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้และหากไม่มีปัจจัยลบมากระทบเพิ่มเติม บล. ภัทร ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีหน้า
เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3% ในไตรมาส 1 และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่รวมทั้งรัฐบาลประเมินว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5% ในปีนี้ (บล. ภัทร ประเมินเอาไว้ที่ 3.3%) แปลว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปีนี้และหากไม่มีปัจจัยลบมากระทบเพิ่มเติม บล. ภัทร ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีหน้า
การประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นตามลำดับอย่างช้าๆ นี้ถือว่าได้นำเอาปัจจัยลบต่างๆ มาพิจารณาด้วยแล้ว เช่นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงไปอีกได้ ปัญหาประเทศกรีซที่อาจยืดเยื้อต่อไปอีกและความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป กล่าวคือเศรษฐกิจโลกเองก็ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทำให้ภัทรมองว่าการส่งออกของไทย (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพีและหากใช้ตัวเลขจีดีพีที่ปรับใหม่ของสภาพัฒน์ฯ ก็จะเหลือเพียง 55%) ในปีนี้ จะติดลบ 0.5% แต่ก็ยังดีกว่าการส่งออกใน 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งติดลบเกือบ 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะเดียวกันการบริโภคของครัวเรือน (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี) ก็น่าจะขยายตัวได้ไม่มากนัก เพราะครัวเรือนมีหนี้สินเกือบ 80% ของจีดีพี (ตามตัวเลขใหม่) และธนาคารพาณิชย์เองก็ระมัดระวังยิ่งขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีรัฐบาลให้ความหวังว่าภาครัฐกำลังประสบความสำเร็จในการเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุน ทั้งนี้ รัฐบาลมั่นใจว่าทั้งหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณ 80% ของงบลงทุนทั้งหมดที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เพราะรัฐบาลได้ใช้งบลงทุนเพียง 30% ของงบประมาณทั้งหมดในครึ่งแรกของปีงบประมาณ (ไตรมาส 4 ของปี 2014 และไตรมาส 1 ของปี 2015) นอกจากนั้น ก็ยังเห็นการฟื้นตัวของการส่งออกไปบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ตลอดจนการคาดหวังว่าราคาพืชผลของไทยจะขยายตัวขึ้นได้บ้างตามราคานํ้ามันและภาคเอกชนเองก็จะขยายการลงทุนตามที่ภาครัฐเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ
สำหรับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะประสบอุปสรรคในการฟื้นตัวทำให้จีดีพีขยายตัวตํ่ากว่าเกณฑ์ (3.3%) ในปีนี้นั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยคือ
1. ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักลงทุนรีรอเพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นคือการจัดสรรอำนาจ ซึ่งหากทำได้ไม่ลงตัวก็จะนำมาซึ่งข้อโต้แย้งที่ยืดเยื้อได้ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติ ก็จะทำให้ต้องรอถึงเดือนมกราคมปีหน้า จึงจะเกิดความชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ หลังจากนั้นก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการร่างกฎหมายลูกเพื่อให้สามารถดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจ อันจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องรอดูการถ่ายโอนอำนาจว่าจะทำได้อย่างราบรื่นเพียงใดอำนาจการปกครองจะไปอยู่กับกลุ่มใดและกลุ่มดังกล่าวจะมีนโยบายอะไร เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ คาดการณ์ได้ว่ากว่าจะมีรัฐบาลใหม่ก็อาจต้องรอถึงต้นปี 2017
2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปีนี้แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังจากที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์มานานกว่า 6 ปีนั้น เป็นเรื่องที่ประเมินผลกระทบได้ยาก แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐฯ จะพยายามให้ความอุ่นใจกับนักลงทุนว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสภาวการณ์ต้องเอื้ออำนวย แต่ผลกระทบของการลดสภาพคล่องของโลกลงจากที่เคยมีสภาพคล่องล้นก็อาจส่งผลกระทบเกินความคาดหมายได้
3. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยกล่าวถึงในแถลงการณ์และมองว่าเป็นข้อกังวลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยและการชะลอตัวลงของอุปสงค์จากจีนก็เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาพืชผลตกตํ่าทั่วโลก ดังนั้น ความพยายามของรัฐบาลจีนในปัจจุบันที่ผ่อนคลายทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ที่ 6-7% อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่ได้สร้างฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์และสามารถแก้ปัญหาหนี้สินของบริษัทจีนและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนได้หรือไม่ ซึ่งยังมีหลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลจีนอย่างมาก ■