SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำกับความเสี่ยงในการลงทุน
การกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
ต้องยอมรับว่าการลงทุนในช่วงนี้ เริ่มมีความยากขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะที่ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการปรับขึ้นที่ได้รับการสนับสนุนสำคัญจากสภาพคล่องที่มาจากการพิมพ์เงินของธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่อยู่ในระดับตํ่าทั่วโลกเป็นเวลานาน และเงินที่ถูกอัดฉีดออกมา ทั้งจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ (ที่เพิ่งจะหยุดอัดฉีดเมื่อปีที่แล้ว) ธนาคารกลางยุโรป (ที่เพิ่งเริ่มรับลูกอัดฉีดเพิ่มขึ้นอีก) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (ที่อัดฉีดมาอย่างต่อเนื่อง) เป็นแรงผลักดัน ทำให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงหลายประเภทถูกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ราคาหุ้นในหลายประเทศทั่วโลกปรับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ในขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในหลายประเทศเริ่มถูกปรับลดลง ทำให้ราคาของตลาดหุ้นหลายประเทศเริ่มดูแพงขึ้น
แต่แม้ว่าตลาดหุ้นจะเริ่มดูแพงขึ้น หลายคนยังมองว่าราคาหุ้นยังมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตร พูดง่ายๆ คือหุ้นที่ว่าแพงแล้ว พันธบัตรนี่ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่
ดัชนีราคาหุ้นเฉลี่ยทั่วโลกกับสัดส่วนราคาต่อกำไร
แม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนดีขึ้นในอนาคต แต่ความเสี่ยงที่ดูเหมือนว่ากำลังรออยู่ในอนาคตอันใกล้คือความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะกำลังปรับตัวสูงขึ้น
ถ้าวันนี้เราไปซื้อพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลไทย เราจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าร้อยละสามต่อปี ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็อยู่แค่ร้อยละสองต้นๆ ซึ่งถือว่าตํ่ามากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรในอดีต (ตามภาพที่แสดงด้านล่าง) ถ้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมัน เราจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งต่อปีเสียอีก พร้อมกับความเสี่ยงที่ค่าเงินยูโรอาจจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปอีกด้วย
แม้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และน่าจะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนดีขึ้นในอนาคต แต่ความเสี่ยงที่ดูเหมือนว่ากำลังรออยู่ในอนาคตอันใกล้คือความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะกำลังปรับตัวสูงขึ้น
ผมแบ่งอัตราดอกเบี้ยเป็นสองประเภทครับ อันแรกคืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ธนาคารกลางตั้งขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเก็บอัตราดอกเบี้ยนโยบายตัวนี้ไว้ที่ร้อยละศูนย์ มาหลายปีแล้ว และอัตราดอกเบี้ยอีกประเภทคืออัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี 10 ปี เป็นต้น อัตราดอกเบี้ยประเภทนี้ ในภาวะปกติธนาคารกลางควบคุมได้ค่อนข้างน้อย แต่จะถูกกำหนดจากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดระยะสั้นมักจะยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า แต่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะถูกกำหนดโดยการคาดการณ์ของภาวะเศรษฐกิจ ถ้าตลาดคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการเติบโตได้ดีในอนาคต เงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ธนาคารกลางน่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยระยะยาวก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าตลาดคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะซบเซาไปเรื่อยๆ ธนาคารกลางคงต้องเก็บดอกเบี้ยตํ่าๆ แบบนี้ไว้อีกนาน อัตราดอกเบี้ยระยะยาวก็จะพลอยตํ่าลงไปด้วย นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวมักจะมีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในต่างประเทศด้วย
การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งในปัจจุบัน มีการอัดฉีดสภาพคล่องโดยการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ก็มีผลเหมือนกับการกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ตํ่ากว่าความเป็นจริง และเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกภายในปีนี้ หลังจากปรับลดลงมาเหลือร้อยละศูนย์ เมื่อหกปีก่อน ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ และถ้าการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นหยุดลงเมื่อใด อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกคงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็คือระดับที่สูงกว่าในปัจจุบัน และยิ่งถ้าโลกมีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อกำลังจะกลับมา โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นก็มีมากขึ้น
แล้วอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นมีความสำคัญอย่างไร? อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาของสินทรัพย์เกือบทุกประเภท ถ้าอัตราดอกเบี้ยตํ่าแปลว่าการลงทุนแบบความเสี่ยงน้อยให้ผลตอบแทนตํ่า การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น (เช่น หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์) ก็น่าสนใจมากขึ้น ราคาของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงก็ยิ่งปรับตัวสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับสูงขึ้น แปลว่าทางเลือกในการลงทุนแบบมีความเสี่ยงตํ่าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สินทรัพย์เสี่ยงก็จะมีความน่าสนใจในเชิงเปรียบเทียบลดลง และราคาก็มีโอกาสปรับตัวลงได้
แต่อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อราคาสินทรัพย์ การลงทุนในหุ้นขึ้นอยู่กับกำไรของบริษัทด้วย ถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจดีขึ้น กำไรดีขึ้น ผลกระทบต่อราคาหุ้นก็คงมีไม่มากนัก (แต่คงหลีกเลี่ยงความผันผวนไม่ได้) แต่ถ้าดอกเบี้ยขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์คงมีมากกว่า
เราอยู่ในโลกที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับลงมาเป็นเวลานาน มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับขึ้นน่าจะเป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะในภาวะเช่นนั้น สินทรัพย์ที่นักลงทุนมักจะลงทุนกันทั้งหุ้นและพันธบัตรคงให้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศต้องปรับสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจยังซบเซาน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวังที่สุด
จากประสบการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอดีต เราพบว่าราคาหุ้นของตลาดสหรัฐฯ เองแม้ว่าจะมีความผันผวนบ้างในระยะแรก แต่ราคาหุ้นก็ยังสามารถปรับขึ้นได้ตลอดช่วงเวลาที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดประเทศกำลังพัฒนากลับมีมากกว่า
อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐอเมริกาอยู่ในขาลงในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีแต่ขาลง
แม้ว่าจะมีความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวคงสูงขึ้นในอนาคต แต่ความกังวลดังกล่าวอยู่กับเรามาสักระยะแล้ว เศรษฐกิจโลกที่มีแรงส่งตํ่ากว่าที่คาด อาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับตํ่านานกว่าที่หลายคนคิดก็ได้
แล้วเราจะรับมือกับภาวะดอกเบี้ยตํ่าเช่นนี้อย่างไรดี? การกระจายความเสี่ยงจำเป็นครับ เราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายได้ โดยการลงทุนในหุ้นยังน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวดีที่สุด การกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ในภาวะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรระยะยาวมีไม่สูงมาก การลดอายุเฉลี่ยของพันธบัตรลงมาน่าจะเพิ่มโอกาสในการเลือกลงทุนใหม่เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีมีความเสี่ยงไม่สูงมาก (เช่นหุ้นปันผลสูงหรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน) หรือสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยจำกัดน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม ส่วนใครที่กังวลความเสี่ยงนี้มากๆ อาจจะเก็บเงินสดไว้เยอะหน่อยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ภาวะเช่นนี้ เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มของค่าเงินมากขึ้นด้วยนะครับ ■