SECTION
ABOUTLIVING SPACE
The New Face of Retail
คอมมูนิตี้ มอลล์เล็กๆ ที่เปิดตัวขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง The Commons และ 72 Courtyard อาจไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ หากเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนรสนิยมการกินการใช้ที่เปลี่ยนไปของคนกรุงเทพฯ
มีคำถามเล่นๆ ว่าถ้าพูดชื่อ The Beer Cap หรือ The Lobster Lab หรือ Holly Molly หรือ Pie Barrio Bonito หรือ Xiao Chi และ Egg My God ขึ้นมา มีชื่อไหนที่คนรู้จักบ้าง อันที่จริงแล้วจากผู้เช่าทั้งหมดกว่า 30 รายในศูนย์การค้าเปิดใหม่ของซอยทองหล่ออย่าง The Commons เป็นไปได้ว่าชื่อที่คนคุ้นหูอาจมีเพียง Roast และ Peppina สองร้านเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะสรุปว่าศูนย์การค้าอย่างเดอะ คอมมอนส์เป็นเพียงของแปลกชั่วครั้งชั่วคราว ในอีกไม่กี่อาทิตย์ต่อมาหลังการเปิดตัวของเดอะ คอมมอนส์ (กุมภาพันธ์ปี 2559) ก็มีศูนย์การค้าผุดขึ้นบนอีกฟากถนน คือ 72 Courtyard ผลงานดีไซน์เตะตาของบริษัทสถาปนิกชั้นนำ ซึ่งเลือกใช้พื้นที่เปิดโล่งแทนการติดแอร์ และมีผู้เช่าชื่อแปลกหูอย่างเช่น Touche Hombre และ BEAM ในทำนองเดียวกับเดอะ คอมมอนส์เช่นกัน
ทั้งนี้ ขณะที่กำลังเขียนบทความ 72 คอร์ทยาร์ดยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ในฟากของเดอะคอมมอนส์นั้น ได้คลาคลํ่าไปด้วยนักแสวงความคูลชาวกรุงทุกสุดสัปดาห์มานับตั้งแต่เปิด ดูเหมือนสิ่งที่ดูคล้ายกระแสนิยมชั่วครั้งชั่วคราวนี้ แท้จริงอาจมีรากฐานมาจากรสนิยมที่เปลี่ยนไปของคนกรุงเทพฯ และแม้แต่ห้างยักษ์ใหญ่เจ้าเก่า ก็ยังไม่อาจปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน
จากผู้เช่าทั้งหมดกว่า 30 รายในศูนย์การค้าเปิดใหม่ของซอยทองหล่ออย่าง The Commons เป็นไปได้ว่าชื่อที่คนคุ้นหูอาจมีเพียง Roast และ Peppina สองร้านเท่านั้น
จิ๋วแต่แจ๋ว?
คอมมูนิตี้ มอลล์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับกรุงเทพฯ ที่คนรู้จักมากหน่อยคงเป็น J Avenue ซึ่งเปิดในปี 2547 แต่กระแสคอมมูนิตี้ มอลล์นั้นมาแรงที่สุดในช่วงปี 2553-2555 ด้วยการเปิดตัวของ K Village ตามมาด้วย Festival Walk และ Nawamin City Walk แถวเกษตรนวมินทร์ Rain Hill บนถนนสุขุมวิท Seenspace และ Grass ในย่านทองหล่อ Aree Garden และ La Villa ในย่านอารีย์ Crystal Design Center และ The Crystal แถวเลียบทางด่วนรามอินทรา The Portico ย่านหลังสวน รวมถึง Park Lane ในเอกมัย ทำให้แหล่งช็อปปิ้ง ซึ่งเคยถูกครอบครองมายาวนานโดยศูนย์การค้าอย่าง Central และ The Mall Group (Paragon และ Emporium) จู่ๆ กลับถูกแทรกด้วยโครงการขนาดกลางนับสิบๆ แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มักมีขนาดกะทัดรัด เลย์เอาต์แบบเปิดโล่ง (และการตกแต่งด้วยหญ้าปลอม!)
เมื่อปลายปี 2556 Colliers International Thailand รายงานว่ามีพื้นที่ค้าปลีกรวมกว่า 117,000 ตารางเมตรที่วางแผนจะเปิดตัวขึ้นภายในสิ้นปี โดยเป็นคอมมูนิตี้ มอลล์ย่านชานเมืองทั้งหมด ถึงขนาดมีการเชียร์ว่าคอมมูนิตี้ มอลล์เป็น ‘the hottest retail category’ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคอลลิเออร์สก็กลับลำ โดยบอกว่า “ความแปลกใหม่ของคอมมูนิตี้ มอลล์เริ่มหมดไปและการพัฒนาโครงการใหม่ได้ชะลอตัวลง” การเปิดตัวของห้างยักษ์ใหญ่อย่าง Central Embassy และ The EM District ในปี 2557-2558 ยิ่งช่วยตอกย้ำว่าโมเดล ‘bigger is better’ จะยังคงครองตลาดต่อไป อย่างน้อยก็อีกชั่วระยะหนึ่ง
จาเรด โอ’ไบรอัน กรรมการผู้จัดการของ Sapparot Group ซึ่งอยู่เบื้องหลังร้านกาแฟสไตล์สแกนดิเนเวียน Rocket รวมถึงบาร์และร้านอาหารชิคๆ อย่าง Lady Brett และ U.N.C.L.E. ได้ผ่านประสบการณ์ค้าปลีกมาแล้วหลายรูปแบบ ตั้งแต่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ขนาดย่อม หรือแม้กระทั่งร้านเดี่ยวริมถนน อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้มองศูนย์การค้าเฉพาะในแง่ขนาดพื้นที่ แต่ยังรวมถึงรายชื่อร้านที่ถูกเลือกเข้ามาด้วย
“ถามว่าถ้าเป็นเมื่อ 5 ปีก่อน เดอะ คอมมอนส์กับ 72 คอร์ทยาร์ด จะมีทางเกิดขึ้นได้ไหม ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อ 10 ก่อน ไม่มีทางแน่นอน เวลามีใครเปิดคอมมูนิตี้ มอลล์ จะมีร้าน 20-30 เจ้าที่พร้อมจะเข้ามาเช่าทันที แม้ว่าร้านพวกนั้นจะมีอีกสาขาตั้งอยู่แทบจะฝั่งตรงข้ามอยู่แล้ว คือพวกร้านอย่างสตาร์บัคส์ และเอ็มเค แต่คนทำ 72 คอร์ทยาร์ดและเดอะ คอมมอนส์ ไม่ใช่อย่างนั้น พวกนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ เคยเรียนและใช้ชีวิตต่างประเทศ มีวิธีคิดที่ต่างออกไป และทำงานเก่งมาก 2 เจ้านี้ไม่รับผู้เช่าที่เป็นแบรนด์ใหญ่เลย แต่เลือกร้านเล็กๆ ในท้องถิ่นแทน” โอ’ไบรอันกล่าว
โอ’ไบรอันเชื่อว่าตลาดนัดสุดสัปดาห์คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “เดิมทีมีตลาดนัดใหญ่ๆ อยู่แค่แห่งสองแห่ง แต่ตอนนี้ใครมีพื้นที่กว้างๆ ก็เปิดตลาดนัดกันหมด คนเริ่มรู้ว่าตัวเองมีทางเลือกใหม่นอกเหนือจากแค่ถูกขังอยู่ห้องแอร์ในห้าง กรุงเทพฯ อาจตามหลังโตเกียว ลอนดอน และซิดนีย์อยู่เป็น 10 ปี แต่ตอนนี้กำลังไล่ทันแล้ว” โอ’ไบรอันเล่าต่อ
คนทำ 72 คอร์ทยาร์ดและเดอะ คอมมอนส์ พวกนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ เคยเรียนและใช้ชีวิตต่างประเทศ
มีวิธีคิดที่ต่างออกไปและทำงานเก่งมาก 2 เจ้านี้ไม่รับผู้เช่าที่เป็นแบรนด์ใหญ่เลย แต่เลือกร้านเล็กๆ
ในท้องถิ่นแทน
“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคเปลี่ยนไปเยอะ เขาไม่ได้ต้องการแค่ของดูดี ของอร่อย แต่เขาเริ่มอยากทราบเรื่องราวของมัน” วิชรีวิจิตรวาทการ หนึ่งในสองพี่น้องผู้ก่อตั้ง เดอะ คอมมอนส์ กล่าว และด้วยเหตุนี้เอง วิชรีและวรัตต์ ผู้เป็นพี่ชาย จึงเชื่อว่ากรุงเทพฯ ต้องการสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้
“ร้านที่เราเลือกส่วนใหญ่เคยอยู่ตามตลาดนัดขายสินค้า ร้านเหล่านี้เล็กเกินกว่าที่จะจับจองพื้นที่ในห้างใหญ่ๆ และไปสู้กับคู่แข่งอีกกว่า 400 เจ้าได้ เราเลยคิดว่าเราจะไม่เป็นสถานที่ที่คนมาเดินแค่เดือนละครั้ง เราอยากเป็นสถานที่ที่คนมากันได้ทุกวันมากกว่า” วิชรีกล่าว
ส่วนรวมหรือส่วนบุคคล
นอกเหนือจากพื้นที่สำหรับแบรนด์ท้องถิ่นแล้ว เดอะ คอมมอนส์ และ 72 คอร์ทยาร์ดยังหวังที่จะช่วยสร้างความเป็นชุมชนให้กับย่านทองหล่ออีกด้วย โดยทำนองเดียวกับ Siam Square One ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2557 แผนผังอาคารแบบเปิดโล่งของคอมมูนิตี้ มอลล์ได้พยายามลบเส้นแบ่งระหว่างถนนกับห้าง และสร้างบริเวณขายของควบคู่ไปกับสวนเล็กๆ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง
การสร้าง 72 คอร์ทยาร์ดเป็นความคิดของเชษฐ์ เชษฐโชติศักดิ์ (บุตรชายของสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เจ้าของค่ายเพลง RS) ผู้ริเริ่มโครงการนี้ขณะกำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่ Parsons School for Design ในกรุงนิวยอร์กโดยเขาได้ว่าจ้างบริษัท Vaslab เจ้าของผลงานอาคารรูปร่างล้ำยุคอย่าง Honda Bigwing Dealership รวมทั้งอแมนดา ลีฟเว็ต นักออกแบบคอนเซ็ปต์เจ้าของรางวัลชนะเลิศ RIBA Stirling Prize และผู้ก่อตั้งบริษัท AL_A ที่มีผลงานออกแบบพื้นที่ส่วนขยายของพิพิธภัณฑ์ Victoria & Albert ในกรุงลอนดอนและศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซีในบ้านเราให้มาเป็นผู้ออกแบบโครงการนี้
“คุณเชษฐ์ต้องการให้รสชาติของดีไซน์เป็นสากล เขาพาผมไปตามสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าฮิปในนิวยอร์กอย่างร้าน Isola และ Dover Street Market เพื่อให้ดูว่าเขาชอบแบบไหน” วสุ วิรัชศิลป์ แห่งแวสแล็บเผย
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ โครงสร้างอาคารที่มาพร้อมแผ่นหินมหึมาด้านหน้าตึก ทางเดินเล็กๆ ทำหน้าที่เป็นสวนหย่อมและพื้นที่สัญจรนำคนไปสู่ด้านหลังของอาคารอันเป็นที่ตั้งของ บีม สถานบันเทิงแห่งใหม่ ถัดลงมาชั้นล่าง คือที่ตั้งของร็อคเก็ต ร้านกาแฟคั่วเองท่ามกลางบรรยากาศสแกนดิเนเวียน ส่วนด้านบนมีร้านใหม่อย่าง เลดี้ เบรทท์ และอังเคิล แหล่งนำเสนอค็อกเทลจากฝีมือการผสมของแดนนี่ โซรัม มิกโซโลจิสต์มือฉมัง ผู้ปลุกกระแสคลาสสิกค็อกเทลในกรุงเทพฯ ไม่น่าแปลกใจที่คอมมูนิตี้ มอลล์แห่งนี้จะเป็นย่านแฮงก์เอาต์โปรดของเหล่าทายาทธุรกิจ ซึ่งล้วนคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบเมืองนอกมาเช่นเดียวกับตัวเจ้าของ 72 คอร์ทยาร์ดเอง
“คุณเชษฐ์เหมือนนักพัฒนารุ่นใหม่ เขาไม่พึ่งแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เห็นได้ทั่วไป เขาต้องการให้โครงการมีพื้นที่เชื่อมต่อจากถนนมายังพื้นที่ร้านค้า เพราะเขาอยากจะให้พื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ของโครงการเป็นเนื้อเดียวกันให้มากที่สุด นี่คือสาเหตุที่ชั้นล่างใช้ยางมะตอยแบบเดียวกับฟุตบาท และเขาก็ชอบให้มีสวนด้วย” วสุกล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง พื้นที่ที่ควรจะมีไว้เช่าจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ส่วนรวมแทน “คนชอบถามว่าโครงการที่มีแค่ 8 ร้านมันจะรอดได้ไง แต่ผมคิดว่าคุณเชษฐ์ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ส่วนรวมและการคืนกำไรให้แก่สังคมมากกว่า ในซอยทองหล่อมีโครงการก่อสร้างเยอะแยะแต่ไม่มีสวนหย่อมสักที่ 72 คอร์ทยาร์ดอาจเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับย่านนี้” วสุอธิบาย
เพื่อนักท่องเที่ยวหรือชุมชน
วสุไม่อ้อมค้อมที่จะพูดถึงความคล้ายกันอย่างมากระหว่าง 72 คอร์ทยาร์ดและเดอะ คอมมอนส์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 120 เมตร วิชรีและวรัตต์ วิจิตรวาทการเองก็เคยไปรํ่าเรียนที่อเมริกา และดำเนินธุรกิจโดยหวังตอบแทนชุมชนมากกว่าการขายพื้นที่ให้เช่าเต็มอัตรา
“ธนาคารดูโมเดลธุรกิจของเราแล้วถามว่า ‘อาคารขนาดตั้ง 5,000 ตารางเมตร ทำไมถึงให้เช่าแค่ 2,000 ตารางเมตร แล้วมีร้านไหนมาเช่าบ้าง ไม่เห็นมีแมคโดนัลด์ เราไม่รู้จักร้านพวกนี้เลย’” วิชรีกล่าว โดยเล่าว่าเพราะเหตุนี้เธอจึงต้องหันไปหานักลงทุนเอกชนแทน
แม้ว่าสองพี่น้องอาจดูเป็นมือใหม่ในสายตาธนาคาร แต่ความจริง วิชรีเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านค้าปลีกที่สหรัฐฯ มาก่อน ส่วนวรัตต์ก็เคยคลุกคลีอยู่ในวงการสื่อก่อนออกมาเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองอย่าง Ohana Cafe และตามมาด้วย โรสท์ ที่ซีนสเปซ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นร้านที่ช่วยแก้ความหมายของ ‘บรันช์’ ที่คนไม่น้อยมักเข้าใจว่าหมายถึงบุฟเฟต์ในโรงแรมห้าดาว ให้มาเป็นความหมาย ‘ลูกครึ่งของเบรกฟาสต์กับลันช์’ ตามดั้งเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง
ความนิยมของโรสท์นี่เองคือหัวใจของเดอะ คอมมอนส์ของวิชรีและวรัตต์ ทั้งสองวางแผนที่จะย้ายร้านจากซีนสเปซมาอยู่บนชั้นดาดฟ้าของ เดอะ คอมมอนส์ เพื่อทำหน้าที่ผู้เช่าหลักและคอยดึงดูดให้ลูกค้าเดินชมตั้งแต่ชั้นล่างมาจนถึงชั้นบน โดยสองพี่น้องได้ร่างเอกสารนำเสนอยาว 60 หน้าซึ่งมีเนื้อหาคละเคล้ากันไประหว่างแนวคิดทางพาณิชย์และการเอาใจใส่ชุมชน
อมตะ หลูไพบูลย์ ประธานบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม Department of Architecture กล่าวถึงเอกสารโครงการดังกล่าวด้วยนํ้าเสียงที่เจือไปด้วยความทึ่ง “ทั้งคู่เป็นลูกค้าในฝัน ผมแทบไม่อยากเชื่อสิ่งที่ได้ยินในวันนั้น ในหน้าแรกของพาวเวอร์พอยท์ พวกเขาเขียนเลยว่า ‘ที่นี่จะเป็นแหล่งรวมคนที่รักและเก่งในสิ่งที่ตัวเองทำ’”
อมตะวิเคราะห์ลักษณะของคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างละเอียดแล้วพบว่าศูนย์การค้าเหล่านั้นมีปัญหาหลักๆ ในเรื่องโครงสร้างอยู่ 3 ประการ คือ พื้นที่เอาท์ดอร์ไม่มีที่บังแดด ลม ฝน ชั้นบนไม่ค่อยมีคนเดิน และสไตล์การตกแต่งที่สับสนอลหม่านเนื่องจากมีป้ายและหน้าร้านที่หลากหลาย
ด้วยเหตุนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เดอะ คอมมอนส์ จึงทำทางลาดกว้างๆ เป็นทางเดินขึ้นไปยังชั้นบน และสร้างโถงโอ่อ่ากลางอาคารที่ตกแต่งด้วยพัดลมอุตสาหกรรมเพื่อช่วยป้องกันทั้งแดดและฝน และทำให้ผู้ที่อยู่ชั้นล่างสามารถมองขึ้นมาเห็นวิวของสวนดาดฟ้าบนชั้น 4 ได้ตลอด แม้กระทั่งในคืนวันทำงานที่อากาศร้อนระอุ โต๊ะเอาท์ดอร์บนชั้น G ก็ยังแน่นขนัดไปด้วยหนุ่มสาววัยทำงาน พงศธร โกยสมบูรณ์ บรรณาธิการนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่เพิ่งเปิดตัวฉบับกรุงเทพฯ ไปเมื่อไม่นานนี้อย่าง TimeOut ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าประจำของที่นี่
คอมมูนิตี้ มอลล์ในปัจจุบันนั้นมีปัญหาหลักๆ ในเรื่องโครงสร้างอยู่ 3 ประการ คือพื้นที่เอาท์ดอร์ไม่มีที่บังแดด ลม ฝน ชั้นบนไม่ค่อยมีคนเดิน และสไตล์การตกแต่งที่สับสนอลหม่านเนื่องจากมีป้ายและหน้าร้านที่หลากหลาย
“ผมชอบที่นี่มาก ไปเค วิลเลจ มักเจอแต่คุณป้าพาหมามาเดินเล่น แต่ที่นี่คือแหล่งรวมคนมีสไตล์ของตัวเอง จริงอยู่ อาหารราคาสูงสักหน่อย หาที่จอดรถยาก และอากาศก็ค่อนข้างร้อน แต่ผมว่าคนรับได้ ผมเห็นลูกค้า 2 ระลอกมาแล้วและไปแล้ว คือดาราและคนในแวดวงสื่อ แต่ตอนนี้ที่นี่มีลูกค้าจริงๆ แล้ว คือลูกค้าที่ไม่ได้มาเพื่ออวด แต่มาเพราะชอบจริงๆ” พงศธรกล่าว
กลุ่มลูกค้าที่วรัตต์และวิชรีตั้งใจไว้คือผู้ที่อาศัยและทำงานอยู่ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากโครงการ แต่การจะพาเดอะ คอมมอนส์ ให้ไปพ้นจากการเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวเอาเท่และกลายเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับคนท้องถิ่นอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลำพังแค่การรองรับรถยนต์กว่า 500 คันในพื้นที่จอดรถสำหรับแค่ 40 คันในทุกๆ สุดสัปดาห์ ก็เป็นโจทย์ยากมากอยู่แล้ว และทำให้สองพี่น้องถึงกับต้องออกแอพฯ เพื่อช่วยจัดคิวบริการที่จอดรถเลยทีเดียว ทั้งนี้ ขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่ วรัตต์มองไปเห็นคู่หนุ่มสาวที่กำลังง่วนอยู่กับการถ่ายเซลฟี่
“แน่นอน ตอนนี้เรามีลูกค้าแนวนั้นอยู่บ้าง แต่ผมว่าต่อไปเราจะสามารถกลายเป็นสถานที่ของชุมชนจริงๆ ได้ ผมเริ่มเห็นแววแล้ว คนหน้าเดิมๆ นั่งทำงานที่นี่ทั้งวัน และมาที่นี่ 3 ครั้งต่อสัปดาห์” วรัตต์กล่าวขณะที่ตามองไปยังคู่รัก
“คำถามสำคัญก็คือ โครงการแบบนี้ไปรอดไหม ทำเงินดีหรือเปล่า” โอ’ไบรอันแห่งสับปะรด กรุ๊ปตั้งคำถาม “ดูจาก The Helix [ที่ EmQuartier] ในแง่ของการออกแบบถือว่ายอดเยี่ยม แต่สุดท้าย ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังไปที่ร้านฟูจิ หรือร้านกระแสหลักอื่นๆ อยู่ดี ธุรกิจขนาดย่อมจะอยู่ได้โดยไม่มีสตาร์บัคส์หรือเอ็มเคได้นี่แปลว่าร้านเล็กๆ ต้องมีพลังดึงดูดคนได้ด้วยตัวเองเลยนะ”
เดอะ เฮลิกซ์ ที่โอ’ไบรอันกล่าวถึงคือบริเวณทางลาดวนของเอ็มควอเทียร์ซึ่งรวบรวมร้านอาหารไว้กว่า 50 เจ้า รอบข้างเดอะ เฮลิกซ์ ตกแต่งด้วยสวนพรรณไม้ฤดูร้อนกว่า 3,000 ตารางเมตร แถมยังมีน้ำตกสูง 40 เมตรอยู่ที่ข้างลานชั้น G ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งกิจกรรมมากความ ‘นิช’ กลางแจ้งของเมือง เช่น เทศกาล World’s Pop-up Beach ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการออกร้านของแบรนด์แปลกหูอย่าง Luka, Bad Motel, Another Summer Story และ Statement และได้ดึงดูดบรรดาครอบครัวหนุ่มสาวชาวต่างชาติ คู่รักวัยกลางคนที่มีกำลังซื้อ ตลอดจนฮิปสเตอร์ในวัย 20 กว่าๆ ให้มารวมตัวโดยพร้อมเพรียงกัน
ความจริง ถ้าจะพูดถึงลูกค้าขี้เบื่อ ก็คงหนีไม่พ้นลูกค้ากลุ่มที่กล่าวมานั่นเอง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 คอมมูนิตี้ มอลล์รุ่นบุกเบิกอย่าง H1 แหล่งช็อปสไตล์ร่มรื่นอย่างเจ อเวนิวและพื้นที่สุดฮิปอย่าง Playground ล้วนแล้วแต่เคยเป็นศูนย์รวมของความเท่ ถัดมาในปี 2555 จึงเป็นคราวของซีนสเปซและกราสส์ ดูเหมือนว่า การจะทำให้ทองหล่อมีอะไรใหม่อยู่เรื่อยๆ นั้น ธุรกิจในย่านนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นและจากไปอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุนั้น ตอนนี้อาจยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าคอมมูนิตี้ มอลล์รุ่นปี 2559 จะสามารถทนธรรมชาติที่ผันผวนของทองหล่อและสร้างความเป็นชุมชนที่ยั่งยืนได้อย่างใจหวังหรือไม่ แต่ในฐานะคลื่นระลอกใหม่แห่งวงการค้าปลีก อย่างน้อยต้องถือว่าเดอะ คอมมอนส์และ 72 คอร์ทยาร์ด ได้เพาะวิถีชีวิตและรสนิยมใหม่ๆ ให้กับชาวกรุงเทพฯ อย่างที่ย้อนกลับไปไม่ได้อีกแล้ว
“มีศูนย์การค้าใหญ่ๆ เข้ามาติดต่อผู้เช่าของเรา ทาบทามให้ร้านเหล่านี้ไปเปิดสาขากับเขา โดยบอกว่า ‘เราจะทำเหมือนกับเดอะ คอมมอนส์เป๊ะเลย’” วรัตต์กล่าว
เป็นการย้ำอีกครั้งว่าทั้งคู่เดินมาถูกทางแล้ว
■
Essentials
■
72 Courtyard
ซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
www.72courtyard.com
■
Department of Architecture
44 ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ
โทร. 02-633-9936
www.departmentofarchitecture.co.th
■
EmQuartier
651 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-269-1188
www.emquartier.co.th
■
The Commons
335 ซอยทองหล่อ 17 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 089-152-2677
www.thecommonsbkk.com
■
Vaslab
344 ซอยสุขุมวิท 101 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-741-8099
www.vaslabarchitecture.com