SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Culture Cocoon
ในโอกาสที่ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม’ กำลังจะเปิดตัวในเชียงใหม่ นี่คือโอกาสดีสำหรับย้อนดูพัฒนาการแห่งวงการศิลปะใน ‘รังไหมทางวัฒนธรรม’ ของประเทศแห่งนี้
เชียงใหม่มีองค์ประกอบความเป็นเมืองอันดับ 2 ของประเทศอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นจังหวะชีวิตนุ่มเนิบ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่บุ่มบ่าม ตลอดจนความเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่กรุงเทพฯ อาจคอยเปรียบเทียบตัวเองกับมาตรฐานสากลเหมือนเมืองสำคัญอื่นๆ ในโลก เมืองหลวงแห่งดินแดนล้านนานี้เชื่อในการกำหนดมาตรฐานและจังหวะของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ หากเมืองรองอย่างบอสตัน หรือ
พระตะบอง ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรม’ การจะขนานนามเชียงใหม่ว่าเป็น ‘รังไหมแห่งวัฒนธรรม’ ย่อมไม่ผิดไป
ไลลา พิมานรัตน์ ผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ที่มีชื่อเดียวกันเมื่อปี 2557 บรรยายถึงเชียงใหม่ไว้ว่า “เชียงใหม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเรื่องศิลปะวัฒนธรรม และมีความเป็นชุมชนสูง” อย่างไรก็ตาม แม้เชียงใหม่จะไม่ให้ความสำคัญกับการตีตราจากภายนอก แต่ภายนอกกลับสนใจพัฒนาการของวงการศิลปะของที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากบรรดาศิลปินคนดังที่ยึดเชียงใหม่เป็นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฤกษ์ฤทธิ์
ตีระวนิช นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล คามิน เลิศชัยประเสริฐ ตลอดจน อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
จนแทบจะพูดได้ว่าเชียงใหม่ผูกขาดศิลปินร่วมสมัยไทยที่โลดแล่นอยู่บนเวทีโลกเอาไว้ทั้งหมด และเมื่อหนึ่งในคอลเลกชันศิลปะร่วมสมัยชั้นเยี่ยมของประเทศกำลังจะเปิดให้สาธารณชนได้ยลโฉม ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ชื่อว่า ‘ใหม่เอี่ยม’ ในอีกไม่นานนี้ อิทธิพลด้านศิลปะของเชียงใหม่น่าจะมีแต่เพิ่มเป็นทวีคูณ
คำว่ากล้าได้กล้าเสีย
ลองผิดลองถูก และเห็นแก่ส่วนรวมคือหัวใจของชุมชนศิลปะที่นี่ ซึ่งเป็น
ดินแดนที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพมากพอๆ กับศิลปินล้ำๆ
ชุมชนคนศิลป์
คำว่ากล้าได้กล้าเสีย ลองผิดลองถูก และเห็นแก่ส่วนรวมคือหัวใจของชุมชนศิลปะที่นี่ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพมากพอๆ กับศิลปินล้ำๆ แม้ความเป็นอนุรักษ์นิยมของเมืองไทย จะทำให้ศิลปินหลายคนต้องไปดังอยู่ต่างประเทศมากกว่าบ้านเกิด เชียงใหม่ก็เป็นมุมหนึ่งของประเทศที่สุกงอมพอจะใช้ศิลปินเหล่านี้ทดลองโครงการศิลป์อะไรต่อมิอะไรได้ไม่น้อย
ในช่วงปลายยุค 80s หลังกลับจากการศึกษาที่ต่างประเทศ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
มิตร ใจอินทร์ อุทิศ อติมานะ และมณเฑียร
บุญมา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งศิลปะร่วมสมัยในไทย ได้รวมตัวทำให้ศิลปะมีบทบาทในชีวิตประจำวันคนเชียงใหม่ ตามที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการ Arte Povera หรือ ‘ศิลปะของคนยาก’ ในอิตาลี โดยให้ชื่อว่า ‘โครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม’ (Chiang Mai Social Installation) ซึ่งได้ช่วยสร้างงานศิลป์และการแสดงหลายต่อหลายชิ้นที่นำเสนอผ่านองคาพยพต่างๆ ของเมือง แม้แต่สุสานและวัด
ทั้งนี้ ต้องถือว่าโครงการเชียงใหม่จัดวางสังคมเดินทางสวนกระแสกับแนวโน้มของวงการศิลปะไทยในขณะนั้น เพราะไม่เน้นแต่เรื่องการทำโครงการถาวรหรือยึดศิลปินเป็นหลักอย่างเดียว ตรงกันข้าม งานที่จัดขึ้นมักเชิญคนที่ไม่ใช่ศิลปินมามีส่วนร่วมอยู่เสมอ เช่น การเชิญหมอให้มาฉีดวัคซีนสำหรับ ‘ป้องกันการเป็นศิลปินเส็งเคร็ง’ การให้สาธารณชนขึ้นไปปราศรัยบนแท่นในหัวข้อ ‘สิบนาทีจากใจฉัน’ หรือแม้กระทั่งจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่ศิลปะแท้ๆ เช่น การบริจาคต้นไม้ให้แก่วัดด้วย เพราะศิลปินเห็นว่าประเพณีดังกล่าวกำลังเลือนหายไป อย่างไรก็ตาม หนึ่งผลลัพธ์ของโครงการที่ส่งผลยืนยาวก็คือการก่อตั้งเว็บไซต์ ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน’ (midnightuniv.org) ในปี 2538 ตามเจตจำนงของศิลปินกลุ่มนี้ที่ต้องการให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนทางความคิดมากกว่าเพียงการแสดงเทคนิคศิลปะ ก่อนเฟสบุ๊คจะรุ่งเรือง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี่เองทำหน้าที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนทางความคิดอันคึกคัก โดยไม่จำกัดวงแต่เฉพาะผู้ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ในปี 2541 ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินผู้ได้ตระเวนแสดงงานศิลปะทั่วโลกมาตั้งแต่ปลายยุค 90s และคามิน เลิศชัยประเสริฐ ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘มูลนิธิที่นา’ (The Land Foundation) บนพื้นที่ราวๆ 2 ทุ่งนาในหมู่บ้านสันป่าตอง ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งฝึกการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนตามทฤษฎีพุทธการเกษตรของ ฉลวย แก้วคง และเป็นที่รู้จักในระดับสากล โดย ณ สถานที่แห่งนี้ ศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจะจับมือกับนักเรียนและชาวบ้านเพื่อทำโครงการต่างๆ เช่น การผลิตก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการการเกษตรที่อิงหลักการใช้ชีวิตแบบร่วมกัน ฯลฯ โดยมุ่งหวังสร้างความงอกงามจากกระบวนการเรียนรู้มากกว่าตัวผลผลิตหรือแม้กระทั่งงานศิลปะใดๆ
“ผมเริ่มทำโครงการมูลนิธิที่นากับเพื่อนๆ เพราะพวกเราอยากจะมีสถานที่พบปะและระดมความคิดกันได้ หรือไม่ก็ใช้เวลาอยู่กับความคิดตัวเองตามลำพัง เราหวังแค่ว่า พอมาแล้วคุณจะรู้จักตัวเองดีขึ้น ค้นพบว่าตัวเองอยากทำอะไรกับชีวิต และเดินออกไปพร้อมกับความคิดที่งอกงามกว่าเมื่อตอนเข้ามา” ฤกษ์ฤทธิ์ กล่าว
บุคคลมีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อยจากแวดวงศิลปะนานาชาติได้เคยมาใช้เวลาอยู่ที่นี่ โดยผู้มาเยือนจะได้ฝึกนั่งวิปัสสนา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ 5 ประการของโครงการ นอกเหนือจากเรื่องที่นา การเกษตร กิจกรรมทางสังคม และการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่งและการขยายตัวของการท่องเที่ยว มูลนิธิที่นาถือเป็นช่องทางหลีกเร้นจากชีวิตประจำวันอันเร่งรีบบีบคั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งคามินย้ำว่าสิ่งสำคัญกว่ารายละเอียดของกิจกรรมในโครงการก็คือโอกาสในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนทางความคิด
ความจริงแล้ว คามินก็มีสถาบันในลักษณะเช่นนี้เป็นของตัวเองเช่นกัน ‘พิพิธภัณฑ์
จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31’ ของเขาประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์หลายๆ ตู้ ซึ่งแต่ละตู้จะบรรจุเนื้อหาแตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์สำคัญคือเมื่อเข้าไปดูแล้ว ผู้มาเยือนจะสามารถตระหนักถึงคุณค่าภายในมากกว่าภายนอก โดยทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ในเขตชนบทอันบริสุทธิ์ ซึ่งเอื้อแก่การใคร่ครวญถึงแก่นสารชีวิตท่ามกลางเวลาที่เคลื่อนคล้อยไป แต่ตอนนี้เขาได้ย้ายพิพิธภัณฑ์จากที่เดิมไปอยู่ที่สันป่าตองห่างจากมูลนิธิที่นาเพียงไม่ถึง 5 นาที และเตรียมลงนิทรรศการใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560
สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะเปลี่ยนไปง่ายๆ ก็คือความนอกกรอบของศิลปินที่นี่
พื้นที่แห่งใหม่
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากศิลปะในแบบเปิดกว้าง มีส่วนร่วม และเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้ว เชียงใหม่ก็กำลังจะมีสถานศิลป์ในแบบถาวร คือ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม’
ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 3 กรกฎาคม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งใจดัดแปลงมาจากคลังสินค้าเก่าเพื่อให้ดูราบเรียบไม่แข่งกับงานศิลปะภายใน โดยจะจัดแสดงคอลเลกชันงานศิลปะร่วมสมัยไทยของเอริก บูธ ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทผ้าไหมไทย จิมส์ ทอมป์สัน ตลอดจนของแม่และพ่อเลี้ยงของเขา (พัฒศรี บุนนาค และฌอง มิเชล เบอร์เดอเร) ภายในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประกอบด้วยผลงานสำคัญในช่วงยุคแรกๆ ของอารยาและนาวินปะปนไปกับศิลปินอื่นๆ และเนื่องจากพัดศรีและฌองสะสมงานศิลปะมาตั้งแต่ยุค 80s ทั้งคู่เองจึงปรากฎในผลงานหลายชิ้นของนาวิน ไม่ว่าจะเป็นในภาพสไตล์โปสเตอร์หนังไทยที่วาดลงบนรถโฟล์คเต่า หรือในฉากมโหฬารที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาด The Last Supper ซึ่งเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญในวงการศิลปะร่วมสมัยไทย
“ใหม่เอี่ยมสร้างแค่ 15 เดือนหลังจากที่ผมซื้อที่ดินมา เพราะอยากรีบสร้างหอศิลป์ดีๆ มาจัดแสดงงานศิลปะในเชียงใหม่” เอริก บูธ กล่าว
ใหม่เอี่ยมจะเปิดตัวด้วยงานย้อนรำลึกอดีตของอภิชาติพงศ์ และในอนาคตอันใกล้นี้ จะจัดงานนิทรรศการเดี่ยวของศิลปินร่วมสมัยหลักๆ ของไทย การเน้นศิลปินเชียงใหม่ของพิพิธภัณฑ์สะท้อนให้เห็นการแสดงความเคารพต่อประวัติศาสตร์ศิลปะของพื้นที่ และในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ศิลปินในพื้นที่เปลี่ยนมาพยายามมากขึ้นที่จะทำงานอันจับต้องได้ เก็บในพิพิธภัณฑ์ได้ มากกว่าจะเป็นงานศิลปะแบบชั่วคราวอย่างที่ผ่านๆ มา กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะเปลี่ยนไปง่ายๆ ก็คือความนอกกรอบของศิลปินที่นี่
เช่น ในปี 2558 นาวินได้จัดงาน A Tale of Two Homes of Navin เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลา 20 ปีแห่งการเป็นศิลปิน โดยจัดแสดงในบริเวณบ้านเก่าของเขากลางชุมชนตลาดวโรรสและที่สตูดิโอสร้างใหม่ที่อยู่ห่างออกไป ด้วยเหตุนี้ ผู้มาเยือนจึงมีโอกาสชมผลงานภาพวาดและศิลปะวัตถุของนาวิน ทั้งในบรรยากาศอันเต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยของบ้านเก่าและบรรยากาศโอ่อ่ากว้างขวางของสตูดิโอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ชมได้สนุกไปกับการแยกแยะผลงานและชีวิตจริงของศิลปินซึ่งถูก ‘เบลอ’ เข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ
ศิลปะที่กว้างไกลกว่าศิลปิน
ต่อลาภ ลาภเจริญสุข บันฑิตสาขาวิจิตรศิลป์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของผมทรงเดรดล็อก เป็นอีกหนึ่งในบรรดาคนหนุ่มสาวที่มาลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ โดยเขาดำเนินกิจการ Gallery Seescape อยู่หลายปีก่อนจะหันมาทำ Hern Gallery ซึ่งมุ่งเจาะตลาดสากล โดยใช้ความเข้าใจชุมชนศิลปะเชียงใหม่ที่แน่นแฟ้นเป็นฐาน
“เชียงใหม่มีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับศิลปะร่วมสมัย ความแปลกของเชียงใหม่เกิดขึ้นเพราะคนที่นี่แบ่งปันความคิดและทำงานร่วมกันได้ โดยมีสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ ชุมชนคนรักศิลปะหลากหลายคอยสนับสนุน” ต่อลาภกล่าว
กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย อดีตนักเรียนนอกจากออสเตรเลีย ริเริ่มโครงการที่ชื่อว่า CAP Studio (Chiang Mai Art on Paper) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งเวิร์กช็อป แกล-เลอรี่ และพื้นที่ขาย ทั้งนี้ ด้วยความที่สตูดิโอได้สะสมผลงานภาพพิมพ์ของศิลปินไว้ขายเป็นจำนวนมาก ที่นี่จึงมีทั้งงานแบบเก่าและแบบล้ำหน้าวางอยู่คู่เคียงกัน ภาพกราฟฟิตี้ดุเดือดตั้งประชันกับภาพวัดชนบทในอาทิตย์
อัสดงมลังเมลืองหรือไม่ก็ภาพช้างหน้าตาบ้องแบ๊ว ซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพเส้นทางของประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมร่วมสมัยของเชียงใหม่ที่มาตัดกันได้ดียิ่ง
Lyla Gallery ยังคงจัดนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับศิลปินล้ำหน้าทั้งจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เช่น อริญชย์ รุ่งแจ้ง ตัวแทนของไทยในงาน Venice Biennale 2013 หรือปิยรัศม์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปินที่เปิดเผยว่าตนมีรสนิยมรักร่วมเพศ และสร้างป้ายไฟนีออนหลากหลาย ที่บรรจุข้อความเรียบๆ แต่กลับแรงไปเองด้วยบรรยากาศการเมืองอึมครึมในปัจจุบัน (เช่น ‘Hope for the better future’)
นอกจากนี้แล้วก็ยังมี Thapae East ชุมชนศิลปะที่ล่าสุดเปิดตัวขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรมหน้าตาทันสมัย โดยเป็นแหล่งแสดงออกของศิลปะแขนงต่างๆ เช่นการเล่นดนตรี อ่านบทกวี หรือทัศนศิลป์
สถานที่เหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ในขณะที่เชียงใหม่อาจเติบโตมาในจังหวะและรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แต่สุดท้าย พัฒนาการนั้นย่อมนำเชียงใหม่มาอยู่ในจุดที่คล้ายกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มากขึ้น คือจุดที่ศิลปะก้าวลงจากหอคอยงาช้างของศิลปินเพื่อมาพบกับตลาดของสามัญชน ซึ่งแม้จะใช้เวลานาน แต่ก็นับว่าเชียงใหม่ในปัจจุบัน ไม่เพียงเป็นเมืองในอุดมคติของศิลปินเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองในอุดมคติสำหรับคนอย่างเราๆ ที่หวังจะชื่นชมผลงานของศิลปินเหล่านี้อีกด้วย
■
Essentials
■
พิพิธภัณฑ์ จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษ 31
หมู่บ้านหนองไหว ต.นํ้าบ่อหลวง สันป่าตอง เชียงใหม่
www.31century.org
■
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม
122 หมู่ 7 ต.ต้นเปา สันกำแพง เชียงใหม่
www.maiiam.com
■
มูลนิธิที่นา
48 หมู่ 1 ต.บ้านแม สันป่าตอง เชียงใหม่
โทร. 083-941-9033
www.thelandfoundation.org
■
CAP Studio
368/13 ซอยนิมมานเหมินทร์ 17 ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่
โทร. 087-810-8860
www.chiangmaiartonpaper.com
■
Gallery Seescape
22/1 ซอยนิมมานเหมินทร์ 17 ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่
โทร. 093-831-9394
www.fb.com/galleryseescape
■
Hern Gallery
1/3 ถนนป่าแดด ต.ช้างคลาน เชียงใหม่
โทร. 088-268-3893
www.fb.com/herngallery
■
Lyla Gallery
234 ถนนท่าแพ เชียงใหม่
โทร. 084-388-1488
www.lylagallery.com