SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
เศรษฐกิจโลกที่พึ่งพานโยบายการเงินมา 8 ปีเริ่มอ่อนแรง
การลงทุนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนต้องให้ความสำคัญและติดตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางเป็นหลัก หากถามว่าใครคือผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ปัจจุบัน หลายคนจะตอบว่าคือ นางเจเน็ต เยลเลน (และตอบได้ด้วยว่าคนก่อนหน้าคือนายเบน เบอร์นันเก และอลัน กรีนสแปน) แต่หากถามว่าใครคือรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ น้อยคนจะจำได้ว่าคือเจค็อบ (แจ็ค) ลูว์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนก่อนๆ อย่างทิโมธี ไกธ์เนอร์ และเฮนรี (แฮงก์) พอลสัน
ทั้งนี้เพราะก่อนวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ (ปี 2007-2008) นโยบายการคลังมีบทบาทน้อยมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะสูงและจะสูงขึ้นไปอีกหากยังปล่อยให้ระบบประกันสังคมใช้จ่ายเกินตัวอย่างเช่นปัจจุบัน ทำให้เกิดการขัดแย้งกันของพรรคการเมืองหลักและการหาทางออกเพื่อปรับโครงสร้างนโยบายการคลังทำไม่ได้และชะงักงันเป็นหมันมาโดยตลอด (และในช่วงที่เกิดความขัดแย้งรุนแรง ก็นำไปสู่การปิดทำการของรัฐบาลชั่วคราวที่คงจะจำกันได้)
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพึ่งพานโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งผ่อนคลายนโยบายจนฉีกตำราเศรษฐศาสตร์และดำเนินมาตรการนอกกรอบ คือการพิมพ์เงินใหม่มากว้านซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีจากมือประชาชนเพื่อให้ประชาชนต้องนำเงินไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) การดำเนินมาตรการคิวอี 1, 2 และ 3 ทำให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด เห็นได้จากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์นับครั้งไม่ถ้วน แปลว่าหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเสี่ยงพลิกฟื้นฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองจนดีขึ้นมาเป็นลำดับจากเมื่อ 10 ปีก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด
ปัญหาที่ตามมานั้นสรุปได้ว่ามีอยู่ 3 ประการคือ
1. ชนชั้นกลางฐานะทางการเงินไม่ดีขึ้นมากนัก แตกต่างจากคนรวยน้อยคนที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์ (ที่ราคาปรับสูงขึ้น) เกือบทั้งหมดของประเทศ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านกลุ่มที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน ส่งผลให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ (ที่ถูกมองว่าเป็น ‘คนนอก’) และนายเบอร์นี แซนเดอร์ส (วุฒิสมาชิกมลรัฐที่มีพลเมืองเพียง 600,000 คน) สามารถต่อสู้ ฮิลลารี คลินตัน จนนางคลินตันต้องปรับจุดยืนไปทางซ้าย (สังคมนิยม) ปฏิเสธข้อตกลงทีพีพีและการปฏิรูปประกันสังคม กล่าวคือนโยบายฟื้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินเป็นสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้การเมืองสหรัฐฯ แตกแยกอย่างไม่เคยเห็นมาในรอบหลาย 10 ปี และสร้างความไม่แน่นอนให้ทั้งกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกในปลายปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี
2. แม้จะมีการพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญ (จากเดิมที่มีเงินสดหมุนเวียนเพียง 9 แสนล้านเหรียญ) แต่เงินดังกล่าว ‘ไม่หมุน’ กล่าวคือธนาคารพาณิชย์ถูก ‘ลงโทษ’ (เพราะเป็นสาเหตุของวิกฤติเมื่อ 9 ปีที่แล้ว) โดยถูกบังคับไม่ให้ประกอบธุรกิจเสี่ยง ส่งผลต่อโอกาสในการทำกำไร จึงเอาสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากกองเอาไว้ในบัญชีของตนที่ธนาคารกลาง
3. ยุโรปและญี่ปุ่นดำเนินมาตรการคิวอีตามสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจของประเทศทั้งสองอ่อนแอกว่า จึงน่าจะต้องทำคิวอีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพราะในระยะหลังแม้จะเพิ่มคิวอี แต่เงินยูโรและเงินเยนก็ยังแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ฉุดให้พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกประมาณ 1 ใน 3 ขณะนี้ให้ดอกเบี้ยติดลบไปแล้ว สร้างความลำบากให้กับกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนผู้สูงอายุในยุโรป กระแสต่อต้านคิวอีและนโยบายดอกเบี้ยติดลบที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เกิดคำถามว่านโยบายการเงินเริ่มอ่อนล้าและเสื่อมประสิทธิผลแล้วหรือไม่
จึงนำมาสู่การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของประเทศหลักอาจต้องถลำตัวลึกเข้าไปอีก โดยมีการกล่าวถึง ‘helicopter money’ หรือการเปรียบเปรยของเบน เบอร์นันเก ว่าหากจำเป็นก็อาจต้องนำเงินสดโปรยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ให้ประชาชนนำไปใช้จ่าย ฝ่ายที่คิดการเรื่องนี้มิได้หมายความเช่นนั้นจริงๆ นะครับ โดยมองว่าจะต้องทำผ่านนโยบายการคลัง เช่นการที่ธนาคารกลางจะรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 100 ปีที่ให้ดอกเบี้ย 0% แปลว่าจะต้องนำเอานโยบายการเงินมาสนับสนุนนโยบายการคลังในลักษณะนอกตำราเศรษฐศาสตร์ต่อไป
ผมคาดว่าเศรษฐกิจโลกคงจะไม่ไปถึงจุดนั้นแต่ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดครับ
■