SECTION
ABOUTTHE FAST LANE
Tropical Bavarians
ในขณะที่ BMW กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 การเสาะหา ซ่อมแซม และบำรุงรักษารถจากอดีตยุค 70s ของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายนี้กลับกลายเป็นเรื่องคึกคัก แม้กระทั่งในประเทศไทย ซึ่งอยู่ไกลจากแหล่งกำเนิดกว่าครึ่งค่อนโลก
ในโอกาสที่ BMW กำลังจะครบรอบ
1 ศตวรรษในปีนี้ ทางบริษัทได้ออกคอนเซ็ปต์คาร์ Vision 100 ยานยนต์ระบบไฟฟ้าไร้คนขับ ผิวตัวถังสีทองกุหลาบยืดหยุ่น ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่านี่เป็นแค่การตลาดประเดี๋ยวประด๋าว เพราะไม่ว่าจะมีคอนเซ็ปต์คาร์ออกมากี่คัน แต่ไหนแต่ไรมนุษย์ก็ขับรถแบบเดิมมาตลอด คือเติมน้ำมัน ติดเครื่อง แล้วก็บังคับพวงมาลัยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงใหญ่กำลังมาถึงวงการยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่แพร่หลาย รถยนต์ไร้คนขับของกูเกิลเองก็อยู่ในระหว่างการทดสอบเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ วาระครบรอบ 100 ปีของ
บีเอ็มดับเบิลยู จึงทำให้เกิดผลประหลาด คือทางหนึ่งก็เป็นการกระตุ้นให้คนเริ่มมองไปในอนาคตข้างหน้า แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการโหมให้เกิดความโหยหาอดีตอันเกรียงไกรของบริษัทผลิตรถยนต์บาวาเรียนรายนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่โหยหาอดีต การบำรุงรักษารถเก่าคันงามในกรุงเทพฯ ถือเป็นงานพิถีพิถันที่บรรดานักสะสมต้องสู้ตั้งแต่อากาศร้อนชื้นที่คอยทำร้ายรถ ไปจนกระทั่งกฎระเบียบเข้มงวดของกรมศุลกากร กระนั้น นักสะสมยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนคุ้มค่า เพราะรถยนต์ที่ยังต้องใช้คนขับ คือพาหนะแห่งความ
สุนทรีย์ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีไหนมาแทนได้ง่ายๆ
รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่สิ่งเดียวที่ซีดานรุ่นปี 1962 และคูเป้รุ่นปี 1964 ใช้ในการกระตุ้นยอดขาย
ภายใต้ฝากระโปรงมันวับคือเครื่องยนต์ M10
ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีสมรรถนะเป็นเลิศ
ยุคทองของผู้ผลิตรถยนต์จากมิวนิกรายนี้เริ่มตั้งแต่ BMW 2002 รุ่นปี 1966 ไปจนถึงรถ E30 รุ่นปี 1985 เพราะเป็นยุคของรถซีดาน (4 ประตู) และคูเป้ (2 ประตู) แบบสปอร์ต ซึ่งแม้แต่ผู้บริหารระดับกลางก็มีกำลังซื้อหามาได้ ศุภวิทย์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้นำเข้าคราฟต์เบียร์และไซเดอร์ อย่าง Brew Dogs และ Eviltwin Brewing เป็นเจ้าของ Alpine 2002 สีขาว อันถือกันว่าเป็นรถที่แสดงความเป็นบีเอ็มดับเบิลยูได้อย่างดียิ่ง คือโฉบเฉี่ยว ปลอดภัย และหรูหรา โดยไม่ถึงกับมีราคาสูงเกินเอื้อมอย่างซูเปอร์คาร์เฟอร์รารี หรือพอร์ช
“ผมเคยลองขับ 02 ของเพื่อนคนหนึ่ง แล้วก็รักทันที เพราะให้ความรู้สึกที่ดิบสะใจมาก”
ศุภวิทย์กล่าว ‘02’ คือชื่อของซีรีส์รถคูเป้แบบสปอร์ตที่บีเอ็มดับเบิลยูเริ่มผลิตในปี 1966 อันได้แก่รุ่น 1502, 1602, 1802 และ 2002 โดยใช้ต้นแบบจากรถซีดานรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘นิว คลาส (Neue Klasse)’ ในสมัยนั้น โดย 02 นี่เองที่เป็นรถที่ทำให้บีเอ็มดับเบิลยูหลุดออกจากสภาพจวนล้มละลายและกลายมาเป็นแบรนด์ติดหูในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ต่อให้เป็นรุ่นซีดานที่เน้นความสบาย บีเอ็มดับเบิลยูก็ยังทำได้แรงจนเป็นที่นิยมต่อมาอีกหลายทศวรรษเช่นกัน
เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ผลิตในอิตาลีช่วงยุคเดียวกัน นิวคลาส 4 ประตูไม่ได้มีเสน่ห์กว่ามากนักในแง่ของดีไซน์ ซึ่งแปลว่ารูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่สิ่งเดียวที่รถซีดานใช้ในการกระตุ้นยอดขาย ภายใต้ฝากระโปรงมันวับคือเครื่องยนต์ M10 ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีสมรรถนะเป็นเลิศ
“เครื่องยนต์ M10 คือสุดยอด” ศุภวิทย์พูดถึงแท่นเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซี ที่อยู่ในรถรุ่น 2002 ของเขา “ไม่เคยดับเลย บีเอ็มดับเบิลยูถึงได้ใช้รุ่นนี้อยู่เป็นสิบๆ ปี แถมยังนำไปใช้ในการแข่งฟอร์มูลาวันด้วย ในบรรดารถของผม คันนี้ขับสนุกสุด คันอื่นอาจแรงกว่าก็จริง แต่คันนี้ขับแล้วรู้สึกเร็วกว่า ผมชอบมาก”
ปัจจุบันนี้ ราคารถรุ่น 2002 คันหนึ่งจะตกอยู่ที่ราวๆ 250,000-350,000 บาท แต่ราคายังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น สภาพตัวรถ ประวัติการใช้งาน ใบอนุญาตและเอกสารประกอบ รวมถึงการปรับแต่งรถด้วย
ศุภวิทย์เล่าว่า “เวลาซื้อรถ คนมักจะตัดสินจากค่างานสีบนตัวถังที่ต้องไปทำ คือทำสีใหม่อาจจะเสียเงินสักแสน แต่จริงๆ แล้วเรื่องสีน่าห่วงน้อยที่สุด ที่ควรห่วงมากกว่าคือรถขับเอียงซ้ายหรือขวาไหม เคยประสบอุบัติเหตุไหม อะไหล่แท้ไหม เครื่องยนต์มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เวลาผมไปดูรถ ผมถึงต้องพาช่างไปช่วยดูด้วยทุกครั้ง”
ช่างของศุภวิทย์คือ วินัย แสนทอง
วินัยเริ่มงานตอนอายุ 13 ปี จากการเป็นลูกมือช่างที่อู่ ‘ดำเนิน สปีด’ ซึ่งเป็นของยนตรกิจ
ผู้ผลิตและนำเข้าบีเอ็มดับเบิลยูรายแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ที่รัฐบาลห้ามนำเข้ารถยนต์ทั้งคันในปี 1978 ครอบครัวลีนุตพงษ์แห่งกลุ่มยนตรกิจได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ให้กับบีเอ็มดับเบิลยูรายแรกที่ตั้งอยู่นอกประเทศเยอรมนี จนกระทั่งในปี 1998 บีเอ็มดับเบิลยูได้เข้ามาควบซื้อกิจการการผลิต จัดจำหน่าย และซ่อมบำรุงรถยนต์ของตัวเองในไทย และก่อตั้งบริษัท Bayerishe Motoren Werke (Thailand) Co., Ltd. ขึ้นมา ในปัจจุบัน BMW Group Manufacturing Thailand นั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่ โดยเพิ่งเปิดตัวศูนย์รวมอะไหล่รถยนต์มูลค่ากว่า 220 ล้านบาท ซึ่งรองรับการจัดจำหน่ายอะไหล่สำรองได้มากถึง 40,000 ชิ้นต่อวัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของ
บีเอ็มดับเบิลยูไม่ทำให้วินัยยินดียินร้าย เพราะดูเหมือนความสนใจในบีเอ็มดับเบิลยูของเขาจะหยุดอยู่ที่รถยุค 70s ถึงกลางยุค 80s เท่านั้น
อู่รถของเขานั้นคือแหล่งขุมทรัพย์ของ
บีเอ็มดับเบิลยูรุ่นวินเทจ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ 02 หรือรุ่น E21, E30, E28 รวมถึงกระทั่งโมเดลอันเป็นที่หมายปองอย่าง E9 ซึ่งเป็นรถคูเป้ที่ผลิตระหว่างปี 1968-1975 โดยสนนค่าตัวอยู่ราวๆ 1.5 ถึง 3 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับสภาพตัวรถและที่มา
วินัยบอกว่าสภาพอากาศร้อนชื้นบ้านเราแทบจะทำร้ายรถได้พอๆ กับการชนประสานงาเลยทีเดียว ที่อู่ของวินัยมีรถซึ่งคนบริจาคไว้สำหรับใช้เป็นอะไหล่สำรอง เนื่องจากตัวรถเยินเกินซ่อมอยู่หลายคัน “คันนี้โดนสนิมกินลึกเกินไป” เขาพูดพร้อมกับชี้ไปที่ E21 ทั้งนี้ แม้จะสภาพดีและได้ดีไซน์เรียบหรูจากผลงานนักออกแบบรถชื่อดังอย่าง พอล บราค แต่รถรุ่นลูกของ 2002 คันนี้ กลับเรียกค่าตัวได้เพียง 100,000-150,000 บาทเท่านั้น
ธนบดี เหมสุจิ ผู้จัดการภูมิภาคของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
ก็เป็นอีกคนที่ติดใจในม้าเหล็กบาวาเรียน เขาเป็นเจ้าของ E24 ซึ่งออกมาแทนที่รุ่น E9 รถรุ่นดังกล่าวเป็นหนึ่งในรถซีรีส์ 6 ที่มีสมรรถนะเหนือกว่า E21 อยู่สองเท่าตัว ธนบดีเล่าว่า “รถคนนี้เคยเป็นของแม่มาก่อน แม่ผมชอบขับรถซิ่ง
ตอนนั้นท่านทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายช่างของการบินไทย ชอบพวกเครื่องยนต์เอามากๆ แม่เคยเอารถเก่ามาซ่อมจนใหม่เอี่ยมไปหลายคัน มี Citroen DS 2 คัน แล้วก็มี Jaguar รุ่น e ท่านถือเป็นผู้หญิงแนวมากๆ”
รถรุ่น E24 ของธนบดีถือเป็นรุ่นปิดตัวยุคทอง โดยเมื่อเปิดตัวครั้งแรกในปี 1976 รถรุ่นนี้มาพร้อมกับพวงมาลัยเพาเวอร์ ระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ในตัว ทั้งนี้ การเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นได้ทำให้วงการรถยนต์ที่เคยใช้แต่ภาพลักษณ์เรื่องความอิสระและความดุดันเป็นจุดขาย ต้องเปลี่ยนเป็นขายความคุ้มค่า ประหยัด และปลอดภัย รถรุ่น E24 ได้เป็นเสมือนรุ่นทิ้งทวนที่ยังมีความแรงล้นเหลือ เนื่องจากได้รับการบูรณะและประกอบขึ้นใหม่ด้วยอะไหล่จาก Alpina B9
เป็นการยากที่จะพูดถึงยุคเฟื่องฟูของ
บีเอ็มดับเบิลยู โดยไม่เอ่ยถึงบริษัทอย่าง Alpina Burkard Bovensiepen บริษัทอัลพินาก่อตั้งในรัฐบาวาเรียในปี 1965 และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ ถึงอัลพินาจะไม่ได้ผลิตรถภายใต้แบรนด์ของตัวเอง แต่ก็ได้นำรถบีเอ็มดับเบิลยูออกจากสายการผลิตในโรงงานมาอัพเกรดเพิ่มสมรรถนะ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อรุ่นและหมายเลขประจำถังรถใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดจากกฎระเบียบการนำเข้าของไทย รถของธนบดีจึงไม่มีหมายเลขที่ว่าปรากฏอยู่
ในทางปฏิบัติแล้ว
เป็นไปไม่ได้ที่จะนำรถรุ่นคลาสสิกเข้ามาในไทย ก่อนหน้านี้อาจจะพอมีทาง เช่นให้นักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกนำ ‘รถยนต์ส่วนตัว’ กลับมาบ้านเกิดด้วย แต่เดี๋ยวนี้ใช้วิธีนั้นไม่ได้แล้ว
“ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะนำรถรุ่นคลาสสิกเข้ามาในไทย ก่อนหน้านี้อาจจะพอมีทาง เช่นให้นักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกนำ ‘รถยนต์ส่วนตัว’ กลับมาบ้านเกิดด้วย แต่เดี๋ยวนี้ใช้วิธีนั้นไม่ได้แล้ว” ธนบดีกล่าว เพราะแน่นอนว่าเมื่อจำนวนของนักเรียนไทยที่กลับบ้านเกิดพร้อมกับพอร์ชหรือเฟอร์รารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนผิดสังเกต ช่องโหว่ทางกฎหมายก็ถูกปิดลง ส่วน E24 ของธนบดีเอง ได้ถูกนำเข้ามาเมื่อหลายสิบปีก่อนโดย “พลตำรวจท่านหนึ่งซึ่งขายรถต่อให้คุณตา” หรือพูดให้ถูกก็คือตัวถังของ E24
ที่ต้องพูดอย่างนี้ก็เพราะ เนื่องจากรถรุ่นอัลพินาไม่เคยถูกนำเข้ามาในประเทศ
คนไทยที่ชอบอัลพินาจะต้องสั่งแยกรถออกเป็น 2 ส่วนที่ต่างประเทศ (ซึ่งมักจะเป็นญี่ปุ่นหรือแอฟริกาใต้ เพราะที่นั่งคนขับอยู่ฝั่งขวา) และนำเข้ามาในรูปแบบของชิ้นส่วนอะไหล่ ครึ่งหน้าของรถ เบาะที่นั่ง ไฟท้าย และองค์ประกอบอื่นๆ เหล่านี้จะถูกส่งเข้ามาเพื่อประกอบเข้ากับรถบีเอ็มดับเบิลยูคันที่เข้ามาเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย (ส่วนใหญ่คือรถที่ถูกนำเข้ามานานแล้ว) ธนบดีจึงนับเป็นผู้โชคดีอย่างมาก ที่หาได้ทั้งบีเอ็มดับเบิลยูลักษณะที่ว่า ตลอดจนชิ้นส่วนรถ Alpina B9 ที่มีคนนำเข้ามาจากญี่ปุ่น
เขาเล่าว่า “ผมจับมาซ่อมใหม่ทั้งคัน
ทั้งงานสนิม งานทำสี แล้วก็วางช่วงล่างใหม่ เรียกว่าทำทุกอย่าง นอกจากตัวถังแล้ว บอกได้เลยว่ารถคันนี้ถอดแบบ Alpina B9 มาถึง 90%”
จุฬา แก้วคำแสน ผู้เป็นเจ้าของรถรุ่น E12 ที่ผลิตในปี 1975 ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกภายใต้ซีรีส์ 5 ในตำนาน ก็เป็นอีกคนที่ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนในการบูรณะรถและอัพเกรดให้เป็นสเปกรุ่นอัลพินา
“รถสมัยนั้นคุณภาพคนละเรื่องกับตอนนี้เลย ลักษณะการประกอบชิ้นส่วนภายในก็จะไม่มีแตกหรือหลุด ไม่มีเสียงรบกวนด้วย ผมใช้รถคันนี้ประจำทุกวันมาหลายปีแล้ว และก็ยังไม่เคยเจอปัญหาอะไรเลย” จุฬากล่าว
บางทีอาจเป็นเพราะว่ารถตระกูลนี้และอะไหล่สำรองของมันเป็นของหายากอย่างยิ่ง ในบรรดากลุ่มนักสะสมที่เราเจอจึงมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นเหมือนเป็นชุมชนเล็กๆ เจ้าของบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นปู่ดูจะรู้จักกันหมดและคอยช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี “นึกถึง E12 ต้องนึกถึงผม ผมสร้างเว็บบอร์ดและคอยให้คำปรึกษาคนที่ต้องการคำแนะนำ ทุกคนจะรู้จักผมในฐานะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ bmwe12thailand.com” จุฬาพูดเสริม ธนบดีเองก็มองว่ารถของเขาเป็นเสมือนตราเกียรติยศเช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า “รถคันนี้คือตัวตนของผม มันคือผม เพราะมีไม่กี่คนหรอกที่จะโชคดีหาได้ คนที่มีจะรู้จักกันหมดบนเฟสบุ๊ค เรามีไลน์กลุ่มกันด้วย แล้วทุกคนก็จะคอยช่วยกัน ขอแค่บอก”
เห็นจะจริงอย่างคอนเซ็ปต์ของ Vision 100 ที่ว่าอนาคตเป็นของยานยนต์ระบบไฟฟ้า
ไร้คนขับ อันที่จริง พิจารณาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เราเจอภัยแล้งหนักเป็นประวัติการณ์ หรือยอดผู้ประสบอุบัติเหตุบนถนนในสงกรานต์ที่ผ่านมาที่ตอกย้ำว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ความคิดที่ว่ารถยนต์ใช้น้ำมันจะถูกห้ามใช้ในอนาคตดูไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากว่าเรื่องราวของนักสะสมบีเอ็มดับเบิลยูชาวไทยจะบ่งบอกอะไรได้บ้าง
สิ่งนั้นก็คือบรรดาผู้คลั่งไคล้รถยนต์พร้อมที่จะบากบั่นเพื่อนำเครื่องยนต์ดุดันจากอดีตมาโลดแล่นต่อไปให้ได้เสมอ ดูเหมือนว่า แม้สมองอาจจะไม่เห็นด้วย แต่แค่แวบเดียวที่ได้ยลโฉม
บีเอ็มดับเบิลยู E9 คันเงาวับ หัวใจของพวกเขาก็จะกลับตะโกนว่า “ลุย!” ในทันใด
■