HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


Labor of Love

งานอดิเรกประเภทปั้นเซรามิกไปจนถึงการเขียนอักษรศิลป์ ได้กลายมาเป็นวิธีบำบัดเครียดขนานใหม่ของคนกรุงช่วงสุดสัปดาห์ ดังเห็นได้จากเวิร์กช็อปงานฝีมือที่กำลังเบ่งบานไปทั่วเมือง

     สำหรับมือสมัครเล่น เวลาปั้น 3 วันและเงินอีกราวๆ 6,000 บาท คือสิ่งที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับจานเซรามิกหน้าตาโย้เย้ชุดหนึ่ง ผลงานที่ได้เหล่านี้ อย่างดีก็จะมีเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์พร้อมตามอุดมคติศิลปะญี่ปุ่น และอย่างร้าย ก็จะหน้าตาใกล้เคียงงานฝีมือเด็กประถม กระนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ถือเป็นอุปสรรคต่อหนุ่มสาวชาวกรุงจำนวนมาก ผู้ยอมใช้วันสุดสัปดาห์มานั่งเรียนวิชาปั้นหม้อในเวิร์กช็อปของ ‘ชามเริญ สตูดิโอ’ หรือที่อื่นๆ อันที่จริง นับเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างเดียว สตูดิโอสอนงานฝีมือเหล่านี้มีมากกว่า 20 แห่ง ดูเหมือนคนกรุงจำนวนไม่น้อยหวังจะสัมผัสความสุขที่เรียบง่ายอีกครั้งผ่านการทำถ้วยกาแฟเซรามิกเคลือบ ผ้าพันคอมัดย้อม หรือการเขียนอักษรศิลป์บนโปสการ์ด มากกว่านั้น นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงพลังของแมกกาซีน ‘สโลว์ ไลฟ์’ โซเชียลมีเดีย ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งเริ่มเบื่อหน่ายกับสินค้าหน้าตาโหล และอยากรู้ที่มาของผลิตภัณฑ์ที่กินใช้อยู่ทุกวัน

ตอนนั้นนักเรียนศิลปะคนอื่นๆ คิดว่างานของเราเจ๋งดีเลยอยากลองทำดูบ้าง เราเลยตัดสินใจเปิดคลาสสอนทำเซรามิกเป็นครั้งแรกโดยใช้เทคนิครากุ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เพราะเราทำให้มันเข้าถึงได้ง่าย และแต่ละคนก็ได้เรียนรู้ทุกๆ ขั้นตอนในการทำ

จุดเริ่มต้นเล็กๆ

     เมื่อ 3 ปีก่อน ชามเริญ สตูดิโอได้เปิดทำการขึ้นบนถนนแพร่งสรรพศาสตร์ในละแวกเสาชิงช้า ในขณะที่ชั้นเรียนเครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่มักจะถูกผูกขาดโดยกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นแถวสุขุมวิทหรือไม่ก็นักเรียนศิลปะกลุ่มเล็กๆ ชามเริญจัดเป็นหนึ่งในสตูดิโอแห่งแรกๆ ที่สามารถดึงดูดบรรดาคนรุ่นใหม่งานรัดตัวให้เข้ามาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดสอนชั้นเรียนเซรามิกไม่ใช่สิ่งที่สตูดิโอตั้งใจไว้แต่อย่างใด

     ใหม่ ธนิตา โยธาวงษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งชามเริญ สตูดิโอเล่าว่า “เราไม่ได้ตั้งใจเปิดเวิร์กช็อปเลย เราแค่ถนัดงานเครื่องปั้นดินเผาและประติมากรรมตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย และก็แค่มองหาสถานที่จัดแสดงผลงาน เพราะนอกจากในมหาวิทยาลัยและเกาะเกร็ดแล้ว คนแทบไม่ได้สนใจศิลปะเซรามิกเท่าไหร่”

     ชามเริญ สตูดิโอประกอบไปด้วย 4 ชั้น ซึ่งแยกเป็นส่วนแกลเลอรี่ ส่วนเวิร์กช็อปส่วนสตูดิโอ และห้องจัดแสดงงาน โดยสไตล์งานของที่นี่จะเน้นเล่นสีสันสดใส ดูโมเดิร์นและมีชีวิตชีวา อันบ่งบอกถึงสุนทรียะแห่งความเยาว์วัยของสตูดิโอได้เป็นอย่างดี

     “ตอนนั้นนักเรียนศิลปะคนอื่นๆ คิดว่างานของเราเจ๋งดีเลยอยากจะลองทำดูบ้าง เราก็เลยตัดสินใจเปิดคลาสสอนทำเซรามิกเป็นครั้งแรกโดยใช้เทคนิครากุ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก เพราะเราทำให้มันเข้าถึงได้ง่าย และแต่ละคนก็ได้เรียนรู้ทุกๆ ขั้นตอนในการทำ”

     เครื่องรากุ (หรือรากุยากิ) ซึ่งแต่เดิมใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่นนั้น อาศัยการปั้นด้วยมือล้วนๆ ไม่ได้ขึ้นด้วยแป้นหมุน รูปลักษณ์ที่บิดเบี้ยวคือเสน่ห์ของเครื่องรากุ โดยส่วนผสมของน้ำเคลือบและการเผาด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดลวดลายชวนมองที่ไม่เคยซ้ำกัน

     “ใครจะไปคิดว่าสอนอะไรแบบนี้ในกรุงเทพฯได้ มันไม่มีตลาด จะมีก็แต่ชั้นเรียนมัดย้อมไม่กี่แห่งในต่างจังหวัด ตอนนั้นมีคนเข้าใจน้อยมากว่าครามคืออะไร” ใหม่กล่าว ศิลปะการย้อมครามซึ่งเปิดสอนที่ชามเริญด้วยนั้น คือการนำผ้าไปย้อมเย็นด้วยสีน้ำเงินจากธรรมชาติ เพื่อให้ได้สีอันเป็นเอกลักษณ์ที่คนมักจำได้จากเสื้อม่อฮ่อมของชาวนาทางเหนือ

     ชามเริญจะจัดชั้นเรียนในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้ง่ายกับนักเรียนที่เป็นพนักงานประจำ เวิร์กช็อปเหล่านี้จะมีผู้เรียนประมาณ 5-10 คนและใช้เวลา 1-3 วัน (โดยในกรณีหลังจะแบ่งเป็น 2 อาทิตย์) วิชาที่เปิดสอนมีตั้งแต่การทำเครื่องปั้นดินเผา การมัดย้อม ไปจนถึงการทำน้ำมันหอมระเหย โดยค่าใช้จ่ายเริ่มต้นจาก 1,800 บาท สำหรับเวิร์กช็อปเรียนลงสี เซรามิก 1 วัน อย่างไรก็ตาม กว่าชามเริญ สตูดิโอจะได้รับความนิยมอย่างในปัจจุบัน แมกกาซีน สโลว์ ไลฟ์และโซเชียล มีเดียถือเป็น 2 ปัจจัยที่มีส่วนช่วยอย่างมาก

มีอะไรใหม่ๆ ให้ทำ

     นานๆ ทีในบรรณพิภพจะปรากฏนิตยสารที่สามารถกำหนดรสนิยมความงามของคนในสังคมได้ อย่างเช่น Wallpaper* นิตยสารแนวมินิมอลลิสต์ของไทเลอร์ บรูเล่ หรือ Monocle นิตยสารเล่มต่อมาของเขาซึ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการทูต เมืองน่าอยู่ และงานลักชัวรีแบบทำมือ

     Kinfolk (ซึ่งมีคำโปรยว่า ‘Discovering New Things to Cook, Make and Do’) ก็คืออีกหนึ่งนิตยสารที่มีศักยภาพในระดับนั้น โดยนิตยสารรายไตรมาสฉบับนี้ก่อตั้งโดยนาธาน วิลเลียมส์ ชาวเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ต้องการผลักดันแนวคิดสโลว์ ไลฟ์และการหวนคืนสู่ธรรมชาติ โดยผ่านการใช้ภาพพอร์เทรตในแสงธรรมชาติ และการถ่ายรูปอาหารลงบนพื้นที่เป็นเพียงแผ่นไม้เก่าๆ ในเวลาเพียง 5 ปีนับจากที่เปิดตัว คินโฟล์คได้เป็นมากกว่านิตยสารและกลายเป็นชื่อไลฟ์สไตล์ โดยปัจจุบันคินโฟล์คได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาจีน รัสเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทย ชั้นแมกกาซีนที่วางขาย คินโฟล์คใน Asia Books ถึงขนาดกินที่ส่วนที่เคยเป็นของโมโนเคิลมาก่อนไปเรียบร้อยแล้ว

     โดยอาศัยแรงส่งของโซเชียล มีเดียอย่าง Pinterest และ Instagram (ทั้งคู่เปิดตัวในปี 2553) คำว่า ‘แนวคินโฟล์ค’ ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเส้นใยธรรมชาติ ของทำมือ และวัตถุดิบจากท้องถิ่น อิทธิพลของ คินโฟล์คอย่างที่ว่า แพร่กระจายไปตามวงการศิลปะและเวิร์กช็อปงานฝีมือทั่วโลก ก่อนจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในที่สุด

     ใหม่ แห่งชามเริญ สตูดิโอกล่าวว่า “มันเหมือนกับแฟชั่นเลย พลังของโซเชียล มีเดียมีส่วนอย่างมาก พวกภาพวิถีชีวิตแบบสโลว์ ไลฟ์ แบบฮิปสเตอร์ที่แชร์ๆ กันทำให้คนเริ่มอยากทำงานฝีมือ และคนส่วนใหญ่ก็ติดต่อเราผ่านโซเชียล มีเดียนี่แหละ”

     Olive Creative Laboratory ที่เปิดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่นำเสนอชั้นเรียนงานฝีมือหลากหลายในห้องซึ่งมีทั้งหน้าต่างสูงจรดเพดานและผนังอิฐสีขาวตามตำรับ คินโฟล์คที่ดี โดยเพียงผูกผ้ากันเปื้อนและก้าวเข้าไปในห้อง ผู้เรียนก็จะสามารถเรียนวาดภาพสีน้ำ ผสมเบลนด์กาแฟ ทำมงกุฎดอกไม้ หรือเรียนวิธีถ่ายภาพให้สวยด้วยไอโฟน ร่วมไปกับบรรดาเด็กสาววัยรุ่นร่วมชั้นเรียนอื่นๆ ได้

     “นับตั้งแต่มีพินเทอเรสและอินสตาแกรม ก็มีวิธีทำอะไรเจ๋งๆ ให้เราหาดูได้ง่ายๆ เต็มไปหมด คนเลยได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน แล้วก็เริ่มอยากลองทำบ้าง ยิ่งพอพวกเขาแชร์ลงบนโลกออนไลน์ คนก็ยิ่งให้ความสนใจมากขึ้นไปอีก” เต้ จุฑาภัทร บันไดเพชร หนึ่งใน ผู้ก่อตั้งโอลีฟ ครีเอทีฟ แล็บบอราทอรีกล่าว

     แม้ชื่อวิชาที่สอนอาจฟังเหมือนเช็กลิสต์กิจกรรมมาตรฐานของฮิปสเตอร์ แต่โอลีฟ ครีเอทีฟ แล็บบอราทอรี ได้ทุ่มเทกับคุณภาพของผู้สอนอย่างเต็มที่ โดยจุฑาภัทรได้ชักชวนวิทยากรอย่าง เบนซ์-ธนชาติ (ผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ New York 1st Time) ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจาก Roastology และนักวาดภาพเปี่ยมพรสวรรค์ UNTITLED29Project ให้มานำเวิร์กช็อปของเธอ

     กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า F.A.C.T. ซึ่งย่อมาจาก Food, Art, Culture และ Travel ก็กำลังรวบรวมบุคคลมีชื่อเสียงจากสาขาต่างๆ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่หนุ่มสาวชาวกรุงด้วยเช่นกัน ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 F.A.C.T. Collective ได้จัด ‘อาหารค่ำแบบคินโฟล์ค’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยในขณะที่อาหารค่ำมื้อดังกล่าวมีภาพลักษณ์และอารมณ์แนวคินโฟล์คทุกอย่าง กาย ไลยมิตรวิจารณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งย้ำว่างานนี้มีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าแค่ความสวยๆ งามๆ

     “เราเปิดเวิร์กช็อปควบคู่ไปกับการเลี้ยงมื้อค่ำ ซึ่งไม่ได้เน้นแค่การลงมือทำเท่านั้น แต่ยังเน้นกระบวนการคิดด้วย เช่น ตอนชิมและชงชา เราก็จะพูดกันจนถึงส่วนผสมและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมด เราคิดว่านี่คือความต่างของเราจากชั้นเรียนมัดย้อมหรือเวิร์กช็อปอื่นๆ ในตอนนี้” กายกล่าว

     ทุกๆ 2 เดือนแฟกท์ คอลเล็กทิฟ จะจัดทริปที่เรียกว่า F.A.C.T. Experience หรือ ‘การเรียนรู้เชิงประสบการณ์’ ไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ทริปล่าสุดที่อุดรธานี ซึ่งผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสลิ้มรสวัตถุดิบจากท้องถิ่นและลองทำเวิร์กช็อปงานหัตถกรรมอีสานไปตลอดทาง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเทคนิคต่างๆ เพราะการเรียนรู้จากท้องถิ่นและการกลับมากินของในท้องถิ่นนี้เองคือสิ่งที่ถือกันว่าเป็นหัวใจของคินโฟล์ค

ในวันหนึ่ง คำว่า ‘แนวคินโฟล์ค’ อาจกลายเป็นอดีต แต่บรรดาผู้จัดเวิร์กช็อป งานฝีมือของกรุงเทพฯ ต่างเชื่อว่าความอยากปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และลงมือทำมากกว่าซื้อจะไม่เลือนหายไปง่ายๆ

สร้างเอกลักษณ์ความเป็นไทย

     ในวันหนึ่ง คำว่า ‘แนวคินโฟล์ค’ อาจกลายเป็นอดีตไป แต่บรรดาผู้จัดเวิร์กช็อปงานฝีมือของกรุงเทพฯ ต่างเชื่อว่าความอยากปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และลงมือทำมากกว่าซื้อจะไม่เลือนหายไปง่ายๆ

     “เวิร์กช็อปศิลปะและงานฝีมือกำลังโต เพราะชีวิตคนเราทุกวันนี้มีแต่ของผลิตจากโรงงาน และของที่ผลิตทีละมากๆ อย่างนั้นกลายเป็นของน่าเบื่อ งานฝีมือจึงเข้ามาตอบโจทย์คนที่ต้องการอะไรที่แตกต่างออกไป” กายกล่าว

     เวิร์กช็อปทำมือเหล่านี้ยังช่วยทำให้คนเริ่มรู้ถึงความเป็นมาของสิ่งต่างๆ ที่เราบริโภค ซึ่งถือว่าจำเป็นขึ้นทุกที โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงข้อเท็จจริงอันยากจะเพิกเฉยว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด และมีปัญหาแรงงานทาส รวมถึงการใช้สารกันบูดในปลาและผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ

     แอน จันทน์สุภา ชมกุล คือผู้ก่อตั้ง Simply Living (นิตยสารที่จะตีพิมพ์ก็ต่อเมื่อได้ยอดสั่งซื้อขั้นต่ำตามปรัชญาสโลว์ ไลฟ์ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ซึ่งต่อมาเธอต่อยอดให้เป็น Simply Organics เวิร์กช็อปที่สอนทำผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่นแชมพู สบู่ และผ้ามัดย้อม

     แอนกล่าวว่า “เราอยากช่วยให้คนใช้ชีวิตแบบปลอดสารพิษจริงๆ ไม่ใช่แค่อ่าน หลายคนเรียน เวิร์กช็อปเพื่อผ่อนคลาย อย่างเช่นชั้นเรียนงานฝีมือ ที่ต้องใช้สมาธิสูง จำพวกเย็บปักถักร้อย วาดสีน้ำ แต่ก็เริ่มมีคนบางกลุ่มสนใจเวิร์กช็อปเพื่อทำเป็นธุรกิจเหมือนกัน”

     ธุรกิจของคลื่นผู้ประกอบการลูกใหม่ที่มีใจรักงานฝีมือนั้น เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ร้านกาแฟที่มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไปจนกระทั่งศิลปินอาหาร หรือ ‘ฟู้ด อาร์ติซาน’ ในผ้ากันเปื้อนผืนเนี้ยบ คนรุ่นใหม่เหล่านี้ใช้เรื่องความยั่งยืนและความเป็นงานฝีมือเป็นจุดขาย ไม่ว่าจะขายโดยผ่านตลาดสุดสัปดาห์หรืออินสตาแกรม จากผลสำรวจของ The Total Retail 2559 ซึ่งจัดทำโดย Price Waterhouse Cooper เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 ระบุว่า กว่า 51% ของนักช็อปออนไลน์ในประเทศไทยซื้อสินค้าผ่านการติดต่อโดยตรงกับผู้ขายบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งนำหน้าอินเดีย (32%) มาเลเซีย (31%) และจีน (27%) อยู่ไกลลิบ

     ณัฏฐธิดา โต๊ะชูดี ดีไซน์เนอร์วัย 27 ปี เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายูนิเซ็กส์ ซึ่งเริ่มขายในอินสตาแกรมเมื่อไม่นานมานี้อย่าง Seeker x Retriever ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่ชามเริญ สตูดิโอเพื่อเรียนการทำมัดย้อมธรรมชาติจากใบไม้ เปลือกหอย และเปลือกไม้

     “แนนคิดว่ามันเหมาะกับตัวเราสุดๆ เราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่นำมาประยุกต์กับแบรนด์ของตัวเองได้ พอไปเข้าเวิร์กช็อปแล้ว เราก็กลับมานั่งสับกากมะพร้าวบนดาดฟ้าที่บ้านเอง ตอนนี้ตลาดอาจจะยังเป็นกลุ่มเฉพาะมาก แต่ก็กำลังค่อยๆ ขยาย เดี๋ยวนี้คนไม่ได้อยากซื้อแค่ของสวยๆ งามๆ อย่างเดียว เขาอยากให้มันมีเรื่องราว ฉะนั้น เดี๋ยวนี้พูดว่าผ้าเราเป็นผ้าไทยไม่พอ แต่ถ้าบอกว่าผ้าเราย้อมในบ่อน้ำพุร้อนที่ลำปาง คนถึงได้เริ่มสนใจ” แนนพูดไปหัวเราะไป

     ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงขอเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมกิจกรรมมือเปรอะไปพร้อมกับบรรดาชาวออฟฟิศหัวศิลป์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์กล่องลายดอกไม้ที่ Sugar & Spice Club ทำซิลค์สกรีนบนดินเหนียวที่ Lamun Lamai หรือการจัดสวนจิ๋วในขวดแก้วที่ Tiny Tree ทั้งนี้ แม้เราจะไม่สามารถรับประกันได้ว่างานอดิเรกใหม่จะสามารถเบ่งบานเป็นธุรกิจอินสตาแกรมที่อยู่รอดในยุคสมัยของรสนิยมอันผันเปลี่ยนรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งว่าผลงานชิ้นเอกชิ้นแรกจะเรียกยอดไลค์ได้หลายร้อย แต่อย่างน้อย สีหน้าเปื้อนยิ้มของมือสมัครเล่นคนอื่นๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งเตือนใจคุณได้ว่าสิ่งตอบแทนที่ดีที่สุดจากการทำงานฝีมือนั้น ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์แต่อย่างใด

Essentials


ชามเริญ สตูดิโอ


95 ซอยแพร่งสรรพศาสตร์ ถนนตะนาว กรุงเทพฯ
โทร. 080-587-6331
www.fb.com/charmlearnstudio95

F.A.C.T. Collective

136 ซอยรามอินทรา 52/1 ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ
โทร. 081-750-2261
www.factcollective.com

Olive Creative Laboratory

3 ชั้น 3 เวิ้งโบราณ ซอยเอกมัย 10 ถนนสุขุมวิทกรุงเทพฯ
โทร. 084-164-4056
www.fb.com/olivelaboratory

Seeker x Retriever

โทร. 093-924-6247
www.seekerxretriever.com

Simply Organic

144/25 ซอยลาดพร้าว 48 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ
โทร. 096-545-7566
www.fb.com/simplyorganicsBKK