SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Isaan Redux
เหล่านักเที่ยวตัวจริงเบนเข็มเข้าสู่อีสาน เมื่อคลื่นลูกใหม่แห่งที่ราบสูงพร้อมใจพลิกโฉมบ้านเกิดให้เต็มไปด้วยโรงแรมบูทีค หลังงาม ร้านอาหารชั้นยอด และคาเฟ่แสนรื่นรมย์
เดี๋ยวนี้มีคนรุ่นใหม่ คนที่มี ไอเดียดีๆ ที่รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับบ้านเกิด เพราะเบื่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ พวกนี้มักจะเดินทางมาเยอะ แล้วก็อยากกลับมาหาครอบครัว
ในอดีต สเตฟาน ชุนกามีอาชีพที่คนหลายคนคงได้แต่ฝันถึง นั่นคือ เขามีหน้าที่ต้องไปพักตามบรรดาโรงแรมสุดหรูชั้นนำของโลกในฐานะแขกลึกลับเพื่อจะประเมินว่าโรงแรมนั้นๆ ควรค่าแก่การเข้าร่วมเป็นโรงแรมหรูในกลุ่ม Relais & Châteaux หรือไม่ ในปี 2550 สเตฟานได้เดินทางไปทั่วภาคอีสาน และเล่าถึงประสบการณ์นั้นในภายหลังว่า “ต้องขับรถเยอะมากๆ แล้วคนขับก็หลงทางอยู่นั่นแหละ” แต่เมื่อเขาเข้ามาถึงถนนที่มีต้นไม้สูงตระหง่านขนาบสองข้างทาง ที่สุดถนนนั้นเอง เขาก็ได้พบโรงแรม ‘สุพรรณิการ์ โฮม บูติค ไฮอะเวย์’ โรงแรมบูติคขนาดเล็กที่มีห้องพักแบบวิลล่าสามหลังท่ามกลางสวนเมืองร้อนที่จัดแต่งอย่างมีศิลป์ จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ จำนวนคนที่มาพักที่สุพรรณิการ์ โฮมได้เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 40 เป็นถึงร้อยละ 65 ซึ่งยังไม่นับรวมงานแต่งและงานเลี้ยงอีกไม่น้อยที่จัดขึ้นที่นี่อีกด้วย ดูเหมือนว่าแม้อีสานจะค่อนข้างเงียบและอยู่นอกทางท่องเที่ยวหลักสักหน่อยแต่เห็นได้ชัดว่าสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านทุ่งนาอีสาน ตั้งแต่บาริสตาสาวในอุดรธานีที่ฝึกวิชามาจากนครซิดนีย์ ไปจนถึงเชฟหนุ่มในโคราชที่จบจากสถาบัน Le Cordon Bleu นี่คืออีสานยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยคนพื้นเพผู้สามารถนำความเท่ของท้องถิ่นผสานเข้ากับไอเดียจากต่างแดนได้อย่างลงตัว
ความสดใหม่ในแดนไกล
ด้วยเนื้อที่กว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรเยอะที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีภาษาเป็นของตัวเอง ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาลาว และมีมรดกทางศิลปะที่สืบย้อนไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดำรงผ่านยุครุ่งเรืองของอาณาจักรเขมร ก่อนจะกลั่นตัวมาเป็นสถาปัตยกรรมอันสง่างามที่ปรากฏเป็นวัดลาวและไทย จริงอยู่ว่าภาคอีสานซึ่งไม่ติดทะเล ย่อมไม่อาจแข่งขันในเรื่องชายหาดกับภูเก็ตและสมุยได้ แต่ถ้าใครกำลังตามหาทัศนียภาพชนบทอันงดงามล่ะก็ ต้องถือว่าภาคอีสานถูกเชียงใหม่บดบังรัศมีอย่างไม่สมควรมานานเกินไปแล้ว
ที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถนนหนทางที่ไม่ค่อยดีนักของอีสานเอง เมื่อสองปีที่แล้ว เนาวรัตน์
คู่วัจนกุล เจ้าของร้านกาแฟ Dose Espresso
ในจังหวัดอุดรธานี ได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดหลังจากที่ได้ทำงานอยู่หลายปีในร้านกาแฟและโรงคั่วที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของซิดนีย์ซึ่งถูกยกให้เป็นเมืองหลวงกาแฟของประเทศออสเตรเลีย เนาวรัตน์บอกว่า “พูดตรงๆ นะ ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ ถนนแทบไม่ได้เปลี่ยนไป
เท่าไหร่เลย จะไปไหนมาไหนในอีสานนี่ยังยากมากๆ” หรือที่ธนฤกษ์ เจ้าของสุพรรณิการ์ โฮม สรุปง่ายๆ ว่า “จะไปไหนแต่ละที มีขับรถ 250 กิโล”
แต่นี่ไม่ใช่สาเหตุที่ควรเมินอีสาน เพราะในขณะที่ความเจริญอันรวดเร็วทำให้เชียงใหม่สูญเสียเสน่ห์ความ ‘เนิบ’ ของล้านนาไปไม่น้อย ถนนสองเลนของอีสานนี้เองกลับเป็นสิ่งที่ทำให้อีสานยังคงความสดใหม่ไร้รอยเหยียบยํ่าไว้ได้
สเตฟาน เล่าให้เราฟังถึงความประทับใจแรกที่มีต่อสุพรรณิการ์ โฮมว่า “นึกภาพดูนะ คุณเดินเข้ามาในสวนใหญ่ๆ ปากทางเข้าขอนแก่น แล้วคุณแม่ของธนฤกษ์
ก็เดินเข้ามาต้อนรับคุณ ทำพิธีชงชาอยู่ที่ใต้ต้นไทรบนระเบียงไม้สักผืนโตๆ มันรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน อยู่กับเพื่อนๆ แล้วในอีสานนี่มันไม่มีรถทัวร์จีนหรือรัสเซียมาลงหรอก”
เนื่องด้วยสุพรรณิการ์ โฮมมีบ้านพักวิลล่าเพียงสามหลังเท่านั้น จึงจัดว่าห่างไกลจากการท่องเที่ยวแบบ ‘mass tourism’ อย่างลิบลับ นอกเหนือจากสวนสวย ซึ่งเป็นสวนมะม่วงสอดผสานไปกับสวนอังกฤษที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่ม สุพรรณิการ์ โฮมยังมีสถานปฏิบัติธรรมอันกว้างใหญ่ และมักจัดทริปเยี่ยมชมแหล่งทำไหมที่อยู่ในละแวกใกล้ๆ กันเป็นประจำอีกด้วย
ธนฤกษ์ ผู้รวมกลุ่มตั้ง Isan Boutique Collection หรือ กลุ่มโรงแรมหรูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีสมาชิกในปัจจุบันประกอบไปด้วยสุพรรณิการ์ โฮม ‘แม่นํ้าโขง วิลล่า’ และ ‘ภูนาคำ รีสอร์ท’ บอกว่า “คนเริ่มเลือกที่จะมาเที่ยวที่นี่แทนเชียงใหม่แล้ว เพราะมันยังสด ยังไม่ชํ้า”
ด้วยสถานที่ตั้งที่อยู่ห่างขอนแก่นไปอีกถึง 200 กิโลเมตร ในจังหวัดเลย ภูนาคำ รีสอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางเนินเขาเตี้ยๆ ที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งนาจัดเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงโดยแท้จริง ทั้งนี้ แม้ว่าจังหวัดเลยจะมีเที่ยวบินมาลงจากกรุงเทพฯ ในแต่ละวันเพียงสามเที่ยวบิน เนื่องจากเลยเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุดในประเทศไทย แต่เลยก็ไม่เคยขาดแคลนเสน่ห์แห่งท้องถิ่น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นที่ภูนาคำ รีสอร์ทนี้จะมีควายอยู่สองตัว ซึ่งคอยเดินอ้อยอิ่งไปทั่วบริเวณรีสอร์ทพร้อมกับชมทัศนียภาพของหุบเขาด่านซ้าย (เช่นเดียวกันกับแขกผู้สามารถเพลิดเพลินกับวิวอันผ่อนคลายนี้ระหว่างจิบเบียร์สดเย็นๆ ในสระว่ายนํ้าของรีสอร์ท)
เทศกาลผีตาโขนเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในจังหวัดเลย จะมีการทำหน้ากากนี้กันตลอดทั้งปี ดังนั้น ถ้าเดินเข้าไปเที่ยวเล่นตามหมู่บ้าน ก็จะมีโอกาสได้เห็นชาวบ้านนั่งตกแต่งทาสีหน้ากากเหล่านี้ ซึ่งทั้งชวนขนลุกขนพองและงามประหลาดในคราวเดียวกัน ในละแวกใกล้ๆ กัน มีภูเรือและภูหลวง ซึ่งสามารถใช้เป็นที่เดินขึ้นเขาเบาๆ และชมภาพจับใจของทุ่งนาผืนงามเบื้องล่างได้ แต่ถ้ากลัวเหนื่อย การไปเที่ยวไร่องุ่น Chateau de Loei ในช่วงเก็บเกี่ยวเดือนกุมภาพันธ์ก็สนุกไม่หยอก เพราะถึงแม้ว่าไวน์องุ่นที่ไร่นี้จะคุณภาพไม่ถึงขั้น
กรองค์ ครู คลาเซ (Grand Cru Classé) หรือไม่สามารถแม้แต่แข่งกับไวน์เขาใหญ่ แต่สถานที่ถือว่าสวยงามราวกับ
ได้เห็นเศษเสี้ยวดินแดนฝรั่งเศสในไทยจริงๆ
ลี้ภัยจากเมืองกรุง
ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชอบเที่ยวแบบจุดต่อจุดไปเรื่อยๆ ให้ทั่วอีสาน เช่นพักในขอนแก่นสองคืน ต่อในเลยอีกสามคืน แล้วขับรถเอ้อระเหยลงมาตามแม่นํ้าโขงจนไปจบที่อุดรธานี นักท่องเที่ยวไทยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาขับรถนานหลายชั่วโมงอย่างนั้น เพราะถ้านักท่องเที่ยวไทยใช้วิธีไปเที่ยวแค่ครั้งละหนึ่งจังหวัด ก็จะสามารถนั่งเครื่องบินไปลงที่ขอนแก่น อุดรธานี หรืออุบลราชธานี แล้วก็บินกลับได้ภายในเสาร์อาทิตย์เลย ด้วยเหตุนี้ ธนฤกษ์บอกว่าสัดส่วนแขกที่มาพักได้เปลี่ยนไป จากที่ร้อยละ 70 เคยเป็นคนต่างชาติ ตอนนี้ร้อยละ 70 ของจำนวนแขกกลายเป็นคนไทยไปแล้ว
ธนฤกษ์ บอกว่า “ขอนแก่นมีไดโนเสาร์ มีผ้าไหม แต่ของกินนี่แหละดึงดูดที่สุด อาหารอีสานอย่างไก่ย่างนี่ขายดีมาก แล้วก็มีพวกไส้กรอกอีสาน หมูยอ หรือหมํ่า”
วิธีลองอาหารอีสานที่ดีที่สุด ก็คือการไปเดินเล่นตามแนวบึงแก่นนครเหมือนคนท้องถิ่น ซึ่งมักจะมีบรรยากาศเหมือนงานวัดอยู่ตลอดเวลา เพราะมีวัดหนองแวงเมืองเก่าตั้งสูงตระหง่านอยู่ใกล้ๆ อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้ขอนแก่นยังมีร้านรวงเท่ๆ เปิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย แน่นอน บางส่วนอาจเป็นร้านหน้าเดิมของกรุงเทพฯ เข้ามาเปิดสาขา เช่น ร้านเบียร์ HOBS แต่ว่าส่วนใหญ่ ร้านกาแฟที่เปิดในระยะหลัง มักจะเป็นร้านของคนขอนแก่นเอง เช่น ร้าน ‘คอฟฟี่ เด้อ หล่า’
โดยปรากฏว่าองค์ประกอบของการตกแต่งแนวโมเดิร์น
ยุคกึ่งศตวรรษผนวกกับบาริสต้าในผ้ากันเปื้อนสีขาวของ
คอฟฟี่ เด้อ หล่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนร้านต้องเปิดสาขาที่สองในขอนแก่น และมีแผนที่จะเปิดอีกสาขาหนึ่งในอุดรธานี
ธนฤกษ์ ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหานครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ลูกอีสานเพียงคนเดียวที่กลับบ้านเกิดพร้อมด้วยความคิดสดใหม่จากต่างแดน เชฟบุ๋น-วรงค์
เหล่าไพบูลย์ ก็เป็นอีกคน ที่ได้ไปเรียนทำอาหารที่สถาบัน
เลอ กอร์ดอง เบลอของโรงแรมดุสิตธานี ก่อนเข้าทำงานในโรงแรมดับเบิลยู กรุงเทพ และโรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท
เชฟบุ๋นได้กลับขอนแก่นมาเป็นเชฟทำอาหารไทยและเทศ
ที่ร้านอาหาร The Concept Aromatic Thai Cuisine
ร่วมกับโชติ วงศ์สามัญ เมนูเด็ดของร้านนี้ก็มี แกงอ่อมเนื้อ ลาบปลาดุก และเมนูฟิวชั่นอย่างขาหมูทอดนํ้าปลา ที่ร้านยังมีเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมากให้เลือกดื่ม ซึ่งจะคอยเปลี่ยนเอาตัวใหม่ๆ เข้ามาอย่างสมํ่าเสมออีกด้วย
ถ้าเบื่อส้มตำแล้ว อีสานก็มีอย่างอื่นให้ลอง เช่น
รถฟู้ดทรัค Blue Jays Burger ของศุภชัย ศรีสุทโธ
ที่เรียกได้ว่าอร่อยสูสีกับ Daniel Thaiger ของกรุงเทพฯ โดยหลังจากศุภชัยเรียนเป็นเชฟที่ George Brown College ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ก็ได้ทำงานในครัวร้านอาหาร
อิตาเลี่ยนและฝรั่งเศสมากมายอีกเป็นเวลาถึงเจ็ดปี
เขากล่าวว่า “วัฒนธรรมการกินของขอนแก่นเปลี่ยนไปมากจริงๆ คนรุ่นใหม่เริ่มตื่นตัวกับกระแสอาหารต่างประเทศ และชอบมีประสบการณ์การกินใหม่ๆ ลูกค้าของผมไม่ได้มาแค่เพื่อรับประทานอาหาร แต่เพราะหลายคนเรียนจบนอก ก็เลยมาเพื่อพูดคุย
แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันด้วย”
คนรุ่นใหม่ไฟแรง
ในขณะที่ขอนแก่นเริ่มสุกงอมในฐานะเมืองหลวงของภาคอีสานอย่างเต็มตัว อุดรธานีก็กำลังกลายเป็นเมืองกำลังโต (boom town) ของภูมิภาคนี้ เนื่องจากอุดรธานี เป็นประตูสู่ลาว อุดรธานีจึงมีนักธุรกิจและเจ้าของกิจการนักสัญจรเป็นจำนวนมากที่ได้กลับบ้านเกิดมาพร้อมความคิดใหม่ๆ
ร้าน ‘ซาหมวย & Sons’ ในอุดรธานี เคยเป็นร้านตัดเย็บมาก่อนจะผันตัวเป็นร้านอาหารเล็กๆ สองพี่น้องเจ้าของร้าน วีระวัฒน์ และวรวุฒิ
ตริยเสนวรรธน์ เคยมีประสบการณ์ทำงานในครัวดังเมืองซานฟรานซิสโก อย่าง Commonwealth (ซึ่งเพิ่งเสียดาวมิชลินไปในปีนี้) และร้าน Osha (ที่มีสาขาในกรุงเทพฯ ด้วย) เมนูของร้านนี้เต็มไปด้วยอาหารไทยเก่าแก่ที่ปรุงใหม่ด้วยความสร้างสรรค์ส่วนตัว เช่น แสร้งว่าและปลาร้าทรงเครื่อง
วีระวัฒน์ หรือเชฟหนุ่ม ซึ่งเคยผ่านงานที่ร้าน ‘นํ้า’ และร้าน ‘โบ.ลาน’ ในกรุงเทพฯ อยู่หลายเดือน บอกว่า “อุดรธานีเปลี่ยนไปเยอะมาก เดี๋ยวนี้มีคนรุ่นใหม่ คนที่มีไอเดียดีๆ ที่รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับบ้านเกิด เพราะเบื่อใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ พวกนี้มักจะเดินทางมาเยอะแล้วก็อยากกลับมาหาครอบครัวสักที”
ร้านซาหมวยฯ เปลี่ยนเมนูอาหารทุกๆ 4 เดือน ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรขายในตลาดสด ผลลัพธ์ที่ได้ก็มักจะแหวกแนว เช่น แหนมหมูโรยหน้าด้วย
ไข่เค็มแช่แข็งขูดฝอย ซึ่งให้ความรู้สึกราวกับชีส
“คนท้องถิ่นไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าเราทำอะไรกันอยู่ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะ มีคนกรุงเทพฯ มาร้านเราด้วย เพราะเขาได้ยินคนพูดถึงเรากันแบบปากต่อปากในโซเชียล มีเดีย” เชฟหนุ่มกล่าว
“อาหารของเราเป็นอาหารร่วมสมัย จริงๆ
ทุกอย่างก็คือเมนูอาหารไทยโบรํ่าโบราณนั่นแหละ
เหมือนร้านนํ้า หรือโบ.ลาน แต่ผมว่าเราตีความเมนูในแบบของตัวเองด้วย การอนุรักษ์วัฒนธรรมก็ดีอยู่แล้ว แต่ผมก็อยากมีความสุขกับงานของผมด้วย ผมจะถามตัวเองตลอดว่า จะดัดแปลงมันอย่างไรให้มันดีขึ้น อร่อยขึ้น”
สองพี่น้องคู่นี้ไม่ได้เป็นคนเดียวในอุดรธานีที่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรแหวกๆ เนาวรัตน์ คู่วัจนกุล
ก็เช่นกัน เธอเติบโตในอุดรธานี ทำงานที่บริษัทซีพี
ก่อนที่จะลาออกเพื่อไปเรียนภาษาที่เมลเบิร์น
เธอตกหลุมรักกับวัฒนธรรมกาแฟที่นั่นและหลังจากที่ได้ทำงานที่ร้านโดส เอสเปรสโซ อันโด่งดัง
ก็ได้ตัดสินใจนำแนวคิดของร้านกลับมาทำที่ประเทศไทยบ้างในชื่อเดียวกัน
เนาวรัตน์บอกว่า “อีสานกำลังอยู่ในขาขึ้นมากๆ ถ้าเราเปิดร้านก่อนหน้านี้สัก 7 ปี รับรองเจ๊ง แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คนเริ่มรู้แล้วว่ากาแฟที่ดีมันเป็นยังไง ตั้งแต่เราเปิดร้านมา 2 ปีกว่าๆ ก็เห็นมีร้านกาแฟเปิดใหม่ 10 กว่าที่ได้ เจ้าของร้านก็อายุราวๆ 30 ปี หรือน้อยกว่านั้น ร้านโปรดของเราก็มี Wood You Like Cafe ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ขายของทำมือด้วย และร้าน ‘สุนทรี’ ที่ขายของตกแต่งบ้าน ในอนาคต อีสานสู้เชียงใหม่ได้แน่นอน อีสานเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง”
‘บ้านระรี เกสต์เฮาส์’ ซึ่งได้รับการออกแบบโดยนักสถาปนิกผู้เป็นเจ้าของ นับเป็นตัวอย่างที่แสดงความมั่นใจในเอกลักษณ์ของตัวเองของเมืองอุดรธานีได้เป็นอย่างดี เกสต์เฮาส์สไตล์มินิมอลแห่งนี้เต็มไปด้วยสัมผัสแห่งอีสาน ตั้งแต่หมอนผ้าขาวม้า ไปจนถึงกระติ๊บข้าวเหนียว นอกจากนี้ฤกษ์ เชาวนะกวี เจ้าของบ้านระรี ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาคอีสานอีกด้วย ซึ่งทำให้การมาพักที่นี่ยิ่งคุ้มเป็นสองเท่า โดยเฉพาะเมื่อฤกษ์มีธุรกิจทัวร์จักรยานชื่อ Otto ซึ่งพร้อมจัดโปรแกรมขี่จักรยานไปจนถึงประเทศลาว
พบกับเหล่าฮิปสเตอร์
แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการปั่นจักรยานแล้ว
เมืองหลวงในด้านนี้ของอีสานดูเหมือนจะต้องยกให้โคราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคาเฟ่จักรยานผุดขึ้น
ราวเห็ดหลังฝน หนึ่งในคาเฟ่เหล่านั้นคือร้าน Fika ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านโมเดิร์นหลังงาม ร้านนี้เป็นทั้งคาเฟ่ โคเวิร์คกิ้งสเปซ และเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยาน Tokyobike สุดฮิป นอกจากนี้ร้านฟิก้ายังเปิดบ้านให้เป็นตลาดของทำมือทุกๆ เดือนอีกด้วย
เดินลงมาทางทิศใต้ 30 นาทีฝั่งในคูเมือง ก็จะเจอร้าน Yellow Pumpkin หรือแปลเป็นไทยว่าฟักทองเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในชีสเค้กและมัฟฟินของคาเฟ่เล็กๆ แห่งนี้ นอกจากนี้ ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการขี่จักรยานมากพอๆ กัน เห็นได้จากที่ทางร้านจัดงานเสวนาพูดคุยและกิจกรรมขี่จักรยานกลุ่มอยู่เป็นประจำ และบางครั้งยังมีจัดแสดงศิลปะแบบชั่วคราวอีกด้วย
มารุต ชุ่มขุนทด เจ้าของร้าน Class Cafe’ ร้านกาแฟประจำท้องถิ่นที่ใช้เมล็ดกาแฟทั้งที่ผลิตในไทยและนำเข้า ได้พูดถึงวัฒนธรรมกาแฟในเมืองโคราชว่า “ถ้ามองย้อนกลับไป 3 ปี ไม่มีร้านกาแฟร้านไหนที่เราผูกพันด้วยเลย มีแต่สตาร์บัคส์แพงๆ ในห้าง ซึ่งกว่าจะเปิดร้านก็ปาเข้าไป 10 โมงแล้ว ผมอยากที่จะสร้างวัฒนธรรมกาแฟด้วย ซึ่งต้องมาจากร้านชนิดที่เปิดตอน 7 โมงเช้าและเสิร์ฟกาแฟคุณภาพดีๆ พวกนักธุรกิจเด็กๆ นี่ชอบกันมาก ตอนเช้าร้านเราอยู่เฉยไม่ได้เลย คนแน่นเอี้ยดตลอด”
‘อยู่เฉยไม่ได้’ ดูจะเป็นวลีที่บรรยายเมืองโคราชได้อย่างเหมาะเจาะจริงๆ เห็นได้จากตลาดนัด
ที่จัดขึ้นในสัปดาห์แรกของทุกเดือนอย่าง
Art & Friends Market ที่จะโยกย้ายเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ทั่วเมือง เพื่อขายของทำมือท้องถิ่น อย่างเช่น ของประดับบ้านที่ทำมาจากไม้ เครื่องเซรามิก และผ้ามัดย้อมจากร้าน Baan Baan Décor
แต่กระแสฮิปสเตอร์ก็มีจุดต้องระวังเหมือนกัน เช่น C’est Si Bon ในโคราชนั้นเป็นคาเฟ่ที่น่ารักสวยงามทุกอย่างด้วยแผ่นกระเบื้องผนังสีขาวแบบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์ก โคมไฟแบบโรงงานอุตสาหกรรมชิคๆ และเมนูหน้าตาดีอย่างเป็ดกงฟีต์ และไข่เบเนดิกต์ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าคนที่มาที่นี่จะได้รสของกรุงเทพฯ มากกว่ารสอีสาน
จริงอยู่ว่าอีสานไม่จำเป็นต้องใช้แต่ผ้าขาวม้ากับข้าวเหนียวรํ่าไปเพื่อแสดงความเป็นอีสาน
แต่อีสานก็จำเป็นต้องหาวิธีรักษาและแสดงตัวตนของตัวเองเอาไว้ให้ได้ หากหวังจะดึงดูดนักท่องเที่ยว
ที่ชื่นชอบเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต่อไป
“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าตัวตนของอีสานจะออกมาเป็นอย่างไร ผมถามตัวเองตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่เจอคำตอบเลย” เชฟหนุ่ม เจ้าของร้านซาหมวย แอนด์ ซันส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนนี้เองที่เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ความเปลี่ยนแปลงในขอนแก่น อุดรธานี และโคราชดูน่าสนใจ เวลานี้จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอีสาน ซึ่งถึงแม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าภูมิภาคนี้จะมุ่งหน้าไปในทิศทางไหน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือนี่เป็นเวลาที่เหมาะจะไปเที่ยวอีสานที่สุดแล้ว ■
Essentials
■
คอฟฟี่ เด้อ หล่า
สาขาโอโซนวิลเลจ 238/8 ถ.เทพารักษ์ ขอนแก่น
โทร. 087-854-9922
wwww.fb.com/coffeederlakk
■
ซาหมวย & Sons
133/25 ถ.โพนพิสัย ต.หมากแข้ง อุดรธานี
โทร. 086-309-6685
www.fb.com/samuaynsons
■
บ้านระรี
4/8 ถ.โพศรี ต.หมากแข้ง อุดรธานี
โทร. 081-260-1333
www.baanrare.com
■
ภูนาคำ รีสอร์ท
461 หมู่ 3 บ้านเดิ่น ต.ด่านซ้าย เลย
โทร. 042-892-005
www.phunacomeresort.com
■
สุพรรณิการ์ โฮม บูติค ไฮอะเวย์
130/9 ถ.โพธิสาร ต.ในเมือง ขอนแก่น
โทร. 089-944-4880
www.supannigahome.com
■
Blue Jays Burger
180/1 ถ.มะลิวัลย์ ต.ในเมือง ขอนแก่น
โทร. 098-584-287
www.fb.com/greatcanadianbluejays
■
C’est Si Bon
1849/25-27 ถ.สืบศิริ นครราชสีมา
โทร. 044-353-525
www.fb.com/cestsibon.th
■
Class Cafe’
174/2 ถ.จอมสุรางค์ยาร์ต ต.ในเมือง นครราชสีมา
โทร. 044-400-7277
www.class.coffee
■
Dose Espresso
106/40 อาคารราชพัสดุ ตลาดธนารักษ์ อุดรธานี
โทร. 092-991-9225
www.doseespressoth.com
■
Fika
ถ.ช้างเผือก ซอย 6 ต.ในเมือง นครราชสีมา
โทร. 062-139-2699
www.fb.com/welovefika
■
The Concept Aromatic Thai Cuisine
192 ถ.มะลิวัลย์ ต.บ้านเป็ด ขอนแก่น
โทร. 094-512-8685
www.fb.com/concept.khonkaen
■
Yellow Pumpkin
ตรอกสำราญจิตร์ ถ.จอมพล ตัดกับถนนอัษฎางค์ นครราชสีมา
โทร. 098-221-2001
www.fb.com/yellowpump kincafe