HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Makeover Mavens

นักธุรกิจรุ่นใหม่ชุบชีวิตตึกเก่าให้กลายเป็นโฮสเทลสุดฮิปทั่วกรุง

กระแสการชุบชีวิตตึกแถวเก่าทรุดโทรมให้เป็น ‘design hostels’ ที่ขับเคลื่อนโดย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่พยายามรักษาตึกรามอันเป็นมรดกของกรุงเทพฯ ไว้ โดย ยกเครื่องการตกแต่งภายในเสียใหม่ด้วยดีไซน์แปลกตาและเทคโนโลยี

     บนถนนราชดำเนิน มีโฮสเทลแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในตึกแถวเก่าครํ่าคร่าอายุร่วมร้อยปี เราไปเยือนโฮสเทลนี้ในคืนวันพฤหัสบดีในช่วงโลว์ซีซั่น แต่ก็พบว่าเตียงสองชั้นในโฮสเทลนี้ถูกจองไปแล้วทุกเตียง ยิ่งไปกว่านั้น โฮสเทลนี้ยังถูกจองเต็มยาวไปจนถึงสิ้นปี 2558 ซึ่งเป็นอัตราการจองที่แม้แต่โรงแรมห้าดาวยังได้แค่ฝันถึง

      แต่ก็นั่นแหละ Here Hostel ไม่ใช่แค่หอพักคุณภาพและรูปลักษณ์เส็งเคร็ง อย่างที่เรามักนึกภาพโฮสเทลทั่วไป แต่โฮสเทลแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการชุบชีวิตตึกแถวเก่าทรุดโทรมให้เป็น ‘design hostels’ กระแสที่ขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พยายามรักษาตึกรามอันเป็นมรดกของกรุงเทพฯ ไว้ โดยยกเครื่องการตกแต่งภายในเสียใหม่ด้วยดีไซน์แปลกตาและเทคโนโลยี


พลิกเก่าเป็นใหม่

     เฮีย โฮสเทลตั้งอยู่ในซอยเงียบๆ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการนำตึกเก่าร้อยปีจำนวน 6 ตึกที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มาแปลงโฉมให้กลายเป็นโฮสเทลน่าเข้าพักที่มี 10 ห้อง 51 เตียง โดยงานดีไซน์ของโฮสเทลแห่งนี้สามารถรักษาเสน่ห์โบราณของตึกแถวในยุคก่อนเอาไว้ด้วยการคงรูปลักษณ์ภายนอกไม่ให้แตกเหล่าไปจากตึกแถวข้างๆ เท่าใดนัก

     แต่ถ้าเข้ามาดูภายในเมื่อไหร่ ก็ต้องถือว่าเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว ตึกทั้งหมดถูกเลาะผนังข้างในทิ้งออกและได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย มีการวางระบบท่อประปาใหม่เพื่อรองรับห้องอาบนํ้าที่มีเพิ่มขึ้นถึง 6 ห้อง มีการเดินระบบสายไฟใหม่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างไฟฟ้าในอาคาร และมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนเตียงให้ได้มากที่สุด และที่ไม่ต้องพูดถึงก็คือ งานดีไซน์หวือหวาอย่างสไลเดอร์จากชั้นสองถึงห้องล็อบบี้ซึ่งคงไม่มีใครหลงเข้าใจว่ามันติดมากับตึกตั้งแต่แรกแน่นอน

     ชลดา ทัพแสง หนึ่งในเจ้าของเฮีย โฮสเทลกล่าวถึงการแปลงโฉมตึกแถวเหล่านี้ว่า “นักสถาปนิกบอกว่าตึกเก่าๆ แบบนี้ออกแบบพื้นที่ยากมาก เพราะตึกมันเป็นทรงแปลกๆ ไม่สมํ่าเสมอกัน” แต่ชลดาไม่ใช่คนที่เบือนหน้าหนีความท้าท้าย อันที่จริงแล้ว เจ้าของเฮีย โฮสเทลทั้งสี่คนได้เริ่มงานโปรเจกต์ต่อไปแล้ว โดยวางแผนว่าจะแปลงตึกอีก 6 ตึกในซอยเดียวกันให้เป็นส่วนต่อขยาย

     ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การนำเอาตึกแถวทรุดโทรมที่ไม่มีคนอยู่อาศัยมาชุบชีวิตใหม่จัดเป็นกระแสที่มาแรงมากๆ ในกรุงเทพฯ และกระแสล่าสุดก็คือการทำ ดีไซน์ โฮสเทล ซึ่งจะแตกต่างจากหอพักนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ในรูปแบบที่ทุกคนคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง

     โฮสเทลใหม่กลุ่มนี้จะมีสถาปัตยกรรมที่ลํ้าสมัยและมีดีไซน์ที่แสดงถึงความเป็นไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบสนองต่อสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างโหยหามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือสถานที่ที่สามารถให้ความรู้สึกว่า “ที่นี่มีลักษณะเฉพาะ ที่นี่สร้างมาด้วยมืออย่างพิถีพิถันและที่นี่อบอุ่นเป็นกันเอง” โรงแรมแบรนด์เนมที่หน้าตาเหมือนๆ กันไปหมดนั้นตอบโจทย์เหล่านี้ได้ยากเต็มที อย่าว่าแต่โฮสเทลเหล่านี้ล้วนมีจุดขายอย่างบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและเตียงราคาประหยัดที่ตกเพียง 400-500 บาทต่อคืน


ห้องแห่งความสนุก

     เอาเป็นว่านักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานกับเตียงสองชั้นเก่าๆ เสียงเอี๊ยดอ๊าดชนิดใครพลิกตัวกลางดึกก็ปลุกทุกคนในห้องได้แบบโฮสเทลในอดีต เพราะห้องพักที่เฮีย โฮสเทลแยกเป็นแบบ 4 เตียง 6 เตียง 8 เตียงและ 12 เตียง โดยแต่ละเตียงถูกออกแบบมาให้เหมือนเตียงในรถไฟตู้นอน มีผ้าม่านเสริมความเป็นส่วนตัวและมีล็อคเกอร์ให้เก็บของ ห้องพักแต่ละห้องมืดแบบกำลังดีและปรับอากาศให้เย็นสบายราวรังดักแด้แม้ในยามบ่ายที่แดดเปรี้ยงที่สุด

     ภายในโฮสเทล สถาปนิกได้พยายามเก็บองค์ประกอบเดิมของตึกไว้โดยผสานให้เข้ากับการออกแบบใหม่ เช่นนำแผ่นไม้ที่เคยใช้มุงหลังคามาตกแต่งผนังของโถงทางเดินชั้นบน และถอดกรอบหน้าต่างเก่าออกมาใช้เป็นของประดับภายในแสนโก้เก๋

     ชลดาที่เคยเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมาก่อนยอมรับว่า ตอนที่เริ่มสร้างเฮีย โฮสเทล เธอไม่รู้เลยว่าเขาทำโรงแรมกันอย่างไร แต่เพราะหุ้นส่วนของเธอมั่นใจในทำเลนี้ เธอจึงตัดสินใจทำ เฮีย โฮสเทล ที่ตั้งอยู่หลังนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และอยู่ใกล้ถนนข้าวสารขนาดเดินถึง แต่ก็ยังไกลพอจะเพลาหูจากความอึกทึกของมหานครแห่งแบ็คแพ็คเกอร์นี้ได้

     ชลดาบอกเลยว่า “โฮสเทลเราไม่ใช่โรงแรมสำหรับปาร์ตี้ เป็นที่พักผ่อนสบายๆ มากกว่า แต่ถ้าใครอยากจะไปเที่ยวกลางคืนก็เดินไปได้ โฮสเทลเราอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง และ ทิพย์สมัย ผัดไทยเจ้าดังที่สุดในกรุงเทพฯ”

     อีกฟากหนึ่งของเมืองบนถนนรัชดาภิเษกมีดีไซน์ โฮสเทลอีกแห่งหนึ่งที่มีจุดขายตรงข้ามกับเฮีย โฮสเทลอย่างสิ้นเชิง โชติรัตน์ อภิวัฒนาพงศ์ เจ้าของ Yim Huai Khwang Boutique Hostel บอกว่าโฮสเทลของเขาเป็นจุดหมายปลายทางนอกสารบบ สำหรับคนที่ “ไม่อยากอยู่ใกล้ถนนข้าวสาร”

     การตกแต่งภายในสุดร่าเริงของโฮสเทลนี้เต็มไปด้วย สีจัดจ้าน เช่นส้มแปร๊ดหรือเหลืองมะนาว นอกจากนี้บริเวณล็อบบี้ซึ่งทำหน้าที่เป็นร้านกาแฟสุดฮิปไปด้วยในเวลาเดียวกันยังแต่งได้อย่างน่านั่งด้วยนาฬิกาติดผนังเรือนใหญ่ที่เอาของเล่นเด็กเก่าๆ มาจัดเรียงไว้อยู่ข้างใน ยิ่งกว่านั้น ชั้นบนก็มีห้องอ่านหนังสือ ที่มีเบาะรองนั่งกองไว้สำหรับให้แขกทอดอารมณ์ไปยังสวนเขียวขจีเบื้องนอก

     อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน สำหรับเป็นบ้านหนึ่งครอบครัว ก่อนที่ต่อมาจะถูกใช้เป็นสำนักงานขายให้กับคอนโดแห่งหนึ่ง เมื่อโชติรัตน์และภรรยา (ผู้เป็นหุ้นส่วนด้วย) พบอาคารหลังนี้ซึ่งตอนนั้นไม่มีคนเช่าอยู่ก็คิดทันทีว่าทำเลนี้เหมาะสำหรับทำโฮสเทล เพราะอยู่ใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินห้วยขวาง

     โชติรัตน์เล่าว่าทั้งเจ้าของอาคารและเพื่อนบ้านต่างรู้สึกตื่นเต้นที่เขาจะเช่าอาคารนี้และชุบชีวิตมันขึ้นใหม่ ล็อบบี้สว่างสดใสของโฮสเทลยิ้ม ห้วยขวางได้ช่วยให้แสงสว่างกับบริเวณที่เคยเป็นเพียงถนนมืดๆ และอัดฉีดให้ย่านนี้มีพลังคึกคักขึ้นมา

     ย่านนี้ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับชีวิตแบบคนท้องที่ของกรุงเทพฯ มากขึ้นอีกด้วย เพราะทั้งบริเวณถนนใหญ่และท้ายซอยต่างเรียงรายไปด้วยร้านรถเข็นเปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีเมนูให้เลือกหลากหลายมากกว่า ‘ผัดไทยขายฝรั่ง’ แถมใกล้ๆ ยังมีตลาดกลางคืนซึ่งเปิดถึงตี 4 ทุกวันด้วย

     โชติรัตน์เรียนจบทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการและได้ทำงานกับบริษัทผลิตรถยนต์วอลโว่ในประเทศสวีเดนเป็นเวลาราวๆ 10 ปี ในช่วงนั้นเขาได้แบกเป้เดินทางทั่วยุโรปและเริ่มฝันเกี่ยวกับการทำธุรกิจโรงแรมเป็นของตัวเอง

     โชติรัตน์เล่าว่า “ผมชอบบรรยากาศโฮสเทลในยุโรป มันสนุกมาก เป็นมิตรมาก และเจ้าของจะเก่งสรรหากิจกรรมดีๆ ให้แขกทำ ต่อมา ผมได้ไปพักโรงแรมดีไซน์ดีๆ ซึ่งจะเป็นทางการกว่าและเท่กว่า ผมก็เลยคิดว่าถ้าเอาสองสิ่งนี้มาผสมกันได้คงดี ก็เลยกลายมาเป็นดีไซน์ โฮสเทล”

     การสร้างและตกแต่งโฮสเทลใช้เวลาประมาณ 8 เดือน โดยมี ปิตุพงษ์ เชาวกุล สถาปนิกของบริษัท Supermachine Studio เป็นผู้ดำเนินการ

     “แต่งอาคารเก่าๆ แบบนี้ก็สนุกดีแต่ก็มีความท้าทายในตัวเองเหมือนกัน โครงสร้างตึกแบบนี้สร้างในช่วงที่กระแสโมเดิร์นเพิ่งเข้ามาในเมืองไทยยุคแรกๆ ตอนนี้ไม่มีใครสร้างตึกแบบนี้แล้ว โครงสร้างมันแปลกมากๆ” ปิตุพงษ์พูดทำนองเดียวกันกับสถาปนิกของเฮีย โฮสเทล ก่อนจะเล่าต่อว่า “ความยากก็คือการรักษาความงามของเดิม แต่ต้องทำให้มันเวิร์คขึ้นมาใหม่ ใส่มุมมองใหม่เข้าไป จริงๆ แล้วเราพยายามทำทั้งสองอย่างเลย คือพยายามเก็บของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด อย่างภายนอกก็จะดูเก่าๆ แต่ภายในเราทำใหม่หมด แล้วผมก็ชอบตรงที่มันยังมีอะไร ‘ผิดๆ’ เหลืออยู่ เช่น พวกเสาแปลกๆ และการออกแบบที่ไม่สมํ่าเสมอกัน ผมว่ามันเป็นเอกลักษณ์ดี”

ความยากก็คือการรักษาความงามของเดิม แต่ต้องทำให้มันเวิร์ค ใส่มุมมองใหม่เข้าไป ผม ชอบตรงที่มันยังมีอะไร ‘ผิดๆ’ เหลืออยู่ เช่น พวกเสาแปลกๆ และการออกแบบที่ไม่สมํ่าเสมอผมว่ามันเป็นเอกลักษณ์ดี

นักเที่ยวพันธุ์ใหม่

     ยิ้ม ห้วยขวางเปิดทำการในปี 2556 และตอนนี้แขกที่มาพักจำนวน 2 ใน 3 เป็นแขกจากเอเชีย โดยส่วนมากเป็นคนจีน ไต้หวันและเกาหลีใต้ แต่ก็มีมาจากประเทศอาเซียนด้วยเช่นกัน แขกที่มาพักจำนวนมากติดดาวและเขียนรีวิวให้ยิ้ม ห้วยขวางอย่างสวยหรู จนทำให้โฮสเทลแห่งนี้ได้ขึ้นอันดับหนึ่งของเว็บ TripAdvisor เมื่อปีที่แล้วสำหรับการจัดอันดับสถานที่พักในหมวด ‘specialty lodging’ (ที่พักแบบพิเศษ)

     รีวิวห้าดาวอันหนึ่งในเว็บทริปแอดไวเซอร์ขนานนามยิ้มห้วยขวางว่าเป็น “หนึ่งในโฮสเทลที่ดีที่สุดที่ฉันเคยไปพัก” ส่วนอีกอันหนึ่งชมโฮสเทลนี้ว่า “โมเดิร์นมาก ดีไซน์มีรสนิยมและน่าสนใจ ทำให้โฮสเทลดูมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ขอแนะนำให้ทุกคนไปพักที่นี่จริงๆ” ขณะที่ชลดาเจ้าของเฮีย โฮสเทลให้ความเห็นว่า โฮสเทลได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะ “นักท่องเที่ยวอยากได้ทั้งเพื่อนใหม่ และความเป็นส่วนตัวไปพร้อมกัน”

     นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่แบ็คแพ็คเกอร์บางคนต้องระหกระเหินในต่างแดนอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน คุณสมบัติที่จะทำให้โฮสเทลดึงดูดแบ็คแพ็คเกอร์ได้ดีก็คือ การมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและบรรยากาศเป็นกันเอง สังเกตได้ว่าโฮสเทลยอดนิยมมักจะสามารถทำหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม โดยทำให้แขกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสร้างพื้นที่สาธารณะบรรยากาศสบายๆ ไว้ให้แขกได้ใช้พบปะและก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกันและกันได้

     สำหรับที่ Glur Bangkok Hostel ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณสาทร ปรัชญาหลักในการดำเนินธุรกิจคือต้องสร้างบรรยากาศให้แขกรู้สึกเหมือนมาพักบ้านเพื่อนที่รู้จักกันมานาน หรือพูดอีกอย่างก็คือทำให้แขกรู้สึกเหมือนเพื่อน ไม่ใช่ลูกค้า

     ปราบ เอื้อพัชรพล เจ้าของ เกลอ แบงค็อค อธิบายว่า “เราไม่มีกฎระเบียบมากมายเหมือนโฮสเทลอื่น เกลอเป็นคำเก่าในภาษาไทย แปลตรงๆ ว่าเพื่อน แต่มันมีนัยยะลึกซึ้งกว่านั้น คือ มันเหมือนเพื่อนที่เราสนิทจริงๆ หรือที่เพื่อนที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เด็กๆ”

     ในตึกสูงเจ็ดชั้นของ เกลอ แบงค็อค มีห้องนั่งเล่นซึ่งเปิดมุมอาหารเช้าให้แขกบริการตัวเองได้ตามสบายตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น แขกยังสามารถเก็บอาหารที่ซื้อมาส่วนตัวไว้ในตู้เย็นได้ (แต่มีป้ายเขียนว่า “กรุณาอย่าแช่ทุเรียน”) หรือชงชากาแฟได้ตลอด ห้องนั่งเล่นของโฮสเทลมีโซฟานั่งสบายหลายตัว และทุกๆ คืน เกลอ แบงค็อค จะจัด Movie Night เปิดภาพยนตร์ให้แขกนั่งชม โดยบ่อยครั้งภาพยนตร์ที่นำมาเปิดก็จะกำหนดเป็นธีม (ปราบบอกว่า “อาทิตย์นี้เป็นหนังสตาร์วอร์ส”)

     เกลอ แบงค็อคขอให้แขกถอดรองเท้าทิ้งไว้ชั้นล่างทุกครั้งก่อนขึ้นไปชั้นบนเหมือนกับเวลาไปเยี่ยมบ้านคนอื่นเพราะจะช่วยทำให้พื้นชั้นบนสะอาดและ “เหมือนบ้าน” มากขึ้น

     ธุรกิจกำลังไปได้สวยสำหรับเกลอ แบงค็อคและเจ้าของก็ได้วางแผนจะแปลงโฉมตึกแถวในซอยเดียวกันเพื่อเปิดอีกสาขาหนึ่งแล้ว โดยไฮไลท์สำคัญของสาขาใหม่นี้จะเป็นบริเวณ Moon Bath ที่ชั้นบนสุดของตึก ซึ่งจะทำเพดานเป็นกระจกทั้งหมดเพื่อให้แขกสามารถชมวิวทั้งท้องฟ้าและแม่นํ้าได้ในเวลาเดียวกัน

     ปราบ นักธุรกิจวัย 29 ปีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเกลอ แบงค็อค นั้นมาจากครอบครัวที่ทำโรงแรมอยู่แล้ว โดยพ่อและแม่ของเขามีโรงแรมอยู่ในอยุธยาซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นเหล่านักธุรกิจที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ใกล้ๆ กัน นอกจากนั้น น้องชายของเขายังเปิดโฮสเทลแห่งหนึ่งในย่านประตูนํ้าอีกด้วย

     ปราบกล่าวว่า “ผมทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปในโรงแรมของพ่อแม่ในอยุธยาอยู่สองปีจนได้รู้ว่าธุรกิจนี้มันเป็นอย่างไร แต่ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่ามันยังมีระยะห่างระหว่างลูกค้ากับพนักงานอยู่”

     ปราบเกิดและเติบโตริมแม่นํ้าเจ้าพระยาในย่านซึ่งเป็นแหล่งของโรงแรมห้าดาวชื่อดังของกรุงเทพฯ เช่นแชงกรีลาและแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดังนั้น เขาจึงรู้สึกว่าทำเลที่นี่สุกงอมเพียงพอที่จะสร้างที่พักราคาประหยัด เพราะที่นี่ทั้งอยู่ใกล้บีทีเอส และยังใกล้ท่าเรือสำคัญอีกด้วย “ย่านแถวนี้เป็นเหมือนหม้อหลอม เป็นที่รวมทั้งคนไทย คนฝรั่ง ผมก็เลยอยากจะสร้างดีไซน์ โฮสเทลให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่แถบนี้ให้ได้”

     ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปราบได้ย้ายบ้านมาแล้วมากกว่า 15 ครั้งและทุกครั้งที่เขาย้ายเข้าที่ใหม่เขาจะเริ่มสร้างห้องนอนห้องใหม่ตามความชอบของตัวเอง และจากนั้นก็จะลามไปแต่งห้องนั่งเล่นและห้องครัวด้วย

     “ผมไม่เคยเรียนด้านสถาปัตยกรรมหรือการออกแบบเลย แต่ผมชอบซื้อนิตยสาร ถ้าเห็นสไตล์หรืออะไรที่ชอบผมก็จะตัดหน้านั้นออกมาเก็บไว้ ผมทำแบบนี้มา 10 ปีแล้ว ดังนั้นพอตอนเริ่มโปรเจกต์โฮสเทลนี้ ผมก็มีแฟ้มที่แน่นไปด้วยไอเดียอยู่ในมือแล้ว”

     เนื่องด้วยโครงการขยายโฮสเทลของปราบกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ปราบจึงกำลังคิดการใหญ่

     “คนรุ่นผมมักจะเริ่มด้วยดีไซน์ โฮสเทลแบบเล็กๆ ก่อน แต่พอไปเรื่อยๆ ก็จะใหญ่ขึ้น เรากำลังเรียนรู้สิ่งที่ต้องเรียกว่าธุรกิจการสร้างความทรงจำ พอเวลาเห็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางนานๆ เป็น 6 เดือน 1 ปี ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่เราที่จะมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้เขา ระหว่างที่เขาอยู่กับเรา”

Essentials


Glur Bangkok Hostel


45 ซอยเจริญกรุง 50 กรุงเทพฯ
โทร. 02-630-5595
www.glurbangkok.com

Here Hostel

196/3-8 ซอยดำเนินกลางใต้ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯโทร. 090-987-7438, 084-458-4040
www.herehostel.com

Yim Huai Khwang Boutique Hostel

70 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ กรุงเทพฯ
โทร. 02-118-6038
www.yimhuaikhwang.com