SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Isaan’s Wonder Walls
เมื่อ ‘ฮูปแต้ม’ มรดกแห่งลุ่มน้ำโขงที่กำลังสูญหาย กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่แห่งที่ราบสูง
ช่างแต้มเขาฝึกฝนกันเองในหมู่บ้าน เพราะอิทธิพลจากงานช่างหลวงมาไม่ถึงอีสาน ดังนั้น พอทดลองทำไปด้วยตัวเองทำให้ศิลปะที่นี่เกิดลายเซ็น เกิดบุคลิกของตัวเองขึ้นมา
ลึกเข้าไปในวัดสนวนวารีพัฒนาราม คือ ‘สิม’
หรือโบสถ์เก่าแก่ ที่มีสีพื้นผนังเหมือนกระดาษฟางที่ถูกรดด้วยนํ้าชาแก่เป็นหย่อมๆ สลับกับแผ่นปูนหลุดล่อนบ่งบอกอายุเกือบร้อยปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏอยู่บนผนังนั้น กลับดูเหมือนจะยังไม่ยอมแพ้ให้แก่กาลเวลาง่ายๆ กล่าวคือ ‘ฮูปแต้ม’ หรือรูปที่แต่งแต้มขึ้นมาด้วยลายเส้นอิสระไหลลื่นและสีสันผาดโผนอย่างอุลตร้ามารีนและเหลืองมะนาว
ที่น่าสังเกตคือ แม้รูปเหล่านี้จะถ่ายทอดเรื่องราว
จากวรรณคดีไทยอย่างพระเวสสันดรหรือรามเกียรติ์
แต่แทนที่ผู้ชมจะเห็นตัวยักษ์ตัวลิงและลายกนกเรียงรายเป็นแบบแผนตามอย่างผนังวัดในเมืองหลวง
ฮูปแต้มกลับมีเสน่ห์นอกตำราบางอย่าง ที่ชวนให้นึกไปถึงศิลปะโมเดิร์นอย่าง Guernica ของ Picasso หรือ Park Güell ของ Gaudí เลยทีเดียว
จะเรียกว่าเป็นโชคดีในคราเคราะห์ก็เป็นได้ที่ความทุรกันดาร และการเดินทางอันยากลำบากระหว่างอีสานกับภูมิภาคอื่นๆ เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่ช่วยรักษาวัฒนธรรมของภูมิภาคให้คงความเฉพาะตัวไว้ได้ โดยเฉพาะกับฮูปแต้ม ซึ่งมีลายเส้นและสีสันที่สะท้อนความซื่อ ความสนุก และความตรงไปตรงมาของคนอีสานไว้ได้อย่างประหลาด จนถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนวัฒนธรรมแห่งที่ราบสูง
หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ช่วยผลักดันให้งานฮูปแต้มเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ ตนุพล เอนอ่อน ศิลปินลูกอีสาน อาจารย์คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่กลับมาค้นรากเหง้าวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ตามโบสถ์ปูนทรุดโทรมอายุร่วมศตวรรษที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบสูงแอ่งโคราช เพราะด้วยยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน ความงดงามของฮูปแต้มได้ถูกหลงลืมไปอย่างน่าเสียดาย
“ผมสอนเด็กมาก็หลายรุ่น ด้วยข้อบังคับของวิชาศิลปะ ทำให้ต้องพาเด็กๆ ไปรู้จักฮูปแต้มเหมือนกับตอนที่ผมเรียน บางคนผมพาไปถึงวัด ยังตกใจเลยว่า ‘อ้าว นี่มันวัดบ้านหนูเองนี่อาจารย์’ ซึ่งมันทำให้เห็นเลยว่า เด็กอีสานเองหลายคนยังไม่รู้จักฮูปแต้มเลย” อาจารย์ตนุพลเล่าให้ฟัง อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่อาจถือเป็นความผิดของเด็กเสียทั้งหมด เพราะในสมัยเขายังเป็นนักเรียนจิตรกรรม เขาเองก็ไม่ได้มีความสนใจในฮูปแต้ม ด้วยความคุ้นชินที่ทำให้เขาเห็น ‘เอกลักษณ์’ ของฮูปแต้มเป็นเพียงความ ‘ไร้มาตรฐาน’
“มันไม่ได้มีแบบแผนวิลิศมาหราเหมือนงานช่างศิลป์จากวังหลวงแบบภาคกลาง เลยไม่สนใจ ไม่หวงแหน เห็นว่ามันดูตลก แล้วการเรียนศิลปะบ้านเรายังเน้นศิลปะตะวันตก กับศิลปะภาคกลาง เลยทำให้คนรุ่นใหม่หลงลืมศิลปะท้องถิ่นไปหมด ทุกวันนี้เราไม่มีหรอกเขียนฮูปแต้มอีสาน มีแต่เขียนลายกนก
เอนทรานส์เข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องเขียนหุ่นเดวิด ไม่มีใครเขียนหน้าพระพุทธรูป”
ปริศนาธรรมที่ทุกคนเข้าถึง
ด้วยความที่ไม่ได้มีแบบแผนกลางอันเป็นมาตรฐานนี่เอง ฮูปแต้มในอีสานจึงมีการลงสีและฝีแปรงแตกต่างไปตาม ’ความถนัด’ ของช่างแต้ม หรือช่างวาดในแต่ละพื้นที่ โดยมักจะต่อยอดมาจากภูมิปัญญาของกลุ่มช่างแต้มในแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีช่างแต้มอยู่มาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมของฮูปแต้ม
อันหลากหลายคือ ช่างแต้มมักเลือกที่จะใช้สีนํ้าเงิน
สีเหลือง สีแดง สีเขียวในการวาดตัวละครและลายลงบนพื้นกำแพงสีขาวหรือสีอ่อน มากกว่าจะวาดตัวละครสีอ่อนลงบนพื้นสีเข้มทึบอย่างเทคนิคจิตรกรรมฝาผนังของภาคกลาง เมื่อมองฮูปแต้มจึงเหมือนมองภาพศิลป์อันเฉพาะตัวบนผ้าใบผืนใหญ่ มากกว่าเพียงแถบลวดลายซํ้าไปซํ้ามาแบบวอลเปเปอร์ ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่วัดภาคกลางจะปล่อยผนังด้านนอกโบสถ์เป็นสีขาว ฮูปแต้มจะปรากฏอยู่บนกำแพงด้านนอกสิมด้วย
เพื่อทำหน้าที่แสดงคำสอนให้ชาวบ้านได้เห็นในทุกครั้งที่มาวัด โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ในอดีตไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสิม
“หน้าที่ของฮูปแต้มอีสาน มีสองสามอย่าง
หนึ่ง คือเพื่อความสวยงาม สร้างความขลังให้กับศาสนสถาน สอง ทำหน้าที่เหมือนหนังสือ คนสมัยก่อนอ่านหนังสือไม่ออก ฉะนั้นคนทั่วไปจะเข้าใจธรรมะได้ก็ต้องเป็นภาษาภาพ ฮูปแต้มจะวาดให้เห็นเลยว่านี่คือนรก ทำบุญแบบนี้ขึ้นสวรรค์ ทำให้นอกจากชาวบ้านจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ก็จะได้ชมภาษาภาพไปด้วย สาม ก็เพื่อให้ทุกคนได้ซึมซับคำสอนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการแก้ปัญหาเรื่องสถานะหรือชนชั้นที่บางทีทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าสิมได้ทั้งหมด”
ด้วยความที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในอดีต เรื่องราวที่ปรากฏบนสิมล้วนเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นของอีสาน ตั้งแต่เรื่องพุทธประวัติ เรื่อง ‘ผะเหวด‘ หรือพระเวสสันดรชาดก เรื่อง
‘พระลักพระลาม’ หรือรามเกียรติ์ ภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ไปจนถึงเรื่อง ‘สินไซ’ หรือ สังข์ศิลป์ชัย วรรณกรรมชิ้นเอกแห่งลุ่มแม่นํ้าโขงที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนถูกนำมาวาดในแทบทุกสิมที่มีฮูปแต้ม โดยเรื่องสินไซ มีจุดสังเกตอยู่ที่ตัวเอกทั้งสามพี่น้อง ได้แก่ สังข์ ซึ่งเป็นหอย สีโห ซึ่งเป็นคชสีห์ และสินไซ ซึ่งเป็นมนุษย์ พร้อมด้วยสิ่งที่เป็นอุปสรรคท้าทาย
บารมีและคุณธรรมต่างๆ ของสามพี่น้อง เช่น งูซวง
ยักษ์กันดาร พญาช้างฉัททันต์ ยักขินี และมักรีผล
ซึ่งรวมเรียกว่า ‘หกย่านนํ้า เก้าด่านมหาภัย’
“ฮูปแต้มที่ฮิตมากก็คือฮูปแต้มที่เขียนเป็นเรื่อง
สินไซ เพราะเนื้อเรื่องเต็มไปด้วยการผจญภัย ตะลุยออกรบทีละด่าน สู้กับยักษ์เป็นล้านตัว มันยิ่งกว่า
Lord of the Rings เสียอีก นอกจากนั้นยังอาจเป็นเพราะสินไซเป็นวรรณกรรมที่สอนคติที่สำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในอีสาน คือสามัคคี ทำให้ประสบความสำเร็จ ไม่สามัคคี ก็ทำให้เกิดความเดือนร้อน ครอบครัวและสังคมแตกแยก” อาจารย์ตนุพล
เปรียบเทียบให้ฟัง
อิมเพรสชันนิสม์บนผนังสิม
ความห่างไกลจากอิทธิพลของช่างหลวงจากภาคกลาง ทำให้ช่างแต้มอีสานมีอิสระอย่างเต็มที่
ในการแสดงออกทางความคิด การใช้เทคนิค
และการจัดวางองค์ประกอบภาพ ในหนังสือ ‘จิตรกรรมฝาผนังอีสาน’ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจ
และถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังอีสาน โดยอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ผู้บุกเบิกเรื่องการศึกษาฮูปแต้ม
และคณะ จึงได้ยกย่องฮูปแต้มว่าเป็น “งานศิลปะ
พื้นบ้านอันบริสุทธิ์”
“ช่างแต้มเขาฝึกฝนกันเองในหมู่บ้าน เพราะอิทธิพลจากงานช่างหลวงมาไม่ถึงอีสาน ดังนั้น
พอทดลองทำไปด้วยตัวเองทำให้ศิลปะที่นี่เกิดลายเซ็น เกิดบุคลิกของตัวเองขึ้นมา เรื่องที่เขียนก็เอามาจากวรรณกรรมที่รู้จักในท้องถิ่น เพราะวรรณกรรมเกิดก่อนจิตรกรรม ผมชอบสรุปง่ายๆ ว่าฮูปแต้ม
‘ซื่อในความหมาย ง่ายในรูปทรง ตรงต่อการแสดงออก’ ซื่อในความหมายคือเห็นอย่างไรก็แปลอย่างนั้น ไม่ต้องตีความ ง่ายในรูปทรงก็คือเขียนง่ายๆ ไม่ประดิดประดอย ตรงต่อการแสดงออกก็คือไม่มีข้อจำกัดเรื่องพิธีรีตอง มีแรงบันดาลใจอย่างไรก็วาดอย่างนั้น บางทีเริ่มตรงนี้ แล้วไปต่อตรงนั้น ไม่มีข้อจำกัดว่าอะไรต้องก่อนหลัง ซึ่งความไม่มีรูปแบบนี่เองที่ทำให้มันมีคุณค่า ไม่น่าเบื่อ” อาจารย์ตนุพลเล่าให้ฟังอย่างครื้นเครง
ปัจจุบัน มีหลายวัดที่ยังคงเก็บรักษาฮูปแต้มเอาไว้ให้ชมได้อย่างสมบูรณ์ เช่นวัดสระบัวแก้ว ที่มีฮูปแต้มทั้งด้านในและด้านนอก โดยภายในจะเป็นเรื่องพุทธประวัติ และเรื่องสินไซ ส่วนภายนอกเป็นเรื่องพระลักพระลาม แต่ที่คนประทับใจกันมาก
ก็เพราะจังหวะจะโคนของลวดลายฮูปแต้มที่นี่ถูกเกลี่ยไปทั่วทั้งโบสถ์อย่างประณีต เมื่อมองไกลๆ แล้วคล้ายเครื่องกระเบื้องที่ลงลายอย่างดี แต่เมื่อพิจารณาใกล้ๆ ก็กลับเห็นเป็นฝีแปรงโลดโผนไม่แพ้ภาพศิลปะอิมเพรสชันนิสม์
“ช่างแต้มเมื่อก่อนเค้าใช้สีได้มันมาก สดๆ
ทั้งนั้น ผมยังคิดเลยว่า นี่ขนาดผ่านไป 100 กว่าปี
สียังสดขนาดนี้ ถ้าเป็นตอนเขียนเสร็จใหม่ๆ มันคงแปร๋นมาก เดินออกจากป่าเข้าหมู่บ้านมานี่คงเห็นสีของสิมเข้าตามาแต่ไกล สีอาจจะแปลกๆ ไปบ้าง เพราะการเดินทางค้าขายไม่สะดวก ได้สีอะไรมาก็ต้องใช้ไปอย่างนั้น หรือไม่ก็ใช้สีธรรมชาติ เช่น
สีนํ้าเงินจากต้นคราม สีแดงจากต้นครั่ง สีเหลืองจากต้นรัง” อาจารย์ตนุพลอธิบาย นอกจากนั้น ช่างแต้มยังแก้ปัญหาการขาดแคลนสีด้วยการใช้วิธีระบายสีหนักเบาเพื่อเพิ่มความหลากหลายของเฉด หรือคิดนอกกรอบเกี่ยวกับการใช้สี เช่นให้สีใบไม้ด้วยสีนํ้าเงินแล้วให้สีลำต้นด้วยสีเหลือง แทนที่จะเป็นสีเขียวกับนํ้าตาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับทำให้ฮูปแต้มยิ่งมีเสน่ห์เฉพาะตัวยิ่งขึ้น ชนิดที่ว่าผู้ที่ได้เห็นฮูปแต้มเข้าสักครั้ง มักจะบอกได้ไม่ยากว่าจิตรกรรมชิ้นไหนมาจากฮูปแต้ม
ช่างแต้มเมื่อก่อนเค้าใช้สีได้มันมาก สดๆ ทั้งนั้น ผมยังคิดเลยว่า นี่ขนาดผ่านไป 100 กว่าปี สียังสดขนาดนี้ ...เดินออกจากป่าเข้าหมู่บ้านมานี่คงเห็นสีของสิมเข้าตามาแต่ไกล
สังขารและกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะแห่งลุ่มนํ้าโขง แต่สถานการณ์ของฮูปแต้มกลับน่าเป็นห่วง เพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
ฮูปแต้มอีสานถูกทำลายด้วยทั้งดินฟ้าอากาศ
กาลเวลา หรือแม้กระทั่งฝีมือของคนในท้องถิ่นเอง
“ย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน สิมกับฮูปแต้มยํ่าแย่มาก อาจารย์ไพโรจน์เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่อาจารย์ขับรถไปดูฮูปแต้ม อาจารย์แทบจะล้มทั้งยืน
เพราะไปเจอตอนเจ้าอาวาสกำลังเอาแปรงจุ่มสีขาวมาทาทับพอดี หรือหนักหน่อยก็ทุบสิมทิ้งไปเลย
คนทั่วไปมองว่ามันเป็นของโบราณ ไม่สวยเหมือนโบสถ์แบบภาคกลางที่เป็นค่านิยมเข้ามาในยุคหลัง หรือบางแห่ง แม้จะไม่ทำลาย แต่ก็หันไปสร้างโบสถ์หลังใหม่ ปล่อยของเก่าให้ตากแดดตากลม ตากขี้นก
เสื่อมไปตามกาลเวลา” อาจารย์ตนุพลเล่าให้ฟังอย่างสะท้อนใจ
“ผมเคยพารุ่นน้องนักจิตรกรรมไปรับจ้างเขียนโบสถ์ เจ้าอาวาสก็บอกเลยว่าไม่เอาแบบฮูปแต้ม บอก ‘อยากได้แบบเฉลิมชัย (โฆษิตพิพัฒน์) เขียนได้ไหม’ ซึ่งก็ไม่ผิด งานแบบอาจารย์เฉลิมชัย สวยจริงๆ แต่ก็จะเห็นได้ว่างานฮูปแต้มยังไม่ได้รับการเหลียวแล แม้กระทั่งจากคนในพื้นที่เอง”
ยิ่งกว่านั้น แม้ทุกวันนี้ฮูปแต้มจะได้รับการดูแลและคุ้มครองจากกรมศิลปากรแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงห้ามไม่ให้มนุษย์ทำลาย แต่ไม่สามารถห้ามกาลเวลาได้ “ฮูปแต้มมันก็เหมือนกับคน มีสังขารของมัน อย่างฮูปแต้มที่วัดสนวนวารีฯ วัดสวยอีกแห่งในจังหวัดขอนแก่น ผมทายได้เลยว่าฮูปแต้มฝั่งตะวันตกไม่เกิน 3 ปีหายหมด เพราะแดดบ่ายอีสานแรงมาก แถมดินแถวนั้นยังเป็นดินเค็ม หรือดินเอียด ความชื้นและความเค็มจากดินก็คงจะทำให้มันร่อนหมดในไม่ช้า”
อนุรักษ์ด้วยความรัก
ด้วยเหตุนี้ นอกจากการรักษาของเก่าให้เสื่อมโทรมน้อยที่สุดแล้ว อาจารย์ตนุพลพบว่าเส้นทางที่จะช่วยอนุรักษ์ฮูปแต้มไว้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือการชักนำคนให้รู้จัก และเข้าใจความงามแบบฮูปแต้มให้ได้ อันเป็นเส้นทางที่เขาได้เคยผ่านมาก่อน
“ตอนแรกผมทำแต่งานร่วมสมัย ไม่เกี่ยวกับอีสานเลย ผมพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น จนผมเริ่มเบื่อกับการนำเสนองานของตัวเอง ก็เลยตั้งโจทย์ลอยๆ ขึ้นมาว่าอยากทำงานจิตรกรรมที่มีความเป็นสมัยใหม่ และมีความเป็นท้องถิ่นอีสานอยู่ด้วย” หลังจากนั้น ได้มีโอกาสพบอาจารย์ไพโรจน์ ผู้พาเขาขับรถไปดูสิมและฮูปแต้มทั่วอีสาน สิ่งที่เคยเป็นโจทย์ลอยๆ ก็เลยเริ่มชัดขึ้นว่าฮูปแต้มคือสิ่งที่เขาจะยึดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน
“ผมเริ่มอินกับฮูปแต้ม เหมือนผมเคยเจอผู้หญิงคนหนึ่งมานานแล้ว ตอนแรกก็เฉยๆ แต่คบไปคบมา เริ่มเห็นความงาม แล้วทีนี้ก็หลงรักเลย ฉุดไม่อยู่ เป็นความโหยหารากเหง้า แล้วเราก็ภูมิใจที่สุดท้ายคนมักจำเราได้จากการที่เราเป็นคนแรกๆ ที่เอาฮูปแต้มอีสาน มาทำเป็นงานร่วมสมัย
...นอกจากนั้น ผมให้ความสำคัญกับการคัดลอกผลงานเดิม ในเมื่อเราไปแตะอะไรกับกำแพงไม่ได้เพราะกรมศิลป์ฯห้าม ก็คัดลอก เพราะจะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต อย่างผลงานคัดลอกวัดระฆัง ของอาจารย์เฟื้อ (หริพิทักษ์) ก็ทำให้งานแพร่หลาย กระจายออกไปให้คนรู้จักมากขึ้น
เราอาจไม่สามารถยกสิมทั้งหลังมาตั้งที่กรุงเทพฯ ได้ แต่เราสามารถลอกลายไปให้คนที่ไหนในโลกดูก็ได้ เหมือนกับภาพของไมเคิลแองเจโล ภาพของดาวินชี ที่คนไม่ได้เห็นของจริงทุกคนหรอก แต่ก็เป็นที่แพร่หลายรู้จัก เพราะมีการคัดลอกออกมาให้คนได้เห็นกัน และถ้าเห็นแล้ว เขาอาจจะรักมันก็ได้”
ดูเหมือนความพยายามของอาจารย์ตนุพล จะเป็นผลบ้างแล้วเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ฮูปแต้มเริ่มได้รับการสานต่อจากคนรุ่นใหม่ ที่ใช้ฮูปแต้มไปสร้างสรรค์งานศิลปะยุคดิจิตอลอย่างภาพแอนิเมชั่น หรืองานดีไซน์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แม้กระทั่งอาจารย์ตนุพลเอง ก็มีความฝันที่จะต่อยอด
ฮูปแต้มให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เขาเล่าให้ฟังอย่างเขินๆ
ถึงความฝันจะสร้างวัดฮูปแต้มที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอีสาน
“ใจผมนี่อยากทำสิมเวอร์ชั่น 2015 ขึ้นมาเลย คงมันมาก
โมเดิร์นมาก แต่คงไม่ได้สร้างขึ้นง่ายๆ ต้องใช้หลายองค์ประกอบที่จะทำให้มันเกิดขึ้น”
แม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อใดก็ตามที่ความฝันของอาจารย์ตนุพลเป็นจริง สิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือฝีแปรงอัน
โมเดิร์นบนสิมนั้น จะคงอยู่ไปนานอีกนับร้อยปี
■