SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
Baba Reborn
เบื้องหลังตึกแถวสวยขึ้นกล้อง คือมรดกทางวัฒนธรรม ‘เปอรานากัน’ ที่หยั่งรากลึกของเมืองภูเก็ต
ก่อนที่แสงส้มยามเช้าจะสาดกระทบผนังปูนประดับลวดลายใต้ชายคาของตึกแถวอันเป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองภูเก็ต รถสองแถวสีนํ้าเงินสลับทองก็เริ่มออกสัญจรเพื่อรับเด็กนักเรียนชุดแรก ในเวลาเดียวกัน ณ หัวมุมถนนบางกอก เถ้าแก่กำลังเดินหยิบธูปจากหน้าร้านไปยังหิ้งบูชาบรรพบุรุษด้านหลัง
ในขณะที่พระภิกษุยืนสำรวมรอบิณฑบาตอยู่ริมถนน
มอเตอร์ไซค์หลายคันจอดที่ข้างร้านติ่มซำเพื่อส่งบรรดานักเรียนตัวน้อยหน้าตางัวเงียที่มาพร้อมผู้ปกครองหน้าตาเร่งรีบหรืออากงอาม่า บางคนเริ่มสั่งหมูห่อสาหร่าย หมั่นโถว ไส้กรอกปูสมุนไพร และปลานึ่งร้อนๆ จากหม้อใบโตที่ตั้งอยู่หน้าร้านตั้งแต่ยังไม่ได้ถอดหมวกกันน็อคออก
อย่างไรก็ตาม หากแทรกตัวผ่านฝูงชนแล้วเอี้ยวหลบถาดวางบ๊ะจ่างห่อเล็กๆ กับซาลาเปาที่เด็กในร้านถือสวนมาได้ ก็จะพบกับโต๊ะใหญ่ของร้านซึ่งเหล่าลูกค้ารุ่นเดอะกำลังจิบกาแฟเจือนมข้นหวานพลางคุยกันขโมงโฉงเฉงเป็นภาษาภูเก็ต เมื่อ 10 กว่าปีก่อน อากงรุ่นนี้อาจถูกถือว่าเป็น ‘บาบ๋า’ รุ่นสุดท้ายแห่งภูเก็ต กล่าวคือตัวแทนของวัฒนธรรมลูกผสมไทย-จีนแผ่นดินใหญ่หรือที่บางทีก็เรียกว่าวัฒนธรรม
‘เปอรานากัน’ ที่เริ่มขึ้นเมื่อห้าอายุคนที่แล้วและกำลังค่อยๆ เลือนหายไปในกระแสโลกาภิวัฒน์ โชคดีที่ก่อนเมืองเก่าแห่งนี้จะก้าวเข้าสู่อัสดง ลูกหลานของบาบ๋าได้แปลงมรดกวัฒนธรรมประจำเมืองให้กลายเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ และโฮสเทล ที่ไม่เพียงเปี่ยมบุคลิกอย่างยิ่ง หากยังคงชีวิตและกลิ่นอายแห่งครั้งกระโน้นไว้
มิคลาย
จุดเริ่มและจุด (เกือบ) จบของบาบ๋า
วิวรรณ บำรุงวงศ์ เป็นชาวภูเก็ตรุ่นใหม่ ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นเจ้าของร้านยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองภูเก็ตซึ่งตั้งอยู่บนถนนถลาง ชั้นบนของร้านกรุไว้ด้วยบานเกล็ดไม้เก่าคร่ำคร่า ในขณะที่ชั้นล่างยังคงคึกคัก โดยมีผนังร้านเรียงรายไปด้วยลิ้นชักเล็กๆ และตาชั่งแบบแขวนไม่ต่างจากอดีต ติดกับร้านคือ
‘โกปี้เตี่ยม by วิไล’ ร้านกาแฟที่ครอบครัวของวิวรรณเปิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนและขณะนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของวิวรรณเองหลังจากเธอลาออกมาจากงาน
ด้านการตลาดในกรุงเทพฯ
“เมื่อก่อนบาบ๋าไม่ใช่เรื่องเท่เรื่องแนวอะไร
คุณพ่อบอกว่าเวลาไปเรียนที่กรุงเทพฯ เราจะไปพูดภาษาภูเก็ตให้เขาฟังไม่ได้ ต้องเรียนภาษาอังกฤษและภาษากลาง คนรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมบาบ๋า” วิวรรณกล่าว
วิวรรณได้ตกแต่งผนังร้านโกปี้เตี่ยมฯ ด้วยภาพถ่ายขาวดำซึ่งชวนให้ประหวัดถึงสมัยที่เกาะภูเก็ตยังเต็มไปด้วยเหมืองแร่ เช่นภาพของหญิงสาวทีท่ามั่นอกมั่นใจกำลังนั่งคร่อมมอเตอร์ไซค์พลางหันมายิ้มให้กับกล้อง ภาพของเครื่องขุดดีบุกขนาดยักษ์ที่จอดลอยอยู่บนบ่อโคลน และภาพของโต๊ะสังสรรค์ใหญ่โตอลังการในงานเลี้ยงฉลองของบรรดาคหบดีเมืองภูเก็ต ดีบุกคือสิ่งที่สร้างเมืองภูเก็ต นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โลหะสีสุกขาวที่ทนการกัดกร่อนนี้ คือสิ่งที่ดึงดูดให้ชาวจีนฮกเกี้ยนและฝูเจี้ยนซึ่งหนีความไม่สงบทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในจีนหลั่งไหลเข้ามาภูเก็ตทีละหลายลำเรือ เมื่อชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ได้แต่งงานกับหญิงท้องถิ่น วัฒนธรรมใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับกำเนิดของวัฒนธรรมเปอรานากันในบ้านพี่เมืองน้องของภูเก็ตอย่างปีนัง
ลูกหลานของบาบ๋าได้แปลงมรดกวัฒนธรรมประจำเมืองให้กลายเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ และโฮสเทล ที่ไม่เพียงเปี่ยมบุคลิกอย่างยิ่ง หากยังคงชีวิตและกลิ่นอายแห่งครั้งกระโน้นไว้มิคลาย
ความจริง ยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหมืองดีบุกสิ้นสุดไปนานแล้วนับตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยเหมืองแห่งสุดท้ายปิดไปเมื่อต้นยุค ‘90 เมืองภูเก็ต ณ เวลานั้นยังมีประชากรไม่ถึงหนึ่งแสนคน ทำให้ทางเทคนิคแล้วภูเก็ตจัดเป็นเพียงเมือง ไม่ใช่นคร แต่ยิ่งนานไปการทำมาหากินทั้งหลายก็มักย้ายไปกระจุกอยู่ที่หาดป่าตอง อันเป็นพื้นที่อุดมนักท่องเที่ยวตะวันตกที่บรรดาตระกูลเจ้าสัวใช้เป็นแหล่งหารายได้หลังจากเลิกทำดีบุกอีกด้วย
“ต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลและองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ช่วยนำชีวิตกลับคืนสู่เมืองภูเก็ต” วิวรรณกล่าวชื่นชมทำนองเดียวกันกับชาวภูเก็ตอีกหลายต่อหลายคน พวกเขาไม่ได้กล่าวผิดไป
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ช่วยยกประเด็นฟื้นฟูย่านเมืองเก่าขึ้นมาเล่น ในขณะที่เทศบาลจังหวัดภูเก็ตก็เริ่มดำเนินการเอาเสาไฟฟ้าลงใต้ดินในบริเวณถนนที่สวยที่สุดในเมืองอย่างถนนดีบุกและถนนถลาง สมาคมชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตสนับสนุนโดยผลักดันให้มีการจัดเส้นทางถนนคนเดินประจำสัปดาห์ และจัดพิธีสมรสแบบพื้นเมืองบาบ๋าเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ยิ่งกว่านั้น เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ทางจังหวัดภูเก็ตยังทำให้องค์การยูเนสโกตระหนักถึงเอกลักษณ์ของอาหารพื้นเมืองจนได้รับการขนานนามให้เป็น ‘เมืองแห่งปากะศิลป์’ หรือ City of Gastronomy อีกด้วย
“คนรุ่นเรามักจะพูดกันว่า ‘อ๋อ วัฒนธรรมของพวกเราเป็นอย่างนี้เองหรือ’ แต่ความจริงเรารู้จักของพวกนี้กันอยู่แล้ว เพราะมันอยู่รอบตัวไปหมด เพียงแต่เราเห็นเป็นของธรรมดาไป” วิวรรณกล่าว ด้วยเหตุนี้ เมนูของโกปี้เตี่ยมฯ จึงได้พยายามแสดงรากเหง้าและรสชาติของพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบักกุ๊ดเต๋ ซึ่งเป็นหมูตุ๋นในเครื่องยาจีนกับผักดอง หรือหมี่ฮกเกี้ยนซึ่งผัดรวม
เนื้อหมูและของทะเลให้เข้ากันอย่างดีด้วยกำลังของซีอิ๊วรสชาติกลมกล่อม
“โกปี้เตี่ยม เป็นคำมาเลย์ซึ่งแปลว่าร้านกาแฟ
เรามีญาติข้างคุณแม่เปิดโกปี้เตี่ยมที่ถนนถลางอยู่ร้านหนึ่ง แล้วก็มีคุณย่าซึ่งเป็นคนเอาสูตรอาหารบาบ๋า
ต้นตำรับมาบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจนถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น พอจะเปิดร้านจึงได้พยายามผสมผสานทั้งสองเรื่องเข้าด้วยกัน โดยตั้งใจจะทำอาหารที่พวกเรากินมาตั้งแต่เด็กจนโต จะเรียกว่าเป็น ‘คอมฟอร์ท ฟู้ด’ ของคนภูเก็ตก็ได้”
กลับคืนถิ่น
หากสอบถามเรื่องที่พักจากวิวรรณ เธอจะแนะนำ ‘เดอะ รมณีย์ บูทิค เกสต์เฮาส์’ ซึ่งอยู่ห่างจากร้าน
โกปี้เตี่ยมฯ เพียงระยะเดินไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น
ที่เกสต์เฮาส์แห่งนี้ วาทินี ผู้เป็นเจ้าของ ก็มีเรื่องราวของการหวนคืนสู่รากเหง้าคล้ายๆ กับวิวรรณ เธอเติบโตในย่านชานเมืองภูเก็ตและฝันที่จะได้เปิดกิจการในย่านประวัติศาสตร์นี้มาตลอด
‘ซอยรมณีย์’ ที่เชื่อมระหว่างถนนดีบุกและถนนถลาง อันเป็นที่มาของชื่อโรงแรมนั้น จัดเป็นย่านที่ ‘แรง’ ที่สุดย่านหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่เฉพาะแต่ด้วยสีสันอันฉูดฉาดของสถาปัตยกรรมเท่านั้น หากยังรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าครั้งหนึ่งย่านนี้เคยทำหน้าที่ให้บริการชาวเหมืองด้วยธุรกิจอื้อฉาวอย่างเดียวกันกับที่หาดป่าตองมีให้กับนักท่องเที่ยว ต่างกันแค่ว่าแทนที่จะใช้กระท่อมติดไฟสีแปร๋น ที่นี่มีเพียงผนังฉาบปูนที่ตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามบนอาคารตึกแถว 2 ชั้นแคบๆ เป็นสัญลักษณ์ที่รู้กันเท่านั้น
“เราอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แล้วใจหนึ่งก็อยากอาศัยอยู่ในย่านเมืองเก่ามานานแล้ว เพราะมันชวนให้นึกถึงชีวิตสมัยเด็ก นึกถึงบ้านยายที่มีลานกลางบ้าน สรุปคือที่นึกฝันก็คืออย่างนี้นี่แหละ” วาทินีกล่าว
คนรุ่นเรามักจะพูดกันว่า ‘อ๋อ วัฒนธรรมของพวกเราเป็นอย่างนี้เองหรือ’ แต่ความจริงเรารู้จักของพวกนี้กันอยู่แล้ว
มันอยู่รอบตัวไปหมด เพียงแต่เราเห็นเป็นของธรรมดาไป
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของตึกแถวในเมืองภูเก็ตคือ
ลานกลางตึก ที่มีไว้เพื่อรับแสงและปล่อยให้อากาศถ่ายเทเข้ามาในตัวตึกที่แคบ ลึก และไม่มีหน้าต่างได้ “ถ้านั่งตรงนี้ จะมีลมเย็นพัดมาตลอด ไม่ว่าข้างนอกจะร้อนแค่ไหน เวลาฝนตก ก็ไม่ต้องปิดหน้าต่าง ปล่อยให้ฝนลดอุณหภูมิของตัวบ้าน นี่เป็นมุมโปรดที่สุดในบ้าน” วาทินีอธิบาย
วาทินีและสามีได้ขอให้สถาปนิกในท้องถิ่นออกแบบแปลนของอาคารเพื่อให้ห้องพักทั้ง 4 ห้องของเกสต์เฮาส์ มีหน้าต่างทุกห้อง โดยปรากฏว่ารมณีย์ฯ เป็นที่นิยมมากจนต้องเปิดสาขา 2 ที่ถนนกระบี่เมื่อปีที่ผ่านมา โดยชั้นล่างของโรงแรมสาขาใหม่เปิดเป็นร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองเก่าแก่อย่างปิ่นโตเคลือบลายและจานชามทำจากไม้
ที่ร้านกาแฟ China Inn ที่ตั้งอยู่บนถนนถลาง
ก็มีส่วนที่เปิดเป็นร้านค้าให้แขกเลือกซื้อของพื้นเมืองเช่นกัน โดยมีของให้เลือกตั้งแต่เชี่ยนหมากโบราณจากพม่า ผ้าไทยปักลวดลายวิจิตร ไปจนกระทั่งรองเท้าเกี๊ยะสีแดงสดแบบจีน ไชน่า อินน์เปิดขึ้นในปี 2548 ด้วยฝีมือบูรณะของ สุภัทร พรหมจรรย์ ลูกหลาน
ชาวภูเก็ต โดยเป็นคาเฟ่แห่งแรกๆ ในตัวเมืองภูเก็ตที่ได้แปลงวัฒนธรรมบาบ๋าดั้งเดิมให้กลายมาเป็นประสบการณ์ที่นักท่องเที่ยวรับรู้และชื่นชมได้ โดย
ลานกลางอาคารของไชน่า อินน์ ตามแบบฉบับตึกแถวดั้งเดิมของภูเก็ต ได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นสวนน้อยๆ
ซึ่งประดับด้วยโต๊ะหินและหลังคากระเบื้องดินเผา
นุชรี ไกรทัศน์ เพื่อนสนิทของลูกสาวสุภัทร
ก็เป็นชาวภูเก็ตรุ่นใหม่อีกหนึ่งคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็ก ด้วยดีกรีการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนนานาชาติ ปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทจากศศินทร์ นุชรีถือเป็นแบบฉบับของลูกจีนจอมขยันทุกกระเบียดนิ้ว ปัจจุบัน เธอเป็นผู้บริหารของ Chalong Chalet Resort และ Coconut Village Resort ในป่าตอง แต่ปู่ของเธอคืออดีตนายกเทศมนตรีคนแรกของภูเก็ต และตัวเธอก็คุ้นเคยกับมนต์เสน่ห์ของเมืองเป็นอย่างดี เมื่อว่างเว้นจากการทำงาน นุจรีมักจะสวมชุดสไตล์บาบ๋าออกไปร่วมงานอีเวนท์ทางวัฒนธรรมที่แม่ของเธอจัด (พิธีวิวาห์แบบกลุ่มครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้) หรือไม่เช่นนั้น ก็ออกตระเวนหาผ้าบาบ๋าสวยๆ ตามร้านขายผ้าเก่าแก่ในเมือง หรือเดินหาซื้อขนมพื้นเมืองสุดโปรดอย่าง ‘ขนมอาโป้ง’ ซึ่งเหมือนขนมเบื้องที่กรอบบริเวณขอบส่วนใจกลางหนานุ่ม และ ‘ขนมโอ้เอ๋ว’ หรือวุ้นชนิดพิเศษที่ผสมกล้วยน้ำว้าเข้าไปด้วย “คนรุ่นดิฉันทยอยกลับมาที่ตัวเมืองภูเก็ตกัน เพราะว่ากระแสของช่วงนี้คือการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ป่าตองค่าครองชีพสูงมาก เราก็เลยเห็นการเปิดพื้นที่ใหม่ หรือฟื้นฟูพื้นที่เก่าเต็มไปหมด เมื่อก่อนคนแถวนี้ชอบเดินห้าง แต่เดี๋ยวนี้คนกลับมาเที่ยวในเมืองกันแล้ว” เธอกล่าว
มื้อหรูแบบบาบ๋า
‘ไฟน์ ไดนิ่ง’ แบบบาบ๋านั้นยืนพื้นอยู่บนรสของท้องถิ่นมากกว่าการพยายามเอาใจชาวตะวันตก ด้วยเหตุนี้
หากก้าวผ่านหน้าร้านโก้หรูของ ‘ตู้กับข้าว’ เข้ามา ภาพที่จะได้เห็นคือโต๊ะที่คราคร่ำไปด้วยครอบครัวคนภูเก็ต
เจ้าของร้านตู้กับข้าว คือธีระศักดิ์ ผลงาม ซึ่งพื้นเพเป็นลูกคนเมืองตรัง แต่แม่ของเขาย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เขาอายุได้ 7 เดือน โดยเริ่มสร้างตัวจากกิจการขนส่งผักและผลไม้จากป่าตองมายังตัวเมือง จากนั้นก็ซื้อเรือประมงลำแรก จนปัจจุบันมีเรือหาปลาแล้วกว่า 40 ลำ
“จะเอาคนเรือให้อยู่ต้องเขี้ยวมาก อย่างคุณแม่นี่
ไม่เคยยอมใครเลย แต่ช่วงหลังๆ มานี้ แม่เริ่มหันมาสนใจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดเพิ่งขายที่ดินตรงหาดกมลาไป 400 ล้านบาท” ธีระศักดิ์กล่าว ประวัติส่วนตัวของเขาเป็นเรื่องราวของการออกแสวงหาและหวนคืนถิ่นไม่ต่างจากคนภูเก็ตอีกไม่น้อย โดยเขาเข้าเรียนมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา ศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่สหรัฐอเมริกาก่อนจะกลับมาภูเก็ต สำหรับเขาแล้ว ร้านตู้กับข้าวเปรียบเสมือนสิ่งกระตุ้นความทรงจำในอดีตให้พรั่งพรูกลับมาแบบเดียวกับเค้กแมดเล็นชิ้นน้อยในนวนิยายของมาร์เซล พรูสต์
“เวลาผมเลิกเรียนกลับมาบ้าน จะถามแม่ตลอดว่า
‘เย็นนี้มีอะไรกินบ้าง’ แล้วแม่ก็จะชี้ให้ไปเปิดดูที่ตู้กับข้าว ของชอบก็คือฟักทองผัดกะปิ ซึ่งเป็นอาหารโปรดของคนใต้ เวลาพวกลุงๆ ป้าๆ อายุ 60-70 ปี เห็นเมนูนี้อยู่ในรายการอาหารก็จะดีใจกันมาก แล้วผมก็จะคอยฟังคำติชมเพื่อดูว่าเราปรุงรสชาติได้ถูกแล้วหรือยัง เพราะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านก็คือชาวภูเก็ต ถ้าหวังเอาใจแต่นักท่องเที่ยว สุดท้ายเมนูมันก็จะเหลือแค่พวกปอเปี๊ยะกับข้าวผัด”
อาคารของร้านตู้กับข้าวซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 122 ปีก่อนเพื่อเป็นโกดังเก็บอาหารของทางจังหวัด ปัจจุบันนี้ได้รับการตกแต่งใหม่ด้วยสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ ที่ธีรศักดิ์รวบรวมมาจากปีนัง และกรุงเทพฯ เช่นชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้แบบวินเทจ ถ้วยชามลายจีน เถาปิ่นโต และก็ตู้กับข้าวตามชื่อร้าน รสชาติอาหารของที่นี่ยิ่งน่าประทับใจ เมนูหมูฮ้องนั้นต่อยอดจากสูตรปีนังให้ถูกลิ้นไทยมากขึ้น โดยแทรกกระเทียมพริกไทย และใช้น้ำตาลปี๊บแทนน้ำตาลทรายแดง ผลที่ได้คือรสชาติจัดจ้านถึงเครื่อง และเนื้อสัมผัสที่หลากหลาย ส่วนเมนูเหลี่ยมต้อผัดเคยเค็ม ซึ่งสูตรเดิมใช้เนื้อหมูต้มในซอสถั่วเหลือง ทางร้านก็แปลงโดยเอาไปผัดกับกะปิเพื่อให้รสมีมิติตื่นเต้นเข้าไปอีก
น่าดีใจที่ทุกวันนี้มีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับตัวบ้านและวัฒนธรรมของเราเกือบทุกวัน
นอกจากนี้ ภูเก็ตยังเปิดรับความโมเดิร์นเข้ามาในอ้อมกอดแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองด้วยเช่นกัน ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีร้านกาแฟและขนมหวานสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟแบบ ‘single origin’ หรือน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี ร้านขนมต่างๆ รวมถึงบรรดาคู่รักชาวเกาหลีที่จูงมือกันมาถ่ายรูปแต่งงานกันตามท้องถนนเป็นสัญญาณที่เริ่มบอกให้ผู้หลงรักวัฒนธรรมบาบ๋าแท้ๆ รู้ว่าความนิยมในตัวเมืองภูเก็ตที่ก่อตัวขึ้นอาจเป็นได้ทั้งโอกาสของการฟื้นฟูของเก่า และความเสี่ยงที่จะถูกกระแสสมัยใหม่กลืน
อาจเป็นด้วยเหตุนั้น อิทธิพร สามารถ เชฟหนุ่มจากร้าน Miror Miror จึงตั้งปณิธานว่า ถึงเมนูของเขาจะเป็นอาหารตะวันตก แต่เขาก็จะทำอาหารเพื่อคนท้องถิ่น ซึ่งปรากฏว่าอิทธิพรก็ทำได้จริง ดังจะเห็นได้จากยามเราไปเยือนที่มิเรอร์ มิเรอร์ มีหนุ่มสาวภูเก็ตมานั่งรับประทานอาหารพร้อมกับตายายอย่างอบอุ่น โดยต่างกำลังจิบไวน์เคล้าอาหารประณีตที่ปรุงโดยฝีมือของอิทธิพร
สำหรับเมนูของที่นี่ อิทธิพรได้สำแดงทักษะการปรุงอาหารฝรั่งเศสสูตรดั้งเดิมซึ่งได้เรียนมาจากสถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ อย่างเต็มที่ โดยไม่ลืมที่จะใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบของท้องถิ่น ริซอตโต้ของเขาใช้น้ำมันแทนเนย และโรยพริกกับรากผักชีเข้าไปเล็กน้อยเพื่อตัดความเลี่ยนของครีม เช่นเดียวกับ
สปาเก็ตตี้ คอน ลา โบตาร์กา (สปาเก็ตตี้ไข่ปลากระบอก) ของเขาก็ได้ใส่ลูกเล่นปักษ์ใต้เข้าไปเหมือนกันโดยผ่านพริกและกุ้งแห้ง
ด้วยความที่เป็นคนนอก อิทธิพรจึงสามารถมองเห็นความแรงและเร็วของการเปลี่ยนแปลงในเมืองภูเก็ตได้อย่างชัดเจน “เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ภูเก็ตยังไม่มีอะไรเลย สองทุ่มคนก็เข้านอนหมดแล้ว
แต่เดี๋ยวนี้ สองทุ่มคนเพิ่งจะเริ่มตื่นกัน พวกลูกหลานของชาวเหมืองดีบุก เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าของกิจการและที่ดินกันหมด พวกนี้ปาร์ตี้หนักทั้งนั้น” อิทธิพรเล่า
มิเรอร์ มิเรอร์ ได้แสดงความเคารพต่อยุคสมัยของตัวอาคาร โดยการแต่งบาร์ให้มีกลิ่นอาย
ของยุค ‘20 ในอเมริกา แต่ในขณะเดียวกันก็ทันสมัยด้วยลิสต์ค็อกเทลแบบคลาสสิกที่กำลังกลับมาเป็นกระแส การขึ้นมาดื่มดํ่าบรรยากาศสบายๆ บนระเบียงชั้นสองของร้าน พลางจิบค็อกเทลสไตล์โคโลเนียลเรียบง่ายอย่าง Gin Fizz หรือค็อกเทลอเมริกันต้นตำรับอย่าง Manhattan ถือเป็นเรื่องควรแนะนำอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม หากจะวัดความโก้แล้ว
‘บ้านชินประชา’ ซึ่งตั้งอยู่ข้างภัตตาคาร
Blue Elephant ถือว่ากินขาดบรรดาพวกร้านรวงเปิดใหม่บนถนนดีบุกและถลางไปไกล ข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้นในบ้านแห่งนี้ล้วนนำเข้ามาจากเมืองจีน
มาตั้งแต่กว่า 100 ปีที่แล้ว หากยังคงสภาพสมบูรณ์ราวหยุดอยู่ในกาลเวลา (แม้กระทั่งกระเบื้องหลังคาก็ยังขนเข้ามาบนเรือสำเภา) แน่นอน เช่นเดียวกับอาคารเก่าอื่นๆ ในละแวก บ้านชินประชามีลานและอ่างหินอยู่ตรงกลาง เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับโครงสร้างทั้งหมด
จรูญรัตน์ ตัณฑวนิช เจ้าของคฤหาสน์แห่งนี้
คือภรรยาหม้ายของประชา ทายาทรุ่นที่ 5 ของ
ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาภูเก็ตเป็นกลุ่มแรก
ซึ่งเป็นคณะทูตจากราชสำนักจีนโดยตรง โดยที่บ้านชินประชาแห่งนี้ จรูญรัตน์จะคอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนในชุดแบบบาบ๋าดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วย เสื้อทรงมอญ กี่เพ้าที่ประดับด้วยข้อมือเสื้อแบบมลายู โสร่งอินโด เข็มกลัดทองอันวิจิตรบรรจง
“วัฒนธรรมบาบ๋าเกือบจะสูญสิ้นไปแล้วเมื่อ
40-50 ปีก่อน จนในปี 2536 ท่านผู้ว่าฯ ได้ขอให้สวมชุดพื้นเมืองบาบ๋ามาในงานที่ท่านเป็นผู้จัด
ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ได้สวมชุดบาบ๋า น่าดีใจที่ทุกวันนี้มีเด็กนักเรียนเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับตัวบ้านและวัฒนธรรมของเราเกือบทุกวัน วัฒนธรรมบาบ๋าเป็นของคนภูเก็ตทุกคน หวังว่ามันจะมีชีวิตอยู่ต่อไป บรรพบุรุษคงอยากเห็นอย่างนั้น”
■
Essentials
■
โกปี้เตี่ยม by วิไล
14 และ 18 ถนนถลาง ภูเก็ต
โทร. 083-606-9776
www.fb.com/kopitiambywilai
■
เดอะ รมณีย์ บูทิค เกสต์เฮาส์
15 ซอยรมณีย์ ถนนถลาง ภูเก็ต
โทร. 089-728-9871
www.fb.com/TheRommanee
■
ตู้กับข้าว
8 ถนนพังงา ภูเก็ต
โทร. 076-608-888
www.fb.com/tukabkhao
■
บ้านชินประชา
96 ถนนกระบี่ ภูเก็ต
www.fb.com/baanphrapitakchinpracha
■
China Inn
20 ถนนถลาง ภูเก็ต
โทร. 076-356-239
■
Mirror Mirror
ถนนดีบุก ภูเก็ต
โทร. 089-796-9956
www.fb.com/MirrorMirrorPhuket