SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Local Luxe
นักออกแบบของตกแต่งบ้านระดับแนวหน้าของกรุงเทพฯ เปิดโรงงานแสดงเนื้อแท้ของงานลักชัวรี พร้อมเผยเหตุผลที่แบรนด์หรูเลือกประเทศไทยเป็นฐานธุรกิจ
สำหรับ Lotus Arts de Vivre แล้วคำว่า ‘mass production’ หรือการผลิตของทีละจำนวนมากถือเป็นคำแสลง อันที่จริงแบรนด์เครื่องเพชรและของแต่งบ้านหรูเลิศแห่งนี้พยายามต่อต้านการผลิตในรูปแบบดังกล่าวอย่างแข็งขัน จนน้อยครั้งจะผลิตสินค้าดีไซน์เดียวซ้ำกันสองชิ้น ห้าชิ้นยิ่งไม่เคยปรากฏ
โลตัส อาร์ต เดอ วีฟว์ ซึ่งก่อตั้งโดยครอบครัวบือเรน ในช่วงปี พ.ศ. 2523 เป็นหนึ่งในแบรนด์ลักชัวรีระดับสากลจำนวนไม่น้อยที่มายึดเอากรุงเทพฯ เป็นบ้าน เนื่องจากเห็นว่าเมืองไทยมีส่วนผสมอันลงตัวระหว่างเสน่ห์แห่งประเทศตะวันออก และความเป็นแหล่งฝีมือชั้นเยี่ยม ทำให้นอกจากประเทศไทยจะสามารถผลิตสินค้าคุณภาพไร้ที่ติแล้วยังเปี่ยมเรื่องราวที่จะใช้เล่าต่อบรรดาลูกค้าผู้พิถีพิถันทั่วโลกได้
แต่ผิดกันกับความเชื่อที่ว่าชาวต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในเอเชียเพียงเพราะต้องการแรงงานราคาถูก บริษัทเหล่านี้บอกว่าเหตุผลที่ตั้งธุรกิจในไทยก็เพราะต้องการฝีมืออันเหนือชั้นของช่างไทย ไม่ว่าจะเป็นงานฝีมือท้องถิ่นอย่างการทอผ้าไหมและการปั้นหุ่น หรืองานฝีมือต่างชาติอย่างการเคลือบแลคเกอร์สไตล์ญี่ปุ่นและการ
หุ้มหนังกระเบน
วิถีไทย
นิกกี้ ฟอน บือเรน ซีอีโอคนปัจจุบันและบุตรชายของเฮเลนและโรล์ฟ ฟอน บือเรน สองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งโลตัสฯ กล่าวว่า “ลองดูพวงมาลัยของไทยเป็นตัวอย่างก็ได้ประเทศไหนๆ ในเอเชียต่างมีพวงมาลัยแบบของตัวเองทั้งนั้น แต่พวงมาลัยของไทยจะประณีตกว่าเพราะร้อยแน่นกว่า นี่ก็คือเอกลักษณ์ของไทย ถ้าดูพวงมาลัยอินเดียหรืออินโดนีเซียจะค่อนข้างหลวม แต่ของไทยจะแน่น และสิ่งเหล่านี้แสดงออกมาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะในรายละเอียดของบ้านทรงไทยหรือการจัดวางอาหาร เวลาเราผลิตของที่นี่จะได้คุณภาพเหนือกว่าที่อื่นมาก”
เมื่อแรกเริ่ม ธุรกิจของโลตัสฯ คือการทำเครื่องเพชรสุดประณีตจากวัสดุธรรมชาติทั้งชิ้นและมีเพียงชิ้นเดียว
ในโลกเพื่อขายให้กับสุภาพสตรีผู้มั่งคั่งในวงสังคมชั้นสูง แต่หลังจากนั้นบริษัทก็ได้ขยายออกไปทำเครื่องเรือนด้วย โดยเน้นเครื่องเรือนชิ้นโดดเด่นแบบ ‘statement piece’
ซึ่งออกแบบโดยใช้วัสดุหลักเพียงชิ้นเดียวและตกแต่งด้วยงานหัตถกรรมนานาแขนงของเอเชียรวมถึงไทย ทั้งนี้แนวทางการออกแบบจะมาจากตัวช่างเอง ไม่ใช่ตามคำสั่งของบริษัท
นิกกี้อธิบายว่า “ช่างฝีมือพวกนี้เขาเป็นศิลปิน ไม่ใช่เครื่องจักร กว่าจะทำงานด้วยกันได้เราต้องมีคนช่วยแนะนำตัวให้ ต้องค่อยๆ ทำความรู้จัก ค่อยๆ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันไป เราทิ้งของไว้กับเขา แล้วเขาก็เอามันไปแต่งไปทำ ผลงานอาจไม่ได้ออกมาดีเสมอไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเอางานชิ้นที่เราไม่ชอบโยนทิ้งไปได้ เราต้องเข้าใจว่าคนพวกนี้เขาหลงรักสิ่งที่เขาทำอย่างมาก และเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่เราจะเห็นพ้องกันทุกครั้ง”
แต่ไม่ว่าโลตัสฯ จะผลิตงานชิ้นใดอยู่ก็ตาม สุดท้ายงานชิ้นนั้นจะต้องกลับเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เสมอ เพื่อให้ทีมช่างฝีมือชั้นเยี่ยมของบริษัทประกอบ ประดับและตกแต่งชิ้นงานเป็นขั้นสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับหรือเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้โรงงานของโลตัสฯ ซึ่งซุกตัวอยู่หลังถนนพระราม 3 มีคลังสินค้ามโหฬาร ซึ่งได้รับการขนานนามว่า Theatre of Indulgence เนื่องจากเป็นที่แสดงของแต่งบ้านล้ำค่าของบริษัท ตั้งแต่ชิ้นไม้หงิกงอฝังแผ่นเงินรูปวานร ไปจนถึงโต๊ะจัดเลี้ยงทำจากรากไม้ขนาดยักษ์ที่ได้รับการขัดไสจนไร้ที่ติ
“เราไม่สามารถทำแบบนี้ที่อื่นในโลกได้ เป็นไปไม่ได้เลย ของธรรมชาติแต่ละชิ้นไม่มีเหมือนกันและจะต้องเอามาแต่งด้วยฝีมือที่ต่างกัน เราไม่มีทางทำของอย่างนี้แบบทีละเยอะๆ ได้”
ตามหาความหรูหราที่แท้
ครอบครัวบือเรนอาศัยอยู่ในหมู่เรือนไทยยกสูง 9 หลังท่ามกลางเงาของตึกระฟ้าในย่านที่ทันสมัยที่สุดของสุขุมวิท เมื่อพิจารณาดูแล้ว ครอบครัวนี้และกิจการของพวกเขาเป็นเสมือนภาพที่ฉายให้เห็นอดีตของวงการลักชัวรีก่อนยุคที่บริษัทคอนกลอเมอเรตยักษ์ใหญ่อย่าง LVMH และ Kering จะทำให้ลักชัวรีกลายเป็นของที่ผลิตทีละนับไม่ถ้วน ทั้งนี้เนื่องจากโลตัสฯ ผลิตของน้อยชิ้นมากต่อ 1 แบบ
โรล์ฟ ฟอน บือเรน พ่อของนิกกี้จึงต้องออกแบบดีไซน์ใหม่ๆ ทุกวันเพื่อให้ทันความต้องการของตลาด
“เราทำกันแบบนี้มาตลอด สมัยก่อนก็ทำกันแบบนี้ แต่ตอนนี้เป็นยังไง เขาใช้คำว่า ‘luxury for the masses’ มันฟังดูไม่ใช่เลยสำหรับผม แต่มันเป็นอย่างนี้ไปแล้ว”
นิกกี้กล่าว
ถึงแม้การนิยามผลิตภัณฑ์ลักชัวรีในแบบของโลตัสฯ จะสวนทางกับแนวทางที่เน้นเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหญ่แบบ ‘mass appeal’ ของแบรนด์ใหญ่อื่นๆ
ในตลาด แต่โลตัสฯ และแบรนด์ลักชัวรีท้องถิ่นเจ้าอื่นๆ ต่างตระหนักดีว่าสำหรับโลกภายนอกแล้ว การมีฐานที่ตั้งในประเทศไทยอาจทำให้แบรนด์ของพวกเขาถูกมองว่ามีมูลค่าต่ำกว่าแบรนด์ดังของยุโรปอยู่ดี ในเรื่องนี้
อเล็กซานเดอร์ ลามอนต์ ดีไซเนอร์จากอังกฤษผู้ซึ่งเติบโตขึ้นมาในลักษณะเดียวกับนิกกี้ คือเดินทางไปทั่วเอเชียกับบิดาที่เป็นพ่อค้าของเก่า เห็นว่าเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง
“คนมักเชื่อว่าการที่อยู่เอเชียแปลว่าเราจะต้องราคาถูกกว่าพวกบริษัทยุโรปที่ทำของอย่างเดียวกัน ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ช่วงแรกๆ ทุกคนที่ผมได้พบจะมีความคิดอยู่ในหัวว่าการทำแบรนด์ลักชัวรีในเอเชียนั้นจะต้องถูกกว่าและเผลอๆ ก็ง่ายกว่า แต่ความจริงก็คือการทำงานที่นี่ยากกว่ามาก” อเล็กซานเดอร์เล่า
อเล็กซานเดอร์ใช้เวลาอยู่หลายปีในการทำงานร่วมกับช่างฝีมือมากหน้าหลายตาในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและจีน ก่อนจะตัดสินใจรวมธุรกิจทั้งหมดไว้ที่กรุงเทพฯ โรงงานของ Alexander Lamont หลบอยู่ในซอยที่ห่างไกลจากถนนใหญ่ โดยเป็นที่ผลิตของตกแต่งบ้านอันเปี่ยมศิลปะที่คนส่วนมากมักได้เห็นจากนิตยสาร Elle Decoration ที่ตีพิมพ์ภาพที่อยู่อาศัยอันไร้ที่ติในนิวยอร์ก
เมื่อเดินเข้าไปในเขาวงกตที่มีแต่ห้องและประตูบานเตี้ยซึ่งรวมกันเป็นโรงงานของบริษัทอเล็กซานเดอร์
ลามอนต์ จะพบกับคนกลุ่มหนึ่งที่ก้มหน้าก้มตาขัดเงาพื้นผิว เขียนภาพ และลงสีอย่างใจเย็น ในขณะที่งานหนักอย่างการทำตู้วางของระดับไฮเอนด์นั้นจะเกิดขึ้นในตึกข้างๆ (“บอกได้เลยว่าห้องเครื่องระดับนี้ในเมืองไทยมีจำนวนนับได้ด้วยมือข้างเดียว” อเล็กซานเดอร์แอบกระซิบ)
แต่จุดต่างระหว่างช่างฝีมือของอเล็กซานเดอร์
ลามอนต์และโลตัสฯ คือช่างฝีมือของโลตัสฯ จะทำงานหัตถศิลป์แบบเอเชียดั้งเดิมเป็นหลัก ในขณะที่งานของลามอนต์จะครอบคลุมงานฝีมือแบบยุโรปตลอดจนการทดลองวัสดุแปลกใหม่ที่ลามอนต์คิดค้นขึ้นเองด้วย
อเล็กซานเดอร์เป็นที่รู้จักมากที่สุดจากผลิตภัณฑ์
ตู้วางของและโต๊ะหุ้มหนังกระเบน ซึ่งเขาเล่าว่าเป็นวัสดุที่เขาต้องใช้เวลาถึง 12 ปีในการศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเรียนมาจากนักหุ้มหนังกระเบนมือหนึ่งของฝรั่งเศส
ถ้าดูพวงมาลัยอินเดียหรืออินโดนีเซีย
จะค่อนข้างหลวม
แต่ของไทยจะแน่น และสิ่งเหล่านี้แสดงออกมาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะในรายละเอียดของบ้านทรงไทยหรือการจัดวางอาหาร เวลาเราผลิตของที่นี่ จะได้คุณภาพเหนือกว่าที่อื่นมาก
เทคนิค vs. ทัศนะ
อเล็กซานเดอร์บอกว่าข้อจำกัดใหญ่ที่สุดสำหรับวงการลักชัวรีในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องฝีมือไม่ถึง แต่เป็นความรู้เห็นที่จำกัดและการไม่ตระหนักว่าแบรนด์ลักชัวรีใหญ่ๆ สามารถทำอะไรได้ขนาดไหน “เรามีช่างฝีมือที่โดยรวมแล้วยังนึกตามไม่ออกว่าสิ่งที่ขอให้เขาทำมันเป็นยังไง เพราะเขาไม่เคยเห็น ผิดกับช่างของแอร์เมส พวกนั้นเดี๋ยวก็เห็นของโชว์จากหน้าร้านต่างๆ
ในปารีส เดี๋ยวก็ได้เห็นจากสื่อ คุณภาพและลีลาฝรั่งเศสทั้งหลายมันเป็นส่วนหนึ่งของคนๆ นั้นไปแล้ว ของพวกนี้ไม่ได้โจ่งแจ้ง แต่มันแทรกซึมอยู่กับตัวช่าง และทำให้งานของพวกเขามันมีความพิเศษขึ้นมาอีก”
แล้วสาเหตุใดทำให้อเล็กซานเดอร์ตัดสินใจทำธุรกิจที่นี่ เขาตอบว่า “เราดูหลายๆ ประเทศแล้วทั้งจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า แต่เราคิดว่าถ้าเราเลือกประเทศพวกนี้การทำธุรกิจคงจะลำบาก เพราะประเทศเหล่านั้นมีผู้ผลิตราคาถูกครองตลาดอยู่แล้ว ในขณะที่ประเทศไทย ถึงจะมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบยุ่บยั่บและภาษีศุลกากรอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยประเทศไทยก็ยังเอื้อให้เราทำในสิ่งที่อยากทำได้ อยู่เวียดนามกับจีนเราอาจสร้างธุรกิจที่ใหญ่กว่านี้ได้ แต่ผมรู้สึกว่านั่นไม่เหมาะกับเราเท่าไร”
ปีเตอร์ คอมเพอร์นอล ชายชาวเดนมาร์กผู้มีพ่อตาเป็นพ่อค้าโบราณวัตถุระดับแนวหน้าของกรุงเทพฯ (ถ้าได้ไปเยือน Fifty Years Arts & Antiques คลังสินค้าผสมโชว์รูมในบ้านริมแม่นํ้าของเขาจะรู้สึกเหมือนได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้สร้าง P.Tendercool แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง โดยเน้นเทคนิคการผลิตแบบยุโรป
ปีเตอร์ชำนาญในเรื่องการทำโต๊ะจากไม้โบราณแผ่นหนาๆ จากแหล่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยผิวของโต๊ะจะได้รับการขัดจนเรี่ยมไร้ที่ติก่อนนำมาวางบน
ขาโต๊ะทองแดงอ่อนช้อย แต่เขาเองก็ประสบกับปัญหาช่างฝีมืออ่อนความรู้เกี่ยวกับงานลักชัวรีชั้นเลิศเช่นกัน โดยเฉพาะหากเป็นงานในสาขาที่ช่างนั้นมีความชำนาญเก่าก่อนอยู่แล้วจนเกิดความยึดติด
ปีเตอร์เล่าว่า “โดยหลักๆ แล้ว เทคนิคที่เราใช้ทำขาโต๊ะนั้นไม่ต่างจากเมื่อ 5 พันปีก่อนเลย พูดอย่างง่ายๆ
ก็คือทำกล่องทรายขึ้นมา กรอกวัสดุลงไป ดึงออกมา
แค่นี้ก็จะได้ทองแดงก้อนหนึ่ง แต่ผมผิดหวังมากเพราะโรงหล่อที่นี่ไม่มีความตั้งใจที่จะวิจัยศึกษาเกี่ยวกับวิธีทำขาโต๊ะให้มันลึกซึ้งขึ้นเลย ผมพูดกับเขาว่า ‘คุณครับ คุณทำขาโต๊ะมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว มันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ
สิ่งเดียวที่ต่างคือตัวแบบที่ให้ใส่ลงไปในทรายแค่นั้นเอง’ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยากจะลอง ขนาดตอนนั้นคือช่วงเศรษฐกิจแย่มากด้วย ประเทศไทยมีศักยภาพเต็มไปหมด แต่คนยังอยากทำอะไรแต่แบบเดิมๆ ทำตาม
ขั้นตอนเดิมไปเรื่อยๆ โดยไม่พัฒนาความรู้ที่มีอยู่”
ธุรกิจของปีเตอร์เล็กกว่าโลตัสฯ และอเล็กซานเดอร์ลามอนต์ เขามีช่างฝีมือ 8 คนทำงานให้กับแบรนด์ในกรุงเทพฯ ส่วนงานหล่อทองแดงนั้นเขาต้องจ้างช่างหล่อชาวอิตาเลียน ผู้อ้างว่าเคยร่วมงานกับศิลปิน
เซอเรียลลิสต์ ชาวสเปน ซัลวาโด ดาลี มาก่อน
ปีเตอร์เล่าว่า “เราไม่เคยมีช่างฝีมือที่ลาออกจากบริษัทสักคน”
พิเศก เขตสันเทียะ ได้ทำงานกับ ปีเตอร์ คอมเพอร์นอลมาตั้งแต่เขาเปิดบริษัทเมื่อ 8 ปีก่อน พิเศกประกอบอาชีพช่างไม้ตั้งแต่อายุ 12 และตอนนี้เป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตที่บริษัทพี.เทนเดอร์คูล โดยมีหน้าที่ดูแลการผลิตทุกขั้นตอนรวมไปถึงควบคุมคุณภาพงานด้วย ตามคำบอกเล่าของพิเศก ผิวโต๊ะทุกชิ้นต้องใช้เวลาทั้งเดือนในการผลิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบและปัจจัยอื่นๆ เช่นความชื้น
ซึ่งอาจทำให้ความมันเงาของผิวโต๊ะเสื่อมลงได้
เขาเล่าว่า “ผิวโต๊ะเป็นส่วนที่ใช้เวลาทำนานที่สุด อย่างเทคนิค French polishing ต้องใช้เวลาทำนานถึง 2 เดือน แค่ขัดแต่งอย่างเดียวก็ใช้เวลาเป็นอาทิตย์แล้ว ผมไม่เคยได้ยินว่ามีบริษัทอื่นในไทยที่ทำโต๊ะคุณภาพสูงขนาดนี้ เราพยายามทำทุกอย่างตามแบบเก่า โดยใช้แต่ไม้โบราณและวัสดุธรรมชาติเท่านั้น ในขณะที่บริษัทอื่นใช้สารเคมีเช่นยูรีเทนเพื่อเคลือบไม้”
เพิ่มพูนศักยภาพ
แม้ว่าความพิถีพิถันในระดับของพิเศกนั้นจะยังหายากในประเทศไทย แต่สิ่งต่างๆ กำลังเริ่มเปลี่ยน ปีเตอร์กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่างานฝีมือกำลังมา คนเริ่มใส่ใจ ใส่ความรักในงาน และไม่ใช่แค่งานเฟอร์นิเจอร์ด้วย แต่รวมถึงทุกๆ อย่างทั้งอาหารและเครื่องดื่ม งานของคนที่นี่คุณภาพแข่งกับนานาชาติได้เลย เมื่อปีที่แล้วผมไปเที่ยวงาน Chiang Mai Design Week และทึ่งกับคุณภาพของงานมาก มีแต่คนตั้งใจทำงานดีๆ แต่สิ่งที่อาจยังขาดไปก็คือทัศนคติในการทำธุรกิจ”
เขายกตัวอย่างผู้จัดจำหน่ายสินค้า OTOP รายหนึ่ง
ที่มีพรมที่เขาต้องการซื้อ “ผมอยากเชิดชูศิลปะท้องถิ่นและอยากร่วมงานกับคนตำบลนี้ที่ทำพรมคุณภาพดีมาก แต่ปรากฏว่ายากมาก ผมไม่สามารถขอตัวอย่างพรมจากเขาได้ ผมบอกเขาไปว่าผมต้องการพรมขนาดเท่านี้ๆ สำหรับห้องตัวอย่าง แต่เขาบอกว่าทำให้ไม่ได้ ต้องสั่งจำนวนมากกว่านี้ หลายๆ บริษัทเป็นแบบนี้คือทำธุรกิจแบบแข็งเกินไป และไม่เข้าใจความต้องการของธุรกิจในศตวรรษที่ 21”
และนี่คือจุดที่ แสงระวี สิงหวิบูลย์ เข้ามามีบทบาทสำคัญ แสงระวีเป็นผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตศิลป์แห่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งให้ความรู้กับชุมชนเกษตรกรในเรื่องศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย เพื่อให้นำไปใช้หารายได้เลี้ยงชีพระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร
ผู้ที่ได้เข้ามาทำงานศิลป์ในไทยล้วนตระหนักดีว่าศักยภาพของฝีมือ
คนท้องถิ่นนั้นดีเกินพอที่จะไปสู่ความเป็นเลิศ
แม้ว่าฟังเผินๆ อาจดูเหมือนโอท็อปแต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว โดยในขณะที่งานอื่นๆ ของศศป. อาจทำให้นึกถึงของโบราณโดยเฉพาะในเมื่อมีคำว่า ‘หัตถกรรม’
เข้ามาเกี่ยว แต่สำหรับงานนี้ กลับเป็นการร่วมมือกับนักออกแบบรุ่นใหม่ชั้นแนวหน้าของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่ล้ำหน้า ก่อนจะนำออกแสดงต่อวงการดีไซน์ระดับโลก
“งานส่วนหนึ่งของเราคือการทำงานร่วมกับ
นักออกแบบ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์
คนสมัยใหม่ เราจับคู่ช่างฝีมือท้องถิ่นกับนักออกแบบ
โดยนักออกแบบจะได้ไปเยี่ยมชุมชนของช่าง ประเมินกำลังการผลิตและช่วยพัฒนาชิ้นงานต้นแบบที่จะนำไปทดลองในตลาดต่างประเทศได้” แสงระวีกล่าว
ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ของโครงการนี้จะไม่ใช่งานลักชัวรี
ในระดับเดียวกับแบรนด์อย่างอเล็กซานเดอร์ ลามอนต์และ พี.เทนเดอร์คูล แต่ก็เรียกว่าเป็นงานที่เข้าสู่ตลาดของนวัตกรรมและดีไซน์ที่ราคาสูงได้สำเร็จ เมื่อต้นปีนี้เอง Thinkk Studio หนึ่งในนักออกแบบที่แสงระวี
ร่วมงานด้วยได้นำผลงานไปออกนิทรรศการร่วมกับศศป. ที่งานแสดงเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของยุโรปไม่ว่าจะเป็น Maison & Objet ในปารีส ประเทศฝรั่งเศสหรือ IMM ในโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี
โดยนัยนี้ แม้คำว่า ‘made in Thailand’ อาจยังต้องการเวลาอีกนิดก่อนจะสามารถทำหน้าที่เป็นตราแสดงคุณภาพชั้นเยี่ยมในระดับสากลได้เต็มภาคภูมิ แต่ผู้ที่ได้เข้ามาทำงานศิลป์ในไทยล้วนตระหนักดีว่าศักยภาพของฝีมือคนท้องถิ่นนั้นดีเกินพอที่จะไปสู่ความเป็นเลิศ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเสมอมา
ดังที่ นิกกี้ แห่งโลตัส อาร์ต เดอ วีฟว์ กล่าวว่า
“ลองไปดูเรือพระราชพิธี ไปดูพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว
ดูคุณภาพงานดูสิ แล้วคุณจะทิ้งความเชื่อผิดๆ ที่ว่า
ศิลปหัตถกรรมไทยด้อยกว่าชาติอื่นไปได้ในทันที”
■
Essentials
■
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.)
59 หมู่ 4 บางไทรพระนครศรีอยุธยา
โทร. 035367054-9
www.sacict.net
■
Alexander Lamont
ชั้น 2 ห้างสรรพสินค้า Central Embassy 1031 ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
โทร.02-160-5772
www.alexanderlamont.com
■
Lotus Arts de Vivre
41/21 ถนนพระราม 3 กรุงเทพฯ
โทร. 02-294-1821
www.lotusartsdevivre.com
■
P. Tendercool
48-58 ซอยเจริญกรุง 30 กรุงเทพฯ
โทร. 02-266-4344
www.ptendercool.com
■
Thinkk Studio
7/8 ถนนเย็นอากาศ กรุงเทพฯ
โทร. 02-671-9317
www.thinkk-studio.com