SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ต้องระวัง
สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ความเสี่ยงหลักน่าจะยังเป็นเรื่องของจีน ซึ่งรัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดนั้นสะท้อนว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ดูดีขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา กำลังชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง ทำให้หน่วยงานของรัฐ เช่น สภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทยปรับตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลง การที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 เปอร์เซนต์ในปีนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย
สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจัยเสี่ยงคือการส่งออก การบริโภคที่มีข้อจำกัดและปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจทำให้การลงทุน
ภาคเอกชนไม่ขยายตัวดังที่คาด (เพราะเอกชนอยากเห็นความชัดเจนก่อนลงทุน)
สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ความเสี่ยงหลัก
น่าจะยังเป็นเรื่องของจีน ซึ่งรัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยในขณะเดียวกันก็ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการลดอุตสาหกรรมหลัก (เหมืองแร่ ถ่านหิน เหล็ก ฯลฯ) และอสังหาริมทรัพย์ลงและจัดสรรทรัพยากรส่วนเกิน (คือน่าจะต้องปิดบริษัทหรือลดขนาดบริษัทลง ทำให้ต้องปลดคนงาน 5 - 6 ล้านคน) ให้เข้ามาในภาคบริการมูลค่าสูงแทน ซึ่งจะทำให้จีนพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและการ
ส่งออกลดลงและหันมาขยายภาคบริการและการบริโภคในประเทศมากขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก การที่ปัจจุบันภาคเอกชนจีนมีหนี้สินประมาณ 200 เปอร์เซนต์ของจีดีพี แต่สินเชื่อยังขยายตัว 13 เปอร์เซนต์ต่อปี แปลว่ายอดหนี้ยังเพิ่ม 26 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับจีดีพี ในขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าให้จีดีพี (บวกเงินเฟ้อ) ขยายตัว 9 เปอร์เซนต์ต่อปี
ผมเปรียบเทียบจีดีพีเป็นเสมือนยอดขายของบริษัท ดังนั้นธุรกิจที่สร้างหนี้เพิ่มขึ้นปีละ 26 เปอร์เซนต์ของยอดขาย แต่ยอดขายเพิ่มขึ้นแค่ปีละ 9 เปอร์เซนต์ ซึ่งหากไม่แก้ตรงนี้ ย่อมจะมีปัญหาอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือในระหว่างนี้ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น คนพยายามเอาเงินออกนอกประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสูญเสียทุนสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้ความกังวลที่ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญเป็นประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนตลอดปีนี้
ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชีย สำหรับไทยนั้น จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญและเศรษฐกิจจีนยังมีผลต่อราคาสินค้าเกษตร ในขณะที่การอ่อนตัวลงของค่าเงินหยวนก็ย่อมจะต้องทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
แต่ในบางช่วงซึ่งดูเสมือนว่าจีนควบคุมสถานการณ์ได้และทำให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีเสถียรภาพ ก็อาจเกิดภาพตรงกันข้ามคือเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่มากและดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็ค่อนข้างสูง (1.5 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่ดอกเบี้ยนโยบายใกล้ศูนย์หรือติดลบ ทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาหาประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย จึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นการเพิ่มเติมนโยบายพิมพ์เงินใหม่
มาซื้อพันธบัตร (คิวอี) ของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อลดค่าเงินของประเทศของตน เนื่องจากเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามาก ก็ย่อมจะทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาหุ้นอย่างมาก ดังที่เห็นอยู่บ่อยครั้งในปีนี้และปีก่อนๆ ว่ารัฐบาลประเทศหลักไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้จึงต้องใช้มาตรการที่
‘สุดโต่ง’ ซึ่งหลายครั้งสร้างความผันผวนและบางครั้ง
ก็ส่งผลกระทบที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน
ในสภาวการณ์ดังกล่าว เราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนของเราอย่างไร ประเด็นที่ควรนำไปพิจารณาคือ
1. การลงทุนในหุ้นก็ยังให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดในระยะยาว แต่ก็เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสุด จึงจะต้องลงทุนอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้าน สามารถกระจายความเสี่ยงไปในประเทศหลักของโลก ไม่ใช่การคาดหวังจะเลือกหุ้นเด็ดในเมืองไทย หนังสือ A Random Walk Down Wall Street โดย ศ. เบอร์ตัน มาลเคียล
กล่าวว่าการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดของการลงทุนคือการจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่หุ้น พันธบัตร กองทุน อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ โดยได้มีการวิจัยพบว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวนั้นกว่า 90 เปอร์เซนต์ ได้มาจากการจัดสรรการลงทุนที่เหมาะสม (asset allocation) ส่วนผลจากการเลือกตัวหุ้นนั้นจะให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่ถึง 10 เปอร์เซนต์
2. การลงทุนในพันธบัตรในสภาวะปัจจุบันเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นพิเศษ เพราะมาตรการคิวอีทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรถูกบิดเบือนและอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ แปลว่านักลงทุนควรยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลง เพื่อลดความเสี่ยง (แทนที่จะยอมเพิ่มความเสี่ยงเพราะไม่อยากเห็นผลตอบแทนลดลง)
3. ในปีนี้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โลกเสี่ยงกับปัญหาเงินฝืดมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางของประเทศหลักเร่งพิมพ์สกุลเงินของตนเองเพิ่มขึ้นเพื่อหวังฟื้นเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่าจะยิ่งทำให้บุคคลทั่วไปให้ความเชื่อมั่นในเงินสกุลหลักลดลงและต้องการถือครองสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมากกว่า เช่น ทองคำ ตรงนี้จะต้องระมัดระวังว่าทองคำนั้นปกติใช้ในการลงทุนเมื่อกลัวปัญหาเงินเฟ้อ และในสภาวะปกติทองคำจะให้ผลตอบแทนต่ำ กล่าวคือ ภัทรแนะนำให้ถือทองคำเป็นเพียงส่วนย่อยของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเปราะบาง
มีกำลังการผลิตส่วนเกิน และมีปัญหาหนี้สินนั้น รัฐบาลของประเทศหลักจำต้องดำเนินนโยบายการเงินที่
แหวกแนว ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนมากกว่าปกติและส่งผลกระทบข้างเคียงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
ดังนั้น การลงทุนในระดับบุคคลจึงยิ่งจะต้องยืนอยู่บน
พื้นฐานของความรู้และข้อมูลที่ครบถ้วนและทันท่วงที การลงทุนควรกระจายความเสี่ยงอยางเหมาะสม
(ทั้งในเชิงของประเภทสินทรัพย์และประเทศหลักที่ควรไปลงทุน) และลดการคาดหวังผลตอบแทนลง เพื่อมิให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากเกินไป โดยผมมีความเห็นว่าผลตอบแทนประมาณ 5 เปอร์เซนต์ต่อปี ก็ค่อนข้างสูงและเป็นที่น่าพอใจในสภาวการณ์ปัจจุบันครับ
■