SECTION
ABOUTTHE FAST LANE
Full Speed Ahead
กฎข้อบังคับที่ผ่อนคลาย และความสนใจของเหล่ามหาเศรษฐีเอเชียที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้วงการเรือยอชท์ของภูเก็ตฝันหวานถึงการเป็นศูนย์กลางเรือซูเปอร์ยอชท์แห่งภูมิภาค
Ocean Emerald เป็นเรือซูเปอร์ยอชท์อลูมิเนียมที่สามารถโลดแล่นบนผิวนํ้าด้วยความเร็วถึง 12 นอต
แม้ความจริงแล้วตัวมันจะมีนํ้าหนักถึง 346 ตัน เนื่องจากต้องแบกรับทั้งทวินเจ็ตสกี ห้องสวีท 5 ห้อง ตลอดจนดาดฟ้าเรือไม้สักที่ล้อมรอบห้องส่วนกลางกรุผนังกระจกใส อย่างไรก็ตาม หากต้องการนำ ‘ของเล่น’ ชิ้นนี้ออกไปท่องอันดามัน ราคาเสนอขาย ในวันที่เปลี่ยนมือครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557 นั้น อยู่ที่ 5.5 ล้านยูโร (220 ล้านบาท)
ก่อนหน้านี้ไม่นาน การซื้อหรือนำเข้าเรือที่ชักธง
ต่างประเทศ ถือเป็นหนทางเดียวที่ถูกกฎหมายสำหรับผู้ที่อยากนำเรือซูเปอร์ยอชท์มาแล่นบนน่านนํ้าไทย เนื่องด้วยการเช่าเรือยอชท์ (อย่างน้อยก็ในกรณีที่แล่นเรือออกจากหรือเข้าเทียบท่าประเทศไทย) ไม่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายไทย แต่ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 2558 เมื่อเรือโอเชียน เอเมอรัลด์
ได้รับใบอนุญาตการค้าและบริการของเรือซูเปอร์ยอชท์
ในประเทศไทยเป็นลำแรก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นสักขีพยาน
เพราะเหตุนั้น ในปัจจุบัน ด้วยเงินเพียง 9 หมื่นยูโรต่อวัน (3.6 ล้านบาท) นักท่องเที่ยวก็สามารถนำเรือสำราญแสนงามขนาดยาว 41 เมตรลำนี้ ออกล่องทริปไปกลับภูเก็ต-เกาะรอก เพื่อหย่อนใจได้ ใบอนุญาตใหม่แกะกล่องนี้ ได้สร้างความมั่นใจว่าภูเก็ตจะสามารถกลายมาเป็นศูนย์กลางเรือซูเปอร์ยอชท์แห่งใหม่ของภูมิภาคได้ ขอเพียงอุปสรรคทางกฎหมายที่เหลือถูกผ่อนคลาย และผู้ซื้อชาวเอเชียเปลี่ยนใจมาชอบสายลมแสงแดดมากขึ้น
ใบอนุญาตล่องเรือ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยกระทรวงการคมนาคมผลักดันธุรกิจเรือยอชท์ อันที่จริงโฆษณาของ ททท. ที่ออกฉายในฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงกับเป็นกระแสดราม่าบนอินเทอร์เน็ตเลยด้วยซํ้าเพราะแสดงการเสพสุขขั้นหรูเลิศที่เต็มไปด้วยชุดราตรี ซิการ์ แชมเปญ และภาพเรือซูเปอร์ยอชท์ที่มีคนไดร์ฟกอล์ฟอยู่บนดาดฟ้า จนมีคนเหน็บว่าน่าจะตั้งชื่อโฆษณาว่า ‘ตามล่ามหาเศรษฐี’ ให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย
“ธุรกิจเรือยอชท์ทำให้เงินไหลเข้าประเทศมหาศาล เรือขนาด 40 - 50 เมตรนี่หมายถึงเงิน 1 - 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ฤดูกาล เพราะคนต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเรือ ค่าเชื้อเพลิง ค่านํ้า ค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่าอาหาร ซึ่งทั้งหมดต้องเสีย VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) อีกต่างหาก” นิโกลาส์ มงฌ์ ผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ประจำงานมหกรรมเรือยอชท์ ‘ไทยแลนด์ยอชท์ โชว์’ กล่าว โดยในงานมีเรือซูเปอร์ยอชท์ร่วม 50 ลำมารวมตัวกัน ที่ท่าเรืออ่าวปอ แกรนด์มารีน่า ภูเก็ต
ถึงแม้ว่าจำนวนเงินที่ว่าจะดึงดูดความสนใจจากรัฐบาลได้ แต่ในทางปฏิบัติ ใบอนุญาตเช่าเรือซูเปอร์ยอชท์ยังต้องแหวกว่ายอยู่ในกฎระเบียบซับซ้อนอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ แวงซองต์ ทาบูโต กรรมการผู้จัดการบริษัท Asia Marine ในภูเก็ต ซึ่งมีเรือยอชท์ขนาด 20 - 35 เมตรให้เช่ารวมกว่า 20 ลำ กล่าวว่า “โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี แต่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังค่อนข้างมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมแรงงาน หรือกรมเจ้าท่า”
อันที่จริงคำว่า ‘เข้าใจไม่ตรงกัน’ ยังออกจะเบาไปเสียหน่อย เพราะแม้ในขณะนี้การเช่าเรือซูเปอร์ยอชท์
ที่ชักธงต่างประเทศจะถูกกฎหมายแล้ว (หากเป็นเรือขนาด 30 เมตรหรือยาวกว่านั้น และมีผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน) แต่ใบอนุญาตไม่ได้ช่วยเคลียร์ประเด็นในด้านภาษีศุลกากร สรรพากร และการตรวจคนเข้าเมืองแต่อย่างใด ผลลัพธ์ก็คือ แม้ว่าเรือซูเปอร์ยอชท์ต่างชาติจะสามารถจอดที่ท่าไทยได้ 6 หรือ 12 เดือน แต่ลูกเรือก็ยัง
มีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวที่จำกัดระยะเวลาแค่ 30 วันอยู่ดี การที่กฎระเบียบต่างๆ ไม่ไปด้วยกันเช่นนี้ ทำให้
ใบอนุญาตเช่าเรือแทบจะไร้ประโยชน์ นอกจากนี้
กรมสรรพากรยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์จากตัวเรืออีก ซึ่งสำหรับเรือลำละ 5.5 ล้านยูโรแล้ว ภาษีนั้นย่อมเท่ากับ 3.85 แสนยูโร แม้จะวัดด้วยมาตรฐานมหาเศรษฐี การจ่ายเงิน 15 ล้านบาทเพียงเพื่อให้โอเชียน
เอเมอรัลด์ได้เข้ามาในทะเลอันดามันชั่ว 2-3 เดือนนั้น ไม่อาจสู้ราคากับลังกาวี เกาะปลอดภาษีของประเทศมาเลเซียได้เลย
“ด้วยตัวของมันเองนั้น เรือเป็นสิ่งที่รัฐบาลบริหารจัดการไม่ค่อยเป็น เพราะมันเคลื่อนที่ มันเปลี่ยนประเทศได้ อย่างเมื่อ 2 ปีก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มบังคับใช้กฎหมายเก่าอย่างจริงจัง ปรากฏว่าเรือหนีไปหมดเลย ถ้านับจำนวนเรือในประเทศไทยทั้งประเทศ จะเห็นว่ายังน้อยกว่าที่เรือในท่าของยุโรปท่าเดียวด้วยซํ้า ไม่ว่าโมนาโก หรือคานส์” แวงซองต์ กล่าว
ดร. จุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้รับปากว่าปมปัญหาทางกฎระเบียบที่มีอยู่ในขณะนี้จะถูกคลี่คลายในเร็ววัน ซึ่ง กูลู ลาลวานี ประธานบริหารโครงการ Royal Phuket Marina ก็ดูมั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เห็นได้จากที่ก่อนหน้านี้ กูลูได้ประกาศแผนทุ่มเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มพื้นที่จอดเรือจาก 170 ลำ เป็น 296 ลำ
“วงการเรือยอชท์ในภูเก็ตนั้นมีมานานราวๆ 16 ปี แต่กฎหมายที่ออกมาใหม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก
พอรัฐบาลอนุญาตให้เรือยอชท์ต่างประเทศเข้ามาในไทยได้แล้วอย่างนี้ มีโอกาสสูงที่จะดึงดูดพวกเรือลำใหญ่ พวกผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา” ชุนเกียรติ โชติธรรมาภรณ์
ผู้จัดการฝ่ายขายแบรนด์เรือยอชท์เชื้อสายแอฟริกาใต้ Leopard Catamarans กล่าว
กฎหมายที่ออกมาใหม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก
พอรัฐบาลอนุญาตให้เรือยอชท์ต่างประเทศ
เข้ามาในไทยได้แล้วอย่างนี้
มีโอกาสสูงที่จะดึงดูด
พวกเรือลำใหญ่
พวกผู้เล่นรายใหญ่เข้ามา
พาคนเอเชียลงเรือ
ถึงแม้จะขจัดปัญหาเรื่องกฎข้อบังคับไปได้
อีกหนึ่งอุปสรรคใหญ่ก็คือการหาลูกค้าชาวเอเชียเพิ่มเติม อุตสาหกรรมเรือสำราญเจ็บหนักจากวิกฤติค่าเงินรูเบิลดิ่งเหวในปี 2557 ซึ่งกวาดล้างฐานลูกค้าชาวรัสเซียเสียจนเกลี้ยง ดังนั้น นิโกลาส์ จึงตั้งเป้าให้ผู้เข้าร่วมงานมหกรรมเรือยอชท์เป็นชาวไทยให้ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตลาดเรือสำราญในไทยยังแทบไม่มีใครเปิดได้สำเร็จ เพราะแม้คนจะมีกำลังทรัพย์ แต่ชาวเอเชียโดยทั่วๆ ไปยังไม่ได้นิยมเสพสุขโดยการล่องเรือยอชท์เท่าใดนัก
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นชาวตะวันตก หรือเป็น expats ที่มาเที่ยวในภูเก็ตนานๆ ใช้ชีวิตอยู่ภูเก็ต หรือใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งในภูเก็ต ความจริงตอนนี้ก็เริ่มมีลูกค้าชาวจีนและไทยติดต่อมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั้งภูมิภาค คนเอเชียไม่ถึงกับบ้าทะเล บ้าเรือเท่าไหร่” ชุนเกียรติกล่าว
“เจ้าของเรือที่เป็นคนจีนไม่ค่อยชอบแดดด้วยซํ้า ไม่เหมือนคนรัสเซีย คนจีนชอบเปิดแอร์อยู่แต่ในเคบิน แล้วก็นั่งเล่น
ไพ่นกกระจอก ร้องคาราโอเกะ ดื่มไวน์กับโค้ก บางคนอาจจะชอบตกปลาหรือว่ายนํ้าก็จริง แต่สุดท้ายแล้ว การมีเรือใหญ่ 30-40 เมตรนี่เหมือนมีไว้แสดงฐานะมากกว่า” แวงซองต์ กล่าว
ไม่ใช่เรื่องแปลกใจหากเรือสำราญและรถยี่ห้อหรูจะ
เกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่น บริษัท Master Group Corporation (Asia) (เอมจีซี) ซึ่งเป็นตัวแทนรถหรูเช่น โรลส์-รอยซ์
และแอสตัน มาร์ติน ในประเทศไทย ได้เปิดตัว Azimut Lounge
ในพัทยาไปเมื่อปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อจัดแสดงเรือยอชท์ของแบรนด์อะซิมุตจากอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเรือสำราญตกแต่งประณีต ตั้งแต่ขนาด 10-35 เมตร ทั้งนี้ เอมจีซีมีแผนจะเปิด
อะซิมุต เลาจน์แห่งที่ 2 ในภูเก็ตในปีนี้
“ผมว่าคนไทยที่มีฐานะเริ่มเห็นแล้วว่าเรือไม่ได้แพงขนาดนั้น รถซูเปอร์คาร์คันหนึ่งก็ปาเข้าไปหนึ่งล้านยูโร (40 ล้านบาท) แล้ว แต่ด้วยเงินเท่ากัน คุณสามารถซื้อเรือขนาด 18 เมตร ได้ 1 ลำ
ยิ่งสำหรับหนุ่มๆ ที่อยากอวดสาว การพาไปล่องเรือนี่ชนะการนั่งแลมโบกินีแล้วไปติดอยู่ตรงไฟแดงในกรุงเทพฯ เป็นไหนๆ”
นิโคลัส มงฌ์ กล่าว
วรสิทธิ์ อิสสระ นักธุรกิจผู้โด่งดัง เจ้าของ ‘ศรีพันวา ภูเก็ต’ วิลล่าตากอากาศสุดหรูบนแหลมพันวา ที่มีทะเลครามหาดขาวเป็นทัศนียภาพ โดยในศรีพันวานั้น นอกจากจะมีเรือสปีดโบ๊ท และมีการเช่าเรือยอชท์ให้แขกอยู่เป็นประจำแล้ว ก็ยังมีเรือยอชท์ขนาดประมาณ 30 เมตร สำรองไว้สำหรับหุ้นส่วนธุรกิจอีกด้วย
วรสิทธิ์เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เขารักเรือยอชท์ว่า “อย่างแรกเลย การจราจรในภูเก็ตแย่มาก แต่เรามีทะเลล้อมรอบและมีที่ให้เรือไปได้เยอะแยะ ดังนั้นไปเรือดีกว่า แล้วเวลาอยู่บนเรือยอชท์ ผมก็สามารถพักผ่อน ฟังเพลง พาครอบครัวไปเที่ยวด้วยได้สบายๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันดีกับธุรกิจ ถ้าอยากเจรจาดีลให้จบจริง พาขึ้นยอชท์แล้วอีกฝ่ายก็จะหนีไปไหนไม่ได้ทั้งนั้น”
อย่างไรก็ตาม วรสิทธิ์ยอมรับว่าในเรื่องการล่องเรือนี้ยังมีช่องว่างทางวัฒนธรรมเหลืออยู่อีกไม่น้อย “คนเอเชียไม่ได้มีวัฒนธรรมชอบแล่นเรือเหมือนพวกเมดิเตอร์เรเนียน เราไม่ได้ตื่นเต้นกับแดด เพราะอากาศบ้านเราร้อนทั้งปี แต่มันก็เป็นโอกาส เพราะแปลว่าตลาดเรือยังโตได้อีกเยอะ”
วรสิทธิ์กล่าวว่าเขาได้เห็นการเติบโตอย่างมากในตลาดเรือซูเปอร์ยอทช์ โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปีที่เรือต่างๆ จะมารวมตัวกันที่ภูเก็ต “ผู้ชายพอมีเงินก็อยากซื้อของเล่น ยิ่งถ้าเพื่อนมี ก็อยากมีตาม แต่มันก็เหมือนซูเปอร์คาร์ คนบางคนซื้อมาขับทุกวัน แต่บางคนซื้อมา อาจจะเอาออกมาขับแค่ครั้งเดียว แล้วก็ไม่ขับออกไปไหนอีก ผมเคยเห็นเจ้าของเรือยอชท์คนไทยที่เป็นแบบนี้เลย”
ค่าใช้จ่าย
ชุนเกียรติเตือนว่าในบางครั้ง ผู้ซื้อรายใหม่มักจะประเมินต้นทุนของการเป็นเจ้าของเรือต่ำเกินไป ในแต่ละปี เรือสำราญลำหนึ่งมีค่าบำรุงรักษาประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของราคาป้าย และต้องหักค่าเสื่อมราคาลงอีก ปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากรถยนต์ ในส่วนของเชื้อเพลิงก็ไม่ใช่เล่นๆ เพราะนํ้ามัน 750 ลิตรนั้น แค่พอที่จะใช้พาเรือลำคู่ (catamaran) ขนาด 15 เมตร เดินทางไปกลับ ภูเก็ต-เกาะสิมิลัน ได้เท่านั้น
“เจ้าของก็จะพูดว่าทำไมต้องซ่อมนู่นซ่อมนี่ตลอดเวลา
ผมก็จะบอก อ้าว---เรือมันก็คือบ้านนั่นแหละ คนชอบเปรียบเทียบเรือกับรถหรือเครื่องบินเจ็ท แต่ความจริง รถและเครื่องบินมันมีไว้แค่ใช้เดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่หัวใจของการล่องเรือ คือการใช้เวลาระหว่างทางอย่างสำราญ ชมชายหาด ทะเล
กินอาหารจิบไวน์ รับการปรนนิบัติพัดวี ทุกๆ อย่างมีไว้เพื่อสร้างความสุข”
แน่นอน การเช่าเรือยังคงเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ค่าเช่าเรือ 23 เมตร ขนาด 2-3 ห้องพัก จะตกอยู่ที่ 2-3.5 แสนบาทต่อวัน
ซึ่งราคานี้ได้รวมค่าเรือ ค่าลูกเรือ ค่าเชื้อเพลิง และค่าอาหาร
แม้กระทั่งค่าไวน์ชั้นดี 2-3 ขวดไว้แล้ว แต่ยังไม่นับรวม
ค่ามัดจำ APA (Advance Provisioning Allowance) อีก
30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากขับเรือออกนอกเส้นทางหรือทำสิ่งของบนเรือเสียหาย เงินก้อนนี้ก็จะหายวับไปได้ง่ายๆ นอกจากนั้น การกินการดื่มอะไรเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแชมเปญ Roederer Cristal เย็นๆ หรือ Chateau Petrus ก็จะถูกหักออกจากค่าเอพีเอด้วย
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดอาจทำให้การล่องเรือฟังดูแพงไร้เหตุผล แต่ในขณะเดียวกัน ราคากระอักเลือดนี่เองที่เป็นเสน่ห์ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรือยอชท์เหล่านี้สามารถบ่งบอกสถานะอันพิเศษของเจ้าของได้ ดังที่ แวงซองต์ ตาบูโต กล่าวว่า “การซื้อเรือไม่ใช่เรื่องของเหตุผล มันคือเรื่องของความฝันล้วนๆ พวกเจ้าของเรือยอชท์ในยุคแรกก็เป็นคนยุโรป ซึ่งต่อมาก็ถูกแทนที่โดยคนรัสเซีย ซึ่งต่อมาก็ถูกแทนที่โดยคนจีนอีก แม้แต่ประเทศไทยเอง เราเจอทั้งซาร์ส เจอทั้งสึนามิ เจอทั้งวิกฤติการเมือง แต่ตลอด
20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการล่องเรือไม่เคยหยุดเติบโตเลย”
ในงานแสดงเรือนานาชาติภูเก็ต ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ Royal Phuket Marina กูลู ลาลวานี ได้ประกาศว่า
ผู้เข้าชมงาน 54 เปอร์เซ็นต์ มาจากภูมิภาคอาเซียน (มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์จากยุโรป) ดังนั้น แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเติบโตในภายภาคหน้าจะมาจากที่ใด ด้วยเหตุนี้ ยิ่งรัฐบาลสามารถจัดการอุปสรรคของอุตสาหกรรมนี้ให้หมดไปได้รวดเร็วเท่าไร ภูเก็ตก็จะสามารถเปิดตลาดเรือยอชท์อย่างเต็มตัว และบรรลุความฝันในการเป็นคู่แข่งของโมนาโก หรือคานส์ได้เร็วเท่านั้น
■
Essentials
■
Asia Marine
Phuket Boat Lagoon 20/99 หมู่ 2 ถนนเทพกระษัตรี ภูเก็ต
โทร. 076-239-111
www.asia-marine.net
■
Azimut Lounge Pattaya
Ocean Marina Yacht Club 274/1-9 หมู่ 4 ถนนสุขุมวิท กิโลเมตรที่ 157 ชลบุรี
www.thailand.azimutyachts.com
■
Leopard Catamarans
Ao Po Grand Marina 113/1 หมู่ 6 อ่าวปอ ภูเก็ต
โทร. 081-766-1799
www.leopardcatamarans.com
■
Royal Phuket Marina
68 หมู่ 2 ถนนเทพกระษัตรี ภูเก็ต
โทร. 076-379-397
www.royalphuketmarina.com