HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


เมื่อดอกเบี้ยติดลบ...

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)


แม้แต่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็เคยเข้าใจกันว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์ไม่ได้ และโมเดลในการทำนายอัตราดอกเบี้ยหลายโมเดล ยังไม่สามารถทำงานได้เมื่อดอกเบี้ยแตะศูนย์หรือติดลบ

     หลายๆ คนคงประหลาดใจไม่น้อย เมื่อได้ยินว่ามีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบโดยธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกหลายแห่ง ดอกเบี้ยติดลบแปลว่าอะไร และมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนอย่างไร

     โดยทั่วไปแล้ว ‘อัตราดอกเบี้ย’ คืออัตราผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้คิดกับผู้กู้ แลกกับการให้ ‘เงิน’ ไปใช้ชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติก็จะคิดกันเป็นอัตราร้อยละต่อช่วงเวลา และเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า อัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นบวก หรืออย่างต่ำที่สุดก็เป็นแค่ศูนย์เท่านั้น (คือให้ยืมกันฟรีๆ) เพราะถ้าผู้ให้กู้ได้ ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ หรือผู้ให้กู้ต้อง ‘จ่าย’ เพื่อให้ผู้กู้นำเงินไปใช้ ผู้ให้กู้น่าจะมีทางเลือกคือเก็บเงินนั้นไว้เฉยๆ ดีกว่า

     หนึ่งในหน้าที่ของ ‘เงิน’ คือการรักษามูลค่า (store of value) ถ้าดอกเบี้ยน้อยกว่าศูนย์ ผู้ให้กู้นั้นก็น่าจะเก็บเงินไว้กับตัว เหมือนเอาเงินขุดฝังตุ่มไว้ กลับมาก็มีค่าเท่าเดิม

     แม้แต่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปก็เคยเข้าใจกันว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์ไม่ได้ และโมเดลในการทำนายอัตราดอกเบี้ยหลายโมเดล ยังไม่สามารถทำงานได้เมื่อดอกเบี้ยแตะศูนย์หรือติดลบ!

     แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางทั่วโลก มีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยจนเหลือศูนย์ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเริ่มฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทีละหน้า โดยเริ่มจากการทำ ‘การ กระตุ้นเชิงปริมาณ’ หรือ quantitative easing โดยการซื้อสินทรัพย์อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยตรง แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน จนงบดุลของธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลกขยายใหญ่แบบที่เห็น

     ธนาคารกลางหลายแห่งกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล (เพราะซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้เยอะมาก) และในบางประเทศ ธนาคารกลางไล่ซื้อสินทรัพย์จนแทบจะไม่มีสินทรัพย์เหลือให้ซื้อ ต้องเพิ่มประเภทของสินทรัพย์ที่จะให้ซื้ออยู่เนืองๆ

     แต่ปัญหาคือ ภาคธนาคารในหลายประเทศยังไม่กล้าเอาสภาพคล่องที่ถูกจับยัดใส่มือไปปล่อยกู้ให้เป็นสภาพคล่องในระบบ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด เงินที่ถูกอัดฉีดเข้าระบบธนาคาร จึงค้างอยู่กับธนาคารกลางเป็นจำนวนมาก ไม่ได้ถูกเอาไปหมุนเพิ่มสภาพคล่องอย่างที่ตั้งใจ

     ผลที่ตามมาคือ ธนาคารกลางหลายแห่งต้องฉีกตำราธนาคารกลางอีกหน้า แล้วเริ่ม ‘ทดลอง’ นำนโยบาย ‘ดอกเบี้ยติดลบ’ มาใช้ เพื่อเหตุผล สองประการ หนึ่ง คือเพื่อไล่ให้ภาคธนาคาร นำเงินไปปล่อยกู้หมุนต่อในระบบ ไม่นำมาทิ้งค้างไว้เฉยๆ อยู่กับธนาคารกลาง และสอง คือเป็นการไล่เงินออกจากประเทศ ไม่ให้ถูกเงินจากต่างประเทศเข้ามากดดันทำให้ค่าเงินของตนแข็งเกินไป หรือบางประเทศก็คงอยากเห็นเงินตัวเองอ่อนไปอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


เราได้เข้าสู่ยุคที่คน ยอมจ่ายเงินมากกว่า มูลค่าหน้าตั๋วในวันนี้ เพื่อแลกกับกระดาษที่จะจ่ายเงินคืนกลับมาที่มูลค่าหน้าตั๋วในอนาคต หรือเรียกว่ายอมขาดทุนแบบไม่มีความเสี่ยง และพันธบัตรมูลค่ามหาศาลทั่วโลกเริ่มมีผลตอบแทนติดลบกันแล้ว

     ปัจจุบันมีธนาคารกลางที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบแล้วอย่างน้อย 5 ธนาคารกลาง ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางของสวิตเซอร์-แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และญี่ปุ่น และแม้จะมีการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบแล้วยังไม่ได้ผลตามที่คาด ก็ยังมีการประกาศให้ดอกเบี้ยติดลบมากขึ้นอีก จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าขีดจำกัดของการใช้นโยบายแบบนี้อยู่ตรงไหน และถ้าไม่ได้ผลจริงๆอะไรจะเป็นทางเลือกในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

     แต่เมื่อธนาคารกลางใหญ่ๆ เหล่านี้นำอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้กับธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับผู้ฝากเงินจะยังไม่ติดลบ ประชาชนทั่วไปก็หลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยในตลาด การเงิน และตลาดพันธบัตรรัฐบาลก็ติดลบตามไปด้วย เนื่องจากเมื่อธนาคารพาณิชย์มีเงินเหลือก็ยอมไล่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลจนผลตอบแทนติดลบ ดีกว่าจะไปให้ธนาคารกลางคิดดอกเบี้ย กองทุนพันธบัตร กองทุนตลาดเงิน ที่ประชาชนทั่วไปเคยใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนคงเห็นผลขาดทุนแบบแทบจะแน่นอน

     แปลว่าเราได้เข้าสู่ยุคที่คนยอมจ่ายเงินมากกว่ามูลค่าหน้าตั๋วในวันนี้ เพื่อแลกกับกระดาษที่จะจ่ายเงินคืนกลับมาที่มูลค่าหน้าตั๋วในอนาคต หรือเรียกว่ายอมขาดทุนแบบไม่มีความเสี่ยง และพันธบัตรมูลค่ามหาศาลทั่วโลกเริ่มมีผลตอบแทนติดลบกันแล้ว โดยพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันติดลบไปจนถึงอายุ 7 - 8 ปี ในขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปีของญี่ปุ่นมีผลตอบแทนติดลบ เช่นกัน

     นอกจากนี้ ตัวธนาคารเองก็ยอมให้ธนาคารอื่นๆ ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยติดลบ (แถมเงินให้ด้วย) เพื่อให้เงินส่วนเกินนั้นกลายเป็นปัญหาของธนาคารอื่น

     สาเหตุหนึ่งที่อัตราดอกเบี้ยนั้นสามารถติดลบได้ถ้วนหน้า โดยคนไม่ถอนไปถือเงินสดแบบที่ทฤษฎีว่าไว้ น่าจะเป็นเพราะในความเป็นจริงนั้นการถือเงินสดก็มีต้นทุน ธนาคารที่มีเงินเหลือยินดีให้ธนาคารกลางคิดค่าเก็บ ดีกว่าถอนออกมาเป็นเงินสดเก็บไว้ในห้องนิรภัย แต่นั่นหมายความว่า ถ้าดอกเบี้ยติดลบไปมากๆ อาจจะ ‘คุ้ม’ ที่จะถอนออกมาเก็บไว้จริงๆ แต่นั่นจะเป็นการดูดเงินออกจากระบบทำให้การหมุนเวียนของสภาพคล่องแย่ไปกว่าเดิม และอาจจะเป็นข้อจำกัดของการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ

     อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่การลงทุนในประเทศที่ใช้ดอกเบี้ยติดลบเท่านั้น แม้เราคิดว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านเราต่ำแล้ว แต่เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยติดลบในประเทศเหล่านี้ อัตราดอกเบี้ยบ้านเราอาจจะดูสูงไปเลยก็ได้ ทำให้เริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้ามาสู่ตลาดพันธบัตรประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย รวมถึงไทยด้วย ซึ่งกดดันทั้งค่าเงิน และทำให้อัตราดอกเบี้ยของเราต่ำลง และด้วยสภาพแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ค่อยสดใสนัก ก็ยิ่งทำให้ผลตอบแทนระยะยาวของเราลดต่ำลงไปอีก

     ภาพของอัตราผลตอบแทนโดยรวมของการลงทุนจึงอยู่ในสภาพต่ำกันถ้วนหน้า การลงทุนที่ยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี ก็จะเป็นที่ต้องการและถูกไล่ราคาขึ้นไป จนทำให้ผลตอบแทนเริ่มลดต่ำลง นักลงทุนที่เคยคุ้นกับการได้ผลตอบแทน 4 - 5 เปอร์เซ็นต์ แบบไร้ความเสี่ยง (เช่นเงินฝากธนาคาร หรือพันธบัตรเอกชนคุณภาพดี) อาจจะพบว่าหาการลงทุนแบบนั้นได้ยากขึ้นทุกที

     ในฐานะนักลงทุน มีความจำเป็นที่เราต้องวางแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และอาจมีความจำเป็นมากขึ้นที่นักลงทุนจะต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนของการลงทุนลดต่ำลงมากเกินไป (ซึ่งก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงในอีกลักษณะหนึ่ง) ในขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระดับความเสี่ยงของการลงทุนโดยรวมให้อยู่ในระดับที่รับได้และบริหารจัดการได้

     การกระจายความเสี่ยงไปในการลงทุนหลายประเภท จัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสม และการศึกษาทางเลือกในการลงทุน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในภาวะปัจจุบัน ทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจและสม่ำเสมอ เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงยังคงน่าสนใจอยู่

     อย่างไรก็ดี ปัญหาคือเรายังไม่ค่อยแน่ใจนักว่า ภาวะที่เราเห็นอยู่เช่นนี้จะนำไปสู่ทางออกใด และผลกระทบจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งอาจพูดได้ว่าเรากำลังอยู่ในดินแดนที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อน และเป็นการทดลองทางนโยบายครั้งใหญ่ ที่แม้แต่ธนาคารกลางที่นำนโยบายเหล่านี้ออกมาใช้อาจจะไม่ค่อยแน่ใจนักว่าจะจบอย่างไร

     จับตาดู และติดตามสถานการณ์กันดีๆ ครับ