SECTION
ABOUTTHE GOOD LIFE
Not Your Average Hero
เชิญพบกับเหล่านักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการ ผู้สามารถสร้างแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลไกลกว่าขอบสนามกีฬา
วันที่ 4 มิถุนายนปี 2545 ขณะที่ วิจิตรา ใจอ่อน กำลังเดินทางไปโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี รถโรงเรียนคันที่เธอนั่งมาถูกโจมตีโดยกลุ่ม God’s Army กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงชาวคริสต์ติดอาวุธตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่ได้ก่อเหตุรุนแรงในช่วงปี 2540 - 2549 ภายในชั่วอึดใจเดียว วิจิตราเห็นรุ่นพี่ที่นั่งข้างๆ เธอโดนยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เห็นร่างนักเรียนหลายคนร่วงออกมาจากรถ แล้วเธอก็หมดสติไป
เมื่อวิจิตราตื่นขึ้นในโรงพยาบาลในวันถัดไป เธอก็ได้ทราบว่าเธอจะไม่สามารถเดินได้อีกตลอดชีวิต เธอเล่าว่า “หนูตกใจมาก รู้เลยว่าเราจะต้องเป็นภาระให้ครอบครัว คิดอยู่อย่างเดียวตอนนั้นคือไม่อยากอยู่แล้ว หนูพยายามกระทั่งหยุดหายใจด้วย แต่มีเครื่องช่วยหายใจอยู่ก็เลยไม่ได้ผล
มองในภาพรวมแล้ว ความรู้สึกในขณะนั้นของ
วิจิตราเป็นภาพสะท้อนที่ดีของปฏิกิริยาที่สังคมไทยมีต่อความพิการ คือ ‘ความตกใจ’ คนไม่น้อยยังมองเหยื่อความพิการด้วยสายตาของความเวทนาหรือความเสียวไส้
แต่ไม่นาน วิจิตราก็ก้าวพ้นความรู้สึกแรกของเธอได้
ด้วยพลังของทัศนคติที่ถูกบ่มเพาะขึ้นผ่านการแข่งขันกีฬาคนพิการ
แต่กีฬาคนพิการไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อปลอบคนพิการว่าชีวิตยังมีอะไรมากกว่าความพิการ และก็ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่ออวดให้คนในสังคมเห็นว่าคนพิการมีความสามารถเหนือคนปกติทั่วไปเท่านั้น ตรงกันข้าม กีฬาคนพิการดูเหมือนจะมีไว้เพื่อคนปกติเองนี่แหละ
เราได้พบกับวิจิตราที่งานเสวนา ‘ธรรมดา 32
พิเศษ 100+’ พร้อมๆ กับนักกีฬาปิงปองพิการคนอื่นๆ
ที่ได้เข้าแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ พวกเขามาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการไม่ยอมแพ้ที่มุ่งกระตุ้นทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คน ‘ธรรมดา’ ให้ลุกขึ้นทำลาย
ข้อจำกัดของตนเองให้ได้ ข้อความของพวกเขามีอยู่
อย่างเดียวเท่านั้น ‘ถ้าเราทำได้ คุณก็ทำได้
สภาพแวดล้อมที่ท้าท้าย
วินาทีที่คนคนหนึ่งต้องรับรู้ว่าตนพิการนั้นเป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าวอย่างมาก เพราะการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติกลับกลายเป็นเรื่องยากลำบากเหมือนปีนเขา กิจวัตรประจำวันเช่นการเข้าห้องน้ำให้ความรู้สึกเหมือนภารกิจหฤโหดที่ไม่อาจสำเร็จลุล่วง ดังที่ วันชัย ชัยวุฒิ แชมป์กีฬาปิงปองเล่าให้ฟังถึงวันแรกๆ หลังหมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโปลิโอขั้นรุนแรงว่า “การกลับไป
เข้าเรียน แปลว่าผมจะต้องทนให้คนรังแก ให้คนเรียกว่าไอ้ง่อย ให้ครูเขามองเราด้วยความเวทนา”
ในประเทศไทย ความกลัวของคนพิการว่าตนจะเป็นภาระของคนอื่นยิ่งถูกซ้ำเติมโดยความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับคนพิการ แค่การเดินทางประจำวันก็เหมือนเกมตะลุยด่าน เพราะการต้องขึ้นรถเมล์ หรือรถไฟซึ่งไม่มีที่เทียบรถเข็น เพื่อไปต่อกับรถแท็กซี่ สองแถว และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไม่มีระบบอะไรแน่นอนนั้น แม้กับคนพิการในระดับไม่มากนัก ก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว
ในขณะที่ความคิดเรื่องการสร้างตึก ผลิตภัณฑ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เป็นมิตรกับคนพิการและผู้สูงอายุ หรือ ‘universal design’ ปรากฎขึ้นในสหรัฐอเมริกาในยุค ‘60 แต่กว่าความคิดนั้นจะมาถึงเอเชีย (ผ่านทางญี่ปุ่น) ก็เป็นยุค ‘90 เข้าไปแล้ว ในปี 2547 ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้ร่วมกันสร้างมาตรฐานของภูมิภาคในเรื่องนี้เพื่อรองรับงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2551 ส่วนประเทศไทยก็มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
คนพิการในปี 2550 ซึ่งกำหนดให้คนพิการสามารถเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาล กระบวนการยุติธรรม โอกาสในการจ้างงานและพื้นที่สาธารณะได้ กระนั้น ข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ปี 2552 ประเมินว่าคนพิการร้อยละ 64.8 ยังตกงาน (อัตราของสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันคือร้อยละ14.5)
กีฬาคนพิการไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อปลอบคนพิการว่าชีวิตยังมีอะไรมากกว่าความพิการ และก็ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่ออวดให้คนในสังคมเห็นว่าคนพิการมีความสามารถเหนือคนปกติทั่วไปเท่านั้น ตรงกันข้าม กีฬา
คนพิการดูเหมือนจะมีไว้เพื่อคนปกติเองนี่แหละ
การต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ย่อมชวนให้ผู้พิการหมดหวัง และทำให้ครอบครัวผู้พิการต้องเหนื่อยมากขึ้นในการประคับประคองกำลังใจผู้พิการ ประหยัด เทพธรนี พ่อของนิพนธ์ ผู้พิการตั้งแต่ช่วงเอวลงไปอันเนื่องจากเส้นประสาทกระดูกสันหลังถูกทำลายจากอุบัติเหตุที่ไซต์ก่อสร้างในปี 2540 เล่าว่า “ผมต้องหาว่าเขาชอบอะไรเพื่อให้เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อและเรียกความมั่นใจของเขากลับคืนมา
ผมถือว่ามันเป็นชะตากรรมร่วมของครอบครัว เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพราะ
สิ่งที่เขาต้องเผชิญนั้นก็ยากพออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องปัญหาสุขภาพ หรือเรื่องการกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง” แต่นี่เองคือจุดที่กีฬาสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญ
กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ
สอดคล้องกันกับคำพูดของเมืองไทยที่ว่า ‘กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ’ ในปี 2541 ประเทศไทยได้ลุกขึ้นเป็น
เจ้าภาพเอเชียนเกมส์เป็นครั้งแรก และเพียง 1 เดือน
ให้หลัง กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นเจ้าภาพเฟสปิกเกมส์ (FESPIC) หรือการแข่งขันกีฬาคนพิการภาคพื้นตะวันออกไกลและแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาเอเชียนพาราเกมส์อีกด้วย
ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมเทเบิลเทนนิสคนพิการ กล่าวว่า “หลังจบกีฬาเฟสปิกเกมส์ คนพิการหลายคนหันมาเล่นกีฬา เพราะตอนที่มีการถ่ายทอดเฟสปิกเกมส์ เป็นครั้งแรกที่คนพิการได้รับการมองว่ามีศักยภาพ และสามารถสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อคนพิการ ก่อนหน้านั้นสังคมไม่คิดว่าคนพิการมีศักยภาพ ไม่คิดว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ คิดว่ายังไงเราก็ต้องได้รับความช่วยเหลือตลอดเวลา”
1 ปีหลังจากอุบัติเหตุที่ทำให้เธอพิการ วิจิตราได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ย้ายไปเข้าโรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ๆ ชีวิตของ
วิจิตราจะได้พบจุดหักเหอีกครั้ง เพียงแต่สำหรับครั้งนี้มันเป็นไปในทิศทางที่ดี
“หนูไม่เคยเห็นคนพิการจำนวนเยอะเท่านี้มาก่อน หลายๆ คนลำบากกว่าเราอีก แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือตอนที่เห็นคนอื่นๆ เขาเล่นฟุตบอลกันโดยใช้มือเตะบอลแทนขาที่เสียไป ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าพวกเขามีความสุขกันขนาดนั้นได้ยังไง มันเหมือนเขาดีใจด้วยซ้ำที่เป็นอย่างนั้น”
เรื่องราวทำนองนี้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับนักกีฬาปิงปองคนพิการทีมชาติไทยหลายต่อหลายคน การ
หันมาเล่นกีฬานั้นเป็นมากกว่ากายภาพบำบัด วันชัย
เล่าว่า “การเคลื่อนไหวมันเป็นสิ่งที่น่าประทับใจและสง่างามในตัว คนบางคนไม่มีแขนขา แต่ดูแล้วรู้ว่าเขามีความมุ่งมั่น แค่ดูการเคลื่อนไหวนี่เรารู้เลยว่าเขายังเห็นโลกสวยงาม” วันชัยเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 10 ปี
โดยการรักษากับหมอเถื่อนทำให้เขาเป็นอัมพาตมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ หลังจากนั้นไม่นาน เขาได้พบกับ
ไมตรี คงเรือง กัปตันทีมปิงปองคนพิการที่งานแข่งกีฬาในราชบุรี และได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมทีม
คนส่วนใหญ่อาจพอใจที่จะเล่นกีฬาเอาสนุก
แต่การฝึกเพื่อเป็นนักกีฬามืออาชีพนั้นนับว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สภาพร่างกาย
ไม่เอื้ออำนวย เพราะผู้ฝึกซ้อมจะต้องมีวินัยและความรับผิดชอบมากเป็นพิเศษ อย่างเช่นวันชัย ซึ่งต้อง
ตื่นนอนตอนตีห้าและฝึกซ้อมหลายชั่วโมงทุกวัน
“ถ้าเราฝึกแค่พอๆ กับคนทั่วไป เราก็ไม่มีวันเก่ง
เท่าเขาได้ บางทีผมรู้สึกเจ็บปวดเกินกว่าจะทนไหว
แต่ผมก็พยายามสู้ต่อไป เพราะผมรู้ว่าไม่มีใครมาทำแทนผมได้” วันชัย ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสชายมือวางอันดับ 11 ของโลกกล่าว โดยเขาได้เคยแสดงฝีมืออันน่าประทับใจเมื่อคราวชนะมือวางอันดับ 3 ของโลกในปี 2557 และโดยไม่ยิ่งหย่อน
กว่ากันเท่าไหร่ วิจิตราได้ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 6 ของฝ่ายหญิง
โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ ผู้เป็นอดีตนักกีฬาปิงปองทีมชาติเมื่อ 20 ปีก่อนเล่าว่า “ก่อนที่เขาจะได้มาเป็นตัวแทนประเทศ นักกีฬาพวกนี้ต้องผ่านอะไรมามากกว่าคนปกติเยอะ” ทั้งนี้ความมุ่งมั่นของนักกีฬา ทำให้โค้ชปริญญาติดใจจนยอมรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้เต็มเวลา โดยเขาเล่าให้ฟังถึงการฝึกซ้อมครั้งแรกกับเหล่านักกีฬาว่า “มันไม่ยากอย่างที่ผมคิดไว้เลย ทีแรกผมก็ถามตัวเองว่า ‘นักกีฬาพิการเขายอมตื่นมาซ้อมตอน 6 โมงจริงๆ หรือ’ แต่ปรากฏว่าพอผมมาถึง พวกเขาก็มา
รออยู่แล้ว แต่ละคนกระตือรือร้นที่จะเรียน ถึงร่างกายเขาจะมีข้อจำกัดแต่ทุกคนสดใสและมีพลัง ผมไม่เคยต้องกระตุ้นพวกเขาเลย จิตใจพวกนี้เข้มแข็งเหลือเชื่อ”
ส่งต่อแรงบันดาลใจ
ไม่เพียงแต่นักกีฬาทีมชาติกลุ่มนี้จะใช้กีฬาเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองเท่านั้น พวกเขายังยื่นมือออกไปหาคนอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าความพิการไม่อาจหยุดพวกเขาจากการบรรลุความเป็นเลิศได้ หนุ่มน้อยอายุ 14 ปีอย่าง บุสรี วาแวนิ
ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับแรงใจจากโครงการนี้ โดยเขาเป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ซึ่งทำให้เขาเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต หลังเขาโดนยิงที่มัสยิดในยะลา
“ผมไม่ออกจากบ้านเป็นเวลา 2 ปีกว่า ผมอยู่แต่ในบ้าน ดูทีวี เล่นเกม เพื่อจะได้ไม่ต้องคิดถึงความพิการของตัวเอง” บุสรีเล่า
บุสรีได้พบกับเหล่านักกีฬาทีมชาติผ่านโครงการช่วยเหลือพิเศษที่เข้ามารับตัวผู้ประสบเหตุจากภาคใต้ไปกรุงเทพฯ “พี่ๆ เขาขอเฟสบุ๊คของผมไปเพื่อเอาไว้ติดต่อ
เขาถามว่าทำไมผมถึงใช้รูปณเดชน์ (คูกิมิยะ) เป็นรูปโปรไฟล์ ผมบอกเขาว่าเพราะผมอาย ผมไม่อยากให้ใครมาเห็นแล้วจำผมได้” แต่หลังจากได้เข้าโครงการและสังสรรค์กับพวก
รุ่นพี่นักกีฬา ปัจจุบัน บุสรีได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งและยังเข้าฝึกซ้อมปิงปองที่ศูนย์เยาวชนยะลาเป็นประจำ
“แล้วผมก็เปลี่ยนรูปโปรไฟล์แล้วด้วย” เขาบอกอย่างเขินๆ
ดร. อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ ประธานชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย เห็นว่าบทบาทของชมรมไปได้ไกลกว่าขอบเขตของคนพิการ “ผมคุ้นชินกับการเห็นผู้ป่วยพิการทุกๆ วันที่โรงพยาบาล แต่นักกีฬาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่สร้างโอกาสให้
กับตัวเอง ไม่ยอมจมอยู่กับข้อบกพร่อง เขาฝึกซ้อมอย่างหนัก
ด้วยสิ่งที่ยังเหลืออยู่เพื่อมาชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป มันน่าอัศจรรย์มากว่ากีฬาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนๆ หนึ่งได้ขนาดนี้”
โค้ชปริญญาก็เห็นเช่นเดียวกัน “ผมอาจจะเป็นคนสอนเทคนิคพวกเขา แต่ผมรู้สึกว่าผมเป็นฝ่ายได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขามากกว่าอีก พวกเขาสอนให้ผมได้รู้ว่าความเข้มแข็งเป็นอย่างไร รู้ว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดไปได้อย่างไร แค่นึกผมยังนึกไม่ออกเลยว่าพวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง”
การเคลื่อนไหวมันเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ
และสง่างามในตัว
คนบางคนไม่มีแขนขา
แต่ดูแล้วรู้ว่า
เขามีความมุ่งมั่น
แค่ดูการเคลื่อนไหวนี่
เรารู้เลยว่าเขายังเห็นโลกสวยงาม
หนทางข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การหาเงินส่งนักกีฬาพิการไปแข่งในระดับนานาชาตินั้นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ไมตรีเล่าว่า
“ไม่มีองค์กรไหนยินดีจะจ่ายเงินเป็นล้านๆ บาทเพื่อคน
38 คนเพราะเขาไม่คิดว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่เรามี
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่ส่งนักกีฬาไปนอก เราอยากให้นักกีฬาของเราชนะ เขาจะได้เป็นฮีโร่ คือเป็นฮีโร่ในสนามด้วยการฝึกฝนและฝีมือกีฬา และก็เป็นฮีโร่ในชีวิตจริง ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกว่าเดิม น้องบี (บุสรี) เคยเป็นเหยื่อการยิงสังหารหมู่ แต่ตอนนี้เขาก็ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการ เขามีเป้าหมายในชีวิต ลองนึกดูว่าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นอีกจำนวนมากแค่ไหน”
วิจิตรายังคงจำได้ดีถึงตอนที่ได้ใส่เสื้อทีมชาติเป็นครั้งแรก เธอเล่าว่า “การที่ได้มีธงชาติปักบนอกเสื้อทำให้หนูรู้สึกมีพลังและมีความหมาย หนูรู้สึกว่าถึงแม้ว่าเราจะพิการเราก็รับใช้ประเทศชาติได้เหมือนกัน โดยการทำให้คนอื่นๆ
ได้เห็นธงชาติเราถูกชักขึ้นไปสูงสุดและฟังเพลงชาติเรา
พ่อแม่หนูเขาไม่รู้สึกว่าเขามีลูกเป็นคนพิการอีกแล้ว”
แต่ข่าวดีพอมีบ้าง เพราะเมื่อปีก่อน ในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ในสิงคโปร์ ประเทศไทยสามารถคว้า 95 เหรียญทอง 76 เหรียญเงิน และ 79 เหรียญทองแดงมาครอง นอกจากนั้น นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 คนยังได้รับการรับรองให้มีคุณสมบัติไปแข่งพาราลิมปิก 2016
ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลอีกด้วย
“ตอนนี้สังคมเริ่มมองเราในแง่ความสามารถ มากกว่ามองด้วยความเวทนา เขาไม่มองเราเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้แล้ว ความจริงคือเรามีศักยภาพและเราสามารถ
ยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เราเพียงต้องการโอกาสที่จะ
ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อที่เราจะสามารถช่วยพัฒนาสังคมได้ ประเทศเราจะได้เป็นที่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น” ไมตรีกล่าว
ทิ้งท้าย
■