HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Against the Flow

ท่ามกลางกระแสการหวนคืนสู่ริมแม่น้ำ แนวทางการพัฒนาแบบเริ่มจากรัฐ ปะทะแนวทางการพัฒนาแบบเริ่มจากชุมชน

คนเมืองกำลังโหยหาอะไรที่ตรงกันข้ามกับการใช้ชีวิตในเมือง การกลับมาที่แม่น้ำก็เหมือนกับการไปเทศกาลนอกเมือง มันผ่อนคลาย ดังนั้นการอยู่ที่นี่นับว่าเป็นความหรูหราอย่างหนึ่ง

     ณ พื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงไป 12 เมตร โดยมีประตูน้ำทำด้วยเหล็กหนาเป็นเมตรคอยกันน้ำไม่ให้ทะลักเข้ามา กลุ่มหนุ่มสาววัย 20 กว่าๆ ผู้สะพายกระเป๋าผ้าใบ สวมแว่นดีไซเนอร์ และห้อยกล้องทรงย้อนยุคต่างกำลังนั่งเล่นกันในอู่ต่อเรือเก่าของกองทัพเรือ ส่วนในอู่ถัดไป Yellowfang เกิร์ลกรุ๊ปขวัญใจขาร็อคกรุงเทพฯ ก็กำลังเล่นเพลงอินดี้เพราะๆ จากดาดฟ้าเรือให้ผู้ชมที่มาฟังกันอย่างแน่นขนัด โดยมีบูธขายเบอร์เกอร์ ซี่โครงย่าง ดราฟท์เบียร์ และเสื้อผ้าแฟชั่น พยายามแย่งความสนใจอยู่เต็มแนวริมน้ำ

     นี่คือบรรยากาศของงาน The Great Outdoor Market ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่อู่ต่อเรือกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Docklands เมื่อเดือนธันวาคมเมื่อปีที่แล้ว โดยงานลักษณะนี้ผนวกกับบรรดาคาเฟ่ ร้านค้า และแกลเลอรี่เกิดใหม่อีกเป็นจำนวนมากนี่เองที่เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกคนกรุงละเลยมาตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา บัดนี้กำลังกลับมาเป็นสถานที่ยอดนิยมอีกครั้ง กระนั้น ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักดังกล่าว อนาคตในระยะยาวของเจ้าพระยากลับยังอึมครึม ด้วยแนวคิดการพัฒนาริมแม่น้ำที่ยังไม่ลงรอย

กระแสน้ำที่ไหลคืน

     หากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน การที่คนจะมารวมตัวกัน ริมแม่นํ้าอย่างในงาน เดอะ เกรท เอาต์ดอร์ มาร์เก็ต นั้นคงเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ เพราะแม้เจ้าพระยาจะเคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเมืองที่ได้ชื่อว่า ‘เวนิสตะวันออก’ อย่างกรุงเทพฯ แต่นับวันการเจริญเติบโตอย่าง พุ่งพรวดในแถบสีลมและสุขุมวิทในช่วงปี 2510 เป็นต้นมา ก็ทำให้แม่น้ำหมดบทบาทในชีวิตคนกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกที จริงอยู่ ตึกรามหน้าตาโก้ขรึมในแบบยุคอาณานิคมยังฟ้องถึงความรุ่งโรจน์ในอดีต อีกทั้งคนทำงานอีกจำนวนมากก็ยังอาศัยเรือข้ามฟากเที่ยวละ 3 บาทเพื่อหนีรถติด กระนั้น โดยส่วนมากแล้ว พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำดูเหมือนจะมีไว้เพียงเพื่อสร้างโรงแรม 5 ดาวและคอนโดสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งสุดท้ายก็ล้วนเตรียมเรือไว้คอยส่งแขกไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เส้นเลือดที่แท้จริงของกรุงเทพฯ กล่าวคือสีลมและสุขุมวิทอยู่ดี

     อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวโครงการ The Jam Factory ในเดือนธันวาคมปี 2556 ดูเหมือนจะเป็น จุดเปลี่ยน เพราะผลงานของสถาปนิกคนดัง ดวงฤทธิ์ บุนนาค แห่งนี้ มีการผสมผสานร้านอาหาร ร้านหนังสือ และแกลเลอรี่งานศิลปะเข้าด้วยกันอย่างลงตัวจนสามารถล่อใจวัยรุ่นคูลๆ ที่ปกติจะพบแต่ตามบาร์ย่านทองหล่อให้มาเที่ยวเล่นแถวนี้แทนได้ ขนาดร้านอาหารในโครงการนี้ กล่าวคือร้าน The Never Ending Summer ยังแทบจะกลายเป็นต้นฉบับของร้านและคาเฟ่แนว ‘ฮิป’ อีกเป็นจำนวนมาก ด้วยการแต่งร้านสไตล์อินดัสเทรียล ผนังสีด่างๆ และเฟิร์นห้อยจากเพดาน กระนั้น สิ่งเดียวที่ร้านอื่นไม่อาจลอกเลียน เดอะ แจม แฟกตอรีได้ก็คือ ทำเล

     “วันนี้อากาศดีมาก ผมนั่งอยู่บนม้านั่งแล้วมองดูพระอาทิตย์ตก เยี่ยมเลย ผมฝันว่าจะมาที่นี่มานานมากแล้ว ดังนั้นพอมีคนเสนอโอกาสให้ ผมก็ไม่ลังเล” นักสถาปนิกผมสีเงินแต่งตัวเท่ผู้นี้กล่าว

     แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นสนามหญ้ากว้างๆ โกดังโรงงานนํ้าแข็งเก่า และต้นไทรใหญ่ยักษ์อย่างของเดอะ แจม แฟกตอรี่ ในย่านธุรกิจกลางตัวเมืองอันคับแคบได้ โดยในขณะที่ผู้มารับประทานอาหารที่ เดอะ เนเวอร์ เอ็นดิ้ง ซัมเมอร์ นั่งชมเรือบรรทุก เรือหางยาว และเรือข้ามฟากแล่นผ่านไปมาอย่างไม่ขาดสาย ทุกคนยังสามารถย้อนกลับไปวัยเด็กได้ด้วยเมนูอย่างไข่พะโล้และน้ำพริกลงเรือ ส่วนคนทำงานก็อาจปลดปล่อยความเก็บกดจากสัปดาห์แห่งการเผางานได้ด้วยค็อกเทลสร้างสรรค์ที่มีส่วนผสมหลักเป็นยาดอง

     ดวงฤทธิ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าคนเมืองกำลังโหยหาอะไรที่ตรงกันข้ามกับการใช้ชีวิตในเมือง เห็นได้จากการออกไปชานเมืองหรือออกไปงานเทศกาลกลายเป็นอะไรที่ฮิตไปแล้ว การกลับมาที่แม่น้ำก็เหมือนกับการไปเทศกาลนอกเมือง มันผ่อนคลาย ดังนั้นการอยู่ที่นี่ นับว่าเป็นความหรูหราอย่างหนึ่ง”


คลื่นความคิดสร้างสรรค์

     แม้ว่า เดอะ แจม แฟกตอรี จะไม่ได้ถึงกับเปลี่ยนให้ธนบุรีกลายเป็นศูนย์กลางความฮิปของกรุงเทพฯ แต่ก็สามารถขยับหัวใจของชาวกรุงให้ใกล้แม่น้ำเข้ามาอีกไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากที่นิตยสารไลฟ์สไตล์รายสัปดาห์ BK Magazine ขนานนามว่าเจริญกรุงเป็น The Coolest Place to Be เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ตามมาติดๆ ด้วยงาน เดอะ เกรท เอาต์ดอร์ มาร์เก็ต ครั้งแรก แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายไปที่จะร่วมค้นหาย่านนี้ไปพร้อมๆ กับเหล่าฮิปสเตอร์ เพียงขึ้นเรือข้ามฟากเที่ยวละ 3 บาทที่ เดอะ แจม แฟกตอรี่ ไปลง River City จากนั้นก็จะพบกับถนนเจริญกรุงที่มุ่งสู่เยาวราช ซึ่งได้เริ่มมีชื่อในฐานะ Creative District หรือย่านศิลป์ของกรุงเทพฯ อันเนื่องมาจากบรรดาบาร์ แกลเลอรี่ หรือลูกผสมของทั้งสองอย่างที่กระจัดกระจายอยู่ภายในย่านตึกแถวจากครั้งอดีต

     ใกล้ๆ กับท่าเรือ เราจะพบกับ Speedy Grandma แกลเลอรี่แหวกแนวสำหรับศิลปินนอกกระแส ที่มีงานเปิดตัวศิลปะแต่ละครั้งก็มักจะเป็นปาร์ตี้สุดเหวี่ยงที่รวมคนแหวกแนวจากทุกสารทิศ ถัดจากนั้น เดินข้ามคลองไปก็จะพบกับ Soy Sauce Bar โรงงานซีอิ๊วเก่าแปลงเป็นบาร์ที่เคยได้จัดงานแสดงภาพถ่ายทรงพลังและมีสตูดิโอชั้นบนให้จิตรกรเช่า (ถ้าศิลปินคนนั้นรับได้กับผ้าปูที่นอนขึงพาเลตไม้) ถัดไปอีกที่หัวมุมถนนก็มี Soulbar ซึ่งทุกคืนจะมีศิลปินมาแสดงดนดรีแนวโซลและบลูส์ท่ามกลางเครื่องรถยนต์เก่าๆ ที่ถูกกว้านแถวจากตลาดน้อยมาแต่งร้าน ทั้งหมดนี้ทำให้ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ กำลังมีย่านศิลปินเป็นของตัวเอง ไม่ผิดอะไรกับย่านโซโหในมหานครนิวยอร์กช่วงยุค ‘70

     ดวงฤทธิ์กล่าวถึงโครงการริเริ่ม Creative District ว่า “ผมตื่นเต้นมากๆ ทุกๆ เดือน คนจากแกลเลอรี่ โรงแรม และคาเฟ่ รวมทั้งคนจากชุมชนคลองสานและบางรักจะมารวมตัวกันพูดคุยกัน เรามีโปรเจคมากมาย เราเพิ่งร่วมงานกับ ‘บุกรุก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาล จัดแสดงศิลปะแนวสตรีทอาร์ตที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และเรายังมีโปรเจค Brilliant Bangkok ซึ่งเป็น lighting festival ที่จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำสว่างไสวขึ้นมาในช่วงปลายปีอีกด้วย”

     ฟันเฟืองหลักของความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ คือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative and Design Center หรือ TCDC) ซึ่งมีกำหนดย้ายไปที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ในปี 2560 โดยทีซีดีซีมีแผนจะเช่าที่ขนาด 8,000-9,000 ตารางเมตร เพื่อจัดเป็นนิทรรศการพื้นที่ทำงานสำหรับสตาร์ทอัพ และแหล่งให้บริการจับคู่ธุรกิจ แต่ Shma Designs หนึ่งในบริษัทภูมิสถาปนิกผู้รับผิดชอบการออกแบบทีซีดีซีกล่าวว่าความจริงแล้ว แผนของพวกเขาครอบคลุมย่านทั้งย่านเลยทีเดียว

     ยศพล บุญสม หนึ่งในกรรมการผู้จัดการของ ฉมา ดีไซนส์ กล่าวว่า “ทีซีดีซีไม่ได้ต้องการแค่ย้ายมาอยู่ที่นี่คนเดียวโดดๆ เขาอยากมาปฏิรูปย่านนี้ใหม่หมดทั้งย่าน เราได้ศึกษาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เพื่อชี้ว่าจุดไหนไม่เวิร์ค อย่างแรกเลย เรามองหาปัญหาทางโครงสร้าง แล้วเราก็ไปหาคนมากลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ทั้งคนขายอาหารข้างทาง คนในชุมชนเก่า นักศึกษาเอแบค และเจ้าของแกลเลอรี่ แล้วเราก็ทำเวิร์คช็อปเพื่อฟังความคิดเห็นของเขา”


โครงการอย่างนี้ควรต้องศึกษาก่อน โครงการพัฒนาเขตริมฝั่งน้ำในอัมสเตอร์ดัมยังใช้เวลาศึกษาถึง 10 ปี โครงการอย่างนี้ มีผู้ถือผลประโยชน์ร่วมหลายฝ่าย ต้องระวังมาก เราไม่ได้ต่อต้านโครงการ เราต่อต้านกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง

ฟื้นฟูอย่างไม่ยัดเยียด

     ไม่ใช่ทุกคนจะอดทนพอจะทำงานละเอียดอย่างที่ยศพลทำ และเจ้าของคาเฟ่เล็กๆ ก็ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่เล็งทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 2555 โครงการ Asiatique the Riverfront ได้เปิดศักราชของพื้นที่ค้าขายสเกลใหญ่ริมแม่น้ำ เพราะพื้นที่กลางแจ้งที่รวมความบันเทิง ร้านอาหาร และร้านค้าเข้าไว้ด้วยกันอย่างนี้ได้นำไปสู่โครงการคอมมูนิตี้ มอลล์อีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ‘ท่ามหาราช’ ‘ริเวอร์ไซด์ พลาซ่า’ หรือ ‘ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค’ ตลอดจนโครงการพื้นที่แบบผสม (mixed use) อย่าง Icon Siam ซึ่งมีมูลค่าลงทุนถึง 5 หมื่นล้านบาท และกำหนดจะเปิดในปี 2560 นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในบรรดาโครงการทั้งหมด ไม่มีโครงการใดถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูเท่ากับ โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยายาว 7 กิโลเมตร ที่กรุงเทพมหานคร วางแผนจะสร้างขนานสองฟากแม่น้ำ ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ไปจนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

     โครงการดังกล่าว ซึ่งเดิมทีมีกรอบงบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ได้ถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่าสิ้นเปลือง ขาดการศึกษาอย่างรอบด้าน เป็นอันตรายต่อ สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังน่าเกลียด ดวงฤทธิ์ เป็นฝ่ายต่อต้านที่วิจารณ์โครงการนี้อย่างเผ็ดร้อน และยศพล ก็เป็นสมาชิกสำคัญในกลุ่ม Friends of the River ซึ่งอุทิศตัวเพื่อยับยั้งโครงการนี้

     ดวงฤทธิ์กล่าวว่า “โครงการอย่างนี้ควรต้องศึกษาก่อน โครงการพัฒนาเขตริมฝั่งน้ำในอัมสเตอร์ดัมยังใช้ เวลาศึกษาถึง 10 ปี โครงการอย่างนี้มีผู้ถือผลประโยชน์ ร่วมหลายฝ่าย ต้องระวังมาก เราไม่ได้ต่อต้านโครงการ เราต่อต้านกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง กระบวนการที่ดีควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ แต่เขาจะเริ่มสร้างในเดือนตุลาคมแล้ว ซึ่งอะไรแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะศึกษาภายใน 6-7 เดือนได้”

     ยศพลเห็นด้วย “เราต่อต้านรูปแบบโครงสร้างของโครงการนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เป็นแม่น้ำกว้าง มันกว้างแค่ 150-200 เมตรเท่านั้น แล้วเขายังต้องการให้มีโครงสร้างคอนกรีตในแม่น้ำอีก ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศ และสูงมากจนบดบังทัศนียภาพของทั้งวัดและพระราชวัง ยิ่งกว่านั้น มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่ม ความจริงเขาควรถามประชาชนว่า เราจะพัฒนาแม่น้ำอย่างไรดี แต่ปรากฏเขามาพร้อมธงคำตอบในใจก่อนแล้ว”

     เมื่อปะทะเข้ากับแรงต้าน กทม.ได้ถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสัญญาว่าจะศึกษาประเมินผลกระทบก่อน นอกจากนี้ กทม. ยังจัดการกับข้อกังวลว่าทางเลียบกว้างเกินไป โดยลดความกว้างลงจาก 20 เมตร เหลือ 15 เมตร และตัดงบประมาณลงเหลือ 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนมกราคม กทม. ได้ประกาศจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมาทำการศึกษาประเมินผลกระทบ โดยมีงบ 120 ล้านบาทและมีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยการศึกษาจะครอบคลุมถึงแผนหลัก (master plan) ที่จะสร้างทางเลียบฝั่งละ 25 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 3 ไปจนถึงสะพานพระนั่งเกล้า รวมทั้งแผนในระยะที่ 1 ที่จะสร้าง Riverside Promenade หรือทางเลียบระยะทางฝั่งละ 7 กิโลเมตรไว้เป็นทางให้คนเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ

     ผศ. ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center หรือ UddC) เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อว่า กทม. ควรทำโครงการฟื้นฟูแม่น้ำในแบบที่เล็กและเจาะจงกว่านี้ ทั้งนี้ ยูดีดีซีได้ร่วมมือกับ ฉมา ดีไซนส์ เสนอแผนสำหรับโครงการ ริมน้ำยานนาวาทางตอนใต้ของกรุงเทพฯ นิรมลกล่าวว่า “วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำ คือเริ่มจากพื้นที่ของรัฐ อย่างกรุงเทพฯ ตอนล่างมีที่ดินแปลงใหญ่จำนวนมากที่เป็นของรัฐ โรงเรียน คลังสินค้า หรือวัด เอาเข้าจริงเราสามารถสร้างทางเลียบแม่น้ำยาว 1.2 กิโลเมตรในยานนาวา โดยมี 85 เปอร์เซนต์ของเส้นทางอยู่ในเขตที่ดินของรัฐ ศาสนสถาน และโรงเรียน”

     นิรมลกล่าวว่าโครงการของเธอจะสร้างทางเลียบยื่นเข้าไปในแม่น้ำเพียง 4 เมตรเท่านั้น และเช่นเดียวกับดวงฤทธิ์และยศพล เธอเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นให้รอบคอบก่อน “เจ้าของบ้านริมน้ำเขากลัวกันว่าจะเสียความเป็นส่วนตัวและกลัวเรื่องขโมยขึ้นบ้าน ดังนั้น ต้องคลายความกังวลในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ และแสดงให้เขาเห็นศักยภาพของพื้นที่ เช่นว่ามันสามารถกลายเป็นโรงแรมบูติคหรือร้านอาหารได้ แล้วคนยังห่วงเรื่องการบำรุงรักษาด้วย ถ้าสร้างเสร็จแล้วจะอย่างไรต่อ”

     ยศพล แห่ง ฉมา ดีไซนส์ กำลังคิดโครงการฟื้นฟูพื้นที่ ริมน้ำในแบบที่เจาะจง ไม่ปูพรม โดยมุ่งเน้นไปที่ชุมชนตลาดน้อยก่อน โดยวิธีของยศพลก็คือ พยายามสอดร้อยโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เข้าไปกับเนื้อของชุมชนเมืองเดิม ดังนั้น ผลที่ได้จึงเป็นโครงการสวนหย่อม ตรอก และทางเท้าแห่งเล็กๆ ที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งจะสามารถชุบชีวิตพื้นที่ ริมนํ้าได้โดยไม่กีดขวางการเข้าถึงแม่น้ำ

     ยศพลกล่าวว่า “การที่ กทม. มีความสนใจในแม่น้ำนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะคนกรุงเทพฯ อยู่ในป่าคอนกรีต ซึ่งนอกจากสวนสาธารณะแล้ว เขาก็มีแต่แม่น้ำนี่แหละเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติอย่างเดียวที่เหลืออยู่ ผมคิดว่าคนไทยผูกพันกับแม่น้ำสายนี้ เพราะเมืองไทยและวิถีชีวิตของคนไทยเกิดจากแม่น้ำ แต่สุดท้ายเราก็หักหลังแม่น้ำ ตอนนี้เป็นเวลาสำคัญที่ต้องรีบดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม จะเอาอย่างไรกันต่อไป อยากเห็นแม่น้ำทำหน้าที่อะไร”

     นั่นเองดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ

Essentials


Bangkok Docklands


174/1 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 02-307-8576
www.bangkokdock.co.th

Soulbar

945 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 093-220-0441
www.fb.com/livesoulbarbangkok

Soy Sauce Bar

11/1 ซอยเจริญกรุง 24 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 098-956-6549
www.fb.com/soysaucebar

Speedy Grandma Gallery

672/52 ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
โทร. 089-508-3859
www.fb.com/SpeedyGrandma

TCDC

ชั้น 24 ตึกเอ็มโพเรียม 622 ซอยสุขุมวิท 24 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-664-8448
www.tcdc.or.th

The Jam Factory

41/1-5 ถนนเจริญนคร กรุงเทพฯ
โทร. 02-861-0950
www.fb.com/TheJamFactoryBangkok