HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Charming Chanthaburi

การฟื้นคืนสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกผสานวัฒนธรรมเอเชียอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอันเงียบสงบแห่งนี้ได้มอบชีวิตใหม่ให้กับชุมชนเก่าแก่ริมน้ำอีกครั้ง

     แม้สายการบินบางกอกแอร์เวย์จะมีเที่ยวบินตรงสู่ตราดโดยใช้เวลา 45 นาที แต่คงมีเพียงน้อยคนที่ใช้เที่ยวบินนี้มาเพื่อมุ่งสู่จันทบุรี เกาะช้างและเกาะกูดดูเหมือนจะได้รับความสนใจมากกว่าในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเพชรนํ้างามของชายฝั่งตะวันออก แต่ก็อาจด้วยเหตุนั้น แนวบ้านไม้หลังน้อยๆ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าจันทบุรี จึงสามารถตั้งอยู่มาได้อย่างยาวนานโดยไม่ถูกรบกวนจากสายตาของบรรดานักท่องเที่ยว

     อย่างไรก็ตาม หากเดินทอดน่องไปตามอำเภอเมืองจันทบุรี (ซึ่งมีประชากรราว 27,000 คน) ในวันอาทิตย์ ก็อาจพอสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้น จริงอยู่ ตรงข้ามกับ ‘บ้านหลวงราชไมตรี’ อายุกว่า 150 ปี นักท่องเที่ยวยังสามารถเจอคุณยายกระดกกระทะอย่างกระฉับกระเฉงเพื่อปรุงผัดไทยให้กับลูกค้าโดยดูไม่ตื่นเต้นกับความงามจับใจของตึกสมัยรัชกาลที่ 5 รอบๆ ตัว ในขณะที่ตลาดตอนเช้าตรู่ยังขวักไขว่ไปด้วยผู้คนหน้าตางัวเงียที่ออกมาหาซื้อก๋วยจั๊บ โจ๊ก ปาท่องโก๋ และข้าวเกรียบอ่อนแก้หิวเหมือนเมื่อเก่าก่อน แต่ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้าในชนบทอันคลาสสิกนี้ได้เริ่มมีนักท่องเที่ยวหนุ่มสาววัย 20 เศษๆ สะพายกล้องดิจิทัลหน้าตาวินเทจเข้ามานั่งจิบกาแฟปะปนอยู่กับคนท้องถิ่น ซึ่งนั่นเองคือสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความสนใจระลอกใหม่ในดินแดนจันทบูร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหารอันโอชะ หรือตึกรามบ้านช่องอันเก่าแก่ก็ตาม

ปรากฎตัวตน

     ในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้แต่คนท้องถิ่นก็ยังไม่เห็นจันทบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยว คนทั่วไปอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโบสถ์โรมันคาทอลิกสถาปัตยกรรมโกธิก ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงหอมฉุย เส้นจันท์เหนียวนุ่มผัดปู และแกงหมูชะมวงรสเข้มข้นของที่นี่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจันทบุรีมักถูกมองว่าเป็นเพียงทางผ่านไปตราดเท่านั้น

ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้าในชนบทอันคลาสสิกนี้ได้เริ่มมีนักท่องเที่ยวหนุ่มสาววัย 20 เศษๆ สะพายกล้องดิจิทัลหน้าตาวินเทจเข้ามาจิบกาแฟปะปนอยู่กับคนท้องถิ่น ซึ่งนั่นเองคือสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความสนใจระลอกใหม่ในดินแดนจันทบูร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหารอันโอชะ หรือตึกรามบ้านช่องอัน เก่าแก่ก็ตาม

     นักท่องเที่ยวที่คิดอย่างนี้ถือว่าพลาดอะไรดีๆ ไปไม่น้อย ‘โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล’ มีความงามที่ต้องไปยลให้เห็นกับตาจริงๆ (ยังไม่ต้องนับของแถมจากการที่ผู้มาเยือนสามารถลิ้มลองอาหารที่ใกล้เคียงต้นตำรับฮานอยที่สุดในประเทศไทยจากฝีมือของชุมชนชาวเวียดนามผู้สร้างโบสถ์แห่งนี้ด้วย) นํ้าตกหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้จันทบุรี เช่นนํ้าตกพลิ้ว ก็มีสีสันไม่แพ้บรรดาชายหาดอื่นๆ ในภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ตัวเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้งนั้นคงต้องยกความดีความชอบให้กับชุมชนริม 2 ฝั่งแม่นํ้าจันทบุรีนี่เอง

     ที่ชุมชนนี้ นักท่องเที่ยวจะเห็นหมู่ตึกแถวอายุกว่า 150 ปีตั้งขนาบแม่นํ้าจันทบุรี โดยมีบางส่วนของตึกตั้งอยู่บนเสาที่ปักลงไปในแม่นํ้า สุดถนนทางทิศใต้คือที่ตั้งของท่าเรือซึ่งในอดีตได้ดึงดูดชาวไทย จีนและเวียดนามให้เข้ามาตั้งรกรากพร้อมสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งเคล้าอยู่ด้วยอิทธิพลจากพื้นเพเดิมของแต่ละชนชาติ ในขณะที่สุดถนนฝั่งทิศเหนือคือย่านของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เต็มไปด้วยบ้านไม้ประดับด้วยช่องลมหรือระบายชายคาที่ฉลุลายละเอียดราวลูกไม้

     ไม่น่าเชื่อว่า แม้มรดกทางสถาปัตยกรรมของที่นี่จะโดดเด่น แต่พื้นที่นี้กลับไม่เคยมีชื่อเรียกจริงๆ จนกระทั่งกระทรวงพาณิชย์มาตั้งชื่อให้ว่า ‘ชุมชนริมนํ้าจันทบูร’ ตามความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ให้กับภูมิภาค โชคดีว่าในปี 2552 นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์มาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ในจังหวะที่คณะกรรมการท้องถิ่นกำลังจะสร้างศูนย์การเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องคุณค่าของสิ่งปลูกสร้างและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นพอดี พวกเขาจึงร่วมมือกันบูรณะบ้านเลขที่ 69 ซึ่งเป็นบ้านหลังงามที่มีลูกกรงประณีตเรียงตลอดแนวระเบียงชั้น 2

     “เดิมทีคนในท้องถิ่นไม่อยากให้มีนักท่องเที่ยวมาเดินเข้าเดินออกหรือยุ่มย่ามกับชีวิตปกติของพวกเขา แต่พอเข้าใจว่า เราไม่ได้มีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา เราแค่มาถ่ายทอดความงามนี้ให้โลกเห็นและอนุรักษ์มันไว้ พวกเขาถึงได้เริ่มเปิดรับ” ธิป ศรีสกุลไชยรัก แห่งสถาบันอาศรมศิลป์เล่า

     สำหรับผู้ที่มาเที่ยวชม บ้านเลขที่ 69 บ้านเรียนรู้ชุมชนริมนํ้าจันทบูร ซึ่งแต่เดิมเป็นของขุนอนุสรสมบัติ ผู้ช่วยคลังมณฑลจันทบุรี จะได้พบกับ ประภาพรรณ ฉัตรมาลัย หญิงกระฉับกระเฉงวัย 60 กว่าๆ หนึ่งในผู้บุกเบิกโครงการ ‘เปิดบ้านริมนํ้า’ ซึ่งพาผู้คนนับร้อยออกเยี่ยมชมบ้านริมนํ้าซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีใครเหลียวแล

     “เราพยายามเพิ่มจำนวนบ้านที่เข้าร่วมโครงการทุกปีเพื่อให้ครอบครัวที่มีบ้านสวยๆ อยู่แล้วได้ใช้มันให้เกิดประโยชน์ สมัยก่อนแต่ละบ้านก็จะมีธุรกิจ มีขายอะไรต่อมิอะไรของตัวเอง เราอยากปลุกวิถีนั้นกลับมาอีก” ประภาพรรณกล่าว

การบูรณะบ้านไม้ 2 ชั้นของตระกูลหลวงราชไมตรีเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ ‘มอบ ชีวิตใหม่’ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นไปอีก ...แต่การบูรณะบ้านขึ้นมาใหม่นับเป็นเรื่องเกินกำลังทรัพย์ของเจ้าของบ้านเพียงคนเดียว ดังนั้น จึงนำไปสู่แนวคิดการบูรณะตึกเก่าด้วยความร่วมมือในระดับชุมชน

ปลุกความดั้งเดิม

     กระแสตอบรับที่ดีจากโครงการเปิดบ้านริมนํ้าได้นำไปสู่การฟื้นฟูธุรกิจในชุมชนรวมถึงกิจการค้าขายของแต่ละบ้าน เช่น ‘ไอศกรีมตราจรวด’ หนึ่งในร้านดังที่ยังคงยึดสูตรไอศกรีมดั้งเดิมของที่บ้านและทำรสชาติตามผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด รสที่เข้มข้นที่สุดคงหนีไม่พ้นรสทุเรียน ที่หวานมันและให้ความรู้สึกเหมือนได้กัดพูทุเรียนจริงๆ ‘จันทบุรี เบเกอรี่’ คืออีกร้านขึ้นชื่อซึ่งตกแต่งด้วยไม้ฉลุประณีต ร้านนี้เป็นร้านเบเกอรี่แห่งแรกในตัวเมือง และขายขนมง่ายๆ อย่างเช่นขนมปังเนยกระเทียม ซึ่งชวนให้อร่อยแบบคลาสสิกก่อนยุคที่ร้าน Paul และ Eric Kayser จะข้ามนํ้าข้ามทะเลมาถึงเมืองไทย

     ความสำเร็จของร้านอย่างไอศกรีมตราจรวดและจันทบุรี เบเกอรี่ ทำให้ลูกหลานชาวจันทบุรีอีกไม่น้อยที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ หวนคืนสู่บ้านเกิดเพื่อปัดฝุ่นกิจการร้านรวงของคนรุ่นพ่อแม่ และหนึ่งในนั้นคืออัครวัฒน์ ชินอุดมพงศ์ แห่งบ้านเลขที่ 119

     “ผมเคยอยู่บ้านหลังนี้ และก็รู้สึกผูกพัน ผมตั้งใจที่จะกลับมาทำธุรกิจอัญมณีของที่บ้านนานแล้ว เราได้ทักษะมาจากพ่อก็อยากเห็นกิจการมันอยู่ต่อไป” อัครวัฒน์กล่าว

     อุตสาหกรรมอัญมณีซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความภาคภูมิใจของจันทบุรีได้ซบเซาลงทีละน้อย อันเนื่องมาจากบรรดาของเลียนแบบ บวกกับราคาที่สูงเกินจริงและกลยุทธ์การตลาดที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ อัครวัฒน์ได้แปลงโฉมตึกแถวบนถนนเลียบแม่นํ้าของเขาให้เป็นทั้งเวิร์กช็อป และร้านขายพลอย ซึ่งมอบชีวิตใหม่ให้กับงานฝีมือของครอบครัวเขา

     ณ อีกสุดฟากถนน การบูรณะบ้านไม้ 2 ชั้นของหลวงราชไมตรีนั้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ ‘มอบชีวิตใหม่’ ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะหลังจากถูกปล่อยร้างมาหลายปี การบูรณะบ้านขึ้นมาใหม่นับเป็นเรื่องเกินกำลังทรัพย์ของเจ้าของบ้านเพียงคนเดียว ดังนั้น จึงนำไปสู่แนวคิดการบูรณะตึกเก่าด้วยความร่วมมือในระดับชุมชน

     “คำถามคือเราจะสร้างคุณค่าร่วมกันในชุมชนได้ยังไง ก่อนหน้านี้มีโครงการบูรณะย่านเก่าแก่และโบราณสถานต่างๆ แต่ก็ต้องพับไปเพราะขาดเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เราเลยรู้ว่าเราต้องทำให้คนในชุมชนมีแรงจูงใจที่จะเป็นผู้ผลักดันโครงการให้สำเร็จได้ด้วยตัวเอง” ธิปกล่าว

     นี่เองจึงเป็นจุดกำเนิดของบริษัทจันทบูร-รักษ์ดี จำกัด ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากชุมชนสำหรับการปรับปรุงบ้านหลวงราชไมตรีให้เป็น ‘บ้านพักเชิงประวัติศาสตร์’ โดยมีทุนจดทะเบียน 8.8 ล้านบาท และถือหุ้นโดยอาศรมศิลป์ คนในชุมชน ตลอดจนผู้ร่วมเจตนารมณ์อนุรักษ์อื่นๆ ด้วยเงินจำนวนนี้ บ้านหลวงราชไมตรีจึงสามารถเปิดออกต้อนรับแขกผู้มาเยือนในเดือนตุลาคมปี 2556

     ทั้งนี้ บ้านหลวงราชไมตรีเป็นบูติกเกสต์เฮาส์กึ่งพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วยห้องพัก 12 ห้อง แต่ละห้องจำลองแง่มุมชีวิตต่างๆ ของหลวงราชไมตรีไว้ โดยเนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ทำกำไรพอที่จะจ่ายเงินปันผล บรรดาผู้ถือหุ้นจึงจะได้รับผลตอบแทนส่วนหนึ่งเป็นบัตรกำนัลเข้าพักในโรงแรม สำหรับบุคคลทั่วไป ค่าที่พักหนึ่งคืนพร้อมอาหารเช้าริมนํ้านั้นราคาเริ่มต้นที่ 1,250 บาท โดยห้องพักที่นี่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย แต่การใช้เครื่องเรือนเรียบๆ และเน้นไม้จริง ทำให้ห้องพักมีเสน่ห์ย้อนยุคอย่างน่าประหลาด

     ปัทมา ปรางค์พันธ์ ผู้จัดการทั่วไปของบ้านพักเล่าว่า “การทำบ้านหลวงราชไมตรีไม่ใช่เรื่องง่าย เรามีเวลาปรับปรุงบ้านแค่ 8 เดือน แถมต้องมั่นใจด้วยว่ารายละเอียดต่างๆ ตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราร่วมงานกับนักประวัติศาสตร์เพราะอยากให้ที่นี่เป็นมากกว่าโรงแรม คือเป็นศูนย์วัฒนธรรมไปในตัว” ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ของที่นี่ไม่เพียงแต่งดงาม หากยังนำมาซึ่งรางวัลน่าภาคภูมิใจหลากหลาย เช่นรางวัลจากยูเนสโก สมาคมสถาปนิกสยาม และนิตยสารฟิวเจอร์อาร์ค (FutureArc)

ถ้าเราทำให้คนเข้าใจคุณค่าระยะยาวของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้ เราเชื่อว่ามันจะยั่งยืนได้จริงๆ

อ้าแขนต้อนรับอนาคต

     แม้โครงการจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีคำถามว่าชุมชนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โครงการ ‘เปิดบ้าน’ ทำให้คนกลัวว่าพื้นที่ชุมชนริมนํ้ากำลังถูกทำให้กลายเป็นถนนคนเดินที่อัดแอไปด้วยบรรดาแผงขายอาหาร ดังเช่นตลาดสามชุกในสุพรรณบุรี ทั้งๆ ที่ในอดีต ชุมชนนี้ไม่ได้ทำมาค้าขายบนทางเท้า แต่เปิดร้านในตึกแถวเป็นกิจจะลักษณะ ความไม่ลงรอยนี้เองทำให้แผนการทำถนนคนเดินที่หน่วยงานเทศบาลวางไว้กลายเป็นประเด็นเปราะบางระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

     “การจะอนุรักษ์ของเก่า ของดี ของแท้ของชุมชนเอาไว้ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำให้คนเข้าใจคุณค่าระยะยาวของสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ได้ เราเชื่อว่ามันจะยั่งยืนได้จริงๆ” ปัทมากล่าว ซึ่งสะท้อนความคิดของชาวจันทบุรีโดยทั่วไปที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่หลุดจากรากเหง้าของตน

     ณ ใจกลางตัวเมือง ผู้ประกอบการคลื่นลูกใหม่ต่างพากันออกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นใหม่ๆ ซึ่งผนวกรูปลักษณ์ร่วมสมัยเข้ากับรากวัฒนธรรมเก่าแก่ของจันทบุรี ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ‘จันทรโภชนา’ ร้านอาหารขึ้นชื่อของจันทบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของเหล่านักชิมผู้ครํ่าหวอด ร้านนี้ใช้ผลไม้ท้องถิ่นมาปรุงอาหารตามตำรับเก่าแก่ เช่นแกงมัสมั่นทุเรียน หรือยำมังคุด ทั้งนี้ อุกฤษณ์ วงษ์ทองสาลี เจ้าของกิจการได้อาศัยพื้นหลังจากวงการโฆษณามาใช้สร้างความสดใหม่ให้กับร้านอาหารอายุครึ่งศตวรรษแห่งนี้ โดยนอกจากสาขาแรกแล้ว เขายังเปิดร้านใหม่ตกแต่งแบบร่วมสมัยบนถนนมหาราชซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จมากจนผู้มาเยือนต้องต่อคิวยาวกว่าจะได้โต๊ะ

     เช่นเดียวกัน หลังจบการศึกษาจากออสเตรเลีย สุดฤทัย และณภัทร กิจเจริญก็เลือกกลับสู่บ้านเกิดเพื่อริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ร้าน Whee ของพวกเขาได้แรงบันดาลใจในการทำร้านสไตล์ซักกะ หรือร้านขายของกระจุกกระจิกแบบญี่ปุ่น ในขณะที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นปรุงอาหารอย่างพิซซ่าแป้งบางกรอบและอาหารจานไข่สำหรับมื้อบรันช์ “เราใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เหมือนกับเป็นระบบนิเวศเลย คือใครมีอะไรก็เอามาช่วยกัน เรารู้สึกว่าคนรุ่นเรามีไอเดียใหม่ๆ มาให้ชุมชนได้” สุดฤทัยกล่าว

     อีกหนึ่งนกคืนรังคือ ปริญญา ชัยสิทธิ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารไลฟ์สไตล์ท้องถิ่น About Chan ซึ่งหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ตัดสินใจกลับมาทำหนังสือที่บ้านเกิด โดยเธอบอกว่า “คนพยายามนำความเป็น ‘จันท์’ แบบดั้งเดิมกลับมาปรุงใหม่ ตอนนี้มีตลาดใหม่ๆ และคอนเสิร์ตจัดขึ้นแถวตัวเมืองตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่นี่พยายามจะหมุนไปให้สอดคล้องกับความเป็นจันทบุรีที่ก็เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเช่นกัน”

     ในขณะที่กระแสของการอนุรักษ์ในจันทบุรียังมั่นคงแน่นหนา ดังอาจสังเกตได้จากโครงการบูรณะบ้านของหลวงประกอบนิติสาร (บ้านบุณยัษฐิติ) บ้านโบราณหลังงามซึ่งผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบไทย จีน และฝรั่งเศส ที่ได้เริ่มเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อย การหลั่งไหลคืนสู่บ้านเกิดของบรรดาชาวจันทบุรีรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ช่วยให้หลักประกันอีกชั้นหนึ่งว่า การอนุรักษ์นี้จะไม่เพียงเป็นการรักษาตึกเก่า หากแต่ยังรวมถึงการสร้างและปรุงวัฒนธรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงรากเหง้าของพื้นที่ หากแต่ยังช่วยรักษาเสน่ห์ย้อนยุคของจันทบุรีให้คงความมีชีวิตชีวาร่วมกับยุคสมัยตลอดไป

Essentials


จันทรโภชนา

ซอยมหาราช จันทบุรี
โทร. 039-327-179
www.goo.gl/zyzr7t

บ้านหลวงราชไมตรี

252 ถ.สุขาภิบาล จันทบุรี
โทร. 088-843-4516, 081-915-8815
www.baanluangrajamaitri.com

บ้านเลขที่ 119

119 ถนนสุขาภิบาล จันทบุรี
โทร. 090-986-5537

ศูนย์เรียนรู้ชุมชน ริมนํ้าจันทบูร

69 ถนนสุขาภิบาล จันทบุรี

Whee

81/3 ถนนมหาราช จันทบุรี
โทร. 062-464-5614
www.fb.com/wearewhee