SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Molam Mania
เสียงเพลงจากชนบทห่างไกลของเมืองไทยขจรไกลถึงเวทีโลกได้อย่างไร
เรื่องราวนี้เริ่มต้นด้วยคลิปยูทูปที่อัดจากโทรศัพท์และจบลงด้วยการเซ็นสัญญากับค่ายเพลงในสหรัฐอเมริกา คลิปที่ว่าบันทึกภาพการแสดงของวงดนตรีจังหวะเนิบแต่สนุกที่เรียกว่าวงพิณประยุกต์ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเหล่านักดนตรีท่าทางสบายบนเก้าอี้พลาสติกในชนบทอันห่างไกลของประเทศไทยเหล่านี้สุดท้ายจะบรรเลง
เพลงเฮฟวี่ร็อกเร้าใจแบบจิมิ เฮนดริกซ์ ซึ่งเด่นด้วยเสียงเครื่องเคาะและท่อนริฟฟ์ทรงพลังของพิณไฟฟ้า เป็นความยาวต่อเนื่องกว่า 11 นาที
กระนั้นแรกทีเดียววง ‘ขุนนรินทร์ศิลป์
พิณประยุกต์’ ก็ยังไม่ได้ดังทันที จวบจนเมื่อเว็บไซต์เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกานาม Dangerous Minds ได้นำคลิปนี้ไปโพสต์ในชื่อ Mindblowing Psychedelia from Thailand คลิปนี้จึงได้ถูกแชร์อย่างล้นหลาม และกระตุ้นให้โปรดิวเซอร์ชาว
ลอส แอนเจลิสอย่าง จอช มาร์ซี สนใจจนถึงขั้นออกตามหาตัวพวกเขาเพื่อขอให้บันทึกเสียง
ลงเทป และตั้งแต่นั้นเองวงดนตรีจากเพชรบูรณ์ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีกึ่งสมัครเล่นหลากพื้นเพนี้ ได้ออกผลงานภายใต้ค่ายเพลงทรงอิทธิพลอย่าง Innovative Leisure มาแล้วถึง
2 อัลบั้ม รวมถึงออกอัลบั้มชื่อ II ในปีนี้ และได้ทัวร์ยุโรปมาแล้ว 2 รอบ เจ้าพ่อเพลงฮิปฮอป
อย่างดีเจแกสแลมป์ คิลเลอร์ ประทับใจถึงขนาดนำเอาบทเพลงของพวกเขาไปรีมิกซ์ใหม่ ในขณะที่นิตยสารอย่าง Wired Vogue และ Newsweek ล้วนตีพิมพ์เรื่องราวของพวกเขาบนหน้าหนังสือมาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความดังกระหึ่มที่กล่าวมายังมีเพียงน้อยคนในกรุงเทพฯ ที่คุ้นหูกับชื่อของพวกเขา
ด้วยเหตุที่หมอลำไม่อยู่ภายใต้ขนบดนตรีแบบคลาสิกแต่อัดแน่นไปด้วยเสียงแปลกปร่าชวนพิศวง ชาวตะวันตกจึงอดหลงเสน่ห์ไม่ได้
ขุนนรินทร์ศิลป์ พิณประยุกต์ เป็นหนึ่งในศิลปินกลุ่มเล็กๆ ในวงการหมอลำร่วมสมัยที่ประกอบด้วย รัสมี เวระนะ ดีเจมาฟต์ ไซ และวง Paradise Bangkok Molam International Band โดยศิลปินกลุ่มนี้ได้นำเสียงซื่อๆ ของดนตรีพื้นบ้านไปสู่หูผู้ฟังทั่วโลก โดยใช้รากฐานจากดนตรีหมอลำ ซึ่งกำเนิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทั้งนี้ แม้บางคนอาจตีตราว่าหมอลำเป็นดนตรีของผู้ใช้แรงงานชาวอีสาน แต่ด้วยเหตุที่หมอลำไม่อยู่ภายใต้ขนบดนตรีแบบคลาสสิก และอัดแน่นไปด้วยเสียงแปลกปร่าชวนพิศวงอย่างนั้นนั่นเอง ชาวตะวันตกที่ได้ยินได้ฟังจึง
อดหลงเสน่ห์ไม่ได้
ทว่านี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วข้ามคืน ความสนใจท่วมท้นจากนานาชาตินั้นมีส่วนไม่น้อย
มาจาก ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือที่รู้จักกันในนาม มาฟต์ ไซ ดีเจซึ่งผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งค่ายเพลง นักจัดปาร์ตี้ หัวหน้าวง เจ้าของไนต์คลับ และแกนนำขบวนการชุบชีวิตหมอลำ เราได้
พูดคุยกับเขาที่เอดินบะระ เมืองหลวงของ
สก็อตแลนด์ ในขณะที่วงพาราไดซ์ บางกอกหมอลำ อินเตอร์เนชันแนลของเขากำลังเตรียมตัวออกวาดลวดลายในซัมเมอร์ฮอลล์ความจุ 400 คน โดยพวกเขาเพิ่งกลับจากการเดินสายแสดงสดจำนวน 6 รอบใน 6 ประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ครั้งนี้ถือเป็นการทัวร์ยุโรปครั้งที่ 5 ของพวกเขา และอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เนื่องจากพวกเขาจะมีโอกาสได้แสดงที่ Glastonbury Festival เทศกาลดนตรีอันทรงเกียรติประจำเกาะอังกฤษ อีกทั้งออกอากาศทางช่องออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Boiler Room TV เมื่อถามว่ากระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง มาฟต์ ไซบอกว่า “ทุกคนเต้นกันกระจายไม่ยอมหลับยอมนอน”
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ร้านจำหน่าย
แผ่นเสียง ‘สุดแรงม้า’ ของมาฟต์ ไซ ซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 51 ได้จำหน่ายแผ่นเสียงไวนิล (ซึ่งมีทั้งแบบที่นำกลับมาผลิตซํ้า รวมมิตรศิลปิน อัลบั้มหายาก และเพลงใหม่ๆ) ให้แก่ลูกค้าจากทุกมุมโลกอยู่แล้ว แต่ยิ่งกว่านั้น เขากับคริส
เมนิสต์ ยังได้ช่วยกันรวบรวมเพลงในอัลบั้ม Sound of Siam ชุดที่ 1 และ 2 (สังกัด Soundway Records ในปี 2554 และ 2557) และ Thai? Dai! – The Heavier Side of Luk Thung (สังกัด Finder Keepers ในปี 2554) ซึ่งได้ช่วยจุดกระแสเพลงไทยยุค 60s และ 70s
ให้กลับมาลุกโพลงอีกครั้ง โดยเฉพาะในอังกฤษ ที่ซึ่งดีเจผู้ทรงอิทธิพลแห่ง BBC อย่าง ไจลส์
ปีเตอร์สัน และหนังสือพิมพ์ The Guardian
ต่างสรรเสริญหมอลำกันขนานใหญ่
เพลงต่างๆ ที่ถูกรวบรวมไว้ในอัลบั้มเหล่านี้เป็นเพลงจากยุคที่มาฟต์ ไซยกให้เป็น ‘ยุคทอง’ ของวงการหมอลำ การแสดงหมอลำในยุคแรกๆ จะเป็นการขับลำกลอนสอดแทรกแง่คิดสอนใจเกี่ยวกับชีวิตในชนบท โดยอาศัยแค่ตัวนักร้องกับแคนหนึ่งเต้าเท่านั้น แต่เมื่อทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในอีสานตอนต้นยุค 70s หมอลำก็ได้วิวัฒนาการไปเป็นดนตรีร็อกซึ่งอัดแน่นไปด้วยแนวดนตรีสากลอย่างไซคีเดลิก โซลและ
ฟังก์อย่างเต็มที่ หลายๆ เพลงในอัลบั้ม Sound of Siam นั้น ผู้ฟังจะได้กลิ่นอายของเจมส์
บราวน์ ในขณะที่บางช่วงบางตอนแทบจะยกเอาท่อนริฟฟ์จากเพลงของ Rolling Stones มาทั้งท่อน มาฟต์ ไซอธิบายว่า “ยุค 70s เป็นช่วงที่มีการนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาใช้มากขึ้น เป็นยุคทดลอง และเป็นยุคที่มาก่อนกระแสยุค 80s กับดรัมแมชชีนซึ่งทำให้หมอลำเริ่มออกแนวพาณิชย์มากเกินไป ส่วนยุค 90s ไม่ต้องพูดถึง เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ”
ในยุคแรกๆ ที่มาฟต์ ไซและเมนิสต์ร่วมกันจัดปาร์ตี้ พวกเขาทั้งสองต้องลงแรงเกลี้ยกล่อมบรรดาครูเพลงหมอลำจากยุค 70s ให้มาร่วมงานด้วย พวกเขาเดินทางไปยังต่างจังหวัดเพื่อโน้มน้าวให้นักร้องอย่างดาว บ้านดอน และราชินีเพลงหมอลำ อังคนางค์ คุณไชย มาร่วมแสดงในกรุงเทพฯ โดยเล่าว่า “ตอนที่เราชวนคุณ
อังคนางค์มาร่วมงาน เธอบอกว่า ‘พวกฝรั่งกับเด็กรุ่นใหม่เขาจะมาอยากดูฉันทำไม พวกเธอขาดทุนแน่ๆ’ ทุกวันนี้ เธอก็ยังไม่ค่อยเชื่อเลยว่าคนพวกนี้จะสนใจเพลงของเธอจริงๆ”
นอกจากนั้น เวลาจัดงานปาร์ตี้ดังกล่าว มาฟต์ ไซและเมนิสต์จำเป็นต้องมีวงดนตรี
แบ็กอัพ นั่นถือเป็นจุดกำเนิดของวง พาราไดซ์ บางกอก อินเตอร์เนชันแนล วงดนตรีขนาดใหญ่ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักดนตรีมากประสบการณ์อย่างคำเม้า เปิดถนน (พิณ) สไว แก้วสมบัติ (แคน) ปิย์นาท โชติกเสถียร (เบส) กับภูษณะ ตรีบุรุษ (กลอง) นอกเหนือไปจากมาฟต์ ไซและเมนิสต์ซึ่งร่วมเล่นเครื่องเพอร์คัชชัน ทั้งนี้ แม้วงจะเกิดขึ้นอย่างจับพลัดจับผลู แต่จังหวะที่เร้าใจและการแสดงเปี่ยมพลัง ได้ทำให้พวกเขาเริ่มมีสาวกอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ เวลาไม่ได้ออกทัวร์ยุโรป วงจะประจำอยู่ที่ ‘สตูดิโอลำ’ คลับของมาฟต์ ไซซึ่งอยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่ของสุดแรงม้าไปเพียงไม่กี่ก้าว
นอกเหนือจากการนำเสนอเสียงใหม่ๆ ภารกิจอีกประการหนึ่งของวงก็คือการเปลี่ยนค่านิยมผิดๆ เกี่ยวกับหมอลำ “คนไทยมองว่าหมอลำเป็นดนตรีบ้านนอกที่คนจนเล่นให้คน
จนฟัง ซึ่งเป็นการล้างสมอง เหมือนกับเรื่องคนสวยต้องผิวขาว ในขณะที่ตอนนี้คนทั่วโลกเขามองไปที่เนื้อแท้จริงๆ ของมัน” มาฟต์ ไซ กล่าว
รัสมีคือนักร้องหมอลำอีกรายหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับค่านิยมของสังคม เธอได้นำเอาอิทธิพลของ ‘เวิลด์ มิวสิก’ มาผสมผสานเข้ากับหมอลำ โดยถ่ายทอดชีวิตส่วนตัวผ่านเนื้อร้องที่เขียนขึ้นเป็นภาษาอีสานและภาษาเขมร ศิลปินผู้ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่รายนี้ ได้คว้ารางวัลจากเวทีคมชัดลึก มิวสิก อวอร์ดในปี 2559 มาไว้ในครอบครองถึง 3 สาขา ประกอบด้วยรางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม รางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม (‘อีสานโซล’) และรางวัลเพลงยอดเยี่ยม (‘มายา’) แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
รัสมีเกิดในครอบครัวนักดนตรีชาวอุบลราชธานี เธอเข้าร่วมวงหมอลำและออกเดินสายตามงานต่างๆ ตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี แม้รายได้จะดี แต่การร้องเฉพาะเพลงของคนอื่นเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับเธอ ต่อมารัสมีย้ายที่พำนักไปยังขอนแก่นและเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เธอเริ่มเจอทางดนตรีของตัวเอง เธอเล่าให้ฟังว่า “เราได้เจอนักดนตรีหลายๆ คนที่ช่วยเปิดโลกให้รู้ว่าหมอลำเอามามิกซ์กับแจ๊สหรือดนตรีแนวแอฟริกันตะวันตกได้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มแต่งเพลงเป็นภาษาลาวกับเขมร ในขณะที่การทำงานในโรงแรม 5 ดาวก็ทำให้เราได้เรียนรู้พื้นฐานดนตรีแจ๊ส
และป๊อบ และได้ฝึกร้องเพลงฝรั่งควบคู่ไปด้วย”
เมื่อทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในอีสานตอนต้นยุค 70s หมอลำก็ได้วิวัฒนาการไปเป็นดนตรีร็อกซึ่งอัดแน่นไปด้วยแนวดนตรีสากลอย่างไซคีเดลิกโซลและฟังก์อย่างเต็มที่
รัสมีค้นพบตัวเองจริงๆ เมื่อไปเยือนฝรั่งเศสตอนที่ได้ออกทัวร์กับวง Limousine หนึ่งในวงดนตรีแจ๊สจากเชียงใหม่ เธอเล่าว่า “คนฟังปลื้มมาก พวกเขาไม่เข้าใจหรอกว่าเราร้องอะไร แต่ก็เต้นและปรบมือตามไปด้วย เวลาร้องเพลงที่ไทย บางครั้งจะมีคนพูดว่า ‘ร้องอะไรก็ไม่รู้เป็นภาษาเขมร ฟังไม่รู้เรื่อง’ แต่เอาเข้าจริง ดนตรีมันเป็นอีกภาษาหนึ่ง
เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจสิ่งที่ร้องเสมอไป
มันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หลายคนติดกับการพยายามให้ความหมายจนเกินไป”
เพื่อลบล้างอคติที่คนไทยมีต่อเพลงอีสาน
กฤติยา กวีวงศ์ ภัณฑารักษ์ประจำโครงการ
‘รถบัสหมอลำแห่งหอศิลป์บ้าน จิม ทอมป์สัน’ (Molam Bus Project by Jim Thompson Art Center) จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หมอลำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี หนึ่งในความสำเร็จของกฤติยาคือการแปลงโฉมรถบัสคันเก่าให้กลายเป็นโชว์หมอลำเคลื่อนที่ซึ่งเดินสายไปทั่วประเทศ และทำหน้าที่เฟ้นหานักดนตรีทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋าไปด้วยระหว่างทาง
กฤติยาตระหนักดีถึงทัศนคติลบที่สังคมเมืองมีต่อหมอลำ เธอสรุปอย่างบาดลึกว่า “มันถูกมองเป็นเพลงของคนใช้ ใครจะไปกล้าออกตัวว่าชอบ” แม้กระนั้น เธอเชื่อว่าภาพและเสียงความเป็นหมอลำนั้นไร้พรมแดนและชนชั้น หลายครั้งหลายหนหมอลำอาจถูกใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ อย่างเช่นสมัยหนึ่งที่มีการใช้หมอลำโฆษณาต้านคอมมิวนิสต์ แต่กฤติยาหวังว่ารถบัส ซึ่งประกอบด้วยตู้เพลง เวที และนิทรรศการภาพถ่ายขนาดย่อม จะทำให้คนอีสานทวงหมอลำคืนมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ สำหรับกฤติยาแล้ว สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดก็คือการไปเยือนวัดและโรงเรียนต่างๆ ในชนบท เช่น ขอนแก่น ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งผู้เข้าชมส่วนมากไม่เคยย่างกรายเข้าไปในสถานที่ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์
อย่างไรก็ดี สถานที่ๆ รถบัสได้รับความสนใจสูงสุด ก็คือที่งาน Wonderfruit Festival ที่พัทยาเมื่อปีที่แล้ว เพราะมันดูแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติและเหล่าคนเมือง กฤติยาเล่าว่า “มีคนเข้ามาถ่ายรูปเยอะมาก บางคนก็ปีนขึ้นไปข้างบนแล้วโพสท่าโยคะ มีคนจีนไว้ผมเดรดล็อกคนหนึ่งถือแซ็กโซโฟนมาขอแจมด้วย”
การชี้ชัดว่าองค์ประกอบใดของหมอลำเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาตินั้นเป็นเรื่องยาก แต่ในความเห็นนักเขียนด้านดนตรีชาวอเมริกันอย่าง
ปีเตอร์ ดูแลน มันคือส่วนผสมระหว่างเสียงที่แปลกหูกับลีลาที่คุ้นเคย ดูแลนเคยทำหน้าที่รวบรวมบัญชีรายชื่อเพลงขณะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่หอสมุด ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มเขียนบล็อกมนต์รักเพลงไทย (monrakplengthai.blogspot.com) ว่าด้วยเพลงลูกทุ่งและหมอลำที่หาฟังได้ยาก นอกจากนั้น เขายังมีส่วนร่วมในงานอัดเสียงให้แก่อัลบั้มเปิดตัวของวงขุนนรินทร์ศิลป์ พิณประยุกต์ โดยเป็นคนกลางช่วยประสานงานให้กับจอช มาร์ซี
ผู้เป็นโปรดิวเซอร์อีกด้วย เขาบอกว่าสิ่งที่สะกดผู้ชมจากนานาประเทศไว้ได้ก็คือ “ท่อนอิมโพรไวส์ยาวๆ ซึ่งถูกจริตบรรดาแฟนเพลงแนว ‘แจม แบนด์’ และเอ็ฟเฟกต์กีตาร์กับระบบเครื่องเสียงสั่งทำพิเศษ ฟังแล้วชวนนึกถึงดนตรีแนวโลไฟหรือการาจ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้”
ดูแลนยังยอมรับด้วยว่าองค์ประกอบอีกประการที่ช่วยปลุกกระแสหมอลำก็คือการโหยหาของเก่าๆ ตลับเทปบันทึกเสียงและปกอัลบั้มสีเทคนิคคัลเลอร์ถือเป็นของสะสมชั้นดี (และอันที่จริงก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ดูแลนชอบหมอลำ) อย่างไรก็ตาม สำหรับหลายๆ คน ดนตรีหมอลำของขุนนรินทร์ศิลป์
พิณประยุกต์ เป็นงานที่ธรรมดาเกินไป ดูแลนมองต่าง เขาแย้งว่า “เพลงพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงสนุกๆ ที่ใช้ในขบวนแห่ หรือใช้เต้นในวงเหล้ากลางแดดร้อนๆ ถามว่ามันจำเป็นหรือที่ต้องใช้นักดนตรีแบบสุดยอดเลยมาเล่น”
อันที่จริง ในแถบอีสานเอง ที่ซึ่งวงดนตรีทั้งหลายยังคงออกทัวร์คอนเสิร์ตกันมากกว่าปีละ 200 ครั้ง การแสดงหมอลำนั้นเอนเอียงไปทางรายการวาไรตี้โชว์ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการค้ามากกว่าจะเป็นดนตรีฮิปๆ ของ
มาฟต์ ไซ หรือเพลงแฝงกลิ่นอายเวิล์ดมิวสิกของรัสมี แต่ด้วยเหตุนี้ กฤติยาจึงเปรียบหมอลำเป็นวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิต ซึ่งย่อมมีท่วงทำนองที่ผิดแผกไปตามท้องถิ่น เธอกล่าวว่า “หัวใจสำคัญของหมอลำคือความยืดหยุ่น ถ้าคนไม่จ้างคุณเพราะคุณไม่สนุก คุณก็ต้องปรับ เหมือนอย่างตอนที่ดิสโก้และกระแสเพลงอื่นๆ เริ่มเข้ามาแทนที่ ในแง่หนึ่ง มันก็ถือเป็นอะไรที่ประชาธิปไตยเอามากๆ”
ความยืดหยุ่นนี่เองที่ทำให้หมอลำสามารถอยู่รอดในต่างจังหวัด พร้อมๆ ไปกับเอาชนะใจผู้ฟังชาวต่างชาติ โดยเป็นไปได้ว่า ต่อไปเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ อาจหันกลับมานิยมหมอลำก็ได้ “ในอดีตหมอลำถูกมองว่าเป็นดนตรีของคนอีสาน แต่พอมีคนนอกมาช่วยยืนยันคุณภาพ ต่อไปเราก็อาจจะเห็นความงามของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้เราเริ่มมีวัฒนธรรมที่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายเหมือนยุโรป” รัสมีกล่าว
ไม่แน่นัก อาจจะเป็นตัวรัสมีเองที่ปลุกกระแสหมอลำขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เสียงดนตรีซึ่งมีกลิ่นอายปะปนระหว่างหมอลำ แจ๊ส และดนตรีสไตล์แอฟริกันตะวันตกของเธอ ดูเหมือนจะบอกใบ้ถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้
แน่นอน อนาคตนั้นย่อมรวมถึงการที่หมอลำจะหวนคืนจากการโลดแล่นบนเวทีโลกกลับมายังกรุงเทพฯ และเอาชนะใจบรรดาคนรุ่นใหม่ได้ในที่สุด ■
Essentials
■
ขุนนรินทร์ศิลป์พิณประยุกต์
หล่มสัก เพชรบูรณ์
โทร. 087-525-7883
www.goo.gl/RMGLFr
■
Paradise Bangkok Molam International Band
■
Rasmee