HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้ากับเทคโนโลยีที่พลิกผัน

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)


     ผมเกรงว่าโลกของเราใน 10-20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างเชื่องช้า และกำลังซื้อชะลอตัว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวไม่มากนัก เป็นผลให้ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไปอีกนาน การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงจึงเป็นไปได้ยาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

     1. ประเทศที่เป็นหลักของเศรษฐกิจโลกคือยุโรป ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ ต่างมีประชากรที่เข้าสู่ยุคผู้สูงอายุ เศรษฐกิจจะขยายตัวช้า เหมือนในกรณีของญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเกือบไม่ขยายตัวเลยตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุในปี 1990 เป็นต้นมา ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาเงินฝืด (ไม่ใช่เงินเฟ้อ) ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำและเงินเกินดุลบัญชีเดินสะพัด กล่าวคือประเทศจะมีรายได้มาก แต่รายจ่ายน้อย ประเทศไทยเองก็เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เห็นได้จากที่ประชากรในวัยทำงานเริ่มลดลง แต่ประชากรวัยสูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

     2. ประเทศที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกคือสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปอาจต้องปรับให้ดอกเบี้ยติดลบเพิ่มขึ้น) แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้เพียง 1% ต่อไตรมาสใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ถือเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

     3. McKinsey Global Institute พบว่าสถานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในประเทศหลัก 25 ประเทศในช่วง 2005-2014 นั้น ประชากรกว่า 65-70% (540-580 ล้านคน) ฐานะยากจนกว่าเดิมหรือเสมอตัว เนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ผนวกกับการแก่ตัวลงของประชากรและสัดส่วนของเงินเดือนต่อ จีดีพีที่ลดลง และหากสภาวการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป ครัวเรือนกว่า 70-80% จะยากจนลงอีกในอนาคต (Poorer than their parents)

     4. เกิดกระแสต่อต้านการค้าเสรีอย่างรุนแรงเห็นได้จากการต่อต้านทีพีพี (ความตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับเอเชียที่ใช้เวลาเจรจานานถึง 6 ปี) แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะเป็นแกนนำหลักในการเจรจา นอกจากนั้นยังมีกระแส ต่อต้านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก เช่นการที่ชาวอังกฤษมีมติให้แยกอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป แนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ไทยเองต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นในปี 1975 การส่งออกสินค้าและบริการของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 18.4% ของจีดีพีและเพิ่มขึ้นมาเป็น 36.8% ในปี 1993 (หลังการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยอาศัยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย) และเพิ่มขึ้นอีกอย่างก้าวกระโดดหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 เนื่องจากไทยต้องหาเงินตราต่างประเทศมาชำระหนี้ ทำให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นมาเป็น 64.8% ของจีดีพีในปี 2000 และ 69.2% ในปี 2014

     แม้ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจะขยายตัวที่ระดับต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรม ในทางตรงกันข้าม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในยุคหลังนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความพลิกผันและแรง สั่นเทือนหรือ ‘disruptive technology’ ซึ่งจะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน ทำให้ต้องย้อนกลับมามองสถานการณ์กันใหม่ เช่น ประเด็นที่ประเทศไทยมาดหมายจะขึ้นเป็น Detroit of Asia กล่าวคือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แห่งภูมิภาค โดยปัจจุบันคาดกันว่าไทยนั้นเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ลำดับที่ 10 ของโลก

     แต่เมื่อพิจารณาหุ้นของบริษัท General Motors (GM) ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Detroit ก็น่าสรุปว่าประเทศไทยไม่ควรนำบริษัทดังกล่าวมาเป็นต้นแบบ เพราะมีพีอีเพียง 4 เท่า แปลว่าหากเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการจะสามารถขายหุ้นได้ในราคาเพียง 4 เท่าของกำไรที่หามาได้ เทียบกับ Facebook ซึ่งมีพีอี 59 เท่า และ GM นั้นมียอดขายต่อพนักงาน 1 คน เพียง 0.73 ล้านเหรียญ ขณะที่เฟซบุ๊กทำได้ 1.53 ล้านเหรียญต่อคน ทั้งนี้ GM มีพนักงานมากถึง 215,000 คน ในขณะที่เฟซบุ๊กมีพนักงาน 14,495 คน จึงไม่แปลกใจที่สัดส่วนกำไร (profit margin) ของ GM นั้นต่ำเพียง 7.9% (โตโยต้า 8.1%) ในขณะที่เฟซบุ๊ก นั้นมีสัดส่วนกำไรสูงถึง 27.2% สภาวการณ์เช่นนี้แปลว่าเฟซบุ๊กได้เปรียบ GM อยู่มากหากต้องการเพิ่มทุนขยายกิจการ

     ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะขยายตัวอย่างเชื่องช้า แต่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีน่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและความอยู่รอดหรือรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องนำมาเขียนถึงในคราวต่อไปครับ