HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE FAST LANE


Better with Age

มูลค่านาฬิกาสายเหล็กทรงสปอร์ตจากยุค 50s-70s กำลังพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ นับเป็นข่าวดีสำหรับ นักสะสมชาวไทยผู้มีใจรักในเครื่องบอกกาลเวลาแนววินเทจนี้

    ดูเหมือนตอนนี้จะไม่ใช่ยุคทองของตลาดนาฬิกาสวิสในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหพันธ์อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส (The Federation of the Swiss Watch Industry) ได้ออกมาแถลงว่ามูลค่าส่งออกนาฬิกาข้อมือจากสวิตเซอร์แลนด์มายังไทยลดลงถึง 12 % จากปี 2015 คือจาก 24.2 ล้านฟรังก์สวิส (885 ล้านบาท) เหลือเพียง 21.5 ล้าน (780 ล้านบาท) ด้วยมูลค่าในตลาดโลกที่ลดตํ่ากว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วถึง 9.7 % ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่าอุตสาหกรรมกำลังถดถอย ทางสมาคมยังประกาศด้วยว่า “แนวโน้มจะยังคงอยู่ในแดนลบต่อไปอีก”

    ในขณะเดียวกัน ตัวเลขสถิติการประมูลแสดงให้เห็นว่าตลาดนาฬิกาวินเทจ (นาฬิกาที่ผลิตในช่วงระหว่างปลายยุค 50s จนถึงยุค 70s) โตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2008 นักลงทุนรายใหม่ไม่น้อยเริ่มให้ความสนอกสนใจกับตลาดนี้ ซึ่งเดิมทีจำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงของแฟนพันธุ์แท้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านักสะสมจะเข้ามาจับตลาดที่ว่าเพราะอยากลงทุนหรือเพราะหลงรูปลักษณ์และฟังก์ชันของนาฬิการุ่นเก๋าก็ตาม ทั้งหมดก็ล้วนโชคดีที่ปัจจุบันมูลค่าของนาฬิกาเหล่านี้ต่างพุ่งทะยานสุดกู่

    อย่างกรณีของนาฬิกา Rolex Milgauss รุ่น 6541 ปี 1958 ซึ่งขายไปในงานประมูลของบริษัท Christie ณ กรุงเจนีวา ในปี 2010 ที่ราคา 123,000 ฟรังก์สวิส (4.46 ล้านบาท) ปีนี้เคาะราคาขายที่ 227,000 ฟรังก์สวิส (8.2 ล้านบาท) เช่นเดียวกับ Rolex Paul Newman Daytona 6262 จากยุค 70s ซึ่งขายไปเมื่อปี 2010 ที่ราคา 62,500 ฟรังก์สวิส (2.27 ล้านบาท) ณ งานประมูลเดียวกันในปีนี้ ราคาได้พุ่งพรวดขึ้นไปแตะ 233,000 ฟรังก์สวิส (8.45 ล้านบาท) จะเห็นได้ว่านาฬิกาทั้ง 2 รุ่นมีมูลค่าพุ่งขึ้นเกือบ 2 - 4 เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี

ตลาดโรเล็กซ์วินเทจแทบไม่เคยซบเซา ที่ผมรู้มีแค่ครั้งเดียว ที่ราคาตกคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 แต่หลังจากนั้นราคาก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ นาฬิกาพวกนี้มีอยู่จำนวนจำกัดและไม่ผลิตเพิ่มแล้ว

ยุคทองนาฬิกาวินเทจ

    มองใกล้เข้ามาที่ประเทศไทย ตลาดนาฬิกาเก่าก็กำลังเฟื่องฟูไม่แพ้กัน ภควัฒน์ ไววิทยะ มือกีตาร์แห่งวง Kidnappers และเจ้าของสตูดิโอบันทึกเสียง Atomix มีคอลเลกชันนาฬิกาโรเล็กซ์อยู่ประมาณ 30 เรือน โดยทั้งหมดมาจากช่วงยุค 50s-70s ซึ่งนับเป็นยุคทองแห่งดีไซน์ของนาฬิกาวินเทจ ภควัฒน์เล่าว่า “ตลาดโรเล็กซ์วินเทจแทบไม่เคยซบเซา ที่ผมรู้มีแค่ครั้งเดียวที่ราคาตกคือช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008 แต่หลังจากนั้นราคาก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ นาฬิกาพวกนี้มีอยู่จำนวนจำกัดและไม่ผลิตเพิ่มแล้ว มันเป็นเรื่องอุปสงค์อุปทานนั่นแหละ สมมติในโลกนี้มีเดย์โทนา 6263 สภาพสมบูรณ์อยู่แค่ 10 เรือน แต่คนที่สนใจหรือชอบนาฬิกาพวกนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้น ราคามันก็ต้องสูงอยู่แล้ว อย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บ้านเรามีสาวกเดย์โทนาเพิ่มขึ้นเยอะมาก”

    ‘เดย์โทนา’ หมายถึงชื่อรุ่นนาฬิกาโครโนกราฟทรงสปอร์ตของโรเล็กซ์ที่ใครๆ ต่างหมายปอง ส่วนในคอลเลกชันของภควัฒน์ เรือนที่เขาภูมิอกภูมิใจคือโรเล็กซ์ เดย์โทนา 6263 จากยุค 70s ซึ่งมาพร้อม ‘หน้าปัด Paul Newman’ อันเป็นชื่อเล่นที่สาวกตั้งตามชื่อนักแสดงฮอลลีวู้ด ผู้เคยสวมใส่รุ่นนี้จนคนติดตา ความจริงนาฬิการุ่นดังกล่าวถูกผลิตขึ้นพร้อมๆ กับเดย์โทนารุ่นอื่น ต่างกันเพียงแค่ตัวเลขบนหน้าปัดสไตล์อาร์ตเดโคกับรายละเอียดปลีกย่อยอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กระนั้นด้วยราคาขายที่สูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ในขณะนี้เดย์โทนา 6263 เป็นเสมือนจอกศักดิ์สิทธิ์สำหรับสาวกเดย์โทนาไปแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ความคิดที่ว่านาฬิการุ่นนี้หายากกลับเป็นอะไรที่แล้วแต่คนมอง สำหรับแคเธอรีน โทมัส รองประธานและหัวเรือใหญ่ฝ่ายนาฬิกาของบริษัทจัดประมูล Sotheby’s ในนครนิวยอร์ก นาฬิการุ่นนี้ไม่ได้หายากแต่อย่างใด เธอเล่าว่า “ในการขายเดือนธันวาคมปี 2014 เรามีพอล นิวแมนอยู่ 5 เรือน และแต่ละเรือนก็ติดป้ายว่าเป็น ‘นาฬิกาโครโนกราฟวินเทจหายาก’ ทั้งนั้น แต่ถึงจุดๆ หนึ่ง เราจะเริ่มตะขิดตะขวงใจแล้วเวลาต้องพูดอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ว่ามันเป็นเรื่องหลอกลวง แต่เราต้องอย่าลืมว่า นาฬิกาพวกนี้ผลิตขึ้นมาทีละจำนวนมาก แล้วคนผลิตตั้งใจให้มันเป็นของใช้งานราคาไม่แพง”

    ในขณะที่โรเล็กซ์ เดย์โทนารุ่นล่าสุด ราคาจะตกอยู่ที่ราวๆ 450,000 บาท (หากมีชื่ออยู่ใน waiting list) ย้อนไปในยุค 70s เดย์โทน่าเรือนใหม่เอี่ยมนั้นตั้งราคาขายอยู่ที่เพียง 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะเทียบเท่า 1,600 ดอลลาร์สหรัฐ (56,500 บาท) โทมัสเล่าว่า “ลูกค้ารายหนึ่งของเราได้โรเล็กซ์รุ่น Pre-Daytona เป็นของขวัญจากพ่อแม่ตอนอายุ 25 ปี เขาใช้เงินตัวเอง 125 ดอลลาร์และพ่อกับแม่ช่วยออกอีกครึ่งที่เหลือ ล่าสุดเขาเพิ่งขายนาฬิกาเรือนนั้นไปในงานประมูลของโซเธอบีส์ ที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1.06 ล้านบาท) เขาเองก็บอกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ราคาของนาฬิกาพวกนี้เวลาซื้อกับเวลาขายต่างกันลิบ ของทำจากเหล็กไม่ควรจะราคาแพงขนาดนี้ เพราะมันถูกผลิตมาสำหรับใส่เล่นกีฬาและขายในปริมาณมาก”

ของเล่นทางเลือก

    หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาเหล่านี้ไม่ได้เป็นของหายากหรือแพงด้วยมูลค่าวัสดุ ราคาที่ปรากฎในตลาดขณะนี้ต้องนับว่าชวนให้ฉงนไม่ใช่น้อย นิโคลัส บีบัค ผู้เชี่ยวชาญนาฬิกาอาวุโสที่คริสตี้ จากฮ่องกงอธิบายว่า “ถ้าจะพูดถึงราคานาฬิกาวินเทจที่แพงขึ้นหูฉี่ ก็ต้องพูดถึงการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก มันก็เหมือนกับตลาดรถวินเทจหลังปี 2008 คือคนไม่อยากฝากเงินกับธนาคาร ก็เลยหันไปซื้อรถ Ferrari 275 GTB แทน ตอนนี้มันแค่ลามไปถึงนาฬิกาด้วย เป็นตลาดของเล่นสำหรับผู้ชาย (boy’s toys) เหมือนกัน ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยคล้ายกัน”

    มูลค่าที่สูงขึ้นของนาฬิกาโรเล็กซ์และ Patek Philippe (ซึ่งบีบัคขนานนามว่าเป็น ‘แบรนด์บลูชิพ’) นั้นยังได้กระตุ้นให้ความต้องการนาฬิกายี่ห้ออื่นๆ ที่เคยถูกมองข้ามมาช้านานเพิ่มสูงขึ้นด้วย บีบัคกล่าวว่า “ตลาดโตไวมาก พวกนาฬิการุ่นใหม่ที่เมื่อ 12-18 เดือนที่แล้วคนทั่วไปยังจ่ายไหว ตอนนี้ราคาเกินเอื้อมไปแล้ว ที่เห็นชัดๆ ก็เป็น Omega Speedmaster และ Heuer ซึ่งมีรุ่นเด่นๆ แต่ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนักอย่าง Carrera กับ Autavia จะว่าไปแล้วหน้าตาของพวกนี้มันก็คือโรเล็กซ์ เดย์โทนาแต่เปลี่ยนชื่อยี่ห้อนั่นแหละ ผมซื้อ Carrera มาเรือนหนึ่งเมื่อปี 2004 ในราคา 1,000 ดอลลาร์ (35,000 บาท) นาฬิกาเรือนเดียวกันตอนนี้ราคาน่าจะตกอยู่ที่ราวๆ 2-3 หมื่นดอลลาร์ (708,000 -1.06 ล้านบาท) น่าเสียดายผมขายทิ้งไปนานแล้ว”

    นาฬิกาทั้งหมดที่ว่าปรากฏอยู่ในคลังของภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรของ DTAC นาฬิกาของเขานั้นมีสารพัดยี่ห้อ ตั้งแต่โรเล็กซ์ซับมารีนเนอร์รุ่นแรกๆ ไปจนถึง Audemars Piguet Royal Oak เรือนงาม (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนาฬิกาข้อมือเหล็กรุ่นแรกที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อขายเป็นของแพง) รวมถึงนาฬิการุ่นที่รู้กันในวงจำกัดอย่าง Tissot หน้าปัดไฟเบอร์กลาส และนาฬิกาดำนํ้า Seiko ตัวเรือนไทเทเนียมรุ่นแรกๆ ซึ่งกันนํ้าลึก 600 เมตร ภารไดยกล่าวว่า “คนมักชอบโรเล็กซ์มากกว่า เพราะในตลาดมือสองมันซื้อง่ายขายคล่อง และค่าเสื่อมราคาไม่ค่อยสูง ถ้ามองในระยะยาว ก็ต้องเลือกอะไรที่มูลค่ามันสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ แต่ส่วนตัวผมซื้อเฉพาะนาฬิกาที่ถูกใจจริงๆ เท่านั้น กำไรคือการที่ผมได้ส่งต่อคอลเลกชันพวกนี้ให้กับลูกๆ เท่านั้น”

    แม้สำหรับที่อื่น นาฬิกาวินเทจยี่ห้อซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ภารไดยบอกว่าตลาดในเมืองไทยยังแคบ “นักสะสมที่ผมเห็นที่นี่เน้นโรเล็กซ์เท่านั้น มีกลุ่มเฉพาะที่แตกออกไปเล่นนาฬิกาโอเมกากับ ฮอยเออร์รุ่นเก่าๆ บ้าง แต่หลักๆ มันคือโรเล็กซ์กับปาเต็ก ฟิลิปนี่แหละ”

อดีตที่ยากเลียนแบบ

    นักสะสมโรเล็กซ์อีกรายหนึ่ง กิตติโชค อัศดรศักดิ์ หรือ ‘เล็กซ์’ (มาจากโรเล็กซ์) อดีตนักธุรกิจค้าผักและผลไม้ อธิบายว่าทำไมโรเล็กซ์ถึงครองความสนใจของนักสะสมชาวไทยมาช้านาน “ผมเป็นคนจีนและธรรมเนียมของคนจีนในประเทศไทยคือต้องใช้แต่โรเล็กซ์เท่านั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมตลาดที่นี่ถึงแกร่งมาก ผมโตมาเห็นเพื่อนของพ่อกับแม่ใส่โรเล็กซ์ตลอด ทั้งลุง ป้า น้า อา ทุกคนเลย”

    คอลเลกชันของเขารวมถึงรุ่นที่หลายคนปรารถนาจะได้มาครอบครองอย่างโรเล็กซ์ ซับมารีนเนอร์ ซึ่งเป็นรุ่นผลิตพิเศษสำหรับ COMEX บริษัทดำนํ้าสัญชาติฝรั่งเศส กิตติโชคคาดว่าเรือนที่เขามีเป็นเพียง 1 ใน 2 ของประเทศเท่านั้น โดยทั้งหมดนี้เริ่มมาจากการที่แม่เขาซื้อโรเล็กซ์รุ่น Datejust ซึ่งตัวเรือนทำจากเหล็กและทองคำมาให้ อย่างไรก็ตาม เหมือนกับนักสะสมนาฬิกาวินเทจส่วนใหญ่ ปัจจุบันกิตติโชครวมความสนใจอยู่กับโรเล็กซ์รุ่นที่เป็นเหล็กทั้งเรือน เพราะดูไม่โฉ่งฉ่าง และเหมาะสำหรับสวมใส่กว่า

    เขาเล่าว่า “ผมรู้จักลูกครึ่งไทย-จีนคนหนึ่งที่พอสามีเสียชีวิต เธอก็ไขตู้เซฟแล้วเจอโรเล็กซ์สายเหล็กเรือนหนึ่ง เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเก็บไว้ในเซฟ ในเมื่อมันไม่ใช่นาฬิกาทอง ไม่ได้ฝังเพชร มันจะไปมีราคาอะไร พอผมดู ปรากฎว่ามันคือซับมารีนเนอร์จากยุค 70s ที่มีขีดบอกเวลาเป็นคราบสนิมฟักทอง สุดยอดเลย”

คนเริ่มเห็นความงาม ของคราบสนิม ลักษณะเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาแต่ละเรือนมี เรื่องราว แล้วก็เป็นอะไรที่เลียนแบบไม่ได้

    คราบสนิมฟักทองนั้นหมายถึงสีส้มจางๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนขีดบอกเวลาเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกาเมื่อใช้งานไปเป็นเวลานาน แม้จริงๆ แล้วสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในขั้นตอนควบคุมคุณภาพ คราบสนิมฟักทองในปัจจุบันได้กลายเป็นคุณสมบัติที่สาวกนาฬิการุ่นคุณปู่ต่างถวิลหา ภารไดยกล่าวว่า “นี่ถือเป็นแนวคิดใหม่สำหรับบ้านเราเลย เพราะปกติเราชอบของใหม่แกะกล่อง ของมือสองจะถูกมองว่ามีมลทิน เหมือนรถกับบ้านมือสองที่คนจะไปกลัวเรื่องผี เรื่องวิญญาณ แต่ความคิดพวกนั้นกำลังค่อยๆ เปลี่ยน คนเริ่มเห็นความงามของคราบสนิม ลักษณะเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นกับนาฬิกาแต่ละเรือนมีเรื่องราว แล้วก็เป็นอะไรที่เลียนแบบไม่ได้”

    จากคำบอกเล่าของภควัฒน์ เดี๋ยวนี้การจะเป็นเจ้าของโรเล็กซ์วินเทจได้นั้น จะต้องใช้เงินราวๆ 200,000 บาท ซึ่งน่าจะพอหาซื้อโรเล็กซ์รุ่นซับมารีนเนอร์จากยุค 70s สภาพดีได้สักเรือน อย่างไรก็ดี นักสะสมนาฬิกาทุกคนเตือนเรื่องการซื้อผ่านเว็บไซต์ eBay เพราะมักจะเจอกับ ‘นาฬิกาแฟรงเกนสไตน์’ หรือนาฬิกาย้อมแมวแบบที่นำชิ้นส่วนจากหลายๆ แหล่งมาประกอบเข้าใหม่ แน่นอนว่าการออกเสาะหาตามงานประมูลระดับโลกย่อมทำให้มั่นใจได้ถึงแหล่งที่มา แต่ภารไดยบอกว่าราคาที่ได้จะแพงหูดับ ดังนั้น ทางที่ดีคือการมองหาตัวแทนขายดังๆ หรือเข้าร่วมเว็บบอร์ดเพื่อทำความคุ้นเคยกับชุมชนนักสะสมนาฬิกาวินเทจในประเทศไทย เพราะปกติคนเหล่านี้จะขายนาฬิกาของตัวเองเพื่อเอาเงินไปซื้อเรือนใหม่อยู่แล้ว โดยสำหรับการนี้ เว็บไซต์อย่าง Siamnaliga.com ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย “สิ่งที่ผมว่าตลกคือ เรามีลูกค้าที่เศร้าจริงๆ เมื่อได้ยินว่านาฬิกาของตัวเองแพงขนาดนี้ พวกเขาไม่อยากขาย แต่ตอนนี้ก็กลัวเกินกว่าจะเอามาใส่” โทมัสกล่าว

    พ้นจากนี้ คำตอบอาจอยู่ที่การซื้อนาฬิการุ่นเก่าที่นำกลับมาผลิตซํ้าก็เป็นได้ เพราะในขณะที่อุตสาหกรรมนาฬิกาข้อมือระบบกลไกรุ่นใหม่ๆ ต้องเผชิญกับยอดขายที่ซบเซา หนทางแก้ปัญหาอย่างหนึ่งของหลายยี่ห้อก็คือการกลับไปหาความสำเร็จในอดีต แบรนด์่ไม่น้อยต่างนำนาฬิการุ่นเก๋าของตนกลับมาผลิตซํ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนาฬิกาดำนํ้ารุ่น Ploprof ของโอเมกา ดีไซน์ดั้งเดิมแบบ Reverso ของ Jaeger-LeCoultre หรือนาฬิกาโครโนกราฟรุ่น El Primero ปี 1965 ของ Zenith

    โดยเหตุผลนั้นก็ง่ายๆ คือนาฬิกาจากยุคดังกล่าวไม่เพียงสมบุกสมบัน แต่ยามอยู่บนข้อมือก็ยังดูสวยเหมือนครั้งออกจากโรงงานไม่เปลี่ยนแปลง