SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Modernism’s Last Stand
มรดกทางสถาปัตยกรรมของไทยจากยุค 60s และ 70s ที่ค่อยๆ
อันตรธานไป ถือเป็นอีกหนึ่งบทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ
การลุกขึ้นมาปกป้องสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘ยุคโมเดิร์น’ ของไทยจากการถูกทุบทิ้งมักหนีไม่พ้นข้อถกเถียง เช่น การรื้อถอนตึก AUA ตรงถนนราชดำริ ซึ่งออกแบบโดย กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคอนโดมิเนียมหรู การทุบอาคารธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตรงหัวมุมสี่แยกถนนเพลินจิตตัดกับวิทยุ เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานสูง 37 ชั้น แม้แต่ศาลฎีกาก็ยังมีคดีในศาลที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอนอาคารของศาลเอง ซึ่งตั้งตระหง่านมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20
บรรดาสิ่งปลูกสร้างจากช่วงยุค 40s ถึง 70s เหล่านี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสมัยใหม่ โดยสื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าในระบบการศึกษา การธนาคาร และกฎหมายของประเทศ กระนั้น ชะตาของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเหล่านี้กลับอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์ที่เก่าล้าสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ครบครัน หรือการใช้พื้นที่ที่หละหลวมไม่คุ้มกับราคาที่ดินในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นักวิชาการจำนวนหยิบมือและผู้มีใจรักในสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ต่างกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดลูกตุ้มทุบตึก สิ่งที่พวกเขาต้องการบอกมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมโยงเมืองไทยในปัจจุบันกับอดีต การทำลายตึกเหล่านี้ จะทำให้สายใยระหว่างเรากับประวัติศาสตร์ของเมืองสูญหายไปตลอดกาล
มีอาคารอยู่ 4,000 แห่งในรายชื่ออาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่เราเพิ่งขึ้นทะเบียนไปได้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น
ตาของผู้มอง
โรงภาพยนตร์สกาล่า ณ สยามสแควร์ ซึ่งออกแบบโดยจิระ ศิลป์กนก สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังความงามของโรงแรมอินทรา อีกหนึ่งแลนด์มาร์กนั้น ถือเป็นอาคารที่แสดงลักษณะของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุค 60s และ 70s ไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเสาคอนกรีตสอบลงสู่พื้น หรือโคมไฟระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้น
“สกาล่าเป็นหนึ่งในอาคารที่ผมชอบที่สุดในประเทศไทย มันสร้างมาตั้งแต่ปี 2512 และเป็นโรงภาพยนตร์แบบ ‘movie palace’ แห่งสุดท้ายในประเทศที่ยังเปิดให้บริการอยู่” ฟิลิป แจบลอน ช่างภาพเจ้าของบล็อก The Southeast Asia Movie Theater Project ที่บอกเล่าเรื่องราวของโรงภาพยนตร์ที่ตั้งแบบเอกเทศหรือ ‘สแตนด์อโลน’ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้กล่าว ก่อนจะเสริมว่า “นอกจากนั้น ผมยังเป็นแฟนตัวยงของโรงภาพยนตร์ฟ้าสยามที่สุพรรณบุรี แต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้วเพราะมันถูกทุบทิ้งไปตั้งแต่ปี 2556 นี่คือความสูญเสียอย่างที่สุดของวงการภาพยนตร์และวงการสถาปัตยกรรมโมเดิร์น แต่กลับไม่มีใครสนใจเลย”
สกาล่าเองก็ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงไม่ต่างกัน เรียกได้ว่าครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกมาประกาศถึงแผนการพัฒนาที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ สมาคมสถาปนิกสยามเองแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทั้งนี้เพราะโรงภาพยนตร์นี้ ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรม อันเนื่องมาจากอายุของอาคารที่ไม่เก่าแก่เพียงพอ ในปี 2555 สมาคมสถาปนิกสยามจึงได้รีบมอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้แก่สกาล่า แต่เมื่อต้นปีนี้เอง ประเด็นการรื้อถอนโรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งนี้ก็ถูกยกขึ้นมาอีก
ตามสถานะปัจจุบัน ในเดือนมกราคมปี 2560 ผู้เช่ารายปัจจุบัน (เครือเอเพ็กซ์) จะได้รับโอกาสต่อสัญญาเช่าอีก 3 ปี แต่ปี 2560 จะเป็นปีที่สัญญาสิ้นสุดลงอย่างถาวรและทางจุฬาฯ มีแผนจะมอบหมายให้บริษัทเอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าว รองอธิการบดีท่านหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า เมื่อถึงตอนนั้น การอนุรักษ์สกาล่าจะตกอยู่ในดุลพินิจของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเสริมว่า “สกาล่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่งดงาม แต่ไม่ได้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เทียบเท่าวัดพระแก้ว” แม้ทุกวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีของจุฬาฯ จะออกมาสนับสนุนการอนุรักษ์สกาล่าไว้ แต่ความไม่แน่นอนดูเหมือนจะยังไม่หายไปง่ายๆ
ย้อนดูภาพใหญ่กว่านั้น แนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หรือ Modernism ซึ่งถือกำเนิดจากขบวนการเบาเฮาส์ (Bauhaus) ในเยอรมนีเมื่อช่วงทศวรรษที่ 20 นั้น มุ่งสร้างสรรค์งานทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและเผยให้เห็นเนื้อแท้ของโครงสร้าง อาคารส่วนมากไร้เครื่องตกแต่งใดๆ ด้วยความคิดที่ว่ารูปทรงควรถูกกำหนดโดยการใช้งานเป็นหลัก สถาปนิกผู้บุกเบิกแนวคิดดังกล่าว อย่าง มีส ฟาน เดอร์ โรห์ และ เลอ กอร์บูซิเอร์ ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวคิดนี้ดำรงอยู่มา 40 ปี คติประจำลัทธิที่ว่า ‘less is more’ ได้ถูกคนมองว่านำไปสู่อาคารแบบมีแต่แท่งคอนกรีตและแผ่นกระจก และทำให้เกิดกระแสต่อต้านที่ว่า ‘less is bore’ ซึ่งนำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบ ‘พ้นโมเดิร์น’ หรือ Post-modernism ในยุค 80s ในที่สุด
วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรม ได้รับการว่าจ้างจากสมาคมสถาปนิกสยามให้บันทึกความงามของงานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นชิ้นเอกในเมืองไทยที่กำลังค่อยๆ สาบสูญ ภาพของเขาพยายามถ่ายทอดความงามของสถาปัตยกรรมซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยและไร้การประดับประดาฟุ่มเฟือย เช่น ในภาพถ่ายตึกภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งออกแบบโดยองอาจ สาตรพันธุ์นั้น แสดงให้เห็นแสงแดดที่ตกกระทบโครงสร้างคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม 26 ช่องจนเกิดเป็นเงาทแยงคมคาย ส่วนในภาพถ่ายอาคารสตางค์ มงคลสุข ผลงานชิ้นเอกของอมร ศรีวงศ์ แสดงให้เห็นเสาต้นเดี่ยวคํ้าโครงเหล็กกล้าซึ่งรองรับนํ้าหนักเพดานคอนกรีตเปลือยไว้อีกทอดหนึ่ง ภาพที่ถูกถ่ายทอดเป็นขาวดำยิ่งขับเน้นความงามของรูปทรงสถาปัตยกรรมโมเดิร์นให้เด่นชัดขึ้นอีก
“สิ่งที่ทำให้มันสวยคือฝีมือเทคโนโลยีทางวิศวกรรม ครั้งแรกที่ผมเห็นตึกพวกนี้ตามต่างจังหวัดไกลๆ ผมแทบไม่อยากเชื่อ ฝีมือสถาปนิกสมัยนั้นสุดยอดมาก อย่างเช่นตึกฟักทองที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ [สร้างในปี 2539] รูปทรงของมันเหมือนชาม แล้วมันก็ตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยอาศัยแค่เสาคํ้าตรงกลางต้นเดียว นั่นแหละคือนิยามของคำว่าลํ้าสมัยสำหรับผม” วีระพลกล่าว
ปกป้องประวัติศาสตร์
ปัจจุบัน วสุ โปษยะนันทน์ ดำรงตำแหน่งสถาปนิกประจำสำนักสถาปัตยกรรม และสมาชิกในคณะกรรมการไทยของสภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี ประจำกรมศิลปากร รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ทำหน้าที่กำหนดว่าสิ่งปลูกสร้างใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณ-สถาน ซึ่งแค่ฟังก็รู้ว่าไม่ใช่งานง่ายๆ
“มีอาคารอยู่ 4,000 แห่งในรายชื่ออาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่เราเพิ่งขึ้นทะเบียนไปได้แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะกระบวนการค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ไม่ว่าการลงทะเบียน การออกสำรวจพื้นที่ รวมถึงการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา” วสุกล่าว
นอกจากข้อจำกัดในเรื่องกำลังคนไม่พอแก่งานแล้ว อุปสรรคอีกอย่างสำหรับการเลื่อนสถานะของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไปเป็นมรดกของชาติก็คือระเบียบกฏเกณฑ์ของกรมศิลปากรเอง เนื่องด้วยหลักเกณฑ์กำหนดให้สิ่งปลูกสร้างที่จะรับการพิจารณาเป็นมรดกของชาติจะต้องมีความงดงามทางศิลปะ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งเกณฑ์อย่างหลังนั้น วสุบอกว่าเป็นเกณฑ์ที่สิ่งปลูกสร้างจากยุค 60s และ 70s ผ่านได้ยากยิ่ง ดังนั้น ในการชักจูงเพื่อนร่วมงานในสำนักโบราณคดีให้เห็นค่าของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น วสุจึงมีหน้าที่ต้องอธิบายนิยามที่กว้างขึ้นสำหรับคำว่ามรดกชาติ
“คำถามสำคัญมันมีอยู่คำถามเดียวเท่านั้นคือ ‘สิ่งเหล่านี้มันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์รึเปล่า’ ประวัติศาสตร์มันต้องสืบเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คุณไม่สามารถบอกว่า ‘ประวัติศาสตร์จบลงที่ปี 2472’ เราต้องถามว่าทำไมรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเราถึงวิวัฒนาการจากสมัยอยุธยามาเป็นแบบชิโน-โปรตุกีส ก่อนจะมาจบที่นีโอคลาสสิกได้ อย่างศาลฎีกานี่น่าสนใจมาก เพราะเป็นตึกที่ผสมผสานเอกลักษณ์จากหลายยุคหลายสมัยเลย คุณสามารถเห็นร่องรอยประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ในที่ๆ เดียว” เขากล่าว
กรณีของศาลฎีกาถือเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับกรมศิลปากร เพราะกลุ่มอาคารดังกล่าวจริงๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น เมื่อมีความพยายามรื้อถอนอาคารในปี 2555 กรมศิลปากรจึงได้ยื่นเรื่องดำเนินคดีเพื่อยับยั้งการกระทำดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการสู้ยิบตาที่ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก กระนั้น ศาลฎีกาก็ยกเอาหลักกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีปี 2531 มาทัดทาน ทำให้ไม่เพียงการรื้อถอนจะยังดำเนินต่อไป หากอาคารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นยังฝ่าฝืนข้อกำหนดความสูงภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตเมืองเก่าอีกด้วย แม้กระทั่งทุกวันนี้ กรมศิลปากรก็ยังดำเนินคดีเพื่อปกป้องอาคารโมเดิร์นหลังสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่
“ความหมกมุ่นใน ‘ความเป็นไทย’ และการนิยามคำๆ นี้อย่างแคบมากโดยผู้มีอำนาจในประเทศ ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ทางวัฒนธรรมในลักษณะหนึ่งขึ้นมา” ภารวี วงศ์จิรชัย อดีตรองผู้อำนวยการของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งประเทศไทย (TCDC) กล่าวไว้ เมื่อครั้งศูนย์แห่งนี้จัดนิทรรศการครั้งสำคัญในปี 2551 ภายใต้ชื่อ ‘อยากทันสมัย สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทย พ.ศ. 2510-2530’
“งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทยจากยุค 60s และ 70s จำนวนมากถูกมองว่าไม่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เพราะมันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะกลายเป็นว่าเราโละประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเราทิ้งไปด้วยทั้งหมด” เขากล่าว
ผมยอมรับว่าโรงหนังพวกนี้ไม่ได้สวยหยดทุกโรง ก็มีดีไม่ดีปะปนกันไป แต่อย่างน้อยที่ไม่เหมือนกับโรงหนังตามห้างสมัยนี้ ก็ตรงที่โรงหนังเหล่านี้ให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ในเมืององคาพยพก็ว่าได้
ทัวร์ครั้งใหญ่
หากไม่ได้มีเส้นสายอยู่ในสมาคมสถาปนิกสยาม คนธรรมดาทั่วไปที่หลงใหลในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และอยากไปเยี่ยมชมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะพบว่ามีข้อมูลอยู่น้อยเต็มที อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ TCDC ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ขึ้นในปี 2551 สถานการณ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ จนเมื่อปี 2557 องค์การนอกภาครัฐซึ่งอุทิศตนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่นามว่า DOCOMOMO ได้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาคารเด่นๆ 24 หลัง จากศตวรรษที่ 20 เอาไว้บนเว็บไซต์ภาษาไทยของตน
ในกรุงเทพฯ โรงแรมอินทราเป็นหนึ่งในอาคารที่ติดโผของ DOCOMOMO ผลงานของสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลังโรงภาพยนตร์สกาล่านี้ ปรากฏให้เห็นลักษณะหลายประการที่เป็นนิยามของสถาปัตยกรรมไทยยุคใหม่ โครงสร้างแบบฐานกว้างเตี้ยรองรับตึกสูงด้านบน ดูแล้วไม่ต่างจากโรงแรม SAS Royal ในเมืองโคเปนเฮเกน ซึ่งออกแบบโดยอาร์เนอ ยาค็อบเซนในปี 2498 แต่ในขณะที่โรงแรม เอสเอเอส รอยัล ใช้โครงสร้างคอนกรีตเป็นหลักเพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งกำแพงหรือเสาในการรับนํ้าหนัก และใช้กระจกเป็นวัสดุบุรอบตัวอาคารแทน วัสดุโครงสร้างของโรงแรมอินทรากลับสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของสภาพอากาศเมืองร้อนด้วยกำบังคอนกรีตหน้าอาคารที่ยื่นออกมาป้องกันแสงอาทิตย์ นับเป็นลูกเล่นหรูหราที่แฝงประโยชน์ใช้สอยอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ การป้องกันแสงอาทิตย์อันร้อนระอุไม่ให้เข้าสู่ภายในอาคาร เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมโมเดิร์นของไทยและประเทศในเขตร้อน ตึกคุรุสัมนาคารซึ่งตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีโครงสร้างหลังคาปีกโค้งลาดยื่นจากผนังตึกออกไปเพื่อป้องกันอาคารจากฝนในฤดูมรสุมรวมถึงแสงแดดจัดในตอนกลางวัน อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในปี 2503 โดยสถาปนิกชาวไทย วทัญญู ณ ถลาง และ นคร ศรีวิจารย์ ร่วมกับ ม.ร.ว.จาตุรีสาน ชุมพล ผู้เป็นวิศวกร เมื่อได้เห็นอาคารแล้วอาจชวนให้นึกถึงผลงานของสถาปนิกลูกครึ่งฟินนิชอเมริกันอย่างเอโร ซาริเนน ที่ได้รับการประยุกต์ให้เข้ากับท้องถิ่นมากขึ้น
“ผมถ่ายรูปตึกนี้เป็นที่แรก มันเรียบแล้วก็โมเดิร์นมาก ทั้งๆ ที่อยู่ในต่างจังหวัดลึกขนาดนั้น” วีระพลเล่าย้อนไป
การใช้พื้นที่กลางแจ้งถือเป็นอีกหนึ่งลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นขึ้นมาของยุคโมเดิร์น ดังเช่นตึก AUA ซึ่งเคยตั้งอยู่บนถนนราชดำริ และมีโถงทางเดินและโรงอาหารของอาคารเปิดไปสู่สวนเขตร้อนและต้นไทรขนาดมหึมา ทั้งนี้เพราะการออกแบบอาคารให้มีอากาศถ่ายเท ถือเป็นสิ่งสามัญในสมัยที่เครื่องปรับอากาศยังไม่แพร่หลายอย่างช่วงยุค 60s และ 70s โถงทางเข้าของโรงภาพยนตร์สกาล่าเองก็มีลักษณะเปิดโล่ง เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์อื่นๆ อีกหลายแห่งจากภาพถ่ายของแจบลอนและวีระพล
“ผมยอมรับว่าโรงหนังพวกนี้ไม่ได้สวยหยดทุกโรง ก็มีดีไม่ดีปะปนกันไป แต่อย่างน้อยที่ไม่เหมือนกับโรงหนังตามห้างสมัยนี้ ก็ตรงที่โรงหนังเหล่านี้ให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ในเมือง เป็นองคาพยพก็ว่าได้” แจบลอนกล่าว
ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้ อดีตดูเหมือนจะกลับมาเป็นปัจจุบันอีกครั้ง เมื่อบรรดาห้างสรรพสินค้าแนวคิดลํ้าสมัยอย่าง เอ็มควอเทียร์ เดอะ คอม-มอนส์ ไปจนถึง 72 คอร์ทยาร์ด ได้นำลูกเล่นจำพวกพื้นที่เปิดโล่ง สวนหย่อมขนาดเล็ก รวมถึงการเน้นพื้นที่ส่วนรวมมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง น่าเสียดาย เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ บรรดาเจ้าของโครงการมักอ้างอิงแนวคิดจากเมืองใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์กหรือซิดนีย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว ร่องรอยแนวคิดเหล่านี้ก็ปรากฏให้เห็นในตึกรามโมเดิร์น ที่กำลังค่อยๆ อันตรธานไปของบ้านเราเช่นกัน มองในแง่นี้ การทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนั่นอาจทำให้วันหนึ่งเราพบว่า เราไม่จำเป็นต้องรอรับแรงบันดาลใจจากภายนอกเพียงถ่ายเดียว
หากแต่ยังสามารถที่จะหาแรงบันดาลใจได้จากความเป็นเรานี่เอง
■