SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
คนรุ่นใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้คืนชีวิตให้กับดินแดนแห่งวัฒนธรรม อาหาร และ
ธรรมชาติ
ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสมีอะไรที่สวยงามลึกซึ้งกว่าภาพรถเข็นขายโรตีชาชักและความรุนแรงที่คนมักจดจำ
เส้นทางขึ้นจุดชมวิวบนยอดเขามีรถจอดเรียงรายตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง คนที่มาถึงช้าต่างรีบ
วิ่งเหยาะขึ้นไปยังจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวไทยกำลังเบียดเสียดเพื่อแย่งตำแหน่งดีที่สุดในการชมทะเลหมอก ในอีกไม่กี่อึดใจ พระอาทิตย์จะลอยขึ้นเหนือทะเลปุยนุ่นสีขาวสุดลูกหูลูกตา
อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เสียงชัตเตอร์จากกล้องและโทรศัพท์มือถือนับไม่ถ้วนจะปะทุแข่งกันอย่างไม่ลดราวาศอก
ภาพนักปีนเขาในเสื้อกันหนาวคอยตั้งท่าถ่ายทะเลหมอกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
ย่อมเป็นภาพชินตาตามยอดดอยในภาคเหนือ หากสถานที่ที่เรากำลังพูดถึงคือตำบล
อัยเยอร์เวงในจังหวัดยะลา อันเป็นที่ตั้งของ
เทือกเขาสันกาลาคีรีซึ่งทอดยาวกั้นพรมแดนไทยและมาเลเซีย จำนวนนักท่องเที่ยวที่จุดชมวิวนั้นแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความพยายามของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการดึงดูด
นักท่องเที่ยวให้มาลงพื้นที่ ซึ่งดูจะได้ผลไม่น้อย นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเบตง อันเป็นเมืองอยู่ติดกับอัยเยอร์เวงเพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 300,000 คนในปี 2558 เป็น 600,000 คนในปี 2559
เช่นเดียวกับจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างนราธิวาส ยะลาได้นำโครงการในพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาต่อยอด โดยท่าม
กลางกระแสนิยมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์โครงการในพระราชดำริต่างๆ กลายเป็นจุดหมายสำหรับคนเมืองที่แสวงหาธรรมชาติแบบไม่ปลอมปน ยิ่งกว่านั้น สเน่ห์วัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าที่อื่น ผู้ที่ได้ลองลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยแคบๆ ชมความงามของตึกแถวเก่าแบบจีน มัสยิดที่ตกแต่งอย่างวิจิตร และคฤหาสน์จากยุคอาณานิคม
จะพบว่าปัตตานี ยะลา และนราธิวาสมีอะไรให้หลงรักมากกว่าที่เคยรู้ ไม่น่าแปลกใจ ด้วยของดีที่มีอยู่เหลือล้น ตอนนี้ชาว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พยายามปกปักรักษามรดกประจำท้องถิ่น อีกทั้งเชิญชวนให้คนไทยในจังหวัดอื่นๆ มาท่องเที่ยวให้มากกว่าครั้งใดที่ผ่านมา
เปิดตัวยะลา
ในเดือนเมษายน 2557 เกิดเหตุระเบิด 8 ลูกในจังหวัดยะลา ซึ่งภายในระยะเวลาเกิดเหตุ 2 วัน มีผู้เสียชีวิต 1 รายและได้รับบาดเจ็บ 28 ราย จวบจนวันนี้ สำนักงานต่างประเทศของ
สหราชอาณาจักรยังคงไม่แนะนำให้เดินทางไปยังสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา “หากไม่มีเหตุจำเป็น” ส่วนประเทศออสเตรเลียแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยะลาโดย
สิ้นเชิง ภาพลักษณ์ของจังหวัดยะลาได้รับผล
กระทบอย่างหนักไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเอง ยะลาไม่ถูกนับเป็นรายชื่อจุดหมายปลายทางยอดนิยมอย่างเชียงใหม่หรือภูเก็ตมานานแล้ว อย่างมากผู้มาเยือนยะลาจึงมีแค่ชาว
มาเลย์ที่ข้ามชายแดนมาเที่ยวครั้งละวันสองวัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันหนึ่งอัยเยอร์เวงโด่งดังขึ้นมาโดยปัจจุบันทันด่วนจากคำร่ำลือกันปากต่อปากในโลกโซเชียล มีเดียตั้งแต่ปี 2558 คน
ท้องถิ่นจึงไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสทองนี้ไว้ สมยศ เลิศลำยอง นายกเทศมนตรีเมืองเบตงจึงได้ผลักดันข้อตกลงมูลค่า 90 ล้านบาทร่วมกับรัฐบาลในการสร้างสะพานกระจกบนจุดชมวิว นอกจากนี้ยังเดินหน้าก่อสร้างสนามบินสำหรับเครื่องบินขนาด 30 ที่นั่งจากหาดใหญ่และภูเก็ต ที่จะแล้วเสร็จในปี 2562 ด้วย
“มาเพื่อชมธรรมชาติ อยู่ต่อเพื่อชิม” เกือบๆ จะใช้เป็นสโลแกนของเมืองเบตงได้ ไก่เบตงนั้นมีชื่อเสียงไปทั่วราชอาณาจักรเพราะเนื้อเหนียวกำลังดี หนังนุ่มฉ่ำและอร่อยน้ำราดซีอิ้วสูตรพิเศษ ซึ่งหากินได้จากร้านอาหารไม่กี่แห่งในเมืองเท่านั้น ถ้าให้แน่นอนที่สุด คนท้องถิ่นแนะนำให้ไปลองชิมที่ร้านอาหารจีนต้าเหยิน ซึ่งยังคงดำเนินกิจการโดยกิตติ ยงวิริยกุล ผู้ก่อตั้ง แม้ปัจจุบันกิตติจะอายุ 70 ปีแล้ว แขกไปใครมายังสามารถเห็นกิตติเดินรับแขกในร้านพร้อมคุยจีนกลางโขมงโฉงเฉง เรื่องราวของกิตตินับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ “ตอน
ผมมาที่นี่ ผมพูดภาษาจีนไม่ได้สักคำ แต่อาศัยมาเรียนเอาตอนทำงานเป็นลูกมือในร้านอาหารจีนที่รับซื้อผักจากพ่อผม” เขาเล่า
ผู้ที่ได้รับประทานไก่เบตงของกิตติจะ
ตระหนักได้ทันทีว่าไม่ได้มีแต่ภาษาจีนเท่านั้น
ที่เขาชำนาญ กิตติถือเป็นหนึ่งในหัวหอกที่ช่วยผลักดันอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักแก่คนภายนอก เขาเพิ่งเซ้งกิจการโรงงานผลิต
ซีอิ๊วและเอาความรู้มาสร้างสรรค์น้ำซีอิ้วดำสูตรเฉพาะสำหรับไก่เบตง ในทำนองเดียวกัน
เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ ก็จวนจะสร้างโรงงานในใจกลางเมืองยะลาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในอนาคตโรงงานแห่งนี้จะผลิตซอสขึ้นชื่อในตำรับอาหารใต้ต่างๆ ตั้งแต่น้ำจิ้มไก่กอและ น้ำสลัดแขก
ไปจนกระทั่งน้ำจิ้มไก่สูตรปักษ์ใต้
“คนหนุ่มสาวย้ายออกไปเยอะ เพราะมองไม่เห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่จริงๆ มันอยู่ตรงหน้านี่แหละ รอแค่คนมาเห็น” เอกรัตน์กล่าว เขาเป็นเจ้าของคาเฟ่ยอดนิยมในหมู่คนท้องถิ่นชื่อ Living Room ซึ่งเสิร์ฟของหวานสไตล์ญี่ปุ่นในแบบฉบับร้านอาฟเตอร์ ยู แต่นอกจากนั้น เขายังนำความรู้ด้านการออกแบบมาเปลี่ยนโฉมอาคารเก่าในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาให้เป็นโรงแรมบูติกชื่อ Mintra Dhevi Heritage Hotel ซึ่งตกแต่งด้วยผ้าปาเต๊ะอันลือนามของปักษ์ใต้
ชาวจีนอพยพได้สร้างสเน่ห์ให้กับท้องถิ่นแห่งนี้อย่างไม่ตั้งใจ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขารอบเบตงได้ขอลี้ภัยจากรัฐบาลไทย รัฐบาลจึงมอบพื้นที่ป่า 15 ไร่บนไหล่เขาให้ ปรากฏว่าในปัจจุบัน กลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการหลวงต่างๆ อาทิ สวนไม้ดอกเมืองหนาวเบตง โครงการใน
พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง
ไม้ดอกมูลค่าสูงให้แก่พื้นที่
อดีตกองกำลังกบฏ เหวินฉี แซ่เฉิน รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างสูง “พระองค์ท่านเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยใน
ข้อตกลงระหว่างเรากับรัฐบาลไทย พระองค์คือผู้อนุญาตให้เราอาศัยอยู่ที่นี่” ปัจจุบันนี้ เขาใช้ความรู้ที่มีเกี่ยวกับพรรณไม้ในพื้นที่เปิดร้านขายสมุนไพรอยู่ข้างอุโมงค์ปิยะมิตรซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นอุโมงค์ที่กบฎคอมมิวนิสต์ได้สร้างขึ้นในปี 2519 สำหรับไว้ใช้หลบระเบิด
เมื่อวันหนึ่งอัยเยอร์เวงโด่งดังขึ้นมาโดยปัจจุบันทันด่วนจากคำร่ำลือกันปากต่อปากในโลกโซเชียลมีเดียตั้งแต่ปี 2558
คนท้องถิ่นจึงไม่พลาดที่จะคว้าโอกาสทองนี้ไว้
ธรรมชาติในนราธิวาส
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเห็นเด่นชัดในนราธิวาส พระองค์และ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนนราธิวาสครั้งแรกเมื่อปี 2502 และตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา
พระองค์ทรงเสด็จไปนราธิวาสอยู่เป็นประจำ โดยจะทรงประทับแรมที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์คราวละ 2 เดือน เพื่อทรงงานตามโครงการในพระราชดำริในละแวก แม้
จุดประสงค์หลักของพระตำหนักจะมีไว้เพื่อการทรงงาน แต่ด้วยสัดส่วนทางสถาปัตยกรรมอันลงตัว และไม้ฉลุลายประดับงดงามก็ได้ทำให้สถานที่ประทับแห่งนี้กลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของภาคใต้ที่ต้องไปเยือนให้เห็นกับตา
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ทรงเสด็จฯ ไปยังภาคใต้ พระองค์ได้ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริเป็นจำนวนถึง 884 โครงการ ซึ่งกว่า 534 โครงการนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาส (378 โครงการ) ทั้งนี้ โครงการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการเกษตร
ที่มีโจทย์ยากที่สุดของประเทศ
พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ในจังหวัดนราธิวาสนั้นเป็นดินพรุ ซึ่งมีความเป็นกรดสูงไม่เหมาะทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงพัฒนาวิธีการ ‘แกล้งดิน’ เพื่อแปรสภาพดินให้เปรี้ยวจัดผ่านการทำให้ดินเปียกและแห้งสลับกันไป การปลูกพืชหลังปรับดินเปรี้ยวจัดให้ดีขึ้น เป็นเสมือนบททดสอบวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้ได้มีสภาพดั่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตอันหาดูได้ยาก เพราะประกอบด้วยที่นาอุดมสมบูรณ์และ
แห้งแล้งปะปนกัน
“เราเก็บทั้งแปลงที่ดีและไม่ดีไว้ให้ทุกคนตั้งแต่นักวิชาการยันเกษตรกรได้เห็น พวกเขาจะได้เห็นว่าแต่ละวิธีการจะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบไหน นี่คือวิธีของพระองค์ท่านเลย คือให้เรียนรู้จากการทำจริง” สายหยุด เพ็ชรสุข ผู้อำนวยการศูนย์กล่าว
ปรากฏว่าเมื่อได้นำคำสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ถึง 4-5 พันกว่ากิโลกรัมต่อหนึ่งไร่บนที่นาซึ่งก่อนหน้านี้ได้แต่ทิ้งเปล่า โครงการนี้ยังเปลี่ยนมุมมองที่คนท้องถิ่นมีต่อราชวงศ์อีกด้วย เดิมทีเกษตรกร
ชาวมลายูเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า ‘รายอซีแย’ หรือกษัตริย์แห่งสยาม
แต่ปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในนาม
‘รายอกีตอ’ หรือกษัตริย์ของเรา
กระนั้น พระราชกรณียกิจช่วยชาวนาเพิ่มผลผลิตได้ทำไปอย่างสมดุลกับงานอนุรักษ์ เพราะนราธิวาสมีป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นป่าพรุผืนสำคัญผืนเดียวของประเทศ และมีไม้ใหญ่อายุ 7 พันปีตระหง่านเหนือพื้นที่กว่า 1,250 ตารางกิโลเมตร ผลก็คือทุกวันนี้ เราสามารถออกสำรวจป่าพรุโดยเริ่มต้นจากศูนย์วิจัย ซึ่งคนตาดีอาจได้พบเห็นสิ่งมีชีวิต 288 สายพันธุ์ในป่า
แห่งนี้ รวมถึงสัตว์หายากอย่างนกจับแมลงคอสีฟ้าสดด้วย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ 270,725 ไร่ในเทือกเขาสันกาลาคีรี ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีวิวทิวทัศน์น่าตื่นตา สถานที่
แห่งนี้ขึ้นชื่อเพราะเป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือกจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า และแม้แต่นักชมวิวสมัครเล่นก็ตกหลุมรักกับที่นี่ได้ไม่ยาก ด้วยความงามของน้ำตกสิรินธรและน้ำตกสายรุ้ง ซึ่งมีสายรุ้งในละอองน้ำให้เห็นอย่างไม่ต้องพึ่งกล้องส่องทางไกล
สุไลมาน เจ๊ะแม คนพื้นเมืองนราธิวาสผู้ใช้เวลาว่างออกท่องตระเวนป่ารอบๆ กล่าวว่า
ไม่มีจุดชมนกจุดใดในประเทศเหนือกว่าที่นี่ “ความรุนแรงจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทำ
เอานักท่องเที่ยวหายไป จนคนที่จะมาที่นี่ต้องศรัทธาแรงกว่าคนอื่นๆ หน่อย แต่บอกได้เลยว่าเพื่อนผม 100% ชอบที่นี่หมด โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ซึ่งจะได้มาสัมผัสว่าป่าจริงๆ เป็นอย่างไร” เขาเล่า
ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ทรงเสด็จฯ ไปยังภาคใต้
พระองค์ได้ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริเป็นจำนวนถึง 884 โครงการ ซึ่งกว่า 534 โครงการนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนราธิวาส (378 โครงการ)
ปัตตานีเก่าเล่าใหม่
ถัดจากนราธิวาสขึ้นไป 80 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของจังหวัดปัตตานี ซึ่งด้วยหาดทรายขาวบริสุทธิ์ของทะเลอ่าวไทยถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ แต่นอกจากนั้น ปัตตานียังเป็นเสมือนชุมทางแห่งวัฒนธรรมที่ซึ่งศาสนาอิสลาม พุทธ และเต๋ามาบรรจบกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าปัตตานีนั้นเดิมทีเป็นที่ตั้งของลังกาสุกะ อาณาจักรฮินดู-พุทธอันสาปสูญในช่วงคริสตศตวรรษที่ 2 ซึ่งต่อมาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย นครรัฐศูนย์กลางพุทธศาสนาซึ่งมีที่ตั้งอยู่บนเกาะสุมาตราในช่วงศตวรรษที่ 13 ถึง 15 ก่อนจะเข้าสู่ยุคอาณาจักรสุลต่านปาตานีดารุสลาม ซึ่งภายหลังถูกยึดครองโดยสยามในปี 1785 ต่อมาในปี 1909 แม้อังกฤษจะยึดเกดะห์ กลันตัน ปะลิส และตรังกานู เป็นดินแดนในปกครอง แต่ก็ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสยามเหนือปัตตานี (และนราธิวาส)
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทำให้ปัตตานีอุดมไปด้วยมรดกทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วจังหวัด เช่น ซากเมืองเก่าแห่งลังกาสุกะในอำเภอยะรัง วังยะหริ่ง ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) มัสยิดกรือเซะ และสุสานพญาอินทิรา เจ้าเมืองปัตตานีคนแรกผู้ซึ่งหันมานับถือศาสนาอิสลามแทนศาสนาพุทธ และเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่าน
อิสมาอีล ชาห์ ผู้ก่อตั้งรัฐปาตานีดารุสลาม หรือ
‘นครแห่งสันติ’
สันติภาพ ก็เป็นสิ่งที่หนุ่มพื้นเมืองปัตตานี
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หลังจบการศึกษาด้านศิลปะจากฝรั่งเศส เขาก็กลับมาเปิดโรงงานเซรามิก ‘เบญจเมธา’ ในปัตตานี ซึ่งนับเป็นโรงงานเซรามิกแห่งแรกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งานออกแบบของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากความงามของศิลปะมลายู และศาสนาอิสลาม จนได้รับรางวัลไทยสร้างสรรค์ประจำปี 2553
“ผมทำงานกับคนหลายภูมิหลัง ตั้งแต่คนขับรถตู้
ไปจนถึงคนขายโรตี ผมสอนให้เขาสร้างสรรค์งานศิลปะ ผมว่ามันเป็นภูมิคุ้มกันต่อความรุนแรงที่ดี
คุณเป็นคนหัวรุนแรงไม่ได้ถ้าคุณสร้างสรรค์อะไรที่สวยงามและสงบแบบนี้ นี่คืออีกด้านของวัฒนธรรมมลายูที่ผมอยากให้คนเห็น” เอ็มโซเฟียนเล่า
มรดกทางสถาปัตยกรรมของปัตตานีก็น่า
ประทับใจ ตั้งแต่บ้านไม้แบบมลายูแกะสลักอย่างประณีต ไปจนถึงตึกแถวจีนปูหลังคากระเบื้อง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เหมาะเหม็งสำหรับกลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่จาก 3 ชายแดนภาคใต้ใช้เป็นสำนักงาน บริษัท Melayu Living ได้เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับย่านอยู่อาศัยของคนจีนที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานแห่งนี้ และถือเป็น
จุดเริ่มของโครงการบูรณะตึกแถวเก่าบนถนน
ปัตตานีภิรมย์
“ปัตตานีก็เหมือนไข่ที่เปลือกสกปรก สิ่งสกปรกก็เปรียบเหมือนความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าเราตอกไข่ให้แตก คนก็จะเห็นความงามข้างใน” ราชิต ระเด่นอาหมัด หัวหน้ากลุ่มมลายู ลิฟวิง กล่าว
เขาได้ดึงคนท้องถิ่นรุ่นใหม่หลายคนมาร่วมด้วย นอกจากมลายู ลิฟวิงแล้ว ยังมีคาเฟ่ In-T-Af ซึ่งเสิร์ฟชาในร้านที่ตกแต่งแนวอินดัสเทรียลผสมกลิ่นอายชนบท ส่วนด้านหลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เป็นที่ตั้งของคาเฟ่และโคเวิร์ก
กิ้งสเปซเปิดใหม่อย่าง Owly Cafe & Co. ซึ่งนำเสนอพื้นที่สุดฮิปแห่งใหม่ให้กับเมืองพร้อมสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบที่เรามักจะเห็นกับเมืองดีไซน์เท่ๆ อย่าง
เกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น
ไม่ว่าการเปิดตัวของร้านรวงเหล่านี้จะชวนให้ใจชื้นสักเพียงใด ผู้มาเยือนคงจะยินดีกว่าหากได้รู้ว่าวัฒนธรรมปัตตานีไม่ได้กลายเป็นมีแต่เบอร์เกอร์กับกาแฟลองแบล็คเหมือนอีกหลายๆ จังหวัด ที่นี่ข้าว
นาซิดาแฆและชาชักยังคงมีขายอยู่เกือบทุกหัวมุมถนน และการได้ลิ้มรสอาหารพื้นเมืองที่ตลาดนัดปาลัส ก็ถือเป็นสีสันและอรรถรสที่ยังคงแปลกใหม่ ตลาดแห่งนี้จึงเป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมอันหลากหลายที่หยั่งรากลึกในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่เราอาจเห็นแต่พาดหัวข่าวเหตุการณ์ไม่สงบตามหน้าหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันที่นี่คือภาพร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ตั้งติดกับร้านโรตีอย่างกลมกลืนโดยไม่มีใครเห็นเป็นประเด็นเชื้อชาติศาสนาอะไรทั้งนั้น
■
Essentials
■
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา
บ้านบาลา หมู่ที่ 5 อำเภอแว้ง นราธิวาส
โทร. 087-286-2351
■
ต้าเหยิน
196/3 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ยะลา
โทร. 073-230-461
■
เบญจเมธา เซรามิก
6/4 หมู่ 6 อำเภอปานาเระ ปัตตานี
โทร. 089-655-3900, 081-609-6834
■
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอเมือง นราธิวาส
โทร. 07-363-1033
■
ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง)
อำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส
โทร. 098-010-5736
■
In-T-Af
229 ถนนปัตตานีภิรมย์ ปัตตานี
โทร. 092-568-8943
■
Living Room
13/2 ถนนสุขยางค์ ยะลา
โทร. 098-010-5736
www.fb.com/Livingroomhomemadecafe
■
Melayu Living
■
Owly Cafe & Co.
18/54 หมู่ที่ 1 ถนนมะกรูด ปัตตานี
โทร. 097-349-4999