HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


ถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพฯ จะมี ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ เป็นของตัวเอง

พิจารณาอดีต ปัจจุบัน อนาคตของชุมชนสามย่าน และเจาะลึกรายละเอียดแผนบุกเบิกพื้นที่ใจกลางกรุงฯที่ทุกคนจับตา

     สถานีรถไฟฟ้าสยาม ซึ่งคราคร่ำไปด้วย
ผู้โดยสารกว่า 50,000 คนต่อวัน ถือเป็นแหล่งขนส่งมวลชนที่ใหญ่และพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่ง เบื้องล่างสถานีแห่งนี้คือถนนพระราม 1 
ซึ่งขนาบข้างด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 3 แห่งและสถาบันศึกษาชั้นเลิศของประเทศ ภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคือสถานที่หล่อหลอม
ความคิดของผู้ที่อาจเติบโตมาเป็นผู้นำในอนาคต ในขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในละแวกใกล้เคียงก็กำลังทวีความสำคัญและอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความพยายามของรัฐบาลในการผลักดัน
ประเทศเข้าสู่ ‘ยุคดิจิตัล’ ทางฟากถนนอังรีดูนังต์ ผู้มีอันจะกินของกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยมาพบปะกันที่ราชกรีฑาสโมสรเพื่อเล่นกอล์ฟและเทนนิส

     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศหรูวิไลนี้ ชีวิตในฝั่งตรงกันข้ามของถนนพญาไทกลับให้รสชาติที่ต่างออกไป เพราะเป็นย่านทำมาค้าขายค่าเช่าต่ำที่ขายของ ‘สากกะเบือยันเรือรบ’ ตั้งแต่อุปกรณ์กีฬาไปจนถึงอะไหล่เซียงกง อีกทั้งเป็นที่ตั้งตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างตลาดสามย่าน แหล่งของกินอายุกว่า
สี่ทศวรรษของเหล่านิสิตนักศึกษาและชาวบ้านในละแวก ก่อนจะมีการรื้อถอนลงในปี 2551

     การย้ายตลาดสามย่านจัดเป็นภารกิจแรกของแผนการปรับภูมิทัศน์ของจุฬาฯ ซึ่งดำเนินมาถึงจุดสำคัญเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปเปิด
อุทยานจุฬาฯ 100 ปีอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นี่คือการเปิดสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในรอบ 15 ปี ซึ่งถือเป็นหัวใจของอภิมหาโครงการขนาด 290 ไร่ 
ที่หมายสร้างสามย่านให้กลายเป็นซิลิคอนแวลลีย์หรือศูนย์กลางแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของโครงการที่ใหญ่ยักษ์ และการถูกกำหนดให้ผสมผสานการออกแบบเพื่อสังคมควบคู่ไปกับพื้นที่การค้าอย่างลงตัว โครงการนี้ได้กลายเป็นที่จับตาอย่างมากของกลุ่มคนที่ใคร่จะเห็นกรุงเทพฯ มีการออกแบบเมืองอย่างจริงจังเสียที

ท่ามกลางบรรยากาศหรูวิไลนี้ ชีวิตในฝั่งตรงกันข้ามของถนนพญาไทกลับให้รสชาติที่ต่างออกไป เพราะเป็นย่านทํามาค้าขายค่าเช่าต่ำ...อีกทั้งเป็นที่ตั้งตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดแห่ง หนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างตลาดสามย่าน

เมืองในฝัน

     ในอีก 10 ปีข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไล่จากถนนพระราม 1 จนถึงถนนพระราม 4 มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีแผนจะสร้าง 20 โครงการย่อยในพื้นที่ เช่น ศูนย์ฟิตเนส Stadium One พื้นที่สำหรับการศึกษาและธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาคารอเนกประสงค์สำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่ชื่อ ‘สามย่าน มิตรทาวน์’ ศูนย์การค้า ‘สวนหลวงสแควร์’ รวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งสำหรับการลงทุนใน
ภาครัฐ​ โดยตั้งใจว่าจะให้โครงการเหล่านี้สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการ การศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้น

     นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงแผนก่อสร้างรถไฟรางเดี่ยว (monorail) เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติกับรถไฟฟ้าใต้ดิน
สามย่าน ในขณะที่ถนนสายใหม่ที่จะทำหน้าที่เป็นเส้นกระดูกสันหลังเชื่อมต่อพื้นที่แต่ละโซนเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อเล่นว่า 5th Avenue จะมาพร้อมกับทางเดินในร่มแสนสะดวกสบายไม่ผิดจากถนนออร์ชาร์ด ในประเทศสิงคโปร์

     ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หวังว่าโครงการพัฒนาดังกล่าวจะผลักดันกรุงเทพฯ ไปสู่ 
‘สังคมแห่งปัญญา’ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ ทำงาน สร้างสรรค์ ออกกำลังกาย และผ่อนคลายพร้อมกันในที่เดียว เขากล่าวว่า “พื้นที่กลางเมืองที่ใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้หาง่ายๆ เราไม่ได้สร้างที่นี่โดยมีเรื่องธุรกิจเป็นจุดประสงค์หลัก เราต้องการมอบคุณค่าให้กับสังคมไทย ด้วยการพาประเทศไปข้างหน้าและในขณะเดียวกันก็มีอะไรคืนให้กับคนในชุมชน”

     ในมหานครซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการวางผังเมืองแบบตามอำเภอใจ การพัฒนาทำเลทองขนาดใหญ่อย่างสามย่านตามแผนแม่บทถือเป็นอะไรที่พบเห็นได้ยาก และเป็นโอกาสสำหรับแสดงตัวอย่างการพัฒนาโครงการย่านใจกลางเมืองที่มีอะไรมากไปกว่าการสร้างห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม และตึกสำนักงาน

     “เดี๋ยวนี้ทำเลทองเกือบทั้งหมดในกรุงเทพฯ ตกอยู่ในมือกลุ่มดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ไม่กี่ราย” ยศพล บุญสม นักภูมิสถาปนิกกล่าว เขาเริ่มให้ความสนใจในโครงการสามย่านเมื่อจุฬาฯ เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันออกแบบสวน 30 ไร่ใจกลางโครงการเมื่อ 4 ปีก่อน “ปกติจะมีเฉพาะแต่ดีเวลลอปเปอร์พวกนี้ที่เป็นคนกำหนดโครงสร้างของกรุงเทพฯ แต่จุฬาฯ สามารถทำให้ต่างจากดีเวลลอปเปอร์รายอื่นได้ เพราะจุฬาฯ มีทั้งความรู้ความเข้าใจ มีทั้งงบประมาณ มีทั้งทรัพยากรต่างๆ จุฬาฯ ต้องคิดหาทางทำอะไรให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้มากกว่าคนอื่น เพราะปัจจุบันมาตรฐานกรุงเทพฯ ยังต่ำกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ มาก”

     สอดคล้องกันกับแผนอันยิ่งใหญ่ของจุฬาฯ ในการสร้างศูนย์กลางสีเขียวสำหรับนวัตกรรม การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต พิมพ์เขียวของ
สามย่านดูจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพฯ ที่คุ้มค่าแก่การรอคอยไม่น้อย โดยในปีที่ผ่านมา อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนใจกลางโครงการที่ถูกสร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการขนานนามโดยอธิการบดี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุลว่าเป็น “ของขวัญอันยิ่งใหญ่
ให้สังคม”

     ผลงานออกแบบอุทยานจุฬาฯ ที่ชนะการประกวดที่เปิดให้นักภูมิสถาปนิกทั่วไปเข้าร่วมในปี 2556 เป็นของกชกร วรอาคม แห่งบริษัท Landprocess ร่วมกับ N7A Architects กชกรเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ และเคยได้ร่วมงานกับทางมหาวิทยาลัยในการกำหนดทิศทาง Siam Square One ห้างโอเพ่นแอร์ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสยามมาก่อนหน้า

     “พื้นที่ตรงนี้เป็นหน้าเป็นตาของกรุงเทพฯ เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพาคนให้มองพ้นไปจากเรื่องธุรกิจอย่างเดียว ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อคืนประโยชน์ให้กับเมืองและสังคม” เธอกล่าว

     ระบบการดูดซึมน้ำถือเป็นหัวใจสำคัญในดีไซน์ของเธอ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกัน
น้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดสำหรับสระน้ำและระบบทดน้ำของอุทยาน ในส่วนของสนามหญ้าหลักก็จะสร้างบนพื้นลาดเอียงเพื่อป้องกันน้ำท่วมอีกชั้นหนึ่ง และสามารถใช้เป็นพื้นที่ห้องเรียนกลางแจ้ง นอกจากนั้น ทางฝั่งตะวันออกของอุทยานยังจะมีศาลาใหญ่
ทรงตัวยู ซึ่งออกแบบโดย N7A ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยรอบภายใต้ระบบ ‘หลังคาเขียว’ (Green Roof System)

การพาณิชย์และนวัตกรรม

     แผนการสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับโครงการพัฒนาชุมชนสามย่านคือการสร้าง ‘ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้’ ‘เขตนวัตกรรม’ และ ‘ศูนย์ธุรกิจสร้างสรรค์ร่วม’ โดยพื้นที่
ดังกล่าวจะถูกแบ่งย่อยเป็น 4 ส่วน เพื่อให้การสนับสนุนและจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ล่าสุด 30 ชิ้นจากบริษัทชั้นนำของประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจากทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพไปจนถึงผู้เล่นเจนสนาม ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล เชื่อว่าที่นี่จะกลายเป็นแหล่งฟูมฟักความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ​ เพราะระหว่างที่ผลงานได้รับการจัดแสดงต่อสาธารณชน มืออาชีพก็ยังคงพัฒนาปรับปรุงผลงานนั้นอย่างต่อเนื่องไปด้วย “มันจะไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการเหล่านี้จะเหมือนถูกถ่ายทอดสด และมีการอัพเดตอยู่ตลอดการแสดง” เขากล่าว

     กระนั้น โครงการทั้งหมดไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างสวนสาธารณะและการจัดแสดงนิทรรศการ ในขณะที่ที่ดิน 30 ไร่ของอุทยานจุฬาฯ 100 ปี (ขนาดราว 1 ใน 10 ของสวนลุมพินี) ได้รับการอุทิศและเปิดให้สาธารณชนทั่วไปเข้าชมเรียบร้อย ที่ดินจำนวน 40 ไร่ทางฝั่งทิศใต้ของสามย่านได้ถูกจัดสรรให้แก่โครงการสามย่าน มิตรทาวน์ ภายใต้การพัฒนาของบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ 
ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทในกลุ่มธุรกิจของ
ทีซีซี กรุ๊ป เพื่อทำเป็นห้าง สำนักงาน และคอนโดมิเนียมขนาด 554 ห้อง

     การรวมห้างสรรพสินค้าไว้ในส่วนหนึ่งของแผนไม่ใช่สิ่งที่ถูกใจทุกฝ่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่พาณิชย์ต่อท้ายจากจามจุรีสแควร์และสยามแควร์วัน 
ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ในปี 2551 และ 2557 ตามลำดับ

     “ในอดีต จุฬาฯ ​ถูกสาธารณชนวิจารณ์ว่าชอบพัฒนาพื้นที่ในเชิงการค้ามากไป สังคมอยากเห็นอะไรที่สร้างสรรค์กว่านี้ เราจึงหวังว่าโครงการนี้จะช่วยแสดงความสำคัญของการทำอะไรที่ไม่ใช่เชิงการค้าอย่างเดียว เพราะอย่างที่บอก จุฬาฯ มีองค์ความรู้และทรัพยากรในเรื่องนี้พร้อมอยู่แล้ว” ยศพล แห่งบริษัท Shma กล่าว

     แม้แต่ประธานบริษัท แผ่นดินทอง ธนพล ศิริธนชัย ก็เห็นด้วยว่ากรุงเทพฯ ต้องการ
วิสัยทัศน์การพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น “มันมาถึงจุดที่แข่งกันอุตลุด ห้างและคอนโดใหม่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งลูกค้าจากเจ้าที่เปิดก่อนหน้า ผลก็คือกรุงเทพฯ ได้พื้นที่ ‘ดาวน์ทาวน์’ ใหม่จำนวนมากที่แทบจะไม่มีอะไรต่างกัน จนทุกวันนี้ยังไม่มีที่ไหนที่เราเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ได้จริงๆ สักที่” เขาอธิบาย

     ยศพลยังเสริมด้วยว่า “ยังไม่มีการประกาศใช้แผนแม่บทสำหรับกรุงเทพฯ มีเพียงแผนที่สีไว้บอกนักพัฒนาคร่าวๆ ว่าตึกต้องมีขนาดหรือสูงแค่ไหน แต่ไม่มีการแบ่งโซนชัดเจน ไม่มีการระบุแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวของแต่ละพื้นที่ 
ดังนั้นดีเวลลอปเปอร์อาจจะได้โปรเจกต์ที่ดีมาก แต่ในเมื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญอันดับแรก เราเลยได้เห็นห้างร้านและศูนย์การค้าแบบเดิมๆ ขึ้นเต็มไปหมด”

อุทยานจุฬาฯ 100 ปี สวนใจกลางโครงการที่ถูกสร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการขนานนามโดยอธิการบดี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุลว่าเป็น "ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม"

เปิดรับสิ่งใหม่

     ผลอันหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกประการของแผนพัฒนาที่ดินของจุฬาฯ คือการโยกย้ายผู้อยู่อาศัยนับพันคนออกจากพื้นที่เก่าแก่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของตึกแถวค่าเช่าถูก ดร.วิศณุหวังว่าผู้อยู่อาศัยที่เหลือจะรับได้กับแผน โดยบอกว่าจะมีการแบ่งสรรพื้นที่ค้าขายและพื้นที่อยู่อาศัยชัดเจน แปลว่าเจ้าของร้านและคนในพื้นที่จะไม่ต้องย้ายไปไหนไกล

     “ผมไม่เถียงว่าบางคนอาจต้องถูกขอให้ย้ายออก แต่ในกรณีดังกล่าว เราจะช่วยหาที่ใหม่ให้ ส่วนร้านไหนที่ขายสินค้าที่ไปกันได้กับแผนของเรา เราจะพยายามอย่างดีที่สุดให้เขามีที่ขายของในโครงการ” เขากล่าว

     อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เช่าในปัจจุบัน 
ค่าเช่าที่สูงขึ้นทำให้แม้ธุรกิจของพวกเขาจะเข้ากับแผนแม่บทของจุฬาฯ แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวก็เป็นไปไม่ได้ในทางการเงิน “เพื่อนบ้านผมย้ายออกไปหมดแล้ว เพราะไม่มีใครสู้ค่าเช่าที่จุฬาฯ เรียกไหว แพงขึ้นทุกปี ตอนนี้ผมจ่ายเดือนละ 8 หมื่น แต่ก็ไม่อยากย้ายไปไหนเพราะลูกค้าผมส่วนใหญ่อยู่ในเมือง” สมบัติ จิรสาธิตวรกุล เจ้าของร้านจักรยานวัย 63 ปี ผู้เช่าตึกแถวห้องท้ายๆ เล่าให้ฟังก่อนย้ายออกถาวร

     สำหรับนักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ อย่าง สุดารา สุจฉายา ผู้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่ประจำวารสารราย 3 เดือน เมืองโบราณ การพัฒนาจะต้องกระทำอย่างสมดุลกับชุมชน “เราไม่สามารถยึดติดกับประวัติศาสตร์ไปได้ตลอด เพราะทุกอย่างต้องก้าวหน้าไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรเราก็ต้องพยายามพาเอาประวัติศาสตร์ให้ไปกับเราด้วยบ้าง สามย่านเปลี่ยนไปเยอะแล้ว บุคลิกบางอย่างหายไป แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ร่วมของชุมชนที่มีทั้งร้านค้าและร้านอาหารตามแผน ก็ดูจะเป็นการปรับตลาดสามย่านเดิมให้เข้ากับบริบทใหม่ได้ดี”

     อย่างไรก็ตาม แผนการสร้างชุมชนที่วาดไว้บนกระดาษอาจทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยาก แม้
แหล่งช้อปปิ้งสวนหลวงสแควร์จะเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วเมื่อสิ้นปี 2559 แต่ปัจจุบันก็ยังร้างผู้คนและแทบไม่มีนักช้อปรู้จัก
ในขณะที่ความล่าช้าหลายประการก็ทำให้โครงการพัฒนาต่างๆ ไม่เกิดขึ้นตามที่วางไว้ กระทั่งดร.วิศณุก็เลี่ยงที่จะชี้ชัดว่าจะโครงการจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อไร โดยบอกว่าหลายอย่างต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการปลายเปิดที่อาจกินเวลายากจะกำหนด

     อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่โครงการพัฒนาระดับนี้ย่อมหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์และอุปสรรคต่างๆ ไปไม่ได้ แต่หากนึกให้ดี คำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่กว้างไกลกว่าพื้นที่ 290 ไร่ของจุฬาฯ ไปมาก กล่าวคือ ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ​ อยู่ที่ระหว่าง 0.72-1.73 ตารางเมตร ในขณะที่ของสิงคโปร์อยู่ที่ 66 ตารางเมตร ด้วยเหตุนี้ 
ในความคิดของผู้ที่ใฝ่ฝันจะเห็นกรุงเทพฯ ดีขึ้น ของขวัญที่แท้จริงจากจุฬาฯ จึงไม่ควรเป็นเพียงสวนสาธารณะบนพื้นที่ 30 ไร่เท่านั้น หากต้องเป็นแรงบันดาลใจของการวางผังเมืองที่จะทำให้ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานครต้องหาคำตอบแนวทางใหม่ๆ ให้กับกรุงเทพฯ ด้วย

     หลายคนบอกว่าความคาดหวังที่สูงเช่นนี้ไม่เป็นธรรมกับจุฬาฯ นัก แต่ก็นั่นเอง นี่คือสิ่งที่คนคาดหวังจากสถาบันที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เสาหลักของแผ่นดิน’