SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
ภาพถ่ายเมืองสยามเหล่านี้นำเสนออดีตได้จับใจยิ่งกว่าคำบรรยายในหนังสือใดๆ
นิทรรศการภาพถ่ายระดับชาติสองงานได้เผยให้เราเห็นชั่วแวบแห่งอดีตที่ยังบริสุทธิ์และปลอดจากการแต่งเติม
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 นิทรรศการภาพถ่ายเมืองสยามในศตวรรษที่ 19 สองงาน (นิทรรศการ Siam Through the Lens of John Thomson และนิทรรศการ Unseen Siam) มีผู้เข้าชมรวมกันประมาณ 45,000 คน ทั้งสองนิทรรศการเป็นความร่วมมือระหว่าง ม.ร.ว.
นริศรา จักรพงษ์ กับไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์
จำกัด เดิมที ไพศาลย์กังวลว่าจะไม่มีใครมาดู
สิ่งที่เขาเรียกว่า “ภาพถ่ายเก่าๆ ที่มีคนเอาไปพิมพ์ลงหนังสือเต็มไปหมด” แต่สุดท้าย
ไม่เพียงจำนวนสาธารณชนที่หลั่งไหลเข้ามาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคิดผิด บรรดาหนังสือพิมพ์ยังต่างพากันยกย่องนิทรรศการว่าเป็นหมุดหมายสำคัญทางวัฒนธรรม พร้อมบอกว่าในที่สุดก็ถึงเวลาอันสมควรที่สมบัติชาติเหล่านี้จะได้รับความสนใจเสียที
ตามคำกล่าวของกรพินธุ์ ทวีตา หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ ประจำสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศไทยนั้นมีคลังภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์นับเป็นแสนๆ ใบถูกเก็บรักษาไว้เบื้องหลังประตูเหล็กหนักอึ้งของคลังเก็บเอกสารในหอจดหมายเหตุฯ ยังไม่รวมภาพถ่ายในมือนักสะสมเอกชนอีกนับไม่ถ้วน กระนั้น การจะนำภาพถ่ายเหล่านี้ออกจัดแสดงแก่สาธารณชนถือเป็นงานยาก อย่าว่าแต่สภาพอากาศร้อนชื้นยังคอยกัดกินทำลายภาพ ทำให้เวลาสำหรับการอนุรักษ์เหลือน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ บรรดานักสะสม เจ้าของแกลเลอรี่ และสำนักพิมพ์ต่างกำลังรีบดูแลรักษาภาพถ่ายที่มี อีกทั้งเดินหน้าเสาะหาภาพถ่ายเพชรน้ำงามของไทยซึ่งยังไม่เคยปรากฏสู่สายตาสาธารณชนอื่นๆ ให้พบก่อนจะสายเกินไป
ไม่เพียงจำนวนสาธารณชนที่หลั่งไหลเข้ามาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคิดผิด บรรดาหนังสือพิมพ์ยังต่างพากันยกย่องนิทรรศการว่าเป็นหมุดหมายสำคัญทางวัฒนธรรม พร้อมบอกว่าในที่สุดก็ถึงเวลาอันสมควรที่สมบัติแห่งชาติเหล่านี้จะได้รับความสนใจเสียที
พลังของภาพถ่าย
ในปี 2408 ช่างภาพชาวสกอตรายหนึ่งได้เดินทางเข้ามาในประเทศสยามเป็นเวลา 9 เดือนเพื่อตระเวนถ่ายภาพ ซึ่งภายหลังแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะได้รับการถ่ายทอดลงในนิตยสารหัวสำคัญๆ ในรูปของภาพพิมพ์ ภาพต้นฉบับซึ่งถ่ายโดยแผ่นฟิล์มกระจกขนาด
8 x 10 นิ้วเหล่านี้ มีตั้งแต่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพถ่ายเจ้านายและขุนนาง ทัศนียภาพของบางกอก ไปจนกระทั่งรูปของสามัญชน ไม่ว่า
นักแสดงโขน ควาญช้าง หรือฝีพาย ทั้งนี้
แม้ภาพส่วนหนึ่งจะได้รับการเผยแพร่มาแล้ว แต่ก็เป็นภาพที่พิมพ์ซ้ำจากภาพเก่าเลือนราง ไม่ใช่จากฟิล์มกระจกต้นฉบับ และที่แน่ๆ คือไม่ได้เผยแพร่ในรูปของภาพพิมพ์ขนาดสูงกว่าเมตร และมีความละเอียดชวนน้ำตาไหลอย่างที่นิทรรศการภาพถ่ายเมืองสยามในศตวรรษที่ 19 ณ หอศิลปกรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ด้วยเหตุนี้ การเดินชมนิทรรศการทั้งสองจึงให้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่แทบจะเทียบได้กับการเดินทางย้อนอดีต
ในภาพขาวดำซึ่งถ่ายในปี 2408 สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงประทับอยู่ ณ ลานในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา พระโมลีบนพระเศียรที่โกนเกลี้ยงเกลาเป็นเครื่องหมายว่ายังทรงพระเยาว์ โดยทรงจ้องมาที่ผู้ชมด้วยแววพระเนตรและลักษณาการหนักแน่นสมความเป็นขัตติยะ รูปพระพักตร์ที่คมชัดบ่งบอกว่าทรงมิได้ขยุกขยิกระหว่างการฉายภาพยาวนาน
ภาพข้าราชบริพารที่ก้มกราบอยู่แทบพระบาทและเครื่องราชูปโภคทองคำล้วนสื่อให้เห็นถึงพระราชอำนาจ และพระราชทรัพย์ในฐานะ
พระยุพราช ในขณะที่พระมาลาปักแบบฝรั่งเศสที่วางอยู่เบื้องขวาบอกให้เรารู้กลายๆ ถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสง่าของรูปถ่ายที่ถูกจัดวางอย่างดีเหล่านี้ หลายครั้งได้ถูกแทรกด้วยร่องรอยความดิบอันไม่ตั้งใจ เช่น ในภาพๆ หนึ่ง พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ทรงยืนทอดหุ่ย แบบแสดงออกชัดว่าไม่สนุกกับพิธี ซึ่งหากเป็นภาพที่วาดโดยจิตรกรประจำ
พระราชสำนักคงไม่พ้นถูกปรับแต่งเสียใหม่
เช่นเดียวกับที่องค์รัชทายาทคงถูกจิตรกรบันทึกในลักษณะที่ไม่ให้เห็นว่ากำลังทรงพยายามกดมือเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระอนุชาไว้กับพระเพลาหนักแน่นราวกับจะปราม (ซึ่งดูเหมือนจะได้ผล เพราะพระเศียรของพระอนุชา พระชนมายุ 6 พรรษา ดูจะเบลอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ยังไม่ต้องพูดถึงผิวคล้ำแดดของผู้คนที่ถ้าไม่ใช่ภาพถ่ายคงถูกจิตรกรวาดให้ขาวขึ้นอีกเล็กน้อย หรือมหาดเล็กทางด้านซ้าย ผู้ย่อมไม่ถูกบันทึกความเผลอไผลที่แอบมองมาทางกล้องไว้ชั่วกาลนาน
โชคดีที่ในเมื่อภาพเหล่านี้เป็นภาพถ่ายไม่ใช่ภาพวาด รายละเอียดทั้งมวลที่ได้กล่าวมา จึงถูกเก็บไว้ในภาพของจอห์น ทอมสันอย่างครบถ้วน กระบวนการบูรณะซ่อมแซมและแปลงภาพเป็นดิจิตัลได้ช่วยทำให้เราเห็นชัดเจนตั้งแต่ลายปักวิจิตรบนฉลองพระบาท ลายบนพระภูษาโจง กระดิ่งบนพระกำไลพระบาท ตลอดจนงานปักบนหมวกฝรั่งเศส
“ผมว่านิทรรศการนี้ทำให้คนรุ่นใหม่เขาทึ่งนะ ทั้งแฟชั่นของคนสมัยนั้น ทั้งรูปร่างหน้าตาและสีผิวของคนไทยยุคก่อนชาวจีนจะอพยพเข้ามา”
ไพศาลย์อธิบายถึงปัจจัยความสำเร็จของนิทรรศการ Siam Through the Lens of John Thomson (สยาม ผ่านมุมกล้อง จอห์น
ทอมสัน) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ Unseen Siam (ฉายาลักษณ์สยาม) ซึ่งจัดขึ้น
ที่หอศิลปกรุงเทพฯ
ภาพถ่ายจำนวนมหาศาลซึ่งควรค่าแก่การเก็บรักษาเป็นมรดกกลับสูญหายหรือถูกทำลาย อันเนื่องมาจากปัจจัยหลากหลาย ตั้งแต่ความเปราะบางของแผ่นฟิล์มกระจก ความไวไฟของฟิล์มเซลลูโลสอะซิเตด สีของภาพถ่ายที่ซีดจาง
ไปจนกระทั่งค่านิยมในการโละสมบัติเก่าๆ ทิ้งเมื่อเจ้าของภาพต้องย้ายบ้านหรือเสียชีวิต
หยุดเวลา
ในบางแง่มุม เทคโนโลยีการถ่ายภาพที่พัฒนาจนถึงจุดที่กล้องมีราคาถูกและหาได้ทั่วไป กลับทำให้คุณค่าของภาพถ่ายเองลดทอนลง ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่งานเขียนสีน้ำมันยังถูกส่งต่อเป็นมรดกชิ้นสำคัญ ภาพถ่ายจำนวนมหาศาลซึ่งควรค่าแก่การเก็บรักษาเป็นมรดกกลับสูญหายหรือถูกทำลาย อันเนื่องมาจากปัจจัยหลากหลาย ตั้งแต่ความเปราะบางของแผ่นฟิล์มกระจก ความไวไฟของฟิล์มเซลลูโลสอะซิเตด สีของภาพถ่ายที่ซีดจาง
ไปจนกระทั่งค่านิยมในการโละสมบัติเก่าๆ ทิ้งเมื่อเจ้าของภาพต้องย้ายบ้านหรือเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในยุคของจอห์น ทอมสันนั้น เทคโนโลยีการถ่ายภาพยังมีกระบวนการยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง และเป็นที่รับทราบกันอยู่แล้วว่าภาพถ่ายของเขามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นในปี 2463 ทอมสันจึงสามารถขายคอลเลกชันฟิล์มกระจกของเขาให้กับชายชาวลอนดอนนามว่า เฮนรี่ เอส เวลคัม ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นของสะสมชิ้นเอกของหอสมุดเวลคัม แต่ฟิล์มกระจกอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในปี 2552 แผ่นฟิล์มเหล่านี้ได้รับการแปลงเป็นไฟล์ภาพดิจิตัลความละเอียดสูงเพื่อให้เอื้อต่อการนำไปพิมพ์ต่อ และในปีต่อมา
ภัณฑารักษ์ เบตตี้ เยา ได้ติดต่อม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ ให้ช่วยประเมินค่า
คอลเลกชันดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่า นับจากวันนั้น ต้องใช้เวลาอีกถึง 5 ปีกว่าทั้งสองจะนำภาพ
ดังกล่าวมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้สำเร็จ ค่าพิมพ์ภาพในนิทรรศการ Unseen Siam ที่คิดเป็นเงินกว่า 500,000 บาท ช่วยเสริมให้เห็นภาพของทรัพยากรทางการเงินและเวลาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับโครงการเหล่านี้
“สำหรับภาพถ่ายหลายๆ ใบเหลือเวลาไม่เยอะแล้ว” ไพศาลย์กล่าว ขณะไล่ดูอัลบั้มรูปเก่าๆ ที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระอัยกาของ ม.ร.ว.
นริศรา ซึ่งแสดงให้เห็นอิริยาบถตรงไปตรงมาแบบยากจะหาได้จากรูปถ่ายราชวงศ์ช่วงจุดเปลี่ยนศตวรรษ อย่างเช่นภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลอง
พระองค์ประณีตคู่กับพระมาลาแบบปานามาขณะเสด็จประพาสถ้ำในจังหวัดราชบุรีพร้อมกับพระราชโอรสและข้าราชบริพาร แววพระเนตรหนักแน่นยังปรากฏให้เห็นเหมือนครั้งยังทรงมีพระชนมายุ 12 พรรษา หากสิ่งที่เพิ่มมาคือ
พระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายในแบบฉบับของ ‘พ่อ’ ผู้พาครอบครัวไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ภาพถ่ายเหล่านี้ซีดจางและมีรอยแทะของแมลงปรากฏให้เห็นตรงภาพส่วนหน้าวังไม้สักและตรงมุมภาพที่พระราชโอรสทรงยืนอยู่
ไพศาลย์ลงมือสแกนภาพถ่ายเหล่านี้ด้วยตัวเอง และหลุดหัวเราะออกมาเมื่อเราแนะนำให้เขาส่งภาพให้สำนักหอจดหมายเหตุฯ เป็นคนช่วยดำเนินการต่อ “ไม่มีทางหรอก พวกเขาเองก็มีงานล้นมือ”
“ภาพในฟิล์มกระจกนั้นจางลงเร็วมาก ประมาณ 10% อยู่ในสภาพใกล้จะเกินเยียวยาแล้ว เราเลยต้องเริ่มจากฟิล์มพวกนี้ก่อน ตอนนี้
เราทำไปได้แล้วครึ่งหนึ่งและตั้งใจจะสแกนภาพที่เหลือให้เสร็จภายใน 5 ปี เรายังมีแผนระยะยาว 20 ปีในการแปลงเอกสารในคลังหอจดหมายเหตุฯ ทั้งหมดเป็นไฟล์ดิจิตัลด้วย” กรพินธุ์ ทวีตา หัวหน้ากลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการกล่าว
แต่สิ่งที่กรพินธุ์เป็นกังวลจริงๆ ไม่ใช่
คอลเลกชันภาพถ่ายที่อยู่ในระหว่างรอการสแกน “ภาพพิมพ์และฟิล์มได้รับการเก็บรักษาในห้องแอร์ซึ่งมีระบบควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพดี จริงๆ แล้วปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องคำบรรยายภาพ เพราะรูปถ่ายกว่าครึ่งไม่มีคำบรรยายใต้ภาพ เราจึงไม่รู้เลยว่าเป็นภาพใครและอะไรบ้าง”
อย่างไรก็ตาม ภารกิจอนุรักษ์ภาพถ่ายของหอจดหมายเหตุฯ ไม่ได้จบลงที่ประวัติศาสตร์ช่วงปี 2463 หรือจำกัดอยู่แค่ในรั้วพระราชสำนักเท่านั้น อันที่จริง หอจดหมายเหตุฯ ยังรับภาพถ่ายจากหน่วยงานราชการอื่นๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 กำหนดว่าหน่วยงานราชการไม่สามารถทิ้งหรือทำลายอะไรหากไม่ได้รับอนุญาตจากเรา ดังนั้นปกติเขาจะแจ้งมาที่เราว่าเขาต้องการจะทิ้งอะไร เราก็จะไล่ดูและถ้ามีอะไรน่าสนใจ เราก็จะคัดเก็บไว้” กรพินธุ์กล่าว
ถ้าเราดูนิทรรศการของริเวอร์บุ๊คส์ จะเห็นว่าเป็นงานของช่างภาพฝรั่งทั้งนั้น ผมพยายามมองหางานของคนไทย แต่หาไม่เจอเลย ผมก็คิดกับตัวเองว่านี่ตลอด 150 ปีที่ผ่านมา เราจะไม่ได้ผลิตช่างภาพฝีมือดีสักคนสองคนเลยหรืออย่างไร
มรดกรอง
มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นช่างภาพที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ผลงานภาพถ่ายชุด Pink Man ของเขากัดจิกความโลภของชาวกรุงในยุคสังคมบริโภคนิยมอย่างเจ็บปวด ต่อมา มานิตได้หันมาให้ความสนใจประเด็นการล่มสลายของประชาธิปไตยในประเทศไทย และยังทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ให้กับแกลเลอรี่ของตัวเองที่ชื่อ Kathmandu ด้วย ในปี 2553 มานิตได้เริ่มโปรเจ็กต์ภาพถ่ายอีกงานหนึ่งซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2558 ภายใต้ชื่อ Rediscovering Forgotten Thai Masters of Photography (ช่างภาพไทยที่โลกลืม)
“ตลกดี ถ้าเราดูนิทรรศการของริเวอร์บุ๊คส์
จะเห็นว่าเป็นงานของช่างภาพฝรั่งทั้งนั้น
ผมพยายามมองหางานของคนไทย แต่หา
ไม่เจอเลย ผมก็คิดกับตัวเองว่าตลอด 150 ปีที่ผ่านมา เราจะไม่ได้ผลิตช่างภาพฝีมือดีสักคนสองคนเลยหรืออย่างไร” มานิตเล่า
ด้วยเหตุนี้ มานิตจึงเริ่มออกตามล่าช่างภาพไทยฝีมือชั้นครูในช่วงยุค 30s ถึง 60s ในบรรดานั้นรวมถึงพุทธทาสภิกขุ ผู้ใช้เทคนิคแยบคายในการรวมภาพสองคนไว้ในภาพเดียว พร้อมแนบปริศนาธรรมไว้ให้ผู้ชมขบคิด ช่างภาพถัดมาค่อนข้างจะเด่นไปในทางโลกมากกว่า กล่าวคือ ม.ล.ต้อย ชุมสาย ผู้ถ่ายภาพนู้ดในช่วงยุคอนุรักษ์นิยมภายใต้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการต่อต้านกระแสอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม พ้นไปจากเรื่องเพศและความกล้าแสดงออก ม.ล.ต้อย ถือเป็น
บรมครูอย่างแท้จริงในเรื่องการใช้แสง โดยเขาใช้แสงขับเน้นเส้นสายแห่งอิสตรีให้โดดเด่นจนทุกสัดส่วนดูเหมือนจะสามารถเต้นออกมาจากหน้ากระดาษ
“ประเทศไทยนั้นมีแต่ประวัติศาสตร์ฉบับที่เขียนขึ้นโดยรัฐ ซึ่งผมว่าเผด็จการและล้างสมอง หากจะเชื่อในประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์อีกฉบับหนึ่งด้วย อย่างสมัยก่อนภูเก็ตนั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาก ผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาตั้งรกราก ทั้งอินเดีย อาหรับ รัสเซีย มาเลเซีย จีน มันมีความเป็นสากลกว่า คนสมัยก่อนคงจะเปิดกว้างกว่านี้”
มานิตอธิบาย เมื่อถูกถามว่าการอนุรักษ์ภาพถ่ายโบราณนั้นมีความสำคัญต่อเราอย่างไร
มานิตกำลังอ้างอิงถึงงานของเลี่ยงอิ๊ว ภาพผู้คนในยุค 50s ซึ่งถ่ายในสตูดิโอของเขาที่เมืองภูเก็ต มีตั้งแต่ภาพชาวอินเดียหวีผมเรียบแปล้ผูกเนคไทแฟชั่น ชาวมาเลสวมหมวกมุสลิม อาแปะในเสื้อเหมา เจ๋อ ตุง บาบ๋าย่าหยาในชุดเปอรานากันเต็มยศ ไปจนกระทั่ง ‘เด็กแนว’ ยุคต้นรัตนโกสินทร์ในผมทรงเอลวิส หากบรรดาเด็กแฟชันนิสต้าในยุคนี้ จะรู้สึกเชื่อมโยงกับงานของเลี่ยงอิ้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ไพศาลย์เล่าว่าตั้งแต่งานนิทรรศการของจอห์น ทอมสันเป็นต้นมา ความสนใจของสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นทำให้จำนวนนักสะสมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เขาได้จัดงานพบปะกับนักสะสมที่วังจักรพงษ์ซึ่งมีนักสะสมรายใหญ่เข้าร่วมถึง 20 ราย และผู้เข้าร่วมอีกราว 200 คน เขายังยกตัวอย่างชื่อเพจในเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายภาพถ่ายเก่าของราชวงศ์และพระเกจิอาจารย์กันอย่างคึกคัก โดยสนนราคาเริ่มต้นที่หลักพัน
แม้จะฟังดูเป็นสัญญาณที่ดี แต่เมื่อเทียบแล้วตัวเลขจำนวนนี้ก็ยังถือว่าน้อยอยู่ดี
“สำหรับฟากนักสะสมก็ยังถือว่าน้อยอยู่ แล้วประเด็นมันไม่ได้อยู่แค่เรื่องสภาพอากาศบ้านเราจะทำลายฟิล์มเนกาทีฟไปเรื่อยๆ เพราะการเก็บรักษาอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องพยายามเอาสิ่งเหล่านี้ออกมาโชว์ให้ได้ ถ้าภาพถ่ายพวกนี้ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก
มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร คุณต้องเอามาสแกน เอามาเผยแพร่สู่สาธารณะ ต้องเอามาตีพิมพ์ ถ้าคุณเอา
แต่เก็บไว้ คุณจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย นี่คือมรดกของเรา เราจะปล่อยให้มันตายไปเงียบๆ ไม่ได้”
มานิตกล่าว
ขณะนี้ นิทรรศการจอห์น ทอมสันนั้นมีกำหนด
การตระเวนจัดแสดงทั่วโลก ในขณะที่สำนักหอจดหมายเหตุฯ ได้ยื่นเรื่องไปทางองค์การยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนคอลเลกชันแผ่นฟิล์มกระจกให้เป็นส่วนหนึ่งของ Memory of the World เรียบร้อย เป็นที่ชัดเจนว่าการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของคนไทย หากยังทรงคุณค่าสำหรับมนุษย์ทั้งมวล
■
Essentials
■
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
4 ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
โทร. 02-281-2224
■
สำนักหอจดหมายเหตุ
แห่งชาติ
ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
โทร. 02-281-1599
www.finearts.go.th/nat
■
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
939 ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ
โทร. 02-214-6630
www.bacc.or.th
■
Kathmandu Photo Gallery
87 ถนนปั้น กรุงเทพฯ
โทร. 02-234-6700
www.kathmanduphoto
bkk.com