SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
โครงการต่อยอดจาก Eastern Seaboard นี้อาจเป็นหัวจักรสำคัญเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
เจาะลึกอนาคตเศรษฐกิจไทยกับ ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เศรษฐกิจไทยใน 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นขยายตัว
ต่ำกว่าในอดีตครึ่งหนึ่ง กล่าวคือขยายตัว 3-4% โดยที่การส่งออกไม่ขยายตัวเลย ส่วนหนึ่งเพราะปริมาณการค้าโลกไม่ขยายตัวสูงเช่นแต่ก่อนและอีกส่วนหนึ่ง เพราะความสามารถในการแข่งขันของไทยเองก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นมากนัก
ยังอาศัย ‘บุญเก่า’ เมื่อ 35 ปีที่แล้วคือ การนำเอาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เป็นพลังงานและวัตถุดิบในการสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่ Eastern Seaboard เพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมานานเกือบ 30 ปี
จนกระทั่งปี 2556
ประเทศไทยในสภาวะปัจจุบันนั้นจึงสรุปได้ว่า ยังมองไม่เห็นชัดเจนว่าจะมีหัวจักรอะไรมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้นต่างๆ ของรัฐ (ช้อปช่วยชาติ เที่ยวช่วยชาติ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ) ก็เป็นมาตรการชั่วคราว การทำรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
ก็จะเป็นการกระจุกความเจริญเอาไว้ในกรุงเทพฯ (และอาจประสบปัญหาการขาดทุนได้ในอนาคต) การสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยลดการขาดทุนลงได้มากน้อยเพียงใด ส่วนภาคเกษตรนั้น แม้ยางพาราจะฟื้นตัวแต่ข้าวก็ยังราคาต่ำและสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็คงจะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะภาคเกษตรโดยรวมนั้นมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพีเท่านั้น
ปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เห็นได้จากการที่ธนาคารไม่ค่อยอยากขยายการปล่อยกู้และยังระมัดระวังแม้กระทั่งการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านที่อยู่อาศัย (มีสัดส่วนการปฏิเสธสินเชื่อสูงมากตามที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์กล่าวอ้าง) และการลงทุนภาคเอกชนในประเทศก็ไม่ขยายตัว แต่มีการขนเงินออกนอกประเทศสุทธิมากถึง 25,000 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว การที่ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 10% ของจีดีพี
(ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ) มา 2 ปีซ้อน เป็นการสะท้อนในเชิงบวกว่ามีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล
แต่ในเชิงลบนั้นแปลได้ว่าคนไทยผลิตสินค้าและบริการ 100 บาท แต่ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศเพียง 90 บาท ไม่ยอมเอาเงินที่เหลืออีก 10 บาทมาใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาต่อไปได้ แต่รีรอให้รัฐบาลออกมากระตุ้นเศรษฐกิจจนกระทั่งขาดดุลงบประมาณและสร้างหนี้สาธารณะมากขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐที่ผ่านมายังมิได้สามารถทำให้ภาคเอกชน (ทั้งไทยและต่างประเทศ) หันมาเร่งการลงทุนของตนได้ ซึ่งในความเห็นของผมนั้น ปัจจุบันรัฐบาลจึงตัดสินใจทุ่มเทให้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ให้เป็นหัวจักรหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ในการนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ 4.0 ภาครัฐประกาศว่าจะให้ EEC มีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป และหากทำสำเร็จก็คงคาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนและขยายตัวที่ระดับ 5% ต่อปีไปได้อีกเป็นเวลา 20-30 ปี ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 35 ปีก่อนหน้า โดย EEC จะต่อยอด Eastern Seaboard เดิม ซึ่งผมขอสรุปในเบื้องต้นดังนี้ (โดยจะประสบความสำเร็จดังคาดหรือไม่ก็จะต้องรอพิสูจน์ภายในปลายปีนี้)
1. จะยึด ‘คันไซ’ โมเดลของญี่ปุ่น ซึ่งอ้างว่านักลงทุนญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยและหลักการของนายกรัฐมนตรีอาเบะคือ ให้ฝ่ายต่างๆ ร่วมมือกันลดอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางการลงทุนทั้งในเชิงของกฎหมายกฎเกณฑ์และกลุ่มผลประโยชน์
2. จะทุ่มเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 2 ล้านล้านบาท ทั้งในเรื่องของการสร้างถนน รถไฟความเร็วสูง (เพื่อขนส่งคน) รถไฟรางคู่ (เพื่อขนส่งสินค้า) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ (เรือหรู) และขยายท่าเรือแหลมฉบัง/มาบตาพุด (เพื่อขนส่งสินค้าและก๊าซธรรมชาติเหลว)
3. ให้ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เป็นฐานการผลิตกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเดิม 5 ประเภทและกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ 5 ประเภท ตลอดจนสร้างเมืองใหม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่
ทั่วโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่ใน EEC รวมทั้งเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา และเป็นแหล่ง
ท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการเป็น Medical Hub กล่าวคือหากประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย EEC ก็คงจะกลายเป็นสิงคโปร์บวก Silicon Valley และ French Riviera รวมกันและยังมีฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดของโลกอีกด้วย
4. เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC นี้เสนอให้มีความพิเศษในเชิงธุรกิจ เช่น การให้เช่าที่ดินยาวนาน 50 ปีและต่ออายุได้ 49 ปี เป็นเขตปลอดภาษี เป็นพื้นที่ใช้เงินดอลลาร์ได้โดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาท ลดภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นนักธุรกิจต่างชาติยังขอวีซ่าได้ยาว 5 ปีอีกด้วย เป็นต้น■