HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


‘อ้วยอันโอสถ’ แบรนด์ยาแผนโบราณที่ยึดเอาซีอีโอแห่ง Tesla เป็นต้นแบบด้านนวัตกรรม

พูดคุยกับชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ ผู้สานต่อมรดก 70 ปี โดยพลิกเทคโนโลยีให้กลายเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจเก่าแก่

     ท่ามกลางพัฒนาการรวดเร็วของเทคโนโลยี ยาแผนโบราณอาจดูเหมือนจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่คนนึกถึง แต่ความเจริญของอ้วยอันโอสถจากร้านขายยา 2 คูหา บริเวณเชิงสะพานพระพุทธ
ยอดฟ้า จนกลายมาเป็นบริษัทผลิตยามาตรฐาน GMP PIC/S ซึ่งถือว่าสูงที่สุดสำหรับยาแผนโบราณและได้รับการจัดจำหน่ายในร้านขายยากว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ บ่งบอกว่าปัจจัย 4 ยังคงความศักดิ์สิทธิ์แม้ในโลกดิจิตัล ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ ทายาทรุ่นที่ 3 มุ่งติดปีกยาแผนโบราณให้ทะยานต่อไปข้างหน้าด้วยกำลังของความโมเดิร์นและเทคโนโลยี

ตำนาน 70 ปี

     ปีนี้เป็นปีที่ 70 แล้วที่อ้วยอันก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2490 เมื่อก่อนคุณปู่เดินทางเสื่อผืนหมอนใบมาจากกวางโจว ก็มาเป็นลูกจ้างร้านขายยา
เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนสามารถสอบเป็นแพทย์ 
และเภสัชกรแผนโบราณ ได้ใบอนุญาตเป็น
ผู้ประกอบการโรคศิลป์ยาจีน พอเก็บเงินได้ 
ท่านก็ไปเปิดร้านขายยาอ้วยอันโอสถที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า คุณปู่ขยันมาก เอาใจใส่ลูกค้า 
ต่อให้หลังเที่ยงคืน ถ้ามีใครมาให้ช่วย มีเด็กชักมา ท่านก็เปิดประตูช่วยตลอด สูตรไหนที่แมะลูกค้าแล้วจ่ายยาไปได้ผลดีก็จะนำไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นตำรับของตัวเอง ยาสูตรที่ท่านคิดค้นขึ้นมาทุกวันนี้ก็ยังขายอยู่ เช่นยาผิวหนังมีกีฟู แก้น้ำเหลืองเสีย ยาเซียวทีตัน แก้ริดสีดวง ยังเรียกชื่อจีนแบบนี้และยังขายดี​ ฟังไม่โมเดิร์นแต่ลูกค้าติดใจ

จากร้านสู่โรงงาน

     พอขายดีมากๆ มาถึงรุ่นคุณพ่อ (สิทธิชัย สมบูรณ์เวชชการ) ก็ตัดสินใจเปิดโรงงานเมื่อปี 2559 เพื่อผลิตให้เร็วขึ้น เมื่อก่อนทำเฉพาะหลังร้าน แต่เมื่อความต้องการสูงขึ้น หลังร้านทำไม่ทันแล้ว เลยขยับขยาย ​แล้วพอดีช่วงนั้นรัฐบาลสนับสนุนเรื่องสมุนไพรไทยตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ร้อนใน ขมิ้นชัน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อด้วย ก็เลยเป็นจังหวะเหมาะ รูปแบบยาก็เริ่มเปลี่ยน สมัยคุณปู่ทำเป็นยาต้ม ยาลูกกลอนเม็ดดำๆ รับประทานที 
10 เม็ด ไม่สะดวกสำหรับบางคน พอมาสมัย
คุณพ่อก็เปลี่ยนเป็นแคปซูล 2-3 เม็ด กลืนเข้า
ไปได้เลย ไม่ต้องสัมผัสรสยาโดยตรง

ผูกพันแต่เยาว์วัย

     รุ่นคุณพ่อมีความผูกพันกับธุรกิจอยู่แล้ว เพราะเวลาเลิกเรียน ก็ต้องกลับมาช่วยคุณปู่ที่ร้าน ส่วนรุ่นผม คุณพ่อก็จะเล่าเรื่องคุณปู่ให้ฟังบ่อยๆ เวลาปิดเทอม ก็ให้มาช่วยที่บริษัท ช่วยปิดกล่อง ปิดฝายาอะไรพวกนี้ ได้ค่าขนมวันละ 20 บาท เราก็พอใจแล้ว อีกอย่างก็ปลูกฝังเรื่องแนวทางการศึกษาให้เราได้ไปเรียน food science ที่อเมริกาทั้งปริญญาตรีและโท 
ผมเลือก food science เพราะมันกว้างที่สุด ความรู้ไม่ใช่อยู่แค่เรื่องยา แต่รวมถึงเรื่องโรงงาน การควบคุมระบบ เผื่อวันหลังเราคิดจะทำสมุนไพรให้เป็นอาหารเราก็ทำได้ พอเรียนจบทำงานเป็น process engineer อยู่ที่บริษัท FrieslandCampina ที่ทำนมโฟร์โมสต์ ก่อนจะกลับไทยมาสานต่องานที่บ้าน

คุณปู่ขยันมาก เอาใจใส่ลูกค้า ต่อให้หลังเที่ยงคืน ถ้ามีใครมาให้ช่วย มีเด็กชักมา ท่านก็เปิดประตูช่วยตลอด สูตรไหนที่แมะลูกค้าแล้วจ่ายยาไปได้ผลดีก็จะนำไปจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นตำรับของตัวเอง

แน่วแน่ในเส้นทาง

     ผมไม่เคยมีความคิดจะไปทำอย่างอื่นเลยนอกจากมาสานต่อกิจการ ผมเป็นลูกชาย
คนแรกของคุณพ่อ เป็นหลานชายคนแรกของนามสกุลนี้ เราเป็นเหมือน The Chosen One ในหนังสตาร์วอร์ส แรงบันดาลใจของผมคือคุณพ่อ เพราะตอนผมอายุ 10 ขวบ ท่านเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กระทั่งทุกวันนี้ท่านก็เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น แต่ผมปลื้มที่ท่านเลือกจะใช้ชีวิตอย่างเข็มแข็ง ไม่สงสารตัวเองที่เป็นโรค แถมยังเลี้ยงดูลูกและทำธุรกิจให้ดีได้ ดีในแบบที่ตอนผมกลับมา ผมไม่ต้องชุบชีวิตอ้วยอันเลย ผมมาแค่พัฒนาต่อเฉยๆ ดังนั้น พอเห็นคุณพ่อเป็นอย่างนี้แต่เด็ก ผมก็คิดว่าผมต้องตอบแทนท่าน

เริ่มก้าวแรก

     ตอนผมกลับมา กิจการก็ไปได้ดีอยู่แล้ว พูดตรงๆ ว่าไม่รู้จะเริ่มทำอะไรเหมือนกัน ไปนั่งอยู่ในออฟฟิศเฉยๆ เพราะไม่มีอะไรมาให้ทำ สุดท้ายนั่งอยู่ 2 สัปดาห์ ก็รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ก็เลยตัดสินใจเดินไปทั่วโรงงาน ไปดูแต่ละแผนกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ด้วยความที่เรามาสาย food science เราก็จะดูการผลิตว่าคอขวดอยู่ตรงไหน ใครบ่นทำอะไรไม่ทัน ดูว่าเราซื้อเครื่องอะไรเข้ามาได้บ้าง พยายามหาเครื่องมาทุ่นแรง โดยไม่ลดจำนวนพนักงาน เพราะคอขวดแปลว่ามีอะไรที่ไม่ทัน ทำให้แผนกอื่นช้าไปด้วย แต่ถ้าเอาเครื่องเข้ามาแก้ให้เร็วได้เมื่อไหร่ เราก็สามารถเอาคนไปแผนกอื่นที่ยังต้องใช้คนอยู่ ปิดช่องว่างด้วยข้อมูล

     เวลาจะทำอะไร generation gap มีอยู่แล้ว คนแต่ละรุ่นอาจมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน แต่ในเมื่อคุณพ่อเขาก็ประสบความสำเร็จมาได้ด้วยตัวเอง เวลาเราจะไปโน้มน้าวเขา เราต้องไม่ใช่แค่พูดปากเปล่า ทุกอย่างต้องมีข้อมูลสนับสนุนว่าทำออกมาแล้วจะดีขึ้นยังไงบ้าง คุยไปดื้อๆ ใครก็ไม่ให้หรอก แต่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว รู้จักหาข้อมูลมาสนับสนุนมันก็ผ่านไปได้ เวลาคุยกับพนักงานก็เหมือนกัน ชอบคลุกคลีมากกว่าสั่ง ว่ากันด้วยข้อมูล ดูทุกแผนกว่าการทำงานของเขาเป็นยังไง อย่างยาอมสมุนไพรของผม เมื่อก่อนยอดจะอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านขวดต่อปี แต่เราไม่มีเครื่องช่วยปิดฝา คนงานก็มือช้ำ บาดมือ ลาออกไปเยอะ สุดท้ายเราเลยหาบริษัททำเครื่องปิดฝาให้ได้ ผลิตได้ 12,000 ขวดต่อชั่วโมง ก็ช่วยไปได้เยอะ

ผลักดันด้วยนวัตกรรม

     ผมเป็นคนชอบนวัตกรรม หลักในการทำนวัตกรรมของผมมีอยู่ 4 อย่างคือ เจตนา แรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความเชี่ยวชาญ ‘เจตนา’ คือตั้งใจทำเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้บริโภค ‘แรงบันดาลใจ’ คือเห็นอะไรแล้วอยากทำ ‘ความเชี่ยวชาญ’ คือถ้าทำเองไม่ได้ ต้องไปหาคนนอกมาช่วย สุดท้ายก็ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ เช่นเราเห็นว่าคนมักจะคิดว่ายาสมุนไพรเชย แค่บนฉลากก็เขียนว่า ‘ยาแผนโบราณ’ แล้ว ในขณะที่เราเห็นว่าอันที่จริงมันใช้ได้ตั้งแต่เด็กเลย ก็ต้องรีแบรนดิ้ง ทำให้สมุนไพร user-friendly มากขึ้น ปรับรูปลักษณ์ให้เขาหยิบง่ายขึ้น อะไรที่เกี่ยวกับรสชาติ ก็พัฒนาให้รับประทานง่าย ใช้ง่าย แต่หลักสำคัญของการทำนวัตกรรมคือเราต้องยอมล้มเหลวบ้าง เพราะไม่มีใครทำออกมาดีตั้งแต่ครั้งแรก ยาบางตัวต้องปรับสูตรเป็น 10 กว่ารอบก็มี ต้องอย่าไปท้อ เฉลี่ยทำสูตรยาตัวหนึ่งก็ประมาณ 1-2 ปี ตั้งแต่ผมเข้ามาทำ 6 ปี มียาตัวใหม่ออกมา 20 ตัว

พฤติกรรมร่วมเรียนรู้

     อีกอย่างที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมคือการสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ให้กับองค์กร เพราะถ้าจะสร้างนวัตกรรมในสเกลเล็ก ที่ไหนๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าจะทำในสเกลใหญ่ระดับองค์กร ต้องหาวิธีสอนพนักงาน ให้เขาตื่นเต้น​ ลองอะไรใหม่ๆ ไปกับเราด้วย เขาก็จะได้มีความรู้เพิ่มขึ้น เป็นทักษะเพิ่มให้กับตัวเอง ยกตัวอย่างยาที่ทำยากมากแล้วสำเร็จคือยาน้ำแก้ไอเด็ก ตรามิสเตอร์
เฮิร์บ ซึ่งเริ่มมาจากความคิดว่าคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องสารที่จะเข้าสู่ร่างกายลูก มีแอลกอฮอล์หรือเปล่า มีอะไรหรือเปล่า เราก็ตั้งใจคิดค้นสูตรยาที่ หนึ่ง ไม่ใช้แอลกอฮอล์ สอง ไม่แต่งกลิ่นสังเคราะห์ ความยากก็คือ ไม่แต่งแล้วเด็กจะกินได้ยังไง ยาดียังไง ถ้าเด็กกินแล้วคายออกมา ยังไงมันก็ไม่หาย เราก็เลยทำตั้งแต่เริ่มชิม สมุนไพรตัวไหนขม 
ตัวไหนฝาดตัดทิ้ง ตัวไหนที่หอมหวาน ก็ใส่เข้าไป ชิมเองหมดเลย พยายามหาบาลานซ์ที่ดีที่สุด ถุยทิ้งจนไม่อยากจะทำ ปรับอยู่นานเป็นปีๆ กว่าจะผลิตออกมาได้ แต่ตอนนี้ก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยอดขายดีมาก ก็ภูมิใจ

เปลี่ยนโฉมเพื่อให้คนรู้จัก

     เมื่อก่อนอ้วยอันขายดีก็จริง แต่ว่าถามคนรู้จักไหม ไม่รู้จัก เพราะฉลากไม่ชัดเจน ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่หมด ทำโลโก้ใหม่เป็นใบไม้ เขียนอ้วยอันโอสถ แล้วก็บอกว่า ‘ตั้งแต่ 1947’ เพื่อสื่อให้คนรู้ว่าตั้งมานานแล้ว โจทย์ของเราคือเอาความขลังไปอยู่ในแพ็คเกจใหม่ๆ ไม่ให้ลายเส้นรก เพราะคำว่าอ้วยอัน จริงๆ แปลว่า ‘สะอาด’ แล้วก็ ‘ปลอดภัย’ 
แพคเกจของเราจึงเน้นสะอาดแล้วก็ดูปลอดภัย แต่ทุกบริษัทที่ประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่โฆษณาอย่างเดียว อยู่ที่คุณภาพสินค้า และการบริการที่ดีด้วย แพคเกจจิ้งเป็นรักแรกพบ แต่สิ่งที่ทำให้เขาอยู่กับเรานานๆ คือคุณภาพ สำคัญทั้งคู่ แพคเกจจิ้งไม่ทำให้คนหยิบ เขาก็ไม่รู้ว่าของเราดี แต่ถ้าแพคเกจจิ้งดี ข้างในไม่ดี เขาก็ใช้แค่ครั้งเดียว เราอยากให้คนหยิบยาอ้วยอันแล้วรับรู้ถึงความรักที่เราให้ลูกค้า ว่านี่คือยาคุณภาพที่ผู้ผลิตเอาใจใส่ ดูแลคนไทยมา 70 ปีแล้ว ให้มันเป็น emotional buy ตอนนี้ยอดขายก็เพิ่มขึ้น 2 หลักทุกปี ยอดขายล่าสุดคือ 420 ล้าน จากเดิมที่เข้ามาใหม่ๆ 200 กว่าล้านปลายๆ

คุณภาพต้องมาคู่กับคุณธรรม คุณภาพคือทำยาออกมาให้ดีที่สุด หลายคนถามว่าวัดจากอะไร ก็บอกว่าวัดจากที่เรากล้าให้ลูกหลาน ญาติสนิท เพื่อน หรือตัวเราใช้เอง ไม่ได้ทำออกมาแล้วไปซื้อของเจ้าอื่นที่คิดว่าดีกว่า

ความรักจากรุ่นสู่รุ่น

     สิ่งที่ทำให้การสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นของเราราบรื่น คือความรักในสิ่งที่เราทำ ตั้งแต่รุ่นคุณปู่ก็บอกอยู่แล้วว่าเราต้องดูแลสุขภาพของคนไทย ผู้ป่วยคือคนที่กำลังทุกข์ทางกาย เราโชคดีที่ได้มาทำธุรกิจตรงนี้ ได้ช่วยเหลือคนไปในตัว ดังนั้นเราต้องทำอย่างมีจริยธรรม คุณภาพต้องมาคู่กับคุณธรรม คุณภาพคือทำยาออกมาให้ดีที่สุด หลายคนถามว่าวัดจากอะไร ก็บอกว่าวัดจากที่เรากล้าให้ลูกหลาน ญาติสนิท เพื่อน หรือตัวเราใช้เอง ไม่ได้ทำออกมาแล้วไปซื้อของเจ้าอื่นที่คิดว่าดีกว่า เราได้มาตรฐานมากมายรวมถึง GMP PIC/S (Good Manufacturing Practice Pharmaceutical Inspection Cooperation Scheme) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดของยาแผนโบราณ นี่คือคุณภาพ ส่วนเรื่องคุณธรรม คือการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ลูกค้าเข้าถึงได้ ไม่มีการโอ้อวดสรรพคุณว่ากินแล้วหายโรคมะเร็ง หายโรคเบาหวาน

มาตรฐานที่ตั้งกับตัวเอง

     ตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้ผลิตยาสมุนไพรอยู่ 1,000 ราย แต่ที่ได้มาตรฐานแบบเดียวกับผมมีแค่ 20 บริษัทเอง แปลว่า หนึ่ง เขาอาจจะไม่มีความรู้ที่จะทำ สอง เขาอาจจะไม่มีทุนที่จะทำให้ดีขนาดนี้ นี่เป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะถ้าผู้บริโภคเขาลองซื้อของไม่ดีมากินแล้วไม่หาย เขาก็จะมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับสมุนไพรแล้ว ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยใช้ของดีมีคุณภาพ ดังนั้น เราจึงเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ถ้าอะไรสำคัญ ยากแค่ไหนเราก็ต้องทำ ในเรื่องวัตถุดิบ เรามี contract กับเกษตรกร เช่นขมิ้นชันจะมาจากฟาร์มในกาญจนบุรีที่ได้มาตรฐานการเกษตรแบบ GAP (Good Agricultural Practices) ที่สำคัญที่สุดคือเรามีการสุ่มตรวจสารสำคัญ ซึ่งเป็นตัวสร้างสรรพคุณในสมุนไพรที่กล่าวอ้าง เราจึงลงทุนซื้อเครื่องวิเคราะห์สารสำคัญมาราคาหลักล้าน ซึ่งจริงๆ ไม่จำเป็น เพราะไม่ได้อยู่ในข้อกำหนด แต่เราให้ความสำคัญกับคุณภาพ เพราะเราเขียนข้างขวดว่า รับประทาน 2-3 แคปซูล ถ้าเราไม่ควบคุมวัตถุดิบ สารไม่ตรงกัน ครั้งนี้กิน 2 แคปซูลหาย ครั้งหน้ากิน 2 แคปซูลไม่หาย ลูกค้าก็จะเชื่อใจไม่ได้

ค้นต้นแบบ

     นอกจากคุณพ่อแล้ว แรงบันดาลใจของผมในเรื่องนวัตกรรมคือ อีลอน มัสก์ เคยเป็น CEO ของ PayPal แต่ตอนนี้เป็น CEO ของ Tesla Motors, Space X, และ Solar City (ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นไฟฟ้าในบ้าน) ผมชอบที่เขาเคยเป็นซีอีโอของ 3 บริษัทที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย อันหนึ่งทำ internet banking อย่าง Paypal อีกอันคือ Tesla Motors อีกอันคือ SpaceX บริษัททำจรวดที่มีเป้าว่าวันหนึ่งจะพาคนไปอยู่ดาวอังคาร มันแสดงให้เห็นว่าความเชี่ยวชาญไม่จำเป็นต้องด้านเดียว เราเชี่ยวชาญ
หลายๆ อย่างได้ แล้วก็เอาแนวคิดที่เราเคยศึกษาไปลองประยุกต์ใช้กับอีกเรื่องหนึ่งได้ 
แล้วการพัฒนาไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว เป็นการเปลี่ยนวิธีก็ได้ ถ้าเราคิดว่าการพัฒนาคือการใช้เงินอย่างเดียวก็คิดผิดแล้ว การลงทุนที่ต้องใช้ก็ใช้ไป แต่การพัฒนาควรเริ่มจากความคิด ถ้าเราเอาตัวเงินมาตั้ง เราจะพัฒนาได้จำกัดตามจำนวนเงิน แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากความคิด เราจะเริ่มต้นอะไรก็ได้ มันเป็น infinity เลย ผมชอบหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตัวเองทุกวัน ชอบอ่านหนังสือ ชอบไปดูคนพูด จะได้แนวคิดอะไรต่างๆ มากมาย แต่ที่สำคัญ การอ่านหนังสือหรือไปฟังคนอื่นๆ พูด มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราไม่นึกถึงตัวเองว่าเราจะเอาสิ่งดีๆ ที่เขาพูด เอาสิ่งดีๆ ที่เราอ่านมาใช้กับตัวเอง กับชีวิตประจำวัน กับองค์กรได้อย่างไร

การพัฒนาควรเริ่มจากความคิด ถ้าเราเอาตัวเงินมาตั้ง เราจะพัฒนาได้จำกัดตามจำนวนเงิน 
แต่ถ้าเราเริ่มต้นจาก ความคิด เราจะเริ่มต้นอะไรก็ได้ มันเป็น 
infinity เลย

มุ่งสู่ศตวรรษ

     ถ้าจะขยายความสำเร็จของอ้วยอันก็ต้องทำเรื่องความยั่งยืน ทำยังไงให้อยู่ได้ยาวๆ อยู่ได้เป็น 100 ปี พันธกิจของเราคือคุณภาพ คุณธรรม เพื่อพัฒนาประเทศ นี่ก็เป็นปัจจัยความสำเร็จเหมือนกัน นอกจากความรัก นอกจากนวัตกรรม เราต้องรับใช้สังคมด้วย โชคดีที่เราได้ทำธุรกิจปัจจัย 4 พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าคนที่จะเจริญในธรรมได้ เขาต้องไม่มีปัญหาเรื่องปัจจัย 4 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็เน้นคำว่าพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น คนไม่ควรต้องกังวลว่าผ่อนบ้านพอหรือเปล่า มื้อนี้เราจะพอกินหรือเปล่า ยาที่ใช้จะดี จะพอเพียงหรือเปล่า เสื้อผ้าที่ใช้จะตามแฟชั่นหรือไม่ เพราะฉะนั้นในธุรกิจยา ซึ่งเป็นปัจจัย 4 เราก็จะเน้นทั้งคุณภาพและก็คุณธรรมอย่างที่บอก คือให้ลูกค้าใช้แล้วดีจริง ราคาสมเหตุสมผล โดยเขาไม่ต้องกังวลว่าจะดีหรือเปล่า แพงเกินไปหรือเปล่า ถ้าเราทำด้วย service mind ทำทุกอย่างด้วยความรักเพื่อช่วยเหลือคนอื่น เดี๋ยวกำไรก็มาเอง แล้วเวลาคนทำ ทำด้วยความรัก ทำด้วยความอดทน ทำด้วยจิตใจดีงาม ก็จะทำให้บริษัทยั่งยืน

รู้จักกับ ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ



   หลังจบชั้นมัธยมศึกษาจากสิงคโปร์ ได้เข้า
ศึกษาต่อปริญญาตรีและโทด้าน Food Science 
and Technology ที่ Ohio State University 
ประเทศสหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานที่บริษัท Friesland Campina ในกรุงนิวเดลีและนครนิวยอร์ก ก่อนกลับมาทำงานที่บริษัท Roha Dyechem ในไทยและเข้าทำงานที่อ้วยอันโอสถในตำแหน่ง Technical Director/Import-Export Director ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Managing Director ดูแลด้านการผลิตและเทคโนโลยี การพัฒนาผลผลิต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำเข้าและส่งออก เรื่องกฎหมายการผลิตและจดทะเบียนสินค้า