SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
National Treasure
เทวินทร์ วงศ์วานิช กับภารกิจการสร้างปตท.ให้เป็นสมบัติชาติที่ทุกคนสามารถชื่นชมและส่งเสียงเชียร์
บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) หรือปตท. ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จน่าตื่นตาของวงการธุรกิจไทย เพราะจากจุดเริ่มต้นในฐานะหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต้องรีบตั้งไข่ในอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อหานํ้ามันให้ประเทศในช่วงวิกฤติการณ์นํ้ามันโลกปี 2521 ทุกวันนี้ปตท. ไม่เพียงเป็นบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีอาณาจักรครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจสำรวจและผลิต ธุรกิจนํ้ามัน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการกลั่น ธุรกิจปิโตรเคมี ไปจนกระทั่งธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน หากปตท. ยังเป็นบริษัทไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ใหญ่ติดอันดับบริษัท Fortune 500 และสามารถออกไปแข่งขันกับยักษ์ประจำอุตสาหกรรม เช่น เชฟรอน เชลล์ คาลเท็กซ์ ฯลฯ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยน ทั้งจากราคาและวัฏจักรนํ้ามันที่ผันผวน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศแหล่งทรัพยากร เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนปัญหาภาพลักษณ์อันเกิดจากการที่บางคนมองความใหญ่ของปตท.ด้วยความหวาดระแวงแล้ว เส้นทางของปตท.ในอนาคตยังห่างไกลจากคำว่าเรียบง่าย เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของปตท. ให้สัมภาษณ์แก่ Optimise พร้อมเผยให้เห็นถึงเส้นทางการเพาะบ่มองค์กรนับแต่อดีตที่ยังคงแตกกอต่อกิ่งอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต
ปัจจัยความสำเร็จ
ผมคิดว่าปัจจัยมาจาก 2-3 อย่าง หนึ่ง ภารกิจการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของปตท.เป็นสิ่งที่ต้องแข่งขัน ต้องจัดซื้อจัดหาจากต่างประเทศ ภารกิจนี้จึงบีบให้องค์กร บุคลากร และการดำเนินธุรกิจของปตท. ต้องปรับตัวเทียบเคียงบริษัทต่างประเทศให้ได้ สอง เราโชคดีที่ตั้งแต่ก่อตั้งมา ผู้นำองค์กรทุกคนเป็นคนเก่ง มีวิสัยทัศน์ และอยู่ในธุรกิจพลังงานโดยตลอด ทำให้การบริหารมีความต่อเนื่อง สุดท้าย คล้ายกับข้อแรก คือ การแข่งขันกับองค์กรต่างประเทศ ทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเพื่อให้สู้กับเขาได้ เราเห็นปรากฎการณ์คล้ายๆ กันในบริษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศอื่น ซึ่งไปไกลกว่ารัฐวิสาหกิจปกติ เพราะต้องทำธุรกิจแข่งขันระหว่างประเทศ บางทีจึงต้องกลับมาคิดว่าสำหรับหลายๆ กิจการ การคงสภาพรัฐวิสาหกิจยังเหมาะสมหรือเปล่า หรือควรแปลงสภาพแปรรูปให้มีความคล่องตัวขึ้น แข่งขันมากขึ้น
พลังของตลาด
พอแปรรูปแล้ว ผู้บริหารของบริษัทต้องพบนักลงทุน นักวิเคราะห์ ต้องถูกตลาดติดตามตรวจสอบ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจทางธุรกิจต่างๆ ต้องสมดุลมากขึ้น ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจ นโยบายก็จะเป็นไปตามคำสั่งของภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งสำหรับรัฐบาลที่มีวาระด้านการเมืองเยอะ การตัดสินใจก็จะไปตามเรื่องการเมืองหมด แต่พอเป็นบริษัทมหาชน นอกจากตอบสนองนโยบายรัฐแล้ว การใช้เงินลงทุนต้องมีเหตุผลเพียงพอ มีผลตอบแทนที่เหมาะสม ยั่งยืน ไม่ใช่ทำไปแล้ว เงินจมไปเรื่อยๆ อย่างเรื่องการอุดหนุนราคาพลังงาน เป็นจุดตายสำคัญ เพราะสเกลมันใหญ่มาก ถ้าไปอุดหนุนแล้ว พอราคาตลาดโลกขึ้นไปเยอะๆ ไม่มีใครรับไหว กระทั่งประเทศส่งออกนํ้ามัน ทุกวันนี้ก็เจ็บปวด เพราะเวลาราคานํ้ามันดี รัฐอาจมีกำลังอุดหนุนได้ แต่พอราคานํ้ามันลง รายได้หาย คิดจะเลิกอุดหนุน ตอนนั้นผู้บริโภคก็เสพติดแล้ว ยิ่งเราเป็นประเทศนำเข้า ไม่มีรายได้แบบประเทศส่งออกพลังงาน ก็ต้องไปเอารายได้จากทางอื่นมาอุดหนุน ยิ่งเจ็บตัวใหญ่ ดังนั้นการสร้างความสมดุลให้กับการตัดสินใจทางธุรกิจคือประโยชน์อย่างแรกของการเข้าตลาด
สอง การอยู่ในตลาดช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการลงทุนและการกู้เงินให้กับบริษัท เพราะต่างประเทศมักจะดูว่าบริษัทที่มาลงทุนเป็นใคร เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เครดิตเรตติ้งเป็นอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบริษัทที่บริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ถูกสั่งการจากการเมืองอย่างเดียว เมื่อได้รับความเชื่อถือแล้ว เวลาเห็นโอกาส เราก็เริ่มได้เร็ว เพราะหาเงินมาดำเนินการได้สะดวกขึ้น
สาม การเข้าตลาดช่วยพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแล ตลาดหลักทรัพย์ไทยถือว่ามีชื่อเสียงในเรื่องการกำกับดูแลในระดับที่ดีมาก ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นความท้าทายหรือเป็นจุดเด่นของ ปตท.ก็ได้ สำหรับการเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เป็นบริษัทมหาชนด้วย เพราะเราจะถูกกำกับ 2 ทาง ทางภาครัฐกำกับปตท. โดยผ่านนโยบายของรัฐ การตรวจสอบของสตง. ปปช. กระทรวงการคลัง และกฎหมายของรัฐวิสาหกิจเกือบทุกฉบับ ในขณะที่การเป็นบริษัทมหาชน ก็ทำให้ปตท. ต้องอยู่ภายใต้พรบ.หลักทรัพย์ฯ พรบ.บริษัทมหาชนฯ และการตรวจสอบโดย stakeholders ทั้งหลาย ไม่ว่านักวิเคราะห์ นักลงทุน กลต. ตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่ตามมาคือ เวลาทำอะไรที่มีความสำคัญต่อสถานะบริษัท ปตท. ก็ต้องเปิดเผยข้อมูล มีความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นการยกระดับ Good Governance ไปในตัว
แต่มองไปพ้นปตท. การเป็นบริษัทมหาชนก็ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะแปลว่ารัฐจะมีปตท.เป็นกลไกสร้างเสถียรภาพราคาพลังงาน คอยช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้มากกว่าธุรกิจเอกชนทั่วไป เวลาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลความมั่นคงพลังงานของประเทศก็ไม่เป็นภาระงบประมาณรัฐ และสุดท้ายนี่คือการสร้างความสามารถแข่งขันของบริษัทไทยและคนไทยในกิจการพลังงานในเวทีโลก ซึ่งจะกลับมาเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้รัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกทีหนึ่ง
เราอยู่ในเมืองไทย stakeholders ของเราคือคนไทย เวลาไปพม่า stakeholders ก็คือคนพม่า ต้องไปดูแลสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อมของเขาด้วย ...ไม่ว่าเราจะไปไหน เราต้องไปเป็น good corporate citizen ของที่นั่น
ความท้าทายในโลกกว้าง
38 ปีก่อน เรามีแต่โรงกลั่นขายนํ้ามันเล็กๆ น้อยๆ แต่ตอนนี้ปตท.ทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่สำรวจและผลิต วางท่อก๊าซ สร้างโรงแยก โรงกลั่น ทำปิโตรเคมี เปิดปั๊ม และเริ่มมีธุรกิจไฟฟ้า ในตลาดโลก ผู้เล่นในกิจการเหล่านี้เป็นระดับยักษ์ทั้งนั้น ไม่ว่าเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ โททาล บีพี เราอาจคิดว่าปตท.ใหญ่แล้วในประเทศ แต่เราเล็กกว่าพวกนี้เป็น 20-30 เท่า เล็กกว่าเปโตรนาสของมาเลเซียในเชิงรายได้ 7-8 เท่า แล้วทำอย่างไรเราถึงจะมีที่ยืนของเราในตลาดโลก ทำอย่างไรเราถึงจะมีจุดที่เราไปลงทุน เจรจาซื้อขายต่อรองได้ นี่คือความท้าทายหลัก
ความท้าทายต่อมาคือธุรกิจพลังงานมีลักษณะเป็น cyclical (วัฏจักร) ไม่ว่าในเรื่องของราคา เรื่องเทคโนโลยี เรื่อง margin มีขึ้นลงเป็นรอบอยู่ตลอด นี่คือเหตุผลที่บริษัทนํ้ามันส่วนใหญ่ต้องทำกิจการตลอด value chain เพื่อให้สามารถบริหารเอารายได้จากวงจรต่างๆ ตลอดสายมาถัวกัน นอกจากนั้นก็ต้องรู้จักนิ่ง มองระยะยาว มองพรุ่งนี้ไม่พอ ต้องมองเป็นระยะ 20 ปี เพราะการลงทุนในธุรกิจพลังงาน เป็นระยะยาวทั้งนั้น ไม่มีปีสองปีคืนกำไร สมมติเราไปลงทุนช่วงราคานํ้ามัน 70-80 เหรียญ แล้วราคามันขึ้นไป 100 เหรียญ เราก็ดีใจ แต่เสร็จแล้วพอราคาลงมาเหลือ 30-40 เหรียญ เราจะบอกเจ๊งแล้วไม่ได้ เพราะวันนี้มันก็กลับขึ้นมาแตะ 60 เหรียญอีก
ยังมีเรื่องเทคโนโลยีอีก เนื่องจากเทคโนโลยีในกิจการพลังงานต้องลงทุนเยอะ ก็เป็นความท้าทายว่าเราจะเลือกเทคโนโลยีที่จะมาใช้อย่างไร ต้องมีการตัดสินใจที่รัดกุม ถ้ารอนานไป ก็ไม่ได้ทำเสียที ถ้าทำเร็วเกินไป เกิดมีเทคโนโลยีใหม่มาแทนอันที่เราลงทุนไปเลยก็เสียหาย อย่างเรื่องกิจการสำรวจและผลิต มีอยู่ยุคหนึ่งนํ้ามันหายาก เราก็ไปลงทุนทำ oil sand ที่แคนาดา แต่วันดีคืนดีดันมีเทคโนโลยีที่เอานํ้ามันออกจากชั้นหินดินดานได้ ทั้งที่ปกติผลิตไม่ได้ ราคานํ้ามันก็ร่วงลงมา ฉะนั้นพวกที่ไปลงทุน oil sand รวมถึงเราก็เจ็บตัว
เรื่องการเมือง การทูตก็เป็นความเสี่ยง เพราะเราลงกิจการพลังงานทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทย แล้วจะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ไม่ทราบ พื้นที่ที่มีทรัพยากรจะไม่ค่อยน่าพิศมัยเท่าไหร่ ไม่ใช่ประเทศน่าเที่ยวหรือมีความมั่นคง อยู่ในตะวันออกกลางบ้าง อยู่ในแอฟริกาบ้าง ประเทศดีๆ ในยุโรปส่วนใหญ่มีเจ้าใหญ่ไปลงแน่นหมดแล้ว อย่างที่เราไปลงแอลจีเรียก็มีความอันตราย มีการก่อการร้าย มีการจับตัวประกันต่างชาติ พวกนี้ก็เป็นความท้าทาย ดีที่ธรรมชาติของคนสำรวจและผลิต จะมีทัศนคติของนักสำรวจ ยากแค่ไหนก็อยากไป อยากไปหาให้เจอ ยิ่งท้าทาย ยิ่งยากยิ่งรู้สึกภูมิใจ
ต้นทุนความเป็นไทย
ประเทศไทยนี่มีต้นทุนที่ดี คือเราเป็นคนดีในสายตาสังคมโลก ไม่ใช่ประเทศใหญ่ที่จะไปเป็นภัยคุกคามใคร ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ประเทศเล็กที่จะถูกกดขี่ได้ ฉะนั้นเราค่อนข้างได้รับการต้อนรับที่ให้เกียรติ เป็นมิตร ซึ่งเราก็ต้องรักษาต้นทุนนี้ คือต้องไปด้วยความเป็นมืออาชีพ ด้วยแนวทางการทำธุรกิจที่ win-win คิดถึง stakeholders เราอยู่ในเมืองไทย stakeholders ของเราคือคนไทย เวลาไปพม่า stakeholders ก็คือคนพม่า ไม่ใช่รักษาประโยชน์ประเทศไทยอย่างเดียว อย่างนั้นก็ไปไม่รอด ต้องไปดูแล สังคมชุมชน สิ่งแวดล้อมของเขาด้วย คือเราอาจจะภูมิใจได้ว่าเราเป็นบริษัทจากประเทศไทย แต่ไม่ว่าเราจะไปไหนก็ตาม เราก็ต้องไปเป็น good corporate citizen ของที่นั่น นี่คือไปด้วยใจที่ดี
แต่ใจอย่างเดียวไม่พอ เราต้องเป็นบริษัทที่มีฝีมือดีด้วย ไม่งั้นเขาก็ไปทำงานกับคนอื่นดีกว่า ปตท.โชคดีที่ทำธุรกิจตลอดสายโซ่ มันก็มีโอกาสที่แสดงผลงานให้เห็นได้ โดยเฉพาะสำหรับหลายประเทศเพื่อนบ้านเราที่ยังไม่ได้นำทรัพยากรมาใช้ตลอดสายโซ่อย่างเรา เราก็เอาโมเดลธุรกิจที่เราใช้ในประเทศไทยไปเสนอเขาได้ว่าเราทำมาแล้ว เราอาจไม่ได้มีความได้เปรียบบริษัทใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราพูดได้คือเราทำในฐานะบริษัทแห่งชาติในประเทศไทยมาแล้ว ฉะนั้น ถ้าเขาอยากมีแบบนี้ เราก็ยินดีทำงานร่วมกัน เราเข้าใจหัวอกว่าเขาก็อยากพัฒนาบริษัทแห่งชาติ เข้าใจหัวอกของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่จะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมา นี่ก็เป็นจุดขาย
แหล่งพลังงานยุคใหม่
โลกเปลี่ยนแหล่งพลังงานมาเรื่อย จากถ่านหิน เป็นนํ้ามัน เป็นก๊าซ จนวันนี้ก็กำลังดูว่าจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) หรือจะเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวล (biomass energy) นี่คือการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ ‘ที่มา’ นอกจากนั้นก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของ ‘ที่ไป’ อีกว่าสิ่งที่จะมาใช้พลังงานคืออะไร คือรถนํ้ามัน รถไฟฟ้า ฯลฯ เราก็ต้องวางแผนรองรับ ความท้าทายส่วนใหญ่อยู่ที่ energy storage เพราะพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่มันไม่ได้สมํ่าเสมอ ดังนั้นต้องมีวิธีการเก็บพลังงานไว้ให้ได้ วันนี้เราจึงไปลงทุนในกิจการด้าน energy storage เพื่อรองรับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างยั่งยืน
ถอยกลับมาในส่วนของถ่านหิน นํ้ามัน และก๊าซ จะเอายังไงกันต่อไป ถ่านหินท้าทายหน่อย เพราะมีประเด็นเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คงไม่ขยายมากนัก คงไว้อย่างนี้ ส่วนนํ้ามันในระยะยาว น่าจะไม่ใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีมากกว่า โลกยังต้องใช้ปิโตรเคมีคอล เพราะไบโอเคมีคอลยังมีปริมาณน้อยและต้นทุนสูงมาก พูดได้ว่าพวกถุงถังกาละมังหวี ยังไงก็เป็นพลาสติกอยู่ พวกไบโอเคมีคอลอาจมีตลาดเพียงบางส่วน เช่นแก้วกาแฟ เพราะมันใช้ใกล้ชิดกับชีวิตคนและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ระยะยาวเราจะเปลี่ยนไปเป็นปิโตรเคมีคอลมากขึ้น
สำหรับก๊าซธรรมชาติคงใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ใช้ในภาคการขนส่งน้อย เพราะราคานํ้ามันไม่สูง การใช้แก๊สแทนมันไม่คุ้ม เป้าของก๊าซจึงเป็นการใช้ผลิตเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า หรือเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี แต่พอจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ก็ต้องมาดูว่าทิศทางของพลังงาน renewable เป็นอย่างไร เราเชื่อว่าก๊าซจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ส่วน renewable เป็นเพียงส่วนเสริม เพราะปริมาณมันน้อยมาก ดังนั้น ธุรกิจก๊าซเดินต่อได้
พฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้ามากขึ้น พวกอุปกรณ์ต่างๆ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์มันเพิ่มการใช้ไฟฟ้า ต่อไปรถไฟฟ้าคงทยอยเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นเราก็เลยเตรียมลงทุนในเรื่องของ electricity value chain อย่างเช่น ลงทุนในธุรกิจโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น ลงทุนในธุรกิจ energy storage ที่อเมริกา ทำเรื่อง EV Charger ที่จะมาใช้กับรถไฟฟ้า ทำเรื่องซอฟต์แวร์ที่จะต้องเกี่ยวข้อง นี่คือสิ่งที่เราพยายามเตรียมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง
เร่งสร้างนวัตกรรม
เราตั้งสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท.ที่วังน้อยมา 20 ปีแล้ว สมัยแรกจะเป็นการวิจัยเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ การทำไบโอดีเซล การลดสารตะกั่วในนํ้ามัน แต่ตอนนี้กำลังวิจัยค้นหาเทคโนโลยีที่จะเป็น S Curve ใหม่ของปตท. แต่สถาบันวิจัยอย่างเดียวไม่พอ เราก็ไปตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี ตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่สนับสนุนให้นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์ เพราะเรามองว่าประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศอื่นในอนาคตได้ ต้องมีฐานของงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุน เหมือนกับที่ญี่ปุ่น ที่เกาหลีเขาทำมา ซึ่งอันนี้ไม่ใช่แค่เพื่อปตท.เอง แต่เพื่อประเทศ
นอกจากนี้ เราก็ตั้งทีม ExpresSo (Express Solutions) ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเอาความคิดสร้างสรรค์ เอานวัตกรรมในองค์กรขึ้นมาทำ incubation process จนได้เป็น prototype สำหรับนำไปทดลองว่าความคิดหรือนวัตกรรมผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปต่อได้ไหม เนื่องจากเวลาเราทำนวัตกรรมพวกนี้ มีไอเดียสักร้อย สุดท้ายอาจจะเหลือแค่ 3-4 อันที่เอามาใช้จริง ฉะนั้นต้องมีความนิ่ง ต้องเข้าใจว่าเราพร้อมที่จะคิดเยอะๆ และล้มเหลวได้เร็ว ได้บ่อย เพื่อเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น ในขณะที่ถ้าเจออะไรที่ใช่ก็ต้องมีกระบวนการต่อยอดไปจนถึงปลายทางให้เร็ว คีย์เวิร์ดคือเร็ว ความคิดใครก็คิดได้ ถ้าคนอื่นคิดทีหลังเรา แต่เสร็จก่อน เราก็แพ้
พันธนาการของธุรกิจ
นอกจากข้อจำกัดหรือความยากของตัวงานเอง ข้อจำกัดภายนอกก็คือพวกเรื่องกฎหมาย เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นรู้ว่าจะแปรรูปปตท. ให้มีความคล่องตัว จึงยกเว้นกฎระเบียบให้ปตท. พอเวลาผ่านไปคนเริ่มมองว่าปตท. ใหญ่เกินไป กำไรมากเกินไป เริ่มไม่ไว้ใจว่าปตท. ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรหรือเปล่า ทีนี้พอไม่ไว้ใจก็ต้องตรวจสอบ ดังนั้นสิ่งที่เคยปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการแข่งขันก็เลิก เหมือนกับเคยปล่อยสายให้ว่าวมันลอยไปติดลมบน แต่สักพักก็เริ่มสาวกลับมาด้วยกฎระเบียบและการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเวลามีแรงกดดันจากเอ็นจีโอหรือกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ โดยลืมไปว่าเราตั้งใจจะสร้างองค์กรให้คล่องตัวสำหรับแข่งกับเอกชน และทำหน้าที่เพื่อประเทศ
ตั้งแต่ผมรับตำแหน่ง ก็เห็นปัญหานี้มาตลอด เรื่องความไว้วางใจของสังคม ถ้าเราสื่อไม่ชัด อธิบายไม่ทั่ว มันก็จะกลับมาเป็นอุปสรรคต่อภารกิจ ผมไม่ห่วงเรื่องธุรกิจ เพราะมีคนปตท.เก่งๆ อยู่เยอะ แต่เรื่องการสื่อสาร คนของเราที่คุ้นแต่การทำธุรกิจ ขายของ ซื้อของยังสู้ฝ่ายต่อต้านยังไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่ปตท.ทำ โดยธรรมชาติมันจะไปกระทบกับความเป็นอยู่ของคน ไม่รู้จะทำยังไงไม่ให้กระทบคน เพราะว่าเราซื้อมาขายไป ก็ต้องทำตามกลไกตลาด พอกระทบเขาอาจรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำเพื่อชาติ ลืมไปว่าเราแค่จัดหามาให้ ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรเอง
ผมอยากให้ปตท.เป็นได้เหมือนทีมฟุตบอลไทยที่ทุกคนเชียร์ เพราะถ้าคนเชียร์ นักฟุตบอลก็มีกำลังใจเตะได้เต็มที่เลย ไม่เหนื่อย แต่ถ้ามีแต่คนโห่แล้วโห่อีก เราชนะคู่ต่อสู้ยังไงมันก็ไม่มีกำลังใจ
สมบัติชาติที่คนไทยภูมิใจ
ความใฝ่ฝันของผมคือ การทำให้ปตท. เป็น Pride and Treasure of Thailand ให้ได้ คือเป็นสมบัติของชาติที่คนไทยภูมิใจ เพราะผมอยู่ในปตท.มานานพอสมควร ได้เห็นว่าคนปตท.มีความภูมิใจในองค์กร ภูมิใจในหน้าที่ที่เขาทำเพื่อประเทศอยู่แล้ว แต่คนข้างนอกกลับไม่ค่อยเข้าใจตรงนี้ และมองปตท.เป็นองค์กรที่ห่วงแต่ธุรกิจ ผมอยากให้ปตท.เป็นได้เหมือนทีมฟุตบอลไทยที่ทุกคนเชียร์ เพราะถ้าคนเชียร์ นักฟุตบอลก็มีกำลังใจเตะได้เต็มที่เลย ไม่เหนื่อย แต่ถ้ามีแต่คนโห่แล้วโห่อีก เราชนะคู่ต่อสู้ยังไงมันก็ไม่มีกำลังใจ และก็จะทำให้เตะพลาด เตะหลุดไปหมด ทีนี้ทำยังไงให้คนบนอัฒจันทร์เชียร์ปตท. ในด้านการสร้างความเป็น Treasure เราคิดว่าเราทำอยู่แล้ว โดยพัฒนาองค์กรให้เป็นบริษัทชั้นนำ เอาทรัพย์สินที่เรามีไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ส่วนการสร้างความเป็น Pride คือความเป็นที่ภาคภูมิใจ ผมว่าเรายังต้องสื่อสารให้คนเข้าใจให้มากขึ้นในอีกหลายเรื่อง
เรื่องแรกคือภารกิจความมั่นคงด้านพลังงานที่ปตท.ทำ ความมั่นคงในที่นี้แปลว่าเพียงพอ-ทั่วถึง-เป็นธรรม-ยั่งยืน ‘เพียงพอ’ คือคนไทยไม่เคยขาดพลังงาน ไปปั๊มก็มีนํ้ามัน เปิดสวิทช์ไฟไฟก็มา ‘ทั่วถึง’ คือไปอยู่ที่ไหนในประเทศไทย คุณหาปั๊มปตท.ได้ มีทุกจังหวัด เกือบทุกอำเภอ ปกติที่ไหนไกลๆ ปั๊มจะไม่ค่อยอยากไป ลูกค้าน้อย ขนส่งไกล แต่ของเราไปทั่วถึง ‘เป็นธรรม’ คือราคาที่เหมาะสม จุดนี้คนไม่เข้าใจเยอะ คิดว่านํ้ามันแพงเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ทั้งที่ความจริงราคาขายปลีกเราแพงกว่า เพราะภาษีที่รัฐบาลเก็บ ถ้าดูเฉพาะราคาเทียบกับประเทศอื่นก็จะเห็นว่าเป็นธรรม สุดท้ายยากสุดคือเรื่อง ‘ยั่งยืน’ ทำยังไงให้เรามีทั้งทั่วถึง เพียงพอ เป็นธรรม ในระยะยาว สำหรับลูกหลานด้วย ซึ่งผู้บริโภคไม่ค่อยเข้าใจ อยากให้วันนี้ราคาถูกกว่านี้อีกหน่อย ให้เอากำไรปตท.มาลดราคา แต่ความจริงเราต้องเอามาใช้ลงทุนเพื่อความยั่งยืนต่อไปด้วย
เรื่องต่อมาคือสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกิจ เพราะว่าเราเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจ เป็นทั้งบริษัทมหาชน คนจึงมองว่าเราใช้สิทธิความเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้อำนาจไปเอาเปรียบเพื่อเอากำไรไปให้ผู้ถือหุ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงคือเราต้องคอยสร้างสมดุลทั้งโจทย์ทางนโยบายและโจทย์ทางธุรกิจ ความจริงวันนี้ธุรกิจที่แข่งขันส่วนใหญ่ไปอยู่ที่บริษัทลูกหมดแล้ว ไม่ว่าสำรวจและผลิต โรงกลั่น ปิโตรเคมี ไม่ได้อาศัยภาครัฐอะไรเลย แม้กระทั่งตัวปตท.ซึ่งทำธุรกิจนํ้ามัน ต่อไปก็จะแยกเป็นบริษัทลูกให้เห็นเลยว่าธุรกิจของปตท.ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเลย นี่คือการพยายามจัดโครงสร้างให้โปร่งใสเพื่อให้คนเข้าใจ
เรื่องที่สามก็คือเรื่องสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อม เราทำเยอะมาก ใครอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมแล้วจะหาสปอนเซอร์ ลองเดาว่าชื่อไหนมาก่อน ก็ปตท. ผมรับจดหมายพวกนี้เยอะเลย ก็เป็นโครงการดีทั้งนั้น แต่เพื่อไม่ให้กระจัดกระจายจนคนไม่รู้ว่าปตท.ทำอะไร ก็ต้องพยายามเลือกเรื่องให้เป็นแพทเทิร์นชัดเจน หลักๆ ก็ทำเรื่องการศึกษา วิถีชีวิตชุมชน เศรษฐกิจชุมชน กีฬา ศิลปะวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ที่น่าจะใกล้ชิดคนเมืองหน่อยคือคุ้งบางกระเจ้า ติดกรุงเทพฯ เลย
เรื่องที่สี่ที่กำลังดำเนินอยู่ก็คือการทำ social enterprise ทำอย่างไรให้กิจการสนับสนุนชุมชนที่อยู่ในพื้นที่แล้วโตไปด้วยกัน เป็นแนวคิดการมีส่วนร่วม ตอนนี้ก็เลยกำลังดูโครงการของแต่ละธุรกิจ เป็นธุรกิจก๊าซ ธุรกิจนํ้ามัน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการลงทุนนั้น เติบโตต่อมาแล้วสร้างรายได้กลับไปให้ชุมชนนั้นอีก
ขับเคลื่อนด้วยคน
สุดท้าย ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคน หลักของผมคือ ‘strengthen from inside’ คนข้างในต้องแสดงพฤติกรรมที่ทำให้คนข้างนอกมองปตท.ด้วยความภูมิใจ องค์กรเรามีค่านิยมอยู่ 6 ตัว 3 ตัวแรกสะท้อนความเก่ง 3 ตัวสุดท้ายสะท้อนความเป็นคนดี คือ Responsibility for Society ความรับผิดชอบต่อสังคม Integrity & Ethics คือจริยธรรม และจรรยาบรรณ และก็ Trust & Respect ความเชื่อมั่นน่าเชื่อถือ 3 เรื่องนี้ พนักงานต้องเป็น ambassador ต้องประพฤติปฏิบัติตลอดเหมือนศีลห้า และไปแสดงให้คนเห็น ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจและภูมิใจในความเป็นองค์กรของปตท. แล้วพร้อมจะเชียร์ปตท.ได้เหมือนเชียร์ทีมไทย วันนี้เหมือนเรากำลังจะออกไปแข่งข้างนอก ถ้าข้างในยังยึดขากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตรวจสอบ หรือเอ็นจีโอ แล้วเราจะออกไปสู้กับคนอื่นได้ยังไง แต่ถ้าช่วยกันให้กำลังใจ ส่งเสียงเชียร์ เราพร้อมไปเต็มที่ พร้อมไปทำงานให้ประเทศ สู้ขาดใจเลย ■
รู้จักกับเทวินทร์ วงศ์วานิช
เทวินทร์เรียนจบด้านวิศวกรรมเคมีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยไรซ์ และวิศวกรรมปิโตรเลียมจากมหาวิทยาลัยฮุสตันในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นทำงานที่บริษัท ปตท. สผ. ก่อนมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. จากนั้นได้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. และได้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในที่สุด