HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


The Eden Next Door

แหล่งท่องเที่ยวน้ำงามอย่างหมู่เกาะมะริดยังคงสภาพบริสุทธิ์ แม้ว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวจะสามารถไปเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ได้ง่ายกว่าครั้งใดในอดีต

     ‘เมืองลับแล’ ‘แดนสวรรค์’ ‘วิมานอันบริสุทธิ์’ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวลียอดนิยมที่สื่อต่างๆ ใช้เรียกหมู่เกาะมะริด นับตั้งแต่หมู่เกาะแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงปี 2555 ซึ่งต้องนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคที่แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่ทุรกันดารที่สุดก็ยังมีนักท่องเที่ยวขวนขวายไปเยือนจนหมดความแปลกใหม่ อย่าว่าแต่มะริดเองก็ใช่ว่าจะอยู่ในพื้นที่รกร้างห่างไกลอย่างขั้วโลกหรือใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก อันที่จริงมะริดตั้งอยู่นอกชายฝั่งของพม่า ห่างจากจังหวัดระนองไปเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งทางเรือ ซึ่งหมายความว่าการไปเยือนจุดขายของหมู่เกาะอย่างทะเลสาบ
สีเขียวมรกตรูปหัวใจภายในอ้อมกอดของหินผาที่ชื่อว่า ‘เกาะหัวใจมรกต (Cock’s Comb)’ เกือบจะง่ายกว่าการไปเกาะเต่า อย่างไรก็ตาม แม้ความใกล้ของระยะทาง ความสะดวกของการขอวีซ่าเข้าพม่า ตลอดจนธรรมชาติ
อันบริสุทธิ์ จะทำให้การไปเยือนหมู่เกาะมะริด
ดูน่าดึงดูดเป็นอย่างมาก ต้องบอกว่าการไปมะริดมีความท้าทายกว่าการไปสิมิลัน และ
นักท่องเที่ยวผู้คร่ำหวอดแนะว่าทริปบุกเบิก
หมู่เกาะมะริดอาจไม่ได้ถูกจริตของทุกคน

เปิดแล้ววันนี้

     เหตุผลที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจกับหมู่เกาะมะริด เป็นเพราะครั้งหนึ่งมันเคยเป็นพื้นที่หวงห้าม ก่อนปี 2540 ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้าไปในบริเวณนี้ จวบจนกระทั่งแกรมและอดัม ฟรอสต์ ผู้ให้
บริการทัวร์ดำน้ำในภูเก็ตเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทหารพม่าได้สำเร็จ จึงได้มีการจัดทัวร์ดำน้ำในหมู่เกาะมะริดขึ้นเป็นครั้งแรก อ่อง จอ ผู้ทำหน้าที่มัคคุเทศก์ให้กับบริษัทเรือเช่าเหมาลำ Burma Boating ยังคงจำได้ดีถึงครั้งแรกที่ได้ไปเยือนเกาะสอง โดยเขาเล่าว่า “ตอนนั้นมีแค่
นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเพียงแค่ไม่กี่คน”

     อย่างไรก็ตาม แม้หมู่เกาะแห่งนี้จะเริ่มแย้มประตูรับผู้มาเยือน แต่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ย่อมเต็มไปด้วยกฎข้อบังคับที่เข้มงวด และเนื่องจากศูนย์กลางอำนาจอย่างเนปยีดอ
นั้นอยู่ห่างไกลออกไปมาก การวางแผนเดินทางไปที่นี่จึงต้องเผื่อเวลาล่วงหน้าหลายสัปดาห์ “ถ้ารัฐบาลบอกว่า 5 วัน ให้นับไปเลย 10 วัน” อ่อง จอ กล่าว

     หนึ่งในกฎข้อบังคับที่ว่าก็คือข้อบังคับให้เรือท่องเที่ยวต้องมีทหารติดอาวุธประจำอยู่บนเรือเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยจากบรรดา
โจรสลัด ลอเรนท์ คึนซ์เลอร์ ซีอีโอแห่ง Asian Trails บริษัททัวร์สำหรับตลาดระดับบนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ผู้นิยมนั่งเรือยอชต์
ส่วนตัวออกท่องไปตามหมู่เกาะตั้งแต่ปี 2542 บอกว่าความกลัวโจรสลัดนั้นไร้มูลเหตุ “โจรสลัดที่ไหนจะมาสนใจนักท่องเที่ยวในหมู่เกาะมะริด พวกนั้นมีแต่อยู่ช่องแคบมะละกาเพื่อมองหาเรือบรรทุกทีวีจอแบนต่างหาก”

ก่อนปี 2540 ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ย่างกรายเข้าไปในบริเวณนี้ จวบจนกระทั่งแกรมและอดัม ฟรอสต์ ผู้ให้บริการทัวร์ดำน้ำในภูเก็ตเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทหารพม่าได้สำเร็จ จึงได้มีการจัดทัวร์ดำน้ำในหมู่เกาะมะริดขึ้นเป็นครั้งแรก

     ตรงกันข้าม หลายคนคิดว่าข้อกำหนดให้มีมัคคุเทศก์และทหารติดอาวุธคอยคุ้มครองเรือนั้นมาจากความหวาดระแวงของรัฐบาลทหารเองเสียมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่ต้องคอยเขียนรายงานละเอียดยิบเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวบนเรือเพื่อส่งให้กับทางรัฐบาล

     อย่างไรก็ดี เมื่อนายพลทั้งหลายค่อยๆ ผ่อนความเป็นเผด็จการ และปล่อยตัวอองซาน ซูจีออกจากการคุมขังในปี 2554 ซูจีได้ยกเลิกคำขอของเธอที่เคยให้ชาวต่างชาติงดมาเที่ยวพม่าเพื่อคว่ำบาตรรัฐบาลทหาร ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ บรรดาคำขอวีซ่าที่เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้าแทบถูกปฏิเสธยกหีบกลายเป็นได้รับอนุมัติ ข้อบังคับเรื่องมัคคุเทศก์ก็ถูกยกเลิก การท่องเที่ยวพม่าขยายตัวอย่างพุ่งพรวด จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2556 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2555 เป็น 2 ล้านคน ก่อนจะพุ่งขึ้นไปแตะที่ 3 ล้าน และ 5 ล้านในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ

     การผ่อนผันระเบียบวีซ่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2559 ทำให้ชาวไทยไม่ต้องใช้วีซ่าเข้าพม่าอีกต่อไป และตั้งแต่เดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้เริ่มประกาศรับอีวีซ่าที่ด่านตรวจพรมแดนไทย-
พม่า 3 จุด ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี รวมไปถึงเกาะสองซึ่งเป็นประตูสู่หมู่เกาะมะริด 
อิเล็กทรอนิกวีซ่า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสงวนไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ ปัจจุบันสามารถยื่นขอได้ทางออนไลน์และใช้เวลาดำเนินการเพียง 3 วันเท่านั้น การเดินทางไปยังหมู่เกาะมะริดในวันนี้จึงง่ายพอๆ กับการไปเที่ยวภูเก็ตหรือเชียงใหม่


การเดินทาง

     เกาะหลายร้อยแห่งซึ่งเกิดจากการเรียงตัวของหินปูนและแกรนิตในหมู่เกาะมะริดนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งตอนใต้ของ
พม่าในทะเลอันดามัน โดยถูกปกคลุมด้วยป่าฝนและพืชเขตร้อนแน่นหนา หมู่เกาะนี้มีอาณาบริเวณแผ่ตั้งแต่เหนือหมู่เกาะสุรินทร์ ขึ้นไป
ทางเหนือเกือบ 400 กิโลเมตร

     “ธรรมชาติบริสุทธิ์มาก เราล่องเรือไปตามเกาะที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ แต่มีแต่ต้นไม้กับป่าชายเลน แล้วก็พวกหินหน้าตาแปลกๆ เต็ม
ไปหมด สวยสุดยอดเลย” คึนซ์เลอร์กล่าว

     นอกจากชาวประมงและชาวมอแกนผู้ใช้ชีวิตอยู่บนเรือ หมู่เกาะเหล่านี้แทบไม่มีคนอยู่อาศัย แม้แต่โครงการก่อสร้างรีสอร์ตที่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สุด ก็ยังมีจำนวนเพียงไม่กี่แห่งและแทบไม่อาจสร้างรอยด่างให้กับอาณาบริเวณอันไพศาลที่ประกอบไปด้วยเกาะกว่า 800 แห่งนี้ได้ ดูเหมือนนี่จะเป็นหนึ่งในน้อยครั้งที่คำโฆษณาของสื่อท่องเที่ยวไม่ได้เกินจริง 
หมู่เกาะมะริดถือเป็น ‘lost world’ หรือดินแดน
ที่หายสาบสูญไปอย่างชัดเจน

     ทางเบอร์มา โบ๊ตติ้งและเอเชียนเทรลส์แนะนำว่าการจะเริ่ม ‘ชิมลอง’ สำรวจหมู่เกาะอันกว้างขวางนี้ ควรใช้เวลาล่องเรือประมาณ 5-8 วัน ซึ่งในข้อเท็จจริง แทบจะเป็นระยะเวลาที่มีแต่นักนิยมไพรที่แข็งขันที่สุดเท่านั้นที่พร้อมจะอยู่จนจบ

     “ออกมามะริด คุณจะไม่ได้เจอใครเลยเป็นหลายๆ วัน มีเรือคุณอยู่ลำเดียว เหมือนกับโรบินสัน ครูโซ ซึ่งแปลว่าต้องชอบความเรียบง่ายจริงๆ ถ้าอยากแค่หาชายหาดไว้ถ่ายเซลฟี่เสร็จแล้วก็รีบกลับไปนอนตากแอร์ เกาะมะริดไม่เหมาะแน่” คึนซ์เลอร์กล่าว

     ส่วนมากแล้ว การเดินทางไปหมู่เกาะมะริดจะเริ่มต้นที่เกาะสอง เมืองเล็กๆ ของพม่าซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของปากแม่น้ำกระบุรีของระนอง (สายการบินนกแอร์ให้บริการเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ระนอง 2 เที่ยวบินต่อวัน) โดย
มีไฮไลท์เป็นหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์ของเกาะ
มะริด ตลอดจนส่ำสัตว์และพืชพรรณท้องถิ่นบนเกาะจอมปีและลัมปี

     “ปกติถ้าเราเห็นเรือลำอื่นจอดอยู่ตรงที่เราคิดไว้ว่าจะจอดค้างแรม เราก็จะเลยไปหาบริเวณอื่นๆ ผมว่านี่คือเหตุผลที่คนมาที่นี่ คืออยากอยู่ตามลำพัง ในช่วงฤดูท่องเที่ยว คืนแรกคุณอาจจะเจอเรือ 4-5 ลำที่จุดทอดสมอตรงทางเข้าออกเกาะสอง แต่พ้นจากนั้นไปก็จะมีแต่คุณคนเดียวแล้ว” อ่อง จอ เล่า

การล่องเรือที่มะริดเป็นกิจกรรมที่ตลาดค่อนข้างแคบ เพราะไม่เพียงต้องหาเพื่อนที่ยินดีจ่าย เงิน 2.5-4 แสนบาท สำหรับทริป 5 คืนให้ได้ ถึง 6-8 คน แต่เพื่อนเหล่านั้นยังต้องรับได้กับ ‘บริการระดับ 5 ดาว’ บนเรือที่มีนิยามค่อนข้างต่างกับรีสอร์ตบนบกในราคาใกล้เคียงกัน

หลีกเร้นจากเมือง

     การล่องเรือที่มะริดเป็นกิจกรรมที่ตลาดค่อนข้างแคบ เพราะไม่เพียงต้องหาเพื่อนที่ยินดีจ่ายเงิน 2.5-4 แสนบาทสำหรับทริป 5 คืนให้ได้ถึง 6-8 คน แต่เพื่อนเหล่านั้นยังต้องสามารถรับได้กับ ‘บริการระดับ 5 ดาว’ บนเรือที่มีนิยามค่อนข้างต่างกับรีสอร์ตบนบกในราคาใกล้เคียงกัน ตั้งแต่เมนูอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำกัด การอยู่โดยปราศจากเครื่องปรับอากาศทั้งวัน ไปจนกระทั่งเสียงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังหึ่งในเวลากลางคืน

     ด้วยเหตุนี้เอง นโยบายผ่อนปรนเรื่องข้ามพรมแดนของเกาะสอง จึงช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับมากกว่านักล่องเรือหลายวัน โดยปัจจุบันชาวไทยเริ่มเลือกที่จะนั่งเรือไปเกาะหัวใจมรกตแทนที่จะเป็นคาสิโน ความนิยมในหมู่เกาะมะริดนั้นล้นหลามชนิดที่ว่าราคาตั๋วเครื่องบินไประนองแบบเที่ยวเดียวของสายการบินนกแอร์ อาจพุ่งสูงถึง 6,500 บาทในช่วงสุดสัปดาห์ (แต่ถ้าวางแผนล่วงหน้าดีพอ อาจซื้อตั๋วได้ในราคาถูกแค่ 2,000 บาท)

     สุวิชาญ พลิคามินทร์ เจ้าของนามปากกา The Sixth Floor บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวชื่อดัง ยืนยันว่าหมู่เกาะมะริดกำลังเป็นกระแสมากขึ้น
เมื่อปลายปีที่แล้ว โพสต์ของเขาเกี่ยวกับหมู่เกาะแห่งนี้มีผู้อ่านถึง 1.1 ล้านครั้ง ซึ่ง
สุวิชาญบอกว่ามากกว่ายอดวิวเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่หลักพันหลักหมื่นไปไกลโข โดยโพสต์ดังกล่าวเล่าถึงทริปของบริษัททัวร์ Love Andaman ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากตลาดดีพอๆ กัน เฉพาะในงานไทยเที่ยวไทยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ยอดขายกว่า 60% ของยอดขายทั้งหมดล้วนมาจากทริปหมู่เกาะมะริดทั้งสิ้น

     สุวิชาญเล่าว่า “คนที่ตามบล็อกผมต่างก็แปลกใจที่มีแหล่งดำน้ำสวยขนาดนี้อยู่ใกล้ๆ บ้านเรา มันเหมือนสวรรค์เลย แล้วประเด็นคือยังมีเกาะคล้ายๆ กันนี้อยู่อีกตั้งหลายร้อยเกาะ ตั้งแต่เกาะหัวใจมรกตเริ่มถูกแชร์บนโซเชียล มีเดีย มันก็กลายเป็นจุดหมายยอดนิยมแห่งใหม่ของคนไทย”

     ด้วยราคา 3,900 บาท (ซึ่งรวมค่าออกหนังสือผ่านแดนไว้เรียบร้อย) เมื่อมาถึงระนอง เลิฟอันดามันจะพานักท่องเที่ยวทัวร์โฉบเกาะมังกร เกาะลอร์ดเฮฟเวน และเกาะเวสต์มินสเตอร์ 
โดยไม่มีการอ้อยอิ่ง กล่าวคือหลังออกเดินทางจากชายฝั่งระนองตอน 9 โมงเช้าและผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เรือสปีดโบ๊ตอลูมิเนียมแบบ 4 เครื่องยนต์จะพานักท่องเที่ยววิ่งฝ่าคลื่นไปถึงเกาะแรกภายใน 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่ต้องตาลีตาลานตื่นเช้ามาขึ้นเที่ยวบิน 6 โมงเช้าของนกแอร์ 
ก็คงพอดีกับเวลาดวดกาแฟเข้มๆ หรือเครื่องดื่มชูกำลังสักขวดพอดี แต่สุวิชาญก็ยังยืนยันว่าความพยายามเหล่านี้คุ้มค่าเหนื่อยแน่นอน

     “ทริปแบบวันเดียวนี่ความจริงดีมาก เพราะช่วยจำกัดปริมาณขยะและจำนวนโรงแรม 
แต่ถ้าไม่อยากเหนื่อยมาก ผมแนะนำให้ไป
นอนที่เกาะสองสักคืนก็กำลังดี”

     สำหรับผู้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอสำหรับการล่องเรือแต่อยากจะอยู่เที่ยวหลายๆ วัน 
สุวิชาญแนะนำให้ซื้อทริปดำน้ำแบบค้างคืน
บนเรือ ซึ่งสนนราคาราวๆ 30,000 บาท สำหรับ 5-7 วัน “ราคานี้ถือว่าคุ้มมาก” สุวิชาญเชียร์


ความงามอันเปราะบาง

     เกาะหลายแห่งในหมู่เกาะมะริดขาดแคลนน้ำจืด ทำให้ต่อให้เป็นผู้ประกอบการโรงแรมที่กระเหี้ยนกระหือรือที่สุดไม่ว่าจากพม่า จีน หรือไทย ก็ใช่ว่าจะปราบพื้นที่บนเกาะเพื่อสร้างแหล่งเริงรมย์แบบป่าตองได้ง่ายๆ สิ่งที่คุกคามความงามของมะริดจึงมาจากใต้น้ำเสียมากกว่า โดยสำหรับบรรดานักดำน้ำแล้ว การจับปลาด้วยระเบิดในพม่าได้ลดเสน่ห์ของเกาะลงไปเกินกว่าครึ่ง เพราะมันทำลายปะการังที่เคยปรากฏอยู่อย่างสมบูรณ์ในช่วงต้นทศวรรษไปเป็นจำนวนมาก

     “เรือประมงจะไประเบิดปลาแถวๆ ฐานทัพ 
ผมเคยโทรไปที่กองทัพขอให้ช่วยขัดขวาง แต่ตอนนั้นกองทัพก็ไม่ยอมทำอะไร พอตอนนี้มาเริ่มสั่งห้าม ความเสียหายมันก็เกิดขึ้นไปแล้ว”

     วิธีการจับปลาด้วยอวนก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามของบรรดาชีวิตในท้องทะเล โดยนักดำน้ำไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบ หากยังมีชาวมอแกน กลุ่มคนเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตอยู่บนเรือและยังชีพด้วยของทะเลในบริเวณหมู่เกาะมะริด ทั้งนี้เมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนเคยมีประชากรมอแกนอาศัยอยู่หลายพันคน 
แต่ปัจจุบันอาจเหลือเพียงไม่ถึงพัน

     “คนพวกนี้ใสซื่อมาก พวกเขาเอาอาหารทะเลมาให้พวกเราที่เรือ โดยที่เราจะให้ข้าวให้น้ำเป็นสินน้ำใจ แม้พวกเขาจะไม่ได้เรียกร้องสิ่งตอบแทน อีกสัก 20 ปีคนพวกนี้คงไม่เหลือแล้ว” อ่อง จอ กล่าว

ต่อให้เป็นผู้ประกอบการโรงแรมที่กระเหี้ยนกระหือรือที่สุดไม่ว่าจาก พม่า จีน หรือไทย ก็ใช่ว่าจะปราบพื้นที่บนเกาะเพื่อสร้างแหล่งเริงรมย์แบบป่าตองได้ง่ายๆ สิ่งที่คุกคามความงามของมะริดจึงมาจากใต้น้ำเสียมากกว่า

     กระนั้น อ่อง จอ ก็เล่าถึงการจัดตั้งหน่วยยามชายฝั่งซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีมาตรการอนุรักษ์เกิดขึ้นจริงจัง ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศแต่งตั้งให้เกาะลัมปีเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2539 ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในหมู่เกาะมะริด และสำหรับบล็อกเกอร์อย่างสุวิชาญ เขาคิดว่าอย่างไรเสีย
หมู่เกาะมะริดก็ยังคงสภาพสมบูรณ์กว่าเกาะน้อยใหญ่ในไทย โดยเล่าว่า “ผมดำน้ำมาเกือบทั่วไทยแล้วแต่ผมว่ายังสู้ที่นี่ไม่ได้เลย แนวปะการังที่นี่เหมือนกับที่เกาะสุรินทร์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสมัยก่อนที่จะเกิดปะการังฟอกขาว ยิ่งแนวปะการังที่เกาะเวสต์มินสเตอร์มีขนาดใหญ่มาก กินพื้นที่ยาวกว่าร้อยเมตร เหมือนกับป่าปะการังเลย ที่นี่ผมเจอดอกไม้ทะเลที่หาได้ยากในไทย ทั้งสีแดง น้ำเงิน แถมยังมีปลาการ์ตูนเป็นพันๆ ตัว ทั้งหมดนี้เห็นได้จากการดำน้ำแบบ
สน๊อกเกิลลึกแค่เมตรสองเมตรเอง”

     สุดท้ายนี้ หมู่เกาะมะริดอาจเริ่มปรากฏอยู่ใน
สเตตัสเฟสบุ๊กเชิญชวนจำพวก ‘สถานที่ที่ต้องไปก่อนจะสาย’ เป็นที่เรียบร้อย กระนั้น ในปัจจุบัน ต้องถือว่าหมู่เกาะแห่งนี้ยังคงเสน่ห์และความบริสุทธ์ไว้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากไม่เกี่ยงที่จะละทิ้งความสะดวกสบายไปบ้าง นักบุกเบิกผู้ได้มาชมความงามของป่าเขียวขจีซึ่งลอยอยู่บนผืนน้ำสีเทอร์ควอยส์แห่งนี้ 
ย่อมจะได้กลับบ้านไปพร้อมกับสเตตัสเชิญชวนเท่ๆ ในแบบของตัวเองแน่นอน

Essentials


Asian Trails

161/1 เอสจี ทาวเวอร์
ซอยมหาดเล็กหลวง 3
ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
โทร. 02-626-2000
www.asiantrails.travel/thailand

Burma Boating

โทร. 02-107-0445
www.burmaboating.com

Love Andaman

9/244 ซอยศักดิเดช 1
ถนนศักดิเดช ภูเก็ต
โทร. 076-390-250 ,
081-999-8844
www.loveandaman.com