SECTION
ABOUTLIVING SPACE
In Their Names
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยจำนวนหนึ่งได้รับการยอมรับในต่างแดน เพราะการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์และความใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่ต้องการไปพ้นจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้แบรนด์นอก
บทความข่าวของ CNN เมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับ
งานแสดงผลงานศิลปะนานาชาติ Art Stage Singapore ซึ่งมีผู้เข้าชมถึง 450,000 คนนั้น
เริ่มด้วยการบรรยายถึงผลงานของศิลปินอานนท์ ไพโรจน์ว่าเป็น “ผืนผ้าใบติดแมลงสาบปลอมยั้วเยี้ย” แต่อานนท์ ไพโรจน์ไม่ได้เป็นแค่เพียงศิลปิน เขาสำเร็จการศึกษาในสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและสถาปัตยกรรม ก่อนจะกลายมาเป็นที่สนใจของสื่อนานาชาติจากชิ้นงานออกแบบเชิงแนวคิด (conceptual art) ที่ทลายเส้นกั้นระหว่างของใช้กับงานศิลปะ และปัจจุบัน เขากำลังร่วมงานกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เพื่อทำโครงการเสาะหานักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรง จนเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบผู้อาจช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยให้เข้มแข็งอีกครั้ง
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการออกแบบและนักออกแบบนั้น ถือเป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการรับจ้างผลิตตามคำสั่งผลิตหรือ OEM ของโรงงานไทยในยุคก่อน แต่เนื่องจากแรงกดดันเรื่องค่าแรงที่สูงขึ้น แบรนด์อย่าง Deesawat หรือ Kenkoon จำเป็นต้องผันตัวเองขึ้นเป็นผู้สร้างแบรนด์และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับนักออกแบบเปี่ยมความเป็นศิลปินอย่างอานนท์ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทำได้สำเร็จ พวกเขาก็ได้กลายเป็นแบบอย่างชั้นดีให้กับผู้ผลิตที่แสวงหาความอยู่รอดในยุคหลัง OEM
ล้มลุกคลุกคลาน
ในขณะที่ไทยถือเป็นขาใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวคือ
เมื่อก่อนอุทกภัยปี 2554 กว่า 60% ของ
ฮาร์ดไดรฟ์ที่ผลิตทั่วโลกนั้นมาจากประเทศไทย แต่เมื่อเหลียวมาดูอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ประเทศไทยกลับเป็นเพียงผู้ส่งออกอันดับ 9
ของเอเชีย ด้วยมูลค่าการส่งออกราวๆ 4.2 หมื่น
ล้านบาท เทียบกับที่ 1 และ 2 ของภูมิภาคอย่างจีนและเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกถึง 3.49 แสนล้านบาทและ 2.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ กระนั้น แม้จะไม่ใหญ่ แต่เฟอร์นิเจอร์ไทยกลับมีความสามารถโดดเด่นในการสร้างแบรนด์ออกไปต่างประเทศได้ สังเกตได้จากแบรนด์อย่าง Corner 43 และ Yothaka ซึ่งกลายเป็น
ขาประจำตามงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ ในกรุงปารีสและมิลาน เช่นเดียวกับอานนท์ ไพโรจน์
ดีไซน์เนอร์มือฉมัง
เบื้องหลังความสำเร็จนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะคนไทยมีหัวทางด้านศิลปะเหมือนที่ชอบอ้างๆ กัน เห็นได้จากที่อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยก็ยังไม่สามารถปักธงในฝรั่งเศสหรืออิตาลีได้ในลักษณะเดียวกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แท้จริงแล้ว ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม่อาจเพียงสร้างสรรค์ของหน้าตาดี หากยังต้องรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขของตลาดในต่างประเทศอีกด้วย
ไม่มีใครจะบอกเล่าถึงเส้นทางอุตสาห-
กรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยได้ดีไปกว่าจิรชัย
ตั้งกิจงามวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดด้านการวิจัยและพัฒนาแห่งบริษัทอุตสาหกรรม
ดีสวัสดิ์ ปู่ของจิรชัยเป็นพ่อค้าไม้สักในพม่า
ในปี 2515 ครอบครัวของเขาได้เข้าซื้อโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติจีนในสิงคโปร์ และย้ายกิจการทั้งหมดมาไว้ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ โรงงานดังกล่าวมีพนักงาน 400 คนและแปรรูปไม้สักแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการอบไม้ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย
“เราเริ่มจากเฟอร์นิเจอร์แบบจีน” จิรชัยกล่าว แต่เมื่อมีการออกกฎหมายห้ามตัดไม้พะยูง
ดีสวัสดิ์จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและหันมาใช้ไม้สักแทน ซึ่งในตอนนี้จิรชัยกลับเห็นเป็นเรื่องดี “ไม้สักมันทำอะไรได้เยอะกว่า แล้วก็โมเดิร์น
กว่า” ไม้สักเป็นที่ต้องการมากกว่าในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ดินแดนของแบรนด์ใหญ่น้อยซึ่งเคยว่าจ้างดีสวัสดิ์ผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบ OEM ให้มาแล้วนักต่อนัก
แม้จะไม่ใหญ่ แต่เฟอร์นิเจอร์ไทยกลับมีความสามารถโดดเด่นในการสร้างแบรนด์ออกไปต่างประเทศได้ สังเกตได้ จากแบรนด์อย่าง Corner 43 และ Yothaka
ดังเช่นที่สิงคโปร์ได้เคยเดินทางมาถึงจุดที่ค่าแรงสูงจนอุตสาหกรรมการผลิตไม่อาจแข่งขันราคาได้อีกต่อไป ในที่สุดประเทศไทยก็จะต้องเผชิญกับสถานการณ์คล้ายๆ กัน ค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้ผู้รับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์หลายรายต้องเปลี่ยนมาสร้างแบรนด์ของตัวเองตีตลาดในประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ทยอยปิดกิจการลง ดีสวัสดิ์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงค่อยๆ คืบคลานเข้ามาเมื่อ 10 ปีก่อนและได้ทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมา
“โชคดีที่เราเป็นบริษัทเล็ก ถ้าคุณเป็นโรงงานใหญ่ การกระโดดจาก OEM มาทำแบรนด์ของตัวเองเป็นอะไรที่ยากมาก” จิรชัยกล่าว
จริงอยู่ที่ดีสวัสดิ์ยังคงรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ แต่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พวกเขาก็เดินทางไปเข้าร่วมงานมหกรรมเฟอร์นิเจอร์ Salone del Mobile ที่กรุงมิลานอยู่ตลอดเพื่อสร้างชื่อ
โดยการหันมาเน้นดีไซน์ของตัวเอง ได้นำดีสวัสดิ์ไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องเรือนในแบบที่จดจำได้ เช่น โต๊ะไม้สักที่ต่อเข้ากับแท่งเหล็กอย่างแนบเนียน โดยภาพลักษณ์ความเป็นเมืองร้อนของประเทศไทยก็ช่วยเสริมแบรนด์เป็นอย่างดี
เพราะชาวต่างชาติมองว่าถ้าเก้าอี้เอนตัวหนึ่งสามารถทนอากาศร้อน 44 องศาเซลเซียสบวกกับความชื้นสัมพัทธ์ 100 % ของประเทศไทยได้ การนำมาใช้วางกลางแจ้งในฤดูร้อนของนิวยอร์กหรือลอนดอนก็ย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยหลายราย อาทิ เคนคูน เพลโต โยธกา และคอร์เนอร์ 43 ก็ดึงเอาส่วนนี้มาเป็นจุดขายและเน้นผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้งานนอกบ้านเช่นกัน
“ผมมองเห็นสัญญาณแห่งความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ของเรา ที่ญี่ปุ่นมีคนขายเก้าอี้ดีสวัสดิ์มือสองลงในเว็บ เขาไม่ได้เขียนว่ามันเป็น ‘เก้าอี้สนามทำจากไม้สัก’ แต่เรียกเลยว่านี่คือ ‘เก้าอี้ดีสวัสดิ์’” จิรชัยบรรยายถึงเส้นทางการพยายามสร้างแบรนด์ของเขา
แต่ในขณะที่ดีสวัสดิ์ได้รับการยกย่องจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่าเป็นแบบอย่างให้กับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายอื่นๆ จิรชัยกลับเตือนว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม “มีหลายโรงงานคิดว่าแค่จ้างกราฟิกดีไซน์เนอร์มาก็สร้างแบรนด์ได้ แต่ความจริงมันยากกว่านั้นและไม่ได้เกิดในปีสองปี
ผมต้องเดินสายออกแสดงผลงาน ต้องทำงาน
ใกล้ชิดกับดีไซน์เนอร์ ไม่ใช่แค่ทุ่มเงินแล้วก็จบ”
กาลเวลาที่เปลี่ยนไป
โยธกาเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงขจรขจายในฐานะแบรนด์ที่ใส่ใจกับการออกแบบอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ภายใต้การนำของสุวรรณ คงขุนเทียน โยธกามีความต่างจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อื่นตรงที่มีผู้นำองค์กรเป็น
นักออกแบบมากกว่านักอุตสาหกรรมและตรง
ที่โยธกาสามารถเล็งเห็นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ถึงทิศทางการให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมของตลาดในสหรัฐฯ และยุโรป ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยอาจพากันขายภาพลักษณ์ตัวเองในฐานะแบรนด์ ‘สีเขียว’ ที่ใช้วัตถุดิบจำพวกผักตบชวา เส้นใยสัปปะรด
ต้นยางพารา และหวายเทียมกันเกือบทั้งสิ้น
แต่โยธกานั้นคือผู้บุกเบิกก่อนใคร
สุวรรณเติบโตขึ้นในเชียงใหม่ก่อนย้ายไปเป็นดีไซน์เนอร์ประจำอยู่สิงคโปร์ในปี 2523 จนถึง 2532 แต่ด้วยความคิดถึงบ้านเกิด เขาจึงย้ายกลับมาที่ไทยและเริ่มออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากผักตบชวา วัชพืชน้ำที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้การเก็บผักตบชวานอกจากจะแทบไม่ต้องลงทุนสักบาทแล้ว (ถ้าไม่นับค่าแรง) ยังเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำลำคลองด้วย
“เราโชคดีมาก ช่วงปีแรกๆ ยอมรับว่าลำบากอยู่พอตัว แต่จู่ๆ มันก็บูมขึ้นมา เมื่อ 20 ปีก่อนฝรั่งบ้าเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก มีอยู่ช่วงหนึ่ง
เราต้องเก็บผักตบชวากันประมาณ 5 แสนเมตรต่อปี” สุวรรณกล่าว
ในปี 2546 และ 2547 โยธกาชนะรางวัล G-Mark Award อันทรงเกียรติจากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ผลงานการออกแบบของสุวรรณ ซึ่งบอกเล่าวิถีแบบตะวันออกและการใช้ชีวิตกลางแจ้ง แต่เมื่อราวๆ ปี 2553 กระแสของตลาดกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สุวรรณเริ่มตระเวนจัดแสดงผลงานในกรุงมิลานและปารีส โดยไม่น่าเชื่อว่า การไปงานเหล่านี้นี่เองที่ทำให้โยธกาอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
“เดี๋ยวนี้เราเลิกใช้ผักตบชวาแล้ว เรายังใช้เทคนิคเดิมอยู่ แต่เปลี่ยนไปทำเฟอร์นิเจอร์
กลางแจ้งจากพอลิเอทิลีนแทน (พลาสติกสังเคราะห์ประเภทหนึ่ง) โชคดีที่เราไหวตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนตลาดจะเจ๊ง ไม่มีใครบอกหรอกว่ามันจะเกิด คุณต้องอ่านพวกนิตยสารแล้วก็คอยสังเกตเทรนด์ตามงานต่างๆ”
นอกจากผักตบชวาจะเสื่อมความนิยมแล้ว จิรชัยแห่งดีสวัสดิ์ และอานนท์ ไพโรจน์ยังชี้ให้เห็นถึงความตกต่ำของตลาดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในยุโรปนั้นซบเซา ในขณะที่จุดขายของเฟอร์นิเจอร์ไทยอย่างดีไซน์ที่สวยและความเป็นมิตรต่อ
สิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเสน่ห์อีกต่อไป
“เราเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้ในแง่การตลาดไม่ได้ มันกลายเป็นมาตรฐาน พวกใบรับรอง
ต่างๆ ที่เรามีเราเอามันมาโฆษณาไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นสิ่งพื้นฐาน” จิรชัยกล่าว อานนท์ ไพโรจน์ยังเสริมด้วยว่าแม้กระทั่งคุณภาพการผลิตที่เหนือกว่า ก็ไม่ได้เป็นจุดที่สร้างความแตกต่างแล้วเช่นกัน
“ตอนนี้จีนมีสินค้าทุกเกรดตั้งแต่งานคุณภาพไปจนงานโหล จีนไม่ได้ผลิตแต่ของห่วยๆ แล้ว ตอนนี้จีนมีผู้ผลิตรายใหญ่เยอะ ทำให้เขาลงทุนด้านเทคโนโลยีได้มาก จีนใช้เครื่องจักรเหมือนที่ยุโรปและวัตถุดิบแบบเดียวกับอิตาลี ตอนนี้จีนจึงมีสินค้าที่คุณภาพดีกว่า โดยที่ราคาและค่าขนส่งถูกกว่าที่อื่น”
ที่ญี่ปุ่นมีคนขายเก้าอี้ดีสวัสดิ์มือสองลงในเว็บ
เขาไม่ได้เขียนว่ามันเป็น ‘เก้าอี้สนามทำจากไม้สัก’
แต่เรียกเลยว่านี่คือ ‘เก้าอี้ดีสวัสดิ์’
ความสัมพันธ์อันซับซ้อน
ในความเห็นของหม่อมหลวงคฑาทอง
ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ การสร้างความร่วมมือระหว่างนักออกแบบและผู้ผลิตคือหัวใจของการผลักดันอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยให้พ้นจากธุรกิจ OEM ไปสู่การสร้างแบรนด์ของตนเอง และการช่วยให้แบรนด์เหล่านั้นอยู่รอดได้อย่างเข้มแข็ง
“งานเราคือเป็นตัวกลาง เพราะหนทางที่พวกเขาต้องเดินร่วมกันมันยาวมาก เราเลยพยายามลดความเสี่ยงสำหรับทั้งสองฝ่ายให้น้อยที่สุดและคอยจับมือให้พวกเขาเดินกันไป อย่าลืมว่ามันมีความวนเวียนของมันอยู่ ผู้ผลิตก็จะบ่นว่า
นักออกแบบไม่เข้าใจความเป็นจริงของงาน
แล้วพอนักออกแบบไม่ได้งาน เขาก็ไม่รู้ความ
เป็นจริงที่ว่าเสียที” หม่อมหลวงคฑาทองกล่าว
จิรชัยแห่งดีสวัสดิ์ สุวรรณแห่งโยธกา และอานนท์ ต่างเห็นพ้องกันว่านักออกแบบไทยขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการตลาดและกระบวนการผลิต “ช่วงหลังๆ มานี้ จะเห็นว่างานออกแบบของไทยมีอิทธิพลจากสแกนดิเนเวีย
อยู่เยอะมาก เราจึงไม่ได้โดดเด่นจากคนอื่น
เวลาคนมองหาเฟอร์นิเจอร์ไทย จะพบว่าเราไม่มีอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่ชัดเจนอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลี แล้วถามว่างานของนักออกแบบไทยถูกกว่าคนอื่นไหม ถ้าไม่ ก็ต้องถามว่าแล้วเรากะจะขายอะไร คุณค่ามันอยู่ตรงไหน ในเมื่อดีไซน์ก็
เหมือนๆ คนอื่น” อานนท์กล่าว
หม่อมหลวงคฑาทองอธิบายว่าความไม่ลง
รอยระหว่างนักออกแบบและผู้ผลิต ทำให้ประเทศ
ไทยพัฒนาระบบหุ้นส่วนขึ้นมา แทนที่ผู้ผลิตจะว่าจ้างดีไซน์เนอร์ตรงๆ ทั้งสองฝ่ายอาจจับมือกันออกคอลเลกชันและแบ่งกำไรกัน อย่างคอร์เนอร์
43 นั้นร่วมงานกับดีไซน์เนอร์มาแล้วหลายราย ไม่ว่าจิตริน จินตปรีชา อภิรัฐ บุญเรืองถาวร หรือถิรวัฒน์ คุณวุฒิฤทธิรณ และออกใหม่ทุกๆ ปีไม่ต่างจากพวกแบรนด์แฟชั่น แล้วงานออกแบบเหล่านี้ก็ไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลสแกนดิเนเวียนเสียด้วย อย่างงานของจิตรินซึ่งใช้หวายเป็นวัตถุดิบหลักนั้น แม้มีทรวดทรงคมคายโมเดิร์น แต่ก็สื่อถึงความเป็นเมืองร้อนและวิถีแห่ง
ตะวันออกได้เป็นอย่างดี
“เราเคยร่วมงานกับดีไซน์เนอร์ชาวญี่ปุ่น อิตาเลียน และไทยมาแล้ว เราอยากเอานักออกแบบรุ่นใหม่และมืออาชีพมาไว้ในที่เดียวกัน ไม่อย่างนั้นไม่สนุก ดีไซน์เนอร์ไทยมีหัวสร้างสรรค์ แต่อาจจะอ่อนความรู้เรื่องโครงสร้างและมาร์เก็ตติ้ง นี่คือเหตุผลที่เรารับเด็กมาฝึกงานที่โรงงานตลอดและร่วมงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” จิรชัยแห่งดีสวัสดิ์กล่าว
อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสุดท้ายย่อมไม่อาจอยู่ได้
ด้วยเพียงการตามกระแสต่างประเทศแบบอืดอาด ที่กว่าจะ
เห็นและเริ่มลงมือผลิตตามได้กระแสก็พ้นสมัยไปแล้ว
แต่อานนท์ ชี้ว่านักออกแบบไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเอง อันที่จริง เขาเองมีความคับข้องใจอยู่หลายข้อ ตั้งแต่การที่ผู้ผลิตไม่เห็นนักออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของทีม การรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (TISI) ของไทยไม่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ความล่าช้าของหน่วยงานราชการต่างๆ (ซึ่งเปิดช่องให้เกิดคอร์รัปชัน) และการขาดแคลนเทคโนโลยีที่เข้าขั้นวิกฤติ
หม่อมหลวงคฑาทองยอมรับว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในตอนนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงบรรเทาความเสียหาย มากกว่าจะเป็นการก้าวนำตลาดใดๆ แต่เขาก็เน้นย้ำว่าสำหรับแบรนด์ที่ปรับตัวได้มากกว่าเพื่อนอย่างโยธกาและดีสวัสดิ์นั้น ก็ได้ประสบความสำเร็จจากการผันตัวเองไปรับงานจากบรรดาโครงการที่อยู่อาศัยและโรงแรมต่างๆ ไปแล้วเช่นกัน โดยแทนที่โรงแรมเหล่านี้จะซื้อหาเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกจากต่างประเทศ พวกเขาได้มองเห็นคุณค่าของการร่วมมือกับนักออกแบบท้องถิ่นซึ่งไม่เพียงจะสามารถออกแบบที่ตอบโจทย์เฉพาะของสถานที่ได้ แต่ยังจะคอยดูแลเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นต่อเนื่องไปได้ในระยะยาวอีกด้วย
ความมุ่งมั่นของแบรนด์ที่พยายามสร้างความสำเร็จในพื้นที่ใหม่ๆ นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบที่ลงตัวระหว่างความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจตลาด และในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตของไทยสุดท้ายย่อมไม่อาจอยู่ได้ด้วยเพียงการตามกระแสต่างประเทศแบบอืดอาด ที่กว่าจะเห็นและเริ่มลงมือผลิตตามได้กระแสก็พ้นสมัยไปแล้ว
ตรงกันข้าม การจะอยู่รอดได้หมายความว่าธุรกิจต้องรู้ที่จะยืดหยุ่น มีความคิดริเริ่ม และอ่านรสนิยมตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น ■
Essentials
■
Anon Pairot Design Studio
■
Corner 43
61/2 ซอยสุขุมวิท 53 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-261-2528
www.corner43.com
■
Deesawat
71/9 ซอยเคแอลเอ็ม
ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โทร. 02-521-1341
www.deesawat.com
■
Yothaka
1028/5 ชั้น 3 อาคารพงษ์อมร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ
โทร. 02-679-8631-2
www.yothaka.com