HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Gaining Independence


หนังนอกกระแสของไทยกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วทั่วโลก ต่างกับกระแสตอบรับในบ้านเกิดอยู่มากนัก

     เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์อิสระขึ้นในใจกลางกรุง เบื้องหลังประตูทะมึนขึงขังในซอยบนถนนสีลมคือที่ตั้งของ Bangkok Screening Room โรงภาพยนตร์ขนาด 50 ที่นั่ง ซึ่งให้ความสบายทัดเทียมโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ กระนั้น ในคืนแรกที่เปิดตัว กลับมีผู้ชมเพียง 7 คนเท่านั้นที่เข้ามาชม ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2553

     ด้วยศักดิ์ศรีของรางวัลสูงสุดในอาชีพคนทำหนัง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ย่อมเป็นเสมือนผู้นำทัพของวงการหนังอิสระของไทยที่คู่ควรทุกประการสำหรับใช้เปิดตัวโรงภาพยนตร์แห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้ชมในคืนเปิดตัวที่นับได้ถ้วนด้วยนิ้วมือ ก็สะท้อนชัดถึงการตอบรับหนังนอกกระแสภายในประเทศที่ยังห่างกันไกลกับนานาชาติ


บ้านนี้ไม่มีรัก

     ตามข้อมูลของ Box Office Mojo ของเว็บไซต์ IMDb เมื่อเข้าฉายครั้งแรกในไทย 
‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ทำรายได้สุทธิเพียง 
1.1 ล้านบาท ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับ ‘ไอฟาย..
แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้’ หนังโรแมนติกคอมเมดี้ปี 2557 ของค่าย GTH ที่แค่วันแรกที่เข้าฉายก็ทำรายได้แซง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ไปเกือบ 30 เท่า หนังของค่ายจีทีเอชนี้อาจได้เสียงตอบรับเพียงพอประมาณในงานเทศกาลภาพยนตร์ Osaka Asian Film Festival แต่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ถึง 10 สาขา ในขณะที่ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ที่ตระเวนคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โตรอนโต และดูไบ กลับได้รับเพียงหนึ่งรางวัลในบ้านเกิด กล่าวคือรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม

     และเรื่องทำนองนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะแต่กับ
อภิชาติพงศ์ ผู้กำกับไทยหลายคนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เช่นหนังเรื่อง ‘ดาวคะนอง’ ของอโนชา สุวิชากรพงศ์ ซึ่งบอกเล่าความรู้สึกของผู้คนในอดีตต่อเหตุการณ์ 
6 ตุลา ได้รับเลือกเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และได้รับคำชมจากนิตยสาร Slant ว่า “คลี่คลายเรื่องราวได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วยจังหวะจะโคนละเมียดละไม” ในงานเทศกาลภาพยนตร์ร็อตเตอร์ดัมเมื่อต้นปี 2559  ‘มหาสมุทรและสุสาน’ ของพิมพกา โตวิระ 
ที่ได้ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์มาร่วมเขียนบท ก็ได้รับคำยกย่องจาก The Hollywood Reporter ว่า “แหวกขนบอย่างมีศิลปะ” ในขณะที่ ‘โรงแรมต่างดาว’ (Motel Mist) ผลงานกำกับเรื่องแรกของนักเขียนรางวัลซีไรต์ ปราบดา หยุ่น ได้รับคำสรรเสริญจากโปรดิวเซอร์ชาวดัตช์ บีโร 
ไบเยอร์ในการฉายรอบปฐมทัศน์ที่ร็อตเตอร์ดัมในปีนี้ ยิ่งกว่านั้น ย้อนกลับมาที่อภิชาติพงศ์ หนังของเขาได้ติดอันดับในโพลภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ของ BBC จากเสียงโหวตของนักวิจารณ์หนังอาชีพเป็นจำนวนถึง 
3 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ชนะผู้กำกับคนอื่นๆ ในโพลนี้ทั้งหมด

     อย่างไรก็ตาม คำชมอื้ออึงเหล่านี้เทียบ
ไม่ได้เลยกับความเงียบสงัดที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ยิ่งกว่านั้น ในปี 2550 ลัดดา ตั้งสุภาชัย 
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น ยังได้กล่าวประโยคที่ได้กลายมาเป็นดราม่าในวงการภาพยนตร์อิสระของประเทศ เมื่อเธอให้
เหตุผลสำหรับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง 
‘แสงศตวรรษ’ ของอภิชาติพงศ์ว่า “ไม่มีใครไปดูหนังของอภิชาติพงศ์หรอก คนไทยชอบดูหนังตลก เราชอบเสียงหัวเราะ”

     ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เชื่อว่าทัศนคติของคนเริ่มเปลี่ยนไป แม้อาจจะเพียงในระดับเล็กๆ “คนอาจจะยังกลัวคำว่า ‘หนังอาร์ต’ อยู่บ้าง แต่คนที่อยากลองอะไรใหม่ๆ ก็มีมากขึ้น อย่าลืมว่าพวกหนังอินดี้ หนังอาร์ต ปกติก็มีคนดูน้อยกว่าหนังทั่วไปอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ในไทย ที่ฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออเมริกาเองก็เป็น ความแพร่หลายของโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์ที่ใช้กันทั่วโลกเดี๋ยวนี้ทำให้เหลือหนังอยู่ไม่กี่ประเภท และทำให้คนมีรสนิยมไปในทิศทางเดียวกันหมด”

     อย่างไรก็ดี ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัล
ซีไรต์ปี 2547 จากหนังสือ ‘ความน่าจะเป็น’ 
ผู้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ หลังบทภาพยนตร์เรื่อง ‘โรงแรมต่างดาว’ ที่เขาเขียนได้รับทุนสร้างจากทรูวิชั่น มองว่าปัญหาไม่ได้มีแค่เรื่องหนังนอกกระแสแพ้หนังในกระแส แต่มันคือความไม่สมดุลของตลาดในไทยกับต่างประเทศด้วย “ต่อให้เกิดมีหนังอินดี้ที่ได้รับการตอบรับดีในเมืองนอกขึ้นมา แต่พอเข้าเมืองไทยอาจจะ
แป้กอีกก็เป็นได้”

     ข้อเท็จจริงที่ว่าหนังของเขาถูกทรูวิชั่นสั่งถอดจากโปรแกรมฉายเพียงคืนเดียวหลังจากที่เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยิ่งตอกยํ้าถึงความท้าทายที่บรรดาคนทำหนังอิสระต้องเผชิญ

‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ที่ตระเวนคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โตรอนโต และดูไบ กลับได้รับเพียงหนึ่งรางวัลในบ้านเกิด กล่าวคือรางวัลบันทึกเสียงยอดเยี่ยม

ประกาศอิสรภาพ

     ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งเดียวที่คนทำหนัง ‘อิสระ’ ต่างจากผู้กำกับหนังประเภทอื่นๆ คือการระดมทุนสร้างหนังเองแทนที่จะรับเงินจากค่ายหนังใหญ่ อย่างไรก็ตาม นานเข้าคำว่าหนังอิสระหรืออินดี้ก็เริ่มมีความหมายมากกว่านั้น เช่นคนเริ่มรู้สึกว่าถ้าเป็นหนังอินดี้ อย่างน้อยๆ ก็ต้องเล่นประเด็นยาก หรือถ่ายทอดเรื่องที่ค่ายใหญ่มองข้าม หรือถ่ายทำแบบผิดจากกรอบการทำหนังปกติ หรือทุกข้อที่กล่าวมา

     ก้องอธิบายว่า “คนทำหนังนอกกระแสไม่ถูกตีกรอบโดยตลาด ทำให้สามารถเลือกประเด็นและวิธีการนำเสนอได้ตามสุนทรีย์
ส่วนตน ซึ่งสำหรับในบ้านเรา คนทำหนังอิสระ
ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องสังคมและการเมืองมากกว่าพวกหนังค่ายใหญ่ ที่แทบจะเรียกได้
ว่าอยู่แต่ในโลกความฝัน”

     ก้องไม่ได้เป็นแค่นักวิจารณ์เท่านั้น เมื่อ
ไม่นานมากนี้ เขามีผลงานเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกเรื่อง ‘มหาสมุทรและสุสาน’ ร่วมกับ
นักทำหนังมากประสบการณ์อย่างพิมผกา 
โตวิระ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตามการเดินทางตามหาป้าของพี่สาวน้องชายชาวมุสลิมกับเพื่อนอีกคนไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ในภาคใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในปี 2553 ทั้งนี้ ตัวหนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. มีจังหวะการดำเนินเรื่องเนิบๆ ชวนให้คิดตาม และใช้ความวุ่นวายในสังคมที่มองไม่เห็น ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฉากหลัง

     “หนังอินดี้เปิดโอกาสให้คนทำหนังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้มากกว่า หนังนำเสนอประเด็นที่ค่ายหนังใหญ่ๆ ไม่สนใจ เพราะค่ายใหญ่จะชอบทำหนังตามสูตร” พิมผกา กล่าว

     อภิชาติพงศ์ยังเน้นถึงข้อดีของการทำหนังนอกกระแสอีกอย่าง คือเวลาทำหนังสักเรื่อง เขาทำเพื่อความพอใจส่วนบุคคล ไม่ใช่เพื่อ
คนดู “ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนดู ผมต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่าผมชอบหนังแนวนี้ ผมไม่เชื่อในการทำหนังเพื่อส่วนรวม ผมเชื่อว่าคนทำหนังต้องทำเพื่อตัวเอง ทำอะไรที่เขาเชื่อจริงๆ แล้วหนังจะให้คุณค่าในตัวมันเองเพราะผู้กำกับไม่ต้องกรองอะไรทิ้งไป” เขากล่าว

     แน่นอน สำหรับคนที่ต้องหาตัวเลขงามๆ มาประดับบ็อกซ์ออฟฟิศ ความทะเยอะทะยานในการสร้างงานศิลป์เช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย ดังที่สุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาดของโรงภาพยนตร์เอสเอฟ 
ซึ่งเป็นเครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย ด้วยโรงภาพยนตร์กว่า 200 โรงทั่วประเทศ กล่าวว่า “เวลาคนไทยดูหนัง เขาต้องการบทสรุปในตอนจบ ไม่ชอบมีอะไรค้างคา ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังนอกกระแสไม่ชอบเลย”


เวลาคนไทยดูหนังเขาต้องการบทสรุปในตอนจบ ไม่ชอบมีอะไรค้างคา ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังนอกกระแสไม่ชอบเลย

ตระเวนหาโรงฉาย

     สุวรรณีกล่าวว่าการที่หนังไทยอิสระจะขึ้นอันดับบ็อกซ์ออฟฟิศนั้นเป็นไปได้ยาก ภาพยนตร์เรื่อง ‘ฝนตกขึ้นฟ้า’ ของเป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งเป็นหนังไทยนอกกระแสที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่เธอนึกออก ก็ทำเงินได้เพียงประมาณ 10 ล้านบาทหลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 10 แห่ง

     เธอยังยกตัวอย่างหนังค่ายจีทีเอชอย่าง 
‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ของผู้กำกับนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เข้าฉายในปี 2558 ในฐานะหนังนอกกระแสทำเงิน ทั้งนี้ 
จีทีเอชนับเป็นค่ายหนังเดียวในไทยที่ในบางแง่พอจะเอามาเทียบกับสตูดิโอของสหรัฐฯ ที่ทำกำไรจากหนังนอกกระแสอย่าง Miramax หรือ Lionsgate ได้ เพราะมีศักยภาพในการสร้างหนังทำเงินซึ่งในขณะเดียวกันยังพอมีมิติทางศิลปะบ้าง แต่จีทีเอชได้ตัดสินใจยุบกิจการในช่วงปลายปี 2558 ท่ามกลางกระแสข่าวว่า 
ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ถือหุ้น 30% ต้องการให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 
ในขณะที่หับโห้หิ้น บริษัทผู้ก่อตั้งจีทีเอชนั้นปฏิเสธไม่ยอมทำตาม เพราะกลัวจะกระทบกับความคิดสร้างสรรค์และมาตรฐานของค่าย 
จนในที่สุดจีทีเอชก็ตัดสินใจเลิกดำเนินกิจการ ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในชื่อ GDH 559 ซึ่งปล่อยภาพยนตร์ ‘แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว’ ออกมาเป็นการประเดิม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

     แม้การฉายหนังนอกกระแสจะได้กำไรน้อย แต่โรงภาพยนตร์ในเครือเอสเอฟก็ให้การสนับสนุนผู้กำกับไทยอยู่บ้าง อย่างเช่นการกันรอบฉายที่ SF World Cinema ที่เซ็นทรัลเวิลด์ไว้หนึ่งโรงเพื่อฉายหนังอินดี้ “โชคดีที่เอสเอฟเวิลด์มีโรงหนังอยู่หลายโรง เราเลยมีที่สำหรับแบ่งให้หนังอินดี้ได้โดยไม่ต้องลังเล” สุวรรณีอธิบาย

     Vanishing Point ของผู้กำกับจักรวาล นิลธำรงค์ ซึ่งคว้ารางวัล 3 สาขาในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัมปี 2558 เป็นหนึ่งในหนังอินดี้ที่ได้ฉายที่เอสเอฟเวิลด์ แต่จักรวาลเล่าว่าโมเดลนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน

     “เอสเอฟอาจจะสนับสนุนเรามากกว่าที่อื่น แต่ที่นี่มีโรงหนังใหญ่ๆ อยู่แค่ 2 เครือ คือ
เอสเอฟกับเมเจอร์ ถ้าหนังคุณฉายกับเครือหนึ่ง คุณจะไปฉายกับอีกที่ไม่ได้ และแต่ละเครือก็อยากให้เป็น exclusive และฉายเฉพาะที่โรงของตัวเองเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย และเป็นปัญหาที่ผมเจอกับ Vanishing Point 
เอสเอฟไม่ให้ผมฉายที่เฮ้าส์ อาร์ซีเอด้วยซ้ำ 
ซึ่งเฮ้าส์ไม่พอใจมาก ไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นโรงหนังชั้นสอง”

     ก่อนการเปิดตัวของแบงค็อก สกรีนนิ่ง รูม
หนังค่ายเล็กนั้นมีโรงฉายแค่ที่สกาล่าและเฮ้าส์ อาร์ซีเอ ซึ่งเป็นเพียงโรงภาพยนตร์ 2 แห่งในกรุงเทพฯ ที่อุทิศพื้นที่ให้กับภาพยนตร์นอกกระแสอย่างจริงจัง โดยมีตารางฉายสลับกับหนังฝรั่งทำเงิน หนังไทย รวมถึงบรรดาหนังแหวกแนวที่บางครั้งกลายมาเป็นกระแสอื่นๆ

     ศริญญา มานะมุติ ผู้ร่วมก่อตั้งแบงค็อก สกรีนนิ่งรูม กล่าวว่า “เฮ้าส์ อาร์ซีเอทำหน้าที่ได้ดีมาโดยตลอด แต่กรุงเทพฯ ยังมีโรงฉายหนังอินดี้
ไม่พอ เราเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา เป็นพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ เราใช้ระบบแบ่งค่าตั๋ว 50/50 และยังเปิดโอกาสให้คนทำหนังร่วมส่งหนังของตนเพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ฉาย และได้รับส่วนแบ่งจากการจำหน่ายตั๋วด้วย”

     เพื่อช่วยให้คนทำหนังรุ่นใหม่เข้าถึงคนดูในประเทศได้ ศริญญายังช่วยแนะนำเรื่องกระบวนการส่งหนังให้กองเซ็นเซอร์ตรวจพิจารณาก่อนนำออกฉาย “เราต้องทำอย่างนี้กับหนังทุกเรื่องที่เราฉาย เราพยายามจับแนวทางว่าจะผ่านกองเซ็นเซอร์ได้ยังไง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรบอกต่อให้คนทำหนังรุ่นใหม่รู้ การจัดเรทหนังมันคืองานเอกสารดีๆ นี่เอง”


การแทรกแซงของรัฐ

     ผู้กำกับคนหนึ่งซึ่งจำใจต้องหันหลังให้
คนดูในประเทศคืออภิชาติพงศ์ เขาตัดใจไม่ส่ง ‘รักที่ขอนแก่น’ เข้ารับการจัดเรทหนังในไทยท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหู หนังซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารกลุ่มหนึ่งที่เข้าโรงพยาบาลด้วยภาวะโคม่าหลังไปลุกล้ำสุสานบูรพกษัตริย์เรื่องนี้ จึงไม่สามารถฉายในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     “ผมเสียใจที่ต้องตัดสินใจแบบนี้ ในฐานะคนทำหนัง ผมย่อมอยากให้คนได้ดูหนังของผมในโรงอยู่แล้ว แต่เรามีเสรีภาพน้อยมากที่นี่ 
มันไม่เต็มร้อย 10 ปีที่แล้วมันไม่ได้เป็นแบบนี้
มันมาถึงจุดที่ผมไม่อยากยื้อกับบอร์ดภาพยนตร์ไทยอีกต่อไป มันใช้เวลานานเกินไปกว่าจะจัดการเรื่องที่พวกเขาอาจจะเป็นกังวลได้ ไหนจะกระบวนการเซ็นเซอร์ ไหนจะตัดบางฉาก
ทิ้งอีก ผมไม่อยากต้องมาผ่านกระบวนการ
พวกนี้แล้ว” อภิชาติพงศ์กล่าว

     สิ่งที่เขาพูดจากประสบการณ์ของตัวเองทั้งสิ้น กองเซ็นเซอร์เคยสั่งให้เขาตัดฉากจากภาพยนตร์ปี 2549 เรื่อง ‘แสงศตวรรษ’ ออก 4 ฉาก หากต้องการฉายในไทย ซึ่งเขาปฏิเสธและตัดสินใจไม่นำออกฉายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ต่อมาหนังเรื่องนี้ได้รับอนุญาตให้ฉายแบบจำกัดโรงโดยใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัด เพื่อตอกย้ำประเด็นเรื่องการเซ็นเซอร์ โดยเมื่อถึงฉากที่ถูกเซ็นเซอร์ คนดูจะต้องนั่งจ้องจอมืดๆ เงียบๆ ตลอดระยะเวลาของฉากนั้น

     ก้องเองก็ออกตัวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยต่อระบบการจำแนกเรทภาพยนตร์ของไทย 
โดยบอกว่า “รัฐยังสามารถแบนหนังได้ ซึ่งถึงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่กฎหมายก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเอง ปัญหาคือการตีความกฎหมายที่ไม่ชัดเจน คุณบอกไม่ได้ว่าอะไรฉายได้ อะไรฉายไม่ได้ พอเป็นอย่างนี้มันก็ทำงานลำบาก”

รัฐยังสามารถแบนหนังได้ ซึ่งถึงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแต่กฎหมายก็ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ตัวเองปัญหาคือการตีความกฎหมายที่ไม่ชัดเจนคุณบอกไม่ได้ว่าอะไรฉายได้ อะไรฉายไม่ได้พอเป็นอย่างนี้มันก็ทำงานลำบาก

     อย่างไรก็ตาม จักรวาลกลับมองสถานการณ์เรื่องการเซ็นเซอร์ในแง่บวกมากกว่า “ผมว่าทุกอย่างมันกำลังดีขึ้น หนังใหม่ของเพื่อนผม อโนชา สุวิชากรพงศ์ [‘ดาวคะนอง’] เล่นกับประเด็นรัฐประหารเมื่อ 40 ปี
ที่แล้ว แต่ก็ยังจัดเรทได้ 15+ ทั้งๆ ที่ตอนแรกนึกว่า
จะไม่ได้เข้าฉายด้วยซ้ำ”

     ปัจจุบัน จักรวาลกำลังเตรียมถ่ายทำ Departure Day ภาพยนตร์สารคดีที่ออกสำรวจทัศนคติของคนไทยต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาจากเมียนมาร์ โดยร่วมสร้างกับ Youku.com (Youtube ของเมืองจีน) โดยเขาหวังว่าหนังของเขาจะมีโอกาสได้ฉายในประเทศ แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น เขาบอกว่าต้องรวมรวบเสียงสนับสนุนจากนานาชาติให้มากพอเสียก่อน

     “ขั้นแรกเราจะส่งหนังไปปูซาน ซึ่งเราหวังว่าจะสร้างกระแสได้ จากนั้นถึงค่อยขยายฐานคนดูไปยังยุโรปและทำตลาดที่นั่นก่อนจะเอากลับมาฉายที่ไทย” เขาเล่า

     สำหรับคนทำหนังอินดี้ เทศกาลเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องช่วยต่อชีวิต โดยเปิดโอกาสให้งานได้รับการชื่นชมจากโลกภายนอก และก็ใช้ความชื่นชมนั้นกลับมาดึงดูดความสนใจของคนดูในประเทศอีกต่อหนึ่ง แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป “เทศกาลหนังนานาชาตินั้นสำคัญกับเรา แต่สำหรับคนทั่วไป 
หนังดีในเทศกาลพวกนี้คือหนังอาร์ตเข้าถึงยากที่คนไม่อยากดู” ปราบดากล่าว

     โดยทั่วไป รัฐอาจเพิกเฉยต่อวงการหนังอินดี้และไม่ได้เห็นความสำคัญเพราะยอดขายบัตรที่ต่ำ แต่ในเมื่อปัจจุบัน รัฐบาลประกาศว่าจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ซึ่งติดอันดับ 5 ของภูมิภาคอาเซียน ให้เติบโตไปอีกขั้น รัฐจึงไม่ควร
มองข้ามศักยภาพของหนังอินดี้ในฐานะพื้นที่ทดลองที่อาจนำไปสู่หนังทำเงินในอนาคตอีกต่อไป เพราะหากคิดให้ดี การไม่แยแสหนังอินดี้ ย่อมไม่ได้เพียงแต่กระทบความเป็นอยู่ของวงการหนังอินดี้ แต่ย่อมหมายถึงการหันหลังให้กับความคิดและเทคนิคใหม่ๆ ที่จะเป็นแต้มต่อสำคัญสำหรับวงการหนังไทยทั้งหมด อย่าลืมว่าผู้กำกับลือนามอย่างมาร์ติน 
สกอร์เซซี จอร์จ ลูคัส และเควนติน แทแรนติโน ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากวงการหนังอิสระ ก่อนจะก้าวไปทำหนังฮอลลีวู้ดทำรายได้ถล่มทลายทั้งสิ้น

     และระหว่างนี้ อาจเป็นการดีที่เราจะสรรเสริญคนทำหนังอิสระไทยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสุดท้ายนี่คือกลุ่มคนที่พร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานอันเปี่ยมความหมายสำหรับสังคม ไม่ว่าสังคมจะสนับสนุน
ผลงานของพวกเขามากน้อยเพียงใดก็ตาม

Essentials


Bangkok Screening Room

1/3-7 ชั้น 2 ซอยศาลาแดง 1
ถนนสีลม กรุงเทพฯ
โทร. 090-906-3888
www.fb.com/bangkokscreeningroom

House RCA

31/8 ชั้น 3 อาร์ซีเอ พลาซ่า ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ
โทร.02-641-5177
www.houserama.com

SF World Cinema

999/9 ชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
โทร. 02-268-8888
www.sfcinemacity.com