SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับตลาดหุ้น
หากดูสถิติตลาดหุ้นกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในอดีตจะพบว่า ในกรณีที่ผู้แทนของพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากรณีที่ผู้แทนของพรรค
รีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง ดังที่นิตยสาร Forbes ได้เคยทำตัวเลขออกมา ซึ่งผมนำมาสรุปดังนี้
1. ตั้งแต่ปี 1929 เป็นต้นมาถึงปี 2013 รวม
ทั้งสิ้น 87 ปี มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 22 ครั้ง
ผู้แทนพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี 12 สมัย ผู้แทนพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี 10 สมัย
2. ในแต่ละสมัย (ครั้งละ 4 ปี) เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรครีพับลิกัน ตลาดหุ้น
(ดัชนีเอสแอนด์พี 500) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.61% คิดเฉลี่ยผลตอบแทนเท่ากับ 1.71% ต่อปี
แต่เมื่อประธานาธิบดีมาจากพรรคเดโมแครต ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 57.44% หรือผลตอบแทนเฉลี่ย 10.83% ต่อปี
3. ในสมัยที่โอบามาครองตำแหน่งประธานาธิบดีนาน 8 ปี (2008-2016) นั้น
ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 17.47% ต่อปี
ในเทอมแรกและอีก 12.6% ต่อปีในเทอมที่สอง
ตรงนี้บางคนจะแย้งว่าเหตุที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้น ก็เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (และเศรษฐกิจโลก) เข้าสู่สภาวะวิกฤติพอดีตอนปลายสมัยที่ประธานาธิบดีบุช คนลูก จากพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี (2008) ทำให้หุ้นให้ผลตอบแทน -1.7% ต่อปีในเทอมแรกของประธานาธิบดีบุชและลดลงมาเป็น -7.34% ต่อปีในเทอมที่ 2
ที่สำคัญคือ หลังจากการถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปลายปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐฯ รีบลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์และพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตร (มาตรการ
คิวอี) อย่างต่อเนื่องถึง 3 รอบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวอย่างฉับพลันและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปีที่โอบามาครองตำแหน่งประธานาธิบดีพอดี
นายรัสส์ โคเอสเตอริช นักกลยุทธ์ลงทุนของกองทุน Black Rock นำเอาสถิติในอดีตทำนองเดียวกันมาวิเคราะห์โดยมองย้อนหลังไป 114 ปี ก็ได้ข้อสรุปคล้ายคลึงกัน กล่าวคือหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.5% ต่อปีในช่วงที่ผู้แทน
พรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี สูงกว่าในช่วงที่ผู้แทนพรรครีพับลิกันครองตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งหุ้นให้ผลตอบแทน 6% ต่อปี แต่นายโคเอสเตอริช ย้ำว่าความแตกต่างของผลตอบแทนดังกล่าวนั้นไม่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติ (not statistically significant) เพราะราคาหุ้นนั้นมีความผันผวนสูงมาก กล่าวคือมีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) ต่อปีสูงถึง 22% หมายความว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่แตกต่างกันระหว่าง 9.5% กับ 6% ต่อปีนั้น อาจเป็นเหตุบังเอิญ กล่าวคือหากจะให้มั่นใจในเชิงวิชาการสถิติว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองจริงนั้น ผลตอบแทนเฉลี่ยจะต้องแตกต่างกันเกือบ 50% ไม่ใช่ 3.5% ต่อปี เห็นได้จากกรณีที่ผมกล่าวข้างต้นว่าในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาอยู่ในตำแหน่งนั้นมีคิวอีเข้ามาผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 200%
อีกช่วงหนึ่งที่ราคาหุ้นปรับขึ้นเกือบ 300% คือช่วงของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการส่งเสริมการค้าเสรี การเปิดเสรีของเศรษฐกิจจีน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบทุนนิยมของตะวันตกและต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของโลกเสรี ตรงกันข้ามในช่วงที่นิกสันจากพรรคริพับลิกันเป็นประธานาธิบดี คือปี 1969-1977 (ซึ่งรวมถึงตอนที่ฟอร์ดต้องมารับช่วงต่อด้วยหลังจากวิกฤติ Watergate) เป็นช่วงวิกฤตินํ้ามัน ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงเกินกว่า 10% ทั่วโลกและในที่สุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 20% ทำให้การถือหุ้นให้ผลตอบแทนใกล้ศูนย์ในช่วงดังกล่าว
เมื่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พลิกผันและนายโดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะไปอย่างไม่คาดฝันและพรรครีพับลิกันยังรักษาเสียงข้างมากได้ในทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงแรกที่ได้รับทราบข่าว แต่ต่อมาก็พลิกกลับไปบวกอย่างต่อเนื่องที่สหรัฐอเมริกา เพราะตลาดกลับไปมองแต่แง่ดีว่านายทรัมป์จะลดภาษีรายได้ ลดกฎเกณฑ์การควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันและสถาบันการเงิน ยกเลิกระบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งจะทำให้บริษัทยาสามารถปรับขึ้นราคายาได้ โดยไม่กังวลในด้านที่เป็นลบ เช่น นโยบายกีดกันการค้า การขับไล่แรงงานต่างชาติกว่า 2 ล้านคนที่เข้าเมืองโดย
ผิดกฎหมาย และความเสี่ยงที่งบประมาณจะขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นไป 0.4 - 0.5% ภายใน 1 สัปดาห์หลังการเลือกตั้ง อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็ยังแข็งค่าขึ้นอีกด้วย ทำให้เงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ และหากนายทรัมป์ดำเนินนโยบายกีดกันการค้าจริง โดยเฉพาะการข่มขู่เม็กซิโกและจีน
ก็จะส่งผลกระทบกับประเทศตลาดเกิดใหม่
เช่นกัน
■