HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


การจัดสรรเงินลงทุนกับการลงทุนทางเลือก

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล สายงานลูกค้าบุคคล
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)


นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้นและพันธบัตร ยังช่วยลดความผันผวนของ ผลตอบแทนจากเงินลงทุน

     กลยุทธ์การลงทุนแบบจัดสรรเงินลงทุน (asset allocation) เป็นทางเลือกในการลงทุนแบบหนึ่งที่ยืดหยุ่น สามารถปรับใช้ได้กับนักลงทุนหลายๆ ประเภท และสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์การลงทุน ณ เวลานั้นๆ หลักการสำคัญของกลยุทธ์การลงทุนประเภทนี้ คือการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่มีลักษณะของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยเชื่อว่าสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จะให้ผลตอบแทนที่ดีใน
ระยะยาว แต่ในระยะสั้น ผลตอบแทนอาจ
จะมีความผันผวนในระดับที่ต่างกันไป และเชื่อว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จะไม่ขึ้นลงพร้อมกัน

     โดยทั่วไปแล้วเราพบว่าสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวสูง (เช่น หุ้น) มักมีความผันผวนในระยะสั้นสูง แต่ในทางตรงกันข้าม การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มีความผันผวนต่ำ (เช่น เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาล) มักให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ต่ำไปด้วย การที่ผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทขึ้นลงไม่พร้อมกัน (ความสัมพันธ์ของผลตอบแทนของสินทรัพย์หรือ correlation ต่ำ) สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของเงินลงทุนโดยรวม ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

     ยกตัวอย่างเช่น ในภาวะที่เศรษฐกิจดี 
หุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี แต่อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็มักจะเป็นขาขึ้น พันธบัตรก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก ตรงกันข้ามกับภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติ การลงทุนในหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี แต่พันธบัตรมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะอัตราดอกเบี้ยมักจะมีแนวโน้มลดลง ทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนในพันธบัตรดีขึ้น

     หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น การลงทุนในหุ้น การกระจายเงินลงทุนไปในหุ้นหลายๆ บริษัท หรือหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม หรือการกระจายเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนรวมหลายๆ กองทุนที่มีสไตล์การลงทุนไม่เหมือนกันก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ อีกทั้งยังสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้

     นอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว การกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้นและพันธบัตร ยังช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนจากเงินลงทุน โดยจะเห็นได้ว่า ตัวอย่างพอร์ตการจัดสรรเงินลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยง (เส้นทึบในรูป) ให้ผลตอบแทนที่มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น

ที่มา: บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ:
1) ข้อมูลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2009 ถึงตุลาคม 2016
2) เส้น ‘พอร์ตการจัดสรรเงินลงทุน’ (เส้นทึบ) แสดงถึงผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย 40%, ตลาดหุ้นต่างประเทศ 10%, พันธบัตรไทย 30%, พันธบัตรต่างประเทศ 5%, การลงทุนทางเลือก 10% และเงินสด 5% โดยมีการปรับสัดส่วนการลงทุนทุกเดือน

     ภายใต้กรอบการลงทุนนี้ นักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงประเภทต่างๆ ให้ความเสี่ยงของผลตอบแทนโดยรวมของเงินลงทุนเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนสามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ กรอบการลงทุนแบบนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และราคาสินทรัพย์ได้อีกด้วย

     การลงทุนที่ดีควรเป็นการลงทุนที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ หนึ่ง ให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (มี risk-adjusted return ที่ดี) สอง ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ควรขึ้นลงพร้อมกับตลาด (ผลตอบแทนมี correlation ต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์หลักในการลงทุน เช่น หุ้น) และสาม การลงทุนนั้นควรมีสภาพคล่องที่ดีและมีต้นทุนต่ำ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นคุณสมบัติของการลงทุนที่นักลงทุนทั่วไปแสวงหา

การลงทุนแบบทางเลือก

     ปัจจุบันทางเลือกในการลงทุนมีมากขึ้นโดยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรเท่านั้น แต่โอกาสในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเปิดกว้างมากขึ้น การลงทุนแบบทางเลือก (alternative investment) จึงมีบทบาทและได้รับความสนใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์/กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณสมบัติคล้ายทั้งหุ้นและพันธบัตร การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (เช่น น้ำมัน ทอง หรือ เพชร) การลงทุนในหุ้นก่อนเข้าตลาด(เช่น private equity หรือ venture capital) การลงทุนในกองทุน hedge fund การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ หรือแม้แต่การลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นที่สนใจเฉพาะกลุ่มต่างๆ เช่น ไวน์ ภาพวาด นาฬิกา รถยนต์และการลงทุนเฉพาะทางอื่นๆ

     การลงทุนทางเลือกเหล่านี้ มีคุณสมบัติคล้ายกัน คือให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่
น่าสนใจและผลตอบแทนมักจะไม่แปรผันตามตลาดหุ้นมากนัก จึงมีประโยชน์ในแง่ของการ
กระจายความเสี่ยง อีกทั้งยังสามารถช่วยลดความผันผวนให้กับเงินลงทุนโดยรวมได้

     อย่างไรก็ตาม การลงทุนเหล่านี้มีลักษณะต่างกันไปในด้านอื่นๆ เช่น มีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบกับผลตอบแทนแตกต่างกัน การลงทุนบางอย่างมีความเสี่ยงและความผันผวนของผลตอบแทนในระดับที่สูงกว่าหุ้นในตลาด การลงทุนบางประเภทอาจจะมีสภาพคล่องต่ำ เช่น ไม่สามารถซื้อขายได้ทุกวัน หรือมีต้นทุนในการซื้อขายค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ตลาดอาจจะค่อนข้างจำกัดอยู่เพียงเฉพาะกลุ่มหรือมีความซับซ้อนของการลงทุนที่สูงขึ้นที่ต้องอาศัยความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน

การลงทุนที่ดีควรเป็นการลงทุนที่มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ หนึ่ง ให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (มี risk-adjusted return ที่ดี) สอง ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ควรขึ้นลงพร้อมกับตลาด (ผลตอบแทนมี correlation ต่ำเมื่อเทียบกับสินทรัพย์หลักในการลงทุน เช่น หุ้น) และสาม การลงทุนนั้นควรมีสภาพคล่องที่ดีและมีต้นทุนต่ำ

     การลงทุนประเภท ‘เฮดจ์ฟันด์’ (hedge fund) ก็เป็นการลงทุนทางเลือกประเภทหนึ่ง แม้ว่าในอดีตเฮดจ์ฟันด์อาจมีชื่อเสียงที่ไม่ดีนัก
แต่ปัจจุบันกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าสนใจ อีกทั้งผลตอบแทนยังไม่แปรผันตามตลาดมากนักและมีสภาพคล่องที่ดีพอสมควรกองทุนเฮดจ์ฟันด์มีหลายประเภท เช่น

     • กองทุนแบบ arbitrage เป็นกองทุนที่หาผลตอบแทนจากมูลค่าเชิงเปรียบเทียบของสินทรัพย์ เช่น กองประเภท market neutral 
ที่มีการซื้อ (long) หุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ (เช่น ค่าเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ) และในขณะเดียวกันก็ขาย (short) สินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กันสูง กองทุนประเภทนี้สามารถเอาความเสี่ยงของตลาดออกไปได้เกือบทั้งหมด ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้ จะขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าสินทรัพย์ที่ขาย (คือถ้าขึ้นก็ขึ้นมากกว่า หรือถ้าลงก็ลงน้อยกว่า) กองทุนประเภทนี้มักจะสามารถควบคุมระดับความผันผวนของผลตอบแทนกองทุนได้ค่อนข้างดี

     • กองทุนที่มีการลงทุนบนทิศทางของตลาดเช่น กองทุนที่ลงทุนบนหุ้น ค่าเงิน พันธบัตร หรือการลงทุนอื่นๆ บนแนวคิดการลงทุนแบบมหภาค (global macro fund) ที่อาจสามารถทำกำไรได้จากแนวโน้มตลาดทั้งขึ้นและลง (เช่น อาจจะสามารถหากำไรจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะเป็นขาขึ้น) หรือกองทุนที่เน้นการลงทุนแบบเทคนิค

     • กองทุนที่ลงทุนบนเหตุการณ์เฉพาะ (event-driven) เช่นกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีการควบรวมกิจการ กองทุนที่เน้นซื้อสินทรัพย์ที่มูลค่าต่ำผิดปกติ (distressed assets) กองทุนที่ลงทุนบนเหตุการณ์เฉพาะอื่นๆ

     เห็นไหมครับว่าในปัจจุบัน ทางเลือกในการลงทุนมีมากขึ้น เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนของเงินลงทุนโดยรวม และสามารถหาวิธีสร้างผลตอบแทนในสถานการณ์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ที่การลงทุนแบบธรรมดาๆ ในอดีตไม่สามารถทำได้ นักลงทุนจึงต้องมีความพร้อมมากขึ้นในการหาข้อมูล และทำความเข้าใจทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ เพื่อจะได้เลือกลงทุนอย่างเหมาะสมครับ