HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


Wacky Workouts

ในช่วงปีที่ผ่านมา มีฟิตเนสเปิดใหม่หลายแห่งที่เสนอทางเลือกการออกกําลังกายในรูปแบบที่ต่างออกไป ตั้งแต่การเล่นกระดานเซิร์ฟจําลองไปจนถึงสนามแทรมโพลีนขนาดยักษ์

     ด้วยอุปนิสัยมุ่งมั่นและรักการแข่งขัน ทำให้พรรณพิมล จงประสิทธิผล เริ่มสนใจกีฬาโต้คลื่น หญิงสาวร่างเพรียวสมส่วนแบบนักกีฬาผู้นี้ได้ลิ้มรสกีฬาโต้คลื่นเป็นครั้งแรกในนครซิดนีย์เมื่อ 6 ปีก่อน เธอสารภาพว่า “เรารู้สึกว่าตัวเองชอบบงการ ชอบให้ทุกอย่างได้ดั่งใจ แต่ตอนว่ายทวนน้ำออกไปรอคลื่น มันเป็นจังหวะที่ทำให้รู้สึกว่าหลายๆ สิ่งอยู่เหนือการควบคุมของเรา”

     ขณะพำนักอยู่ที่สิงคโปร์ ความรักในความแปรปรวนนี้นำเธอให้มาพบกับ Surfset สตูดิโอฟิตเนสสอนออกกำลังกายบนกระดานโต้คลื่นจำลอง โดยมีตัวกระดานยึดอยู่กับแท่นที่
คอยสั่นให้ความรู้สึกเหมือนทรงตัวบนน้ำ พรรณพิมลตัดสินใจทันทีว่าจะนำกีฬาชนิดนี้เข้ามาในไทย

     ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เซิร์ฟเซ็ตเป็นเพียงหนึ่งในกีฬาทางเลือกสารพัดที่กำลังสร้างความหวือหวาให้กับวงการฟิตเนสของคนกรุงเทพฯ ผู้คอยมองหาวิธีเรียกเหงื่อที่สนุกยิ่งขึ้นอยู่เสมอ โดยนอกจากเซิร์ฟเซ็ตก็คือ
สตูดิโอแทรมโพลีนอย่าง Amped, Bounce และ Rockin’ Jump ตลอดจนผู้ให้บริการฟิตเนสระดับโลกอย่าง Virgin Active ซึ่งนำเอา ‘การออกกำลังกายทางเลือก’ มาเป็นจุดขาย อาทิ โยคะต้านแรงโน้มถ่วง หน้าผาจำลอง และห้องจำลองความกดอากาศ โดยแต่ละแห่งต่างก็หวังจะคว้าส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึงกว่าหนึ่งพันล้านบาท ในปีนี้  


ฝึกหนัก

     เซิร์ฟเซ็ตนั้นเหมือนกับการโต้คลื่นจริงๆ ตรงที่เน้นการสร้างความแข็งแกร่งของกลางลำตัว พัฒนาความทรงจำในกล้ามเนื้อ และคาร์ดิโอที่เกิดขึ้นจากการดึงสายเคเบิล (จำลองมาจากลักษณะการออกแรงว่ายทวนน้ำกลับสู่ทะเล) โดยด้วยความที่กีฬานี้ให้ความสนุกของการโต้คลื่นได้โดยไม่ต้องลงทะเล คนกลัวน้ำจึงหมดข้ออ้างที่จะไม่เข้าคลาส

นอกจากเซิร์ฟเซ็ตก็คือ สตูดิโอแทรมโพลีนอย่าง Amped, Bounce และ Rockin’ Jump ตลอดจนผู้ให้บริการ ฟิตเนสระดับโลกอย่าง Virgin Active ซึ่งนำ ‘การออกกำลังกายทาง เลือก’ มาเป็นจุดขาย

     “คนที่มาเล่นควรรู้สึกสนุก แต่ในขณะเดียว
กันก็เห็นว่ามันท้าทายด้วย” พรรณพิมลกล่าว โดยเช่นเดียวกับลูกค้าหลายๆ กลุ่มของเธอ พรรณพิมลเองก็คอยสรรหากิจกรรมแปลกใหม่มาเรียกเหงื่อเสมอ นอกจากการเล่นเซิร์ฟเซ็ต สัปดาห์ละ 3 ครั้งแล้ว เธอยังฝึกปาร์กัวร์ 
เต้นซุมบ้า รวมไปถึงเล่น ‘แอเรียลซิลค์’ ซึ่ง
เป็นการออกกำลังกายโดยการห้อยโหนต้าน
แรงโน้มถ่วงเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ไม่ผิดกับ
นักกายกรรมเซิร์กดูโซเลย์ พรรณพิมลอธิบาย
ว่าเธอต้องทำอย่างนี้เพราะเธอ “ทนวิ่งหรือขี่
จักรยานไม่ค่อยได้”

     พึงทราบว่า การเล่นเซิร์ฟเซ็ตถือเป็นเป็นการออกกำลังที่สาหัสพอๆ กับ HIIT (high-intensity interval training) ซึ่งเป็นวิธีการออกกำลังแบบหนักกับเบาสลับกันไปถี่ๆ เพื่อเร่งอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ในคลาสเรียนใหม่ของเซิร์ฟเซ็ตที่ตั้งชื่อว่า BAM! (เน้นเผาผลาญไขมันและสร้างกล้ามเนื้อกลางลำตัว) มีผู้เรียนประกอบด้วยนักศึกษาไปจนถึงผู้ใหญ่วัย 50 ปลายๆ ทุกคนล้วนสวมชุดผ้ายืดรัดรูปและกำลังฝึกกันหนักหน่วง ไม่น่าเชื่อว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวอยู่ได้หลังผ่านการฝึกนานกว่า 1 ชั่วโมง พรรณพิมลอธิบายว่าคนชอบเซิร์ฟเซ็ต เพราะมัน “ช่วยเร่งจังหวะการเต้นของหัวใจแต่ไม่ได้ถึงกับทำให้คุณรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย” (ซึ่งนักเรียนหลายคนที่กำลังหอบแฮ่กฟังแล้วแอบสั่นหัวพัลวัน)

     ในลักษณะใกล้เคียงกัน จูเลียง วีกรู 
ผู้ก่อตั้ง กรรมการผู้จัดการ และโค้ชอาวุโสของ Asia Parkour ก็มีหุ่นนักกีฬา ชอบความ
ท้าท้าย และฟิตอย่างยิ่ง โดยปากัวร์คือชื่อเรียกโปรแกรมออกกำลังกายที่มีพื้นฐานมาจากหลักสูตรข้ามสิ่งกีดขวางของทหารฝรั่งเศส 
ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมในหมู่หนุ่มสาวหัวขบถในปารีส จนในที่สุดก็ลามไปถึงฮอลลีวูด ดังเห็นได้จากภาพยนตร์อย่าง Bourne Supremacy และ Casino Royale ซึ่งมีฉากที่มีตัวละครวิ่งกระโจนข้ามตึกและกำแพงสูงในแบบปากัวร์กันเป็นว่าเล่น

     อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เรียนหน้าใหม่ (คลาสเรียนมีตั้งแต่สำหรับเด็กอายุ 8-15 ปีไปจนถึงคลาสส่วนตัวสำหรับผู้ใหญ่) การกระโดดข้ามตึกนั้นไม่ได้ถูกรวมอยู่ในหลักสูตร จูเลียง
ผู้เป็นชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิดเล่าว่า “สิ่งที่เราเน้นสำหรับผู้ฝึกหน้าใหม่คือการปูพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการทำความรู้จักกับร่างกาย กีฬาชนิดนี้มีอะไรมากกว่าที่คุณเห็นในโซเชียล
มีเดีย พวกท่าวิ่งโลดโผนเสี่ยงตายบนหลังคา จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ปากัวร์ ปากัวร์ไม่ได้ถูกสร้างมาแบบนั้น”

     ตรงกันข้าม สตูดิโอสำหรับฝึกปากัวร์ ซึ่งตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้ากลางกรุง เน้นให้ผู้ฝึกพยายามดึงเอารูปแบบการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งกำลังถูกกลืนโดยวิถีชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ มาใช้ อย่างเช่นการ
ปีนป่าย ม้วนตัว ทรงตัว คลาน และกระโดด โดยคลาสเรียนเป็นกลุ่มอย่าง Parkour Spirit จะสอนให้ผู้เรียนได้ “รู้จักร่างกายของตนเองดีขึ้น” ในขณะที่คลาสซึ่งสั้นกว่าอย่าง Parkour DNA จะผนวกทฤษฎีและเทคนิคร่วมกับการฝึกจริง ทุกคลาสจะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงและฝึกอย่างหนัก กระนั้นครูผู้สอนจะปรับการฝึกให้เข้ากับนักเรียนแต่ละคน โดยจูเลียงยอมรับว่า “แต่ละคนมีพื้นฐานต่างกัน”

ทำความรู้จักร่างกาย

     การฝึกทรงตัวและเคลื่อนไหวร่างกายหลายๆ แบบคือหัวใจสำคัญของกีฬาทางเลือก แต่ก็ใช่ว่ากีฬาทางเลือกทุกชนิดจะเหนื่อยยาก
เหมือนปากัวร์หรือคลาส BAM! ของเซิร์ฟเซ็ต
สำหรับผู้ที่มองหาการออกกำลังกายแบบละมุนละม่อมและถนอมหัวเข่ากับข้อเท้ามากกว่า เขมิกา จิวะพรทิพย์ และเขมินี 
เกียรติสัมพันธ์ แห่ง Physique 57 ก็มีคำตอบให้เรียบร้อยแล้ว โปรแกรมการออกกำลังกายนาน 57 นาที ซึ่งออกแบบโดยทันย่า เบเกอร์ ครูฝึกเจ้าของสตูดิโอบนถนน East 57 ใน
แมนฮัตตัน (อันเป็นที่มาของชื่อ) เป็นท่าบริหารร่างกายที่ดัดแปลงมาจากท่าที่นักเต้นทำบนราวเกาะเพื่อรักษารูปร่างและสัดส่วน โดยจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อและกระชับบริเวณต้นขาด้านในและหน้าท้องส่วนล่าง

     “ผู้หญิงไทยไม่ได้อยากผอมอย่างเดียว 
แต่อยากหุ่นดีด้วย” เขมิกากล่าว เธอรู้จักกับ
ฟิซีค 57 เป็นครั้งแรกเมื่อเขมินีชักชวนให้ไปร่วมคลาสฝึกในนิวยอร์ก เธอเล่าว่าการฝึกด้วยราวเกาะนั้นมีประโยชน์หลายประการ 
ทั้งช่วยลดขนาดเอว กระชับแขนขา ปรับปรุงการทรงตัวและเผาผลาญไขมันส่วนเกินในจุดที่การยกเวทและการวิ่งไม่ค่อยช่วยนัก “น่าจะมีแค่พิลาทิสและการออกกำลังกายโดยใช้ราวเกาะเท่านั้นที่เน้นบริเวณพวกนี้” เธอพูดขณะที่พยายามเอานิ้วหยิกหน้าท้องที่แทบไม่ปรากฏของเธอ

     การฝึกแต่ละครั้งจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงและแบ่งย่อยเป็น 4 ช่วง เริ่มต้นจากการฝึกกับ
น้ำหนักเพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ต่อด้วยบริหารต้นขา (12-15 นาที) การฝึกในท่านั่งซึ่งเน้นกล้ามเนื้อสะโพกและโคนต้นขาด้านหลัง การฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง (15 นาที) ก่อนจะปิดท้ายด้วยการคูลดาวน์ (3 นาที) แม้ว่าการออกกำลังที่โฟกัสเฉพาะจุดยากๆ อย่างนี้จะทำให้เหงื่อออกมาก แต่เขมินี อดีตพนักงานบริษัทการเงินในนครนิวยอร์ก ก็ยืนยันว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่า “ส่วนตัวถือว่าหุ่นของตัวเองตอนนี้ดีที่สุดตั้งแต่เกิดมา”

     เขมิกา อดีตที่ปรึกษาภาษีอากรระหว่างประเทศนั้นนิยมออกกำลังด้วยการวิ่งและขี่จักรยาน แต่บอกว่า ฟิซีค 57 ช่วยทำให้การออกกำลังกายครบถ้วนยิ่งขึ้น โดยแนะนำว่าผู้ฝึกหน้าใหม่ไม่ควรรู้สึกประหม่า “ครูฝึกของเราเป็นเหมือนเชียร์ลีดเดอร์ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าคุณจะตาม
คนอื่นไม่ทัน เราดูแลทุกคนทั่วถึง”

     ในทำนองเดียวกัน สนามแทรมโพลีนแอมป์ เน้นเรื่องความเข้าถึงได้ง่ายและสนุกได้ทั้งครอบครัวมากกว่าการฝึกหนัก ที่นี่จึงไม่จำเป็นต้องมีคลาสสอนจริงจัง แต่มีเพียงการแนะทักษะพื้นฐานของแทรมโพลีนอย่างคร่าวๆ ให้กับลูกค้าฟรีทุกคืนวันพุธแทน โดยอุปกรณ์เดียวที่จำเป็นต้องใช้ก็คือถุงเท้า สตูดิโอแทรมโพลีนอื่นๆ เช่น บ๊าวซ์ และร๊อคกิ้น จัมพ์ ก็ตกอยู่ในลักษณะ
ใกล้เคียงกัน

     แน่นอน สตูดิโอออกกำลังกายเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับผู้ต้องการออกกำลังกายแบบเอาจริง และกลุ่มลูกค้าก็มักเป็นเด็กหรือกลุ่มบริษัทที่ต้องการหาสถานที่ทำกิจกรรมสันทนาการให้กับพนักงานเสียมากกว่า กระนั้น สนามขนาด 5,000 ตารางเมตรเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าคนกรุงกำลังมองหาการออกกำลังกายที่แหวกแนวมากขึ้นได้อย่างชัดเจน

สตูดิโอทางเลือกเหล่านี้มักเน้น กิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่รุ่นหลานไปจนถึงอากงอาม่าที่ยังเดินคล่องอยู่

ความท้าทายทางการตลาด

     เห็นได้ชัดว่า แอมป์ เซิร์ฟเซ็ต และฟิซีค 57 ต่างกันโดยสิ้นเชิงจากการฝึกสุดหฤโหดอย่าง
ครอสฟิตหรือการวิ่งอัลตร้ามาราธอน เพราะ
สตูดิโอทางเลือกเหล่านี้มักเน้นกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่รุ่นหลานไปจนถึงอากงอาม่าที่ยังเดินคล่องอยู่ แม้กระทั่งเอเชีย ปาร์กัวร์ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนมีแต่คนที่
แข็งแรงประหนึ่งสตันท์ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดถึงจะเล่นได้ ก็ยังพยายามชูประเด็นที่ว่าใครๆ 
ก็เล่นได้มาเป็นจุดขาย

     อย่างไรก็ตาม แม้จะเล่นได้ง่าย แต่การทำการตลาดของการออกกำลังกายทางเลือกก็ไม่ใช่จะง่ายไปด้วย เช่นเซิร์ฟเซ็ตที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ยอมรับว่าการรักษาฐานลูกค้าชาวกรุงเทพฯ ไว้ให้ไม่เลิกเห่อกระดานโต้คลื่นของพวกเขานั้นเป็นเรื่องท้าทาย “เดี๋ยวนี้มันยากมาก มีสตูดิโอออกกำลังกายหลายแห่งและมีสารพัดเทรนด์เกิดขึ้นตลอด” พรรณพิมลกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่าวงการฟิตเนสนั้นมาไกลอย่างมากจากการเป็นเพียง “ยิมยกน้ำหนักของนักเพาะกาย”
เมื่อ 10 ปีก่อน โดยปัจจุบันลูกค้าของเธอมีทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่วัย 60 ปีไปจนถึงวัยรุ่นตอนต้น แต่ละคลาสมีผู้เรียนราวๆ 6-7 คน และเปิดสอนวันละ 5-6 คลาส ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับเซิร์ฟเซ็ตเป็นอย่างมากคือกระแสรักสุขภาพในอินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กที่บรรดาผู้ใช้ต่างแห่กันโพสต์อวดไลฟ์สไตล์สุขภาพดีมีความสุขของตัวเองเป็นปกติ “มันเป็นเทรนด์ที่คนหันมาใส่ใจสุขภาพแล้วก็อยากหุ่นดีขึ้น”

     เอเชีย ปาร์กัวร์ ก็ได้ประโยชน์จากโซเชียล มีเดียเช่นกัน แต่จูเลียงบอกว่ามันมีอะไรที่มาก
กว่าการโหนกระแส “อุตสาหกรรมฟิตเนสแบบเดิมถึงจุดอิ่มตัว คนเริ่มเบื่อการใช้เครื่อง ดัมเบล หรืออุปกรณ์ซับซ้อนในการออกกำลังกายแล้ว” ปัจจุบัน เอเชีย ปากัวร์ มีลูกค้าทั้งชาวไทยและเทศ โดยแม้จูเลียงจะไม่ได้บอกตัวเลขแน่ชัด แต่ก็ยืนยันว่าจำนวนผู้เข้าร่วมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ธุรกิจของเราอาจจะเครื่องติดช้าหน่อย แต่ตอนนี้หลายๆ กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าปากัวร์คืออะไร”

     ทางฝั่งฟีซิค 57 โจทย์ยากอยู่ที่การดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ แม้เขมินีจะกล่าวว่าการออกกำลังกายรูปแบบนี้ “เหมาะสำหรับทั้งหญิงและชาย” แต่เธอก็ยอมรับว่า 95% ของผู้เรียนในแต่ละคลาสซึ่งมีประมาณ 15 คนนั้นเป็นผู้หญิง “ความจริงเราไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นกิจกรรมเฉพาะสำหรับผู้หญิง จริงๆ แล้วมันเหมาะกับทุกเพศ” ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากสตูดิโอของฟีซิค 57 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่แค่นักเรียนนักศึกษาและคนในวงการแฟชั่น เขมิกาและเขมินีจึงวางแผนที่จะเปิดสตูดิโอแห่งที่ 2 ตรงบริเวณถนนสุขุมวิทต้นปีหน้า เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย

     อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วโอกาสของธุรกิจการออกกำลังกายทางเลือกย่อมอยู่ที่การดึงคนให้หันมาดูแลสุขภาพได้มากกว่าเดิม
เขมิกาและเขมินีอาศัยพื้นฐานจากที่เคยทำงานไฟแนนซ์์ศึกษาข้อมูลและได้ข้อสรุปว่ามีประชากรเพียง 1 % เท่านั้นที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และในจำนวนนั้น โดยเฉลี่ยออกกำลังแค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น ดังนั้น การมีทางเลือกออกกำลังที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครอสฟิต โยคะต้านแรงโน้มถ่วง ไปจนถึง
บรรดาคลาสแทรมโพลีนที่เปิดสอนในกรุงเทพฯ ย่อมน่าจะแปลว่าในวันนี้ ผู้คนจะสามารถเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับรสนิยมและขีดความสามารถของตนเองได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การออกกำลังกายที่บ่อยขึ้น

     ดังที่เขมิกาเสนอหลักง่ายๆ ไว้ว่า “หาสิ่งที่คุณชอบให้เจอและทำให้เป็นกิจวัตรไป
ตลอดชีวิต”

Essentials


Amped

36/3 โครงการชวนิชย์ 

ซอยสุขุมวิท 69 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-136-7858
www.ampedthailand.com

Asia Parkour

496-502 ชั้น 2 อมรินทร์พลาซ่า
ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
โทร. 088-493-2075
www.asiaparkour.com

Physique 57

494 ชั้น 4 ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
โทร.02-652-1703
www.physique57bangkok.com

Surfset

46/4 ชั้น 5 พิมาน 49 

ซอยสุขุมวิท 49 ถนนสุขุมวิท
 กรุงเทพฯ
โทร. 02-662-4566
www.surfsetthailand.com