HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE FAST LANE


Ready for Take-Off?

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้องใหม่อย่างธุรกิจอากาศยานส่วนบุคคลในไทยดูจะเติบโตไม่ทันตลาดในประเทศอื่นๆ แต่พัฒนาการใหม่ๆ ที่เริ่มเกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของความเฟื่องฟูที่จะตามมาในไม่ช้า

    เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา บริษัท
 Mjets ในเครือไมเนอร์กรุ๊ปได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคลมูลค่า 300 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคลได้ 10 ลำ ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง อาคารที่มาพร้อมกับห้องรับรองสุดหรูและโฆษณากันว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้นี้ เป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งชี้ว่าในที่สุด ประเทศไทยอาจเริ่มตระหนักถึงประโยชน์ของธุรกิจการบิน ไม่ว่าเครื่องบินเจ็ตหรือเฮลิคอปเตอร์ อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงได้จุดประกายความหวัง
ให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศถึงศักยภาพของกรุงเทพฯ ในการก้าวไปเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค ท่ามกลางอุปสรรคด้านข้อบังคับและความไม่พร้อมทางสนามบินซึ่งยังไม่หนีหายไปไหน

ถึงก่อนมีสิทธิ์ก่อน

    จากข้อมูลของ General Aviation Manufacturers Association (GAMA) ปัจจุบันมีเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคลมากกว่า 11,000 ลำบินวนเวียนอยู่เหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ และอีก 8,000 ลำในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การเป็นเจ้าของเครื่องบินส่วนบุคคลนั้นให้ประโยชน์ 
2 ชั้น กล่าวคือ เครื่องบินเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้บินสูงกว่าเครื่องบินพาณิชย์ ทำให้สามารถเลี่ยงการจราจรและเลือกเส้นทางบินที่เร็วที่สุดได้ 
ยิ่งกว่านั้น ผู้โดยสารสามารถมาถึงสนามบินได้โดยไม่จำเป็นต้องเผื่อเวลาเกิน 15 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก

    “ในสหรัฐฯ เราเคยพูดว่าถ้าคุณต้องบิน
สัก 300-400 ชั่วโมงต่อปี คุณควรซื้อเครื่องบิน
เป็นของตัวเอง แถมตอนนี้ตัวเลขก็เปลี่ยนไปอีก ราคาน้ำมันที่ถูกลง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อและบินเครื่องบินหนึ่งลำต่ำลงมาก จนมันเริ่มน่าสนใจที่ผู้บริหารจะซื้อเครื่องบินส่วนตัว
โดยอาจปล่อยเช่าเหมาลำบ้างเพื่อคืนทุนบางส่วน” เทรเวอร์ เมอรส์เซย์ ซีอีโอของบริษัท OrientSKYS ประจำประเทศไทย ผู้ขายและให้บริการเช่าเหมาลำอากาศยานส่วนบุคคลมาตั้งแต่ปี 2547 กล่าว

    นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ธุรกิจการบินเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านบรรดาสตาร์ทอัพที่ต่างหาทางให้ผู้โดยสารได้สัมผัสประสบการณ์ที่เคยแพงเกินเอื้อมนี้ แอปพลิเคชันของสหรัฐฯอย่าง Jetsmarter, BlackJet และ PrivateFly ใช้โมเดลบริหารจัดการฝูงบินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขายตั๋วการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนบุคคลในราคาที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ

    สำหรับประเทศไทย กล่าวได้ว่าธุรกิจนี้ยังแทบไม่มีตลาด “ตามตัวเลขทางการแล้ว ในไทยมีเครื่องบินส่วนตัวอยู่ประมาณ 40 ลำ และในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เป็นของรัฐ เท่ากับว่าเป็นของเอกชน 30 ลำ แถมใน 30 ลำนี้ เป็นประเภทที่ให้บริการแบบเช่าเหมาลำอีกครึ่งหนึ่ง” 
เมอรส์เซย์เล่า

    นอกจากนั้น เครื่องบินส่วนบุคคลในประเทศไทยยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก เครื่องบินสำหรับเช่าเหมาลำที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ Gulfstream V ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 
15-19 คนและลูกเรืออีก 2 คน ดังนั้น ใครที่คิดจะขนคณะผู้ติดตามแบบมหาเศรษฐีน้ำมัน จึงต้องหาเช่าเครื่องบินจากนอกประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับเอาเครื่องบินเข้ามาอีกเที่ยวหนึ่ง

    ในทางตรงกันข้าม ท่าอากาศยานนานาชาติในสหรัฐฯ ในเวลาหนึ่งๆ อาจต้องรองรับเครื่องบินส่วนตัวเป็นหลักหลายร้อยลำ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะความต้องการของผู้บริโภคของไทยและสหรัฐฯ นั้นยังต่างกันมาก ซีอีโอไทยสามารถทำงานส่วนใหญ่ได้ในกรุงเทพฯ ต่างจากเหล่า
ซีอีโอในสหรัฐฯ ที่อาจต้องวิ่งจากฮุสตันไปชิคาโก แล้วต่อเครื่องไปลอสแอนเจลิสในสัปดาห์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้เข้ามา อาจทำให้ความจำเป็นที่จะต้องบินไปประเทศนั้นประเทศนี้หลายๆ ครั้งในรอบหนึ่งอาทิตย์มีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ

เครื่องบินเหล่านี้ได้รับ อนุญาตให้บินสูงกว่าเครื่องบินพาณิชย์ทำให้สามารถเลี่ยงการจราจรและเลือกเส้นทางบินที่เร็วที่สุดได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้โดยสารสามารถมาถึง สนามบินได้โดยไม่จำเป็นต้องเผื่อเวลาเกิน 15 นาทีก่อนเวลาเครื่องออก

อุปสรรคระหว่างทาง

    ปัญหาสารพันทำให้ธุรกิจเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ส่วนบุคคลของไทยขยับไปไม่ได้มาก ประการแรก ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวนั่นสูงลิ่วเมื่อเทียบกับประเทศทางฝั่งอเมริกาและยุโรป จากข้อมูลของ
โอเรียนท์สกาย อัตราเครื่องบินเช่าเหมาลำในไทยนั้นเริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 90,000 บาทสำหรับเครื่องบินเจ็ตขนาดเล็กความจุ 4 ที่นั่ง ขึ้นไปจนถึงชั่วโมงละ 210,000 บาทสำหรับเครื่องบินเจ็ตขนาดใหญ่ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้เกือบ 20 คน แถมตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ราคาทั้งหมดอีกด้วย

    “นอกจากค่าธรรมเนียมรายชั่วโมงแล้ว 
ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่นค่าลูกเรือ ค่าจอดพักค้างคืน และค่าขั้นต่ำต่อวันอื่นๆ เอาเป็นว่าแค่
จะเอาเครื่องลงจอดที่เซี่ยงไฮ้ ค่าเบี้ยบ้ายรายทางเหล่านี้ก็ปาเข้าไปกว่า 520,000 บาท แล้ว” เมอรส์เซย์อธิบาย

    เช่นเดียวกับในฮ่องกงและสิงคโปร์ สนามบินในไทยนั้นมีลานจอดจำกัดมาก อย่างเส้นทางบินยอดนิยมกรุงเทพฯ-ภูเก็ตนั้น หากเครื่องบินไม่มีที่จอดพักค้างคืนบนเกาะได้ ผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าตั๋วไป-กลับกรุงเทพฯ 2 รอบ โดยรอบหนึ่งสำหรับบินไปส่ง และอีกรอบสำหรับบิน
มารับ เช่นเดียวกันเอ็มเจ็ทคิดราคาเที่ยวบินไปกลับกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ต่อวัน สำหรับผู้โดยสาร 6 คน อยู่ที่ 300,000 บาท แต่ถ้าค้างคืนราคาจะขึ้นเป็น 2 เท่า เนื่องจากเชียงใหม่ไม่มีลานสำหรับจอดพักข้ามคืน

    ในปัจจุบัน เครื่องบินส่วนบุคคลส่วนมากจอดเก็บอยู่ที่โรงจอดเครื่องบินของเอ็มเจ็ท ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง นอกจากนั้นก็มีทางภูเก็ต ซึ่งกำลังรอให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล มูลค่ากว่า 200 ล้านบาทเสร็จสมบูรณ์ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตที่มีกำหนดเปิดให้บริการในต้นปี 2560


ศักยภาพในการเติบโต

    ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือผู้สนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคลที่ภูเก็ตดังกล่าว เป็นที่
รู้กันว่าเขามีเครื่องบินเจ็ตในครอบครองถึง 3 ลำได้แก่ Gulfstream G650, Bombardier Global Express และ Dassault Falcon 2000 ทั้งนี้ แม้จะถูกมองเป็นของหรู แต่หลายครั้งที่นั่งบนเครื่องบินเจ็ตอาจมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสของสายการบินพาณิชย์ กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เครื่องบินเจ็ตชนะขาดก็คือความเร็ว เพราะผู้โดยสารเพียงเดินทางมายังสนามบิน ยื่นหนังสือเดินทางแก่พนักงานที่อาคารผู้โดยสาร จากนั้นก็ขึ้นลีมูซีนไปลานจอดเครื่องบินส่วนตัวได้เลย หากจะช้าก็มีแต่เพราะการจราจรตอนไปสนามบินเท่านั้น และในส่วนนี้เองที่เฮลิคอปเตอร์ส่วนบุคคลอาจเข้ามาช่วยได้เป็นอย่างดี

    แม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอากาศยานส่วนบุคคลที่ค่อนข้างเล็ก แต่ธุรกิจเฮลิคอปเตอร์ก็โตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 
“เราเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย” 
ไลโอเนล ซีไน-ซีเนลนิคอฟฟ์กล่าว เขาเป็นหัวหน้าแผนกกลยุทธ์และการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้แห่งบริษัท
แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ ผู้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ส่วนบุคคลรายเดียวในประเทศไทย

    บริษัทเริ่มขายเฮลิคอปเตอร์ลำแรกในปี 2535 และค่อยๆ สร้างฐานลูกค้าย่อมๆ ในประเทศซึ่งรวมถึงกองทัพบกและกองทัพอากาศ “ในไทยมีคนเดินทางด้วยเครื่องบินเยอะมาก ธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่โตวันโตคืน ความต้องการทางการแพทย์ก็สูงขึ้น จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น เงินลงทุนก็หลั่งไหลเข้ามาเยอะขึ้น” ไลโอเนลบอก

    ที่ไลโอเนลพูดอย่างนี้ ก็เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนบุคคลนั้นแปรตามตลาดการเงินโลกมากกว่าการท่องเที่ยว อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่งผลให้การเดินทางด้วยอากาศยานส่วนบุคคลลดฮวบลงในไตรมาสแรกของปี 2559 กระนั้น แอร์บัส เฮลิคอปเตอร์ก็ไม่ย่อท้อ หากได้จัดแสดงเฮลิคอปเตอร์รุ่น H145 สู่สาธารณชนในเดือนมีนาคม 2559 เครื่องบินดีไซน์ล้ำรุ่น 2 เครื่องยนต์รุ่นนี้จุผู้โดยสารได้ 11 คน นักบิน 
1 คน และบินได้ไกลกว่า 800 กิโลเมตรที่ความเร็วสูงสุด 246 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสุดท้ายก็ปรากฏว่าเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในประเทศในขณะนี้ (สนนราคาระหว่าง 250-350 ล้านบาท) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดี่ยวอย่างรุ่น H130 ไม่ได้รับอนุญาตให้บินหรือลงจอดบนตึกระฟ้าในกรุงเทพฯ

    ในอนาคตบริษัทมีแผนจะเปิดตัว H160 ที่มาคู่กับเครื่องยนต์ใบพัดกำลังแรงสูง ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “มันคือการปฎิวัติทางเทคโนโลยีขนานใหญ่ และจะเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับวงการการบินนานาชาติ นี่ขนาดยังอยู่ในขั้นตอนการผลิตตอนนี้ ในไทยก็มีลูกค้าแล้ว 
5 รายที่สนใจ” แอร์เว โฟลรองต์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของแอร์บัส เฮลิคอปเตอร์คุย

    แม้แอร์บัสจะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อลูกค้า 
แต่ไลโอเนลบอกว่ากลุ่มลูกค้าของตลาดธุรกิจเฮลิคอปเตอร์นั้นประกอบด้วยนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ “พวกผู้บริหารอยากได้เฮลิคอปเตอร์ เพราะมันเป็นเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมและทำให้สามารถเดินทางไปต่อไหนได้ในเวลาอันสั้น ถ้าคุณอยู่ในเมืองที่รถติดแบบกรุงเทพฯ คุณคงไม่อยากเสียเวลาบนถนนสองสามชั่วโมง เฮลิคอปเตอร์เร็วแล้วก็ปลอดภัยกว่ากันเยอะ คุณจะมีเวลาให้งานและครอบครัวได้มากขึ้น”

แม้จะถูกมองเป็นของหรู แต่หลายครั้งที่นั่งบนเครื่องบินเจ็ตอาจมีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสของสายการบินพาณิชย์ กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เครื่องบินเจ็ตชนะขาดก็คือความเร็ว

    อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะทางและกฎข้อบังคับที่สลับซับซ้อน ทำให้มีลูกค้าน้อยรายที่ใช้เฮลิคอปเตอร์ส่วนบุคคลในการบินระยะไกล จริงอยู่ที่การเดินทางข้ามประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์สามารถกระทำได้ แต่กฎระเบียบที่ต้องทำนั้นหนักกว่าเครื่องบินส่วนตัวมากมาย ทำให้จนถึงตอนนี้การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไม่เป็นเหตุช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมเฮลิคอปเตอร์ส่วนบุคคลเท่าใดนัก แต่หากมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ลง เป็นไปได้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเปลี่ยนไป

    ในทางกลับกันธุรกิจเครื่องบินเจ็ตส่วนบุคคลในประเทศไทยนั้นมีบทบาทในภาคธุรกิจน้อยกว่า “คนส่วนใหญ่บินเจ็ตมาไทยเพื่อมาเที่ยว เนื่องจากที่นี่ไม่ใช่ศูนย์กลางทางการเงินโลก เหมือนอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์” เทรเวอร์กล่าว กระนั้นเขาก็เห็นว่าการใช้เครื่องบินเจ็ตเพื่อธุรกิจยังอาจเติบโตได้อีก โดยเฉพาะในบรรดากลุ่มนักธุรกิจที่เดินทางไปประเทศจีน ซึ่งกินพื้นที่รวมกันกว่า 9.3 ล้านตารางกิโลเมตรหรือกว่า 
2 เท่าของพื้นที่ภูมิภาคอาเซียน

    “สมมติผู้บริหารคนหนึ่งต้องการเยี่ยมชมโรงงาน 10 แห่งในจีน ถ้าใช้เครื่องบินพาณิชย์ อาจใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ แต่ถ้าใช้เครื่องบินส่วนตัว เราสามารถรับส่งเขาไปครบทุกที่ภายในเวลา 2-3 วัน แล้วยังมีการวิจัยอันหนึ่งบอกว่า เทียบกับการนั่งทำงานในออฟฟิศแล้ว ผู้บริหารทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าบนเครื่องบินส่วนตัว” เขากล่าว

    แม้ยังเป็นการยากที่จะหาซีอีโอชาวไทยสักคนที่มีโรงงาน 10 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคอาเซียน แต่
เทรเวอร์ก็ยังมั่นใจในศักยภาพของภูมิภาคนี้ “ตลาดที่นี่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ และเติบโตอย่างรวดเร็วใน 2 ปีที่ผ่านมา ผมว่านี่คือตัวบ่งชี้ที่ดีมาก จำนวนเครื่องบินเช่าเหมาลำมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ 
ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้า จากที่เมื่อก่อนการเช่าเครื่องบินครั้งหนึ่งนั้นแพงกว่าในสหรัฐฯ หรือยุโรปอยู่เท่าตัว แต่ตอนนี้ราคาเริ่มลดลงไปบ้างแล้ว”

    อาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่บรรดาผู้บริหารชาวไทยจะมีอาณาเขตตลาดกว้างขวางจนจำเป็นต้องเรียกหาบริการเครื่องบินส่วนตัวผ่านมือถือ กระนั้น หากวันหนึ่ง สนามบินในบ้านเรามีศักยภาพพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้ เมื่อนั้น ความเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของอาเซียนและจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ ย่อมทำให้ธุรกิจอากาศยานส่วนบุคคลของไทยผงาดขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาคได้อย่างไม่ยากเย็น

Essentials


Mjets


ชั้น 18 อาคาร Berli Jucker
99 ซอยรูเบีย ซอยสุขุมวิท 42 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-365-7500
www.mjets.com

OrientSKYS

ห้อง 802A ชั้น 8
อาคาร Liberty Square
โทร. 02-631-1974
www.orientskys.com