SECTION
ABOUTCLIENT VALUES
Bright Ideas
วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์ ผู้นำอาณาจักรธุรกิจหลอดไฟ Racer Group เผยเคล็ดลับบริหารให้ทันต่อโอกาสและยุคสมัย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานนับพันชีวิต
สําหรับผม ทรัพยากร บุคคลจะเป็นตัวขับเคลื่อน สําคัญที่จะทําให้องค์กร make or break ผู้นําต้องแบ่งงานได้ งานต้องเดินทั้งๆ ที่ตัวเรา ไม่อยู่ได้ แต่ก่อนที่งาน จะเดินได้ด้วยตัวมันเอง เราต้องจ่ายงานให้เป็น สร้างคนให้เป็น
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการมีชื่อในฐานะ ‘ปรินซ์ ชาร์มมิ่ง’ ผู้ครอบครองหัวใจของนักแสดงสาวแถวหน้าของเมืองไทยอย่างชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ตจะทำให้ชื่อของนักธุรกิจหนุ่มสุดสมาร์ท
อย่าง น็อต-วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์ กรรมการบริหารบริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าอันดับหนึ่งของประเทศปรากฏตัวบนพื้นที่หน้าข่าวบันเทิงมากกว่าหน้าข่าวธุรกิจ แต่นั่นไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่านี่คือหนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้โดดเด่นที่สุด ผู้สามารถนำ Racer Group เปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าเพื่อป้อนแบรนด์อื่น หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ไปสู่การเป็นแบรนด์หลอดไฟครบเช็ต Racer ซึ่งอยู่ระดับชั้นนำของภูมิภาค ขอเชิญพบกับเบื้องหลังของการกระโดดไต่ ‘ห่วงโซ่คุณค่า (value chain)’ ที่กล้าหาญและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
จุดเริ่มต้นทำแบรนด์ Racer
อย่างที่ทราบคือเราทำ OEM ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อจากเริ่มทำบัลลาสต์ ทำหลอดไฟ ทำสตาร์ทเตอร์ ทำเซ็ตตัวรางขาไฟ ขายเป็น complete set ไป พอบริษัทโตมาในระดับหนึ่งเราก็เห็นว่าเราผลิตสินค้าดี มีคุณภาพ ต้นทุนถูก แต่คนอื่นเขาซื้อชุดหลอดไฟของเราไปในราคา 100 บาท เขาเอาไปขายในห้างได้ 200-300 บาท เพราะคนอื่นเขามีแบรนด์ ในขณะที่เราไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งกว่านั้น ทุกปีลูกค้าจะมาบอกตลอดว่าต้องลดต้นทุนนะ เศรษฐกิจไม่ดีเราก็ต้องลดราคาทุกปี ทั้งๆ ที่สินค้าในตลาดราคาเพิ่มตลอด สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองว่ามาร์จินที่ต้องหายไปเพราะลดต้นทุนนั้น เราควรเอาไปลงทุนสร้างแบรนด์เพื่อให้มันเป็น asset ของเราดีกว่า มันถึงจะเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้มากขึ้น อย่างน้อยๆ มันก็จะสร้าง value ให้กับบริษัทเราในเรื่องสินค้า
กล้าลุกขึ้นมาทำแบรนด์
ผมมองว่าการที่เราเป็น OEM ก็เหมือนการเช่าบ้านอยู่ แต่การสร้างแบรนด์ของตัวเองมันเหมือนการผ่อนบ้าน พูดง่ายๆ คือ OEM มันเป็นรายได้เลี้ยงธุรกิจได้ไปวันๆแต่มันไม่ได้สร้าง value ให้กับองค์กร สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ยังไม่อยากลุกขึ้นมาทำแบรนด์ ก็อาจเป็นเพราะพื้นฐานแนวคิดที่ต่างออกไป เหมือนเช่าบ้านอยู่มันไม่มีภาระ แต่ถ้าเกิดผ่อนบ้านก็มีภาระ ต้องไปดาวน์บ้าน เช่นเดียวกัน ก่อนจะสร้างแบรนด์ได้ก็ต้องลงทุน คนอื่นอาจมองว่าอย่าไปลงทุนเลย สร้างแบรนด์ ถ้าไม่ติดก็เสียดายเงิน ไหนจะความเสี่ยงที่ต้องไปอธิบายกับลูกค้าว่าเราจะสร้างแบรนด์มาแข่งกับเขาหรืออย่างไร คนเลยไม่กล้า แต่ผมเชื่อว่าถ้าเรารู้จักคำนวนความเสี่ยงแล้วโอกาสประสบความสำเร็จมันเยอะกว่าเพราะถ้าเป็น OEM เราไม่มีทางรู้ว่าลูกค้าจะเดินจากเราไปเมื่อไหร่ เราต้องพึ่งคนอื่นหายใจ แต่ปัจจุบันนี้ เราสร้างแบรนด์ของตัวเอง และก็สร้างช่องทางจากโรงผลิตไปถึงลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งสำหรับผมมันก็พิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่า เมื่อก่อน OEM คือ 80% ของรายได้ ทุกวันนี้มันเหลือ 30-40% ของรายได้ ต่อไปมันน่าจะเหลือ 10-20% ทั้งๆ ที่เราเพิ่งเริ่มทำการตลาดมาได้แค่ 3-4 ปี บางคนอาจคุ้นเคยการทำธุรกิจที่เป็น OEM รับจ้างทำ เอาราคาถูกเข้าสู้ แต่ว่าผมมองว่าในระยะยาว มันเป็นธุรกิจที่แข่งกันไปตาย ผมไม่อยากรอให้ถึงวันที่ผมไม่มีทางเลือก แล้วค่อยกระโดดลงมาเล่น
วิธีจัดการความเสี่ยง
ผมจะใช้วิธีประเมินว่า risk กับ return คืออะไร upside คืออะไร downside คืออะไร โดยผมจะประเมินศักยภาพตัวเองเรื่อง 4P ก่อน เรื่องของ product ผมไม่กลัว เพราะคุณภาพ product ผมสู้ได้ เรื่องของ price ผม competitive เพราะเราผลิตเอง เรื่อง place ช่องทางการจัดจำหน่ายผมก็มีท่อเลี้ยงออกจากโรงผลิตไปถึงลูกค้าด้วยช่องทางที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เช่นขายให้กับโครงการอสังหาฯ โครงการรัฐบาล โมเดิร์น เทรด หรือหน้าร้านโดยตรง ส่วนเรื่อง promotion ผมก็ทำการบ้านดูคู่แข่งว่าเขาใช้งบโฆษณาเท่าไหร่ เราลงทุนอย่างนั้นได้ไหม ดังนั้นเราได้กำไรมา เราก็แบ่งมาเป็นค่าสร้าง asset ที่มันเป็น tangible ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเอามาสร้างสิ่งที่มันเป็น intangible อย่างการสร้างแบรนด์
บทบาทการเป็นผู้นำ
ผมพยายามจะ ‘work hard, work smart’ คือทำงานเต็มที่ แต่ไม่ได้ทำแบบก้มหน้าก้มตาทำอย่างเดียว จริงๆ แล้วปรัชญาของผมคือการสร้างคน เพราะผมเป็นคนขี้เกียจ อะไรที่ผมทำไม่เป็น ผมจะหาคนมาทำให้ผม สำหรับผม ทรัพยากรบุคคลจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้องค์กร make or break ผู้นำต้องแบ่งงานได้ งานต้องเดินทั้งๆ ที่ตัวเราไม่อยู่ได้ แต่ก่อนที่งานจะเดินได้ด้วยตัวมันเอง เราต้องพยายามจ่ายงานให้เป็น สร้างคนให้เป็น อย่างผู้จัดการโรงงานของผมทุกวันนี้ อยู่มา 6-7 ปี ทุกคนก็จะบอกเลยว่าเขาก็อปปี้ผมมา 100% งานมันจึงเดินนิ่งมาก เมื่อก่อนงานผมจะเยอะมาก เข้าโรงงาน 5 วัน ทำอย่างไรก็ไม่ทัน ทุกวันนี้ผมเข้าไปอาทิตย์ละวัน ไม่มีอะไรทำ งานประจำแทบไม่มีอะไรทำแล้ว ได้แต่คุยกับผู้จัดการว่ามีปัญหาอะไรไหม ปรึกษาอะไรไหม
ความสำเร็จครั้งใหญ่ของชีวิต
ตอนผมกลับมาทำงานใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2543 ผมอยากจะมีโรงงานที่ทันสมัยเพื่อจะแข่งขันได้ในเวทีโลก ดังนั้นช่วง 7-8 ปีแรกก็พยายามศึกษา พยายามอัพเกรดโรงงานและระบบบริหาร พยายามเอามาตรฐานสากลเข้ามา อย่างรุ่นคุณพ่อจะบริหารแบบ micro management คือลงไปดูทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองเป็น ‘one man show’ แปดโมงเช้าถึงโรงงาน ออกจากโรงงานสองทุ่ม แต่สำหรับผม ผมมองว่าชีวิตคนเราน่าจะมีอะไรได้มากกว่านี้ จะบริหารงานใหญ่ไม่ได้แปลว่าต้องทำงานหนักขนาดนี้ ผมจึงพยายามสร้างทีมขึ้นมา ซึ่งยากมาก เพราะช่วงแรกๆ มาตรฐานเรายังสู้บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้ เราจึงไม่สามารถจ้างคนเก่งได้ ได้แต่คนที่คนอื่นเขาไม่เอา บางคนที่เขาเป็นมืออาชีพเขาก็จะบอกเลยว่าไม่อยากทำกับธุรกิจครอบครัวเพราะฉะนั้นมันใช้เวลามาก เราค่อยๆ เอานํ้าเสียออก นํ้าดีเข้า ปรับระบบจนกระทั่งโรงงานเราทันสมัย สวย ใช้เครื่องจักรไฮเอนด์ทั้งหมด สภาพแวดล้อมการทำงานสะอาด ภาพลักษณ์ทุกอย่างดูดี คราวนี้เราถึงเริ่มได้คนดี อัตรา turnover เริ่มตํ่า อยากจะจ้างใครก็จ้างได้ ตอนนี้ แต่ละคนที่ผมสร้างมาอยู่กับผมมาเป็นสิบๆ ปี หลายคนตัดสินใจได้ 95% เหมือนที่ผมคิดเลย อีก 5% เป็นแค่คอมเมนต์ปลีกย่อยเท่านั้นเอง อันนี้คือความภูมิใจอันหนึ่ง
สร้างศรัทธา
คำๆ เดียวเลยคือความไว้ใจ เขาต้องมี trust กับเรา ผมมองว่ามนุษย์ทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องใจเขาใจเรา ผมจะทำเหมือนเขาเป็นพาร์ทเนอร์ ทำงานกับผมแล้วชีวิตคุณควรจะดีขึ้น อย่างมีคีย์แมนของผมคนหนึ่ง เป็นนักศึกษาต่างจังหวัดเรียนจบแล้วมาอยู่กับผม 10 กว่าปี ตอนนี้เขามีบ้าน มีเงินซื้อที่ดินที่ต่างจังหวัดได้ พาครอบครัวไปเที่ยวเมืองนอกได้ ทำในสิ่งที่ไม่เคยได้ทำจากการทำงานกับเรา ผมมองว่า ถ้าชีวิตเขาไม่ดีขึ้น อย่าอยู่กับผม เพราะฉะนั้น สำหรับคีย์แมนรอบๆตัวผม ผมจะคอยวัดตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไร ชีวิตดีขึ้นไหม ทุกวันนี้บางคนจะซื้อรถแพงๆ เขาก็มาขอผมว่าจะซื้อได้มั้ย ผมบอกเงินคุณนี่ คุณเงินเหลือคุณก็ไปซื้อสิ
คติในการทำงาน
มี 3 คำที่คุณพ่อสอนมาตั้งแต่เด็กๆคือ ‘เข้มแข็ง อดทน เป็นคนดี’ ซึ่งความจริงผมว่ามันใช้ได้หมดทุกอย่าง เพราะว่าเวลาเราทำงาน แน่นอนปัญหามันควบคุมไม่ได้ แต่ผมเข้มแข็ง ผมไม่ท้อ แล้วสิ่งที่คุณพ่อเน้นมากๆคือเราต้องมีจริยธรรมหรือ business ethic ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนทำธุรกิจ ผมว่าชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ใช้เวลาสร้างเป็นสิบๆ ปี แต่มันสามารถจะเสียหายได้ในเวลานิดเดียว แล้วถ้าเราทำอะไรไม่ดีลูกน้องก็จะขาดความศรัทธา ตรงกันข้าม ถ้าเขาเชื่อ เขาศรัทธาในผู้นำ performance เขาจะดีมาก ถ้าเราอยากจะเป็นผู้นำ ผมว่าเราต้องมีคุณธรรมก่อนแล้วเขาจะรู้สึกได้
เรื่องพลาดในชีวิต
ผมพลาดเยอะแยะมาก แต่ผมมองว่าพลาดแล้วก็ต้องยอมกลับลำ อย่างผมเคยคิดว่าจะทำการตลาดแบบป่าล้อมเมือง ไปบุกยึดพวกเอเยนต์ต่างจังหวัด แต่ถึงเวลาแล้วเสียหายเยอะ ลงทุนไป 8 เดือนก็ยังขาดทุนอยู่ ผมก็ตัดสินใจกลับลำ ผมเชื่อว่าผมคิด 100 อย่างผมอาจจะผิดสัก 80 หรือ 90 อย่าง แต่เจ้า 10 อย่างที่ผมทำถูกนี่มันสามารถทำให้ผมเลี้ยงดูตัวเองอยู่ได้และเติบโตขึ้น ผมว่าดีกว่าไม่เคยพลาดเลย แต่ทั้งชีวิตมีโอกาสได้ทำอะไรแค่ 2-3 อย่าง
สไตล์การลงทุน
ผมเป็นคนกล้าได้กล้าเสียนะ แต่ก็ตามอายุ เมื่อก่อนโสด ผมก็กล้าเสี่ยง แต่ทุกวันนี้เริ่มมีครอบครัว ก็ต้องปรับตามอายุ นอกจากเรื่องขยายธุรกิจแล้วก็สนใจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะผมมองว่าพอเศรษฐกิจไม่ดี พวกหุ้นมันก็ devalue แต่สิ่งหนึ่งและสิ่งเดียวในโลกที่ราคาขึ้นตลอดก็คือที่ดิน อนาคตเลยอยากทำบริษัทอสังหาฯ ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่สนุก อาจจะเป็นเพราะผมชอบดีไซน์ด้วย อย่างสร้างโรงงานใหม่นี่ผมจะตื่นเต้น เฮ้ย---ขอดูแบบหน่อยสิ โรงงานจะสวยไหม ข้างในเป็นอย่างไร ผมว่าจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปได้ผมคงเรียนสถาปัตย์ฯ ไม่ใช่วิศวะฯ
ไลฟ์สไตล์ที่ชอบ
ตัวผมเป็นคนไม่ชอบเที่ยวคือให้ผมไปอยู่ทะเลมัลดีฟส์ 4 วันนี่ผมตาย อยู่ไม่ได้ จะเริ่มรู้สึกอยากกลับมาทำงาน หยุดปีใหม่ หรือสงกรานต์ 10 วันนี่ไม่ชอบเลย สิ่งเดียวที่ผมชอบมากกว่าการอยู่ออฟฟิศก็คือการอยู่สนามฟุตบอล ชอบเตะฟุตบอลสมัยหนุ่มๆ ก็เล่นตำแหน่งปีก ทุกวันนี้ก็ยืนอยู่ตรงกลางเฉยๆ เริ่มเดิน เริ่มเขี่ย ทีมโปรดก็แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมไทยยังไม่ได้ดูมาก แต่ผมชอบดูมาร์เก็ตติ้งของทีมไทยอย่างบุรีรัมย์ เมืองทอง แล้วก็ทีมที่กำลังมาอย่างสุพรรณบุรี มองว่ามันอาจจะเป็นธุรกิจที่ดี เพราะเล่นบอลแล้ววันหนึ่งก็อยากมีสโมสรเป็นของตัวเองบ้าง ก็เลยมองๆ ดูว่ามันทำเงินได้ไหม แต่คงไม่มีสตางค์ไปซื้อทีม คงค่อยๆ ปั้นเอง แต่ทำสโมสรมันเป็นฟูลไทม์ จ็อบนะครับ จะไปทำเล่นๆ ไม่ได้
เคล็ดลับการสานต่อธุรกิจ
ผมนี่รุ่นเก่าแล้วหรือครับ ผมก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่เลย ไม่รู้จะแนะนำอะไร ผมว่าต้องหูไวตาไว ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าตัดสินใจผิดปุ๊บก็ผิดทางเลย อย่าง 10 ปีที่แล้วผมอยากขยายธุรกิจ พ่อก็แนะให้ทำโรงงานแก้วไว้มาทำหลอดไฟ แต่ผมไม่เอา ผมไปเรียนรู้วิธีทำสายไฟแล้วก็กลับมาเปิดโรงงานสายไฟ ซึ่งหากผมคิดทำโรงงานแก้วในวันนั้น ตอนนี้ผมคงไม่มีงาน เพราะหลอดไฟเป็น LED หมดแล้ว ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่า LED จะมา แต่ผมแค่มองว่า ข้อแรกโรงสายไฟ 4 โรงในไทยนี่รวยทุกโรง ข้อสองผมไม่คิดว่าจะมีอะไรมาแทนสายไฟได้เพราะอย่างไร ไฟก็ต้องวิ่งตามทองแดง ประเทศเราจะโตได้ต้องใช้สายไฟ ผมพูดเสมอหลอดไฟเหมือนดวงตา สายไฟเหมือนเส้นเลือด ประเทศเราจะขยายก็ต้องใช้สายไฟ
วางเป้าอนาคต Racer
เรื่องของ product variety ผมว่าเราครบแล้วแต่คงพัฒนาสายไฟเพิ่ม เพราะสายไฟเป็นตัวที่โลจิสติกส์เคลื่อนย้ายมาไม่ได้ มันหนักมาก และมาร์จินตํ่า โรงงานสายไฟมันจึงต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ถึงจะ supply บริเวณนั้นได้ ดังนั้น นี่เป็นสิ่งที่จีนจะมาแข่งกับเราไม่ได้ ในเมืองไทยก็มีแค่ 4 ยักษ์ใหญ่ครองตลาดมา 50 ปี คนอื่นไม่เข้า ผมก็ไปดูว่าเพราะอะไร ก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องของการลงทุนและเงินหมุนเวียน ดังนั้นผมก็เลยสร้างพอร์ตเงินหมุนเวียนผมมา แล้วก็ลงทุนอีกประมาณพันล้านเพื่อพัฒนาโรงงานให้เทียบเท่ากับ 4 ยักษ์ใหญ่ ส่วนเรื่องผลผลิตผมไม่ค่อยห่วง เพราะเป็นเรื่องของคอนเน็คชันกับมาร์เก็ตติ้งซึ่งผมว่าทุกวันนี้ชื่อเสียงของบริษัทและส่วนตัวน่าจะพอทำได้ พอสิ้นปีหน้า ถ้าเครื่องจักรผม โรงงานผม การตลาดผมมันแน่น ผมว่าผมน่าจะมีโอกาสเข้าไปชิงตลาดสายไฟได้ ส่วนตลาดต่างประเทศผมไม่ได้มองไกล มองแค่ CLMV ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า และก็เวียดนาม โดยคิดว่าแค่จะเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตสายเคเบิลรายใหญ่ก็พอแล้ว แต่คงไม่คิดเข้าตลาดหุ้นเพราะผมอยากให้เป็นธุรกิจเจ้าของคนเดียวตัดสินใจคนเดียวแบบนี้แหละ ■
รู้จักวิศรุต
วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์ เรียนจบระดับมัธยมต้น จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ออสเตรเลีย และคว้าปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการไฟฟ้าจาก RMIT University ต่อด้วยการเรียน MBA ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ ปัจจุบันวิศรุตเป็นกรรมการบริหาร Racer Group ซึ่งประกอบด้วย
1.
บริษัท เรเซอร์การไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต บัลลาสต์ และอุปกรณ์ แสงสว่าง
2.
บริษัท เรเซอร์-โกลบอล เทรด จำกัด นำเข้า และส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้า
3.
บริษัท เรเซอร์ ไวร์ เวิร์คส จำกัด ดูแลการผลิตวัตถุดิบกลุ่มทองแดงขดลวด และตัวนำไฟฟ้า และ
4.
บริษัท มิราเคเบิ้ล จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายสายไฟ