SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Building a Code
สถาบันอาศรมศิลป์กับความเชื่อมั่นที่ว่าการ 'เอ่ยปากถาม' นั้นเพียงพอที่จะสร้างความแตกต่างในสังคม
อาคารกระจก และตึกปูนสูงเรียงราย คือภาพของสถาบันระดับอุดมศึกษาในความคิดของหลายคน แต่สถาบันอาศรมศิลป์นั้นแตกต่างออกไป หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่ามีหัวสร้างสรรค์ที่สุดในประเทศแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ร่มรื่นในย่านบางมดซึ่งครั้งหนึ่งเคยอุดมไปด้วยไร่ส้ม บริเวณสถาบันนั้นเงียบสงบ ประกอบด้วยศาลาไม้ไผ่เล่นระดับตั้งอยู่ในรายล้อมของบึงน้ำที่ช่วยลดความร้อนของไอแดด ระเบียงเปิดโล่งของศาลาแต่ละหลังได้ร่มเงาจากหลังคามุงจากและแมกไม้เขียวชอุ่ม เช่นเดียวกับทางเดินไม้ซึ่งคดเคี้ยวไปตามริมบึงที่เย็นอยู่ด้วยเงาของทิวไผ่ ไม่ไกลกันนักคือระเบียงขนาดใหญ่ที่มีไว้ให้ชุมชนได้พบปะพูดคุยกัน
“เราตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างสถาบันการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายใน” รศ.ประภาภัทร นิยม กล่าว เธอคือผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์และโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (holistic learning) ที่ตั้งอยู่ติดกัน “เราเป็นสถาปนิก จึงรู้ว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพนั้นมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ นี่คือเหตุผลที่เราไม่สร้างที่นี่ให้เป็นป่าคอนกรีต พื้นที่การเรียนรู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน สิ่งสำคัญคือทุกพื้นที่ต้องถูกออกแบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากภายในด้วย”
ตามที่รศ.ประภาภัทรได้กล่าวไว้ ที่แห่งนี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ อาศรมศิลป์นั้นคือสถาบันแห่งการเรียนรู้และสนับสนุนการศึกษาในลักษณะองค์รวม ที่นี่มีหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม โดยส่งเสริมให้นักศึกษาใช้สภาพแวดล้อมของตนเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้และย้อนมองตนเอง (self-reflection) รวมทั้งมีส่วนร่วมในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชน และทำหน้าที่จัดการสอนในลักษณะที่ปล่อยให้ผู้เรียนกำหนดเอง (self-guided learning)
ทว่าการมองสถาบันอาศรมศิลป์ว่าเป็นสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจเป็นการประเมินที่ต่ำไป ในความเป็นจริงแล้วองค์กรแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชื่อมโยง 3 ศาสตร์ กล่าวคือสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ (ผู้ประกอบการสังคม) ผ่านแนวทางการสร้างความมีส่วนร่วมซึ่งสวนทางกับวิธีการแบบ ‘บนลงล่าง (top down)’ ที่มักถูกใช้กันในโครงการหรือองค์กรต่างๆ แนวทางนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีส่วนร่วมใกล้ชิดในขั้นตอนการพัฒนา ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาทำหน้าที่เพียงช่วยทำให้ความต้องการของผู้ใช้เป็นไปได้ในความเป็นจริง “จุดแข็งของสถาบันอาศรมศิลป์คือเราสามารถนำทุกเครื่องมือทางวิชาการมาช่วยหาทางแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ซึ่งบางครั้งกลไกภาครัฐไม่ได้เอื้อให้ทำได้อย่างเต็มที่ เรามองตัวเองเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ ในสังคมเพื่อทำงานให้สำเร็จ” รศ. ร.อ.ชูวิทย์ สุจฉายา ร.น. รองอธิการบดีฝ่ายบริการสังคม อธิบาย และยังชี้ให้เห็นว่าหลักการนี้ถูกนำมาใช้จริงในการทำงานของบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ผู้เป็นหัวหอกในโครงการพัฒนาทั้งใหญ่และเล็กมาแล้วนับไม่ถ้วนในประเทศ
อาศรมศิลป์นั้นคือสถาบันแห่งการเรียนรู้และสนับสนุนการศึกษาในลักษณะองค์รวม ที่นี่มีหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม
สถาปัตยกรรมคือศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็คือการบริการรูปแบบหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้สถาปนิกต้องคำนึงถึงวิธีการที่ผู้คนจะใช้พื้นที่ซึ่งพวกเขาออกแบบ และตระหนักถึงอิทธิพลของงานออกแบบของตนต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยไปคู่ขนานกัน ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา สถาปนิกโดยมากนิยมออกแบบโดยคาดการณ์พฤติกรรมของผู้ใช้งานและพยายามครุ่นคิดว่าผู้คนใช้ชีวิตอย่างไร ก่อนมาออกแบบอาคารที่คิดว่าตอบโจทย์ มีน้อยครั้งเหลือเกินที่ผู้ใช้จะได้มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดหาคำตอบดังกล่าว ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อันนับเป็นยุคโชติช่วงของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น
ในงานวิจัยของนีล เจ มอนโกลด์ ในปี 1988 ว่าด้วยเรื่องสถาปัตยกรรมชุมชน Community Architecture: Myth and Reality ซึ่งตีพิมพ์โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) นั้น เขาได้อธิบายถึงผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการผลิตสินค้ารูปแบบเดียวกันในปริมาณมาก และทำให้สถาปัตยกรรมโมเดิร์นมักออกมาในรูปของอาคารทรงกล่องแข็งทื่อไร้ชีวิต โดยมีเหล่าสถาปนิกหยิบยกเหตุผลเรื่องแสงธรรมชาติและการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารขึ้นมาอำพรางความต้องการสร้างสรรค์สิ่งปลูกสร้างที่สะท้อนคติความงามส่วนตัวของสถาปนิกมากกว่าผู้อยู่อาศัย
หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ รศ.ประภาภัทร คือการทำให้สถาบันอาศรมศิลป์เป็นภาพสะท้อนที่ตรงกันข้ามของแนวคิดดังกล่าว โครงการต่างๆ ของอาศรมศิลป์จะเริ่มต้นจากการฟังเสียงชุมชนก่อนว่าผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างไร ประกอบอาชีพแบบไหน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้จะถูกนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการออกแบบต่อไป สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นมีแนวคิดว่าสถาปัตยกรรมมีอิทธิพลต่อผู้อยู่อาศัย แต่ดูเหมือนว่าความจริงแล้ว ผู้อยู่อาศัยต่างหากที่ควรเป็นคนกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรม
หลักการอันเรียบง่ายนี้เป็นปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในพันธกิจของสถาบันอาศรมศิลป์ โครงการสถาปัตยกรรมหลายแห่งซึ่งได้รับการบริหารจัดการผ่านบริษัทสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมของอาศรมศิลป์ ตั้งแต่โครงการพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยสเกลใหญ่ ไปจนถึงการบูรณะบ้านอยู่อาศัยนั้น ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องคนก่อนความสวยงามในการออกแบบเสมอ อาศรมศิลป์ไม่ใช่สถาบันแห่งเดียวที่ส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว ทุกวันนี้ สถาปนิกทั่วโลกกำลังนำแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมมาใช้ อย่างกุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกไทยในลอสแอนเจลิสผู้มีชื่อเสียง ก็ได้เปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานที่เขาทำให้กับพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในมหานครนิวยอร์ก และพิพิธภัณฑ์ Grand Rapids Art Museum ในรัฐมิชิแกน แนวคิดการออกแบบอาคารเพียงเพื่อให้เป็นจุดสนใจหรือแสดงอัตตาสถาปนิกดูจะเป็นเรื่องที่ถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ “ภายในทศวรรษหลังจากนี้ ประชากรไทยมากกว่าครึ่งจะอาศัยอยู่ในเมือง เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองที่สะอาด เอื้อต่อสุขภาวะ น่าเดิน และปลอดภัย” ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ กล่าว เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ด้านสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว
โครงการต่างๆ ของ อาศรมศิลป์จะเริ่มต้นจากการฟังเสียงชุมชนก่อนว่าผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างไร ประกอบอาชีพแบบไหน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้จะถูกนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการออกแบบต่อไป
ในทางปฏิบัติ แนวคิดนี้แบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลักๆ คือเรื่องพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนมักให้ความสนใจ โดยสถาปนิกจะนำความเห็นของชุมชนและผู้ใช้ไปเป็นกรอบความคิดในการออกแบบ หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือโครงการปรับปรุงแปลนภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายาซึ่งเสร็จสิ้นในปี 2011 โครงการนี้ได้เปลี่ยนวิธีที่นักศึกษานั้นใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย โดยทีมขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทั้งนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและผู้ที่ทำงานในบริษัทสถาปัตยกรรมของอาศรมศิลป์ ได้กระตุ้นให้ทั้งกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยและชุมชนในวงกว้างเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูงด้วย สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือ “พื้นที่ในมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับนักศึกษาและพนักงาน” พวกเขาจึงได้เพิ่มทางจักรยาน ทางเท้า และพื้นที่สีเขียวจำนวน 200 ไร่ รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้มหิดลตรงพื้นที่กลางมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเติมเต็มหัวใจที่ขาดหาย
สถาบันอาศรมศิลป์ยังนำแนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นอันดับแรก มาใช้ในการออกแบบหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับบริษัทสถาปนิกสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียง Plan Architect โดยแทนที่จะมุ่งความสำคัญไปที่การออกแบบหอจดหมายเหตุในฐานะแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูลและเอกสารอย่างเดียว ที่แห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดสำหรับการพักผ่อน ศึกษาหาความรู้ และทำวิจัย ผลลัพธ์ที่ได้คือโครงสร้างปูนเรียบๆ ซึ่งแต่ละห้องเชื่อมต่อกันด้วยซุ้มหินโค้งเปิดโล่งขนาดใหญ่และทางเดินที่โปร่ง สว่างด้วยแสงธรรมชาติ รายล้อมด้วยแมกไม้ร่มรื่น อาคารแห่งนี้เรียบง่ายและประหยัดงบประมาณ ทั้งในแง่การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น
ในขณะที่บรรดาสื่อมักหยิบยกโครงการใหญ่เหล่านี้มาพูดถึงบ่อยครั้ง รวมไปถึงโครงการสัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่อาศรมศิลป์เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ สิ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงนักคืองานบูรณะซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ ที่ย่อมลงมา เช่น โครงการบูรณะซ่อมแซมบ้านบุณยัษฐิติอายุกว่า 100 ปีในจันทบุรี ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวและชุมชนจันทบุรี (ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ) และโครงการบ้านพักประวัติศาสตร์ หลวงราชไมตรี ซึ่งได้ดัดแปลงบ้านอายุกว่า 150 ปีของหลวงราชไมตรี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก ให้เป็นโรงแรมกึ่งพิพิธภัณฑ์ โดยโครงการดังกล่าวได้รวบรวมคิดความเห็นจากคนในชุมชนและทายาทของหลวงราชไมตรีรวมกว่า 500 คน และในปี 2015 โครงการพัฒนาดังกล่าวยังได้รับรางวัล Award of Merit จากองค์การยูเนสโก เนื่องด้วยการใช้โมเดลกิจการเพื่อสังคมเพื่อฟื้นฟูเมืองในจังหวัดจันทบุรี
แนวทางการทำโครงการสถาปัตยกรรมชุมชนของเราไม่ใช่การตัดสินใจจากบนลงล่าง แต่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน
“ความรู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 21 หัวใจมันอยู่ที่ว่าเราจะฝึกให้ตัวเอง ‘เรียน’ อย่างไร เราให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมและการย้อนมองตนเอง นั่นแปลว่าแนวทางการทำโครงการสถาปัตยกรรมชุมชนของเราไม่ใช่การตัดสินใจจากบนลงล่าง แต่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน และเรียนรู้ที่จะรับฟังความเห็นของคนที่จะใช้พื้นที่นั้นๆ ในชีวิตประจำวัน” ประยงค์อธิบาย
อีกหนึ่งโครงการที่โดดเด่นของสถาบันอาศรมศิลป์ในการนำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปฏิบัติคือ ‘ลานกีฬาพัฒน์ 2’ โครงการซึ่งสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายของชุมชน
ทางสถาบันได้ร่วมมือกับบริษัทสถาปัตยกรรมเพื่อสังคม Shma Soen และเข้าไปสำรวจความคิดเห็นภายในชุมชนตามกระบวนการแบบล่างขึ้นบน คนในชุมชนได้เสนอไอเดียต่างๆ เข้ามาท่วมท้น ตั้งแต่พื้นที่ทางวัฒนธรรมไปจนถึงสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับชุมชนและครอบครัว ผลลัพธ์ที่ได้คือพื้นที่กว้างเปิดโล่งซึ่งประกอบด้วยสวนสีเขียวชอุ่ม ลู่วิ่ง ลานกีฬา และพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ออกกำลังกายแบบกลุ่มสำหรับผู้สูงวัย นอกจากนี้ งานออกแบบดังกล่าวยังชนะรางวัลประเภท Smart Cities จากเทศกาล World Architecture Festival ที่จัดขึ้น ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ในปี 2018 อีกด้วย
โครงการนี้แสดงให้เห็นชัดถึงการประยุกต์ใช้แนวทางของสถาบันอาศรมศิลป์ในชีวิตจริง เมื่อไม่นานมานี้ อาศรมศิลป์จึงตัดสินใจก่อตั้งหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมขึ้น โดยหลักสูตรนี้มุ่งฝึกนักศึกษาและสมาชิกชุมชนให้ทำธุรกิจแบบยั่งยืนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนผ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งพยายามทำกิจการเพื่อสังคมแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความพยายามแบบผิดที่ผิดทาง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นจากภายในชุมชนก่อน แล้วจึงจะพัฒนาไปเป็นกิจการเพื่อสังคมได้” เอื้อมพร ลอยประดิษฐ์ อาจารย์พิเศษประจำหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม อธิบาย
โครงการผู้ประกอบการสังคมแห่งแรกของอาศรมศิลป์นั้นเกิดขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 150 กิโลเมตร บรรดานักศึกษาได้ช่วยหมู่บ้านแห่งหนึ่งให้พ้นจากความยากจน โดยใช้ทักษะพิเศษของคนในชุมชนอย่างการทำกล้วยตากและน้ำมันสมุนไพรจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ พวกเขาแนะนำคนในชุมชนให้รู้จักกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายและทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ในจังหวัดสงขลาเองก็มีการดำเนินโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยทีมซึ่งนำโดยสถาบันอาศรมศิลป์ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบูรณะเมืองเก่าสงขลา และสอนคนในชุมชนให้นำประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมายาวนานมาสร้างเป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นชุมชน รศ. ร.อ.ชูวิทย์ หัวหน้าโครงการดังกล่าวเล่าว่าเป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนพื้นที่เมืองเก่าให้เป็นแหล่งมรดกโลก แม้จะฟังดูยิ่งใหญ่ แต่หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของอาศรมศิลป์ เป้าหมายดังกล่าวก็ดูเหมือนจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ทว่ารางวัลและเกียรติยศต่างๆ ก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่ รศ.ประภาภัทร ผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ และทีมงานของเธอให้ความสำคัญ รางวัลเหล่านี้เพียงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงานของพวกเขาในสายตาคนทั่วไปเท่านั้น หัวใจที่แท้จริงคือการที่ชุมชนร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาภายในชุมชนของพวกเขา โดยการบูรณาการทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และความรู้ในเรื่องผู้ประกอบการสังคม
รศ.ประภาภัทรเปรียบเปรยสถาบันอาศรมศิลป์ว่าเป็นครูซึ่งทำหน้าที่ดั่งชาวนา “ชาวนาไม่ได้ปลูกข้าวโดยหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วสอนให้ต้นข้าวเติบโต เพราะต้นข้าวรู้อยู่แล้วว่าต้องเติบโตเช่นไร หน้าที่ของชาวนาแท้จริงมีแค่การหมั่นรดน้ำพรวนดินและจัดสรรให้ข้าวได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นข้าวสามารถงอกเงยและแตกรวงได้อย่างสวยงามเท่านั้นเอง”
Essentials