HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Coming into Bloom

การจัดดอกไม้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นศิลปะในวงแคบนั้นกำลังเปิดกว้างต่ออิทธิพลของนักจัดดอกไม้รุ่นใหม่และความเห็นบนโซเชียลมีเดีย

กลิ่นหอมคุ้นจมูกอบอวลไปทั่วร้านดอกไม้เล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านอารีย์ ร้านดอกไม้แห่งนี้เงียบสงบราวกับถูกตัดขาดจากความจอแจของถนนด้านนอก โดยมีเพียงเสียงกรอบแกรบของกระดาษห่อดอกไม้และเสียงตัดฉับของกรรไกรด้ามคมขณะเล็มใบไม้ให้ได้ยินอยู่เป็นครั้งคราว หญิงสาวเจ้าของร้านเขย่าช่อดอกไม้อย่างบรรจงเพื่อสลัดกลีบดอกไม้ที่เหี่ยวแล้วให้หลุดออก ขณะที่เธอหันไปยกดอกไม้สดออกมาจากตู้แช่ด้านหลัง ละอองเกสรก็ฟุ้งกระจายไปในอากาศ จนอาจทำให้ใครก็ตามที่เป็นภูมิแพ้จามไม่หยุด แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ร้าน Flower in Hand by P. คืออีกหนึ่งพิกัดสำหรับเหล่าคนรักงานประดิษฐ์ ผู้ตามหาช่อดอกไม้ดีไซน์เก๋ ดอกไม้แห้งหลากสีสันที่อัดแน่นในกล่องไม้สำหรับคนพิเศษ หรือขนมธีมดอกไม้ที่ทางร้านอบเอง

ร้านจัดดอกไม้ขนาดเล็กแห่งนี้ คือตัวอย่างของร้านดอกไม้ที่ประสบความสำเร็จจากการนำวัฒนธรรมเก่าแก่มาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย โดยผนังของทางร้านนั้นเรียงรายไปด้วยสารพัดของจุกจิก ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกไม้ ริบบิ้นหลากสี หรือที่ขาดไม่ได้ เมนูกาแฟสโลว์ดริป ซึ่งเหมาะแก่การดึงดูดเหล่าคนรุ่นใหม่ผู้หลงใหลการตามถ่ายภาพร้านกาแฟฮิปเป็นอย่างยิ่ง “ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะยังนิยมซื้อช่อดอกไม้จากร้านดอกไม้ทั่วๆ ไปมากกว่า แต่เราสังเกตว่าก็ยังมีลูกค้าที่ชอบสไตล์ของร้านเราอยู่ สไตล์ที่ร้านเราจะค่อนไปทางงานศิลปะ กลุ่มลูกค้าของเราก็เลยค่อนข้างที่จะมีความเป็นศิลปิน มันน่าจะเป็นแนวที่ถูกใจคนเฉพาะกลุ่ม” แพร พานิชกุล ผู้ก่อตั้งร้าน Flower in Hand by P. กล่าว

ผู้บริโภคโดยมากแล้วไม่ได้มองว่าการซื้อดอกไม้นั้นเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับโอกาสพิเศษ แต่กลับมองว่าดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และมีไว้เพื่อจุดประสงค์อย่างการแต่งบ้านหรือสร้างบรรยากาศ

อุตสาหกรรมดอกไม้ทั่วโลกนั้นเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ร้านจัดดอกไม้ผู้ชำนาญงานสเกลใหญ่อย่าง Fleur by Rainforest และ PHKA Floral Design Studio นั้นยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่ขาดสาย แต่ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่าง Flower in Hand by P. หรือ VLYN Floral Design Studio สตูดิโอเล็กๆ ซึ่งเน้นการจัดดอกไม้ให้เหมาะกับการประดับบ้านในชีวิตประจำวันนั้น ก็เริ่มมีปรากฏให้เห็นอยู่โดยทั่ว นอกจากนั้น พฤติกรรมยุคดิจิทัลของผู้บริโภคยังทำให้ธุรกิจจัดส่งดอกไม้ผ่านช่องทางออนไลน์เบ่งบาน อาทิ ร้านดอกไม้สัญชาติสิงคโปร์ A Better Florist ซึ่งมีแอปพลิเคชันสำหรับส่งดอกไม้ให้ถึงมือลูกค้าในเวลาอันสั้น และร้าน Rocha Floraison ร้านจัดดอกไม้สไตล์หรูหรา ไม่ว่าบูเกต์แสดงความยินดีหรือพวงหรีดงานศพ

มุมมองและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อดอกไม้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีความหลากหลายขึ้น ลี ชุง ฮวง นักวิชาการด้านธุรกิจดอกไม้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ช่วงสิบปีเปิดผ่านมานั้นผู้บริโภคมีมุมมองที่กว้างขึ้นเรื่องดอกไม้ ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ฮวงพบว่าผู้บริโภคโดยมากแล้วไม่ได้มองว่าการซื้อดอกไม้นั้นเป็นกิจกรรมที่สงวนไว้สำหรับโอกาสพิเศษ แต่กลับมองว่าดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และมีไว้เพื่อจุดประสงค์อย่างการแต่งบ้านหรือสร้างบรรยากาศ

โซเชียลมีเดียยังทำให้รูปแบบการจัดดอกไม้ที่ค่อนข้างเฉพาะตัวกลายเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังเกิดการหยิบจับสไตล์ต่างๆ มาผสมผสานกันมากขึ้น

ในแวดวงธุรกิจดอกไม้ในไทย ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ายุคนี้คนนำดอกไม้มาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ โดยสาเหตุหลักคือความสะดวกสบายที่มากขึ้นในการจัดหาดอกไม้หรือนักจัดดอกไม้ สมัยก่อน นอกจากในร้านจัดดอกไม้ งานเทศกาล หรืองานพิธีกรรมแล้ว ผู้คนแทบจะไม่มีโอกาสสัมผัสกับศิลปะการจัดดอกไม้เลย แต่ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการจัดดอกไม้สมัยใหม่นั้นปรากฏให้เห็นอยู่ทุกที่ นับตั้งแต่ร้านดอกไม้ออนไลน์ที่เรียกลูกค้าด้วยคอนเทนต์และภาพไลฟ์สไตล์สวยๆ ไปจนถึงสตูดิโอจัดดอกไม้ที่แฝงตัวอยู่ตามย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ อาทิ ร้านดอกไม้ One Day Wallflowers ในซอยนานา และคาเฟ่ดอกไม้หน้าตาวินเทจอย่าง Floral Cafe at Napasorn ในย่านปากคลองตลาด

“เดี๋ยวนี้พอมีโซเชียลมีเดียเข้ามา การแข่งขันก็สูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก” สกุล อินทกุล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้บนถนนสามเสนและดีไซน์เนอร์ระดับตำนานในแวดวงดอกไม้ไทยกล่าว “กระแสต่างๆ บนโลกออนไลน์กำลังล้ำหน้าไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ทุกคนมีแพล็ตฟอร์มเป็นของตัวเอง แต่หากต้องการจะประสบความสำเร็จ คุณต้องหมั่นศึกษา ไม่อย่างนั้นคุณก็ไปไม่รอด” ดีไซเนอร์ผู้สามารถออกแบบงานได้ตั้งแต่ซุ้มดอกไม้ตระการตา งานจัดดอกไม้ไทยแบบร่วมสมัย ไปจนถึงงานศิลปะเรียบง่ายอย่างการจัดดอกไม้หนึ่งดอกในแจกัน กล่าว

โซเชียลมีเดียยังทำให้รูปแบบการจัดดอกไม้ที่ค่อนข้างเฉพาะตัวกลายเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังเกิดการหยิบจับสไตล์ต่างๆ มาผสมผสานกันมากขึ้น ทุกวันนี้ แม้แต่นักจัดดอกไม้รายเล็กๆ ก็สามารถสร้างกลุ่มผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียได้หากมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์มากพอ “นักจัดดอกไม้ร่วมสมัยค่อนข้างเปิดกว้างเรื่ององค์ประกอบที่นำมาใช้ในงานจัดดอกไม้ คุณจะใช้สมุนไพร ผัก วัชพืช ดอกไม้จากสวนหรือข้างทาง หรือจะจัดดอกไม้ในขวดน้ำมันก็ได้ เดี๋ยวนี้ทัศนคติเปิดกว้างว่าอะไรสวยและควรค่าแก่การอยู่ในช่อดอกไม้” ลิซซี โอเลียรี กล่าวใน Marketplace รายการคลื่นวิทยุของชาวอเมริกันเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแพรเห็นด้วยอย่างยิ่ง “กระแสมันเปลี่ยนอยู่ตลอด หลายๆ ครั้งลูกค้าชอบขอเราให้ดีไซน์ช่อดอกไม้แบบใหม่ๆ ให้ ซึ่งพอเรานำไปแชร์ในโลกออนไลน์ ลูกค้าคนอื่นๆ ก็อยากได้บ้าง จากประสบการณ์ส่วนตัว เราว่างานจัดดอกไม้สไตล์นี้มันมีตลาดรองรับอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้หากันลำบาก โซเชียลมีเดียก็เข้ามาช่วยในเรื่องนี้”

กระทั่งผู้บริโภคก็ถูกดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ แพรเล่าว่าสิ่งนี้เองคือหนึ่งในหัวใจความสำเร็จของธุรกิจของเธอ เพราะแพรจัดเวิร์กช็อปที่ร้านสำหรับผู้คนที่รู้จักร้านของเธอผ่านช่องทางออนไลน์อยู่เป็นประจำ และเมื่อชั้นเรียนสิ้นสุดลง เธอจะรวบรวมผลงานของลูกศิษย์แต่ละคนและเผยแพร่ลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งปรากฏว่าหลายต่อหลายครั้งผลงานเหล่านี้นี่เองที่มีคนติดต่อเข้ามาขอซื้อเอาไว้

ความเปลี่ยนแปลงทำให้แม้แต่ผู้เล่นรุ่นเก๋าของแวดวงการจัดดอกไม้ไทยก็ต้องขยับตัว หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเทศกาลดอกไม้ Nai Lert Flower & Garden Art Fair ของปาร์คนายเลิศ ซึ่งมีณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร วัย 37 ปี เป็นหัวเรือใหญ่ งานเทศกาลนี้จัดขึ้นครั้งแรกโดยท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติสิริ ผู้เป็นยายของเธอ ในบริเวณล็อบบี้เก่าของโรงแรมเมื่อปี 2529 และมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความสนใจศิลปะการจัดดอกไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ภายใต้การนำของณพาภรณ์ เทศกาลดอกไม้นี้ได้ขยับขยายมาจัดบริเวณพื้นที่กลางแจ้งขนาด 20 ไร่ของปาร์คนายเลิศแทน และได้กลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ทุกวันนี้งาน Nai Lert Flower & Garden Art Fair นั้นไม่เพียงแต่นำเสนอศิลปะการจัดดอกไม้แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังมีการนำวัสดุแปลกใหม่ อาทิ เศษแก้ว ใบไม้ และโลหะมีค่าอื่นๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างพวงมาลัยอีกด้วย ภาพคฤหาสน์ซึ่งเคล้าไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไทยและดอกไม้หลากสีที่ถูกจัดแต่งด้วยลูกเล่นสมัยใหม่นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังครอบคลุมแวดวงศิลปะการจัดดอกไม้แทบทุกอณู “นักจัดดอกไม้ก็เหมือนเชฟทำอาหารที่ต้องคอยคิดพลิกแพลงสูตรอาหารจากตำรับเก่าแก่ และคอยมองหาวัตถุดิบใหม่ๆ ในท้องถิ่น นี่คือวิธีการประยุกต์ศิลปะการจัดดอกไม้ให้เข้ากับยุคสมัย” ณพาภรณ์เปรียบเทียบ

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ อุตสาหกรรม เหล่าคนรุ่นใหม่ผู้มาพร้อมกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย คือกุญแจสำคัญในการกำหนดทิศทางของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกของศิลปะการจัดดอกไม้ ศาสตร์ซึ่งครั้งเคยสงวนไว้สำหรับมืออาชีพและโอกาสพิเศษนี้ ปัจจุบันกำลังเปิดกว้างขึ้นเพื่อรองรับความเห็นและการมีส่วนร่วมจากทั่วทุกสารทิศ โดยมีบรรดาเว็บไซต์และระบบธุรกรรมออนไลน์คอยช่วยให้การปรับเปลี่ยนเป็นไปอย่างราบรื่น

ท่ามกลางกระแสความนิยมที่เปลี่ยนแปรได้ทุกขณะ การคาดเดาถึงอนาคตเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน ศิลปะการจัดดอกไม้นั้นถึงคราวเบ่งบานแล้ว

Essentials


A Better Florist

abetterflorist.com

Flower in Hand by P.

ซอยอารีย์ 2 ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ

fb.com/flowerinhandbyp

Nai Lert Park Heritage Home

4 ซอยสมคิด ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ

bit.ly/2wrHwiu

One Day Wallflowers

31-33 ซอย นานา ถนนไมตรีจิตต์ กรุงเทพฯ

bit.ly/2WBLcNC

Rocha Floraison

fb.com/rochafloraison

The Museum of Floral Culture

315 ซอยองค์รักษ์ 13 ถนนสามเสน กรุงเทพฯ

www.floralmuseum.com