HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Street Shooting

ปัจจุบัน ศิลปะการถ่ายภาพสตรีทนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่างภาพสตรีทไทยหลายคนก็สามารถออกไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลก แต่ศิลปะการถ่ายภาพดังกล่าวอาจต้องใช้องค์ประกอบที่ลึกซึ้งกว่าเพียงความสวย

ในภาพถ่ายขาวดำดูเหนือจริงซึ่งทำให้ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ชนะเลิศการแข่งขันถ่ายภาพสตรีทของ Miami Street Photography Festival 2014 จากบรรดาภาพถ่ายกว่า 100,000 ใบนั้น จะเห็นชายชาวเอเชียสองคนยืนทอดอารมณ์อยู่เบื้องหลังทิวสน ชายคนแรกคีบบุหรี่ไว้ในมือ มีเพียงใบหน้าและลำตัวส่วนหนึ่งโผล่พ้นออกมา ขณะที่ชายอีกคนหนึ่งมีใบสนปกคลุมทุกส่วนเว้นไว้แต่เพียงใบหน้า ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ นับตั้งแต่การแจ้งเกิดในฐานะช่างภาพสตรีทเมื่อปี 2014 ชายวัย 37 ปีรายนี้ก็ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในช่างภาพสตรีทที่ทรงอิทธิพลที่สุดทั้งในไทยและต่างประเทศ และได้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นหลายชิ้น อาทิ Flying Carpet ภาพชวนยิ้มของเด็กหญิงตัวเล็กผู้ซึ่งกำลังเล่นกับพรมพริ้วไหว และ The Smooth Criminal ซึ่งชายคนหนึ่งพยายามเรียกความสนใจจากผู้ที่สัญจรผ่านด้วยการเอนตัวลงจากฟุตบาทเลียนแบบท่าเต้นยอดฮิตของราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็กสัน ทวีพงษ์ประสบความสำเร็จและกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงนักถ่ายภาพสตรีทอย่างมาก จนทำให้หลายคนอาจไม่สำเหนียกด้วยซ้ำว่าก่อนหน้านี้ เขาเคยได้เริ่มและขออำลาจากวงการถ่ายภาพไปเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2004 หลังทวีพงษ์จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับนิตยสาร National Geographic ประเทศไทย เมื่อภาพถ่ายย่านพาหุรัดของเขาที่ส่งไปยังคอลัมน์ ‘ไปรษณีย์จากทางบ้าน’ ได้รับคัดเลือกให้ลงนิตยสาร และทำให้หัวหนังสือสนใจจ้างเขามาถ่ายภาพ แต่ต่อมา ด้วยค่าตอบแทนที่อาจไม่ได้ไปด้วยกันกับแรงและเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน เขาจึงหันไปเปิดบริษัทร่วมกับเพื่อนในชื่อ ‘สาธุ ฟิล์ม’ และรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาเพื่อใช้ภายในองค์กรต่างๆ แทน งานประจำดังกล่าวสร้างรายได้ให้กับทวีพงษ์ ขณะที่อาชีพช่างภาพของเขานั้นกลายเป็นเพียงความทรงจำเลือนราง “สมัยนั้นเราใช้กล้องฟิล์ม กว่าจะทำเสร็จหนึ่งงานต้องใช้เวลาหลายเดือน เราเลยรู้ตัวว่าน่าจะไม่รอด จึงตัดสินใจหันไปจับงานด้านที่เรียนมาและปลีกตัวจากการถ่ายภาพไป” ทวีพงษ์เล่า

แต่แล้วในปี 2013 ภรรยาของทวีพงษ์ได้มอบตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงเทพฯ-พาราณสี ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของอินเดีย ให้เป็นของขวัญวันครบรอบแต่งงานของทั้งคู่ ปรากฏว่าขณะที่เขากำลังออกตระเวนเก็บภาพผู้คนตามถนนสายต่างๆ ของอินเดียเพียงลำพัง ไฟในฐานะช่างภาพของเขาก็ถูกเป่าให้คุโชนขึ้นมาอีกครั้ง ประจวบเหมาะกับภายในเวลาไม่กี่วันหลังเขาเดินทางกลับจากอินเดีย เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มช่างภาพสตรีทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง Street Photo Thailand ได้ชักชวนให้ทวีพงษ์ทำภารกิจถ่ายภาพสตรีทเป็นระยะเวลา 365 วันตลอดปี 2014 เขาจึงออกไปถ่ายภาพทุกวันไม่ขาด และตัดสินใจส่งผลงานบางส่วนของตัวเองเข้าประกวด จนกระทั่งในปีเดียวกันนั้นเอง เขาสามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรติในหมู่ช่างภาพสตรีททั่วโลกมาครองถึง 2 รางวัล กล่าวคือ Miami Street Photography และ EyeEm Street Photography

ในอดีต คนมักจะสับสนระหว่างภาพถ่ายแนวสตรีทกับสารคดี หรืออย่างมากก็คิดว่าการถ่ายภาพสตรีทคือการถ่ายขอทานบนท้องถนน

“ในอดีต คนมักจะสับสนระหว่างภาพถ่ายแนวสตรีทกับสารคดี หรืออย่างมากก็คิดว่าการถ่ายภาพสตรีทคือการถ่ายขอทานบนท้องถนน จริงๆ ถึงภาพเหล่านั้นจะจัดเป็นภาพสตรีทเช่นกันแต่อาจไม่ใช่ภาพสตรีทที่ดี เพราะภาพสตรีทที่ดีต้องสามารถสื่อสารข้อความบางอย่างออกมา ไม่ใช่แค่สักว่าถ่ายสิ่งที่เกิด เหมือนสารคดีที่ทำไม่เสร็จ” ทวีพงษ์กล่าว

นิยามการถ่ายภาพสตรีทนั้นอาจต่างออกไปสำหรับแต่ละบุคคล แต่กลุ่มช่างภาพสตรีทนานาชาติอย่าง In-Public ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2000 และส่งอิทธิพลต่อช่างภาพสตรีทไทยเป็นวงกว้างนั้น ได้ให้คำจำกัดความกว้างๆ ไว้ว่าเป็น “การถ่ายภาพในที่สาธารณะโดยไม่มีการจัดฉาก และเป็นการถ่ายภาพเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตจริงอย่างมีสุนทรียศาสตร์” โดยปัจจุบัน ทวีพงษ์นั้นเป็นช่างภาพชาวเอเชียคนแรกจากทั้งหมดสองคนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มอินพับบลิก

ขณะที่การถ่ายภาพในลักษณะจัดฉากนั้นต้องอาศัยการตระเตรียมต่างๆ รวมทั้งการจัดแสงและกระบวนการแต่งภาพ ช่างภาพสตรีทนั้นต้องพึ่งพาทักษะอื่นๆ ที่ต่างออกไป เพราะโอกาสที่พวกเขาจะได้รูปถ่ายดีๆ สักใบนั้นหลายครั้งเกิดขึ้นเพียงชั่วเสี้ยววินาที การแต่งสีภาพอาจช่วยให้ผู้ถ่ายได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจยิ่งขึ้น แต่ความอดทนและมุ่งมั่นนั้นเป็นหัวใจสูงสุด ถ้าอยากได้ภาพที่ดี การมีวินัยและไม่กลัวความล้มเหลวนั้นเป็นคุณลักษณะสำคัญ “ไม่ใช่ช่างภาพสตรีทอาชีพทุกคนจะได้ภาพที่ตัวเองพอใจทุกวัน คุณต้องหมั่นออกไปถ่ายภาพให้เป็นนิสัยและทำต่อเนื่อง พอมีผลงานออกมาเรื่อยๆ เราก็จะสามารถสร้างสไตล์ของตัวเองได้ พอคนอื่นเห็นรูปก็นึกออกว่าใครถ่าย” ทวีพงษ์กล่าว

ทวีพงษ์ได้แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพมาจากแนวคิดเรื่อง ‘decisive moment’ ของช่างภาพสตรีทระดับตำนานอย่างอ็องรี การ์ตีเยแบรซง ซึ่งพูดถึงเสี้ยววินาทีสำคัญที่อาจเป็นตัว ‘ตัดสิน’ ว่าภาพๆ หนึ่งจะเป็นภาพถ่ายธรรมดาหรือพิเศษ ทวีพงษ์เชื่อว่าภาพสตรีทที่ดีต้องไม่สามารถลอกเลียนหรือทำซ้ำได้ และหลายครั้งโอกาสได้รูปสวยๆ ก็เกิดจากความบังเอิญมากกว่าตั้งใจ “เวลาออกไปถ่ายภาพสตรีท ถ้าเราจดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ น้อยครั้งที่เราจะได้ภาพสวยๆ แต่ถ้าเราปล่อยใจไป เห็นอะไรก็กดถ่ายเหมือนเป็นปฏิกริยาตอบโต้อัตโนมัติ เรามีแนวโน้มจะได้รูปที่ชอบมากกว่า อย่างรูปเด็กสะบัดพรม คนอาจจะคิดว่าเราเล็งจังหวะ แต่จริงๆ มันเป็นความไม่ตั้งใจ เราแค่ถือกล้องวิ่งหยอกเด็กแล้วก็กดชัตเตอร์รัวๆ ไปด้วยเท่านั้นเอง” เขากล่าว

การถ่ายภาพสตรีทนั้นมีหลักฐานปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ศิลปะการถ่ายภาพสตรีทอย่างที่หลายคนรู้จักทุกวันนี้ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างจริงๆ จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อช่างภาพระดับตำนาน อาทิ อ็องรี การ์ตีเย-แบรซง โจแอล เมเยอโรวิซ อเล็กซ์ เว็บบ์ และมาร์ค โคเฮน ได้เริ่มนำเทคนิคอย่างการเล่นเลเยอร์ การจัดองค์ประกอบภาพ และการถ่ายภาพสี มาใช้ในการถ่ายภาพสตรีทปัจจุบัน มีการแข่งขันถ่ายภาพสตรีทระดับนานาชาติประมาณ 10 รายการเป็นอย่างน้อยในแต่ละปี และมีช่างภาพสตรีทจากหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้าร่วม

ในประเทศไทย แนวคิดเรื่องการถ่ายภาพสตรีทเพิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภาพถ่ายแนวนี้มีปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนมาถึงในช่วงยุค ’50s ที่เริ่มปรากฏผลงานของช่างภาพสตรีทหลายราย อันเป็นสมัยที่การถ่ายภาพยังถือเป็นสิ่งหรูหราและมักกระทำแต่ในสตูดิโอเท่านั้น เช่น อดีตนักเขียนชั้นครู ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และจิตต์ จงมั่นคง ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับซึ่งเคยถวายงานล้างฟิล์มพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นเวลากว่า 37 ปี อย่างไรก็ดีการถ่ายภาพสตรีทก็แทบไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยจนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีก่อนและเพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาเท่านั้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้การถ่ายภาพสตรีทแพร่หลายมากขึ้นนั้นมาจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียและการที่มีช่างภาพสตรีทไทยหลายคนออกไปสร้างชื่อในระดับนานาชาติ

ภาพถ่ายสตรีทที่ดีควรสื่อสารลงลึกไปกว่าเพียงความสวยงาม ภาพถ่ายสตรีทมันเป็นศิลปะร่วมสมัยแขนงหนึ่ง ซึ่งในงานร่วมสมัยนั้น คุณต้องวิพากษ์วิจารณ์ล้อไปกับสังคมแต่ละยุคสมัย หรือบอกเล่าอะไรที่แตกต่างได้

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ผู้ก่อตั้ง ‘สยามสตรีทเนิร์ด’ บล็อกยอดนิยมในหมู่คนถ่ายภาพสตรีท และเจ้าของร้านขายอุปกรณ์กล้องฟิล์ม Husband and Wife เริ่มถ่ายภาพสตรีทอย่างจริงจัง เขาเองมองว่าทวีพงษ์เป็นจุดเปลี่ยนในวงการถ่ายภาพสตรีทของไทย เนื่องด้วยสไตล์ที่มีความตื่นเต้นและเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า ขณะที่งานถ่ายภาพสตรีทในช่วงยุคก่อนหน้าอาจไม่ได้มีความหวือหวาเท่า สำหรับอาทิตย์แล้ว ภาพถ่ายสตรีทที่ดีควรสื่อสารลงลึกไปกว่าเพียงความสวยงาม “ภาพถ่ายสตรีทมันเป็นศิลปะร่วมสมัยแขนงหนึ่ง ซึ่งในงานร่วมสมัยนั้น คุณต้องวิพากษ์วิจารณ์ล้อไปกับสังคมแต่ละยุคสมัย ภาพสตรีทที่ดีต้องบ่งบอกวัฒนธรรม หรือบอกเล่าอะไรที่แตกต่างได้” เขาอธิบาย

อาทิตย์กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของวงการถ่ายภาพสตรีทของไทยนั้น คือรากเหง้าของศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ได้หยั่งรากลึกและมีความหลากหลายเท่ากับประเทศตะวันตก เหตุผลดังกล่าวทำให้การถ่ายภาพสตรีทอาจไม่เป็นที่ยอมรับและเปิดกว้างเท่าที่ควร “จริงๆ การถ่ายภาพสวยงามนั้นไม่ผิด แต่เราต้องยอมรับว่ามันมีอีกวิถีหนึ่งอยู่บนโลกนี้” อาทิตย์กล่าว

วัฒนธรรมการวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ช่างภาพสตรีทดีกรีรางวัลอย่างจุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจตเล็งเห็นเช่นเดียวกัน ช่างภาพวัย 25 ปีผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในนิวยอร์กมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีมองว่าอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับวงการถ่ายภาพสตรีทในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาลงลึกในระดับวัฒนธรรม “นิวยอร์กมีประวัติศาสตร์การถ่ายภาพสตรีทและงานศิลปะร่วมสมัยมายาวนาน มีวัฒนธรรมการวิจารณ์งานศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง แต่คนไทยอาจจะไม่ค่อยนิยมการวิพากษ์วิจารณ์กันเท่าไร เพราะรู้สึกว่าการวิจารณ์เท่ากับการตำหนิต่อว่า จริงๆ ตอนนี้สถานการณ์หลายอย่างเริ่มดีขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่”

แม้ช่างภาพสตรีทส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่วงการถ่ายภาพสตรีทก็มีชื่อยอดช่างภาพสตรีทหญิงปรากฏให้เห็นอยู่ประปราย เช่น เฮเลน เลอวิตต์ และวิเวียน ไมเยอร์ (ซึ่งหลายคนอาจรู้จักจากสารคดี Finding Vivian Maier ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน) ขณะที่ในประเทศไทย จุฑารัตน์เองเป็นหนึ่งช่างภาพสตรีทหญิงคลื่นลูกใหม่ซึ่งค่อยๆ เริ่มมีชื่อเสียงในวงการ หลังจบการศึกษาจาก International Center of Photography ในแมนแฮตตัน เธอตัดสินใจสมัครเข้าฝึกงานกับเอเจนซี่ถ่ายภาพชื่อก้องโลกอย่าง Magnum Photos แม้งานที่เธอได้รับมอบหมายจะไม่ใช่งานภาคสนาม แต่ตลอดเวลาของเธอในนครนิวยอร์ก จุฑารัตน์ก็ได้ออกตระเวนถ่ายภาพและเฝ้าสังเกตผู้คนตามท้องถนนจนกระทั่งสามารถคว้ารางวัลใหญ่จากหลายเวทีประกวด อาทิ EyeEm Photography และ Lensculture โดยหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเธอคือภาพถ่ายในซีรีส์ Un-organ ที่เธอเฝ้าเก็บรายละเอียดเล็กๆ ชวนแปลกตาของร่างกายมนุษย์ ภายใต้บริบทสังคมเมืองของนิวยอร์ก “ตอนนี้มีผู้หญิงหันมาถ่ายภาพสตรีทมากขึ้นแล้ว เราคิดว่ามันจะเป็นก้าวต่อไปที่ดี แต่เราก็ยังอยากเห็นมุมมองของช่างภาพสตรีทหญิงคนอื่นๆ อีก”

ตอนนี้เรามีช่างภาพเก่งๆ เยอะมากที่ถ่ายภาพออกมาพิมพ์เดียวกันหมด เราเห็นภาพสตรีทสวยๆ ทุกวัน แต่เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่าคุณค่ามันอยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ดี จุฑารัตน์ไม่ได้สนใจการถ่ายภาพสตรีทเพียงอย่างเดียว อันที่จริง เธอมีแผนจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างถาวรและตั้งใจจะหันไปสร้างสรรค์ผลงานประเภท conceptual ซึ่งมักเป็นโปรเจกต์แบบระยะยาวมากขึ้น กระนั้น เธอก็ไม่ได้คิดจะล้มเลิกการถ่ายภาพสตรีท แต่เพียงแค่รอคอยเวลาที่จะได้กลับไปตระเวนเก็บภาพตามท้องถนนในบ้านเกิด “เมื่อ 2 ปีที่แล้วเราตื่นเต้นกับนิวยอร์กมาก ที่นี่แสงสวยและผู้คนก็แต่งตัวดีกว่า แต่ตอนนี้เราอยากกลับไปถ่ายภาพที่ไทย เกือบทุกตารางเมตรในนิวยอร์กนั้นถูกถ่ายภาพมาจนช้ำแล้ว ขณะที่บ้านเรามันมีอะไรแปลกๆ และน่าสนใจให้เล่นอีกหลายอย่าง เรามองว่าช่างภาพสตรีทไทยเก่ง เราแค่ไม่มีโอกาสและพื้นที่จัดแสดงงานมากพอ”

ทวีพงษ์เห็นด้วยกับเธอ เมื่อเปรียบเทียบกับในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้คนมักออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งมากกว่า ช่างภาพสตรีทไทยนั้นทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป “แสงที่นี่แข็ง และแดดแรงกว่า คนไทยส่วนใหญ่เลยหลบแดดและไม่ค่อยออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้งเท่าไร ทำให้เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่าในการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับองค์ประกอบภาพ หรือใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อเล่นกับมุมหรือนำส่วนประกอบในภาพมาเรียงต่อกันให้เกิดเป็นเรื่องราวใหม่ขึ้น ผมว่างานของช่างภาพสตรีทไทยมันมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ก็เหมือนกับโฆษณาไทย”

อารมณ์ขันและเรื่องราวชวนเสียน้ำตาถือเป็นสิ่งที่สร้างชื่อให้กับโฆษณาไทย และทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จสูงสุดเมื่อหลายปีก่อน อุตสาหกรรมโฆษณาไทยได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติเพราะความคิดสร้างสรรค์และความมีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนั้น ในขณะที่ช่างภาพสตรีทไทยหลายคนอาจได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่อัครา นักทำนาช่างภาพสตรีทรุ่นเก๋าที่มีประสบการณ์มากว่า 10 ปีมองว่านั่นเป็นเพียงเพราะปัจจุบัน ช่างภาพสตรีทไทยพัฒนาฝีมือไม่ว่าจะเป็นในแง่ของทักษะ เทคนิค หรือกระทั่งสไตล์ จนทัดเทียมกับช่างภาพสตรีทในสหรัฐอเมริกาหรือฝั่งยุโรป อย่างไรก็ตาม การเดินตามรอยตะวันตกอย่างเดียวอาจพาช่างภาพสตรีทไทยไปพบกับทางตัน

“การถ่ายภาพสตรีทได้กลายเป็นวัฒนธรรมสากลไปแล้ว มันยากมากที่จะแยกว่างานไหนคนไทยถ่าย เว้นแต่ว่าจะมีบริบทรายล้อมชัดเจน ความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญในการถ่ายภาพก็จริง แต่หลายครั้ง เราให้ความสำคัญกับมันจนลืมคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม บางที การใส่องค์ประกอบความเป็นไทยหรืออะไรบางอย่างที่บอกใบ้ให้คนรู้ว่าช่างภาพเป็นใคร มาจากไหน อาจช่วยให้งานของเรามีความต่างและโดดเด่นขึ้นมาอีกขั้นได้”

อัคราเริ่มถ่ายภาพสตรีทตั้งแต่ปี 2008 สมัยที่การถ่ายภาพสตรีทยังเป็นงานอดิเรกเฉพาะกลุ่ม ชายผู้ทำงานประจำเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์รายนี้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของสตรีท โฟโต้ ไทยแลนด์และเคยจำกัดนิยามการถ่ายภาพสตรีทไว้สั้นๆ กล่าวคือ ต้องถ่ายในที่สาธารณะ ไม่จัดฉาก และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งคำนิยามดังกล่าวได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ถ่ายภาพสตรีทรวมถึงตัวทวีพงษ์เอง ทั้งนี้ เขาเสริมว่าในอดีต แค่ข้อหนึ่งและสองอาจเพียงพอ แต่ในยุคสมัยที่ใครก็สามารถเป็นช่างภาพได้ ความคิดสร้างสรรค์นั้นอาจเป็นสิ่งสำคัญ

งานในยุคแรกๆ ของอัครามักบอกเล่าเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผ่านมุมมองจิกกัดแยบคายและแฝงด้วยอารมณ์ขันเล็กๆ อย่างผู้ดีอังกฤษ แต่ด้วยวัยและมุมมองที่เปลี่ยนไป เขาเริ่มหันไปสร้างสรรค์ผลงานที่มีกลิ่นอายของศิลปะแบบคอนเซปต์ชวลมากขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากช่างภาพชาวเยอรมันอย่าง ไมเคิล วูฟ ผู้ถ่ายทอดชีวิตการเดินทางบนรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเร่งด่วนของโตเกียวออกมาได้อย่างงดงามและน่าสะพรึง งานของอัคราเองสะท้อนประเด็นทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ผลงานภาพถ่ายชุด Signs ซึ่งต้นไม้กำลังคืบคลานไปตามอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมือง คล้ายกับบอกใบ้เค้าลางบางอย่าง และ ‘Footprints’ ภาพถ่ายรองเท้าแตะเกือบร้อยข้างที่ถูกทิ้งไว้ตลอดแนวชายหาดแห่งหนึ่งที่เขาแวะเวียนไป

คุณค่าในงานศิลปะนั้น เป็นสิ่งที่อัคราดูจะเน้นย้ำในยุคสมัยที่มีช่างภาพหน้าใหม่เปี่ยมพรสวรรค์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา “มันขึ้นอยู่กับมุมมองเป็นสำคัญ ตอนนี้เรามีช่างภาพเก่งๆ เยอะมากที่ถ่ายภาพออกมาพิมพ์เดียวกันหมด เราเห็นภาพสตรีทสวยๆ ทุกวัน แต่เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่าคุณค่ามันอยู่ตรงไหน ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับศิลปะก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เราอาจใช้งานของเราเป็นตัวกลางเพื่อนำเสนอสารในรูปแบบอื่น ทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง เป็นต้น” เขากล่าว

แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล แต่วงการถ่ายภาพสตรีทของไทยก็กำลังเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ในนิทรรศการภาพถ่าย Photo Bangkok 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนที่ผ่านมานั้น มีนิทรรศการย่อยกระจายอยู่ตามแกลเลอรี่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งหมด 37 แห่ง และในจำนวนดังกล่าวมีนิทรรศการภาพถ่ายสตรีทรวมอยู่ด้วยหลายงาน เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่ายุคที่การถ่ายภาพสตรีทนั้นเป็นเพียงงานอดิเรกเฉพาะกลุ่มได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ดี ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่ใครก็เป็นเจ้าของกล้องดิจิทัลและสมาร์ทโฟนความละเอียดสูงได้ไม่ยาก ก็ได้นำพาแวดวงการถ่ายภาพสตรีทไทยไปสู่ความท้าทายใหม่ บรรดาช่างภาพเปี่ยมพรสวรรค์อาจต้องพาตัวเองไปพ้นจากการถ่ายภาพเพียงเพื่อเน้นสีสันสวยงามและแสงเงา และหันไปสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงอัตลักษณ์หรือสะท้อนประเด็นเฉียบคมด้วย

ไม่ว่าภาพดังกล่าวจะเป็นจริงช้าหรือเร็ว แต่อย่างน้อยหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือวัฒนธรรมถ่ายภาพสตรีทในบ้านเราได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้คนเริ่มหันมามองโลกด้วยสายตาวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ศิลปินรุ่นใหม่ก้าวออกไปสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและไม่ยึดโยงอยู่กับแบบแผนของโลกตะวันตกอีกต่อไป

Essentials


Husband and Wife

59/859 ม.เมืองทองธานี 1 ซอย 3 นนทบุรี

fb.com/HusbandandWifeShop

020-116-126