SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Growing Passion
ยอดฝีมือด้านบอนไซชาวไทยสองคน ผู้เชื่อมโยงยุคเก่าและใหม่ของวงการ ได้อุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อบรรจงสร้างสรรค์ศิลปะอันมีชีวิต
ขณะกำลังเดินสำรวจต้นไม้ในสวนหลังบ้าน ฐานันดร์ ปฏิภานธาดา หยุดพิจารณาวิธีการแตกใบ การขยายกิ่งก้านสาขา และลีลาการทอดตัวของลำต้น เขากำลังดูแลอาณาจักรต้นบอนไซเขียวชอุ่มในกระถางญี่ปุ่นด้วยสายตาแหลมคมเฉกเช่นช่างทำนาฬิกา
“เวลาทำงานกับต้นไม้ ผมจะปล่อยให้ตัวเองดื่มด่ำไปกับมันจนลืมเวลา ลืมว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ บอนไซเปลี่ยนอารมณ์เราได้” ฐานันดร์กล่าว เขาคือผู้ก่อตั้ง ‘บอนไซใบสน’ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ รวมทั้งนำเข้าบอนไซชั้นนำของประเทศ
ฐานันดร์จัดเป็นคนดังในแวดวงบอนไซของบ้านเรา โดยเคยปรากฎตัวตามสื่อหลากหลายทั้งนิตยสาร สื่อออนไลน์ และรายการโทรทัศน์ โชว์รูมสไตล์มินิมัลของฐานันดร์บนถนนรามอินทรานั้นชวนให้นึกถึงห้องชงชาในเขตเกียวโต ในแต่ละวันมีผู้คนจำนวนมากแวะเวียนมาที่โชว์รูมแห่งนี้ ตั้งแต่เจ้าของบริษัทที่กำลังมองหาสิ่งสวยงามไปประดับออฟฟิศ คนที่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ไปจนถึงกลุ่มคนรักบอนไซทั้งรุ่นใหม่และเก่า
แม้คำว่าบอนไซจะมีความหมายตรงตัวว่าการปลูกต้นไม้ในกระถาง แต่การเลี้ยง
บอนไซนั้นเปี่ยมศิลปะและจิตวิญญาณยิ่งกว่าการปลูกต้นไม้ทั่วไป วัฒนธรรมนี้มีความเป็นมายาวนานหลายศตวรรษ และเป็นศาสตร์ที่ต้องทุ่มเทใส่ใจในทุกรายละเอียด บอนไซบางต้นที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรุ่นสู่รุ่น อาจมีอายุยืนได้เป็นร้อยปี โดยบอนไซทั้งหลายในปัจจุบันอาจสืบรากเหง้าได้ไปถึงญี่ปุ่น ที่ซึ่งบอนไซ
สะท้อนถึงความเคารพต่อธรรมชาติรวมทั้งแนวคิด ‘วาบิซาบิ’ หรือสุนทรียศาสตร์แห่งการมองเห็นความงามในความไม่จีรังและความไม่สมบูรณ์พร้อมของสรรพสิ่ง
แม้ฐานันดร์จะเริ่มหันมาเลี้ยงบอนไซเป็นอาชีพเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ความรักในศิลปะด้านนี้ได้รับการปลูกฝังมาแต่เยาว์วัย “พ่อผมชอบทำสวน สวนธรรมดาๆ เลย ไม่ใช่บอนไซ ผมเลยได้เติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติ ตอนอายุได้ 10 ปี เราไปที่ร้านหนังสือแถวสีลม ตอนเดินดูหนังสือบนชั้น ผมก็ไปสะดุดตาหนังสือเรื่องบอนไซเข้า จำได้เลยว่าตื่นเต้นมาก ตอนนั้นผมยังเด็กเลยไม่มีเงินซื้อ สัปดาห์ต่อมาเลยแวะไปที่ร้านทุกวันเพื่ออ่านหนังสือเล่มนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก” ฐานันดร์เล่า
ความจริง วัฒนธรรมการปลูกบอนไซมีประวัติความเป็นมายาวนานหลายพันปี แม้กระทั่งก่อนญี่ปุ่น โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดนั้นย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 3 ในประเทศจีน ซึ่งบอนไซเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘เผินจิ่ง’ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาพุทธได้เดินทางมายังจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 7 และนำพันธุ์พืชต่างๆ ที่พบในประเทศจีนข้ามน้ำข้ามทะเลกลับไปและเพาะพันธุ์เป็นต้นไม้จิ๋ว
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 มีการใช้ลวดทองแดงดัดกิ่งก้านต้นบอนไซกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากช่วยให้ผู้ปลูกบอนไซสามารถจัดแต่งรูปทรงได้ตามต้องการ และในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 บอนไซก็กลายเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตเกียวอย่างเดียวก็มีโรงเพาะเลี้ยงบอนไซกว่า 300 แห่ง ซึ่งมีการเพาะปลูกบอนไซราว 150 สายพันธุ์และส่งออกไปจำหน่ายไกลถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป
“สำหรับชาวญี่ปุ่น บอนไซคือการเลียนแบบธรรมชาติ เป็นภาพสะท้อนของโลกรอบตัวที่นำมาจำลองไว้ในกระถางใบเล็ก ขณะที่ในบ้านเรา คนเลี้ยงบอนไซจะพยายามสร้างสิ่งใหม่จากธรรมชาติที่เห็นรอบตัว ผมทำตามสไตล์ญี่ปุ่น แต่มันไม่ใช่วิธีเดียวที่เป็นไปได้” ฐานันดร์กล่าว
ขณะที่ฐานันดร์เริ่มสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น เขาก็ได้เรียนรู้เคล็ดลับต่างๆ ในการดูแลและซื้อขายบอนไซ เช่นการใช้ลวดทองแดงบังคับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ความถี่ในการรดน้ำและตัดแต่งกิ่งในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น ภายหลังเขาจึงเริ่มเดินสายเข้าร่วมการแข่งขันบอนไซระดับประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้ฐานันดร์ได้รู้จักวิธีการตัดแต่งบอนไซสไตล์ต่างๆ ของแต่ละประเทศ และเริ่มสั่งสมชื่อเสียงในหมู่ผู้เลี้ยงบอนไซชาวไทย
แม้คำว่าบอนไซจะมีความหมายตรงตัวว่าการปลูกต้นไม้ในกระถาง แต่การเลี้ยงบอนไซนั้นเปี่ยมศิลปะและจิตวิญญาณยิ่งกว่าการปลูกต้นไม้ทั่วไป
ฐานันดร์เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นปีละ 2-3 ครั้งเพื่อเยี่ยมชมโรงเพาะเลี้ยงบอนไซสำคัญๆ รวมทั้งเลือกซื้อต้นไม้และเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะกับการปลูกในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยกลับมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ต้นข่อย มะสัง และโมก
“ตอนนี้สวนผมมีบอนไซอยู่ประมาณ 80-90 ต้น และยังมีอีก 30-50 ต้นในโชว์รูม ผมใช้เวลาวันละหนึ่งถึงสองชั่วโมงรดน้ำต้นไม้ และอีก 2-3 ชั่วโมงในการตัดแต่งใบและกิ่ง”
เช่นเดียวกับงานฝีมือที่ต้องอาศัยความพิถีพิถันกว่าจะได้บอนไซสวยๆ สักต้น ผู้เลี้ยงต้องวางแผนไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากการปลูกบอนไซเป็นศิลปะที่ปราศจากแบบแผนตายตัว ฐานันดร์จึงต้องค้นหาวิถีของตัวเอง
“ผมจะสเก็ตช์ภาพบอนไซที่ต้องการไว้ก่อน ไม่อย่างนั้นเราอาจจะลืมว่าอยากเลี้ยงให้ต้นไม้โตออกมาเป็นแบบไหน ระหว่างกำลังเดินทางเราก็ต้องจดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ที่ต้องการด้วย”
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เลี้ยงบอนไซเป็นงานอดิเรกอยู่ราว 5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนไทยอยู่ไม่น้อย แม้วัฒนธรรมบอนไซในบ้านเราจะยังคงได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาชุมชนคนรักบอนไซก็ค่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยชายหนุ่มหน้าตาดีมีการศึกษา และดูเป็นมืออาชีพอย่างฐานันดร์ถือเป็นตัวแทนของศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งเชื่อมศิลปะการเลี้ยงบอนไซแบบดั้งเดิมเข้ากับทิศทางที่ศิลปะแขนงนี้กำลังมุ่งไปในอนาคต
หากฐานันดร์เปรียบเสมือนอนาคตของวงการบอนไซในประเทศไทย ศิลปินชั้นครูอย่างดร.มนตรี สุขเสริมส่งชัย ก็คือผู้ช่วยวางรากฐานให้กับวัฒนธรรมดังกล่าว ดร.มนตรีเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักบอนไซทั่วโลก ด้วยสไตล์ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะของภูมิภาคเอเชียกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทย ดร.มนตรีไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิธีปลูกบอนไซแบบไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันแวดวงบอนไซในประเทศให้เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย
ดร.มนตรีมีบทบาทสำคัญในการช่วยก่อตั้งสมาคมบอนไซแห่งแรกของประเทศไทยและดำรงตำแหน่งประธานสมาคมเป็นเวลาหลายสมัย สมาคมเป็นพื้นที่สนทนาสำหรับผู้เชี่ยวชาญและเหล่าคนรักบอนไซว่าด้วยเรื่องเทคนิคการเลี้ยง เคล็ดลับในการปลูก ตัดแต่งกิ่งการดัดและจัดรูปทรง รวมทั้งผลักดันให้งานอดิเรกดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ในปี 2552 ดร.มนตรียังเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดการประชุมมิตรภาพบอนไซภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปีครั้งที่ 3 ในกรุงเทพฯ ในงานมีกิจกรรมสาธิตการปลูกบอนไซโดยศิลปินจากหลายประเทศทั้งอินเดีย เปอร์โตริโก สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน และมีเซียนบอนไซหลายร้อยคนเข้าร่วมงาน
สำหรับชาวญี่ปุ่น บอนไซคือการเลียนแบบธรรมชาติ เป็นภาพสะท้อนของโลกรอบตัวที่นำมาจำลองไว้ในกระถางใบเล็ก ขณะที่ในบ้านเรา คนเลี้ยงบอนไซจะพยายามสร้างสิ่งใหม่จากธรรมชาติที่เห็นรอบตัว
ในบรรดาคุณูปการมากมายที่ดร.มนตรีได้สร้างไว้ให้กับวงการบอนไซไทย ของขวัญชิ้นยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือ ‘สวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจ’ รีสอร์ทกึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในจังหวัดราชบุรีซึ่งอุทิศพื้นที่ให้แก่บอนไซ ไม่ว่าจะเป็นบอนไซเมเปิ้ลสายพันธุ์ไทรเดนท์ บอนไซชบา บอนไซมะขาม หรือบอนไซตระกูลมะเดื่อสวยสะดุดตา
สำหรับหลายคน สวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจคือแหล่งรวบรวมไม้สายพันธุ์งามที่สุดในเอเชีย หรืออาจจะกระทั่งที่สุดในโลก ที่ถูกตัดแต่งจนเป็นทรงคลาสสิก มนตรีเล่าว่า “ผมปลูกบอนไซไว้ 2,000-3,000 ต้น มีแต่ต้นที่ใหญ่ๆ ทั้งนั้น ผมเลยตัดสินใจเปิดสวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจขึ้นมาเพื่อเก็บผลงานที่ผมสร้างไว้”
“ผมเริ่มต้นจากการทำสวนจีนก่อนเพื่อเป็นเกียรติต่อต้นกำเนิดของบอนไซ ส่วนใหญ่คนจะเชื่อมโยงบอนไซกับญี่ปุ่นมากกว่า เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนได้ทำให้พวกงานสร้างสรรค์ต่างๆ เฉาไป รวมถึงวัฒนธรรมการปลูกบอนไซด้วย”
นอกจากนี้รีสอร์ทของเขายังมีสวนสไตล์ญี่ปุ่นและไต้หวันที่ได้รับการตัดแต่งดูแลอย่างงดงาม โดยดร.มนตรีเองยกย่องทั้งสองประเทศ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศิลปะบอนไซให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจากต่างจากในประเทศจีน วัฒนธรรมการปลูกบอนไซในญี่ปุ่นและไต้หวันนั้นได้รับการปฏิบัติสืบทอดมาหลายร้อยปีโดยต่อเนื่อง
กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินบอนไซที่โด่งดังที่สุดของประเทศ ดร.มนตรีเองก็เริ่มต้นจากต้นกล้าเพียงไม่กี่ต้น และความรู้เพียงหยิบมือไม่ต่างจากศิลปินบอนไซรายอื่นๆ เขาเล่าว่าได้รู้จักกับบอนไซครั้งแรกเมื่อราว 40 ปีก่อน ขณะกำลังขับรถผ่านบ้านของผิน คิ้วคชา ผู้ก่อตั้งซาฟารีเวิลด์ ประตูบ้านซึ่งถูกแง้มไว้เผยให้เห็นสวนบอนไซจีนอันงดงามด้านใน ดร.มนตรีตกหลุมรักบอนไซทันทีเมื่อคนสวนอนุญาตให้เขาเข้าไปเดินสำรวจดูสวน และเริ่มออกไปหาซื้อกล้าบอนไซจากตลาดถนนคนเดินหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์มาลองปลูก ตามด้วยหนังสือ Bonsai Techniques ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่สองของจอห์น นากะ ซึ่งดร.มนตรียกย่องว่าเป็น ‘ปรมาจารย์ด้านบอนไซ’
“ก่อนที่หนังสือสองเล่มนี้จะได้รับการตีพิมพ์การปลูกบอนไซยังทำกันอย่างสะเปะสะปะและไม่มีแบบแผน จะเรียกว่านี่เป็นเหมือนไบเบิลของพวกเราก็ว่าได้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูงานตามมหกรรมพืชสวนโลกต่างๆ และได้เห็นสวนหลายแบบ ทั้งในจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างบรรจง บอนไซแต่ละต้นมีลักษณะที่ต่างกัน ไม่ว่าฝีมือคุณจะดีหรือเมล็ดพันธุ์ที่มีจะสุดยอดแค่ไหน ก็ไม่มีทางปลูกบอนไซให้เหมือนอีกต้นได้ ทุกต้นล้วนเป็นผลงานชิ้นเอก ศิลปินผู้ปลูกบอนไซไม่เคยคิดที่จะลอกเลียนความสำเร็จในอดีต แต่จะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างสรรค์บอนไซที่มีเอกลักษณ์ขึ้นอีกต้น” ดร.มนตรีกล่าว
นอกจากดร.มนตรีจะช่วยสร้างความเหนียวแน่นให้กับชุมชนคนรักบอนไซแล้ว เขายังประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์บอนไซหายากอย่างบอนไซผักเลือด ซึ่งเป็นพืชในตระกูลมะเดื่อ จนได้ขึ้นแท่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบอนไซพันธุ์ดังกล่าวอีกด้วย บอนไซผักเลือดนั้นมีต้นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงพื้นที่บางส่วนของอินเดียและออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่จะปลูกอยู่ในประเทศไทย
ไม่ว่าฝีมือคุณจะดีหรือเมล็ดพันธุ์ที่มีจะสุดยอดแค่ไหน ก็ไม่มีทางปลูกบอนไซให้เหมือน
อีกต้นได้ ทุกต้นล้วนเป็นผลงานชิ้นเอก ศิลปินผู้ปลูกบอนไซไม่เคยคิดที่จะลอกเลียนความสำเร็จในอดีต แต่จะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างสรรค์บอนไซที่มีเอกลักษณ์ขึ้นอีกต้น
“ใบอ่อนของมันจะเป็นสีแดงระเรื่อก่อนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว บอนไซพันธุ์นี้โตช้า คนเลี้ยงจึงมีเวลาตัดแต่งให้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไร เนื่องจากขนาดใบที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ออกมาดูไม่สมส่วน คุณควบคุมความกว้างและสูงของต้นไม้ได้ก็จริง แต่คุณทำอะไรกับขนาดใบไม่ได้ ผมชอบเลี้ยงบอนไซให้สูงประมาณ 1-3 เมตร ผมว่าสูงประมาณนี้กำลังดี” ดร.มนตรีกล่าว
เช่นเดียวกับศิลปินรายอื่นที่ปลูกบอนไซผักเลือด ดร.มนตรีใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของต้นไม้พันธุ์นี้ คือรากที่แข็งแกร่งและชอนไชได้ดี โดยใช้วิธีเลี้ยงแบบ ‘เกาะหิน’ ซึ่งรากไม้จะโตปกคลุมก้อนหินที่ได้รับการจัดวางไว้
“ส่วนที่สำคัญและท้าทายที่สุดของการปลูกบอนไซทุกแบบก็คือเรื่องเวลา คุณต้องเลือกต้นกล้าที่มีรากงอกออกมาเยอะๆ เพื่อบอนไซจะได้แตกกิ่งก้านมากพอให้เราเลี้ยงเป็นรูปทรงที่ต้องการ เมื่อกิ่งก้านเริ่มโตคุณถึงจะตัดแต่งและดัดให้เป็นรูปทรงต่างๆ ได้ซึ่งทั้งหมดนี้กินเวลาหลายปี” มนตรีกล่าว
แน่นอนว่าหนทางสู่ความสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในคราวเดียว กว่าสิ่งที่เริ่มต้นด้วยปุ่มตอเล็กๆ จะเติบโตเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ศิลปินอย่างฐานันดร์และดร.มนตรี ต้องเลือกสายพันธุ์อย่างระวัง และประคบประหงมดูแลผลงานในมือด้วยความรู้และความเอาใจใส่วันแล้ววันเล่า แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผลตอบแทนก็ไม่ได้มาในครั้งเดียวเช่นกัน
เพราะในทุกขณะที่พวกเขาเฝ้าดูไม้เติบใหญ่และเปลี่ยนแปรดังใจ รางวัลก็เกิดขึ้นแล้วพร้อมกัน
■
Essentials
■
บอนไซใบสน
222/54 Premium Place
ซอยรามอินทรา 14
ถนนรามอินทรา
โทร. 089-000-5544
www.bonsaibaison.com
■
สวนผึ้ง บอนไซ วิลเลจ
222 หมู่ 1 ตำบลตะนาวศรี
อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี
โทร. 061-636-3222
suanphungbonsaivillage.com