HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


กรุงเทพฯ หรือ ‘เวนิสตะวันออก’ กำลังจะมีเทศกาล Art Biennale เป็นของตัวเอง

หัวใจและความท้าทายของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่อาจยกระดับประเทศไทยไปสู่สถานะเมืองหลวงแห่งศิลปะเฉกเช่นฮ่องกง สิงคโปร์ และเวนิส

     ทุกปีที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนกว่าครึ่งล้านที่พร้อมจะต่อแถวยาวเหยียดเพื่อร่วมงาน Venice Biennale หรือที่สุดแห่งมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติ ซึ่งรวบรวมและจัดแสดง ‘ศาลาผลงาน’ ของศิลปินจากกว่า 80 ประเทศ ทั้งนี้ แม้กระทั่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากงานดังกล่าว เพราะศิลปินร่วมสมัยชื่อดังในบ้านเราอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช หรือ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกเพราะงานเวนิส เบียนนาเล่นี่เอง ด้วยเหตุนี้ จึงออกจะเป็นเรื่องน่ายินดี ที่มีคนคิดพยายามสร้างสรรค์งานนี้บนแผ่นดินไทย เพื่อเฉลิมฉลองความเจริญงอกงามของแวดวงศิลปะร่วมสมัยของชาติให้ได้อย่างสมเกียรติ

     เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ขณะที่แขกหลายพันคนกำลังเดินชมศาลาผลงานต่างๆ ในเทศกาล คนกลุ่มเล็กๆ ได้มารวมตัวกันที่ระเบียงของโรงแรม Westin Europa & Regina ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแกรนด์คาแนลอันเลื่องชื่อของเมืองเวนิส เพื่อรอชมอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อกรุงเทพฯ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เวนิสตะวันออก’ กำลังจะมีเทศกาล ‘Art Biennale’ เป็นของตัวเอง

     หนึ่งในผู้ทรงเกียรติไม่กี่คนที่ยืนอยู่หน้าฝูงชนคือ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการและปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้ หากเอ่ยชื่อนี้ขึ้นมา รับรองว่าบรรดาศิลปินจะต้องตาเป็นประกาย ดร.อภินันท์คือผู้ที่ได้ฝากผลงานหนังสือเกี่ยวกับศิลปะหลายต่อหลายเล่ม และเคยทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการศิลปะนานาชาติตามแกลเลอรีศิลปะระดับโลก รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังที่ภัณฑารักษ์คนหนึ่งเคยกล่าวไว้ ดร.อภินันท์ถือเป็นอีกหนึ่ง ‘บิ๊ก’ แห่งแวดวงศิลปะ

     สำหรับ ดร.อภินันท์ การจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ไม่ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทศกาลศิลปะนานาชาติที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ยังเป็นหลักไมล์สำคัญของการเดินทางอันยาวไกลที่มีจุดเริ่มต้นในช่วงเวลาอันโกลาหลที่สุดช่วงหนึ่งของบ้านเมือง เพราะความคิดที่กรุงเทพฯ จะมีเทศกาลเบียนนาเล่เป็นของตัวเองนั้น ความจริงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว

     ในขณะนั้น คนดังในแวดวงศิลปะล้วนอยากให้ประเทศไทยจัดงานเทศกาลศิลปะขนาดใหญ่ เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศบนเวทีศิลปะนานาชาติ แต่ความหวังก็ดูเลื่อนลอย เพราะเมื่อกลางเดือนเมษายนในปีเดียวกันนั้นบรรยากาศทางการเมืองคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนนับแสนก็ได้ออกมาเดินขบวนบนท้องถนน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ดร.อภินันท์ กลับขมักเขม้นกับการเตรียมงาน ‘บางกอก กล๊วย กล้วย (Bangkok Bananas)’ เทศกาลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่จัดขึ้นเป็นเวลา 11 วัน (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นงานเบียนนาเล่แต่เล็กกว่า) โดยไม่ย่อท้อ แม้ปรากฏว่า เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าวันงาน เหตุการณ์รุนแรงได้ปะทุขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บอีกกว่า 70 ราย

     “คำว่า ‘เบียนนาเล่’ มีนัยยะสื่อถึงความต่อเนื่อง แต่เราจะสร้างงานอย่างนั้นได้อย่างไรในสถานการณ์ที่สิ่งต่างๆ ในประเทศเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกหกเดือน จุดประสงค์การจัดงานบางกอก กล๊วย กล้วย ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเราก็ยังทำอะไรได้บ้าง” ดร.อภินันท์กล่าว

กรุงเทพฯ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เวนิสตะวันออก’ กำลังจะมีเทศกาล ‘Art Biennale’ เป็นของตัวเอง

     งานเทศกาลศิลปะซึ่งจัดขึ้นในปี 2552 เป็นดั่งการแสดงพลังท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้แช่แข็งความงอกงามของประเทศมานานปี แม้ดูเผินๆ ช่วงเวลาดังกล่าวจะเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดของวงการศิลปะ แต่ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงให้คนเห็นถึงเมล็ดพันธุ์แห่งพลังที่ซ่อนอยู่

     “ผมบอกพวกศิลปินให้วิ่งหลบกระสุนเอา” ดร.อภินันท์กล่าวพร้อมหัวเราะ “งานนี้เกิดขึ้นจากความอัดอั้นตันใจของบรรดาช่างปั้น นักวาดภาพ คนทำหนัง และนักแสดง ที่อยากพิสูจน์ให้คนกรุงเทพฯ และนานาประเทศเห็นว่าศิลปะจะดำรงอยู่สืบไป แม้ประเทศจะเผชิญกับปัญหาอะไรก็ตาม ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มของกระบวนการที่นำไปสู่งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่”

     เมื่องานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เปิดฉากขึ้นในปี 2561 จะถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลเบียนนาเล่ในระดับนานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกอย่างกรุงปักกิ่ง ฮ่องกง สิงคโปร์ และโยโกโฮม่าเข้าร่วมมาหลายปีแล้ว ผู้จัดงานกล่าวว่าคอนเซ็ปต์การออกแบบงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่นั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายจะเลียนแบบหรือแข่งกับงานที่เวนิส อันที่จริง สิ่งที่พวกเขาทำคือมองหาแนวคิดที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย “ไม่ได้จำเป็นว่าสิ่งที่เราทำต้องเหนือกว่า เราแค่อยากให้มันต่างออกไป เราต้องหาเหตุผลให้คนอยากมาดูงานเบียนนาเล่ของเรา” ดร.อภินันท์กล่าว

     นิทรรศการจะมีศิลปินเข้าร่วมทั้งหมด 70 คน แบ่งออกเป็นศิลปินไทยและต่างชาติเท่าๆ กัน โดยงานจะจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) รวมถึงสถานที่สำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมหลายแห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดประยุรวงศาวาส และตึกเก่าบริษัทอีสท์เอเชียติก ในช่วงวันงาน ศิลปินบางส่วนจะแวะเวียนมาสร้างสรรค์ผลงานให้ชม ณ สถานที่จริง ขณะที่ศิลปินอีกจำนวนหนึ่งจะส่งผลงานมาร่วมจัดแสดง โดยกระบวนการคัดเลือกจะแบ่งออกเป็นศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อโดยตรงและคนที่ได้รับเลือกผ่านการรับสมัครซึ่งเริ่มขึ้นหลายเดือนก่อนหน้า

     แม้จะยังชี้ชัดไม่ได้ว่านิทรรศการศิลปะดังกล่าวจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศ แต่หากมองในแง่ดี นี่อาจถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่นำประเทศไทยไปสู่การเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแห่งศิลปะของเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลา 8 ปีหลังงานนิทรรศการบางกอก กล๊วย กล้วย มีพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีชื่อดังเปิดตัวขึ้นหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย’ ‘ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok the Arts Centre)’ ‘เย็นอากาศ วิลล่า (YenakART Villa)’ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม’ และอื่นๆ อีกมากมาย ความหวังที่จะเห็นประเทศไทยเจริญรอยตามเมืองใหญ่แห่งอื่นๆ ในภูมิภาคจึงไม่ได้ดูห่างไกลความจริงขนาดนั้น

     “มันชวนให้นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิสเมื่อ 20 ปีก่อน” โฮเซน ฟาร์มานี กล่าว เขาคือผู้ก่อตั้งรางวัล Lucie Awards อันทรงเกียรติ ซึ่งทุกปีจะจัดงานกาลาขึ้นในนครนิวยอร์กเพื่อยกย่องความสำเร็จของศิลปินในวงการภาพถ่าย และยังเป็นเจ้าของห้องแสดงภาพ House of Lucie ในย่านเอกมัย ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ “ผมรู้สึกเหมือนที่นี่มีแกลเลอรีเปิดใหม่ทุกเดือน แถมคนที่มางานเปิดตัวก็เยอะมาก ตอนนี้วงการศิลปะที่นี่คึกคักและมีชีวิตชีวาไปหมด ขณะที่ในนิวยอร์กกับแอลเอมีแกลเลอรีทยอยปิดตัวทุกเดือน”

คำว่า ‘เบียนนาเล่’ มีนัยยะสื่อถึงความต่อเนื่อง แต่เราจะสร้างงานอย่างนั้นได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่สิ่งต่างๆ ในประเทศเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกหกเดือน จุดประสงค์การจัดงานบางกอก กล๊วย กล้วย ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยเราก็ยังทำอะไรได้บ้าง

      การจะสร้างชื่อเสียงในระดับสากลนั้นต้องอาศัยปัจจัยร่วม 2 ประการ กล่าวคือการนำเข้าและส่งออก ขณะที่เจ้าของแกลเลอรีอย่างฟาร์มานีเล็งเห็นความสำคัญของการดึงดูดผู้ชมในระดับนานาชาติเข้ามา ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่เขานำผลงานของช่างภาพระดับโลกอย่างสตีฟ แมคเคอร์รี มาจัดแสดงที่เฮาส์ ออฟ ลูซี เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา กระนั้น ตลาดก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของลูกค้าต่างชาติ ผู้ส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจผลงานของศิลปินชาวไทยเฉพาะหลังจากได้เห็นผลงานเหล่านั้นถูกจัดแสดงในเทศกาลศิลปะนอกประเทศ อาทิ Art Basel ที่ฮ่องกง Frieze Art Fair ในลอนดอน และเวนิส เบียนนาเล่ ซึ่งนี่เองคือจุดที่การส่งออกเข้ามามีบทบาท

     กวิตา วัฒนะชยังกูร เป็นหนึ่งในศิลปินไทยดาวรุ่งที่ได้ออกไปสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลก ในปีนี้ ผลงานของเธอได้รับเลือกให้จัดแสดงในงาน Alamak! Project ที่เวนิสเป็นครั้งที่ 2 โดยงานดังกล่าวถูกจัดขึ้นพร้อมกับเบียนนาเล่ซึ่งเป็นนิทรรศการหลัก และมีศิลปินไทยคนอื่นๆ อาทิ สมบูรณ์ หอมเทียนทอง และอานนท์ ไพโรจน์ เข้าร่วมด้วย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลงานหลายชิ้นของกวิตาได้ถูกจับจองโดยนักสะสมในต่างประเทศ ขณะที่เธอเองเข้าไปโลดแล่นในแวดวงศิลปะเอเชียและยุโรป

     “ปีนี้ถือเป็นฤกษ์ดีสำหรับศิลปิน คนจำนวนมากในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ กำลังให้ความสนใจศิลปะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงานของศิลปินไทยมันมีมิติ เรากำลังมาแรง และเราน่าจะกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงด้านศิลปะของเอเชียได้ในที่สุด” กวิตากล่าว

     แม้จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะเมืองท่องเที่ยว แต่หลายครั้งกรุงเทพฯ ก็ถูกประเทศที่ร่ำรวยกว่าอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์บดบังรัศมี เช่นเดียวกับในกรณีของศิลปะ เมืองหลวงทั้ง 2 แห่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘นครเมกกะ’ ของชุมชนศิลปะในเอเชีย ด้วยความที่สามารถดึงดูดทั้งศิลปินชื่อดัง นักสะสม และคนในแวดวงสื่อ ผ่านงานจัดแสดงและเทศกาลศิลปะที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนท่วมท้นทุกปี

     “ทุกอย่างมันต้องเป็นไปแบบ ‘บนลงล่าง’รัฐบาลสิงคโปร์มีปณิธานแรงกล้าที่จะสนับสนุนศิลปะ ส่วนฮ่องกงก็แทบไม่เรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายงานศิลปะเลย ถ้าจะให้แวดวงศิลปะบ้านเราไปถึงขั้นนั้น รัฐบาลเราก็ต้องเห็นประโยชน์ก่อน” สุคนธ์ทิพย์ ออสติคจาก ‘ละลานตา ไฟน์อาร์ต’ ในซอยสุขุมวิท 31 กล่าว สุคนธ์ทิพย์คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะของไทยมากว่า 10 ปี และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนศิลปินไทยในงานเทศกาลระดับนานาชาติทุกปี แม้เธอเชื่อว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงแห่งศิลปะของเอเชียได้ แต่ก็ชี้ด้วยว่ารัฐบาลอาจไม่สามารถให้การสนับสนุนในด้านเงินทุน

     “พูดกันตรงๆ เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องก่อนจะไปหมดเงินไปกับของฟุ่มเฟือยอย่างงานเทศกาลศิลปะ มีปัญหาหลายอย่างที่รอให้รัฐบาลแก้ไข กว่าจะสามารถนำงบประมาณไปทุ่มกับเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐาน หรือการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้ต้องมาก่อน” เธอกล่าว

ทุกอย่างมันต้องเป็นไปแบบ ‘บนลงล่าง’ รัฐบาลสิงคโปร์มีปณิธานแรงกล้าที่จะสนับสนุนศิลปะ ส่วนฮ่องกงก็แทบไม่เรียกเก็บภาษีจากการ ซื้อขายงานศิลปะเลย ถ้าจะให้แวดวงศิลปะบ้านเราไปถึงขั้นนั้น รัฐบาลเราก็ต้องเห็นประโยชน์ก่อน

      เมื่อพูดถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมศิลปะไทย ปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหลายต่อหลายหน และโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่มั่นคงก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก กระนั้น ดร.อภินันท์และบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งก็ดูเหมือนจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการนอกกรอบอย่างการขอเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน ดร.อภินันท์กล่าวว่า “บริษัทเอกชนชอบทำ CSR อยู่แล้ว” ตลอดระยะเวลา 6 ปีข้างหน้านี้ งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะได้รับเงินสนับสนุนหลักจากเซ็นทรัล กรุ๊ป สยาม-พิวรรธน์ และเอ็มควอเทียร์ แทนการพึ่งงบประมาณจากรัฐบาล นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังมีผู้ร่วมก่อตั้งอย่างฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้เคยให้คำมั่นว่าจะช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูแวดวงศิลปะไทย “สำหรับเรา ถ้าจะให้งานนี้เกิดความต่อเนื่อง ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม” ดร.อภินันท์กล่าว

     นอกจากนี้ มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ยังได้วางแผนไว้รับมือกับปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างการจัดอีเวนต์ย่อยควบคู่ไปกับนิทรรศการหลัก เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับศิลปินและแกลเลอรีที่อาจไม่ผ่านการคัดเลือก และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับนิทรรศการในวงกว้างขึ้น ส่วนสถานที่จัดงานจะคัดเลือกจากทำเลที่มีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนเข้าชมงานจะถึงเป้าในช่วงแรกๆ

     สำหรับ ดร.อภินันท์ ความท้าทายที่แท้จริงคือการสร้างความสามัคคีในวงการศิลปะไทย เขากล่าวว่าแม้จะมีเงินสนับสนุนมากมายแค่ไหน แต่ถ้าคนไทยไม่ร่วมใจกัน เราก็จะไม่อาจออกไปสร้างชื่อบนเวทีโลกได้ ซึ่งนี่คือหัวใจที่แท้จริงของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในความคิดของเขา

     “ประเทศไทยเก่งหลายด้าน แต่เราไม่ค่อยถนัดเรื่องระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ทำได้ดี ผมเชื่อว่างานอย่างบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะช่วยผลักดันให้แวดวงศิลปะของเราเฉิดฉายขึ้นมาได้”

     ความพยายามทั้งหมดทั้งมวลนี้ จะช่วยให้เราทัดเทียมกับยักษ์ใหญ่ทางด้านศิลปะของเอเชียได้หรือไม่นั้น คงไม่ใช่สิ่งที่สามารถตอบได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะในเมื่อสถานการณ์การเมืองในบ้านเราก็มีแนวโน้มจะทำให้แผนที่วางไว้สะดุดลง กระนั้น บรรดาพื้นที่ศิลปะที่กำลังจะเปิดตัวขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยของเพชร โอสถานุเคราะห์ บนถนนรามคำแหง และสถานที่จัดแสดงระดับโลกบนพื้นที่ของโครงการเอกชนอย่าง One Bangkok และ Icon Siam รวมถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่ใกล้จะเปิดทำการอีกครั้ง ได้แสดงให้เห็นว่าวงการศิลปะไทยกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยอาจมีความสำเร็จของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะเติมเต็มฝันให้เป็นจริง

Essentials


ละลานตา ไฟน์อาร์ต

245/14 ซอยสุขุมวิท 31 (ซอยสวัสดี)
ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-204-0583
www.lalanta.com

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

939 ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ
โทร. 02-214-6630
www.bacc.or.th

House of Lucie

17/1 ซอยเอกมัย 8 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 095-478-9987
www.luciefoundation.org/house-of-lucie-bangkok