HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


อะไรส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 7.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ อธิบายปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาทพร้อมชี้แนวโน้มในระยะต่อไป


    ในระยะหลังนี้ คำถามที่นิยมถามคือเงินบาทจะแข็งค่าไปอีกหรือไม่ ซึ่งตอบอย่างฟันธงได้ยาก เพราะเดิมทีเสียงส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเงินบาทและเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียน่าจะอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้สวนทางกับการคาดการณ์ดังกล่าว

    บางคนก็มองว่าเงินบาทแข็งค่าเพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่า เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ขาดบารมีทางการเมืองที่จะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ แต่หากธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังปรับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และตัดทอนการถือครองพันธบัตรระยะยาวลงตามที่ส่งสัญญาณออกมา ก็ย่อมจะต้องทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า แปลว่าเงินบาทจะต้องอ่อนค่าลงในที่สุด

    ดังนั้น จึงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเมื่อพูดถึงค่าเงินบาทนั้น กำลังเปรียบเทียบกับเงินสกุลใดอยู่ อย่างไรก็ดี ก็จะสามารถแย้งอีกได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเงินทุกสกุล กล่าวคือเป็นการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการค้าที่ทำอยู่กับประเทศนั้นๆ หรือเป็นการแข็งค่าของ nominal effective exchange rate (NEER)

หากเปรียบเทียบเงินบาท กับเงินสกุลอื่น (NEER) ก็จะพบว่าเงินบาทแข็งค่าเกือบ 7.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา


    ผมคิดว่าจุดตั้งต้นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเงินนั้น น่าจะดูจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะพบว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 นั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 101.56 และล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2017 CPI อยู่ที่ 100.64 แปลว่าในช่วง 39 เดือนที่ผ่านมานั้น เงินบาทไม่ได้เสื่อมค่าลง เพราะไม่มีการปรับขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเลย แต่หากจะบอกว่าเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงทั่วโลก ก็สามารถไปดูดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารสด ก็จะพบว่าดัชนีในช่วงเดียวกันคือ 99.0 และ 101.35 กล่าวคือเงินเฟ้อพื้นฐานประมาณ 1.5% เท่านั้น ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

    เมื่อเงินบาทไม่เสื่อมค่าในประเทศก็ย่อมจะอ่อนค่าลงยากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เพราะประเทศอื่นๆ นั้น มีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สหรัฐฯ มีเงินเฟ้อในครึ่งแรกของปีนี้ประมาณ 2% (ไทยปีนี้ประมาณ 0.6%) ดังนั้นหากเปรียบเทียบเงินบาทกับเงินสกุลอื่น (NEER) ก็จะพบว่าเงินบาทแข็งค่าเกือบ 7.5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (NEER 102.64 เมื่อมิถุนายน 2014 และ 110.30 เมื่อมิถุนายน 2017) กล่าวในเชิงทฤษฎีคือ หากเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ 0.5% ต่อปี แต่เงินเฟ้อโลกเท่ากับ 2.5% ต่อปี เงินบาทก็น่าจะแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปี เพื่อให้กำลังซื้อของเงินทุกสกุลคงความเท่าเทียมกัน (purchasing power parity)

    แต่ในระยะสั้นและระยะกลางนั้น มีปัจจัยมากมายที่กระทบค่าเงิน ซึ่งในความเห็นของผมนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุด 2 ประการคือ ดอกเบี้ยจริง (ดอกเบี้ยนโยบายหักด้วยเงินเฟ้อ) และดุลบัญชีเงินสะพัด ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายจริงของสหรัฐฯ อยู่ที่ -1.1% (ดอกเบี้ยนโยบาย 1.13% เงินเฟ้อ CPI 2.22% ในครึ่งแรกของปี 2017) แต่ดอกเบี้ยนโยบายจริงของไทยอยู่ที่ 0.83% (ดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% เงินเฟ้อ 0.67%) ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนละเกือบ 4 หมื่นล้านเหรียญ แต่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนละประมาณ 3.8 พันล้านเหรียญ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกเพราะการส่งออกขยายตัวดีเกินคาด ดังนั้นปัจจัยต่างๆ จึงยังน่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์