SECTION
ABOUTINVESTMENT REVIEW
จริงหรือที่บิทคอยน์จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุนที่จริงจังไม่แพ้หุ้นและทองคำ
เจาะลึกบทบาทสกุลเงินดิจิทัลในโลกปัจจุบันและอนาคตกับดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ผมคิดว่าหลายคนคงได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Bitcoin หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ กันมาบ้าง เงินเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ได้รับความสนใจจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง อีกทั้งมีความผันผวนแบบหวือหวาชวนให้หวาดเสียว แต่หลายคนก็ยังอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร และจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนเหมือนเงินตราสกุลอื่นๆ ได้หรือไม่
บิทคอยน์ กลายเป็นข่าวดังในช่วงนี้ หลังจากราคาของบิทคอยน์ ทะยานขึ้นทะลุ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าย้อนกลับไปยุคเริ่มต้นช่วงปี 2010 บิทคอยน์มีค่าน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐเสียอีก (ว่ากันว่าในยุคออกใหม่ๆ มีคนอยากทดลองใช้เงิน 10,000 บิทคอยน์ เพื่อซื้อพิซซ่า 2 ถาด ปัจจุบันพิซซ่า 2 ถาดนั้นคงมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว) ทั้งนี้ ปัจจุบัน มูลค่ารวมของบิทคอยน์ พุ่งไปกว่าห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจยังเล็กอยู่มากเมื่อเทียบมูลค่าของเงินที่ใช้จริงๆ แต่ก็ถือเป็นเงินที่มองข้ามไม่ได้อีกต่อไป
บิทคอยน์ คืออะไร
เงินตราเสมือน (virtual currency) หรือเงินดิจิทัล หรือหลายคนเรียกว่า ‘cryptocurrency’ เป็นเงินที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นสกุลเงินทางเลือก โดยใช้เทคโนโลยีทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ในอดีต คือการพยายามทำลายข้อจำกัดของเงินตราที่ต้องพึ่งพาธนาคารกลาง (ที่ชอบพิมพ์เงินเพิ่ม) และระบบธนาคาร (ที่เป็นเหมือนเสือนอนกิน) ในระบบการชำระเงิน
เงินดิจิทัลที่น่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือบิทคอยน์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ใช้นามแฝงว่าซาโตชิ นากาโมโตะ (ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใครแน่) เมื่อปี 2009 เพื่อใช้ในการจ่ายเงินทางอินเทอร์เน็ต ทั้งการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินระหว่างกัน ด้วยการทำธุรกรรมกันโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน ทำให้มีต้นทุนการชำระเงินต่ำกว่ามาก
เหมือง-นักขุด
บิทคอยน์ถูกออกแบบมาให้มีการตรวจสอบการใช้เงินผ่านการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ และถูกบันทึกไว้โดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบเครือข่าย โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘blockchain’ คนที่ให้ยืมเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองในการประมวลผล แก้รหัสเพื่อตรวจสอบว่ารายการการใช้เงินนั้นว่าถูกต้องและบันทึกรายการการใช้เงิน เรียกว่า miner หรือ ‘นักขุด’
นักขุดที่สามารถคำนวณและถอดรหัสคณิตศาสตร์ได้คนแรก จะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินบิทคอยน์ ที่ ‘พิมพ์’ ขึ้นใหม่ และนี่เป็นวิธีเดียวที่จำนวนบิทคอยน์จะถูกผลิตขึ้นใหม่ บิทคอยน์ถูกออกแบบมาให้ปัญหาการเข้ารหัสทางคณิตศาสตร์ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนบิทคอยน์ที่ถูกสร้างขึ้นจะมีน้อยลงเรื่อยๆ เปรียบเสมือนกับการขุดหาแร่หายาก (เช่น ทองคำ) เพื่อจำกัดปริมาณของบิทคอยน์ ที่มีใช้หมุนเวียนกัน
ช่วงที่ราคาของบิทคอยน์ปรับเพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว มีคนจำนวนมากผันตัวมาเป็นนักขุด โดยซื้อคอมพิวเตอร์ชุดใหญ่มาร่วมคำนวณแก้ไขรหัสกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนถึงขั้นที่ว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่คนนิยมเอามาใช้ช่วยขุดถึงกับขาดตลาดเป็นบางช่วง หรือบางคนลงทุนย้าย ‘เหมือง’ ของตัวเองไปในประเทศอากาศหนาวและค่าไฟถูกอย่างไอซ์แลนด์เพื่อลดต้นทุนกันเลยทีเดียว
สังคมไร้เงินสด?
บิทคอยน์จะถูกเก็บไว้ใน ‘wallet’ หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ค่อนข้างปลอดภัย (แต่ก็มีข่าวการถูกโจรกรรมบิทคอยน์ โดยแฮกเกอร์เป็นครั้งคราว) เมื่อมีการจ่ายเงิน เงินในกระเป๋าของเราจะถูกส่งไปยังกระเป๋าของผู้รับอย่างรวดเร็ว และมีการตรวจสอบจากคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในโลก การจ่ายเงินอาจทำบนเว็บหรือผ่านโทรศัพท์มือถือก็ได้
เงินประเภทนี้สามารถใช้งานทดแทนเงินตราทั่วไปได้ โดยไม่ต้องแตะต้องเงิน (จริงๆ) เลย และเมื่อเริ่มมีคนยอมรับบิทคอยน์ในการซื้อขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนทั่วไปก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนบิทคอยน์เป็นสกุลเงินทั่วไปผ่านทางตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยด้วย
ทุกวันนี้ มีเงินดิจิทัลใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีศัพท์ที่ใช้ว่า Initial Coin Offering (ICO) เหมือนกับกระบวนการทำ IPO ของหุ้น และแต่ละครั้งก็เรียกความสนใจจากนักลงทุนได้ไม่น้อยทีเดียว
ทำไม บิทคอยน์ จึงได้รับความนิยม
ข้อดีของบิทคอยน์คือ ต้นทุนต่อธุรกรรมต่ำ เพราะเป็นการส่งเงินผ่านถึงกันโดยตรงโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร คนที่ประมวลผลธุรกรรมจะได้รับผลตอบแทนเป็นบิทคอยน์ที่ถูกสร้างขึ้นไปแล้ว นอกจากนี้ การใช้จ่ายผ่านบิทคอยน์ยังถูกตรวจสอบได้ไม่ง่ายนัก เพราะถึงแม้ว่ารายการการใช้จ่ายของทุกบัญชีจะเป็นที่เปิดเผย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนเจ้าของบัญชีบิทคอยน์ จึงเป็นที่นิยมสำหรับหลายประเทศที่มีข้อจำกัดในการโอนเงินเข้าออกและประเทศที่มีปัญหาทางการเมือง แต่ก็มีรายงานว่ามีการใช้บิทคอยน์ในธุรกิจผิดกฎหมายหรือการฟอกเงินด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ปริมาณเงินของบิทคอยน์จะถูกสร้างขึ้นด้วยอัตราที่แน่ชัดและจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป (ตามโครงสร้างที่ออกแบบมา ปริมาณบิทคอยน์จะคงที่อยู่ที่ประมาณ 21 ล้านบิทคอยน์ในปี 2030) หลายๆ คนมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อกับบิทคอยน์ เหมือนกับที่เกิดกับเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง เพราะบิทคอยน์มีสภาพของเงินที่มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนต้องการจะถือเงินสกุลนี้มากขึ้น คล้ายๆ กับภาวะของทองคำ
ในปัจจุบันหลายประเทศยอมรับบิทคอยน์ และเงินดิจิทัลเหล่านี้ให้สามารถใช้แทนเงินได้ หลายประเทศก็ได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมบิทคอยน์ เช่น ไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีการออกกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัล เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกต้อง และมีการควบคุมทั้งในเรื่องสถานะทางภาษี ความปลอดภัยของการใช้งานและป้องกันปัญหาการฟอกเงินและการเอาไปใช้อย่างผิดกฎหมาย แต่หลายประเทศ (เช่น ประเทศไทย) ก็ยังไม่ยอมรับให้สถานะทางกฎหมายให้กับบิทคอยน์
เงินดิจิทัลในโลกปัจจุบัน
บิทคอยน์ไม่ใช่เงินดิจิทัลสกุลเดียวของโลก แต่เป็นเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด บิทคอยน์เคยมีส่วนแบ่งตลาดมากเกือบ 100% แต่ปัจจุบันมีเงินดิจิทัลออกมาอีกหลายสกุล ที่พยายามแก้ไขจุดบกพร่อง และเพิ่มเติมคุณสมบัติใหม่ๆ ขึ้นมาให้น่าสนใจขึ้น เช่น Ethereum ที่เพิ่งเริ่มในปี 2015 แต่เป็นผู้ท้าชิงที่มีสัดส่วนมูลค่ามากกว่า 20% แล้ว และแม้ว่าราคาบิทคอยน์จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สัดส่วนมูลค่าของบิทคอยน์เหลือไม่ถึงครึ่ง แสดงให้เห็นว่า เงินแบบใหม่ๆ ได้ความนิยมอย่างมาก และปัจจุบันมีมูลค่ารวมกันมากกว่า แสนล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปแล้ว
ทุกวันนี้ มีเงินดิจิทัลใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีศัพท์ที่ใช้ว่า Initial Coin Offering (ICO) เหมือนกับกระบวนการทำ IPO ของหุ้น และแต่ละครั้งก็เรียกความสนใจจากนักลงทุนได้ไม่น้อยทีเดียว
ความเสี่ยง?
ถึงจุดนี้หลายคนคงสงสัยว่า แบบนี้เงินดิจิทัลจะกลายมาเป็นเงินสกุลหลักที่เราใช้กัน และกลายมาเป็นสินทรัพย์ในการลงทุนได้หรือไม่ ก็คงต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้มากทีเดียว แต่ก่อนจะตัดสินใจลงทุน เราคงต้องพูดถึงความเสี่ยงกันก่อน
อย่างที่กล่าวข้างต้น แม้เงินดิจิทัลเหล่านี้จะมีพื้นฐานที่น่าสนใจ มีประโยชน์จากการช่วยลดปัญหาของเงินสกุลปกติ ช่วยลดต้นทุนธุรกรรมการชำระเงินและมีอุปทานอยู่อย่างจำกัด แต่ก็มีความเสี่ยงหลายประการ เช่น
หนึ่ง เงินดิจิทัลเหล่านี้เป็นเงินที่ถูกสร้างขึ้น และความต้องการเกิดจากความ ‘เชื่อใจ’ ในระบบ ไม่มีธนาคารกลางหรือสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลัง ราคาถูกตั้งจาก demand-supply ของตัวเงินล้วนๆ หากวันหนึ่งระบบมีความเสี่ยงที่จะถูกทำให้เปลี่ยนไป หรือมีเงินอีกสกุลขึ้นมาแทนที่ ความนิยมในเงินสกุลที่เราถือหายไป สภาพคล่องอาจเหือดหาย และมูลค่าของเงินดิจิทัลเหล่านี้ก็สามารถมีความผันผวนได้มาก อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
สอง แม้ระบบการชำระเงินจะมีความปลอดภัย และตรวจสอบได้ แต่ก็ยังมีช่องทางที่อาจถูกโจมตีได้ เช่น ถ้าเราเก็บหมายเลขบัญชีไว้ไม่ดี ทำหาย หรือผู้ให้บริการ e-wallet หรือผู้ให้บริการตลาดแลกเปลี่ยนถูกโจมตี ก็อาจมีความเสี่ยงมาถึงเราได้
สาม บิทคอยน์ก็เหมือนการลงทุนประเภทอื่นๆ ที่มีความผันผวนเป็นเรื่องปกติ และผลตอบแทนในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันผลตอบแทนในอนาคต บางครั้งราคาของเงินสกุลเหล่านี้อาจปรับสูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในบางช่วง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจในบางประเทศ หรือความต้องการของคนบางประเทศในการเก็งกำไรหรือขนเงินออกนอกประเทศ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
สรุปแล้ว ผมคิดว่าเงินดิจิทัลเป็นพัฒนาการทางการเงินและเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวโน้มที่เราพอคาดได้ว่าจะเกิดขึ้นและมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต สำหรับคนที่สนใจจะใช้เงินสกุลเหล่านี้ ควรต้องศึกษาวิธีการทำงานของระบบ ศึกษาปัจจัยพื้นฐาน และความปลอดภัยอย่างละเอียดและใกล้ชิดและต้องแน่ใจว่าสามารถยอมรับความผันผวนในมูลค่าของเงินเหล่านี้ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างมาก และอาจมีเงินสกุลใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ได้เสมอ
และบิทคอยน์ก็เหมือนการลงทุนทั่วไปนะครับ เราควรมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และไม่ควรถือเงินพวกนี้ไว้เกินระดับความเสี่ยงที่เรารับได้นะครับ
■