SECTION
ABOUTTHINKING BIG
National e-Payment คือสิ่งกำหนดโอกาสรอดและรุ่งเรืองของประเทศท่ามกลางการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล กับการปูทางสู่สังคมไร้เงินสดและเศรษฐกิจดิจิทัลที่มี ‘พร้อมเพย์’ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะสังเกตว่าการเข้าสู่โลกอนาคตที่ทันสมัยคือความต้องการอย่างแรงกล้าของรัฐบาลชุดนี้ คำสำคัญอย่าง ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ หรือ ‘แผนยุทธศาสตร์ชาติ’ ที่สอดร้อยอยู่กับชื่อโครงการ งานเสวนา หรือพันธกิจต่างๆ ของกระทรวง ทบวง กรม บ่งบอกให้รู้ว่ารัฐบาลตระหนักดีถึงภาวะบีบคั้นอันเกิดมาจากโลกที่เปลี่ยนไป หากประเทศไทยจะสู้ในสังเวียนใหม่ สิ่งของที่จับต้องไม่ได้อย่าง ‘ข้อมูล’ ‘ไอที’ ‘คุณค่า’ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ฯลฯ ดูจะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจและรู้จักจับมาใช้ได้อย่างไม่ล้าหลัง
แน่นอนว่าการ ‘เปลี่ยนยุค’ ให้ประเทศ ย่อมไม่อาจง่ายดายเพียงตั้งชื่องานเสวนา กระนั้น การสัมภาษณ์ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาคนสำคัญของโครงการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment System) ซึ่งได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนานในแทบทุกส่วนของระบบการเงินของประเทศ ตั้งแต่บริษัทส่วนตัว บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นอกเหนือไปจากดีกรีปริญญาเอกด้าน Computer Science จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อันถือเป็นสุดยอดของอุตสาหกรรม บ่งบอกให้เรารู้ว่าด้วยข้อมูล ด้วยความเข้าใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความมุ่งมั่นไม่ล้มเลิก เราอาจสร้างโครงสร้างของพฤติกรรมใหม่ให้กับประชาชน ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ต่างกับการ ‘เขียนแอป’
เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นพื้นฐานสำหรับประเทศไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า เวลาทำเราจึงต้องสร้างให้เป็นของที่สิ่งอื่นๆ มาต่อยอดได้ ไม่ใช่ของที่ไปกดทับพัฒนาการอื่นๆ เหมือนกับเราสร้างระบบน้ำประปา เราจะไม่ได้บอกว่าคุณต้องเอาน้ำประปาไปผลิตอะไร
เทคโนใหม่ มนุษย์เก่า
ก่อนจะเข้าสู่ความซับซ้อนของระบบไอทีและโค้ดดิ้ง ดร.อนุชิตบอกว่าสิ่งที่ต้องมองให้ออกก็คือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ซ้อนรองปรากฏการณ์ทางไอทีทั้งหมด
“มีคนมาถามผม Digital Economy คืออะไร คนไปมองมันแยกจากชีวิต จริงๆ ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ กี่พันปีก็เป็นอย่างนี้ อาจจะเปลี่ยนเครื่องมือ อาจจะเอาเทคโนโลยีเข้ามา เหมือนจะมีอะไรซับซ้อน แต่จริงๆ ไม่มีอะไรเลย คนยังค้าขายเหมือนเดิม ความต้องการต่างๆ ยังเหมือนเดิม ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดสุดท้ายก็คือการผลิตสินค้าบริการ การส่งมอบ และการชำระเงิน มีแค่นี้ ถ้าเข้าใจเราก็จะเห็นว่าอะไรเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับ Digital Economy คือ หนึ่ง มีการผลิตสินค้าบริการแบบดิจิทัลหรือใช้เทคโนโลยี สอง มีการเคลื่อนย้ายส่งมอบสินค้าและบริการนั้นได้สำเร็จ สาม มีการชำระค่าสินค้าค่าบริการได้เรียบร้อย เรามาจับเรื่องการชำระเงินก็เพราะนี่คือชิ้นใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ
…แต่เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นพื้นฐานสำหรับประเทศไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า เวลาทำเราจึงต้องมองให้เหมือนการสร้าง ‘infrastructure’ หรือโครงสร้างพื้นฐาน คือสร้างให้เป็นของที่สิ่งอื่นๆ มาต่อยอดได้ ไม่ใช่ของที่ไปกดทับพัฒนาการอื่นๆ เหมือนกับเราสร้างระบบน้ำประปา เราจะไม่ได้บอกว่าคุณต้องเอาน้ำประปาไปผลิตอะไรต่อ เอาไปผลิตน้ำแข็งก็ได้ เอาไปเปลี่ยนสีใส่หัวน้ำหอมเป็นน้ำหอมก็ได้ เราเพียงสร้างระบบที่จะไม่จำกัดการใช้น้ำในรูปแบบต่างๆ นี่คือหลักการที่สำคัญ และสำหรับระบบชำระเงิน สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดก็คือ การย้าย ‘มูลค่า’ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งให้สำเร็จ แล้วหักล้างหนี้กันได้เท่านั้น”
ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่
สำหรับบุคคลทั่วไป ความสำเร็จในเฟสแรกของโครงการ National e-Payment ปรากฏขึ้นในรูปของ ‘พร้อมเพย์ (Prompt-pay)’ หรือบริการที่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถบอกหมายเลขมือถือหรือบัตรประชาชนสำหรับไว้รับการโอนเงินได้เช่นเดียวกับหมายเลขบัญชีธนาคารโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม สำหรับดร.อนุชิต สิ่งที่เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของโครงการในเฟสแรกนี้มากกว่าเรื่องที่บุคคลสามารถบอกเบอร์มือถือแทนเบอร์บัญชี หรือโอนเงินข้ามธนาคารโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมก็คือข้อเท็จจริงว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการโอนเงินของประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยขนส่งได้แต่ข้อมูลการโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคาร ปัจจุบันสามารถรองรับการ ‘ย้ายมูลค่า’ กล่าวคือขนส่งข้อมูลการโอนเงินระหว่างระบบไอทีที่มีไอดีแตกต่างกันได้ หรือที่เรียกว่า ‘Any ID’
“ธรรมชาติพื้นฐานที่สุดของระบบนี้คือการทำให้เราสามารถเคลื่อนย้ายมูลค่าโดยผ่าน ID อะไรก็ได้ สมัยก่อนเราจะเคลื่อนย้ายมูลค่า ซึ่งหลักๆ คือเงิน เราต้องทำการเคลื่อนย้ายผ่านเลขที่บัญชี แต่การที่ระบบรับรู้แต่เลขบัญชี มันล็อกพัฒนาการทุกอย่างเลย เพราะมันหมายถึงว่าคุณต้องไปเปิดบัญชีก่อน และจะทำอะไรก็ต้องลากเอาเลขบัญชีไปด้วย จะค้าขายบนอินเตอร์เน็ต ก็ต้องเอาเบอร์บัญชีไปบอกทุกคนว่าให้โอนเข้าบัญชีนี้ๆ แต่ถามว่าถ้าระบบทำได้แค่นี้ เวลาคนเขาจะจ่ายเงินเข้ามาให้เราด้วยไอดี Paypal ด้วยไอดี Line ด้วยไอดี Apple ทำยังไง จ่ายด้วยไอดีฟินเทคอื่นๆ ทำยังไง คำตอบคือทำไม่ได้ เพราะระบบไม่รองรับ”
เพื่อให้เห็นภาพ ดร.อนุชิตเปรียบเปรยว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับได้ทุกไอดีคือ ‘ซูเปอร์ไฮเวย์’ ที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางสำหรับรับส่งข้อมูลการโอนเงินโดยไม่จำกัดลักษณะไอดีของข้อมูล ในขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งหลาย เช่นธนาคาร อี-วอลเลต อี-มันนี่ หรือฟินเทคอื่นๆ เปรียบได้กับ ‘เมือง’ ต่างไอดีที่คอยรับหรือส่งเงินระหว่างกัน โดยเนื่องจากถนนเส้นนี้รองรับไอดีทุกลักษณะ จึงหมายความว่าไม่ว่าจะมีเมืองผู้ให้บริการมากขนาดไหน หรือแต่ละเมืองมีไอดีแตกต่างกันหรือไม่ ขอเพียงเมืองนั้นๆ สร้างทางเชื่อมกับทางซูเปอร์ไฮเวย์ได้ เมืองหรือผู้ให้บริการรายนั้นก็จะสามารถส่งข้อมูลการโอนเงินจากเมืองของตนไปยังเมืองอื่นๆ ที่เชื่อมต่อกับซูเปอร์ไฮเวย์ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ไอดีคนละระบบกัน
“ถ้าประเทศเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละเมืองต้องตัด local road หรือ ‘ทางเกวียน’ ระหว่างกัน เมืองไหนมีตัดทางเกวียนเชื่อมกันแล้วก็โอนเงินกันได้ แต่ถ้าเมืองไหนยังไม่ได้ตัดทางเกวียนเชื่อมกันก็โอนไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากทางเกวียนที่ตัด ไม่ได้รองรับได้ทุกไอดีเหมือนซูเปอร์ไฮเวย์ รถที่วิ่งมาจากเมืองอื่นที่ไม่ได้ใช้ไอดีระบบเดียวกับเมืองที่ตัดทางเกวียนก็จะใช้ทางเกวียนนั้นไม่ได้ด้วย ยกตัวอย่างบัตรทางด่วน Easy Pass ตอนแรกที่เกิดขึ้นมา คุณจะใช้ธนาคารเติมเงินก็ไม่ได้เพราะ อีซี่พาสยังไม่ได้ตัดทางเกวียนเชื่อมกับธนาคาร อีซี่พาสก็เลยต้องไปคุยกับทีละธนาคารให้มาตัดทางเชื่อมกับตัวเอง คำถามคือ ถ้าในประเทศมีเมืองผู้ให้บริการ 1,000 เมือง แล้วเราอยากให้ทุกเมืองเชื่อมต่อกันได้ ก็แปลว่าต้องมีการตัดถนน 1 ล้านสาย แต่ถนน 1 ล้านสาย ต่อให้ผู้ให้บริการคุยและทำเป็น 10 ปี ก็ยังตัดไม่ครบทุกเมือง ประเทศเราถึงเกิดนวัตกรรมทางการชำระเงินหรือฟินเทคยากมาก เพราะผู้เล่นเกิดใหม่ที่ไหนจะไปมีเงินทุนตัดทางต่อกับทุกคน
…โครงการ National e-Payment จึงบอกว่า เลิกเถอะ---ชีวิตรันทดแบบนี้ รัฐบาลจะตัด ซูเปอร์ไฮเวย์ขึ้นมา บรรทุกข้อมูลได้ทุกชนิด ทุกเมืองมีหน้าที่อย่างเดียวคือทำทางขึ้นลงกับซูเปอร์ไฮเวย์นี้ ดังนั้น พอมีฟินเทคหรือเมืองใหม่เกิดขึ้น เมืองใหม่ไม่ต้องวิ่งไปตัดทางเกวียนต่อกับทุกเมืองแล้ว ทำอย่างเดียวคือต่อทางเชื่อมกับซูเปอร์ไฮเวย์ ก็ไปได้ทุกเมือง แต่ละเมืองประหยัดต้นทุนการตัดทางเกวียนได้เป็นร้อยสาย จึงไม่ต้องไปคิดราคาแพงๆ กับผู้บริโภค ผู้บริโภคก็ประหยัดขึ้น และมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะใช้จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด ในที่สุดพัฒนาการของประเทศก็จะก้าวกระโดด นี่คือคอนเซปต์ของการทำ Digital Economy นี่คือหัวใจของการทำ e-Payment”
ระบบเศรษฐกิจของเราไม่มีประสิทธิภาพ เพราะของที่ทำได้แพง เราเอามาให้ใช้กันได้ฟรีๆ ส่วนของที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นการชำระเงินออนไลน์ เรากลับเก็บเงินค่าใช้แพง นี่คือการสร้างความบิดเบือนให้กับระบบ
โอกาสของการอยู่รอด
ท่ามกลางคำพูดเกี่ยวกับความประหยัด ความรวดเร็ว หรือความสะดวกเกี่ยวกับการโอนเงินอันเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นที่ฐานที่รัฐพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ National e-Payment อาจเป็นการง่ายที่จะรู้สึกว่าพัฒนาการทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องของ ‘น้ำตาลบนเค้ก (icing on the cake)’ ที่ประเทศไทยจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ดร.อนุชิตชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องของความสะดวกมากเท่ากับความอยู่รอด และการไม่ทำไม่ใช่ทางเลือก
“ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาเรื่องระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพ ประเทศเราจะเหนื่อยมาก เศรษฐกิจของเรามีขนาด 13.5 ล้านล้าน แต่เรามีคนกดเงินสดออกจากตู้เอทีเอ็ม 7.5 ล้านล้าน ยังไม่ต้องคิดว่าเงินสดจากตู้เหล่านี้จะไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกไม่รู้กี่รอบ ดังนั้นเราจะยิ่งกลายเป็นเศรษฐกิจเงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายในอดีตซึ่งพยายามทำให้การกดเอทีเอ็มฟรี ทำให้การกดเงินสดที่ความจริงต้นทุนสูง ทั้งการขนเงิน เติมเงิน กลายเป็นสิ่งที่ฟรีและมีคนใช้คิดเป็น 95% ของธุรกรรมตู้เอทีเอ็ม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราย้ายต้นทุนของการกดเงินสดที่เกิดขึ้นไปให้ธุรกรรมอีก 5% ที่เหลือคือการโอนอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการเก็บค่าธรรมเนียม ทั้งที่จริงๆ การโอนอิเล็กทรอนิกส์แทบไม่ได้มีต้นทุนอะไร ระบบเศรษฐกิจของเราจึงไม่มีประสิทธิภาพ เพราะของที่ทำได้แพง เราเอามาให้ใช้กันได้ฟรีๆ ส่วนของที่มีประสิทธิภาพสูงเช่นการชำระเงินออนไลน์ เรากลับเก็บเงินค่าใช้แพง นี่คือการสร้างความบิดเบือนให้กับระบบ ทำให้ยิ่งนานไปต้นทุนความไร้ประสิทธิภาพของระบบจะยิ่งสูงขึ้น ผู้ให้บริการออนไลน์ที่เราอยากให้เกิด ก็เกิดไม่ได้ เพราะเราบิดเบือนราคาของเขา คำถามคืออย่างนี้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องแบกรับต้นทุนส่วนเกินที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของระบบจะไปสู้กับคนอื่นเขาได้อย่างไร”
ยิ่งกว่านั้น ในโลกที่ไร้พรมแดน ปัญหาการไร้ความสามารถในการแข่งขันของเอกชน ในที่สุดยังอาจลุกลามมาเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเองด้วย
“ลองนึกภาพ ปกติเวลาชาวนาไทยขายข้าวให้ฝรั่งได้ความมั่งคั่งเป็นเงินดอลลาร์มา หากชาวนาจะใช้เงินในประเทศไทย ชาวนาไทยก็ต้องเอาความมั่งคั่งหรือเงินดอลลาร์นั้นไปแลกเงินบาทจากแบงก์ชาติก่อน ดังนั้น แบงก์ชาติจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนนายบ่อนที่ออกชิปสำหรับใช้ในระบบของประเทศ และความมั่งคั่งของคนในชาติจึงต้องเรียกว่ารวมอยู่ที่แบงก์ชาติทั้งหมด ปัญหาคือปัจจุบันนี้ พวกผู้ให้บริการระบบการชำระเงินต่างๆ เขาสามารถเก็บเงินจากบัญชีคนไทยที่อยู่กับเขาเป็นเงินบาทได้ โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตแบงก์ชาติเลย เพราะเขาเป็นคนออกชิปให้คนใช้ในระบบของเขาแทนแบงก์ชาติ
…ดังนั้น ในวันหนึ่งที่โลกกลายเป็นระบบ cashless ไม่ใช้เงินสดอีกต่อไป เราอาจพบว่าเงินบาททั้งประเทศของเราแทนที่จะอยู่กับแบงก์ชาติ กลับไปอยู่กับผู้ให้บริการเหล่านี้ คนไทยสะสมความมั่งคั่งมาแล้วก็เอาไปแลกชิปจากผู้ให้บริการต่างชาติ จากเซิร์ฟเวอร์ของเขา ถ้าสมมติแบบมองโลกในแง่ร้ายเลย เราจะเห็นว่าประเทศเราตกอยู่ในกำมือคนต่างชาติ ถ้าวันหนึ่งเขาอยากซื้อของจากไทย เขาอาจไม่ต้องใช้เงินสักบาท เขาแค่แจกชิปลงไปในเซิร์ฟเวอร์เขาก็มาแลกข้าวเราไปได้แล้ว ความเสี่ยงคือเศรษฐกิจของเราพังได้เลย เพราะมันคือการดูดซับความมั่งคั่งในระบบไปโดยไม่ต้องลงทุน นี่คือสาเหตุที่ทำไมเราต้องสร้างระบบการชำระเงินของเราเองให้ดีให้ได้”
โอกาสของความรุ่งเรือง
ในขณะที่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดหรือ ‘worst-case scenario’ ฟังดูเป็นวิกฤติที่ร้ายแรง ดร.อนุชิตให้ความหวังว่าหากโครงการ National e-Payment ได้รับการพัฒนาจนเสร็จสิ้นตามแผน ประเทศไทยก็อาจได้พบคำตอบในหลายๆเรื่องที่เป็นปัญหามานานเช่นกัน
“ถ้าเราทำให้การซื้อขายสินค้าบริการเป็นอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ทำใบกำกับภาษีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ยื่นแบบภาษีก็อิเล็กทรอนิกส์ เราจะมีข้อมูลทุกอย่างหมด และสามารถจับชีพจรเศรษฐกิจได้เลย ข้อมูลตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการประเทศอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้เวลาอยากจะรู้เรื่องอะไร เจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นคนโทรเซอร์เวย์แล้วคีย์ข้อมูลลงไปในระบบ คีย์มาผิดบ้างถูกบ้าง เวลาเราเอาข้อมูลผิดมาประมาณการณ์เศรษฐกิจ ก็อาจประมาณการณ์ผิด เอามาทำนโยบาย นโยบายก็ผิดอีก แต่ถ้าทำระบบอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จปุ๊ป เราจะรู้ชัดเจนเลยว่าเศรษฐกิจเซ็กเตอร์ไหนขายดี-ขายไม่ดี นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วซื้ออะไร-ไม่ซื้ออะไร ต่อไปในการบริหารราชการทั้งหมด เราจะไม่ต้องนั่งเทียนอีกต่อไป
…ยกตัวอย่างเรื่องสวัสดิการ เดิมถ้าเราไม่มีเทคโนโลยี นโยบายสวัสดิการก็ต้องทำแบบหว่าน เป็น ‘blanket policy’ ให้แบบเหมาๆ คนอายุเท่านี้ ให้ขึ้นรถเมล์ฟรีได้ ให้ได้ค่านู่นค่านี่ได้ แต่นี่ไม่ใช่การให้ตามความจำเป็น คนควรได้-ไม่ควรได้ก็ได้หมด แต่ต่อไปเมื่อมีระบบ เราจะมีวิธีจ่ายเงินสวัสดิการตรงไปที่บุคคลเลย และเราจะรู้ข้อมูลคนรายได้น้อยมากขึ้น รู้อาชีพ รู้รายได้ รู้หนี้ พอรู้พวกนี้เราก็จะไปคิดจิ๊กซอว์ที่ตามมาได้ทั้งหมด เช่น รู้หนี้ปุ๊ป ก็แก้เรื่องหนี้ครัวเรือนได้ เวลาออกบัตรสวัสดิการก็ตั้งขอบเขตได้ว่าใครควรจะได้มากได้น้อยเท่าไหร่ คนไหนขึ้นรถอะไรฟรี ก็กำหนดได้หมด เป็นรายบุคคลเลยก็ยังได้
…ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีระบบ นอกจากนโยบายจะหว่านแล้ว เวลาจ่ายเงินให้คนยากจน เราต้องจ่ายเป็นทอดๆ กันลงไปตามหน่วยงาน ก็ย่อมเป็นไปได้ว่าการตรวจสอบอาจหลุด คนตายแล้วก็ยังมีงบ มีเงินไปให้ ดังนั้นเงินรั่วไหลไม่รู้เท่าไหร่ รั่วทีก็มีรถไฟฟ้าหล่นไปทีละสายๆ ถ้ามีระบบเมื่อไหร่ ประเทศจะเหลือเงินไปบริหารเรื่องอื่นๆ ได้เยอะกว่าเดิมมาก อย่าลืมว่าประเทศไทยขณะนี้กำลังก้าวไปสู่สังคมที่เรียกว่า ‘แก่-เจ็บ-จน-คนน้อย-ด้อยศึกษา-ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง’ ถ้าไม่แก้เรื่องระบบ นานไปๆ ค่าเงินสวัสดิการมีแต่สูงขึ้น ค่าเงินภาษีมีแต่ลง เพราะจัดเก็บได้ไม่มีประสิทธิภาพ และฐานภาษีหนีไปอยู่ต่างประเทศกันหมด ถึงจุดๆ หนึ่งถ้าสวัสดิการขึ้น ภาษีลง ปัญหาต่างๆ ทับซ้อน ระบบอาจเป็นง่อยได้เลย”
แต่ข้อมูลที่ภาครัฐจะได้ไปหากประชาชนใช้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายนี่เองที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจกับการลงทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของระบบใหม่
“เรามักคอยประท้วงว่าห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามเก็บข้อมูลทุกอย่าง แต่สุดท้ายตลอดเวลาที่เราใช้มือถืออยู่ มือถือก็แอบส่งข้อมูลเราไปตลอด ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเปิดแผนที่แล้วแสดงการจราจรได้ ก็เพราะมือถือทุกอัน report location ไป จนระบบเห็นว่าแต่ละคนเคลื่อนที่ยังไง ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บอยู่แล้ว แต่เรากลับมาคอยจำกัดเฉพาะโอกาสของประเทศตัวเองในการใช้ข้อมูล อีกอย่างก็คือเรื่องข้อมูลเท็จ ค้าขายแล้วสร้างข้อมูลเท็จ พอจะเก็บข้อมูลก็เลยกลัว แต่คำถามคือถ้าเราทำ Big Data ของข้อมูลเท็จ แล้วใครจะได้ประโยชน์อะไร ดังนั้น ความคิดเหล่านี้ต้องเปลี่ยน เราไม่สามารถก้าวหน้า โดยไม่คิดจะก้าวเดิน ถ้าอยากไปตรงนู้น แต่ยังนั่งอยู่ตรงนี้ แล้วอัศวินที่ไหนจะมาอุ้มเราไปถึงตรงนั้นได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เรียนรู้อะไรเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเป็นไปได้”
ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างได้
แม้ดร.อนุชิตจะพูดชัดว่าไม่มี ‘อัศวิน’ ใดจะอุ้มประชาชนให้ไปได้ถึงเป้า หากประชาชนไม่ยอมเปลี่ยนเอง กระนั้น ข้อมูลบ่งบอกว่าจากงานที่เขาช่วยผลักดัน ได้ทำให้ปริมาณธุรกรรมในระบบใหม่ เติบโตแบบทวีคูณจนคิดเป็นกว่าร้อยละ 40 ของธุรกรรมทั้งหมด โดยพฤติกรรมของผู้โอน ที่เดิมทีมักโอนเฉพาะเมื่อสิ้นเดือนเพราะการโอนเป็นเรื่องยุ่งยาก ในปัจจุบันกลับมีธุรกรรมการโอนเกิดขึ้นตลอดวัน และด้วยต้นทุนการโอนที่เป็นศูนย์ ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์จึงเริ่มขายสินค้าแม้ในราคาต่ำเพียง 20-30 บาท เมื่อคำนึงถึงว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการวางระบบ Any ID ซึ่งแท้จริงเป็นเพียง 1 ใน 12 งานชิ้นเล็ก และงาน 12 ชิ้นเล็กนั้นรวมแล้วคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของงานชิ้นกลาง และงาน 5 ชิ้นกลางนั้นรวมคิดเป็นเพียงงานชิ้นหนึ่งใน 3 ชิ้นใหญ่ที่ประกอบขึ้นเป็นแผนพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติทั้งแผนแล้ว ท่ามกลางความท้าทายของงาน หากยังมีใครเป็นอัศวินพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง หนึ่งในบรรดาอัศวินนั้นก็ต้องมีดร.อนุชิตอยู่ด้วยคนหนึ่ง
สิ่งที่น่าแปลกก็คือ แรงบันดาลใจในการออกแบบและผลักดันการเงินยุคดิจิทัลของดร.อนุชิตกลับมาจากเงินรุ่นโบราณอย่าง ‘พดด้วง’
“กว่าคนไทยจะเลิกใช้พดด้วงก็นานเป็น 100 ปี รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามเอากระดาษ เอาธนบัตรมาให้ใช้แทนพดด้วง คนไทยก็กลัวกระดาษ กระดาษจะมีค่าได้ยังไง ต้องพดด้วงสิ พดด้วง ‘ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้’ ความเชื่อในพดด้วงคือที่มาของสำนวนนี้ ดังนั้น คนไทยไม่ยอมรับการใช้ธนบัตรเลยตลอดรัชกาล ใช้พดด้วงเหมือนเดิมจนหลวงต้องยกเลิกไป รัชกาลที่ 5 ทรงพยายามนำธนบัตรมาให้คนใช้อีก ก็ไม่สำเร็จไปอีกรอบ มาสำเร็จเอารอบ 2 เมื่อปลายๆ รัชกาล มองแบบมีหวังก็คือ ถ้าเราเปลี่ยนจากเงินพดด้วงมาใช้กระดาษได้ วันหนึ่งเราก็คงเปลี่ยนจากระบบเงินสดเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้เหมือนกัน”
แต่แน่นอนว่า ด้วยอัตราของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ในรอบนี้เราคงไม่ได้ใช้เวลาถึง 100 ปี
■