SECTION
ABOUTTHE FAST LANE
ประเทศไทยอาจเป็นฐานส่งให้แบรนด์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันกลับคืนสู่ความรุ่งโรจน์
เจาะลึกเหตุผลการตัดสินใจตั้งโรงงานของแบรนด์ผู้เป็นอเมริกันไอคอนในประเทศไทย ท่ามกลางความอิ่มตัวของตลาดบิ๊กไบค์
ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่แล้ว ใครที่เตร็ดเตร่อยู่แถวลานพระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในยามค่ำคืน อาจพบเห็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ที่มักมารวมตัวกันในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนของแต่ละวัน เมื่อกรุงเทพฯ เริ่มเงียบสงบลง และบรรดาพ่อค้าแม่ขายต่างทยอยเข็นรถขายอาหารกลับบ้าน เหล่านักบิดซึ่งมี ภรวิธ เศรษฐบุตร เป็นหนึ่งในสมาชิก จะมารวมตัวกันพร้อมกับรถมอเตอร์ไซค์คันหรูซึ่งผลิตในยุโรปหรืออเมริกา มองในแวบแรก กองทัพหมวกกันน็อกสีทะมึนและเสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์เงาวับอาจเป็นภาพที่ชวนข่มขวัญ ทว่าสิงห์นักบิดกลุ่มนี้แท้จริงแล้วคือคนธรรมดาที่ทำงานออฟฟิศเหมือนคนทั่วไป หลายคนหมดเงินไปกับมอเตอร์ไซค์มากเสียจนไม่กล้าบอกภรรยา กระนั้น มันก็คุ้มค่าสำหรับพวกเขา ในสมัยนั้น วงการ ‘บิ๊กไบค์’ หรือมอเตอร์ไซค์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 500 ซีซีหรือมากกว่า ยังเป็นกิจกรรมพิเศษที่สงวนไว้สำหรับสิงห์นักบิดตัวจริงเท่านั้น
“มันเป็นเหมือนจุดนัดพบของพวกเรา” ภรวิธ ชายวัย 51 ปีพร้อมเคราแพะซึ่งเริ่มมีสีขาวแซมกล่าว ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการบริหารของ Rubbers หนึ่งในนิตยสารชั้นนำเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ของไทย เขาดูชอบอกชอบใจเมื่อเล่าถึงการรวมตัวที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในอดีต ซึ่งถูกยกเลิกไปหลายปีแล้ว หลังมีนักบิดกลุ่มหนึ่งโชว์ซิ่งรถผาดโผนบนท้องถนนจนไปสะดุดตาตำรวจเข้า แม้จะผ่านมาเพียง 10 ปี แต่ฉากเหล่านี้ได้กลายเป็น “วันวาน” สำหรับกลุ่มผู้ขี่บิ๊กไบค์ในประเทศไทยไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นานๆ ที ค่ำคืนในอดีตนี้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งผ่านงาน Rubbers Rebel Ground ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้งด้านนอกอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และยังคงความยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับอดีต ทั้งเสียงกระหึ่มจากท่อไอเสียที่ดังเสียดหูยามเหล่านักบิด ‘เบิร์นยาง’ จนควันขโมง หรือการแสดงท่าผาดโผนยกล้อในลานจอดรถอวดคนดู โดยงานครั้งล่าสุดนี้มีผู้เข้าชมสูงกว่าครั้งก่อนๆ มาก (มากกว่า 15,000 คนภายใน 3 วัน) เพราะงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลองให้กับวิถีไบค์เกอร์ แต่ยังรวมถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมนี้ในทศวรรษที่ผ่านมาด้วย โดยภายหลังจากการรวมตัวในอดีตของภรวิธกับเหล่านักบิดคนอื่นๆ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แบรนด์อย่าง Ducati Triumph และ BMW ต่างตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ทำให้สามารถเลี่ยงภาษีนำเข้าซึ่งสูงถึง 60% รวมทั้งช่วยเพิ่มยอดขายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังพยายามกระตุ้นยอดการผลิตด้วยการออกมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจบริษัทที่ผลิตมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ในประเทศ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เกิดขึ้น น่าสังเกตว่าแบรนด์หนึ่งที่ไม่ยอมใจอ่อนเข้าตั้งโรงงานประเทศไทยก็คือ Harley-Davidson
สิงห์นักบิดกลุ่มนี้แท้จริงแล้วคือคนธรรมดาที่ทำงานออฟฟิศเหมือนคนทั่วไป หลายคนหมดเงินไปกับมอเตอร์ไซค์มากเสียจนไม่กล้าบอกภรรยา กระนั้น มันก็คุ้มค่าสำหรับพวกเขา
อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม เพียง 2 วันให้หลังจากที่งาน ‘รับเบอร์ส เรเบล กราวด์ 2017’ นั้นปิดฉากลง ไอคอนสัญชาติอเมริกันรายนี้ได้ประกาศแผนตั้งโรงงานประกอบมอเตอร์ไซค์แห่งใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง โรงงานซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2561 แห่งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์การเติบโตของแบรนด์ในระยะยาว เพื่อเพิ่มผลกำไรทั่วโลกให้เป็น 2 เท่าของรายได้ทั้งหมดภายในปี 2570
ฮาร์ลีย์-เดวิดสันครองความสนใจของคนไทยมาช้านาน กลุ่มนักบิดไทยรุ่นใหญ่ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก เช่นกลุ่มอิมมอร์ทัล (Immortals) ก็เริ่มต้นจากการรวมตัวของคนขี่ฮาร์ลีย์ ปัจจุบัน ฮาร์ลีย์-เดวิดสันมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศ 8 แห่ง และมีกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์อย่างเป็นทางการหรือที่รู้จักในชื่อ Harley Owners Group ซึ่งมีสมาชิกกว่า 900 คน นอกเหนือจาก นักบิดอีกจำนวนหลายพันคนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคนรักฮาร์ลีย์อื่นๆ ที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ จริงอยู่ที่จักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Yamaha อาจทำยอดขายแซงหน้า แต่หากวัดเรื่องความโดดเด่น คงไม่มีใครเทียบชั้นสิงห์นักบิดฮาร์ลีย์ หากขับรถไปทางภาคเหนือ หลายหนเราอาจพบเห็นขบวนฮาร์ลีย์วิ่งอยู่บนเส้นทางคดเคี้ยว หรือขับลัดเลาะเพื่อไปยังภูเก็ต “ไม่มีอะไรเทียบกับตอนขับฮาร์ลีย์ได้ ช่วงเวลานั้นคุณจะลืมเรื่องอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตไปเลย” วรนันท์ ถาวรนันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวย-การ ฮาร์ลีย์ โอนเนอร์ กรุ๊ป ของไทย กล่าว
วรนันท์ ผู้ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงวาณิชธนกิจนั้นขี่มอเตอร์ไซค์มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว โดยเริ่มซื้อฮาร์ลีย์คันแรกในชีวิตเมื่อราวปี 2543 ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของฮาร์ลีย์-เดวิดสันรุ่น Ultra Limited ราคา 2.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นคันที่ 3 ในชีวิตของเขา และเป็นหนึ่งในจักรยานยนต์สไตล์ Touring รุ่นแรกของฮาร์ลีย์ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม เขานำเข้าจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์ทั้ง 3 คันมาจากอเมริกา และต้องเสียภาษีนำเข้าเป็นจำนวนสูงลิ่ว ขณะที่ในสหรัฐฯ นั้น ฮาร์ลีย์-เดวิดสันรุ่นอัลตร้าลิมิเต็ดจำหน่ายอยู่ที่ราคาเพียงเกือบ 1 ล้านบาท
ราคาที่สูงเกินเอื้อมนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อฮาร์ลีย์ในประเทศไทย ขณะที่อัตราการเติบโตของแบรนด์ก็กำลังชะลอตัว รายงานจากกรมการขนส่งทางบกยืนยันว่ารถมอเตอร์ไซค์ของฮาร์ลีย์ที่ถูกนำมาจดทะเบียนมีจำนวนลดลงกว่า 60% นับตั้งแต่ปี 2555 มิหนำซ้ำยอดขายในอเมริกายังซบเซา โดยลดลงถึง 39% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฮาร์ลีย์ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างในที่สุด
ข่าวการก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในประเทศไทยได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลายแบบ สิงห์ฮาร์ลีย์รุ่นเก๋าบางคนสงสัยว่ามอเตอร์ไซค์ที่ผลิตภายในประเทศ จะลดมูลค่าของบรรดารุ่นที่ผลิตในสหรัฐฯ ของพวกเขาลงหรือเปล่า
“ตราบใดที่โรงงานในไทยรักษามาตรฐานการประกอบแบบเดียวกับที่อเมริกาไว้ได้ ก็ไม่มีอะไรต้องห่วง มอเตอร์ไซค์ที่ประกอบขึ้นในโรงงานแห่งแรกของฮาร์ลีย์ที่เมืองมิลวอกี ก็จะยังมีราคาสูงเหมือนเดิม รวมถึงรุ่นลิมิเต็ดต่างๆ และรุ่นที่ปรับแต่งเป็นเครื่องยนต์ Screaming Eagle ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยน คงเป็นราคาของฮาร์ลีย์ที่ผลิตในสหรัฐฯ น่าจะถีบตัวสูงขึ้น และกลุ่มคนขี่ฮาร์ลีย์ก็จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น” วรนันท์กล่าว
ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งกลับแสดงท่าทีต่างออกไป สหภาพคนงานเหล็กกล้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานจากโรงงานฮาร์ลีย์ในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน โจมตีการตัดสินใจดังกล่าวว่าเป็นความพยายามที่จะแย่งงานจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งบอบช้ำอยู่แล้ว และดูเหมือนว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งออกตัวสรรเสริญความเป็นอเมริกันแท้ของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ก็รู้สึกเหมือนถูกตบหน้าเพราะการตัดสินใจในครั้งนี้เช่นกัน
“ฮาร์ลีย์-เดวิดสันคืออเมริกันไอคอนอย่างแท้จริง เป็นหนึ่งในตำนาน” เขาพูดในระหว่างการแถลงข่าวกับผู้บริหารของฮาร์ลีย์และคนงานเหล็กกล้าในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ผมต้องขอขอบคุณฮาร์ลีย์-เดวิดสันที่ผลิตทุกอย่างในอเมริกา ผมคิดว่าคุณจะขยายกิจการที่นี่เสียด้วยซ้ำ”
ทรัมป์พูดถูกเกี่ยวกับการขยายกิจการของฮาร์ลีย์ แต่คาดการณ์ผิดเรื่องสถานที่ตั้ง ขณะที่เขากล่าวคำปราศรัยดังกล่าว การก่อสร้างโรงงานของฮาร์ลีย์-เดวิดสันในประเทศไทยก็ได้เริ่มดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ผมรู้สึกว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการตีตลาดในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งที่จริงๆ เรามีโอกาสที่จะทำกำไรจากกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เราเลือกประเทศไทยเพราะอยู่ใจกลางอาเซียน แถมการทำธุรกิจที่นี่ก็ง่าย และอัตราภาษีก็เอื้ออำนวย” ปีเตอร์ แมคเคนซี กรรมการผู้จัดการของฮาร์ลีย์-เดวิดสันในประเทศจีนและตลาดเกิดใหม่กล่าว
ฮาร์ลีย์จะไม่มีวันเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ทุกคนมีกำลังซื้อ เพียงแต่คนจำนวนมากขึ้นจะสามารถเป็นเจ้าของมันได้ และชุมชนคนขี่ฮาร์ลีย์ก็จะเติบโตขึ้นด้วย ถ้าคุณถามนักบิดสักคนว่ามอเตอร์ไซค์ในฝันของเขาคือยี่ห้ออะไร พวกเขาก็จะตอบว่าฮาร์ลีย์-เดวิดสัน
แมทธิว เลวาทิช ซีอีโอของฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ชี้แจงในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ปีที่แล้วบริษัททำสถิติยอดขายปลีกประจำปีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและภูมิภาคยุโรป-ตะวันออกกลาง-แอฟริกาได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยอดขายที่สูงขึ้นในเอเชียก็ไม่ได้มีนัยสำคัญเท่าที่ควร ตามรายงานงบการเงินที่นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ยอดขายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นคิดเป็นเพียง 0.2% ของยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 แมคเคนซีไม่ได้ชี้แจงถึงยอดขายในประเทศไทย แต่กลับชี้ไปที่บรรดาตัวแทนจำหน่ายทั้ง 8 แห่งในประเทศและกลุ่มฮาร์ลีย์ โอนเนอร์ กรุ๊ป ซึ่งมีสมาชิก 900 คนว่าเป็นสัญญาณของการเติบโตแทน กระนั้น ภรวิธกลับมองตลาดต่างออกไป
“ความคลั่งบิ๊กไบค์มันถึงจุดอิ่มตัวตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว” เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่าตนเชื่อเหลือเกินว่าความนิยมที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาจเป็นเพราะคนต้องการจะสร้างภาพลักษณ์แบบ ‘ไบเกอร์’ แต่ไม่ได้สนใจเรื่องมอเตอร์ไซค์จริงๆ “หลายปีก่อน การได้เป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์สักคันเป็นเรื่อง ‘เท่’ แต่ตอนนี้คนเลิกเห่อกันแล้ว ผมว่าตลาดยังโตได้อีก แต่คงจะช้าลง”
รถมอเตอร์ไซค์นั้นกลายเป็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามรายงานของกรมขนส่งทางบกประจำปี 2559 ประเทศไทยมีมอเตอร์ไซค์จดทะเบียนใหม่มากกว่า 1 ล้านคัน โดยส่วนใหญ่เป็นจักรยานยนต์ขนาดเล็กและจักรยานยนต์แรงม้าต่ำ ‘ความคลั่งบิ๊กไบค์’ ที่ภรวิธกล่าวถึงนั้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในประเทศ อันกลายเป็นกระแสนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปในปี 2549 การเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตในยุโรปหรืออเมริกานั้น ถือเป็นเรื่องโก้หรูซึ่งสงวนไว้สำหรับเหล่ามหาเศรษฐี การที่ประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการยิ่งทำให้ความต้องการพุ่งสูงขึ้น โดยจักรยานยนต์สัญชาติยุโรปและอเมริกันนั้นถูกสงวนไว้สำหรับผู้ที่มีเงินสดมากพอจะวางเงินดาวน์ 50% ตามคำเรียกร้องของพ่อค้าในตลาดมืด “บิ๊กไบค์คือความฝันของนักบิดทุกคน มันเซ็กซี่ มีเรื่องราว ภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นที่ยอมรับ ใครๆ ก็อยากมีไว้ครอบครองสักคัน” ภรวิธกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำหรับคนส่วนใหญ่คือราคาที่สูงลิ่วและช่องทางการปล่อยสินเชื่อที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไปในปี 2552 เมื่อดูคาติตัดสินใจเปิดโรงงานแห่งแรกในระยองและแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บีเอ็มดับเบิลยูและไทรอัมพ์ได้ดำเนินรอยตามดูคาติในอีกหลายปีถัดมา สำหรับในกรณีของฮาร์ลีย์นั้น ทางบริษัทได้เปิดศูนย์ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ภายในไม่กี่ปี ชาวไทยที่มีรายได้ปานกลางก็สามารถเป็นเจ้าของจักรยานยนต์ในฝันได้ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจนไปแตะจุดสูงสุดในปี 2555 ตามข้อมูลของสถาบันยานยนต์แห่งประเทศไทย
“พอโรงงานเริ่มมาตั้งที่นี่ วัฒนธรรมก็เปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้กลุ่มคนขับบิ๊กไบค์เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ตอนนี้กลุ่มมันขยายไปใหญ่มาก ตอนนี้มอเตอร์ไซค์ขายดีเทน้ำเทท่าจนคุณไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร หรือมาจากไหน” ภรวิธเล่า
หากมองในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยอดขายที่พุ่งทะยานนั้นแน่นอนว่าเป็นที่น่าพึงพอใจ และรัฐบาลไทยเองก็ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ภรวิธกลับเชื่อว่าการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของบิ๊กไบค์ส่งผลกระทบข้างเคียง ในความเห็นของเขา จำนวนนักบิดที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเป็นกลุ่มก้อนของบรรดานักขี่ลดลง มีกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบุคคลบางกลุ่มได้นำรถมอเตอร์ไซค์แต่งออกซิ่งตามถนนในเมือง และส่งเสียงดังจนเป็นที่รังเกียจของคนในละแวก คล้ายกับเหตุการณ์ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อหลายปีก่อน เมื่อบวกกับข่าวความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนตามหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของบรรดานักบิดเสื่อมเสียในสายตาคนทั่วไป ภรวิธคาดว่าปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ตลาดชะลอตัวลง
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดบิ๊กไบค์ในอนาคต ก็คงเป็นการยากหากจะนึกภาพว่ายอดขายฮาร์ลีย์-เดวิดสันนั้นไม่เติบโตตามที่บริษัทมุ่งหวัง โดยเฉพาะเมื่อราคาลงมาอยู่ในจุดที่สามารถแข่งกับเจ้าอื่นๆ ได้ ทั้งภรวิธและวรนันท์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าลึกๆ แล้วนักขี่ทุกคนล้วนใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของฮาร์ลีย์ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ความฝันใกล้ความจริงขึ้นอีก
“ฮาร์ลีย์จะไม่มีวันเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ทุกคนมีกำลังซื้อ เพียงแต่คนจำนวนมากขึ้นจะสามารถเป็นเจ้าของมันได้ และชุมชนคนขี่ฮาร์ลีย์ก็จะเติบโตขึ้นด้วย ถ้าคุณถามนักบิดสักคนว่ามอเตอร์ไซค์ในฝันของเขาคือยี่ห้ออะไร พวกเขาก็จะตอบว่าฮาร์ลีย์-เดวิดสัน” วรนันท์กล่าว
ภรวิธ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์ดูคาติรุ่น Scrambler ยอมรับว่าสุดท้ายเขาก็อาจลงเอยด้วยการครอบครองฮาร์ลีย์-เดวิดสันเช่นกัน ในฐานะนักเขียนเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ เขามีโอกาสได้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ในตำนานนี้หลายครั้งหลายคราว และก็ไม่อาจปฏิเสธความเย้ายวนได้ลง หากวัดกันที่สมรรถนะแล้ว ฮาร์ลีย์อาจไม่ใช่จักรยานยนต์ที่ตอบโจทย์ที่สุด เนื่องจากควบคุมได้ยากและการใช้งานไม่สะดวก แถมหลายครั้งก็นั่งไม่สบาย กระนั้น คงเป็นการยากที่เหล่าสิงห์นักบิดจะซ่อนเร้นอาการอะดรีนาลีนในร่างกายสูบฉีด เมื่อสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนและเสียงคำรามอันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องยนต์ในตำนานนี้
■
Essentials
■
Harley-Davidson of Bangkok
99 ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ
โทร. 02-521-4545
www.aasharleybangkok.com