HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


เบื้องหลังการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องระดมสรรพกำลังจากช่างศิลป์หลากแขนง

ภารกิจยิ่งใหญ่ของวงการศิลปะไทยในการถ่ายทอด 70 ปีแห่งพระราชวิสัยทัศน์อันล้ำสมัยผ่านขนบธรรมเนียมศิลป์จากครั้งโบราณ

     ขณะเขียนบทความนี้ ประชาชนร่วม 7 ล้านคนได้หลั่งไหลมายังท้องสนามหลวงเพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยไม่มีใครหวั่นไหวกับการเข้าแถวหลายชั่วโมงในอากาศร้อนจัดเพื่อแลกกับโอกาสเข้าถวายสักการะพระมหากษัตริย์ผู้ได้ตรากตรำทรงงานเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษเพื่อพสกนิกรของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

     ในขณะเดียวกัน ที่บริเวณสนามหลวง ช่างศิลป์หลายร้อยคนก็กำลังเร่งมือสร้าง พระเมรุมาศตามการออกแบบของก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม และธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกจากสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบของงานมีตั้งแต่สระอโนดาตประดับปูนปั้น พระที่นั่งทรงธรรม และหมู่อาคารอื่นๆ อีก 7 หลัง ซึ่งมุ่งแสดงความตระการยิ่งใหญ่ของจักรวาลตามหลักไตรภูมิ ทั้งนี้ เฉพาะองค์พระเมรุมาศเพียงอย่างเดียวก็ประดับประดาด้วยประติมากรรมกว่า 600 ชิ้น ในขณะที่บุษบก 9 ยอดซึ่งแกะสลักอย่างวิจิตรก็นับเป็นพระเมรุมาศที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2454 เป็นต้นมา

ภารกิจครั้งเดียวในชีวิต

     นับเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปที่จะจินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของภารกิจนี้ได้อย่างแท้จริง ครั้งสุดท้ายที่ประเทศได้เห็นการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ก็คือพระราชพิธีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลในปี 2493 ก่อนจะตามมาด้วยพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปี 2538 และพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในปี 2551 กระนั้น แม้พระราชพิธีของทุกพระองค์จะมีความสมพระเกียรติ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชย่อมจะยิ่งใหญ่ล้นพ้นกว่านั้น ด้วยงบประมาณ 1 พันล้านบาท มณฑลพิธีถูกวางผังล้อมพระเมรุมาศซึ่งกว้าง 60 เมตรและสูง 50.49 เมตร หรือใหญ่กว่าพระเมรุมาศซึ่งถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ร่วมเกือบ 2 เท่า อีกทั้งแทบทุกตารางนิ้วของพระเมรุมาศยังได้รับการวาดภาพเขียนเป็นพระราชกรณียกิจตลอดรัชกาล ควบคู่ไปกับการสลักเสลาสัญลักษณ์ทางพุทธและพราหมณ์โดยละเอียด

     เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ขอความช่วยเหลือไปยังช่างศิลป์จำนวน 150 คนจากสำนักช่างสิบหมู่ และประกาศหาช่างฝีมือทั่วประเทศที่มีความชำนาญมาร่วมคณะด้วย โดยในที่สุดสามารถระดมช่างฝีมือได้ 250 คน โดยมี 175 คนมาจากสำนักช่างสิบหมู่ และอาสาสมัครอีกนับร้อยชีวิต นับเป็นการระดมสรรพกำลังเพื่อสร้างงานในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

     บวรลักษณ์ สุขชัย ช่างปั้นชาวราชบุรีวัย 52 ปี คือหนึ่งในอาสาสมัครผู้ตอบรับการระดมพลดังกล่าว เขามีอาชีพทำนาในช่วงฤดูฝนและใช้เวลาในช่วงหน้าแล้งรับปั้นพระพุทธรูปและรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ให้กับวัด หน่วยงานราชการ หรือลูกค้าเอกชน บวรลักษณ์เล่าว่า “พอผมรู้จากเพื่อนว่าเขากำลังหาช่างฝีมือ ผมทิ้งทุกอย่างแล้วไปทันที สำหรับผมไม่มีอะไรเป็นเกียรติไปกว่าการได้ถวายงานเพื่อพระองค์ท่าน เป็นโอกาสครั้งเดียวของชีวิต”

     ก่อนเข้าร่วมงาน อาสาสมัครเช่นบวรลักษณ์ต้องสอบปั้นรูปปั้นเล็กๆ ขนาด 30 เซนติเมตร ซึ่งเขาผ่านฉลุย หลังจบการศึกษาจากแผนกช่างปั้นที่โรงเรียนเพาะช่าง (โรงเรียนศิลปะไทยแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2456 เพื่อรักษาศิลปะไทยท่ามกลางกระแสอิทธิพลตะวันตกที่กำลังไหลบ่าเข้าประเทศ) บวรลักษณ์ได้เข้าทำงานที่บริษัทผลิตของเล่น Apex เขาเล่าย้อน ด้วยความภาคภูมิใจถึงสมัยที่เคยปั้นต้นแบบรูปปั้นช้างไชโยขนาดยักษ์ เพื่อใช้เป็นมาสคอตในพิธีเปิด Asian Games ในปี 2551 ทุกวันนี้บวรลักษณ์ใช้เวลา 1 ชั่วโมงขับรถจากราชบุรีไปยังนครปฐมสัปดาห์ละ 2 ครั้งเพื่อช่วยสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ

     แค่การบวกลบเลขง่ายๆ ก็จะทำให้รู้ว่าพรสวรรค์อย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับทำงานนี้ให้สำเร็จ บรรดาช่างต้องทุ่มเวลารวมกันให้ได้หลายหมื่นชั่วโมงเพื่อเร่งสร้างประติมากรรมจำนวน 600 ชิ้นให้เสร็จทันกำหนด ซึ่งถือเป็นภารกิจท้าทายอย่างยิ่ง ปกติสำนักช่างสิบหมู่จะใช้เวลา 18 เดือนในการสร้างประติมากรรม 1 ชิ้นให้แก่หน่วยงานราชการหรือภาคเอกชน แต่เนื่องจากงานนี้พวกเขามีเวลาเพียง 9 เดือน จึงเป็นที่มาของการขอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกเพื่อเสริมทัพดังกล่าว

มณฑลพิธีถูกวางผังล้อมพระเมรุมาศซึ่งกว้าง 60 เมตรและสูง 50.49 เมตร
หรือใหญ่กว่า
พระเมรุมาศซึ่งถวายแด่
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ร่วม 2 เท่า

สิ้นยุคสมัย

      ช่างฝีมือทั้ง 250 คนจากหลายสาขาของกรมศิลปากร ไม่เพียงได้รับมอบหมายให้ทำงานศิลปะแบบตามโบราณ แต่ยังต้องสามารถเล่าเรื่องราวน่าประทับใจของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงสืบเชื้อสายพระราชวงศ์อันเก่าแก่ หากทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ล้ำสมัย และทรงชำนาญการใช้วิทยาการของโลกสมัยใหม่เพื่อบรรเทาปัญหาของราษฎร

     ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างแห่งกรมศิลปากร คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ร้อยเรียงประวัติศาสตร์กว่า 2 ศตวรรษของราชวงศ์จักรี แต่ดูเหมือนเพียงระยะเวลาในพระชนม์ชีพของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เดียวก็ครอบคลุมประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่เกือบทั้งหมด นับตั้งแต่ยุคการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติสยาม การสละราชสมบัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา จวบจนกระทั่งวันสวรรคต เป็นที่ประจักษ์ว่า ระยะเวลา 70 ปีภายใต้พระเศวตฉัตรได้ช่วยแผ่พระบารมีแห่งราชวงศ์จักรีให้ขจรขจายในระดับซึ่งแทบไม่เคยปรากฏเทียบเท่านับตั้งแต่สิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

      “นานมาแล้วที่เราคิดกันว่าศิลปะไทยร่วมสมัยหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พอสิ้นสุดรัชกาลทุกอย่างชัดเจนเลย สิ่งที่เรากำลังทำนี่แหละคือศิลปะร่วมสมัยในแบบรัชกาลที่ 9 เราจะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งหมดที่เราได้ร่ำเรียนในช่วงเวลาของพระองค์มาถ่ายทอดศิลปะไทยในแบบที่สูงส่งที่สุด” ก่อเกียรติกล่าว

     โครงสร้างภายนอกของพระเมรุมาศนั้นรักษาขนบธรรมเนียมเดิมไว้ทุกกระเบียด ทุกตารางนิ้วตกแต่งด้วยประติมากรรมและจิตรกรรมรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อของพุทธและพราหมณ์ องค์พระเมรุมาศนั้นเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลซึ่งเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนยอดบุษบกของพระเมรุมาศนั้นสืบรูปแบบมาจากครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     กระนั้น การก่อสร้างพระเมรุมาศก็ไม่ได้คงรูปแบบของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเดิมไว้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เรื่องความสูง นี่เป็นครั้งแรกที่ใช้พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด ล้ำจำนวนบุษบก 5 ยอดบนพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากนั้น งานจิตรกรรมก็สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พระราชพิธีครั้งนี้ยึดรูปแบบ จิตรกรรมจากฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานพระอุโบสถขนาดเล็กภายในพระบรมมหาราชวังซึ่งในปี 2536 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเขียนภาพจิตรกรรมขึ้นใหม่จากของเดิมที่เสียหาย โดยจิตรกรรมนี้มีลักษณะต่างจากรูปทรงอุดมคติและสีเรียบแบนในแบบจิตรกรรมไทยเดิม เพราะมีรายละเอียดสมจริงในแบบสัจนิยม (realism) หรือแม้กระทั่งอภิสัจนิยม (hyper-realism) สังเกตได้จากใบหน้าต่างๆ ที่มีสีแดงระเรื่อ อากัปกริยา สัดส่วนร่างกาย หรือการเล่นแสงเงาที่ดูเหมือนมีชีวิตจริง

แค่การบวกลบเลขง่ายๆ ก็จะทำให้รู้ว่าพรสวรรค์อย่างเดียวไม่พอสำหรับทำงานนี้ให้สำเร็จ บรรดาช่างต้องทุ่มเวลารวมกันให้ได้หลายหมื่นชั่วโมงเพื่อเร่งสร้างประติมากรรมจำนวน 600 ชิ้นให้เสร็จทันกำหนด

อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี

      พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพไม่เพียงแสดงถึงความสำเร็จในการรวบรวมนายช่างฝีมือเอกทั่วราชอาณาจักรไทย แต่ยังชี้ให้เห็นถึงกลไกการอนุรักษ์ทักษะฝีมือดังกล่าวให้คงอยู่ต่อไปด้วย สำนักช่างสิบหมู่นั้นมีประวัติสืบทอดยาวนานกว่า 235 ปี ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกบรรดา ‘ช่างหลวง’ เหล่านี้มีหน้าที่อนุรักษ์ศิลปกรรมแบบสมัยอยุธยาเอาไว้ และขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกเพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งแผ่นดินใหม่ โดยสมัยแรกๆ ช่างฝีมือยังกระจัดกระจายอยู่ตามกรมกองต่างๆ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้นำช่างเหล่านี้มาสังกัดกรมวังในปี 2430 และย้ายไปขึ้นกับกรมศิลปากรในสมัยรัชกาลที่ 6 ตราบจนปัจจุบัน

     แม้แต่คนนอกอย่างบวรลักษณ์ก็ตระหนักถึงบทบาทสำคัญยิ่งของสำนักช่างสิบหมู่ “สำนักช่างสิบหมู่เป็นเหมือนมาตรฐานว่าศิลปะไทยควรเป็นแบบไหน ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ก็คงหายนะ บางครั้งผมเห็นพระพุทธรูปที่ปั้นได้แย่มาก ถ้าน้ำท่วมโลกแล้วพระพุทธรูปนี้ผุดขึ้นมาจากน้ำ คงบอกไม่ได้ว่ามาจากยุคไหน เพราะอย่างนี้ถึงต้องมีช่างสิบหมู่เพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานศิลปะไทย” เขากล่าว

     แน่นอน ในการทำงานจริง การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีย่อมหมายถึงการปรับอย่างสมควรตามยุคสมัยด้วย กัมพล จันทะรังษีรักษาการหัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ ได้เคยถวายงานออกแบบแหวน กำไล และมงกุฎให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นหน่วยงานออกแบบเอกสารราชการทั่วไป อาทิ ใบสำคัญการสมรสและใบสำคัญการหย่า หน่วยงานของเขาได้ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น แต่กัมพลก็ยืนกรานว่าในชิ้นงานจริงต้องอาศัยงานมือของช่างแกะ ช่างสลัก ช่างหล่อ ช่างบุ หรือช่างรักเท่านั้น

     มณเฑียร ชูเสือหึง รักษาการจิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับการปรับวิธีการให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เขาชื่นชมสีอะคริลิกที่ติดทนกว่าสีในยุคเก่า และเห็นความจำเป็นของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคนิคการอนุรักษ์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเมื่อวัสดุบางประเภทอาจหาไม่ได้อีกแล้ว เช่น ดินสีอ่อนเนื้อเนียนจากจังหวัดปทุมธานีซึ่งแต่เดิมใช้ในงานปั้นของช่างสิบหมู่ แต่หาคนซื้อยาก ปัจจุบันธุรกิจต้องปิดตัวลง ซึ่งประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ เผยว่า หากต้องหาดินใหม่ คงต้องไปขอความช่วยเหลือจากห้องแล็บวิจัยดินของวิทยาลัยเพาะช่างเพื่อหาวัสดุทดแทน

     โดยนัยนี้ การก่อสร้างพระเมรุมาศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงถือเป็นโอกาสพิเศษที่เหล่าช่างฝีมือเอกจะได้ร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ กล่าวคือการอนุรักษ์ศิลปะประจำชาติไว้ ทักษะจากงานประจำของช่างทันตกรรมอย่างภูวดลท์ พมาวัฒนากุล ทำให้เขาได้มีส่วนร่วมในการบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยาน ซึ่งมีอายุกว่า 200 ปีและใช้งานมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เนื่องด้วยขนาดของงาน ภูวดลท์จึงขออนุญาตไม่ใช้เครื่องมือดั้งเดิมของสำนักช่างสิบหมู่ และนำเครื่องมือทำฟันของเขามาใช้แทน เช่น เครื่องกรอฟันและตะขอเกี่ยวฟัน ทำให้ขณะนี้สำนักช่างสิบหมู่ได้เริ่มจัดซื้อเครื่องมือทันตกรรมเพิ่มเติม อาทิ เครื่องมือขูดหินปูน เพื่อให้ช่างปั้นใช้ในการทำความสะอาดพื้นผิวที่จะต้องได้รับการชุบทองใหม่

โดยนัยนี้ การก่อสร้างพระเมรุมาศสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงถือเป็นโอกาสพิเศษที่เหล่าช่างฝีมือเอกจะได้ร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ กล่าวคือการอนุรักษ์ศิลปะประจำชาติไว้

ช่างฝีมือรุ่นหลัง

      นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือและเทคนิคอันทันสมัยแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการฝึกสอนช่างฝีมือรุ่นใหม่อีกด้วย โรงเรียนเพาะช่างนั้นฝึกสอนนักเรียนราวปีละ 200 คน และยังมีการเรียนการสอนหลักสูตรวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย จักรพันธ์ หิรัญสาลี นักศึกษาคณะจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานร่วมกับมณเฑียรมาก่อน โดยทั้งสองเคยร่วมกันวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังให้แก่วัดไทยกุสินาราในประเทศอินเดีย แต่ทว่าพระเมรุมาศนั้นเป็นความท้าทายในอีกระดับโดยสิ้นเชิง“ผมทำงานมา 5 ปี แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญเทคนิคดั้งเดิมทั้งหมด ที่นี่เป็นแหล่งความรู้ชั้นครู ยังมีอะไรอีกหลายอย่างให้ผมได้เรียนรู้” จักรพันธ์กล่าว

     เขาได้รับมอบหมายให้วาดภาพบนฉากบังเพลิงสำหรับพระเมรุมาศ โดยทั้ง 4 ด้านจะเขียนภาพเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริโดยแบ่งกลุ่มตามธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ นอกจากนั้นยังมีภาพตำนานนารายณ์ 10 ปาง ซึ่งเขียนออกมาเพียง 8 ปาง เพื่อสื่อนัยลึกซึ้งว่าอวตารปางที่ 9 กำลังประทับ ณ พระเมรุมาศก่อนจะเสด็จกลับสู่ไวกูณฐ์

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสถาบันฝึกสอนช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ในปี 2525 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานงานบูรณะพระบรมมหาราชวัง สำหรับงานสมโภชน์การสถาปนาราชวงศ์จักรี 200 ปี พระองค์ทรงพบปัญหาการหาช่างฝีมือชั้นครู ในปี 2532 สำนักพระราชวังและกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (วิทยาลัยในวังชาย) ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในปี 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังมีพระราชดำริให้ก่อตั้งกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวงขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีสาขาที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม

     นภัสชนา รัตนศรีชัยวรา นักเรียนช่างทองชั้นปีที่ 1 ที่วิทยาลัยช่างทองวัย 19 ปี กล่าวว่า “เมื่อเรียนจบ เราสามารถทำงานในธุรกิจเครื่องประดับ หรือโรงงานที่ผลิตงานฝีมือก็ได้ แต่ความฝันก็คือการได้ทำงานในสำนักช่างสิบหมู่ ถ้าเรียนจบแล้วหนูจะรีบไปสมัครเลย”

     แม้ไม่ใช่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สำนักช่างสิบหมู่ก็ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะได้ทำภารกิจอันทรงเกียรติ กัมพลอธิบายว่าทางสำนักได้เก็บรวบรวมรายชื่อของช่างฝีมือเอกทั่วประเทศเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของสำนักช่างสิบหมู่หรือไม่ก็ตาม “พวกเขากระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ตั้งของอารยธรรมโบราณอย่างนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตเครื่องถมทอง หรือจังหวัดน่านที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเครื่องเงิน ถึงพวกเขาจะไม่ได้ทำงานที่นี่แต่ก็ได้รับการฝึกสอนจากครอบครัวช่างฝีมือเก่าแก่หรือผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นมาแล้ว”

     ขณะที่ช่างฝีมือบางคนไต่ระดับขึ้นมาจากโครงการระดับจังหวัด อย่างเช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) จักรกฤษณ์ สุขสวัสดิ์ ช่างจิตอาสาผู้รับหน้าที่แกะสลักต้นจันทน์สำหรับพระโกศและพระหีบจันทน์ เป็นช่างฝีมือประดับมุกผู้ซึ่งทำงานให้กับโครงการโอทอปจังหวัดนครปฐม โดยทักษะทั้งหมดนั้นเขาฝึกด้วยตนเอง เขาค่อนข้างชื่นชมภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ในเรื่องการสนับสนุนหัตถกรรมไทย “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศทำงานร่วมกับช่างฝีมือท้องถิ่น ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ แถมยังหาตลาดและจัดเวิร์กช็อปหรือวิดีโอเพื่อสอนเทคนิคใหม่ๆ ให้แก่ช่างฝีมือท้องถิ่นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างเครือข่ายของช่างฝีมือเอกกับช่างฝีมือท้องถิ่นได้ดีมาก”

     ในวันที่ 26 ตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะถวายพระเพลิงพระบรมศพในพระเมรุมาศ เป็นสัญลักษณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จสู่สรวงสวรรค์เบื้องบน พร้อมกับที่พระที่นั่งและพลับพลาต่างๆ จะถูกรื้อถอนลง เพื่อทิ้งความอาดูรแห่งการสวรรคตไว้เบื้องหลัง ในยามนั้น ท่ามกลางความพากเพียรนับไม่ถ้วนชั่วโมงของช่างศิลป์ที่สลายเป็นอากาศธาตุเพื่อแสดงธรรมแห่งอนิจจัง สิ่งหนึ่งที่จะยังดำรงอยู่ต่อไปคือชีวิตและความงอกงามของศิลปะไทย อันเป็นของขวัญอีกชิ้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์