HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


นี่คือประเทศในตะวันออกกลางที่ผู้คนให้การต้อนรับขับสู้อบอุ่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่เตหะราน จะทำให้การไปเยือนนครที่รุ่มรวยทั้งอารยธรรม ธรรมชาติ และไมตรีจิตแห่งนี้ ง่ายกว่าที่เคยเป็นมา

     ท่ามกลางความระส่ำระส่ายทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ชาวอิหร่านตระหนักดีถึง ‘ชื่อเสียง’ ของตนในความคิดของชาวโลกยิ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อิหร่านติดโผหนึ่งใน 7 ประเทศมุสลิมที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามเดินทางเข้าประเทศ ชาวอิหร่านยิ่งอยากจะแสดงให้ผู้มาเยือนได้เห็นถึงเนื้อแท้ของอิหร่านที่ไม่ถูกนำเสนอในข่าว โดยผู้ที่ได้เข้าไปในอดีตที่ตั้งของจักรวรรดิเปอร์เซียนี้ จะได้พบกับสถาปัตยกรรมอิสลามอันวิจิตรและวิวทิวทัศน์ธรรมชาติตระการตา ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ตราตรึงยิ่งกว่าคือการต้อนรับขับสู้อย่างจริงใจของคนท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้การไปช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวที่ ‘บาซาร์’ จบลงด้วยการไปจิบน้ำชาหรือแม้กระทั่งพักค้างแรมที่บ้านคนแปลกหน้า เมื่อผนวกสิ่งเหล่านี้เข้ากับธรรมชาติบริสุทธิ์ของหุบเขา ความงามของสุเหร่า และท้องถนนอันเซ็งแซ่คึกคัก อิหร่านนับเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังชวนพิสูจน์

     สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านตั้งอยู่ระหว่างทวีปยูเรเชียและเอเชียตะวันตก โดยมีพรมแดนจรด 8 ประเทศ 2 อ่าว และ 1 ทะเล ชุมทางแห่งนี้คือแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยในช่วง 6 ปีก่อนคริสตกาล อิหร่านเป็นจักรวรรดิที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ก่อนจะถูกรุกรานโดยชาวอาหรับและกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 18 แม้ในช่วงศตวรรษ ต่อๆ มา อิหร่านจะเสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสำหรับผู้มาเยือนแล้ว ประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปีย่อมหมายถึงรายละเอียดทางวัฒนธรรมสำหรับดื่มด่ำได้ไม่รู้จบ ดังมีมรดกโลกจำนวน 21 แห่งที่องค์การ UNESCO ยกย่องเป็นหลักฐานชั้นดี

     การออกตามล่ามรดกโลกในอิหร่านให้ครบถ้วนอาจต้องกินเวลาหลายสัปดาห์ กระนั้น ภายใน 4-5 วัน นักท่องเที่ยวสามารถเดินสายทัวร์เตหะราน ก่อนจะบินตรงจากเขตชานเมืองอันหรูหราทางตอนเหนือไปสู่ชีราซ นครแห่งวัฒนธรรม และปิดท้ายด้วยการเที่ยวชมสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมในอิสฟาฮานได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในเมื่อการเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่เตหะรานของสายการบิน Air Asia X และการบินไทยในเดือนมิถุนายนและตุลาคมปีที่ผ่านมา ได้ทำให้การไปเยือนอิหร่านสะดวกยิ่งขึ้นกว่าครั้งใด

สำหรับผู้มาเยือนแล้วประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปีย่อมหมายถึงรายละเอียดทางวัฒนธรรมสำหรับดื่มด่ำได้ไม่รู้จบ ดังมีมรดกโลกจำนวน 21 แห่งที่องค์การ UNESCO ยกย่องเป็นหลักฐานชั้นดี

ไปเยือนเตหะราน

     ใครที่เดินท่องไปตามถนนวาลีอัซร์ในเตหะราน อาจได้เห็นอิหร่านในด้านที่น้อยคนนักจะรู้จัก ถนนสายที่ยาวที่สุดในตะวันออกกลางนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนเมืองอันทันสมัยและมีชีวิตชีวา ทั้งสองฟากถนนซึ่งทอดยาวกว่า 17 กิโลเมตรประกอบด้วยร้านรวง ร้านอาหาร และบาซาร์ซึ่งขายสินค้าสารพัน ตั้งแต่เคบับหอมฉุย โทรทัศน์จอแบน ไปจนถึงพรมเปอร์เซียที่ถักทออย่างวิจิตร ขาดไปก็แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ใครอยากได้ราคาดีให้ลองแอบฟังวิธีที่ชาวอิหร่านต่อราคาอย่างไม่ลดราวาศอกกับพ่อค้าในตลาดดู แต่บอกก่อนว่าหากจะให้ได้ผล กำลังใจต้องแข็งไม่น้อย

     นักท่องเที่ยวควรเริ่มต้นเดินทางจากเชิงเทือกเขาอัลบอร์ซ ฝั่งเหนือของเตหะราน ซึ่งมีอากาศที่บริสุทธิ์และตึกรามบ้านช่องโอ่อ่ากว่าส่วนอื่นๆของเมือง ก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 พระเจ้าชาห์ เรซา ชาห์ของอิหร่านทรงเห็นว่าบริเวณที่ตั้งของ Golestan พระราชวังเดิมนั้นแออัดเกินไป จึงทรงย้ายพระราชวังไปยัง Sa’dabad Complex ที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งในสมัยนั้น พื้นที่ป่าเขียวขจี 1 พันกว่าไร่ในบริเวณถือว่ามากเกินพอสำหรับใช้หลีกเร้นจากความวุ่นวายของเมือง

     มาห์ซา โมตาฮาร์ มัคคุเทศก์ผู้คร่ำหวอดในวงการกว่า 10 ปีเล่าว่า อาณาจักรแห่งใหม่ของชาห์นั้นกลายเป็นที่หมายปองของเหล่าคหบดีผู้มั่งคั่ง “หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวชาวอิหร่านที่มีสตางค์ก็แห่กันซื้อบ้านหลังใหญ่ทางตอนเหนือของเตหะราน แถวนี้สบายๆ กว่า ผิดกับทางใต้ที่ประชากรหนาแน่น อากาศร้อน และเคร่งศาสนากว่า” และในเมื่อถนนวาลีอัซร์ทำหน้าที่เชื่อมเตหะรานเหนือและใต้เข้าด้วยกัน “คุณจะได้เห็นวัฒนธรรมทั้งสองฟากของเตหะรานบนถนนสายนี้” เธอเสริม

     ขณะออกท่องตัวเมือง เป็นเรื่องปกติที่นักท่องเที่ยวอาจได้เจอกับชาวท้องถิ่นที่เสนอตัวเป็น ‘ไกด์เฉพาะกิจ’ คอยพาผู้มาเยือนเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ตลาด Tajrish และสวนสาธารณะ Mellet Park ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ที่ได้รับการตัดแต่งอย่างดี ฮามิด แซม คนในพื้นที่เล่าว่า “คนชอบมาที่สวนแห่งนี้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ชมวิวและสูดอากาศบริสุทธิ์ แถมที่นี่คนก็มักจะปล่อยตัวหน่อยๆ ด้วย”

     ดาร์บันด์ หมู่บ้านเล็กๆ ในละแวกคือตัวอย่างของสิ่งที่ฮามิดพูดถึง ชุมชนอยู่อาศัยอันทันสมัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้เส้นทางไต่เขายอดนิยมซึ่งมุ่งหน้าไปยังเขาโทจาล และเป็นสถานที่หย่อนใจของชาวอิหร่านทุกเพศทุกวัยที่มักมานั่งจิบชาและสูบชิชา แม้การสวมฮิญาบจะถือเป็นข้อบังคับสำหรับสตรีทุกเชื้อชาติ หญิงสาวในดาร์บันด์มักจะแอบแหกกฎเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะตามร้านอาหารบนเชิงเขาซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่เงียบสงบและมีเทือกเขาโอบล้อม หญิงสาวหลายคนที่นี่ถอดผ้าคลุมหน้าออกเผยให้เห็นผมทำสี ลายสัก และรอยเจาะ และบางคนก็รู้สึกปลอดภัยถึงขนาดเอียงศรีษะไปซบไหล่แฟนหนุ่มของตน ทั้งๆ ที่การแสดงความรักในที่สาธารณะเป็นสิ่งต้องห้าม

     หากเดินขึ้นเขาจนเหนื่อย ผู้มาเยือนอาจแวะพักรับประทานอาหาร ดื่มชา และสูบชิชาที่ร้าน Bagh-E Behesht ตรงช่วงต้นถนนดาร์บันด์นอกเหนือจากวิวสวยๆ ของเทือกเขาอัลบอร์ซแล้ว ที่นี่ยังจำลองบรรยากาศให้เหมือนกับนั่งรับประทานอาหารอยู่ในสวนด้วย

     สำหรับนักท่องเที่ยวผู้ออกตามล่ามรดกโลกทั้ง 21 แห่ง การฝ่ารถติดใจกลางเมืองที่เลื่องชื่อเรื่องการจราจรติดขัดอย่างเตหะรานเพื่อไปยังพระราชวังโกเลสตันและตลาด Old Bazaar นั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่า เมื่อเดินเที่ยวจนหนำใจแล้ว ลองแวะไปยังคาเฟ่ Gole Rezaieh ซึ่งใช้เวลาเดิน 25 นาทีจากพระราชวังโกเลสตัน ภายในพื้นที่แคบๆ แห่งนี้แฝงไปด้วยกลิ่นอายของช่วงยุคก่อนการปฏิวัติอิสลาม ทั้งรูปถ่ายขาวดำเก่าๆ ที่แขวนอยู่เต็มฝาผนังและแสงไฟสลัวๆ ชวนให้นึกถึงสมาคมลับ โดยหากไปในช่วงสุดสัปดาห์ควรรีบไปจับจองที่นั่งแต่เนิ่นๆ เสียก่อนโต๊ะจะเต็ม

ทุกวันนี้แอลกอฮอล์อาจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ครั้งหนึ่งไวน์เคยเป็นหัวใจของวัฒนธรรมเปอร์เซีย และไวน์อายุเก่าแก่ที่สุดในโลก ก็ถูกค้นพบในซีราซ

จิบรสชาติแห่งชีราซ

      ไม่มีเมืองใดในอิหร่านจะมีสีสันทางวัฒนธรรมมากไปกว่าชีราซ เพราะนครแห่งนี้เป็นถิ่นของสุเหร่าและสวนอันตระการตา เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีอันยิ่งใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเมืองแห่งบุปผชาติ และไวน์ แน่นอน ทุกวันนี้แอลกอฮอล์อาจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ครั้งหนึ่งไวน์เคยเป็นหัวใจของวัฒนธรรมเปอร์เซีย และไวน์อายุกว่า 7,000 ปี ที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกก็ถูกค้นพบในชีราซนี่เอง

     สุสานของฮาเฟซ กวีนามอุโฆษของอิหร่าน คือสถานที่แรกๆ ที่ควรจะไปเยี่ยมชม สถานที่แห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวเมืองที่มาพบปะร่วมร้องเพลงหรืออ่านบทกวีของฮาเฟซ (“ข้าฯหลงรักทุกโบสถ์ ทุกสุเหร่า ทุกอาราม ทุกแท่นบูชา เพราะข้าฯ รู้ ทุกสถานย่อมก้องไปด้วยนามนานาแห่งพระผู้เป็นหนึ่งเดียว”)

      “สุสานของฮาเฟซคือความภาคภูมิใจของชาวอิหร่านโดยเฉพาะคนชีราซ เรามาที่นี่กันเป็นประจำ ทุกคนยกย่องฮาเฟซในฐานะยอดกวีและยึดบทกวีของท่านเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เราใช้เวลาหลายชั่วโมงคุยกันในสวนหรืออ่านบทกวีของฮาเฟซข้างแท่นหลุมศพ” เมห์ดีฮาร์ทแมน ชาวเมืองชีราซเล่า ในขณะที่บรรยากาศช่วงพลบค่ำยามที่สวนเปิดไฟส่องสว่างและผู้คนเริ่มขับขานบทกลอนของฮาเฟซ ยิ่งทำให้ที่แห่งนี้มีบรรยากาศแห่งมนต์ขลัง “ที่นี่คุณจะได้เห็นชาวอิหร่านในอิริยาบถที่เสรีและผ่อนคลาย”

     ถ้าฝึกต่อราคาจนคล่องดีแล้ว ตลาด Vakil Bazaar น่าจะเป็นสนามประลองฝีมือที่สมน้ำสมเนื้อ เมื่อเทียบกับบาซาร์แห่งอื่นในเตหะรานหรืออิสฟาฮาน ศูนย์กลางการค้าขนาดมหึมาแห่งนี้โดดเด่นกว่าในเรื่องสถาปัตยกรรม กล่าวคือ เพดานสูงที่แกะสลักอย่างประณีต โดยแทนที่จะพยายามจำทางในเขาวงกตแห่งนี้อย่างป่วยการ แนะนำให้เดินชมร้านขายของที่ระลึก โรงอาบน้ำ ร้านชา และมัสยิดวากีลอย่างไร้จุดหมายจะเพลินกว่า

     ในทำนองเดียวกับเตหะราน เป็นเรื่องปกติที่นักท่องเที่ยวอาจได้พบกับคนท้องถิ่นที่สมัครใจเป็นไกด์พาเที่ยวชมรอบๆ ตลาดแบบไม่หวังอะไรตอบแทนทั้งสิ้น โดยหลังเดินสำรวจจนรู้จักตลาดทุกซอกทุกมุมแล้ว ให้ถามทางคนในละแวกเพื่อไปยัง Sharzeh ร้านอาหารข้างมัสยิดวากีลซึ่งเสิร์ฟคิบับแบบอิหร่านแท้ๆ ควบคู่ไปกับเสียงดนตรีสด

     มัสยิดในชีราซนั้นขึ้นชื่อเรื่องความอลังการ โดยที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็นมัสยิด Nasir-ol-Molk หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘มัสยิดสีชมพู’ นักท่องเที่ยวควรรีบไปเข้าชมตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ขึ้นใหม่ๆ แล้วจะได้เห็นแสงจากกระจกสีที่ส่องสะท้อนพรรณรายจากทุกมุมมองเป็นของกำนัล ถัดมา มัสยิด Shah Cheragh อาจดูภายนอกไม่หวือหวาเท่า แต่ภายในซึ่งประกอบด้วยห้องหับต่างๆ นั้นได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตร โดยห้องบางส่วนประดับประดาด้วยชิ้นส่วนกระจกระยิบระยับตั้งแต่เพดานจรดพื้น ที่มัสยิดแห่งนี้มีไกด์อังกฤษให้บริการฟรีสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้หญิงจะต้องสวม ‘ชาดอร์’ ผ้าคลุมยาวสีดำที่สตรีมุสลิมใส่ตลอดเวลาที่ เข้าชม ซึ่งมีให้บริการฟรีเช่นเดียวกัน

     องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนสวนเปอร์เซียให้เป็นมรดกโลก โดยสวนที่งดงามที่สุดทั้ง 9 แห่งนั้นกระจายอยู่ตามแคว้นต่างๆ ของอิหร่าน รวมถึง Eram Garden ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านที่วุ่นวายที่สุดของชีราซ สวนแห่งนี้มีทางน้ำกั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เพื่อสื่อนัยยะถึงความสมบูรณ์แบบแห่งสรวงสวรรค์ โดยภายในมีต้นไม้นานาพันธุ์คอยแผ่ร่มเงาให้ชาวเมืองใช้หลบแสงแดดร้อนระอุในช่วงหน้าร้อน

     แต่สำหรับใครที่อยากหลบร้อนไกลกว่านั้น ควรมุ่งหน้าไปที่ Ferdowsi Cafe ซึ่งตั้งอยู่ตรงตึกแถวเลขที่ 194 บนถนนฟิรโดซี บาร์เก่าจากช่วงยุคก่อนปฏิวัตินี้ปัจจุบันเสิร์ฟกาแฟเย็นหอมมันและเครื่องดื่มชารสต่างๆ ท่ามกลางเสียงพูดคุยขโมงโฉงเฉงจากโต๊ะหนึ่งไปยังอีกโต๊ะหนึ่ง ตามตำรับสภากาแฟที่ดีทุกประการ

ทุกคนจะนั่งปิกนิกกันบนหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวอิหร่าน ถ้าลองเข้าไปนั่งต้องมีคนมาชวนคุณคุยเรื่องมุมมองและวัฒนธรรมของคุณ

หนีเที่ยวอิสฟาฮาน

      ชาวอิหร่านมักพูดว่าอิสฟาฮานเป็นเมืองที่สวยติดอันดับต้นๆ ของโลก มรดกโลกอย่าง จตุรัส Naqsh-e Jahan หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘จตุรัสอิหม่าม’ นั้นรายล้อมไปด้วยพระราชวัง มัสยิด สวนหย่อม และน้ำพุ โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจตุรัสเทียนอันเหมินในสาธารณรัฐประชาชนจีน

     ณ จตุรัสแห่งนี้มีรถม้าหลายคันไว้รองรับ นักท่องเที่ยวและครอบครัวชาวอิหร่านที่ต้องการทัศนาจรไปรอบๆ บริเวณ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่จะนั่งจับเข่าคุยกันบนพื้นหญ้า จะเห็นได้ว่าในอิหร่าน บรรดาสวนหย่อมและจตุรัสต่างๆ นั้นใช่แค่เพียงรูปแบบของงานสถาปัตยกรรม หากเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างแท้จริง อาลี มาซาเฮรี ชาวเมืองเล่าว่า “ทุกคนจะนั่งปิกนิกกันบนหญ้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวอิหร่าน ถ้าลองเข้าไปนั่งรับรองได้เลยว่าจะต้องมีคนมาชวนคุณคุยเรื่องมุมมองและวัฒนธรรมของคุณ”

     นอกจากนี้ อิสฟาฮานยังมีชื่อเสียงจากสะพานทั้ง 11 แห่งซึ่งทอดข้ามแม่น้ำซายันเดรุดด้วย โดยเฉพาะสะพานซี-โอ-เซห์-โพลและคาจูซึ่งสร้างในแบบสถาปัตยกรรมอิสลามแท้ แถววงโค้งที่รองรับตัวสะพานทั้ง 2 ชั้นทอดยาวเหนือผิวน้ำอย่างสง่างาม ในยามค่ำคืน สะพานอิฐแห่งนี้จะเปิดไฟมลังเมลืองโดยมีนักร้องชายขับขานบทเพลงพื้นถิ่นภายใต้เงาของงานสถาปัตย์อันวิจิตร

     อย่าลืมปิดท้ายค่ำคืนอันสมบูรณ์แบบใน อิสฟาฮานด้วยมื้อค่ำที่ร้าน Azam Beryani ตรงถนนคามาล อิสมาอีลใกล้ๆ สะพานคาจู ร้านอาหารแห่งนี้เสิร์ฟเมนูเด็ดของอิสฟาฮานอย่างบริยานีเนื้อแกะบดคู่กับขนมปังนานอบสดจากเตาที่มีกลิ่นหอมของถ่าน เป็นส่วนผสมของรสชาติกลมกล่อมและสมุนไพรที่ชวนให้กินไม่เลิก

เยื้องย่างเมืองยัซด์

     ถ้ามีเวลาเหลือ ผู้มาเยือนอาจลองเปลี่ยนบรรยากาศจากหัวเมืองใหญ่มาใช้เวลาสักหนึ่งหรือสองคืนที่ยัซด์ นครเก่าแก่ซึ่งได้ชื่อว่า ‘นครแห่งหอคอยดักลม’ (Windcatcher) แห่งนี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเหมือนได้ก้าวเข้าไปในห้วงเวลาไกลโพ้น บ้านเรือนที่สร้างจากอิฐดินบ่งบอกประวัติศาสตร์อันยาวนานถึง 5,000 ปี อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของวิหารไฟในศาสนาโซโรอัสเตอร์ คูคลองโบราณ และอ่างเก็บน้ำก่อด้วยแท่งหิน กิจกรรมที่ควรทำคือการจิบชาในสวนของโรงแรม Orient Hotel หรือขึ้นไปร้านอาหารบนดาดฟ้า แล้วสั่งมิลค์เชกอินทผาลัมและเมนูพื้นเมืองของอิหร่านอย่าง ghormeh sabzi สตูว์ผักรสชาติเข้มข้นด้วยสมุนไพรมาลองชิม

     สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังคิดไปเยือนอิหร่านครั้งแรก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นวิวทิวทัศน์ วัฒนธรรม หรือภูมิอากาศที่หลากหลาย อาจทำให้รู้สึกเวียนหัวไม่น้อย กระนั้น วัฒนธรรมและความงามอันละลานตานี่เองที่ทำให้แน่ใจได้ว่าอย่างไรเสีย การไปเที่ยวอิหร่านจะไม่ทำให้ผิดหวัง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าหากหลงมะงุมมะงาหราขึ้นมา ประเทศนี้ก็ยังเต็มไปด้วยคนที่พร้อมจะบอกทางให้ หรือที่เป็นไปได้ง่ายกว่านั้นคือ อาจมีคนอาสาพาคุณเที่ยวไปรอบๆ เมืองก่อนจะเชิญให้ไปรับประทานมื้อค่ำที่บ้านด้วยเลยทีเดียว

Essentials


Azam Beryani

ถนน Kamal Esmaeel อิสฟาฮาน

Bagh-E Behesht

ถนน Darband เตหะราน

Ferdowsi Cafe

194 ถนน Kashi Ferdowsi ชีราซ
www.fb.com/CafeFerdowsi

Gole Rezaieh

ถนน Ghavam Saltane เตหะราน

Orient Hotel

ถนน Masjed-e-Jaameeh Mosque,
6th Alley ยัซด์
theorienthotel.blogspot.com