SECTION
ABOUTLIVING SPACE
โครงการออกแบบของสถาปนิกไทยที่มีชื่อเสียงขจรไกลไปนานาชาติ โดยไม่ต้องทุ่มเงินเป็นพันล้าน
สำหรับสถาปนิกในยุคปัจจุบัน การออกแบบที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดหรือบ้านเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติอาจไม่ได้เป็นเพียงงานชั้นปลายแถวอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18:08 นาฬิกา ที่เชียงรายได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยวัดได้ในประเทศไทย โดยมีจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาวไปทางใต้ 9 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองเชียงรายออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 27 กิโลเมตร ณ ช่วงเวลาเกิดเหตุ ไพโรจน์ ยะจอม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยส้าน-ยาววิทยา กำลังนั่งพักผ่อนอยู่ในบ้านของเขาซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนไปราว 7 กิโลเมตร หลังจากหมดอาฟเตอร์ช็อก ไพโรจน์รีบเดินทางไปยังโรงเรียนเพื่อตรวจสอบความเสียหายและพบว่าโครงสร้างได้พังทลายลงมาเกือบทั้งหมด ห้วยส้านยาววิทยาเป็นเพียง 1 ใน 73 โรงเรียนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนกว่า 2,000 คนไร้ซึ่งอาคารสำหรับการเรียนการสอนในทันที
ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว วิภาวี คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ (Design for Disasters) ได้รวบรวมรายชื่อโรงเรียน 9 แห่งที่จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาววิทยารวมอยู่ด้วย เธอและบริษัทสถาปนิกดาวรุ่ง อาทิ Supermachine Studio และ Department of Architecture ได้ร่วมกันใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ ร่างแบบอาคารสร้างจากไม้ไผ่ซึ่งฉีกขนบจากแบบอาคารเดิมๆ ที่โรงเรียนไทยใช้มาตั้งแต่ช่วงยุค ‘60s โดยสิ้นเชิง
ปรากฏว่า เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ผลงานดังกล่าวได้ถูกนำไปจัดแสดงในงานแสดงศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Architecture Biennale ครั้งที่ 15 ภายใต้ชื่อ ‘นิทรรศการห้องเรียนพอดี พอดี The Class of 6.3’ (6.3 คือตัวเลขในมาตราริกเตอร์แสดงระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น) ด้วยเหตุนี้ โครงการดังกล่าวจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติหรือชุมชนแออัดจะไม่ได้เป็นแค่งานชั้นปลายแถวของสถาปนิกไทยอีกต่อไป
เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติหรือชุมชนแออัดจะไม่ได้เป็นเค่งานชั้นปลายแถวของสถาปนิกไทยอีกต่อไป
กำเนิดสถาปนิกชุมชน
สถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนนั้นถือเป็นแนวคิดที่กว้างมาก เพราะดูเหมือนบรรดาสถาปนิกได้พยายามคิดแก้ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของผู้คนผ่านทางการสร้างอาคารมานานแล้ว เช่น แนวคิดการสร้างเมืองในอุดมคติ (Urban Utopia) ที่เฟื่องฟูขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิสันตินิยมและเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการพัฒนาจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมืองในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับชนชั้นแรงงานจำนวนมากกลายเป็นวาระเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของบรรดาโครงการบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ได้ทำให้ผู้คนเริ่มเสื่อมศรัทธาในเมกะโปรเจกต์สำหรับชุมชนที่ดำเนินการในลักษณะ ‘บนลงล่าง’ (top-down) เหล่านี้ การถล่มตึกเพื่อยุบโครงการบ้านจัดสรรพรูอิตต์ อิโก ในรัฐมิสซูรีของสหรัฐฯ ในปี 2515 ในเวลาเพียงไม่ถึง 20 ปีหลังจากสร้างเสร็จ ถือเป็นการปิดฉากความฝันการสร้างชุมชนด้วยคอนกรีต
ในระยะเวลาต่อมา สถาปนิกชื่อดังทั้งหลายซึ่งแจ้งเกิดจากเถ้าถ่านของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ดูเหมือนจะไม่ได้ให้ความสนใจกับการออกแบบที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำอีกต่อไป หากแต่เลือกที่จะรับงานของผู้มีอันจะกินที่พร้อมจะเสพสุนทรีย์ของสถาปัตยกรรมแบบใหม่ๆ มากกว่า สถาปนิกอย่างซาฮา ฮาดิด, เรม โคลฮาส, แฟรงก์ เกห์รี และนอร์แมน ฟอสเตอร์ ล้วนแล้วแต่สร้างชื่อจากการออกแบบพิพิธภัณฑ์หรืออาคารสำนักงานมูลค่าโครงการละหลายพันล้านบาททั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม 2 เดือนก่อนการเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย ในปี 2557 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการสถาปนิก เมื่อรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดในสายงานสถาปัตยกรรมอย่าง Pritzker Prize ได้ตกเป็นของสถาปนิกผู้ใช้ท่อกระดาษสร้างบ้านชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยสงครามกลางเมืองหรือสึนามิอย่างชิเงะรุ แบน ทั้งนี้ แม้สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้นี้จะเคยผ่านงานออกแบบอาคารหรูมาบ้าง (ผลงานที่โดดเด่นที่สุดคือพิพิธภัณฑ์ Centre Pompidou ในเมืองแม็ส ประเทศฝรั่งเศส) แต่เขาก็โด่งดังไม่แพ้กันในเรื่องงานออกแบบที่พักอาศัยต้นทุนต่ำ ที่ทั้งสวยและมีประสิทธิภาพ เพื่อผู้ประสบภัยพิบัติและเหยื่อสงครามกลางเมืองในประเทศจีน รวันดา และนิวซีแลนด์ มาเป็นเวลากว่า 20 ปี หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้บรรยายถึงรางวัลพริตซ์เกอร์ที่ชิเงรุได้รับไว้ว่า “รางวัลนี้เคยถูกเรียกว่าเป็นรางวัลสำหรับการประกวดความงาม แต่ตอนนี้ มันได้ส่งสัญญาณว่าทั้งความงามและความดีอาจได้รับรางวัลทั้งคู่”
และเรื่องราวของชิเงะรุเป็นแค่จุดเริ่มเท่านั้น ในปี 2558 รางวัล Turner Prize สำหรับทัศนศิลป์อันโด่งดังและมีคนตั้งตารอฟังผลอย่างมากของอังกฤษได้เซอร์ไพรส์ทุกคนด้วยการให้รางวัลกับ Assemble สำนักดีไซน์ที่ช่วยโครงการชุมชนฟื้นชีวิตให้กับตึกรกร้างของอังกฤษ (ในขณะที่โครงการก่อสร้างสนามฟุตบอลขนาดมหึมาในประเทศกาตาร์เพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2565 ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของซาฮา ฮาดิด กลับถูกวงการสื่อประนาม เนื่องจากมีคนงานหลายร้อยคนเสียชีวิตลงในระหว่างการก่อสร้าง) ถัดมา ผลงานออกแบบของอเลฮันโดร อราเวนา บนพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทำให้เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการงานเวนิสเบียนนาเลปี 2559 ก่อนที่จะตามมาติดๆ ด้วยการคว้ารางวัลพริตซ์เกอร์ไปครองในปีเดียวกัน พัฒนาการในระดับโลกเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากระแสสถาปัตย์เพื่อสังคมกำลังลงหลักปักฐานในความคิดของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าประเทศไทยค่อนข้างจะเป็นผู้นำกระแสสถาปัตย์เพื่อสังคมดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าวิภาวี คุณาวิชยานนท์ ได้ก่อตั้งเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ (Design for Disasters) มาตั้งแต่ปี 2553 ในขณะเดียวกัน ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ แห่งบริษัทสถาปนิก วิน
วรวรรณ หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการออกแบบโรงเรียนในเชียงรายเองก็รู้สึกว่ารางวัลพริตซ์เกอร์อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงที่สถาปนิกไทยหันมาทำโครงการเพื่อสังคมมากขึ้น “ในระดับนานาชาติ ผมเห็นด้วยว่ารางวัลพริตซ์เกอร์ของอราเวนาเป็นจุดเปลี่ยน แต่ในบ้านเราน่าจะเป็นเพราะพี่ป๋องจาก
CASE มากกว่า”
ป๋อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ ผู้ก่อตั้ง CASE Studio คือสถาปนิกผู้ร่วมงานกับชาวบ้านเพื่อออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีฐานะยากจนมาตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยในปี 2558 เธอเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศรางวัล arcVision ซึ่งมอบให้กับนักออกแบบหญิงที่มีผลงานโดดเด่น ทำให้โครงการของเธอเป็นที่สนใจไปทั่วโลก
“เราเริ่มจากงบศูนย์บาท โดยพยายามมองว่าเราทำอะไรเองได้บ้างจะได้ไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่นลูกเดียว เราสนับสนุนให้ชุมชนแต่ละแห่งช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งจัดเป็นสิ่งท้าทายสำหรับสถาปนิกด้วย แทนที่จะเอะอะซื้อใหม่ เราต้องมานั่งคิดว่าอะไรเอามาใช้ซ้ำได้บ้าง” ปฐมาเล่า โดยยกตัวอย่างชุมชนคนต่างด้าวแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปี ทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องเดินลุยน้ำเกือบตลอดฤดูฝน เธอได้ช่วยชุมชนออกแบบทางเดินโดยใช้ขยะเป็นตัวหนุน
“ถ้าแก้ปัญหาเชิงกายภาพอย่างนี้ได้ มันจะทำให้คนเกิดสำนึกรับผิดชอบและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราต้องสอนให้คนเริ่มซ่อมอะไรเป็นก่อน จากนั้นค่อยถอยออกมาให้พวกเขาคิดหาหนทางแก้ปัญหาต่อไปด้วยตนเอง” เธอเสริม
ในขณะที่สถาปนิกอย่าง ม.ล.วรุตม์อาจยกย่องปฐมาว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านสถาปนิกชุมชนในบ้านเรา แต่ทุกอย่างก็ใช่จะราบรื่นชัดเจนอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น “รุ่นพี่ชอบถามเราว่าทำแบบนี้ไปทำไม ทำแบบนี้มันไม่ใช่สถาปนิก นี่มันงานนักสังคมสงเคราะห์ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ 7 ปีก่อน เราหวังว่ามันจะไม่ได้เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง เราอยากให้มันอยู่ไปตลอด” เธอกล่าว
ใครใหญ่กว่าใคร
สไตล์การทำงานของปฐมานั้นแตกต่างจากม.ล.วรุฒม์และบริษัทสถาปนิกอื่นๆ ในโครงการ The Class of 6.3 เป็นอย่างมาก กล่าวคือ แม้โครงการห้องเรียนพอดี พอดีของ ม.ล.วรุตม์จะดูเรียบง่าย แต่การก่อสร้างก็ไม่ได้ใช้แค่ ‘งบศูนย์บาท’ ตรงกันข้ามในเวลาเพียง 3 อาทิตย์หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลุ่ม Design for Disasters ได้จับมือกับสมาคมสถาปนิก-สยาม ทำให้สามารถระดมเงินสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ อาทิ ช.การช่าง และอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ได้ โดยเฉพาะในโครงการของม.ล.วรุฒม์นั้น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เป็นผู้ออกเงินทุนสนับสนุนทั้งโครงการ การออกแบบเหล่านี้จึงมีลักษณะ ‘top-down’ อย่างช่วยไม่ได้
“คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์มากนัก ส่วนใหญ่เราจะพูดคุยกับทางโรงเรียนโดยตรง ท่านผอ. เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ท่านอยากให้เราใช้วัสดุธรรมชาติในการออกแบบ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวสถาปนิกว่าเราจะตัดสินใจนำเสนออะไร” ม.ล.วรุตม์เล่า
ครั้งหนึ่ง ม.ล.วรุตม์ยืนยันที่จะใช้ไม้ไผ่ปล้องตันแทนวีว่าบอร์ดในบริเวณที่มีฝนสาด เพราะมีร่องระแนงให้น้ำฝนไหลลง ท่ามกลางความกังวลของผู้อำนวยการโรงเรียนเรื่องความคงทนของวัสดุ ในขณะที่ ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก Supermachine Studio ก็เลือกใช้ไม้ไผ่ในการออกแบบโรงเรียนในเชียงราย แม้กระทั่งในส่วนที่เป็นโครงสร้าง จนเป็นเหตุให้เขามีภาระต้องโน้มน้าวใจบรรดาผู้เกี่ยวข้องไม่น้อยเช่นกัน
“เราต้องโน้มน้าวสมาคมสถาปนิกสยามและผอ.โรงเรียนหนักมาก แต่เราเห็นแล้วว่าบ้านของชาวเขาต้านแผ่นดินไหวได้ เราเลยอยากแสดงให้เห็นว่าการออกแบบโรงเรียนด้วยวัสดุเดียวกันก็ทำได้เหมือนกัน” ปิตุพงษ์กล่าว
ลักษณะการทำงานที่ดุดันแบบนี้อาจขัดกับแนวทางของเคสในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนพอสมควร แต่ปิตุพงษ์ยืนยันว่าการทำงานแบบบนลงล่างมีข้อดี “หลายครั้งเราเห็นสถาปนิกชุมชนที่เที่ยวแจกโพสต์อิทให้คนออกไอเดีย ให้คนได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วม แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้ถูกเสมอไป บางครั้งเราก็ต้องรู้จักเผด็จการอย่างมีศิลปะ คือฟังและคิดตาม แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทุกเรื่อง ถ้าทำงานแบบล่างขึ้นบนมากเกินไป งานก็ไม่ไปถึงไหน เรื่องการเมืองและเรื่องไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ เราต้องรู้จักตัดสินใจและหาทางสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ลงไป”
เราเริ่มจากงบศูนย์บาท โดยพยายามมองว่าเราทำอะไรเองได้บ้างจะได้ไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่นลูกเดียว เราสนับสนุนให้ชุมชนแต่ละแห่งช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งจัดเป็นสิ่งท้าทายสำหรับสถาปนิกด้วย
คืนสิ่งดีๆ สู่สังคม
ทรัพยากรที่ต้องใช้กับโครงการไร้ค่าตอบแทนเหล่านี้ถือว่ามหาศาล ในช่วง 10 วันแรก ทีมงานของซุปเปอร์มาชีน สตูดิโอ ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อขึ้นแบบจำลองโครงสร้างหลักของโรงเรียนบ้านป่าก่อดำเพื่อรีบนำไปใช้ขอสปอนเซอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ต้องสนับสนุนเที่ยวบินกว่า 200 เที่ยวเพื่อพานักออกแบบและวิศวกรไปลงพื้นที่ตลอดระยะเวลา 18 เดือนของโครงการ ส่วน ม.ล.วรุตม์เองก็จำได้ว่าทั้งออฟฟิศยอมอยู่ดึกทำโปรเจกต์ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงตี 3 อยู่ 2 สัปดาห์เพื่อไม่ให้กระทบกับงานอื่น จนเกือบฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่บริษัทเอกชนจะยอมเข้ามาทำโครงการเพื่อสังคมเหล่านี้เพียงเพื่อเอาบุญ
“บอกได้เลยว่าจุดมุ่งหมายหลักของเราไม่ใช่เรื่องพีอาร์ เพราะตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท เราก็ได้ออกสื่อต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ที่เราทำเพราะเรามองว่ามันท้าทาย ปกติโรงเรียนไทยสร้างมาพิมพ์เดียวกันหมด คือยึดแบบจากช่วงยุค ‘60s แต่โรงเรียนทั้ง 9 แห่งในโครงการเชียงรายหน้าตาไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งมันสื่อถึงนัยยะบางอย่าง” ปิตุพงษ์กล่าว
โรงเรียนทั้ง 9 แห่งเปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิมที่มีการแยกส่วนอินดอร์-เอาท์ดอร์ชัดเจนและหุ้มห่อนักเรียนจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ให้เป็นห้องเรียนที่มีลักษณะเปิดกว้างสู่ธรรมชาติรอบๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
“การมีห้องเรียนที่เปิดและล้อมรอบด้วยธรรมชาติสวยๆ จะสามารถช่วยเรื่องพัฒนาการในระยะยาวสำหรับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้ เราจึงพยายามใช้ประโยชน์จากตรงนี้ เด็กๆ จะได้ออกไปนั่งเรียนนอกห้องในวันที่อากาศดี ได้ฟังเสียงนกร้อง หรือนั่งเรียนใต้ต้นไม้” ม.ล.วรุตม์อธิบาย
โรงเรียนในโครงการทั้ง 9 แห่งนั้นยังสวยเสียด้วย อย่างห้องเรียนของซุปเปอร์มาชีน สตูดิโอนั้นได้รับการออกแบบเป็นอาคารคู่ทรงโค้งเพื่อรักษาต้นไม้ใหญ่ทั้งหมดในบริเวณเอาไว้ โดยมีหลังคาไม้ที่สอดสลับซับซ้อนไม่ต่างจากงานประติมากรรมชั้นเลิศ และมีองศาความลาดเอียงที่ช่วยให้ความรู้สึกของใบไม้ใหญ่ร่มสบาย
ในทางตรงกันข้าม แม้ห้องเรียนของ ม.ล.วรุฒม์จะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนหลุดออกมาจากนวนิยายแฟนตาซีหรือเน้นใช้แต่วัสดุธรรมชาติ แต่ห้องเรียนที่เขาออกแบบก็มีเสน่ห์ ด้วยการตกแต่งเรียบโล่ง ใต้ถุนสูง หลังคาสังกะสี และชายคาลึก ที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง
ม.ล.วรุตม์ยอมรับว่าแม้โครงการนี้จะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์บริษัทแต่ละแห่งที่เข้าร่วม แต่อย่างไรมันก็ช่วยสร้างชื่อให้กับแวดวงสถาปนิกไทยในเวทีโลก เพราะโรงเรียน 9 แห่งต่างได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารและหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมการออกแบบเกือบทุกฉบับ ส่วนตัวเขาเองได้รับการติดต่อจากองค์กรในประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับ 2 โครงการ นอกจากนี้ ม.ล.วรุตม์เห็นว่าโครงการเหล่านี้ยังช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนบางอย่างให้กับคนในบริษัท “บริษัทเรามีสถาปนิกอยู่ 9 คน มัณฑนากร 2 คน และบางทีก็มีเด็กฝึกงานด้วย เวลาทำพวกโครงการเพื่อสังคมแบบนี้ ทั้งออฟฟิศจะช่วยกันหมด ผมว่าทีมตั้งใจทำกว่าโปรเจกต์ที่ได้เงินเสียอีก”
สำหรับปฐมา ผลตอบแทนจากการช่วยเหลือชุมชนยังมาในรูปแบบความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากการสร้างสัมพันธ์กับ ‘ลูกค้า’ ด้วย เธอเล่าว่า “เราเคยทดลองโครงการบ้านจัดสรรสำหรับชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเราคิดในแง่ดีว่ามันน่าจะง่ายกว่าทำงานกับคนจน แต่เอาเข้าจริง คนจนตรงไปตรงมากว่า ตรงประเด็นกว่า ดูเหมือนชนชั้นกลางกับเราจะเข้าใจอะไรไม่ตรงกันสักเท่าไร”
ความฝันของเธอคือการทำให้ชุมชนจ้างสถาปนิก ไม่ได้แค่ให้ทำฟรีๆ “เอ็นจีโอและองค์กรใหญ่ๆ บางทีก็เหมือนมาเฟีย พูดเสียงดังกลบเสียงชาวบ้าน การทำผ่านองค์กรจึงไม่เหมือนการได้สื่อสารกับชาวบ้านโดยตรง แล้วเอาเข้าจริงๆ สำหรับชุมชนที่มีประชากร 500 คน แค่ช่วยกันลงขันคนละ 20 บาทต่อเดือนก็พอจ่ายค่าจ้างสถาปนิกเดือนละ 10,000 บาทแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีการทำงานจะเป็นแบบให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมหรือในลักษณะบนลงล่างความท้าทายยิ่งใหญ่ต่อจากนี้คือการเพิ่มจำนวนสถาปนิกชุมชน ในช่วงระหว่างปี 2548 ถึง 2557 โลกประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเฉลี่ย 335 ครั้งต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% จากทศวรรษก่อน ในขณะที่บ้านเรือน 19,000 หลังได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นที่น่าสังเกตว่าแค่การก่อสร้างโรงเรียน 9 แห่งในเชียงรายอย่างเดียวก็กินกำลังคนทั้งหมดของบริษัทสถาปนิก 9 แห่ง รวมถึง Design for Disasters และองค์กรอื่นๆ ที่เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง
ถ้าอยากดึงให้สถาปนิกมาเข้าร่วมมากขึ้น ปฐมาเชื่อว่าทัศนคติต้องเปลี่ยน “เราไม่ชอบคำว่าสถาปนิกชุมชน จริงๆ แล้วสถาปนิกคนไหนก็ทำได้ ถ้าคุณขีดเส้นแบ่งแบบนี้ขึ้นมา ก็เท่ากับเป็นการจำกัดจำนวนสถาปนิกที่จะอยากเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ไปโดยปริยาย” ในขณะที่ปิตุพงษ์เชื่อว่าสถาปนิกก็ควรต้องเริ่มคิดถึงประเด็นทางสังคมมากขึ้น “ในฐานะสถาปนิก สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือวางรากฐานในอาชีพการงานก่อน แต่พอคุณมีพาวเวอร์มากขึ้น มีเวลามากขึ้น คุณก็ต้องคืนอะไรกลับไปให้สังคมบ้าง ผมไม่ได้บอกว่าต้องทำ แต่นี่คือสิ่งที่เราควรทำเมื่อมีโอกาส”
สถาปนิกอย่างปิตุพงษ์หรือปฐมาไม่ได้เพียงสร้างประโยชน์ให้กับหมู่บ้านหรือชุมชนแออัดที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือ ในปัจจุบัน แวดวงสถาปนิกชุมชนของไทยยังประสบความสำเร็จไม่น้อยในฐานะห้องทดลองทางสถาปัตย์และความภาคภูมิใจบนเวทีโลกของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศต้องสามารถขยายผลโครงการเชิงทดลองไปสู่การแก้ปัญหาในระดับมหภาคให้ได้ ซึ่งการทำเช่นนั้น อาจไม่ได้เพียงหมายถึงสถาปนิกจำนวนมากขึ้นหรือเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทเอกชน หากแต่ยังต้องรวมถึงนโยบายรัฐที่เอื้อต่อการบ่มเพาะพลังสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าปัจจุบันด้วย
■
Essentials
■
CASE Studio
121/1 ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ
โทร. 02-919-5577
www.casestudio.info
■
Design for Disasters
■
Supermachine Studio
57/7 ซอยโชคชัยร่วมมิตร 16/13 ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ
โทร. 02-276-6279
www.supermachine.co
■
Vin Varavarn Architects
89/15 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
โทร. 02-650-9558
www.fb.com/VinVaravarnArchitectsLimited